kulu nang ua header

นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ขูลู-นางอั้ว" นี่มีหลายสำนวนสั้นบ้าง ยาวบ้าง เนื้อหาใกลเคียงกันแต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือ แก่นของเรื่องและคติธรรมที่ปรากฏในเรื่อง เป็นตำนานรักอันแสนเศร้าระหว่างท้าวขูลูกับนางอั้ว ตามคำที่มักจะกล่าวถึงบ่อยๆ ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" และกฎแห่งกรรม ที่ทั้งสองเคยก่อในอดีตชาติส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน จนมีผู้นำไปเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับเรื่องราวของนิยายฝรั่ง ถึงกับยกให้เป็น "โรมีโอและจูเลียตแห่งอีสาน" ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งว่าเป็นผู้ใด ผู้เขียนจึงนำหลายๆ สำนวนมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยมีแหล่งอ้างอิงจากสำนวนต่างๆ ที่ระบุไว้ในตอนท้าย

kulu nang uau 02

ตำนาน 'ขูลู-นางอั้ว'

มีเมืองใหญ่อยู่สองเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ เมืองกาสี ที่มี "ท้าวพรมสี" เป็นเจ้าเมืองนี้ มีมเหสีชื่อ "พระนางพิมพากาสี" มีพระโอรสชื่อ "ท้าวขูลู" กับอีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองกายนคร มี "ท้าวปุดตาลาด" เป็นเจ้าเมือง และมีมเหสีชื่อ "นางจันทา" มีพระธิดา ชื่อ "นางอั้ว" หรือ "นางอั้วเคี่ยม" ทั้งสองเมืองมีความใกล้ชิด สนิทสนมกันยิ่ง จนถึงกับดื่มน้ำสาบานร่วมกันเป็นมิตรสหาย และได้สัญญาต่อกันว่า หากมีโอรสหรือธิดาเหมือนกันทั้งสองฝ่ายจะผูกเสี่ยวให้เป็นเพื่อนกัน ถ้าต่างเพศกันก็จะให้แต่งงานกันเพื่อผูกมิตรให้เมืองทั้งสองแน่นแฟ้นขึ้น จนกระทั่งมเหสีทั้งสองตั้งครรภ์ขึ้น ซึ่งสร้างความยินดีปรีดาแก่เจ้าเมืองทั้งสองยิ่งนัก (บางสำนวนว่า บ้านโคกก่ง กับบ้านทุ่งมน เป็นการเล่าเรื่องแบบพื้นบ้านที่แท้จริงไม่ได้เป็นเจ้าเมือง ขุนลางก็เป็นลูกเศรษฐีในหมู่บ้าน)

ซึ่งทั้งสองเมืองก็เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ในคราวหนึ่งพระนางจันทา ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ และกำลังแพ้ท้องได้ไปเยี่ยมพระนางพิมพากาสีที่นครกาสี ซึ่งพระนางพิมพากาสีก็ทรงครรภ์อ่อนๆ เช่นเดียวกัน และทั้งคู่ได้พากันไปประพาสอุทยาน ครั้นเสด็จผ่านสวนส้มเกลี้ยง (ส้มโอ บ้างก็ว่า ส้มเขียวหวาน) พระนางจันทารู้สึกหิวอยากเสวยผลส้มมาก จึงเอ่ยขอผลส้มจากพระนางพิมพากาสี แต่นางไม่ให้เพราะส้มนั้นยังไม่สุก ทำให้พระนางจันทาโกรธมากและผูกใจเจ็บอย่างยิ่ง ถึงขั้นตัดขาดความเป็นมิตรกันกับพระนางพิมพากาสี

เมื่อมเหสีของเจ้าเมืองทั้งสองเมืองได้ให้กำเนิดโอรสและธิดา พระนางพิมพากาสีแห่งเมืองกาสีก็ให้กำเนิดพระโอรส นามว่า “ขูลู” เมื่อท้าวขูลูโตขึ้นทรงมีรูปร่างหน้าตารูปงามราวกับเทพบุตร ส่วนพระนางจันทาแห่งเมืองกายนครก็ให้กำเนิดพระธิดา นามว่า “อั้วเคี่ยม” หรือ "นางอั้ว" เมื่อนางอั้วโตขึ้นมีรูปร่างหน้าตาสละสลวยงดงามราวกับเทพธิดาเช่นกัน

nitan isan boran 02

ครั้นเมื่อพระโอรสและพระธิดาของทั้งสองเมืองเจริญวัยขึ้น เป็นหนุ่ม-สาวรูปงามเต็มที่ พระบิดาของทั้งสองหรือเจ้าเมืองของทั้งสองเมืองก็สวรรคตเสียก่อน พระนางพิมพากาสีจึงอยากให้ท้าวขูลูมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองแทนพระบิดา ส่วนเมืองกายนครนั้น พระนางจันทาผู้เป็นมเหสีได้ขึ้นครองเมืองแทนสวามีที่สวรรคตไป

