morlum never die

คำว่า "ลำ" นั้นมีความหมายอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเป็น ชื่อของเรื่อง อีกอย่างหนึ่งเป็น ชื่อของการขับร้อง หรือ การลำ ที่เป็นชื่อของเรื่องได้แก่เรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนกจอกน้อย เรื่องท้าวก่ำกาดำ เรื่องขูลูนางอั้ว เป็นต้น เรื่องเหล่านี้โบราณแต่งไว้เป็นกลอน แทนที่จะเรียกว่า เรื่องก็เรียกว่า ลำ กลอนที่เอามาจากหนังสือลำ เรียกว่า กลอนลำ

"ลำ" อีกอย่างหนึ่งหมายถึง การขับร้อง หรือ การลำ การนำเอาเรื่องในวรรณคดีอีสานมา "ขับร้อง" หรือมา "ลำ" เรียกว่า ลำ ผู้ที่มีความชำนาญในการขับร้องวรรณคดีอีสาน โดยการท่องจำเอากลอนเรื่อง่างๆ มาขับร้อง หรือผู้ที่ชำนาญในการเล่านิทานเรื่องนั้น เรื่องนี้ หลายๆ เรื่อง ในรูปแบบการขับร้อง เรียกว่า "หมอลำ"

หมอลำ อีกหนึ่งอัตลักษณ์อีสาน

หมอลำ มาจากคำว่า "หมอ" หมายถึง ผู้มีความชำนาญ และ "ลำ" หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองไพเราะ หมอลำ จึงหมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการบรรยายเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนองขับร้อง เป็นเพลงโดยมีการสอดเสียงแคนเข้าไป เพื่อเพิ่มความสนใจของผู้ฟัง เวลาลำก็จะมีคนเป่าแคนคลอเสียงไปด้วย และต้องสร้างเวทีสำหรับลำ ในขั้นแรกนั้นคงจะเป็นลักษณะ "หมอลำพื้น" คือ เล่าเรื่องตามพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ นิยายปรัมปรา คือ เล่าเรื่องพื้นเพบ้านของตน หมอลำจะนำผ้าขาวม้าพาดเฉียงไหล่แล้วสมมตินามตามท้องเรื่อง ต่อมาจึงมีการพัฒนาจากการลำผู้เดียว เป็นสองคน สามคน และหลายคนตามจำนวนตัวละครในนิทาน จนเป็นที่นิยมกลายเป็นเพชรน้ำเอกของภาคอีสาน โอกาสที่จะมีการแสดงหมอลำ คือ งานทำบุญให้ทาน งานรื่นเริงในหมู่บ้าน และงานฉลองช่วงออกพรรษา

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ความโดดเด่นอยู่ที่เรื่องราวพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ นิยายปรัมปรา เรื่องเล่าพื้นบ้านที่หมอลำนำมาลำเป็นบทกลอน มีจังหวะท่วงทำนองและองค์ประกอบอื่นๆ ที่นำมาใช้สื่อสารกับผู้ชมผู้ฟัง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นอกจากสร้างความบันเทิงแก่ผู้ฟังแล้ว ยังมีการนำไปใช้รักษาคนไข้อีกด้วย เรียกว่า "ลำผีฟ้าผีชง" เป็นการขอขมาบรรพบุรุษที่เข้ามาสิงสถิตในคนไข้

รายการที่นี่บ้านเรา ทาง ThaiPBS ตอน หมอลำ 4.0

เสริมความหมายของคำในภาษาอีสาน

"หมอ" หมายถึง ผู้ชำนาญในการใช้สิ่งต่างๆ ส่วน “ลำ” หมายถึง ร้อง หรือ การร้อง ดังนั้น หมอลำ หมายถึง ผู้มีความชำนาญในการร้อง หรือหมายถึงนักร้อง ในภาคอีสาน คำว่า “หมอ” เป็นที่รู้จักกันดี และใช้กันมาก เช่น

  • หมอแคน คือ ผู้เป่าแคน ผู้ชำนาญในการเป่าแคน
  • หมอมอ หรือ หมอโหร หรือ หมอดู คือ ผู้ชำนาญในการทำนายโชคชะตา ราศี ดูดวง ฤกษ์งามยามดี
  • หมอเอ็น คือ ผู้ชำนาญในการบีบนวดเส้นเอ็นตามร่างกาย บางทีเรียก หมอจับเส้น
  • หมอน้ำมนต์ คือ ผู้ชำนาญในการใช้น้ำมนต์ เป่า เสก
  • หมอยา คือ ผู้ชำนาญในการใช้สมุนไพร ตำรายารักษาโรค
  • หมอธรรม คือ ผู้ชำนาญในการใช้วิชา (ธรรม) ในทางไสยศาสตร์
  • หมอสูตร คือ ผู้ชำนาญในการทำพิธีสูตรต่างๆ เช่น สูตรขวัญ ชาวบ้านอาจเรียก "พ่อพราหมณ์"
  • หมอเสน่ห์ คือ ผู้ชำนาญในการทำเสน่ห์ ยาแฝด
  • หมอมวย คือ ผู้ชำนาญในการใช้วิชามวย ต่อย ตี

มีคำอื่นอีกที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “หมอ” คือ “ช่าง” ซึ่งเป็นทั้งคำนามและคำขยายความ ซึ่งมีความหมายว่า ฉลาด หรือชำนาญ เช่น “ช่างบั้งไฟ” “ช่างตีเหล็ก” และ “ช่างแคน” เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า “หมอ” ใช้สำหรับ “ผู้ใช้” ส่วน “ช่าง” ใช้สำหรับ “ผู้ทำ” เช่น “ช่างแคน” หมายถึง ผู้ชำนาญในการทำแคน (ผู้ผลิต) ส่วน “หมอแคน” หมายถึง ผู้ชำนาญในการใช้แคน คือเชี่ยวชาญในการเป่าแคน นั่นเอง

