foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

เล้าข้าว

เล้าข้าว มีชื่อเรียกหลายอย่าง ด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละท้องถิ่น ในกลุ่มชาวนาภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า เล้าข้าว หลองข้าว กระหล่องข้าว ภาคอีสาน จะนิยมเรียกว่า เล้าข้าว เล่าเข่า เล่าข้าว ภาคกลางส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ยุ้งข้าว แต่มีบางจังหวัดเรียกว่า ฉางข้าว ส่วนภาคใต้เรียกว่า เรือนข้าว หรือ เริ้นข้าว ดังนั้น เล้าข้าว หรือ ยุ้งข้าว จึงเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกของชาวนา มีรูปแบบและโครงสร้างที่แข็งแรง มักเป็นเรือนหลังเดี่ยว ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมสามารถ พัดผ่านได้สะดวกเพื่อป้องกันไม่ใช้ข้าวเปลือกชื้นและขึ้นรา ซึ่ง วิโรฒ ศรีสุโร (2540) ได้กล่าวถึงยุ้งข้าวในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า ยุ้งข้าวเปรียบประดุจท้องพระคลังมหาสมบัติของชุมชน เสมือนเป็นขุมอาหาร ซึ่งหากขาดแคลนแล้วไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่ได้ จึงก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับยุ้งข้าวอันถือเป็นเรื่องใหญ่

lao kao 01

เล้าข้าว เป็นสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปคู่กับบ้านเรือนในชนบทของภาคอีสาน มีลักษณะเป็นเรือนหลังเดี่ยวขนาดเล็ก แยกออกมาจากตัวบ้าน ใช้สำหรับเก็บรักษาข้าวเปลือก และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ โดยในอดีต เล้าข้าว ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวนาภาคอีสาน ถือเป็นสมบัติที่มีมูลค่ามากที่สุดของชาวนา นอกจากนี้ เล้าข้าว ยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของเล้า บ้านไหนมีเล้าใหญ่อาจหมายความว่ามีที่นามาก มีควายมาก มีกำลังการผลิตและผลผลิตสูง น่าจะเป็นคนขยันขันแข็ง เป็นผู้มีฐานะดีและเป็นที่นับถือของคนในชุมชน ปริมาณข้าวที่อยู่ภายในเล้าจะเป็นหลักประกันว่า ชาวนาจะสามารถยังชีพอยู่รอดไปได้ตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการเก็บเกี่ยวใหม่อีกครั้ง 

การจัดเก็บข้าวเปลือกของเกษตรกรชาวนาทุกวันนี้ ไม่ได้เก็บข้าวเปลือกไว้ใน เล้าข้าว หรือ ยุ้งฉาง เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากเล้าข้าวไม้ที่มีอายุเก่าแก่แล้วมีการรื้อถอนออก เพื่อใช้พื้นที่หรือสถานที่ทำอย่างอื่นแทน และไม่ค่อยมีการสร้างยุ้งฉางไม้ขึ้นมาใหม่ (ความจริงคือ ชาวนาไม่มีข้าวมากพอที่จะเก็บในเล้าข้าว จากการเป็นหนี้สินกับนายทุน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จำเป็นต้องขายข้าว เพื่อนำมาใช้หนี้ก่อนไม่เหลือเก็บ ที่เรียกกันว่า ขายข้าวเขียว) เกษตรกรหรือชาวนาในปัจจุบัน ส่วนมากจึงจัดเก็บข้าวเปลือกโดยการบรรจุใส่กระสอบ แล้ววางไว้ในบ้าน หรือสถานที่ที่เป็นโรงเรือนเก็บ มีพื้นเป็นซีเมนต์และมีการใช้วัสดุรองพื้นก่อนวางกระสอบข้าวด้วยแคร่ไม้ หรือวัสดุกันความชื้นต่างๆ แต่วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีการจัดเก็บข้าวเปลือกที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะอาจจะทำให้ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ไม่ได้คุณภาพ