ครั้นพระนางพิมพากาสีอยากให้ท้าวขูลูปกครองเมือง และมีคู่ครอง จึงแนะว่า เคยสัญญากันกับพระเหสีทางเมืองกายนครว่า ถ้ามีพระโอรสและพระธิดาจะให้แต่งงานกัน ซึ่งเมืองกายนครนั้นมีพระราชธิดา ชื่อ อั้วเคี่ยม จึงอยากให้ท้าวขูลูเดินทางไปยังเมืองกายนคร เมื่อท้าวขูลูได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความคิดไปว่า รูปร่างหน้าตาของนางอั้วนั้นจะเป็นไปอย่างไร

พอได้เวลาสมควร ท้าวขูลู ก็เดินทางไปยังเมืองกายนคร ซึ่งถนนหนทางเต็มไปด้วยป่าเขา ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าจะถึงเมืองกายนคร เมื่อมาถึงเมืองแล้วท้าวขูลูก็แอบไปพักที่อุทยาน และได้พบกันกับนางอั้ว เมื่อทั้งคู่ได้พบเจอหน้ากันก็เกิดความรักความผูกพัน มีใจเสน่หาให้กันและกันตั้งแต่แรกเห็น และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ครั้นเรื่องราวถึงหูพระนางจันทา นางจึงได้ให้คนมาเชิญท้าวขูลูเข้าไปพบ และท้าวขูลูได้เล่าเรื่องความเป็นมาต่างๆ ให้พระนางจันทาฟัง พระนางจันทาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท้าวขูลูเห็นว่าเป็นเวลาสมควรแล้วจึงได้ทูลขอนางอั้ว และบอกว่าจะแต่งเครื่องราชบรรณาการมาสู่ขอนางอั้วตามประเพณี ส่วนตนจะกลับเมืองไปทูลมารดาก่อน ท้าวขูลูจึงไปร่ำลานางอั้วเพื่อกลับไปยังเมืองกาสี

ຂຸນລູນາງອົ້ວ (ขุนลูนางอั้ว) ຕຳນານລາວ ຮ້ອງໂດຍ ສິດ ສາຍຮຸ້ງ + ເລັກ ສະໄມພອນ

เมื่อท้าวขูลูกลับเมืองไปได้ไม่นาน ข่าวลือเรื่อง "ความงดงามของนางอั้ว" ก็เลื่องลือระบือไปไกลจนถึงเมืองขอม ซึ่งมีกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง นามว่า “ขุนลาง” ที่เป็นคนแก่ แต่มีใจคิดใฝ่อยากมีเมียเด็ก จึงส่งเครื่องราชบรรณาการข้าวของเงินทองต่างๆ มากมาย มายังเมืองกายนครให้พระนางจันทาอย่างสม่ำเสมอ และทูลขอนางอั้วเคี่ยมกับพระนางจันทา เนื่องด้วยพระนางจันทาเห็นว่า ขุนลางส่งเครื่องราชบรรณาการมาบ่อยๆ ประกอบกับที่ท้าวขูลูหายไปนาน และยังขุ่นเคืองเรื่องพระนางพิมพากาสีพระมารดาของท้าวขูลู (เมื่อครั้งทูลขอส้มเกลี้ยงตอนแพ้ท้องแล้วไม่ได้) จึงเอ่ยปากรับคำ ยกนางอั้วให้ขุนลางไป