วิวัฒนาการของหมอลำ

ความเจริญก้าวหน้าของ "หมอลำ" ก็คงเหมือนกับความเจริญก้าวหน้าของสิ่งอื่นๆ เริ่มแรก คงเกิดจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทาน นิทานที่นำมาเล่าเกี่ยวกับจารีตประเพณีและศีลธรรม โดยเรียกลูกหลานให้มาชุมนุมกัน ทีแรกก็นั่งเล่า เมื่อลูกหลานมาฟังกันมากขึ้นจะนั่งเล่าก็ไม่เหมาะ ต้องยืนขึ้นเล่า (เพื่อให้ทุกคนมองเห็นโดยทั่วกัน) เรื่องที่นำมาเล่าต้องเป็นเรื่องที่มีในวรรณคดี เช่น เรื่องกาฬเกษ สังข์สินชัย เป็นต้น ผู้เล่าเพียงแต่เล่าไม่ออกท่าออกทางก็ไม่สนุก ผู้เล่าจึงจำเป็นต้องยกไม้ยกมือแสดงท่าทางประกอบเป็น พระเอก นางเอก เป็นนักรบ เป็นเสนาอำมาตย์ เป็นตัวตลก รวมทั้งใช้เสียงทุ้ม กังวาล มีความไพเราะ เป็นต้น

morlum 01

เพียงแต่เล่าอย่างเดียวก็ไม่สนุกอีก จึงจำเป็นต้องใช้สำเนียงสั้นยาว ใช้เสียงสูงต่ำประกอบ และหาเครื่องดนตรีประกอบ เช่น กลอง ซุง ซอ ปี่ แคน เพื่อให้เกิดความสนุกครึกครื้น ผู้แสดงมีเพียงแต่ผู้ชายอย่างเดียวดูไม่มีรสชาติเผ็ดมัน จึงจำเป็นต้องหาผู้หญิงมาแสดงประกอบ เมื่อผู้หญิงมาแสดงประกอบจึงเป็นการลำแบบสมบูรณ์ เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ ก็เกิดตามมา เช่น เรื่องเกี้ยวพาราสี เรื่องชิงดีชิงเด่น ยาด(แย่ง)ชู้ยาดผัวกัน เรื่องโจทย์ เรื่องแก้ เรื่องประชันขันท้า เรื่องตลกโปกฮาก็ตามมา จึงเป็นการลำที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น

จากการมีหมอลำชายเพียงคนเดียวค่อยๆ พัฒนาต่อมาจนมีหมอลำฝ่ายหญิง มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งเพิ่มผู้แสดงให้มีจำนวนเท่ากับตัวละครที่มีในเรื่อง มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวตลก เสนา อำมาตย์ ครบถ้วน ซึ่งพอจะแบ่งยุคของวิวัฒนาการได้ดังนี้

ลำโบราณ ลำพื้น

ลำโบราณ เป็นการเล่านิทานของผู้เฒ่าผู้แก่ให้ลูกหลานฟัง ไม่มีท่าทาง และดนตรี ประกอบ

หมอลำพื้น เป็นหมอลำที่เก่าแก่ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หมอลำพื้นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่บางคนบอกว่า หมอลำพื้นเกิดมีในภาคอีสานตั้งแต่สมัยคนอีสานแรกรับเอาพุทธศาสนาเข้ามา ดังนั้นเรื่องทั้งหมดที่หมอลำนำมาใช้ลำจะเป็นเรื่องชาดกต่างๆ

ลำพื้น บางทีเรียกว่า “ลำเรื่อง” คำว่า “พื้น” หรือ “เรื่อง” มีหมายความว่าเป็น “นิทาน” หรือ “เรื่องราว” ดังนั้น ลำพื้น จึงมีความหมายว่า การบอกเรื่องราว หรือการเล่าเรื่องนิทานนั่นเอง

ในสมัยก่อนลำพื้นหรือลำโบราณนี้เป็นที่นิยมมาก ทุกๆ หมู่บ้านมักจะว่าจ้างหมอลำพื้นมาลำในงานเทศกาลต่างๆ หมอลำพื้นจะใส่เสื้อและกางเกงขายาวสีขาว และลำเรื่องชาดก เวทีลำจะใช้บนพื้นดินปูด้วยสาดหวาย หรือทำเป็นเวทียกพื้นขึ้นเล็กๆ ซึ่งล้อมรอบด้วยผู้ฟัง จะลำตั้งแต่เวลาสองทุ่มไปจนถึงหกโมงเช้า (สว่างคาตากันเลยทีเดียว)

ลำคู่หรือลำกลอน

กลอน หมายถึง บทร้อยกรองต่างๆ เช่น โคลง ร่าย หรือกาพย์กลอน “หมอลำกลอน” ตามรูปศัพท์แล้ว หมายถึง หมอลำที่ลำโดยใช้บทกลอน ซึ่งความจริงแล้วหมอลำประเภทใดๆ ก็ล้วนแต่ใช้กาพย์กลอนเป็นบทลำทั้งสิ้น ที่ได้ชื่อว่า “หมอลำกลอน” นั้นก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นข้อแตกต่างจาก “หมอลำพื้น” ซึ่งปรากฏว่ามีหมอลำ 2 ชนิดนี้ในขณะเดียวกัน หมอลำกลอนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในขณะที่หมอลำพื้นได้ค่อยๆ สูญหายไป

morlum klon 2

หมอลำพื้น กับ หมอลำกลอน ต่างกันตรงที่ หมอลำพื้นเป็นการลำเดี่ยวและลำเป็นนิทาน ส่วนลำกลอนเป็นการลำสองคน ลักษณะโต้ตอบกันอาจจะเป็นได้ว่าการลำกลอนได้พัฒนามาสองทางคือจากลำ “โจทย์แก้” ซึ่งเป็นการลำแบบตอบคำถาม ชายถามหญิงตอบ หรือหญิงถามชายตอบ อย่างที่สองคือ “ลำเกี้ยว” ซึ่งเป็นการลำในทำนองการเกี้ยวพาราสีระหว่าง หญิง-ชาย

