foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

เจน สายใจ (Jane Saijai)

ไทยและกัมพูชา มีปัญหาระหองระแหงกันมาตลอด ไม่ต่างกับลิ้นกับฟันที่กระทบกระทั่งกันในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ก็ยังมีเรื่องน่ายินดี ที่มีคนเขมรจำนวนไม่น้อย ชื่นชมยินดีกับคนไทย ชนิดเทคะแนนโหวตให้แบบถล่มทลายในฐานะ "นักร้องเพลงกันตรึมในดวงใจ"

jen saijai 03มีผลสำรวจทางออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ จัดทำโดย เว็บไซต์ อังกอร์ ธม พบว่า ชาวเขมรที่ท่องอินเทอร์เน็ตพากันโหวตคะแนนให้กับนักร้องกันตรึมสาวไทย เจน สายใจ อย่างท่วมท้น และที่ไม่น่าเชื่อคะแนนที่เธอได้รับครั้งนี้มากกว่า เอื้อน สเรย์มัม นักร้องสาวคนดังชาวเขมรเสียอีก แม้ว่าเธอจะออกเสียงภาษาเขมรเพี้ยนไปบ้าง เพราะเป็นคนไทยแต่ก็ชนะใจชาวเขมรไปได้

ไม่น่าเชื่อเธอเคยได้รับเชิญไปร้องเพลงที่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เพียงครั้งเดียวในราวปลายปี 2551 ไปกับแดนเซอร์ 6 ชีวิต ได้ค่าเหนื่อย 7 หมื่นบาท แล้วก็ไม่ได้เข้าไปแสดงอีกเลย แต่เธอก็ได้รับเสียงโหวตให้ท่วมท้น ทั้งนี้เป็นเพราะซีดีเพลงของเธอกลายเป็นที่นิยมในเขมร ประกอบกับการไปเปิดการแสดงตามจังหวัดแนวชายแดนของไทยมีคนเขมรเข้ามาดูกันมาก ทำให้เพลงของเธอกลายเป็นที่รู้จัก

สำเนียงการร้องของ เจน สายใจ สามารถเข้าใจได้ในหลายจังหวัดของกัมพูชา เช่น เสียมราฐ พระตะบอง อุดร เมียนเจย และบันเตีย เมียนเจย หรือ บันทาย มีชัย จะมีก็เพียงชาวเขมรที่อาศัยอยู่ทางใต้เท่านั้น ที่ไม่ค่อยเข้าใจสำเนียงของเธอมากนัก

หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก คุณเจน สายใจ ศิลปินชาวไทย ที่ร้องเพลง “กันตรึม” เพลงพื้นถิ่นในแถบอีสานใต้ของไทย แต่เพลงของเธอได้รับความชื่นชมอย่างมากจากชาวกัมพูชา ล่าสุดเธอได้รับเชิญให้เดินสายแสดงคอนเสิร์ตในชุมชนชาวกัมพูชา ตามรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ติดต่อกันมาหลายเดือน จนทำให้เพลงกันตรึม ภาษาเขมรที่เป็นเอกลักษณ์แบบขแมร์สุรินทร์ กลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนไทยและเขมร ในต่างแดนได้อย่างน่าประทับใจ

บทเพลง "สาวไทยไร้คู่” หรือ ชื่อเพลงในภาษาเขมร คือ “ปุจขแมร์ โดจชเนียร์” ผลงานของศิลปิน เจน สายใจ นักร้องเพลงกันตรึมสาวชาวไทยจากจังหวัดสุรินทร์ คือหนึ่งในบทเพลงภาษาเขมรแนวกันตรึม ที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวกัมพูชา ในหลายประเทศทั่วโลก และทำให้เธอได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษจาก Voice of America (VOA) ภาคภาษาเขมร ได้เดินทางสัมภาษณ์ และร้องเพลงบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ในสตูดิโอที่กรุงวอชิงตันส่งออกอากาศไปทั่วโลก

เจน สายใจ ทูตวัฒนธรรมเชื่อมใจ ไทย-กัมพูชา VOA Thai

เจน สายใจ เป็นใครมาจากไหน??? ผม (อาวทิดหมู) ก็เพิ่งจะรู้จักเธอ ตอนทำประวัติของนักร้องชื่อ เหลือง บริสุทธิ์ ที่ร้องเพลง "คืนลับฟ้า" เพราะว่า เจน สายใจ คือผู้ขับร้องเพลงแก้กับ เหลือง บริสุทธื์ ในเพลงชื่อเดียวกัน "คืนลับฟ้า" เวอร์ชั่นผู้หญิงร้องข้างล่างนี่เอง

