ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอนคิดถึงใบหน้า
นั่งเขียนจดหมาย แล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า ..."
จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ปิดไฟแล้วมองเห็นเขียนจดหมายได้อย่างไร? คนแต่งเนื้อร้อง ทำนองก็จากไปนานแล้ว... แต่คนร้องเพลงยังอยู่ ไปทำความรู้จักกันหน่อย
รักชาติ ศิริชัย
รักชาติ ศิริชัย มีชื่อจริงว่า นายบุญช่วย จิวิสาย มีชื่อเล่นว่า "ช่วย" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่บ้านหนองมะเขือ ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านไผ่ (ปัจจุบันเป็น อำเภอบ้านแฮด) จังหวัดขอนแก่น ในครอบครัวที่มีพี่สาว 2 คนที่เป็นนางเอกหมอลำ ทำให้รักชาติซึมซับเรื่องจังหวะดนตรีมาตั้งแต่เล็ก เมื่อได้ช่วยตีกลอง ฉับ ฉิ่ง ในระหว่างที่พี่สาวซ้อมหมอลำ แต่รักชาติกลับสนใจเพลงลูกทุ่งมากกว่าหมอลำ โดยในช่วงนั้นเขาชื่นชอบเพลงของ "รุ่งเพชร แหลมสิงห์" มากเป็นพิเศษ
รักชาติ เริ่มจับไมค์ร้องเพลงครั้งแรกในงานแต่งงานงานหนึ่ง จากนั้น เขาก็ออกตะลอนประกวดร้องเพลงในพื้นที่ใกล้เคียง จนมาถึงการประกวดที่สถานีวิทยุ มก. ขอนแก่น (2517) ช่วงนั้นใช้เพลง "เดือนยี่ปีหน้า" ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ และเพลง "หลับไม่ลง" ของ แมน เนรมิต ก็ชนะได้รับรางวัลเสียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงหลังๆ จึงมักได้รับการปฏิเสธจากผู้จัดการประกวดไม่ให้เข้าร่วมประกวดด้วยอีก
ต่อมา รักชาติ ได้ไปสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรีชื่อ "จุฬาภรณ์" ที่จังหวัดมหาสารคาม แต่วงก็อยู่มาได้แค่ 2 เดือนก็หยุดวงช่วงหน้าฝน คิดอยากทำเพลงของตนเอง ด้วยความช่วยเหลือของ อาจารย์อำนวย อัมพะวง คนในวงการวิทยุด้วยทุนตนเอง 2,500 บาท ได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต เป็นผลงานเพลงของ ครูชลธี ธารทอง ชื่อ "จดหมายฉบับสุดท้าย" ในชื่อนักร้องว่า เมธี ศรีไพรวัลย์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเดินทางกลับบ้านและมาบวชอยู่ 1 พรรษา ระหว่างนั้น มีเพื่อนมาพูดคุยเรื่องการเป็นนักร้องที่กรุงเทพฯ เมื่อสึกออกมา รักชาติ จึงตัดสินใจลงมาเสี่ยงโชคที่กรุงเทพฯ โดยหวังจะมาสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรี "รุ่งเพชร แหลมสิงห์" ที่เขาชื่นชอบ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางถึง "ซอยบุปผาสวรรค์" แหล่งรวมของวงดนตรีลูกทุ่งทั่วไทยในยุคนั้น เขาได้เห็นมีการประกาศขายรถบัสเดินสายของวง "รุ่งเพชร" ทำเอาใจคอของ รักชาติ ห่อเหี่ยวไปไม่ใช่น้อย เลยต้องไปหางานทำกับเพื่อนหมู่บ้านเดียวกันที่โรงน้ำแข็งแถวบางแค