เล้าข้าวอีสาน

เล้าข้าว เป็นที่เก็บข้าวเปลือกซึ่งมีน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงต้องออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง เสาและกระทอด (หรือ พรึง) จะอยู่ด้านนอกของผนัง แต่ก่อนฝาเล้าข้าวจะทำด้วยไม้ไผ่สาน ทาด้วยขี้เปี๊ยะ (ขี้วัวคลุกแกลบและดินเหนียวทาทับไม่ไผ่สาน) สามารถกันความชื้น ความร้อน มดและแมลงได้เป็นอย่างดี ต่อมานิยมทำฝาเล้าข้าวด้วยไม้กระดาน ชาวอีสานมีพิธี "ทำขวัญเล้าข้าว" การตักข้าวในเล้าจะใช้กระดองเต่าตัก ก่อนตักจะนั่งลงไหว้แม่โพสพก่อนแล้วพูดว่า "กินอย่าให้บก จกอย่าให้พร่อง" (ตักไปกินก็อย่าลด ตักเอาไปก็อย่าให้พร่อง)

lao kao 02

นอกจากนี้ในภาคอีสานยังมี "ซอมข้าว" สร้างยกพื้นเตี้ยๆ หรืออยู่ติดกับพื้นดินที่ปรับให้เรียบเสมอกัน แล้วใช้ไม้ไผ่สานกั้นเป็นรูปวงกลม ทำหลังคาคลุม ใช้สำหรับเป็นที่เก็บข้าวเปลือกแต่บรรจุได้ไม่มากนัก ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกว่า "เสวียน" มักใช้ในกลุ่มของชาวไร่ชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มาก หรือชาวไร่ชาวนาที่ยังไม่สามารถทำยุ้งข้าวด้วยไม้จริงได้ ก็จะใช้เสวียนเก็บข้าวเปลือกไปก่อนเป็นการชั่วคราว เมื่อสามารถสร้างยุ้งข้าวได้แล้วก็เลิกใช้เสวียนไป เสวียนมีหลายขนาด ทั้งความสูงและความกว้างของเสวียนไม่แน่นอน แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก

lao kao 08
"ซอมข้าว" ของชาวอีสาน หรือ "เสวียน" ของชาวเหนือ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงสี่เหลี่ยมสอบเข้าเรียกว่า "ทรงช้างขี้" หลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น ยกใต้ถุนสูงโครงสร้างเสาอยู่ข้างนอกดูแข็งแรงบึกบึน สะท้อนแนวคิดและภูมิปัญญาการก่อสร้างของช่างโบราณ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เล้าข้าวเป็นเสมือนคลังสมบัติที่สำคัญในการดำรงชีวิตของทุกคนในครอบครัว จึงต้องสร้างให้แข็งแรง และมีขนาดเหมาะสมกับขนาดของครอบครัว

พิธีกรรมและความเชื่อในการสร้างเล้าข้าว

ข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเล้าข้าวของชาวอีสานถือว่า "ข้าว" เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าว จึงต้องมีความสำคัญตามไปด้วย หรือแม้แต่ความเชื่อต่างๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา เป็นมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมของอีสาน ด้านความเชื่อในลักษณะข้อห้ามต่างๆ เช่น

  • ห้ามหันประตูเล้าข้าว (หันด้านหน้า) ไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจระเข้) เพราะเชื่อกันว่าเป็นการหันประตูไปทางปากช้าง แล้วช้างจะกินข้าว อันเป็นเหตุให้เก็บรักษาข้าวไม่อยู่หรือมีเหตุให้สูญเสียข้าวอยู่เรื่อยๆ
  • ห้ามหันประตูเล้าข้าวเข้าหาเรือน ด้วยความเชื่อและเหตุผลเวลาขนข้าวเข้า-ออกจากเล้าข้าว จะได้สะดวกสบาย
  • ไม่นิยมสร้างเล้าข้าวไว้ในตำแหน่งทิศหัวนอนของเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าเป็นการนอนหนุนข้าว จะเป็นเหตุให้คนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่สบายและมีภัยพิบัติ
  • เล้าข้าวที่ถูกรื้อแล้ว ห้าม! นำไม้ไปสร้างเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายไม่เจริญ และมีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัว
  • บริเวณที่สร้างเล้าข้าวเมื่อรื้อออก หรือย้ายออก จะไม่สามารถสร้างบ้านบนบริเวณนั้นได้ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของแม่โพสพ ที่เคารพนับถือ มีพระคุณ
  • การสร้างเล้าข้าวจะไม่สร้างในลักษณะขวางตะวัน เพราะเชื่อว่าถ้าสร้างแล้วจะมีแต่สิ่งที่ขัดขวาง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข

ส่วนในด้านของการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งยุ้งข้าวในบริเวณบ้านนั้น จะต้องตั้งยุ้งข้าวให้ห่างจากตัวเรือนพักอาศัย อย่างน้อยเท่ากับความยาวของตัวเรือนพักอาศัย และจะต้องตั้งเยื้องกับตัวเรือนพักอาศัยเสมอ ห้ามตั้งในตำแหน่งที่ตรงกับตัวเรือน เนื่องจากในฤดูหนาวมีลมแรง จะพัดเอาฝุ่นและไรข้าวมาสู่คนที่อาศัยอยู่ในเรือน ซึ่งจะส่งผลให้คนในเรือนเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้เป็นปกติได้

ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ถูกลดบทบาทลง ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางข้อ เนื่องด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม และวิถีชีวิตสมัยใหม่ ที่เอาความง่ายและสะดวกสบายเป็นหลัก ซึ่งไม่ถูกต้องตามพิธีกรรมและประเพณีดั้งเดิม

lao kao 06

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเล้าข้าว

ชาวอีสานแต่โบราณเชื่อว่า “วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันฟ้าไข(เปิด)ประตูฝน เพื่อให้ฝนตกลงมาสู่โลกมนุษย์ และเชื่อว่าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่โลกมีความอิ่มและอุดมสมบูรณ์ที่สุด" ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี่ (ฮูขี่ แปลว่า รูทวารหนัก) หมากขามป้อมก็ต่าวหวาน” จึงถือโอกาสเปิดประตูเล้าข้าว (ประตูยุ้งข้าว) ของตน ซึ่งปิดไว้ห้ามเปิดมาตั้งแต่วันเอาข้าวขึ้นเล้าหลังนวดข้าวเสร็จ ในประมาณกลางเดือนสิบสอง หรือต้นเดือนอ้ายเป็นอย่างช้า ซึ่งจะมี “พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า” “พิธีสู่ขวัญข้าว” และ “พิธีตุ้มปากเล้า” ก่อนที่จะเปิดประตูเล้า และจะนำข้าวเปลือกที่อยู่ในเล้าไปถวายวัด ก่อนจะตักข้าวในเล้าลงมาตำกินในครัวเรือน (ซึ่งสมัยโบราณใช้วิธีการตำข้าวด้วย ครกมอง) เพื่อให้เป็นไปตาม “คองสิบสี่สำหรับประชาชน ข้อที่ 1” ที่บัญญัติไว้ว่า

เมื่อได้เข่าใหม่หลือหมากไม้เป็นหมากใหม่ ตนอย่าฟ้าวกินก่อนให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีสีนกินก่อน แล้วตนจึงกินเมื่อพายลุน และให้แบ่งแก่ยาดติพี่น้องนำ ”

คำแปล : เมื่อได้ข้าวใหม่ หรือมีผลไม้ออกผลใหม่ เจ้าของย่ารีบกินให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีศีลได้กินก่อน และแบ่งให้ญาติพี่น้องด้วย

พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า

พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำมาใส่ไว้ในเล้า นิยมทำวันจันทร์ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5 โมง มีขั้นตอน คือ

  • เอาเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ใส่ขัน (แต่งขัน 5) พร้อมกระบุงเปล่า 1 ใบ และหาขันหรือกระบอกใส่ข้าว (ขวัญข้าว) 1 อัน หัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอกสำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว
  • ยกขัน 5 ขึ้น ว่า นโม 3 จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าว

อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสราธนาแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า คุณข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ ”

  • แล้วเอาขันที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุด ตรงข้ามประตูเข้าเล้า ซึ่งขวัญข้าวที่เก็บไว้นั้นจะนำมาผสมกับข้าวปลูกเพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป

พิธีสู่ขวัญข้าว

พิธีสู่ขวัญข้าว เป็นประเพณีที่ชาวอีสานแต่ละครอบครัวจะทำกัน ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถ้าครัวเรือนไหนจะสู่ขวัญข้าวก็จะจัด “พาขวัญน้อย” หนึ่งพา แล้วให้หมอสูดมาเป็นผู้ “สูดขวัญ” ให้เล้าข้าว โดยโยงด้ายสายสิญน์จากเล้าข้าวมาหาพาขวัญกับหมอสูดที่อยู่ข้างๆ ซึ่งในประเพณีอีสานในการสูดขวัญข้าวก็จะมีคำสูดขวัญโดยเฉพาะ [ อ่านเพิ่มเติม ]

lao kao 07

พิธีตุ้มปากเล้า

ชาวอีสานหลังจาก “เอาเข่าขึ้นเล้า” แล้วชาวนาอีสานจะปิดประตูเล้าสนิท จะไม่ตักข้าวในเล้ามากินหรือมาขายเป็นอันขาด ข้าวเปลือกที่จะนำมาตำหรือมาสีกินในระหว่างที่ปิดประตูเล้าข้าวนั้น จะแบ่งไว้หรือกันไว้นอกเล้าข้าวต่างหาก เพราะชาวอีสานเชื่อว่า เมื่อนำข้าวขึ้นเล้าแล้วต้องปิดประตูเล้า รอถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเชื่อว่า “เป็นวันมงคล” จึงจะเปิดประตูเล้าข้าวได้ เพราะเชื่อว่าถ้าเปิดก่อนจะไม่เป็นมงคลแก่เล้าข้าว และข้าวในเล้าจะบก(ลด) จะพร่องไปอย่างรวดเร็ว พิธีกรรมการเปิดเล้าข้าวครั้งแรกเรียกว่า “ตุ้มปากเล้า” (ตุ้ม-คุ้มครอง, ปากเล้า-ประตูเล้า)

การตุ้มปากเล้า แต่ละครัวเรือนก็จะต่างคนต่างทำที่เล้าข้าวของตน เพื่อปลอบขวัญข้าว หรือปลอบขวัญแม่โพสพ ผู้เป็นแม่เรือนจะจัดขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียนเล็ก 5 คู่) ใส่จานวางไว้ที่ประตูเล้า แล้วบอกกล่าวกับเล้าข้าวว่า

วันนี้เป็นวันดี จะมีการเปิดเล่าเข่า ขอให้กินอย่าบก จกอย่าลง ”

หรือบางคนอาจจะกล่าวยาวๆ ซึ่งมีคำกล่าวในพิธีการตุ้มปากเล้าโดยเฉพาะของอีสานอยู่แล้ว แต่แม่เรือน ผู้ทำพิธี พอพูดจบก็ไข(เปิด) ปักตู(ประตู) แล้วก็เสร็จพิธี (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และคณะ, 2544)

ซึ่งในวิถีอีสานปัจจุบัน การทำพิธีสู่ขวัญข้าว การเอาข้าวขึ้นเล้า จะไม่ค่อยมีแล้ว จะนิยมเอาใส่กระสอบไว้ในบ้านหรือขายตั้งแต่เกี่ยวข้าวเสร็จ เนื่องด้วยยึดความสะดวกสบายตามสภาพสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการทำนาในปัจจุบันมีการลงทุน มีการใช้เครื่องจักร และการจำหน่ายผลผลิตเพื่อให้ได้กำไร พิธีกรรมที่เคยปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกเหนือจากพิธีกรรมแล้ว เล้าข้าว ยังแฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาแห่งบรรพชนในการออกแบบการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์และการเก็บรักษาผลผลิตที่ได้สั่งสมมาอีกด้วย

lao kao 03

ภูมิปัญญาในการก่อสร้างเล้าข้าว

ยง บุญอารีย์ (2554) ได้ศึกษาเล้าข้าวในวัฒนธรรมไท-อีสาน ซึ่งกล่าวถึงภูมิปัญญาในการก่อสร้าง ยุ้งข้าว (เล้าข้าว) ไว้ว่า ยุ้งข้าวเป็นภูมิปัญญาโบราณที่รับใช้ชาวนาทุกชนชาติมาอย่างยาวนาน และยังสืบทอดพัฒนาจนเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบ ถึงแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เกิดจากการสั่งสม ศึกษา ลองผิดลองถูก จนเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่หลักในการออกแบบเล้าข้าว(ยุ้งข้าว)มีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะประโยชน์ใช้สอยหลักของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว)ไม่ว่าของพื้นที่ใดก็คือ การป้องกันเมล็ดข้าวจากความร้อน ความชื้น สัตว์ และแมลงที่มาทำลายข้าวให้เกิดความเสียหาย แนวคิดในการออกแบบเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) ถึงจะต่างพื้นที่ ต่างสังคมวัฒนธรรมและศาสนา แต่สถาปัตยกรรมของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึง จนเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ

  • ยกพื้นสูง เพื่อป้องกันความชื้น ป้องกันการรบกวนของสัตว์ใหญ่ เช่น แรดและช้าง
  • การก่อสร้างผนังอยู่ริมในของเสา เพื่อทำให้ภายในยุ้งข้าวไม่มีซอกมุมที่เกิดจากเหลี่ยมเสา เพื่อลดการสะสมของเมล็ดข้าวอยู่ตามซอก ไม่มีบันไดและหน้าต่างเพื่อป้องกันแสง ความร้อนและความชื้น ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายอากาศได้ดี
  • โครงสร้างอยู่ภายนอกผนังเพื่อรับนํ้าหนัก ระบบโครงสร้างกับระบบผนังมักจะแยกเป็นอิสระจากกัน พื้นจะทำหน้าที่รับนํ้าหนักของข้าว ถ่ายเทนํ้าหนักลงบนตงและคาน ผนังจะรับแรงถีบจากด้านข้าง เสาจะรับทั้งนํ้าหนักและแรงถีบจากผนัง ในเล้าข้าวขนาดใหญ่มักจะมีเคร่าตีเสริมระหว่างเสา เพื่อช่วยรับแรงถีบของข้าว และมักเอียงเสาเข้า เพื่อรับแรงอีกทางหนึ่ง ในภาคอีสานเรียกรูปแบบนี้ว่า ทรงช้างขี้ (วิโรฒ ศรีสุโร,2540)
  • มีหลังคาลาดชันระบายนํ้าได้ดี หลังคาจะค่อนข้างชัน เพื่อป้องกันฝนรั่วทำลายข้าวภายในเล้าข้าวให้เสียหาย
  • มีรายละเอียดในการก่อสร้าง เพื่อป้องกันนก หนู แมลง ที่กินเมล็ดธัญพืชเป็นอาหาร ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญซึ่งทำให้ผลผลิตที่เก็บไว้ยุ้งข้าวเสียหาย ชาวอีสานโบราณได้สั่งสมความรู้และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันผลผลิตจากแมลงและหนูโดยจะไม่วางเล้าไว้ใกล้บ้าน รั้ว หรือต้นไม้ เพื่อกันหนูกระโจนเข้ามาในเล้า และที่โคนเสาก็จะใช้วัสดุผิวมันกรุเอาไว้เพื่อป้องกันหนูไต่
  • มีจารีต และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเคารพต่อธรรมชาติ ทุกวัฒนธรรมที่ปลูกข้าวจะมีผีและเทวดาที่เกี่ยวข้องกับข้าว แผ่นดิน ต้นไม้ ฝน นํ้า ที่สำคัญต่อการเพาะปลูก เช่น พระแม่โพสพ พญาแถน พญาคันคาก นาค งู เงือก ฯลฯ โดยผีและเทวดาเหล่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติ สามารถให้คุณและโทษแก่ผลผลิตข้าวของเกษตรกรได้ จึงต้องมีจารีตประเพณีเพื่อแสดงความเคารพ ขอขมา บอกกล่าวต่อธรรมชาติอยู่มากมายตลอดทั้งปี

lao kao 04

สถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน

เล้าข้าว จะแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ

  • เล้าข้าวขนาดเล็ก มีขนาดยาว 1 - 3 ช่วงเสา กว้าง 1 - 2 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาอยู่ห่างกัน 1.00 - 2.00 เมตร เก็บข้าวได้ไม่เกิน 500 กระบุง
  • เล้าข้าวขนาดกลาง สำรวจพบว่า มีมากทีสุดประมาณร้อยละ 90 ขนาดยาว 3 - 4 ช่วงเสา กว้าง 2 - 3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวร เช่น ไม้เนื้อแข็ง ส่วนหลังคามักมุงกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องคอนกรีต แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ เล้าข้าวขนาดกลางเก็บข้าวได้ 500 - 1,000 กระบุง
  • เล้าข้าวขนาดใหญ่ ยาวมากกว่า 4 ช่วงเสากว้างมากกว่า 3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นเดียวกับเล้าข้าวขนาดกลาง เล้าข้าวขนาดใหญ่เก็บข้าวได้มากกว่า 1,000 กระบุง (ยง บุญอารีย์, 2554)