คืนลับฟ้า ร้องแก้โดย เจน สายใจ

เจน สายใจ ชื่อจริงของเธอคือ น.ส. สายใจ คุณมาศ อายุ 45 ปี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2518 ที่บ้านเสม็ด หมู่ 10 ตำบลตระแสง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีประวัติความเป็นมาบนเส้นทาง"ถนนสายกันตรึมสุรินทร์" ด้วยการเริ่มร้องเพลงกันตรึมตั้งแต่วัยเด็ก ชีวิตในวัยเด็กเธอค่อนข้างลำบากมาก ทางบ้านมีฐานะยากจน พ่อแม่มีอาชีพทำนา ลูกทุกคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ตื่นแต่เช้าต้องไปดำนา เกี่ยวข้าว และเลี้ยงควาย ก่อนไปเรียนหนังสือ

เจน สายใจ มีความสามารถในด้านการร้องเพลงมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ถนัดร้องเพลงแนวลูกทุ่งของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ทั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็อาศัยวิธีการฟังและจดจำเอาจากวิทยุ ช่วงเรียนชั้นประถมศึกษา ก็มักจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียน เพื่อไปประกวดร้องเพลงอยู่เสมอๆ ในขณะที่พ่อของเธอก็สนับสนุนลูกสาวด้วยการตระเวนพาไปร้องเพลงตามงานวัด และงานตามหมู่บ้านใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในละแวกนั้น

jen saijai 01

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้เข้าไปอยู่วงกันตรึม ของ โรงเรียนบ้านดงมัน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนั้น มี อาจารย์โฆษิต ดีสม และ อาจารย์น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ (ศิลปินมรดกอีสาน 2558) เป็นผู้ฝึกซ้อมการร้องกันตรึมให้ ที่แห่งนี้นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว

เจน สายใจ บอกว่า สิ่งที่ภูมิใจสูงสุดในชีวิต คือ มีโอกาสได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ มาจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และแสดงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในงานสวนอัมพร เมื่อปี พ.ศ. 2533

ขณะเดียวกัน เธอก็เรียนหนังสือควบคู่ไปกับการแสดงกันตรึม เมื่อได้เงินค่าเหนื่อยมาจะมอบให้แม่เก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายภายในบ้าน จนกระทั่งเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 มีโอกาสได้ออกอัลบั้มเพลงลูกทุ่ง 2 ชุด คือ น้ำตาลูกแม่ย่า และ หมดรักหมดอารมณ์ เป็นแนวเพลงลูกทุ่งผสมแขมร์ใช้ชื่อว่า ลูกทุ่งสาว 2 สไตล์ เจน สายใจ แต่เธอก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ในปี 2538 พ่อป่วยด้วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์ ทำให้เธอต้องกลับมาอยู่บ้านดูแลพ่อ แต่ก็ยังร้องเพลงและเรียนไปด้วยในระดับปริญญาตรี ที่ สถาบันราชภัฏสุรินทร์

เจน สายใจ เพลง "โกนประซาน็องแมกะเมก"

อย่างไรก็ตาม ในปี 2545 ได้ออกอัลบั้มเพลงกันตรึมชุดแรกกับ บริษัท ไพโรจน์ซาวน์ (PR. SOUND) ในชื่อชุด อาใยโดนตา ชุดนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพลงที่โด่งดังคือ อาใยโดนตา และ โกนปะซาน็องแมกะเมก จากนั้นก็ได้ก่อตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นมาชื่อว่า วงดนตรีลูกทุ่งกันตรึมอีสานใต้ เจน สายใจ จนได้รับฉายา ลูกทุ่งกันตรึมสาวดาวดวงเด่น

จุดนี้เองชีวิตของเธอก็ไปได้สวย ได้เดินสายออกแสดงไปในหลายจังหวัดแถบชายแดนไทย-กัมพูชา ชื่อเสียงก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเป็นวงกว้าง จนกระทั่งได้ออกอัลบั้มถึงปัจจุบัน 15 ชุดแล้ว ราคาค่างวดในการแสดงถ้าเต็มวงพร้อมแดนเซอร์ตกอยู่ประมาณ 3.5 - 5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง แต่ถ้าแสดงใน จังหวัดสุรินทร์ ราคาก็ลดลงมาโดยสตาร์ทที่ราคา 3 หมื่นบาท อัลบั้มล่าสุดคือ สวรรค์บ้านนา และกำลังมีผลงานเพลงในสังกัด บริษัท ท็อปไลน์ไดมอนด์ โดยการชักชวนของ สัญลักษณ์ ดอนศรี