เมื่อนางอั้วทราบข่าวว่า พระมารดาของตนจะยกตนให้ขุนลาง ก็ไม่ยินยอมแต่งงานกับขุนลาง และทรงทูลพระมารดาว่า ตนนั้นรักท้าวขูลูแต่เพียงผู้เดียว และจะรอเพียงแค่ท้าวขูลูเท่านั้น เมื่อพระนางจันทาทรงได้ยินตามนั้น ก็เกิดการด่าทอนางอั้ว ทำให้นางอั้วเสียใจและคิดแก้ไขปัญหานี้ไม่ตก

kulu nang uau 03

ครั้นเมื่อท้าวขูลูเดินทางมายังเมืองกายนครพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ เพื่อมาสู่ขอนางอั้วแต่กลับได้ยินข่าวว่า พระนางจันทาทรงยกนางอั้วให้กับขุนลางกษัตริย์เมืองขอมไปแล้ว ก็ทรงเสียใจจึงลักลอบไปพบนางอั้ว นางอั้วก็เล่าความจริงให้ฟัง ท้าวขูลูจึงกลับเมืองไปด้วยความเสียใจ เมื่อพระนางจันทารู้ข่าวว่า ท้าวขูลูลักลอบไปหานางอั้ว นางโกรธมากจึงมาด่าทอทุบตีนางอั้ว ว่าไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว ทำเสื่อมเสียต่างๆ นานา ทำให้นางอั้วเสียใจเป็นอย่างมาก

เมื่อท้าวขูลูกลับไปยังเมืองกาสีจึงเล่าความจริงให้พระมารดาของตนฟัง พระนางพิมพากาสีโกรธมากจึงจัดให้มีการยกทัพไปยังเมืองกาย เมื่อพระนางพิมพากาสีมาถึงเมืองกายนคร พระนางจันทาทราบข่าวก็จัดให้มีการเจรจา และเชิญพระนางพิมพากาสีมาประทับในพระตำหนักอย่างดี การเจรจาในครั้งนี้พระนางจันทาได้บอกว่า "ตนได้เอ่ยปากตอบตกลงยกนางอั้วให้กับขุนลางไปแล้ว" พระนางพิมพากาสีจึงขอให้มีการเสี่ยงทาย ถ้าท้าวขูลูกับนางอั้วเป็นคู่กันจริงก็จะจัดให้มีการแต่งงานกันเกิดขึ้น ถ้าไม่เป็นคู่กันก็จะยกให้ขุนลางไป

สายแนน น. คู่สร้างคู่สม คู่ครองที่เคยร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ เรียก สายแนน สายมิ่งสายแนน สายบุพเพสันนิวาส กกแนน ก็ว่า. spouse, the same spouse of many reincarnations.

กกแนน น. น. คู่ครองที่เคยอยู่กินกันมาหลายภพหลายชาติ หรือที่โบราณเรียกว่าบุพเพสันนิวาสนั้น เรียก กกแนน กกมิ่ง กกแนน สายมิ่ง สายแนน ก็เรียก อย่างว่า อันหนึ่งกกแนนเจ้าขูลูบาบ่าวทังอ่อนน้อยยังเกี้ยวกอดกันบ่เด (ขูลู). the same spouse of many reincarnations. "

พระนางจันทาจึงจัดให้มีพิธีการเสี่ยงทาย "เสี่ยงสายแนน" (แนน หมายถึง รกห่อหุ้มทารกแรกเกิด) ซึ่งเชื่อกันว่า ทุกคนจะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถน (สวรรค์) ก่อนมาเกิดบนโลกมนุษย์ และต้องเป็นคู่กันตามสายแนนนั้น ถ้าแต่งงานผิดสายแนนจะต้องหย่าร้างกัน และให้คนทรงทำพิธีเซ่นไหว้ “พระยาแถน” (พระอินทร์) และนำของไปถวายพระยาแถน เพื่อขอดูสายแนนของท้าวขูลูและนางอั้ว

kulu nang uau 04

เมื่อเสี่ยงสายแนนก็พบว่า "สายแนนของทั้งคู่นั้น กอดเกี่ยวพันกันแน่นในส่วนต้น แต่ปลายนั้นกลับหันหนีแยกออกจากกัน จึงทำนายว่า ทั้งคู่นั้นเป็นคู่กัน แต่จะคู่กันได้ไม่นานต้องตายจากกัน" นอกจากนี้ยังพบว่า "สายแนนของท้าวขูลูนั้น มีแท่นทองอยู่ด้วยแสดงว่าเป็น 'พระโพธิสัตว์' ลงมาเกิด" เมื่อผลออกมาดังนี้แล้ว พระนางพิมพากาสีจึงยกทัพกลับเมืองกาสีไปพร้อมกับท้าวขูลู ทำให้ท้าวขูลูเสียใจมาก

