พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร พ.ศ. 2389 - 2485) เป็นผู้สืบทอดงานพระศาสนาต่อจาก พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) และเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี รูปแรก ในการปกครองแบบประชาธิปไตย
พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ที่คนเมืองอุบลฯ หรือคนที่นับถือท่านทั่วไปมักเรียกท่านว่า พระครูดีโลด ญาคูดีโลด หลวงปู่ดีโลด หรือ หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระเถราจารย์ยุคเก่าเมืองอุบลราชธานี ผู้มีตบะบารมีแก่กล้า มากด้วยอิทธิคุณและบุญฤทธิ์ พระเถราจารย์ใหญ่ผู้เป็นตำนานแห่งศรัทธาของชาวเมืองอุบลฯ ทั้งยังเป็นองค์สังฆเถระนำพาหมู่สงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย บูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม เมื่อประมาณ พ.ศ. 2444
ประวัติพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร)
พระครูวิโรจน์รัตโนบล มีนามเดิมว่า รอด นามสกุล สมจิตร เกิด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2389 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือนยี่ ปีเถาะ จุลศักราช 1217 ที่บ้านแต้เก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายบุดดี สมจิตร โยมมารดา ชื่อ นางกา สมจิตร ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 โดยท่านเป็น สหธรรมมิก กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท พ.ศ. 2399-2475) เนื่องจากเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาส
อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2421 ที่วัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) เจ้าอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “นนฺตโร” แปลว่า “ผู้มีความเมตตาแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขตขีดกั้น” ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านถูกส่งให้ไปประจำอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาที่สำคัญของเมืองอุบล ในสมัยนั้น
วัดทุ่งศรีเมือง เป็นวัดที่สร้างโดย พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ พระเถระที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มากำกับดูแลการพระศาสนาในหัวเมืองอีสาน และท่านได้จัดการศึกษาในหัวเมืองอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ตั้งสำนักสอนหนังสือไทยอย่างภาคกลางขึ้นหลายแห่ง ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง ขณะนั้นอยู่ช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ เมื่อพระอริยวงศาจารย์ฯ ละสังขารในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 จากนั้น พระครูวิโรจน์รัตโนบล จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสครองวัดทุ่งศรีเมือง เป็นผู้สืบทอดงานพระศาสนาและงานการศึกษาต่อมา
ขณะพำนักอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรม วิชาการช่าง ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาอย่างพระสงฆ์ จากบูรพาจารย์ที่วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งสืบทอดต่อมาจากพระอริยวงศาจารย์ฯ จนท่านมีความชำนาญงานช่างต่างๆ ซึ่งปรากฎในเวลาต่อมาว่า งานศิลป์ที่เกิดจากการสร้างของท่านมีความงดงามเป็นเลิศ
พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจาก สำนักราชบรรเทา วิชาที่เรียนได้แก่ เล่าเรียนท่องบทสาธนายสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง ได้แก่ เจ็ดตำนาน สองตำนาน สวดมนต์ปลาย ได้แก่ ปาฏิโมกข์ สัททสังคสูตร เรื่องมูลกัลป์จายน์ อักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นที่นิยมเรียนกันในสมัยนั้น และอักษรไทยในปัจจุบัน และเรียนศิลปศาสตร์ คือ วิชาช่างแต้ม ช่างเขียน ตลอดจนวิชาการช่างอื่นๆ (ช่างปั้น เขียน แกะสลัก) จากสำนักราชบรรเทา อาจารย์เดียวกันกับที่สอนหนังสือเบื้องต้น
ส่วนวิชาศาสตราคมของท่าน มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ไม่แพ้ความชำนาญด้านช่างศิลป์ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ท่านเรียนมาจาก ครูบาธรรมวงศ์ (ราว พ.ศ. 2338-2469) ที่วัดผาแก้ว ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพระอาจารย์เพียงรูปเดียวที่มีชื่อเสียงปรากฎว่า เป็นอาจารย์ทางด้านคาถาอาคมของพระครูวิโรจน์รัตโนบล
พ.ศ. 2434 อันเป็นพรรษาที่ 13 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงอุตตรูปลนิคม ปัจจุบัน ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ และได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็น “พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช” เป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 12 ปี
พ.ศ. 2445 พรรษาที่ 25 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี รูปแรกตาม พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขณะนั้นเรียก “เจ้าคณะเมือง”
พ.ศ. 2446 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ในราชทินนามที่ “พระครูวิโรจน์รัตโนบล” นอกจากพระครูวิโรจน์รัตโนบล จะเป็นพระที่หนักแน่นในกรรมฐานตามแบบอย่างพระอริยวงศ์ศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ และครูบาธรรมวงศ์ผู้เป็นบูรพาจารย์แล้ว ท่านยังเป็นช่างวิจิตศิลป์ที่ชำนาญในการออกแบบอีกด้วย ท่านได้นำประชาชนบูรณะถาวรวัตถุไว้หลายแห่ง เช่น การปฏิสังขรณ์วิหารและพระเหลาเทพนิมิต พระพุทธรูปสำคัญของอำเภอพนานิคม (ปัจจุบัน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ)
ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัย เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก โดยมีศิษย์ของท่าน 3 คน คือ ท้าวศรีนาม ท้าวคำอาษา และท้าวแก้ว ดวงตา ซึ่งเป็นเจ้านายในกรุงเวียงจันทน์ มีบรรดาศักดิ์ชั้นเพี้ย เป็นผู้สร้าง ตามประวัติเล่าว่า ครั้นเวียงจันทน์เกิดจลาจล ได้มีประชาชนอพยพติดตามท่านพระครูโพนสะเม็กมาจำนวนมาก เมื่อมาถึงนครจำปาศักดิ์ เพี้ยทั้ง 3 ได้ลาอาจารย์นำครอบครัว และพรรคพวกประมาณ 30 ครัวเรือน ไปตั้งบ้านพระเหลาขึ้น และได้สร้างวัดขึ้นที่นั่นเรียกว่า "วัดศรีโพธิยาราม"
แล้วไปอาราธนา พระครูทิ ซึ่งเป็นศิษย์เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กรูปหนึ่ง จากวัดบ้านหม้อมาครองวัด พระครูทิ่ได้สร้างวิหารและพระพุทธรูปใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 3.50 เมตรเศษ ขึ้นไว้ประจำวัด เพราะพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “พระเหลา” ภายหลัง พ.ศ. 2440 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าคณะมณฑลอีสานขณะนั้น มาตรวจการคณะสงฆ์ ได้เห็นพระพุทธรูปองค์นี้ลักษณะงดงาม จึงได้เสริมนามว่า “พระเหลาเทพนิมิตร” (งดงามดังพระอินทร์สร้าง) สืบมา
นอกจากนี้ พระครูวิโรจน์ฯ ยังได้เป็นกรรมการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนาราม และนำประชาชนหล่อพระพุทธรูปสำคัญของเมืองอุบลฯ 3 องค์ คือ พระมิ่งเมือง พระศรีเมือง และ พระสัพพัญญู ซึ่งในปัจจุบันเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุปัฏนาราม ได้นำพระประธานปูนปั้นในวัดร้างต่างๆ มาบูรณะขึ้นใหม่ให้งดงามเหมือนเดิม และยังได้นำประชาชนสร้างพระพุทธรูป โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญทั้งในเมืองและนอกเมืองอีกหลายแห่ง
พระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นพระเถระที่ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานพระศาสนาอย่างมุ่งมั่น สถาปัตยกรรมที่เด่นชัดและงดงามที่สุด ซึ่งเกิดจากการบูรณะด้วยจิตที่วิจิตร บ่งบอกถึงความชำนาญในวิจิตรศิลป์ของพระครูวิโรจน์รัตโนบล คือ การบูรณะพระธาตุพนม อันเป็นเจดีย์สถานที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง
เกียรติประวัติของท่านพอสรุปได้ดังนี้
- งานปกครองคณะสงฆ์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล ปกครองสงฆ์โดยใช่พระคุณเป็นหลัก มีเมตตาธรรมสูงมากองค์หนึ่ง ชอบสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน ใครก็ตามที่เข้ามาปรึกษาปัญหาหรือขอพึ่งพระบารมี หลวงปู่จะตอบว่า “ดี” หลวงปู่ท่านจะอนุเคราะห์ ทุกอย่างที่ให้ได้ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป และได้รับคำชมเชยว่า “หลวงปู่ดีโลด” หรือ ดีโรจน์ คือ ดีทุกอย่าง (ดีโลด หมายถึง ดีมาก)
- สมณศักดิ์ พ.ศ. 2434 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงอุดร หรือ อำเภออุตตรูปรนิคม (อำเภอม่วงสามสิบ) และได้รับพระราชทานเป็น พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช แต่ยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง พ.ศ. 2446 ได้รับแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2447 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิโรจน์รัตโนบล” จนถึงอายุ 75 ปี ได้ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2470 รวมเวลาเป็นเจ้าคณะบริหารคณะสงฆ์รวม 37 ปี
- การสาธารณูปการ เนื่องจากท่านเป็นช่างศิลป์ ท่านได้รับอาราธนาให้ดำเนินการปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญดังนี้
- ปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม (เมื่อ พ.ศ. 2444)
- ปฏิสังขรณ์วิหารพระเหลาเทพนิมิต
- เป็นกรรมการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร (หลังปัจจุบัน)
- เป็นประธานหล่อพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี (พระสัพพัญญูเจ้า พระมิ่งเมือง พระศรีเมือง พระประธานวัดสุปัฎนารามวรวิหาร พระประธานวัดท่าบ่อ พระประธานวัดบ้านหนองไหล)
- เกียรติคุณทางวิทยาอาคม ในปี พ.ศ. 2483 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จนเกิดเป็น “สงครามอินโดจีน” กองทหารได้บุกเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว โดยตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่อุบลราชธานี พ.ต.อ.พระกล้ากลางสมรภูมิ ข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลฯ ขณะนั้น ได้นิมนต์ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นผู้ประสาทพรแก่ทหารเพื่อความปลอดภัย และ ขุนบุรัสการบดี ผู้แทนราษฎรสมัยนั้น ได้นำเอารูปถ่ายของท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล ไปทำเป็นเหรียญแจกจ่ายแก่ทหาร ปรากฏว่าทหารรุ่นนั้น ปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ เหรียญรุ่นนั้นได้ปรากฏความขลัง จึงเป็นที่ต้องการแพร่หลายในปัจจุบัน เกียรติคุณด้านวิทยาคมที่โด่งดังก็คือ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่กล่าวได้ว่า สามารถกำราบพวกภูมิผีต่างๆ เช่น ผีปอบ โดยมีลูกศิษย์ท่านหลายคนกล่าวว่า เพียงได้ยินชื่อท่านเท่านั้น พวกผีทั้งหลายก็เผ่นหนีแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า หลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตโนบล จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนโดยทั่วไป