ลำโจทย์แก้ มีต้นตอมาจากจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ที่มาของลำโจทย์แก้ คือการ “เทศน์โจทย์” ซึ่งเป็นการเทศนาระหว่างพระสงฆ์สองรูป หรือหลายๆ รูป เนื้อความของการเทศน์จะเกี่ยวกับเรื่องราวในพุทธศาสนาและธรรมจริยา ในตอนแรกๆ นั้น ลำโจทย์แก้ได้ลอกเลียนแบบมาจากเทศน์โจทย์โดยตรง ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงแต่ว่าลำโจทย์แก้กระทำโดยฆราวาสสองคน และเป็นการลำในขณะที่เทศน์โจทย์เป็นการพูด

“ลำเกี้ยว” เชื่อว่า มีต้นกำเนิดมาจากหมอลำในจังหวัดอุบลราชธานี และถิ่นใกล้เคียงทางตอนใต้ของลาว ลำเกี้ยวจะใช้คำ ผญา ซึ่งเป็นคำกลอนเกี้ยวพาราสีเป็นหลักในการลำ ข้อแตกต่างระหว่างผญา และลำเกี้ยว คือ

  • ผญา เป็นการเกี้ยวจริงๆ ในชีวิตจริง ในขณะที่ลำเกี้ยวเป็นการแสดงสมมติ เพื่อความสนุกเพลิดเพลินของคนดู
  • ผญา เป็นการเกี้ยวในที่ลับเฉพาะที่เป็นส่วนบุคคล ในขณะที่ลำเกี้ยวกระทำในต่อหน้าสาธารณชน
  • ผญา เล่นกันโดยไม่มี “แคน” ในขณะที่ลำเกี้ยวต้องใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ

ในระยะเริ่มแรกของการลำกลอน การลำระหว่างหมอลำผู้ชายสองคน จะลำเกี่ยวกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นที่นิยมมากอยู่ระยะหนึ่ง และหลังจากการลำระหว่างผู้ชายสองคนได้หมดความนิยมลงไป ก็เกิดมีการลำระหว่างชาย-หญิงขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่หมอลำโจทย์แก้ กำลังเป็นที่นิยม หมอลำกลอนจะต้องเอาใจใส่ฝึกซ้อม และท่องจำเนื้อหา ความรู้ต่างๆ เพื่อโต้ตอบคำถามของหมอลำฝ่ายตรงข้าม หากว่าฝ่ายใดไม่สามารถเอาโต้ตอบคำถามได้ ก็อาจจะถึงต้องลงจากเวที และจะต้องเป็นที่อับอายขายหน้าอย่างยิ่ง

เมื่อผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการลำกลอนขึ้นแล้ว การลำเกี่ยวกับเพลงรักต่างๆ ก็ขยายเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน และก็เป็นคำเรียกร้องจากผู้ฟังด้วย เพราะผู้ฟังต้องการฟังเพลงรักที่สนุกสนานมากกว่าความรู้ทางวิชาการ ดังนั้นทุกวันนี้การลำกลอนจึงคงมีแต่การลำในลักษณะการลำเกี้ยวเท่านั้น

ในช่วงเวลาที่โจทย์แก้ กำลังเป็นที่นิยม ก็มีการลำที่เป็นลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น นั่นคือ “ลำชิงชู้” ซึ่งเป็นการลำเพื่อที่จะช่วงชิงหญิงสาว “ชิงชู้” หมายความว่า การชิงชัยเพื่อให้ได้มาซึ่งชาย หรือหญิง หรือคู่รักของตัว

ลำชิงชู้ ประกอบด้วยชายสอง หญิงหนึ่ง ผู้ชายสองคนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเก่ง ความหล่อเหลา ความร่ำรวย เพื่อที่ฝ่ายหญิงจะตัดสินในเลือกไว้เพื่อเป็นคนรัก การลำที่รู้จักกันระหว่างชายสามหญิงหนึ่งเรียกว่า “ลำสามเกลอ” หรือ “ลำสามสิงห์ชิงนาง” “สามเกลอ” หมายความถึงเพื่อนสนิทสามคน “สามสิงห์” หมายถึง ราชสีห์สามตัว “ชิง” หมายถึง “การต่อสู้แย่งชิง” “นาง” หมายถึง “ผู้หญิง” ดังนั้น ลำสามเกลอ หรือลำสามสิงห์ชิงนาง จึงหมายความถึง การลำของผู้ชายสามคนกับผู้หญิงหนึ่งคน ผู้ชายคนหนึ่งเป็นพ่อค้า คนหนึ่งเป็นชาวนา และอีกคนเป็นข้าราชการ

จุดใหญ่ใจความของการประกวดประชันกันระหว่างสามชาย คือ การลำเพื่อที่จะเอาชนะหัวใจของหญิงสาวให้ได้ ฉะนั้น แต่ละคนจึงต้องแสดงความสามารถ ยกข้อดีต่างๆ ของตัวเองออกมา ให้หญิงสาวใช้เป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ การลำนี้จึงเป็นเรื่อง ชิงรัก หักสวาท ยาดชู้ยาดผัว จึงเรียกว่า ลำชิงชู้