แต่ก็ยังถือว่าโชคดีในที่สุดได้เจอเพื่อนสมัยประกวดร้องเพลงด้วยกัน ชักนำ รักชาติ ไปอยู่กับวงดนตรี "ศรีไพร ลูกราชบุรี" ซึ่งก็มีโอกาสได้ร้องเพลงหน้าเวทีบ้าง ไม่ได้ร้องบ้าง ต่อมาเมื่อวงมาเดินสายอยู่แถวภาคเหนือ รักชาติ ได้ไปพบกับตลกที่เคยอยู่กับ สุชาติ เทียนทอง นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังคนหนึ่ง จึงพาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ซึ่ง ครูสุชาติ เทียนทอง ก็รับเขาและได้แต่งเพลงให้ร้องหลายเพลง และหากว่ายามใดที่มีทุนทรัพย์ ครูก็พาลูกศิษย์เข้าห้องอัดเสียงด้วย ถ้าไม่มีก็หยุดไปก่อน
รักชาติ ร้องเพลงของสุชาติอยู่หลายเพลง เริ่มตั้งแต่ "แขกจ๋า" และ "ตุ๋ยโฮเตล" ในชื่อ รักชาติ ชัยมงคล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมามีนักร้องในยุคเดียวกันบันทึกเสียงชื่อ ศิริ ชัยมงคล ซึ่งอาจารย์สุชาติกลัวว่าชื่อ รักชาติ ชัยมงคล ถ้าดังขึ้นมาชื่อจะมีปัญหาให้คนสับสน (เหมือนที่แฟนเพลงสับสนกับชื่อของ สายัณห์ สัญญา กับสัญญา พรนารายณ์) จึงเปลี่ยนชื่อใหม่อีกเป็น สันติ ศิริชัย ร้องมาหลายเพลงแต่ก็ไม่ดังเสียที
จนมาถึงเพลงสุดท้ายที่ ครูสุชาติ เทียนทอง ได้เอ่ยตกลงกันว่า "ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอีก ก็คงต้องล้มเลิกการผลักดัน" และ 2 เพลงสุดท้ายที่ครูเขียนให้คือ สุขเถิดบัวคำ กับ ฉันทนาที่รัก นั้นก็ทำให้ รักชาติ ศิริชัย โด่งดังเป็นพลุแตก เพราะมันคือเพลง "ฉันทนาที่รัก" ซึ่งเป็นเพลงยุคแรกๆ ที่กล่าวถึงชีวิตของสาวโรงงาน กับข้อความอันเป็นปริศนาในเพลง ที่บอกว่า "ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอนคิดถึงใบหน้า นั่งเขียนจดหมาย แล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า" ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่า ปิดไฟแล้วจะเขียนจดหมายได้อย่างไร? (รักชาติเล่าว่า เพลงนี้อาจารย์สุชาติตั้งใจให้เพลงนี้เป็นคำถามของคนทั่วไป รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ให้เป็นคำปุจฉาของวงการ ไม่ยอมเปลี่ยนเนื้อร้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ )
จากความสำเร็จของเพลง "ฉันทนาที่รัก" รักชาติ ศิริชัย ได้รับการสนับสนุนจากหมอเอื้อ อารีย์ เจ้าเก่า มาเป็นนายทุนให้ (บริษัท เสกสรรเทปและแผ่นเสียง) ยิ่งทวีความดังมากขึ้นไปอีกจากผลงานเพลง สุดฮิต อย่าง "รักข้ามคลอง" และ "ฉันทนาใจดำ" ความดังของเขา ทำให้มีการฉวยโอกาส ตั้งวงดนตรีชื่อ "ฉันทนาที่รัก" ออกเดินสายทั่วประเทศ มีคณะลิเกชื่อคณะ รักชาติ ศิริชัย ที่เล่นเรื่อง "ฉันทนาที่รัก" และคำว่า "ฉันทนา" ถูกใช้แทนความหมายของเหล่าบรรดาสาวโรงงาน จวบจนถึงปัจจุบัน
รักชาติ ศิริชัย สารภาพถึงเรื่องราวที่ผ่านมากว่า 30 ปีที่แล้ว ว่า “ผมเป็นนักร้องอยู่ในวงของครูสุชาติ เทียนทอง อยู่หลายปี เริ่มมีชื่อเสียงบ้างแต่ยังไม่โด่งดัง จนปี พ.ศ. 2520 มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ทำให้ผมเสียใจมาก ร้องไห้ฟูมฟายเหมือนกับเด็กๆ เพราะมีข่าวลือว่าผมจะออกไปตั้งวงดนตรีเองกับช่างไฟ ซึ่งมันไม่เป็นความจริงเลย เรื่องการออกไปตั้งวงเองไม่เคยอยู่ในหัวผม ครูก็บอกว่าไม่เป็นไร ไว้เดินสายเชียงใหม่เสร็จแล้วค่อยคุยกัน ผมทั้งเสียใจและน้อยใจมาก ที่ทำดีแต่ไม่มีใครเห็น
หลังจากนั้นมา พอกลับมาที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีก และผมก็พิสูจน์ตัวเองคืออยู่กับครูตลอด ไม่ไปไหน จนวันหนึ่งครูก็มายื่นเพลง “ฉันทนาที่รัก” ให้ และบอกว่า 'ถ้าไม่ดัง ก็เลิกทำแล้วนะ' แล้วเพลงนี้ก็ออกมาดังจริง ดังจนถึงทุกวันนี้ ตอนนั้นที่เพลงฉันทนาที่รักดังมาก มีนายห้างมาติดต่อให้ผมไปอยู่ด้วยผมก็ไม่ไป เพราะถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า "เราไม่เนรคุณครู" เราอยู่กับครูตลอดจนเลิกวง ทุกวันนี้ผมเริ่มมาคิดได้ว่า สงสัยว่าเหตุการณ์วันนั้น อาจจะเป็นการลองใจเรา”
ฉันทนาที่รัก - รักชาติ ศิริชัย
แต่หลังจากนั้น ความนิยมของรักชาติก็ค่อยๆ ลดลง ปี 2536 รักชาติหันไปผลิตผลงานเพลงหมอลำออกมาชุดหนึ่ง ชื่อว่า "อดีตรักฉันทนา" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ปี 2550 รักชาติ ศิริชัย ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ด้วยการสลัดเครื่องแต่งกายแบบลูกทุ่ง หันไปออกผลงานเพลงแนวเพื่อชีวิต ชื่อชุด "รักชาติเพื่อชีวิต 1" ในขณะที่เนื้อหาของเพลงก็เป็นสำเนียงปักษ์ใต้เสียเป็นหลัก เคยร่วมแสดงภาพยนตร์ชีวิตของชาวเพลงลูกทุ่ง เรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (พ.ศ.2545) ของเสี่ยแหบ วิทยา สุภพรโอภาส นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง
รางวัลเกียรติยศ
- แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เพลงยอดนิยมลูกทุ่งชาย พ.ศ. 2522
- โล่ห์พระราชทาน งานกึ่งศควรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1