พระนางจันทาจึงจะจัดงานแต่งงานให้ขุนลางกับนางอั้ว นางอั้วนั้นคับแค้นใจและเสียใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจหนีออกจากปราสาท และหวังจะไปผูกคอตายเพื่อหนีการแต่งงานในครั้งนี้ เมื่อนางอั้วมาถึงป่า นางก็พบกับต้นจวงจันทน์ แต่จะไปผูกต้นไหนๆ ต้นจวงจันทน์ก็ไม่โน้มกิ่งลงมาให้ผูกสักต้น นางอั้วจึงเดินไปหาต้นจวงจันทน์ที่มีผีอาศัยอยู่ ต้นจวงจันทน์ต้นนั้นจึงโน้มกิ่งลงมา เมื่อต้นจวงจันทน์โน้มลงมาแล้ว นางอั้วก็ได้อธิษฐานว่า "เกิดชาติหน้าฉันใดก็ขอให้เกิดมาเป็นคู่กับท้าวขูลู" แล้วนางก็ผูกคอตาย

เมื่อพระนางจันทามาหานางอั้วที่ปราสาทไม่พบ จึงสั่งให้คนออกตามหา และเมื่อไปถึงก็พบว่านางอั้วนั้นได้สิ้นลมหายใจไปเสียแล้ว พระนางจันทาเสียใจเป็นอย่างมากจนถึงขั้นเป็นลมสลบไป เมื่อท้าวขูลูทราบข่าวการตายของนางอั้ว จึงใช้พระขรรค์แทงตัวตายตามนางอั้วไป พระนางพิมพากาสีทราบข่าวก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก

kulu nang uau 05

พระนางจันทาและพระนางพิมพากาสีจึงจัดพิธีเผาศพท้าวขูลูกับนางอั้วพร้อมกัน เมืองสองเมืองจึงหันกลับมามีสัมพันธไมตรี ผูกพันเป็นมิตรกันตามเดิม และเมื่อท้าวขูลูกับนางอั้วตายไปวิญญาณของทั้งคู่ก็ไปพบกัน และครองคู่กันบนสวรรค์ อวสาน...

แต่อีกสำนวนหนึ่งกล่าวว่า...

หลังการเสี่ยงสายแนน เมื่อพระนางจันทาทราบว่า สายแนนของทั้งคู่นั้นกอดเกี่ยวพันกันแน่นในส่วนต้น แต่ส่วนปลายนั้นกลับหันหนีแยกออกจากกัน จึงทำนายว่า ทั้งคู่นั้นเป็นคู่กัน แต่จะคู่กันได้ไม่นานต้องตายจากกัน พระนางจันทาก็เร่งรัดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่าง "ขุนลาง กับ นางอั้ว" ให้เร็วขึ้น

ฝ่ายนางอั้ว ซึ่งรักอยู่กับท้าวขูลู ไม่ว่าผลการเสี่ยงทายสายแนนจะออกมาอย่างไรก็ตาม นางก็ยืนยันจะแต่งแต่กับท้าวขูลูเท่านั้น

ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจและทุกข์ทรมานมาก จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อทราบข่าวพิธีวิวาห์นั้น

ซึ่งนางอั้วก็เช่นเดียวกัน นางอั้วจึงให้คนส่งข่าวไปหาท้าวขูลู ให้มาหานางก่อนพิธิอภิเษกสมรส โดยให้รอพบกันที่อุทยานที่ทั้งคู่ได้พบกัน และบอกรักกันในคราวก่อนโน้น เมื่อท้าวขูลูทราบเช่นนั้นก็รีบเดินทางมาหานางในทันที

ทั้งคู่ได้แอบพบกันก่อนที่จะเริ่มงานอภิเษกสมรสหนึ่งวัน ทั้งคู่ต่างคร่ำครวญร่ำไรรำพันปริ่มว่าจะขาดใจ และทั้งคู่ก็ได้เสียเป็นของกันและกันในราตรีนั้น

เมื่อพระนางจันทาทราบว่า นางอั้วแอบมาพบกับท้าวขูลูที่อุทยาน ก็ตามมาพรากตัวนางไป และดุด่าว่ากล่าวนางอั้วต่างๆ นานา นางอั้วเสียใจและทุกข์ทรมานในรักที่ไม่สมหวังมากยิ่งนัก ซึ่งในวันรุ่งขึ้นก็จะเข้าพิธีอภิเษกกับขุนลางแล้ว นางจึงตัดสินพระทัยผูกคอตายในห้องบรรทมของนาง ในคืนนั้นเอง พอรุ่งเช้าจะทำพิธีแล้วแต่นางอั้วยังไม่เสด็จออกมาก็เลยต้องให้คนไปตาม อนิจจา!