ปกิณกะเรื่องน่ารู้ของ "หมอลำในอดีต"

หมอลำ ในยุคสมัยอดีตนั้นจะมี หมอลำฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย และมีหมอแคน เป็นผู้ให้ดนตรีประกอบ ซึ่งอาจจะมีคนเดียวหรือสองคนก็ได้ ถ้าเป็นหมอลำชื่อดังก็มักจะมีหมอแคนประจำตัว พร้อมด้วยแคนที่เลือกมาเป็นพิเศษให้เข้ากับเสียงสูง-ต่ำของหมอลำ (มีคีย์เดียวกัน)

ส่วนสถานที่แสดงจะเป็น เวทีสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ 5-6 เมตร ยกพื้นสูง 2-3 เมตร เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นรอบด้าน แสงสว่างจะใช้กระบอง หรือขี้ไต้จุดที่เสาของเวที ต่อมาเมื่อถึง ยุคตะเกียงเจ้าพายุ ก็จะแขวนตะเกียงไว้กลางเวที ส่วนเครื่องเสียงในยุคแรกๆ นั้นไม่มี การลำจึงไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีไมโครโฟน ใช้ร้องปากเปล่า ผู้ลำจึงต้องมีพลังเสียงที่ดี ก้องกังวาน

morlum boran

การลำจะเริ่มลำกันตั้งแต่หนึ่งทุ่ม หรือสองทุ่ม ตอนหัวคํ่าก็จะเป็นการลำแนะนำตัว และถามตอบกันระหว่างหมอลำหญิง-ชาย ต่อจากนั้นก็จะเป็นการทดสอบภูมิรู้โต้ตอบกันว่า ใครจะมีปฏิภาณไหวพริบเหนือกว่ากัน บางคู่ฝีปากจัดจ้านก็จะโต้กันมันดุเดือด จนทำให้ผู้ฟังลุ้นจนเครียด พอดึกๆ หน่อยก็จะผ่อนคลายด้วยการลำเต้ยกลอนรักสนุกๆ สลับกับการลำยาว ลำล่อง ที่มีทำนองช้าๆ โหยหวน

ผู้ฟังบางคนก็กลัวว่า ฟังลำเหงาๆ ช้าๆ จะพาลให้ง่วงเหงาหาวนอน ก็จะมี “นักสอย” มาคั่นระหว่างการลำ “การสอย” คือการร้องแทรกเป็นประโยคสั้นๆ ขณะที่หมอลำกำลังลำอยู่ การสอยนี้มีนัยยะว่า ต้องการกระตุ้นผู้ฟังลำที่กำลังเคลิบเคลิ้มไปกับทำนองลำที่เศร้าๆ ให้ตื่นตาหายง่วง คำสอย จึงมักเป็นเรื่องราวที่สนุก ตลก ขำขัน บางคนเป็นนักสอยเจ้าสำนวน อาจทำใหผู้ฟังลำถึงกับหัวเราะ คนแก่นํ้าหมากกระจายเลยทีเดียว ส่วนมากก็จะเป็นเรื่องสองแง่สองง่าม หรือออกจะหยาบก็มี เช่นคำที่ว่า “สอย สอย เฒ่าสิตายบายของเมีย ว่าแมนแผนที่ ตรงนี้อ่าวไทย…นี่กะว่าสอย สอยแล้วสอยอีก” หรือคำสอยรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งเช่น “สอยสอย สาวซํ่าน้อย บ่ฮู้จัก ศรคีรี บาดไปถืกเขาบาย…? พอทีนะคุณ…” หมอสอยที่โด่งดังก็อาจจะมีค่าตัว ถูกว่าจ้างไปร่วมงานอยู่บ่อยๆ เป็นอาชีพได้

พอเลยเที่ยงคืนไป หมอลำได้พักดื่มนํ้าดื่มท่าเล็กน้อย ก็จะเริ่มลำโต้ตอบกันต่อ อาจจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นเล่นของสงวนกันเลย ออกสองแง่สองง่าม บางครั้งก็แง่เดียวตรงๆ เลย ไม่แพ้ลำตัดของทางภาคกลาง ลำแบบนี้คนอีสานเรียกว่า “กลอนเพอะ" หรือ "ลำเพอะ” ออกจะใกล้เคียงหยาบคาย หมอลำฝ่ายหญิงระดับมืออาชีพก็ไม่ยอมให้ละลาบละล้วงฝ่ายเดียว โต้ตอบคำแรงๆ จนเล่นเอาฝ่ายหมอลำชาย “หงายเงิบ” ไปก็มี เล่นเอาผู้ฟังรุ่นใหญ่ปรบมือเชียร์กันสนุกสนาน หายง่วง ลำโต้กันไปจนรุ่งสาง

มีคำถามว่า ทำไมเขาจึงลำเพอะ หรือจะเรียกว่า “ลำ Rated X” โดยมาลำกันหลังเที่ยงคืนไปแล้ว เพราะดึกมากแล้วนี่เองกลัวผู้ฟังจะง่วง ก็มากระตุ้นต่อมเสียวต่อมฮากันหน่อย และเฉพาะตอนดึกอย่างนี้ เด็กๆ ที่ตามพ่อ-แม่ ตา-ยาย มาฟังด้วยก็หลับกันหมดแล้ว เหลือแต่ผู้ใหญ่ที่จะฟังลำเพอะได้ นี่ก็เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณอีกอย่างหนึ่ง