รักชาติ ศิริชัย นักร้องเจ้าของเสียงเพลง “ฉันทนาที่รัก" เข้ากรุง ยึดอาชีพเสริมขายทุเรียน สับปะรด พร้อมรับงานร้องเพลง สุ้มเสียงยังเป๊ะเพราะออกกำลังกายแบกยกทุกวัน “ตอนนี้ผมมาทำอาชีพขายผลไม้อยู่ที่ตลาดนัดในกรุงเทพฯ ปกติผมอยู่อุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา บ้านของภรรยา พอลงมาทำงานร้องเพลงในกรุงเทพฯ ก็จะเอาสับปะรดบ้าง ทุเรียนบ้างลงมาขาย ทุเรียนหลงลับแลแท้ๆ ผมขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ก็เลยขายสับปะรด เป็นของห้วยมุ่น อุตรดิตถ์ กับสับปะรดภูแล ของเชียงราย ผมขายทุกวันเลย เปลี่ยนไปตามตลาดเรื่อยๆ หลายตลาด บางครั้งก็ไปขายตรงร้าน ป.กุ้งเผา ปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นตลาดนัดประจำ ผมจะไปวันเว้นวัน บางทีก็ไปขายที่ซอยพาณิชย์ธน”
นักร้องเจ้าของเสียงเพลง “รักข้ามคลอง” กล่าวต่ออย่างคล่องแคล่วถึงอาชีพค้าขายที่เจ้าตัวภูมิใจ เพราะเป็นอาชีพสุจริตว่า “ผมขายกับภรรยา ผมปอกสับปะรดเองเลย ขายเป็นกิโล ปอกก่อนชั่ง ถ้าเป็นภูแลกิโลละ 100 บาท ส่วนห้วยมุ่น กิโลกรัมละ 30 บาท ขายหมดบ้างไม่หมดบ้าง เพราะเอามาทีหนึ่งเยอะ ขนใส่รถปิกอัพ แล้วเอามาตั้งขาย ผมไม่ได้ขึ้นป้ายเป็นชื่อผม แต่ขึ้นป้ายชื่อสับปะรด มีแฟนเพลงเขาก็จำได้บ้าง เขาถามผมก็บอกไป บางทีเจอพวกตลก นักดนตรีมาขายของก็คุยกัน กลายเป็นเพื่อนพ่อค้าแม่ขายด้วยกัน บางคนก็ถามใช่หรือเปล่า บางคนก็แซวว่า ต้องร้องเพลงไปด้วยขายไปด้วย (หัวเราะ)“
เมื่อก่อนไม่เคยค้าขาย เคยแต่ทำนา “ก่อนเข้าวงการ ผมไม่เคยค้าขายนะ ผมทำนาเลี้ยงควายที่ขอนแก่น เพิ่งจะมาทำตอนมีครอบครัวนี่แหละ ก่อนนั้นก็เคยขายอาหารตามสั่งแถวจรัลฯ ซอย 8 งานร้องเพลงก็รับอยู่ไม่ได้ทิ้ง ช่วงว่างก็ขายของ แต่ช่วงนี้งานน้อยลงทุกที ก็เลยมาขายของ ส่วนเพื่อนนักร้องที่มาขายของเท่าที่ทราบก็มี ชัชชัย ชัชวาลย์ เจ้าของเพลง “มอเตอร์ไซค์หุ้มทอง” ที่ขายพวกเครื่องสำอางตามตลาดนัด เคยเจอกันตามงานร้องเพลงครับ”
สำหรับเพลงชุดล่าสุด นักร้องรุ่นกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เล่าอย่างละเอียดว่า ตนเองได้มีส่วนแต่งเพลงด้วย