ฝ่ายท้าวขูลู เมื่อทราบข่าวว่า นางอั้วผูกคอตายแล้ว ก็โศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ทรมานและอาลัยรักนางมาก จึงถอดพระขรรค์ออกจากฝักแล้วก็แทงพระศอ (คอ) ตัวเองตายตามนางไปที่เมืองกายนครนั้นเอง

ฝ่ายขุนลาง เมื่อทราบข่าวร้ายนั้นก็ตกใจมาก และเมื่อลงจากหลังช้างทรงในขบวนขันหมาก ทันทีที่พระบาทแตะพื้นดิน แผ่นดินนั้นก็ได้แยกออกสูบเอาขุนลางลงสู่นรกในบัดดล

kulu nang uau 06

สำนวนหลังนี่เอง ที่ไปคล้ายกับบทละคร "โรมีโอ และจูเลียต" ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ จนได้ชื่อว่า "ขูลู-นางอั้ว : โรมีโอ-จูเลียต อีสาน"

ขูลู-นางอั้ว The Musical โดย หมอลำนามวิหค

กฏแห่งกรรม

“กฎแห่งกรรม” คือในสมัยอดีตชาตินั้น เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ก่อเวรไว้จึงต้องมาใช้เวรกรรมในชาตินี้ คือไม่สมหวังในความรักนั้นเอง เพราะเมื่อชาติก่อนท้าวขูลูเป็น “เจ้าเมืองเบ็งชอน” (บัญชร) นางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่า “นางดอกซ้อน”

ในคราวหนึ่งนั้น มีผัวเมียคู่หนึ่งที่ไม่ยำเกรงนางดอกซ้อน ทำให้นางโกรธมาก จึงฟ้องเจ้าเมืองให้ลงโทษคนคู่นี้ เจ้าเมืองได้สั่งไม่ให้เป็นผัวเมียกัน หากพี่น้องคนใดชักนำให้มาอยู่กินเป็นผัวเมียกันอีกจะถูกประหาร ทำให้ทั้งคู่เสียใจมาก ฝ่ายเมียได้ผูกคอตาย ส่วนผัวนั้นใช้มีดแทงคอตนเองตายตาม ซึ่งเวรกรรมนี้จึงตามสนองท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ในชาตินี้นั้นเอง

love love isangate

ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคน และได้พบกันเป็นสามีภรรยากันบนสวรรค์ ส่วนเมืองกาสีและกายนครบนโลกมนุษย์นั้น ก็ได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับทั้งสอง โดยเผาศพคนทั้งสองพร้อมกัน และได้สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ ณ ที่เดียวกัน แล้วทั้งสองเมืองก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันดังเดิม ซึ่งวิญญาณของท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้แสดงอภินิหาริย์ให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

ปัจจุบันชาติ

สิ่งที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะบอกลูกหลานว่า “ดักแด้ขูลู” ตัวหนอนที่ม้วนอยู่ในใบตอง (ใบกล้วย) ก็คือท้าวขูลู ในอดีตชาติ [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : อาหารอีสานแปลกๆ ] ส่วนนางอั้ว ได้เกิดเป็นต้นดอกไม้งาม และมีกลิ่นหอมคือ “ต้นดอกนางอั้ว” ซึ่งชาวพื้นบ้านอีสานและชาวลาวเรียกกันว่า “ดอกสะเลเต” ในภาคกลางของไทยเรียก “ดอกมหาหงษ์” ส่วนทางภาคเหนือเรียก “ดอกสะบันงา” นั้นเอง

kulu nang uau 01

อ้างอิง

  • ขูลูนางอั้ว อักษรธรรม 4 ผูก ฉบับวัดน้ำคำแดง ตำบลเตย อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ปริวรรตโดย ปรีชา พิณทอง 2524
  • ขูลูนางอั้ว อักษรธรรม 3 ผูก ฉบับวัดหนองควายน้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
  • หนังสือรวมนิทาน อีสานชุดที่ ๒ เรียบเรียง จินดา ดวงใจ  บริษัท ข่อนแก่น คลังนานาธรรม จำกัด 2544
  • พิชัย ศรีภูไฟ. สตรีในวรรณกรรมอีสาน. ปริญญานิพนธ์ ศศ.บ .มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนตรินทรวิโรฒ มหาสารคาม, 2532
  • ตำนานดอกท้าวคูลูกับนางอั้ว (โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) มหาทยาลัยมหิดล.

redline

backled1