พอค่อนรุ่ง เริ่มจะมีแสงสว่างทางขอบฟ้าทิศตะวันออก หมอลำก็จะเปลี่ยนแนวมาลำล่อง ลำยาว ที่มีทำนองอ่อนช้อย อ่อนหวาน และออดอ้อน เพื่อสั่งลาผู้ฟังมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ สั่งลาเจ้าภาพ แถมอวยพรให้เจ้าภาพมีความสุข ให้รํ่ารวย ปีหน้าจะได้ไปจ้างมาลำอีก ในช่วงนี้ถ้าเป็นหมอลำระดับมือโปรผู้ชำนาญทางกลอน จะร่ายกลอนคมคายออดอ้อนผู้ฟัง สั่งลาอาลัยกัน กว่าจะได้มาพบกันอีกคงนานจนงานใหม่ปีหน้าโน่น ถึงกับเรียกนํ้าตาอาลัยจากผู้ฟังวัยลุงป้า น้าอาได้เลยทีเดียว

kwian 01

ทำไมหมอลำกลอนจึงต้องลำกันชนิดโต้รุ่งตะวันไม่ขึ้นไม่เลิก? นี่ก็คือ ภูมิปัญญาของคนโบราณ เช่นกัน เหตุผลที่หมอลำกลอนต้องลำกันโต้รุ่ง เพราะสมัยโบราณ การจัดหมอลำขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล เป็นความบันเทิงอย่างเดียวในสมัยนั้น (ไม่มีสิ่งบันเทิงอื่นใด วิทยุ โทรทัศน์ หนังกลางแปลง) นานๆ จะได้ฟังกันสักที หมู่บ้านใด วัดไหน จัดจ้างหมอลำชื่อดัง จัดให้มีงานบุญขึ้น ก็จะกระจายข่าวออกไป ชาวบ้านหมู่บ้าน ตำบลใกล้เคียง ก็จะหลั่งไหลมาฟังลำกัน การคมนาคมไม่สะดวกเช่นสมัยนี้ ก็ใช้วิธีเดินเท้าหรือนั่งเกวียนมา ห่างไกลระยะ 3-10 กิโลเมตร ข้ามทุ่งนา ป่าเขา ข้ามห้วย ผ่านดงผ่านป่ากันมา จนยามตกคํ่าเพื่อฟังลำกัน ถ้าหมอลำเลิกการลำตอนเที่ยงคืน คนที่มาจากบ้านไกลก็กลับไม่ได้ การเดินทางกลางคืนอาจเจอสัตว์ร้าย หรืออันตรายอย่างอื่น ก็จะนั่งกันจนฟ้าสว่างแจ้ง มีแสงสว่างจึงจะเดินทางกลับได้ หมอลำจึงต้องลำให้สว่างเพื่อให้คุ้มกับการเดินทางมาไกล มันเป็นกุศโลบายให้เข้ากับวิถีชาวบ้านสมัยนั้น

ลำหมู่

เป็นการลำที่มีผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจะครบตามจำนวนตัวละครที่มีในเรื่อง มีเครื่องดนตรีประกอบเพิ่มขึ้น เช่น พิณ (ซุง หรือ ซึง) กลอง การลำจะมี 2 แนวทาง คือ ลำเวียง จะเป็นการลำแบบลำกลอน หมอลำแสดงเป็นตัวละครตามบทบาทในเรื่อง การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า แต่ก็ได้อรรถรสของละครพื้นบ้าน หมอลำได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการลำ ทั้งทางด้านเสียงร้อง ปฏิภาณไหวพริบ และความจำ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ โดยทั่วไปรูปแบบการแสดงลำหมู่เหมือนกับการแสดงยี่เกหรือลิเกในภาคกลาง เช่น ต้องมีฉากและเวที ตัวละครแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปักเลื่อม ส่งแสงระยิบระยับ มีตัวพระ ตัวนาง ตัวผู้ร้าย ตัวตลก และตัวประกอบ แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือ การลำที่ใช้ภาษาอีสานและการเจรจาด้วยภาษาอีสาน ตลอดถึงท่วงทำนองและการเอื้อนเสียง นอกจากนี้ การดำเนินเรื่องจะใช้กลอนลำที่มีข้อสัมผัส และเข้ากับเนื้อเรื่องติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งเรียกว่า “ต่อกลอน” ต่อมาเมื่อ "ดนตรีลูกทุ่ง" มีอิทธิพลมากขึ้น จึงเกิดวิวัฒนาการของลำหมู่อีกครั้งหนึ่ง กลายเป็น

ลำเพลิน ซึ่งจะมีจังหวะที่เร้าใจชวนให้สนุกสนาน ก่อนการลำเรื่องในช่วงหัวค่ำจะมีการนำเอารูปแบบของวงดนตรีลูกทุ่งมาใช้เรียกคนดู กล่าวคือ จะมีนักร้อง (หมอลำ) มาร้อง เพลงลูกทุ่งที่กำลังฮิตในขณะนั้น มีหางเครื่องเต้นประกอบ นำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทรัมเปต และกลองชุด โดยนำมาผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีเดิมได้แก่ พิณ แคน ทำให้ได้รสชาติของดนตรีที่แปลกออกไป ยุคนี้นับว่า หมอลำเฟื่องฟูมากที่สุด คณะหมอลำดังๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี

ข้อแตกต่าง ระหว่าง "หมอลำหมู่" และ "หมอลำเพลิน" คือ

  • ในลำหมู่ ผู้แสดงฝ่ายหญิงทุกคนจะแต่งด้วยชุดผ้าซิ่นแบบพื้นบ้านอีสาน หรือไม่ก็ชุดไทย แต่ลำเพลินฝ่ายหญิงจะนุ่งกระโปรงแบบฝรั่ง
  • ในลำเพลิน นอกจากแคนแล้วยังมีพิณเป็นเครื่องดนตรีประกอบด้วย
  • ในลำเพลิน มีจังหวะการลำที่เรียกว่า “ลำเพลิน” ซึ่งหมายถึงจังหวะสุนกสนาน ฟังแล้วเพลิดเพลิน นั่นเอง

ถึงแม้ว่าลำเพลินจะเข้ามามีบทบาทพร้อมๆ กับลำหมู่ก็ตาม แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าลำหมู่ จนเมื่อประมาณสิบปีก่อน ลำเพลินจึงกลายมาเป็นที่นิยมของคนทั่วไป และเป็นที่น่าสนใจว่า "การฝึกซ้อมที่จะเป็นหมอลำเพลิน" นั้น ง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการเป็นหมอลำหมู่

ลำซิ่ง

หลังจากที่หมอลำคู่ และหมอลำเพลิน ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป อันเนื่องมาจาก การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยี วิทยุ - โทรทัศน์ ทำให้ดนตรีสตริงเข้ามาแทรกในวิถีชีวิตของผู้คนอีสาน ความนิยมของการชมหมอลำค่อนข้างจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดความวิตกกังวลกันมากในกลุ่มนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่แล้ว... มนต์ขลังของหมอลำก็ได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปแบบที่สะเทือนวงการด้วยการแสดงที่เรียกว่า ลำซิ่ง

morlum zing

ลำซิ่ง เป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2 - 3 คน) ใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระบาดไปสู่การแสดงพื้นบ้านอื่นให้ต้องประยุกต์ปรับตัว เช่น เพลงโคราชกลายมาเป็นเพลงโคราชซิ่ง กันตรึมก็กลายเป็นกันตรึมร็อค หนังปราโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) กลายเป็นปราโมทัยซิ่ง ถึงกับมีการจัดประกวดแข่งขัน บันทึกเทปโทรทัศน์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนถึงกับมีบางท่านถึงกับกล่าวว่า "หมอลำไม่มีวันตาย จากลมหายใจชาวอีสาน"

หมอลำผีฟ้า

การลำชนิดนี้ เป็นการลำเฉพาะกิจ เฉพาะถิ่นหรือกลุ่มชนเท่านั้น ไม่ได้มีทั่วไปเหมือนกับการลำแบบอื่น คนอีสานบางคนมีความเชื่อว่า "โรคภัยไข้เจ็บ" เกิดจาก "เชื้อโรค" และบางคนเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของ “ผี” หรือ ภูติ ผี ปีศาจ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อโรคนั้น สามารถที่จะเยียวยาให้หายได้ด้วยการรักษาโดยการใช้ยา อาจเป็นสมุนไพรในอดีตหรือยาแผนปัจจุบัน ส่วนความเจ็บป่วยที่เกิดจาก ผี หรือการกระทำผิดต่อผี ผิดต่อบรรพบุรุษนั้น เชื่อว่าต้องได้รับการรักษาจาก “ผีฟ้า” หรืออำนาจอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคราวชีวิตจะสิ้นสุดลงก็ไม่มีใครสามารถที่จะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ได้

คนป่วยที่ได้รับการรักษาจากวิธีการสมัยใหม่ หรือจาก “ยา” ไม่ได้ผลแล้ว คนไข้หรือญาติพี่น้องของคนไข้ก็จนปัญญา จำต้องหันหาที่พึ่งทางอื่น และที่พึ่งทางอื่นนั้นก็คือ “หมอลำผีฟ้า” ถึงแม้ว่าทุกคนจะไม่มีความเชื่อในหมอลำผีฟ้าดังกล่าว แต่เรื่องราวชีวิตก็ย่อมที่จะลองเสี่ยงดูบ้าง เผื่อฟลุ๊คหายจากโรคภัยได้

รายการ "อยู่ดีมีแฮง" ทาง ThaiPBS ตอน เดอะ หมอลำ

การแต่งกาย

ในสมัยก่อน หมอลำไม่มีการพิถีพิถันในการแต่งกายแต่งหน้ามากนัก แค่แต่งให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ โดยหมอลำฝ่ายชายจะมีผ้าขาวม้าคาดเอว ใส่เสื้อม่อฮ่อม มีดอกไม้ทัดหู นุ่งผ้าโสร่งไหม หมอลำฝ่ายหญิงจะแต่งกายด้วยผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ เสื้อแขนกระบอก แต่ในสมัยปัจจุบัน หมอลำได้รับการพัฒนารูปแบบการแต่งกายชุดสั้น ยาว ตามความเหมาะสมในรูปแบบการลำ มีเครื่องประดับแพรวพราว วูบวาบ (ทราบว่า บางคณะนั้น ค่าชุดแต่งตัวในการแสดงราคาเหยียบแสน หรือเกินกว่านั้นก็มี) การแต่งกายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การแต่งหน้าก็มีสีสัน สวยงามทันสมัยมากขึ้น

morlum dress

ตำนานหมอลำ ประวัติศาสตร์พันปี สู่ความบันเทิงหน้าฮ้าน I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