“งานล่าสุด ทำเพลงเองขายหน้าเวที ชื่อชุด “รักชาติยูเทิร์น” มีเพลง ฉันทนาที่รัก โชคดีน้องแดง ฉันทนาใจดำ สาวอุดรใจดำ รักข้ามคลอง เหล้าจ๋า เพราะคุณคนเดียว จากกันที่จันทบุรี ไอ้หนุ่มมอเตอร์ไซต์ โดยมี แหลมทอง บัวไทย ทำดนตรี และมีเพลงใหม่ คือ “ปลอบใจแม่หม้าย” “หลอกกันทำไม” “ห่วงสาวชาวนิคม“ เพลงนี้ พูดถึงสาวนิคมอุตสาหกรรม ผมแต่งเนื้อร้องเอง ผมหัดแต่งเพลงมาตั้งแต่บ้านนอก เคยแต่งเพลงให้แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ชื่อเพลง “ของเล่นเศรษฐี” ใช้ชื่อว่า ช. ศิริชัย แต่งให้ สันติ ดวงสว่าง เพลง “เกตุแก้วใจดำ“ กับ ”บังอรลืมนา” ตั้งแต่เขาอยู่อาร์เอส แต่เป็นเพลงที่ไม่ค่อยได้เชียร์ ตอนที่ผมร้องเพลงหมอลำ ผมก็แต่งเนื้อร้อง 5 กลอน ชื่อชุด “อดีตรักฉันทนา” ผมก็ได้วิชามาจาก ครูสุชาติ เทียนทอง ครูก็แนะ และบอกให้กำลังใจให้ทำให้ได้ และเป็นตัวแทนให้ได้ อย่างเพลงแก้ “รักข้ามคลอง” ครูก็ให้ผมลองแต่ง ให้ จำปา เมืองวิเชียร ร้อง ครูเขาก็ช่วยปรับแก้ให้ และก็มีเพลง “สายน้ำมรณะ” ผมเขียนท่อนเกริ่นหมอลำ อาจารย์สุชาติ ก็เขียนเนื้อไทยต่อ”
แรงงาน แรงใจ ในเพลงลูกทุ่ง - รายการสารพันลั่นทุ่งบางเขน ThaiPBS
นักร้องลูกทุ่งสู้ชีวิต กล่าวถึง อนาคตที่เจ้าตัวคิดไว้และฝากทิ้งท้ายถึงแฟนเพลง “ลูกชายของผม อายุ 22 ปี เรียนที่พาณิชยการ ราชดำเนิน ก็ร้องเพลง เล่นดนตรี เคยเล่นอยู่ตามร้านอาหารอยู่พักนึง แต่ตอนนี้มาทำงานอยู่บิ๊กซี ลูกชายคนเล็กก็ไปทำงานภูเก็ต ตอนนี้ผมก็อยู่กันสองคนกับตายาย วางแผนในชีวิตว่า จะค้าขาย ควบคู่ไปกับการร้องเพลง ก็ต้องทำสองอย่างนี่แหละ ทำเท่าที่ทำได้ สุขภาพโดยรวมก็ดี แต่ปัญหาเรื่องขาปวดขา ปวดหลังเป็นมาร่วมสิบปี เพราะเคยไปช่วยเขายกเสาไฟฟ้า ที่สถานีวิทยุที่ขอนแก่น สมัยที่อยู่ขอนแก่น แล้วกระดูกหัก ตอนนี้ ผมยังรับงานร้องเพลงเหมือนเดิม ส่วนผลงานชุด ”รักชาติยูเทิร์น” ซื้อได้ที่หน้าเวทีอย่างเดียว ที่แผงสับปะรด ไม่มีซีดีขายนะครับ(หัวเราะ) เจ้าภาพหรือแฟนเพลงที่จะติดต่องานเชิญได้ที่ 08-1909-7693 ครับ แต่ผมไม่ได้เล่นไลน์และเฟซบุ๊กครับ เพราะเล่นไม่เป็นครับ”
เคยลงเล่นการเมืองในการเลือกตั้งล่าสุด 2562 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เขต 2 พรรคประชาธรรมไทย ในเขตอำเภอท่าปลา ที่มีภูมิลำเนาอยู่กับภรรยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
กว่าจะมาเป็นรักชาติ ศิริชัย โดย อาวแท็กซี่
ปัจจุบัน มาเป็นนักจัดรายการวิทยุอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้รับมอบหมายให้ดูแลค่ายเพลงชื่อ ไทยคัวมิวสิก ติดต่องานการแสดงได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-1909-7693 และมาฟังผลงานล่าสุดเพลง "พรรษาเดียว ก็เบี้ยวกัน" ผลงานการประพันธ์คำร้อง/ทำนอง ขับร้องโดย รักชาติ ศิริชีย
พรรษาเดียว ก็เบี้ยวกัน : รักชาติ ศิริชีย