เจน สายใจ เคยรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนศิลปินกันตรึมของจังหวัดสุรินทร์ ไปร่วมสืบสานเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย - กัมพูชา หลายครั้ง และมีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ เกาหลีใต้ และโมร็อกโค เป็นต้น มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์สถานี Voice of America (VOA) ณ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา

  • ปัจจุบัน เป็นศิลปินสังกัด บริษัท ไพโรจน์ซาวน์ จังหวัดสุรินทร์ และ บริษัท ทอร์น โปรดัคชั่น (Town Production) กัมพูชา
  • ปี 2543 จบ ปริญญาตรี เอกเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์ คณะวิทยาการจัดการ สถาบันราชภัฏสุรินทร์
  • ปี 2556 ศึกษาต่อ ระดับ ปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จบการศึกษา ปริญญาโท เมื่อปี 2560

jen saijai 04

เจน สายใจ มีผลงานกับค่ายเพลง บริษัท ทอร์น โปรดัคชั่น (Town Production) ของกัมพูชา คือเพลง “พ่อฉันเป็นตำรวจจราจร” ที่โด่งดังมากในประเทศกัมพูชา และอีกหลายบทเพลง ที่กำลังมีซิงเกิ้ลใหม่ๆ ไล่ตามกันมา ถือว่าเป็นศิลปินกันตรึมคนไทยจากจังหวัดสุรินทร์ คนแรก ที่ไปดังที่ประเทศกัมพูชา และถือว่าเป็นทูตศิลปวัฒนธรรม ที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธไมตรีของบ้านพี่เมืองน้องทั้ง 2 ประเทศ คือไทยและกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

พ่อหนูเป็นตํารวจจราจร ពុកខ្ញុំជាប៉ូលីសចរាចរណ៍ - ចេន សាយចៃ - เจน สายใจ (Jane SaiJai)

เจน สายใจ ศิลปินเพลงกันตรึมพื้นบ้านสุรินทร์ กล่าวว่า "ตนเองพึ่งจบ ปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ใช้เวลาศึกษา 5 ปี ส่วนเรื่องของการแบ่งเวลาในการเรียนและศึกษา เนื่องจากตนเองเป็นศิลปินต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ หลายๆ ประเทศ แต่ว่าต้องพยายามปลีกเวลามาเรียนให้ได้ เพราะช่วงปีแรกถึงปีครึ่ง ต้องมาเรียนกับอาจารย์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลาเกือบสองปี มีการบ้าน มีส่งงาน ก็ทำปกติ

หลังจากนั้น 3 ปีหลังเป็นเรื่องของการทำวิจัย ซึ่งต้องจัดสรรเวลา หากมีเวลาว่าง จะต้องพยายามลงพื้นที่ งานวิจัยของตนคือทำเรื่อง การคงอยู่ของเพลงพื้นบ้านเจรียงเบริน (จะ-เรียง-บะ-เริน) เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ จะต้องลงไปวิจัยในพื้นที่จริง ไปศึกษาจากบรมครูเจรียงเบริน ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน นักดนตรีท้องถิ่นที่มีความรู้ในด้านนี้ ต้องลงไปสัมภาษณ์ ถามประวัติเก็บเกี่ยวบันทึกความเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า เจรียงเบรินมาจากไหน มีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีการคงอยู่อย่างไร ถึงสามารถคงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะว่า มีการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ของสุรินทร์หลายอย่างที่สูญหายไปแล้ว แต่ว่าเจรียงเบรินยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะอะไรจึงยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้

jen saijai 05

สำหรับสาขาที่ตนเองเรียน มีความเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จึงสนใจเรียนด้านนี้ ซึ่งขณะนี้ตนอยู่สังกัดค่าย บริษัททอร์น โปรดัคชั่น (Town Production) ของกัมพูชา มีเพลงที่กำลังดังขณะนี้คือเพลง คุณพ่อของฉันเป็นตำรวจจราจร, เพลงชีวิตกรรมกร และอีกหลายเพลง มีร้องกับพี่คงคย กันตรึมร็อคก็มี ซึ่งเป็นศิลปินกันตรึมร็อคอีกท่านที่เป็นชาว จังหวัดสุรินทร์ และยังมีซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุดที่กำลังออกอากาศอยู่ก็มีอยู่อีกหลายเพลงที่กำลังจะวางแผงในช่วงสงกรานต์ ถือว่าได้รับการตอบรับจากพี่น้องชาวกัมพูชาอย่างดีมากๆ