กลอนลำแบบต่างๆ

วัฒนธรรมอีสานอย่าง "หมอลำ" นี้ได้ผ่านการวิวัฒนาการมาหลายยุคสมัย มีทั้งช่วงที่รุ่งเรือง และตกต่ำ มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีการพัฒนาทั้งในรูปแบบการแสดง การแต่งกายที่นำสมัย การผสมผสานของเครื่องดนตรีจากแคนตัวเดียว มาผสมเข้ากับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีซ่อนเร้นอยู่คือ ในเนื้อร้องหรือกลอนลำนั้นมักจะมีคำ หรือวลีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศสอดแทรก หรือซ่อนเร้นอยู่เสมอ (จะเห็นได้จาก "กลอนเพอะ") ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้คนจดจำวัฒนธรรมนี้ โดยเฉพาะคนอีสานรุ่นเก่าๆ และชาวบ้านทั่วไปจะมีความชื่นชอบกันมาก แต่ชาวเมืองกรุง หรือคนในถิ่นอื่นๆ อาจมองว่า หยาบโลน บางครั้งก็ถึงขึ้น “ไม่ชอบ” "ไม่ฟัง" ด้วยซ้ำ

“กลอนลำ” มีทั้งกลอนที่แต่งไว้ในวรรณคดีพื้นเมือง (นิทานพื้นบ้าน) กลอนที่แต่งขึ้นใหม่ และกลอนที่หมอลำคิดขึ้นเองขณะลำ เรียกว่า "ด้นสด" กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะการลำคู่ที่มีหมอลำชาย-หญิงเพียงสองคน จะต้องลำถกกันด้วยภูมิรู้ ลำโต้ตอบกันจากหัวค่ำไปยันสว่าง นอกจากจะมีกลอนลำจากครูบาอาจารย์ที่สอนสั่งต่อๆ กันมา ก็จะต้องมีการด้นกลอนสดโต้ตอบฉับพลันขึ้นมาด้วย ไม่ให้เกิดการเพลี้ยงพล้ำแก่กัน

ส่วนใหญ่แล้ว กลอนลำที่ด้นสดขึ้นมาก็มักจะใช้เนื้อความจากเรื่องใน นิทาน วรรณคดี ศาสนา ประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกคติธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และสภาพทางท้องถิ่นเอาไว้ด้วย ในขณะเดียวกัน กลอนลำก็มักสะท้อนความคิด จิตใต้สำนึก บุคลิกภาพ และบทบาทของผู้แต่ง โดยปรากฏออกมาในลักษณะทางตรง และทางอ้อมผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ โดยพื้นฐานของสัญลักษณ์จะเกี่ยวกับเรื่อง การเกิด ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมักมีเรื่องเพศและอวัยวะเพศปรากฎอยู่ แบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความหมายถึงอวัยวะเพศ และกลุ่มที่หมายถึงเพศสัมพันธ์ลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 หมวด คือ ความหมายโดยตรง และโดยอ้อม (หรือเชิงเปรียบเทียบ) ดังนี้

1. กลุ่มความหมายโดยตรง จะกล่าวถึง อวัยวะเพศชายหรือหญิง และแสดงอาการทางเพศสัมพันธ์ เช่น

  • อวัยวะเพศชาย
    “โคยเคียวบักหำด่าง”
    “เดี๋ยวจับสองขากะดอดำ”
    ฯลฯ
  • อวัยวะเพศหญิง
    “เหลียวเบิ่งสองง่ามก้นหง้วมหงีมาเทียมยืน”
    “หรือบ่เคยบ่ตุ้มสิของุ้มหว่างโมม”
    “บาดห่าเต๊ะก้นโท้ยโหง่ยลงสาดังตึ้ง”
    “นอนมเจ้าให้เขาบายแล้วไป่”
    “มันผัดใหล้สิแจ้งฝูงแมงหมี่มาตอมหี”
    ฯลฯ
  • แสดงอาการทางเพศสัมพันธ์
    “คันแม่นคึกอยากสี้ เห็นเขาแต่งตัวงาม”
    “มีบาดเด้ง บาดฮ่อน อันนั้นแนวเดียว”
    “มีบาดหญ้ม บาดเหลียว มันก็แสนยาก”
    ฯลฯ

2. ความหมายโดยอ้อม หรือเชิงเปรียบเทียบ จะไม่ใช้คำที่สื่อออกมาโดยตรงที่ชัดเจน แต่จะใช้คำคล้องจองให้ผู้ฟังจินตนาการเอาเอง เช่น

  • อวัยวะเพศชาย
    “บักโปงลาง พี่สิโหญ้น เมือก้ำฝ่ายอุดร”
    “แมงหมี่ปัดป่ายตุ้มกุมกล้วยหน่วยสลึง”
    “พี่สีปาดหมากแว้ ไป่ไว้ให้แหญ่ฮู”
    “บั้งน้ำเฮี่ยขอเลียท้ายล่าม”
    “บาดห่ากำด้ามพร้า สิเห็นหน้าบ่าวพี่ชาย”
    “เพิ่นผู้วงหัวเจ้ย หลดเงยคอก่งด่ง”
  • อวัยวะเพศหญิง
    “ตายนำโง่นเซ้าเง้า เต้าขี้ตุ่มหมากตูมไถ
    ตายนำขวยแมงซอน บ่อนฮูจินาอ้น
    ตายนำฮูแข้ฮูกะแตใต้ฮูบ่าง
    ตายนำกกเหมียดก่าง บ่อนเป็นหัวน้ำย้อย
    ฮ้อยช้างกะนี้แหม่นหล่มบึง”