การฟื้นฟูทำนุบำรุงพระธาตุพนม
พระธาตุพนม นั้นมีความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เกรงกลัว และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านชาวเมืองอยู่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถือกันว่า มีเทพาอารักษ์มีมเหศักดิ์คุ้มครองพิทักษ์รักษา ผู้ใดๆ จะกล้ำกลายเข้าไปใกล้องค์พระธาตุ โดยการขาดสัมมาคารวะต่อองค์พระธาตุมิได้ จะได้รับโทษทันตาเห็น แม้แต่ต้นไม้ต้นหญ้าซึ่งขึ้นอยู่ที่องค์พระธาตุนั้น ก็จะไม่มีผู้ใดกล้าแตะต้องได้
ภาพพระธาตุพนมองค์เก่า (Vue du monument de Peunom) วาดโดย Louis Marie Joseph Delaporte
นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ประมาณปีค.ศ. 1870-1875 สมบัติของพิพิธภัณฑ์ Guimet
ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2444 ท่านพระครูสีทา วัดบูรพา ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านอาจารย์หนู พร้อมด้วยคณะได้เดินธุดงค์มาถึงพระธาตุพนมแห่งนี้ ได้เห็นความเลื่อมโทรมขององค์พระธาตุแล้ว ก็เกิดความสังเวชสลดใจใคร่ที่จะซ่อมแซม จึงได้แนะนำให้ทายกทายิกาชาวเมืองธาตุพนม ให้ลงไปอาราธนาหลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ วัดทุ่งศรีเมือง ขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ก็ยินดีรับอาราธนาขึ้นมายังพระธาตุพนม ตามประสงค์
พอท่านขึ้นไปถึง แล้วท่านก็ได้ให้มีการประชุมหัวหน้าของชาวบ้าน ชาวเมือง ในการที่จะดำเนินการบูรณะซ่อมแซม ชาวบ้านบอกว่า "ให้ท่านพาปูลานพระธาตุเพียงอย่างเดียว พอได้เป็นที่กราบไหว้บูชาก็พอแล้ว ไม่ยอมให้แตะต้ององค์พระธาตุโดยเด็ดขาด" ท่านก็บอกชาวบ้านไปว่า "ถ้าท่านไม่ได้ไปบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่พื้นดินถึงยอดองค์พระธาตุแล้ว ท่านจะไม่ทำ" ชาวบ้านคัดค้านโดยประการต่างๆ นานา หาว่าท่านไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลธรรม เพราะจะไปรื้อเจดีย์ ตัดโพธิ์ศรี ลอกหนังพระเจ้าเป็นบาปหนัก และกล่าวว่าถ้าปล่อยให้ท่านทำตามที่ท่านต้องการแล้ว เทพาอารักษ์ที่พิทักษ์รักษาองค์พระธาตุ ก็จะโกรธแค้นทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเดือดร้อนต่างๆ นานา ท่านก็ได้ให้เหตุผลโดยประการต่างๆ ชาวบ้านชาวเมืองก็ไม่ยอม ท่านจึงแจ้งให้ทราบว่า "ถ้าไม่ยอมให้ท่านทำ ท่านก็จะกลับจังหวัดอุบลฯ"
ชาวบ้านก็เรียนท่านว่า "จะกลับก็ตามใจ" แล้วก็พากันเลิกประชุมกลับบ้านไป ในขณะที่ชาวบ้านกำลังกลับจากประชุมที่วัดนั้น บางคนก็ยังกลับไม่ถึงบ้านของตนด้วยซ้ำไป ปรากฏว่ามีหญิงคนหนึ่งชื่อ นางเทียม ได้ถูกเจ้าเข้าสิงตัว ได้บ่นว่าดุด่าอาฆาตมาดโทษหัวหน้าชาวบ้าน ผู้ขัดขวางคัดค้านไม่ให้หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ซ่อมแซมพระธาตุ เช่นว่า “อ้ายคนใดบังอาจขัดขวางเจ้ากู มิให้ท่านซ่อมแซมพระธาตุ กูจะหักคอมัน ท่านจะทำก็ปล่อยให้ท่านทำเป็นไร สูจะไปขัดขืนท่านทำไม แม้กูเองก็ยังเกรงกลัวพระบารมีของท่าน” ดังนี้เป็นต้น
ฝ่ายชาวบ้านมี เฒ่ามหาเสนี เป็นอาทิ เมื่อเห็นเป็นเหตุการณ์วิปริตไปเช่นนั้นก็พากันเกิดความสะดุ้งตกใจกลัวว่า จะมีภัยอันตรายมาถึง จึงได้พากันรีบกลับวัด ไปกราบไหว้วิงวอน ขอขมาลาโทษท่านหลวงปู่ และกราบนิมนต์ท่านไว้มิให้กลับไปเมืองอุบลฯ พร้อมทั้งอาราธนาให้ท่านเป็นผู้นำกระทำการทุกอย่าง สุดแต่ท่านจะประสงค์ พวกตนก็จะปฏิบัติตามทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านก็รับนิมนต์อยู่ปฏิบัติงานต่อไป
ภาพพระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte
ในสมัยนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายด้าน ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดแผ่นดินทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การเงินชาวบ้านไม่ดี เกิดปัญหาที่จะระดมทุนมาบูรณะพระธาตุพนม แต่ท่านก็กล้าเสี่ยงทำงานใหญ่ด้วยหวังต่อคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ในวันแรก พระครูวิโรจน์ฯ นำพระเณรที่มาจากอุบลฯ 40 รูป (หนึ่งในนั้นคือ สามเณรคำหมา แสงงาม ศิษย์เอก) ตั้งเครื่องสักการะ ทำการสัมมาคารวะพระรัตนตรัย แล้วให้พระเณรที่ติดตามทั้ง 40 รูปนั้น เอาไม้พาดเจดีย์ทำความสะอาด ชาวบ้านและพระเณรในวัดไม่มีใครกล้าช่วย แต่พระครูวิโรจน์ก็ทำงานต่อไปทุกวัน ในช่วงแรกมีเพียงเฒ่าชัยวงศา ผู้ใหญ่บ้านดอนกลาง ที่มารับใช้ให้ความช่วยเหลือ
ครั้นผ่านไป 7 วัน ก็เริ่มมีชาวบ้านละแวกพระธาตุพนม มายืนสังเกตการณ์ดูอยู่ห่างๆ ต่อมาได้ 15 วัน ผู้คนก็หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เจ้าเมืองท่าแขก ได้ยกหินปูนที่ภูเขาเหล็กไฟให้ทั้งลูก พร้อมเกณฑ์คนเป็นพันคนช่วยขนหินปูนจากเชิงเขาถึงฝั่งแม่น้ำโขง เป็นทางยาว 4 กิโลเมตร โดยยืนเรียงแถวรับส่งหินต่อกันมา เจ้าเมืองสกลนครและหนองคาย ปวารณาให้ช้างมาใช้ลากเข็นจากริมโขงมายังองค์พระธาตุพนม ประชาชนทั้งหลาย รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้เฒ่าแก่ หนุ่มสาวหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมด้วยช่วยกัน
พระครูวิโรจน์รัตโนบลได้บูรณะองค์พระธาตุพนม โดยการขูดกะเทาะปูนเก่าออก แล้วโบกเข้าไปใหม่ ทาน้ำปูนพระธาตุ ประดับแก้วปิดทองส่วนบน ติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองคำหุ้มยอด ปูลานพระธาตุ ซ่อมแซมกำแพงชั้นใน ชั้นกลาง จนแล้วเสร็จ ได้ฉลององค์พระธาตุ โดยพระครูวิโรจน์รัตโนบลได้กำหนดให้มีงานชุมนุมไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันมาฆะบูชาเป็นประเพณีสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
พระครูวิโรจน์รัตโนบล ใช้เวลาซ่อมพระธาตุพนมอยู่นานราว 3 ปี จากนั้นก็ใช้เวลาบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติม ท่านต้องเทียวขึ้นลงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับนครพนมหลายเที่ยว ตลอดระยะเวลา 38 ปี ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของพระครูวิโรจน์ฯ ท่านอุทิศให้กับการบูรณะพระธาตุพนม และในปี พ.ศ. 2482 เป็นการเดินทางสู่พระธาตุพนม ครั้งสุดท้ายของท่าน
พระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มาจนชราภาพ ครั้นอายุ 75 ปี เกิดความขัดแย้งขึ้นในคณะสงฆ์ มีคำสั่งให้เผาทำลายคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ของอีสาน แต่ท่านไม่ยอมปฏิบัติตาม ยังคงรักษาใบลานในหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองไว้ตามเดิม ต่อมาท่านก็ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี โดยยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2470 แม้เป็นกิตติมศักดิ์ ท่านก็ยังอุตส่าห์เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบท แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา เอาธุระสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านให้อยู่ในศีลธรรม และเป็นภาระในการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอยู่เช่นเดิม ตลอดจนอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นช่างปั้น ช่างแกะลวดลาย ช่างเขียน ตลอดจนช่างเงินทองต่างๆ จนเกิดตระกูลช่างศิลป์ ที่มีความวิจิตรงดงามเฉพาะอุบลสืบต่อมา