วัสดุที่ใช้และส่วนประกอบของเล้าข้าว

สมชาย นิลอาธิ (2526) ได้อธิบายว่า โครงสร้างทั้งหมดของเล้าข้าวนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น เสา ขาง(คาน) ตง คร่าว ขื่อ สะยัว(จันทัน) ดั้ง ตลอดจนกะทอด(พลึง) แป กลอน และวงกบประตู เพื่อความคงทนแข็งแรงในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญ มีดังนี้คือ

  • ตง คือไม้เนื้อแข็งขนาด ประมาณ 3 – 4 นิ้ว ขนาดยาว ที่ใช้วางบนคาน(ขาง) ซึ่งบางครั้งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุคือ ไม้ และความต้องการในเรื่องความคงทน แข็งแรง เพราะถ้าใช้ตงวางบนคาน ก็จะช่วยทำให้การรับน้ำหนักของพื้นเล้ามีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าจะมีแต่คานโดยไม่มีตงก็สามารถจะรับน้ำหนักได้อยู่แล้ว
  • หลังคา จะมีรูปทรงเป็นหน้าจั่ว ยุคแรกๆ จะนิยมใช้หญ้าแฝก หญ้าคามุงกันมาก ต่อมามีการใช้แผ่นไม้มุง (แป้นมุง-แผ่นไม้แข็งที่เอามาตัดและถากให้เป็นรูปคล้ายกระเบื้องดินขอ) และในสมัยปัจจุบันนิยมใช้สังกะสี หน้าจั่ว จะใช้หญ้าแฝก, หญ้าคา หรือไม้ไผ่สาน เพื่อกันฝนสาดเข้าไปถูกข้าวเลือกที่เก็บไว้ในเล้า
  • พื้น จะใช้ไม้แผ่นเนื้อแข็งอีสานเรียก แป้น เพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เมื่อปูพื้นด้วยไม้แผ่นเนื้อแข็งแล้ว จะเกิดร่องระหว่างแผ่นที่เกิดจากการไม่ชิดกันของแผ่นไม้ ชาวอีสานจะใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นชิ้นกว้างประมาณ 2 ซม. เศษๆ หรือบางครั้งก็ใช้ไม้แผ่นตีทับตามแนวร่องปิดไว้ ไม้แผ่นที่ตีปิดร่องนี้เรียกว่า “ลึก” หรือ “ลึกไม้” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกรั่วออกจากพื้นเล้า
  • ฝา เป็นส่วนประกอบเล้าที่สำคัญมาก ในแง่ประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ในอดีตจะนิยมใช้ไม้แซง(ลำแซง) ไม้แขม(ลำแขม) และไม้ไผ่จักเป็นเส้นขนาดประมาณ 1 เซ็นติเมตร มาสานเป็นลายขัด แล้วทาอุดด้วยขี้วัว ขี้ควายผสมน้ำและดินโคลนตามความเหมาะสม เพื่ออุดรอยรั่วของลายขัด ซึ่งนิยมใช้ไม้แซงมากกว่าไม่แขม เพราะมีความคงทนกว่า แต่ต้องไปตัดไกลๆ จากหมู่บ้าน คนที่ชอบสะดวกและง่ายๆ ก็มักจะใช้ไม้แขม เพราะขึ้นอยู่ตามบริเวณหนองน้ำใกล้ๆ หมู่บ้าน พอไม้แซงและไม้แขมหายาก จึงใช้ไม้ไผ่จักเป็นเส้นมาสานทำเป็นฝาแทน ต่อมาจึงมีการใช้ไม้แผ่น (ไม้แป้น) มาทำเป็นฝากันมากขึ้น เพราะคงทนถาวรมากกว่า เมื่อไม้แผ่นหายากและมีราคาสูง ในปัจจุบันส่วนมากจึงนิยมใช้สังกะสีมาทำเป็นฝาเล้าข้าว เพราะสะดวก หาง่าย และราคาไม่แพง
  • ประตู จะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นแผ่นๆ ใส่จากด้านบนของวงกบทีละแผ่น โดยทำวงกบเป็นร่องตามแนวตั้งทั้งสองข้าง เพื่อใส่แผ่นไม้ที่ทำเป็นประตู แต่ที่ใช้เป็นบานเปิด-ปิดแบบเรือนพักอาศัยก็มี แต่จะเก็บข้าวเปลือกได้น้อยกว่าแบบแรก ใช้สอยเก็บข้าวไม่สะดวก และทำให้ข้าวไหลออกจนเสียหายได้ง่าย การทำประตูเล้าข้าวจึงยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนด
  • กะทอด(พลึง) คือแผ่นไม้แผ่นหนาแข็ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนเข็มขัดรัดตรงส่วนกลาง ปิดรอบตามแนวฝาที่จดกับพื้น หน้าที่เพื่อตีรัดฝาเล้าข้าวไว้
  • บันได ปกติเล้าข้าวจะไม่มีบันไดขึ้น-ลง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ก็จะใช้ไม้กระดานวางให้มีความลาดชันมากๆ เพื่อขนข้าวขึ้น-ลง ถ้ากระดานมีความลื่นก็จะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ ตีเป็นขั้นๆ ไว้ ซึ่งจะไม่ใช้บันไดเป็นแบบขั้นๆ แบบของเรือนพักอาศัย ในอดีตจะนิยมใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ ตัดให้เหลือแขนง วางพาดข้างเสาด้านหน้า สำหรับปีนขึ้น-ลง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เกิน”