พี่น้องแฟนเพลงชาวกัมพูชาให้การต้อนรับในฐานะที่เจนเป็นศิลปินสุรินทร์ ที่เป็นเหมือนพี่น้องชาวกัมพูชา ให้ความรักให้ความอบอุ่นกับตนเองเหมือนพี่น้องในฐานะที่เราพูดภาษาเขมรเหมือนกัน ตนขอฝากขอบคุณกำลังใจจากครอบครัว จากพ่อแม่ ถึงแม้ท่านไม่อยู่แล้วก็ตาม เพราะท่านเป็นบุคคลที่จุดประกาย อยากให้ตนเองมีความรู้ เรียนสูงๆ ก็เลยพยายามเรียนให้จบ ขอบคุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ตั้งแต่เรียนประถม มัธยม ปริญญาตรีและปริญญาโท ตลอดจนบรมครูเพลงพื้นบ้าน พี่ๆ น้องๆ ศิลปิน พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนง และแฟนเพลงที่ติดตามให้กำลังใจผลงานตนเองด้วยดีตลอดมา" เจน สายใจ กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกล่าวขอบคุณแฟนเพลงชาวกัมพูชาเป็นภาษาเขมรอีกด้วย

กันตรึมมาแล้ว โดย เจน สายใจ

เธอยึดถือคติ ความพยายามอยู่ที่ไหน...ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แม้ว่าจะมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอมองว่าต้องมีพรแสวงด้วย คือ แสวงหาความรู้และประสบการณ์ใส่ตัวเอง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่

เจน สายใจ บอกว่า ดีใจกับผลสำรวจที่คนเขมรเทคะแนนให้ ครั้งแรกที่รู้ข่าวก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมาก แต่สิ่งที่ภูมิใจมากกว่า คือ บทเพลงกันตรึมที่ขับร้องได้เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความรู้สึก เรื่องราว ตลอดจนวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของคนไทยไปถึงชาวกัมพูชา ที่พูดภาษาเขมร หรือ แขมร์ ถึงแม้สำเนียงอาจจะผิดเพี้ยนหรือแตกต่างไปบ้าง แต่ก็หวังว่าเพลงกันตรึมจะเป็นสื่อสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่าง “พี่น้อง บองปะโอน ไทย-กัมพูชา” ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และกลับมารักใคร่กันเหมือนเดิม

jen saijai 06

 ติดตาม เจน สายใจ ได้ทาง Facebook Jane Saijai

ภูมิตำแร็ย คืนลับฟ้า โดย เจน สายใจ

redline

backled1

art local people

thong lomwongทอง ล้อมวงศ์

ศิลปินมรดกอีสาน (หัตถกรรมทองเหลือง)

นายทอง ล้อมวงศ์ เกิเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2468 ที่บ้านปะอาว ตำบลหนองขอน (ปัจจุบันเป็นตำบลปะอาว) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านปะอาว นอกจากประกอบอาชีพหลักคือ การทำนา ตามบรรพบุรุษเหมือนกับคนทั่วไปแล้ว เด็กขายของกับมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น ช่างหล่อทองเหลือง เพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของผู้เป็นปู่ ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความสามารถในวิชาหล่อทองเหลืองฝีมือดีที่สุดของบ้านปะอาวในสมัยนั้น

