art local people

songsak 01ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของ นายใส ประทุมสินธุ์ และ นางกองสี ประทุมสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากบุตร - ธิดา 8 คน ในครอบครัวของนักดนตรีพื้นบ้าน จึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ส่งผลทำให้เกิดความสนใจในเครื่องดนตรีทุกประเภท ทั้ง พิณ แคน โปงลาง รวมถึง โหวด จึงได้เรียนรู้จากคนใกล้ชิดในครอบครัวบ้าง จากนักดนตรีอาชีพบ้าง จนสามารถพัฒนาทักษะ เชิงชั้นการดนตรีอีสานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในเครื่องดนตรีแทบทุกชนิด ซึ่งสามารถนำมาเล่นร่วมกันกับ พิณ แคน และโปงลาง

ด้านการศึกษา

  • พ.ศ. 2509 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2535 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2548 ปริญญาบัตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

songsak 07

ด้านครอบครัว

สมรสกับ นางดุษฏี ประทุมสินธุ์ มีบุตร 2 คน คือ นายชัชวาลย์ ประทุมสินธุ์ และ นายชาญยุทธ ประทุมสินธุ์

songsak 02

การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี

ในช่วงปีพุทธศักราช 2519 นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ได้เริ่มจัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โดยการรวมญาติพี่น้องสามตระกุลมาร่วมเล่นดนตรี ในนามวง “โหวดเสียงทอง” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำเสนอศิลปะพื้นบ้านทั้งที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ผสมกับความทันสมัยตามค่านิยมในขณะนั้น ความมีชื่อเสียงโด่งดังของ คณะโหวดเสียงทอง ซึ่งมี นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้บรรเลงเครื่องดนตรีโหวด ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่งให้ท่านได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะดนตรีในด้านนี้ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาในส่วนกลางหลายแห่ง

songsak 03

หอโหวด @บึงพลาญชัย สัญลักษณ์ของเมืองเกินร้อย

นอกจากนั้น ความชำนาญพิเศษในการบรรเลงโหวด ของนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ทำให้โหวดกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาต่อมา และได้รับการเชื้อเชิญให้นำผลงานไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บันทึกเทป บรรเลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวท่านได้รับชื่อเสียงมาขึ้นตามลำดับ และได้เดินทางไปแสดงฝีมือในการบรรเลงดนตรีอีสานในต่างประเทศมากว่า 10 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

songsak 05

การทำงานพิเศษ

  • พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2545 ผู้เชี่ยวชาญการสอนดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
  • พ.ศ. 2546 ถึง ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นบ้าน (โหวด) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ นับเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวัฒนธรรมที่น่ายกย่องท่านหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในระดับสูงหลายประเภทเช่น พิณ แคน โปงลาง และโหวด เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สืบสาน ถ่ายทอด เผยแพร่ และพัฒนา วัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่เป็นมูนมังแห่งบรรพชน ส่งผลสู่ลูกหลานในยุคต่อไป

songsak 04

ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน โหวด) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2554 รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ ปี 2554 โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

songsak 06

  • พ.ศ. 2555 เข็มเชิดชูเกียรติ บุคคลทำคุณประโยชน์กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2555 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2562 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) จากกระทรวงวัฒนธรรม

ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2562 : ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

redline

backled1