lao kao 05

เล้าข้าวไม้ที่สร้างจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีลักษณะดังนี้

  • ยุ้งฉางที่สร้างโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการก่อสร้างยุ้งฉางด้วยไม้ทั้งหลัง ซึ่งใช้ไม้กระดานปูพื้น และใช้ไม้เป็นฝาผนังด้วย พร้อมทั้งมีหลังคาสังกะสีกันแดดกันฝน
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญในการทำยุ้งฉางคือ การนำเอาขี้ควายมาอุดร่องไม้กระดาน หรือปิดร่องไม้กระดาน ทั้งไม้กระดานที่ปูพื้นและไม้ฝาผนังทุกด้าน เพื่อปิดรอยต่อของไม้แต่ละแผ่น
  • การนำเอาขี้ควายมาอุดร่องไม้นั้น จะทำให้ยุ้งฉางเกิดความทนทาน ป้องกันข้าวรั่วหล่นออกจากยุ้งฉาง
  • ยุ้งฉางไม้ที่อุดร่องไม้กระดานด้วยขี้ควายแบบนี้ สามารถดูดซับความชื้นของข้าวเปลือกได้เป็นอย่างดี เป็นเหมือนตู้อบข้าวภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางไม้จะมีความชื้นที่เหมาะสม มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูง ทำให้ข้าวเปลือกมีคุณภาพการสีสูง ก็คือข้าวเปลือกที่สีขัดเปลือกออกมาเป็นข้าวสารแล้ว เมล็ดข้าวสารไม่แตกหักหรือป่น
  • การจัดเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางไม้ จะทำให้ข้าวเปลือกได้ที่มีคุณภาพดี และที่สำคัญเกษตรกร ชาวนา ควรหลีกเลี่ยงการจัดเก็บข้าวเปลือกบนพื้นซีเมนต์ทั่วไป เพราะจะทำให้ข้าวเปลือกเกิดปัญหาเกี่ยวกับความชื้นที่มาจากพื้นซีเมนต์

ซึ่งในสังคมคนอีสานในอดีตนั้น เมื่อสร้างเรือนพักอาศัยต้องมีการสร้างเล้าข้าวด้วย เพราะอาชีพหลักคือการทำนา ข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถึงกับมีผญาภาษิตอีสานกล่าวไว้ว่า

ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีเข่าอยู่เล้า สินอนลี้อยู่จั่งได๋ ”

เมื่อสร้างเรือนก็ต้องสร้างเล้าข้าว เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการทำนาในปีถัดไป ดังจะสังเกตได้จากบ้านเรือนคนอีสาน จะมีเล้าข้าวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมข้าวชาวอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)