    “เจ้าตากต้านลอนตาลคือซิต่ง”
    “รักษาโนนนาเฮื้อ แปลงดีๆ ไว้ถ้าพี่”
    “คันหมอเคนได้แต่ซุเนื้อขาวๆ”
    “หนองและนอ น้องบวกน้อย ฮอยอ้ายหยั่งผู้เดียว”
    ฯลฯ
  • แสดงอาการมีเพศสัมพันธ์
    “อยากลองไปในห้องสองคนเบิ่งเดพี่ คือสิเถิงชั้นฟ้าเวลาเข้าสู่เตียง”
    “สิให้หวังโคะโยะ ใส่ผู้ใด๋สิคือน้อง”
    “เถิงพอดีคิดฮอดอ้ายญามสิเข้ากะบ่อนนอน”
    “ไผเดนอสิมาเป็นแฟนน้อง บุญยังนางสิได้กล่อม”
    “พี่บ่มีคู่ซ้อน นอนกลิ้งแม่นกล่อมสอง”
    “ผู้บ่าวไปโคมผัดว่าสิฮ้อง บอกให้ฮ้องมึงเป็นหญังบ่ฮ้อง เอ็นเข้าท้องกูฮ้องบ่ได้”
    ฯลฯ

สังคมที่มีสมาชิกอยู่ร่วมกันจำนวนมาก จะต้องมีปัจจัยที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน อาทิ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศ ขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องมีระเบียบ กฏเกณฑ์ มีการควบคุมสมาชิกให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งสิ่งที่นำมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมคือ กลวิธี หรือกลไกทางวัฒนธรรม ยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุมสังคมคือ กลอุบายควบคุมพฤติกรรม และความนึกคิดของผู้อื่นจากการสื่อความหมายต่างๆ

การนำเรื่อง 'เพศ' ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของคนเรามากล่าวในทำนองเป็นเรื่อง 'ขบขัน' จึงเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สังคมมองเรื่องเพศเป็นเรื่อง 'ไร้สาระ' หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญของเรื่องนี้ลง ”

การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไป มีคำอธิบายได้ว่า "เป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากกฎเกณฑ์ชั่วคราว" ในอีสานสมัยก่อน ผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชาย (ลูกเขย) จึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยว ต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิง และต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักปักฐานให้แก่ครอบครัวได้ ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม (แสดงสะท้อนในเชิงประชดประชันจากนิทาน "พ่อเฒ่ากับลูกเขย") การประพฤติตนที่อยู่ในฮีตคองประเพณีจนสามารถไต่เต้าขึ้นเป็น พี่เขย ลุงเขย พ่อตา ถึงเจ้าโคตร จึงมีความกดดันสูงมากทีเดียว ดังนั้น การใช้ถ้อยคำเชิงสัญลักษณ์ทางเพศในกลอนลำออกมา จึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคมปกติ เพราะเรื่องเพศ การกล่าวถึงหรือแสดงอวัยวะเพศ เป็นความหยาบโลนที่สังคมปรกติไม่ยอมรับกัน [ อ่านเพิ่มเติมใน : ฮีตใภ้คองเขย ]

กลอนที่นำมาเสนอ ณ ที่นี้มีหลายกลอนที่มีคำหยาบโลนจำนวนมาก บางท่านอาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ ก็ต้องกราบขออภัย เพราะผู้จัดทำมีเจตนาที่จะเผยแพร่ไว้เพื่อเป็นการสืบสาน วัฒนธรรมประเพณี มิได้มีเจตนาที่จะเสนอให้เป็นเรื่องลามกอนาจาร ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นี่คือวิถีชีวิตของคนอีสาน กลอนลำทั้งหลายทั้งปวงผู้ลำมีเจตนาจะทำให้เกิดความสนุกสนาน ตลกโปกฮาเป็นที่ตั้ง ท่านที่อยู่ในท้องถิ่นอื่นๆ ขอได้เข้าใจในเจตนาด้วยครับ สนใจในกลอนลำหัวข้อใดคลิกที่หัวข้อนั้นเพื่อเข้าชมได้ครับ

กลอนที่นำมาร้องมาลำมีมากมายหลายอย่าง จนไม่สามารถจะกล่าวนับหรือแยกแยะได้หมด แต่เมื่อย่อรวมลงแล้วจะมีอยู่สองประเภท คือ กลอนสั้นและกลอนยาว

กลอนสั้น

คือ คำกลอนที่สั้นๆ ใช้สำหรับลำเวลามีงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานทำบุญบ้าน หรืองานประจำปี เช่น งานบุญเดือนหก เป็นต้น กลอนสั้น มีดังต่อไปนี้
1. กลอนขึ้นลำ 2. กลอนลงลำ 3. กลอนลำเหมิดคืน
4. กลอนโต้น 5. กลอนติ่ง 6. กลอนต่ง
7. กลอนอัศจรรย์ 8. กลอนสอย 9. กลอนหนังสือเจียง
10. กลอนเต้ยหรือผญา 11. ลำสีพันดอน 12. ลำสั้น เรื่อง ติดเสน่ห์

กลอนยาว

คือ กลอนสำหรับใช้ลำในงานการกุศล งานมหรสพต่างๆ กลอนยาวนี้ใช้เวลาลำ เป็นชั่วโมงบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง หรือแล้วแต่กรณี ถ้าลำคนเดียวเช่น ลำพื้น หรือ ลำเรื่อง ต้องใช้เวลาลำเป็นวันๆ คืนๆ ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่จะลำสั้นหรือยาวแค่ไหน แบ่งออกเป็นหลายชนิดดังนี้
1. กลอนประวัติศาสตร์ 2. กลอนลำพื้นหรือลำเรื่อง 3. กลอนเซิ้ง
4. กลอนส้อง 5. กลอนเพอะ 6. กลอนล่องของ
7. กลอนเว้าสาว 8. กลอนฟ้อนแบบต่างๆ  

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง


อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1