นายทอง ล้อมวงศ์ จึงเริ่มต้นการเรียนรู้วิชาช่างหล่อทองเหลืองอย่างจริงจัง โดยมีปู่เป็นผู้ถ่ายทอดทั้งการออกแบบ การแกะลวดลาย จนมีความชำนาญและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นวิชาที่ไม่มีในตำรา แต่เป็นการสืบทอดจากตัวบุคคลจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งต้องแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง จนมีความสามารถมาเป็นลำดับ สามารถพัฒนาต่อยอดผลงานขึ้นจากในอดีต จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทำให้งานทองเหลืองเป็นที่นิยมขึ้นมาอีกครั้ง

baan pa ao 02
เครื่องทองเหลืองหัตถกรรมชุมชนบ้านปะอาว มีมากมายหลายรูปแบบ

นับจากนั้นเป็นต้นมา ด้วยความรู้ความสามารถในงานหัตถกรรมช่างทองเหลือง ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นจากในครอบครัวโดยถ่ายทอดให้บุตรชาย (นายบุญมี ล้อมวงศ์) จนมีความชำนาญ จากนั้นขยายไปยังเพื่อนบ้านที่สนใจในหมู่บ้านปะอาว ที่เข้ามาเรียนและทำงานร่วมกัน จนกระทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีลูกศิษย์ลูกหามาขอมาเรียนรู้ด้วยจำนวนมาก จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์พื้นบ้าน ในด้านหล่อทองเหลืองของชุมชน และของจังหัดอุบลราชธานี ผลจากความทุ่มเทดังกล่าวทำให้ท่านได้รับการยกย่องจาก สำนักงานคณะกรรมการมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อีกด้วย

พ่อใหญ่ทอง หรือครูทอง ล้อมวงศ์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดความรู้ในการทำเครื่องทองเหลืองแบบโบราณ จนเป็นอัตตลักษณ์ชุมชนของตำบลปะอาว ลูกหลานในชุมชนได้รับการถ่ายทอดยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น บ้านปะอาวจึงได้ชื่อว่าเป็น หมู่บ้านหัตถกรรมทองเหลือง และได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ในปี พ.ศ. 2549 ประเภท หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม

thong lueng 01
กรรมวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณที่สืบทอดกันมานานจากอดีตสู่ปัจจุบัน

นายทอง ล้อมวงศ์ เสียชีวิตลง เมื่อปีพุทธศักราช 2546 ด้วยวัย 78 ปี ซึ่งผลงานของท่าน ทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาขบวนการหล่อทองเหลืองของบ้านปะอาว ได้เป็นคุณูปการต่อชาวอีสานทั้งมวล ส่งผลให้ภูมิปัญญาการหล่อทองเหลือง เป็นมูนมรดกตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลังให้ได้สืบต่อไป

ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม  ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซากสุมก่อเป็นตอเตา  ลมเป่าเริงเปลวข้นปลิวลม
แม่เตาหลอมตั้งกลางไฟเรือง  ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม  น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอบนบ่อเบ้า  ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน  สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลาบสลักลายจนพรายพริ้ง  ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟละลายลง  หลอมธาตุทรนงตำนานคน

รำลึกถึงพ่อใหญ่ทอง ล้อมวงศ์ โดยกวีซีไรท์ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์"

นายทอง ล้อมวงศ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมทองเหลือง) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2550 จากสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

thong lueng 02
หัตถกกรมทองเหลืองบ้่านปะอาวประกอบฉากภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง

redline

backled1

art local people

ต้นแบบของการแสดงตลกอีสานที่มีชื่อเสียงยาวนาน เป็นที่รู้จักกันทั่วไปด้วยปฏิภาณไหวพริบที่ฉับพลัน สร้างความขบขันแก่ผู้ชมได้ทุกครั้ง "พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง" ดาวตลกคู่บุญของ นพดล ดวงพร นั่นเอง

Ning nong 01หนิงหน่อง เพชรพิณทอง

พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง มีชื่อ-นามสกุลจริงว่า นายสุดใจ เที่ยงตรงกิจ เกิดวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่บ้านหนองสะพัง ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู) จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องหยุดเรียนไปเนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน หลังจากนั้นหนิงหน่องได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางศิลปินหมอลำหมู่ ลำทำนองขอนแก่น "คณะบรรจงศิลป์" อำเภอเมืองขอนแก่น โดยได้รับบทเป็นพระเอกและบทอื่นๆ ในวรรณกรรมอีสานเรื่อง “ท้าวแสนโฮง” รวมระยะเวลาในการเป็นศิลปินหมอลำนานประมาณ 10 ปี