แม้ท่านจะชราภาพมากแล้ว หากหมู่บ้านใดเกิดเดือดร้อนไม่ค่อยอยู่ดี ชาวบ้านมานิมนต์ ท่านก็ยังไปรดน้ำมนต์ทำมงคลให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็น ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง บุญญาภินิหารอันสูงส่งของท่านหลวงปู่ได้เป็นอย่างดียิ่ง ความเป็นผู้ทรงคุณธรรมทางด้านความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเวทมนต์ และคาถาอาคมต่างๆ ย่อมเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีและกว้างขวางในสมัยนั้นว่า หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นอาจารย์ผู้มีเวทมนต์และ คาถาอันศักดิ์สิทธิ์และแก่กล้า สามารถที่จะกำจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของประชาชน ผู้ที่ถูกคุณไสยถูกใส่ ถูกทำ ถูกผีเข้าเจ้าสิงต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง ท่านสามารถใล่ปัดรังควานและเสนียดบ้านเสนียดเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข บ้านใดเมืองใดเกิดเดือดร้อนมีเหตุภัยต่างๆ บ้านเมืองนั้นจะนิมนต์ท่านไปทำพิธีปัดเสนียดจัญไรระงับความเดือดร้อนและเหตุเภทภัยต่างๆ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขสืบไปอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังสามารถรักษาผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ต่างๆ ให้หายได้เป็นอย่างดี เช่น คนที่แขนหักขาหักกระดูกแตกเหล่านี้ ท่านก็สามารถทำน้ำมนต์ให้ทาที่เจ็บที่หักให้ติดต่อกันหายสนิทดีได้ด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร และด้วยเวทมนต์คาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านเอง
สำหรับงานที่สำคัญอีกอย่างของ พระครูวิโรจน์รัตโนบล คือ การบูรณะหอไตร วัดทุ่งศรีเมือง สร้างมาตั้งแต่ครั้ง พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรุดโทรมไปมากตามกาลเวลา เนื่องจากไม่มีใครเป็นช่างที่มีความชำนาญพอที่จะบูรณะได้ ท่านจึงได้นำพาญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมให้มีสภาพเช่นเดิม เพื่อเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนิกชนและของชาติบ้านเมืองสืบไป
ชาวเมืองอุบลราชธานีรวมทั้งคนทั่วๆ ไปเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่า "ท่านพระครูดีโลด ญาคูดีโลด ญาท่านดีโลด หรือหลวงปู่ดีโลด" เพราะท่านจะพูดอะไรกับใครๆ หรือฟังใครพูด เวลาเขาเหล่านั้นพูดจบหรือเล่าจบ ท่านมักรับคำของเขาว่า "ดีๆ" ใครจะพูดร้ายหรือพูดดีกับท่าน ท่านก็จะพูดว่า "ดีๆ" เวลามีอารมณ์ชนิดไหนก็ตาม ท่านก่อนจะพูดอะไรก็ชอบเปล่งอุทานว่า "ดีๆ" เขาจึงถวายนามพิเศษว่า "หลวงปู่ดีโลด ญาคูดีโลด ญาท่านดีโลด หรือ ท่านดีโลด" คำว่า "โลด" เป็นคำพื้นเมือง แปลว่า "เลย" คำว่า "ดีโลด" ก็หมายความว่า "ดีเลย" นั่นเอง
พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ หลวงปู่รอด นันตโร มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 88 ปี 64 พรรษา โดยเป็นเจ้าคณะปกครองพระสงฆ์อยู่ 37 พรรษา คือ เป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 13 พรรษา เป็นเจ้าคณะจังหวัด 24 พรรษา ศิษยานุศิษย์และญาตโยมทั้งหลายได้จัดพิธีฌาปนกิจถวายหลวงปู่รอดเป็นการมโหฬารยิ่ง เมื่อเดือนเมษายน 2485 สมเด็จมหาวีรวงศ์ ได้เป็นผู้อุปถัมภ์นำศพท่านบรรจุไว้ใน หีบไม้ลงรักปิดทองแบบโบราณ ตั้งบนหลัง "นกหัสดีลิงค์"ภายใต้เมรุอันวิจิตรตระการตา สมเกียรติคุณงามความดีของท่าน "พระครูดีโลด" ทุกประการ