ความสามารถและศิลปะการละเล่นที่ทำให้ใครต่อใครได้เห็นความสามารถ จึงทำให้ นพดล ดวงพร เจ้าของวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ "คณะเพชรพิณทอง" ชักชวนให้มาร่วมวงด้วยกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 หนิงหน่อง ได้แต่งบทเพลงในแนวตลกให้กับสมาชิกในวง ได้คิดมุขตลกที่เป็นเอกลักษณ์ แบบฉบับ สร้างความประทับใจในการแสดงยาวนาน จนกระทั่งได้ลาออกจากวงเพชรพิณทองในปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพไม่แข็งแรง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับพ่อใหญ่หนิงหน่อง ประกอบด้วยการแสดงในชุด หนิงหน่องย่านเมีย, หนิงหน่องย่านตาย, ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่, แจกข้าวหาลุงแนบ และผลงานอื่นๆ มากกว่า 50 ชุด ทั้งในรูปแบบวิดีโอ เทปคาสเซต และเป็นต้นแบบของการเล่นตลกแก่นักแสดงตลกรุ่นหลังๆ หลายคน มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น อาวแท็กซี่, ใหญ่ หน้ายาน, ชัย, ฝ้ายเม็ดใน, จ่อย จุกจิก เป็นต้น

การยกย่องเชิดชูเกียรติ

  • ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ตลกอีสาน) ประจำปี พ.ศ. 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

Ning nong 04

บั้นปลายชีวิต

พ่อใหญ่หนิงหน่อง มีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ครั้งยังร่วมงานการแสดงกับวงดนตรีเพชรพิณทอง จนในปี พ.ศ. 2540 หนิงหน่องได้ล้มลงหน้าเวทีการแสดงสด เนื่องจากป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำการผ่าตัดเป็นการด่วน หลังการผ่าตัดได้ 7 วัน แผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อและฉีกขาด ทำให้น้ำดีที่ค้างอยู่ไหลท่วมอวัยวะภายใน จึงต้องทำการผ่าตัดซ้ำเพื่อล้างอวัยวะภายในทั้งหมด เมื่อฟื้นขึ้นมาปรากฏว่า หนิงหน่องมีปัญหาเรื่องความจำเลอะเลือน ทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นตลกได้อีก จึงต้องลาออกจากวงเพื่อไปรักษาตัวเองอย่างจริงจัง

Ning nong 02

ในปี พ.ศ. 2544 พ่อใหญ่หนิงหน่อง มีอาการไตไม่ทำงาน ความดันโลหิตสูง และน้ำท่วมปอด ทางครอบครัวได้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์และทำการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา หนิงหน่องต้องฟอกไตเดือนละ 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินรักษา จนมีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต และโลหิตเป็นพิษ ทำให้ไม่ตอบสนองต่อการฟอกไต

Ning nong 03

และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น ด้วยอาการไตวายเรื้อรัง สิริรวมอายุได้ 67 ปี ทางญาติได้จัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมศพของหนิงหน่อง ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่วัดโนนศิลา บ้านสำราญ ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และได้มีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จบตำนานยิ่งใหญ่ของ "ดาวตลกอีสาน พ่อใหญ่หนิงหน่อง เพชรพิณทอง" ไปตลอดกาล

ไว้อาลัย รำลึกความหลัง รวมช็อตเด็ดๆ หนิงหน่อง เพชรพิณทอง

เพชรพิณทอง ตอน หนิงหน่องเอาลูกเขย [บันทึกการแสดงสด] ตอน 1

 

เพชรพิณทอง ตอน หนิงหน่องเอาลูกเขย [บันทึกการแสดงสด] ตอน 2

redline

backled1

art local people

วันนี้นำเสนอศิลปินนักวาดภาพการ์ตูนสักคนครับ ด้วยเป็นเรื่องร่วมสมัยกับผมด้วย คือ ผมเป็นแฟนคลับการ์ตูนภาพสวยๆ ในยุคนั้น สถานที่เรียนของศิลปินและทำงานอยู่ในช่วงแรกๆ ก็อยู่แถวๆ ข้างบ้านที่ผมมาอยู่เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านช่วงประถมศึกษา ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเอง (ผมเรียนที่ เทศบาลวารินวิชาชาติ ตอนประถม มาต่อมัธยมที่โรงเรียนสงเคราะห์ศึกษา ใกล้ๆ กับโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ประมาณ 500 เมตร ผมเดินผ่านทุกวัน) เขาผู้นั้นคือ

triam chachumpon 00เตรียม ชาชุมพร

ผู้เขียนภาพประกอบแบบเรียน ชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ

เตรียม ชาชุมพร เกิดที่ บ้านหนองหวาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ โรงเรียนบ้านหนองหวาย แล้วไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3)

ระหว่างที่เรียนในช่วงปลาย ม.ศ. 3 เตรียมก็ได้รู้จักกับ จุลศักดิ์ อมรเวช (หรือ จุก เบี้ยวสกุล "น้าหมู") นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่เขาเรียนอยู่ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ จุก เบี้ยวสกุล กระทั่งเมื่อจบ ม.ศ.3 แล้ว เตรียม จึงได้ทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอน และสอบได้ วาดเขียนโท โดยเขาสอนหนังสือและเขียนการ์ตูนไปด้วย เตรียมเล่าว่า

“พี่จุกมาดูแลกิจการที่โรงเรียนและมาสอนศิลปะด้วย ผมก็เลยขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอดีกับช่วงนั้นพ่อกับแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนระดับสูงขึ้นไปอีก เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก แม่ให้ไปสมัครสอบนายสิบกับสอบครู ปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นเลยมาอยู่กับพี่จุก ช่วยเขาทำงานทุกอย่าง

“มันก็ดีนะ ทำให้เราแข็งแกร่ง เพราะเราจะมาเอาวิชาจากเขา พี่จุกเขาก็ดี เหมือนพ่อคนที่สองของผมเลย มีอะไรก็แนะนำทุกอย่าง”

หน้าที่หลักๆ ของเตรียมคือ ช่วยงานบ้าน เลี้ยงลูก คอยซื้อข้าวของให้ ส่วนน้าหมูก็ถ่ายวิชาด้วยการให้เขาเขียนตัวหนังสือตามแบบ ลอกการ์ตูนฝรั่งโดยให้เขียนภาพใหญ่กว่าแบบ 3-4 เท่า ซึ่งเตรียมทำออกมาสวยงาม และมีแววจะเติบโตอยู่ไม่น้อย

คุณอำพล เจน (นักเขียนการ์ตูนร่วมสมัยกับ เตรียม) เล่าว่า "พูดแบบลุกทุ่งก็คือ เตรียม ชาชุมพร เป็นคนที่ถูกปั้นขึ้นมาด้วยมือด้วยตีนของ ครูจุก เบี้ยวสกุล (น้าหมู)

สมัยที่น้าหมูยังอยู่โรงเรียนสิทธิธรรม วารินฯ เตรียมก็มาอยู่ด้วย หัดเรียนเขียนวาด จนเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวแล้ว (วาดการ์ตูนส่ง ท้อปป๊อบ) น้าหมูเห็นว่า เตรียมยังมีเวลาว่างอยู่มาก ก็ให้เตรียมไปเป็นครูสอนวาดเขียนให้เด็กๆ ในโรงเรียนเป็นงานอดิเรกด้วย

triam chachumpon 02
นักวาดการ์ตูน "กลุ่มเบญจรงค์" จากซ้าย พี่โอม พี่สมชาย พี่เตรียม พี่พล พี่เฉลิม

เมื่อใดที่ผมว่างจากงานที่กรุงเทพฯ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่อุบลฯ ก็จะตรงไปหาน้าหมู และ เตรียม ที่โรงเรียนสิทธิธรรมทุกครั้ง เตรียมกำลังสอนเด็กๆ อยู่หน้ากระดานดำ เหลือบเห็นผมเดินผ่านหน้าห้องจะตรงไปหาน้าหมู ก็จะรีบปุบปับกุลีกุจอประกาศเสียงดัง ชนิดที่ว่าหูตึงๆ แบบผมยังได้ยินชัดแจ๋ว

“นักเรียนเอากระดาษดินสอขึ้นมาวาด... (อะไรสักอย่าง) ครูจะไปธุระ”

แล้วก็โดดร่มออกมาหาผม ไปกินก๊วยเตี๋ยวเที่ยวกันทั้งวัน “ไม่กลัวน้าหมูตัดเงินเดือนเรอะ” ผมถามแล้วเตรียมตอบกลับมา “กูไม่มีเงินเดือนให้ตัดอยู่แล้วโว้ย”

เมื่อฝีมือการวาดเขียนใช้ได้ จุก เบี้ยวสกุล จึงนำงานการ์ตูนของ เตรียม ไปเสนอให้ทีมงานหนังสือการ์ตูน "ท้อปป๊อป" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนแนวนิยายภาพ พิจารณาตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร จึงได้เปิดตัวครั้งแรกในหนังสือ "ท้อปป๊อป" ด้วยเรื่อง "มังกรผยอง" นิยายภาพแนวเรื่องจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้น โดยใช้นามปากกาว่า ‘จิ๋ว เบี้ยวสกุล’ แต่ได้ลงพิมพ์เพียงตอนเดียวเท่านั้น เนื่องจาก "ท้อปป๊อป" ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา

triam chachumpon 03
พี่เตรียม พี่สมชาย พี่เฉลิม พี่โอม

เมื่อ น้าหมู อพยพโยกย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็ทิ้งเตรียมไว้ที่อุบลฯ โดยน้าหมูลงมือทำหนังสือ "หนุ่ม 74" ให้กับสำนักพิมพ์จักรวาล (สี่แยกพิชัย..ซอยนรอุทิศ) ได้สักพักใหญ่ๆ เตรียมซึ่งทนอยู่อุบลฯ ตามลำพังไม่ได้ ก็ตามมาหาน้าหมูถึงกรุงเทพฯ มาที่ออฟฟิศ หนุ่ม74 เลยครับ การเข้ากรุงในครั้งนั้น เตรียมไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง หวังพึ่งน้าหมู แต่น้าหมูไม่เล่นด้วย ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า ท่านบอกกับเตรียมสั้นๆ ว่า “ปีกกล้าขาแข็งแล้วให้บินเอง”

เตรียม นั่งซึมอยู่ที่โซฟารับแขกในออฟฟิศจนเลิกงาน ทุกคนทยอยกลับบ้านกันหมด รวมทั้งน้าหมูด้วย เหลือแค่ผม (อำพล เจน) คนเดียวที่ยังต้องทำงานเร่งด่วนต่ออีกหน่อย ผมเลยถามว่า “มึงจะไปนอนที่ไหนล่ะวะ" เตรียมตอบสั้นๆ เหมือนพึมพำในลำคอว่า “บ่ฮู้”

ผมก็ยังงงๆ เลยถามต่อ “บ่ฮู้นี่แปลว่าอะไรวะ” เตรียมกล่าวเศร้าๆ ว่า “ว่าจะมาอยู่กับน้าจุก..”

สถานการณ์ตอนนั้น บีบบังคับให้ผมต้องเป็นที่พึ่งให้เตรียมแล้วครับ “กูนอนอยู่บ้านพี่สุนทร (ผู้จัดการโรงพิมพ์จักรวาล) มึงนอนกะกูได้บ่ล่ะ”

บ้านพี่สุนทรที่ผมอาศัยอยู่นั้น อยู่ริมคลองแถวๆ สามเสน พี่สุนทรยกเรือนคนใช้ให้ผมอยู่อาศัยโดยไม่เสียเงิน แต่มีเงื่อนไขให้ผมต้องดูแลหมาพันธุ์โดเบอร์แมนตัวหนึ่ง เอามันมานอนด้วย ผูกไว้กับขาเตียง พอเช้าก็พามันไปขี้ เป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ซุกหัวนอน เตรียมก็เลยต้องมานอนดมเยี่ยวหมาอยู่กับผม ผลัดกันจูงหมาไปขี้สลับกับผม ถือเป็นกิจที่ต้องทำระหว่างนอนพักอยู่บ้านริมคลองนั้น

ในที่สุดผมก็เห็นว่า ที่นี่ไม่เหมาะสำหรับ เตรียม... จะทำงานหรือทำอะไรส่วนตัวไม่สะดวกอย่างยิ่ง จึงชวนเตรียมออกไปหาบ้านเช่าอยู่ด้วยกัน

triam chachumpon 04

ผมพา เตรียม ไปเช่าหอพักอยู่ในซอยวัดสังกัจจายน์ ย่านฝั่งธนฯ ถิ่นเก่าของผม และที่นี่ยังมีเพื่อนเรียนเพาะช่างอีกหลายคนเช่าอยู่หอเดียวกันนั้น พอให้เตรียมคลายเหงา ระหว่างนั้นเตรียมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหารายได้ ต้องมีงานทำ โดยการนำผลงานของเขาไปเสนอต่อ อาจารย์วิริยะ สิริสิงห ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์ ฉบับ วิทยาศาสตร์” ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช อาจารย์วิริยะ จึงมอบหมายให้เตรียมเขียนนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการ์ตูน Comic ของต่างประเทศเป็นต้นแบบ และใช้นามปากกาว่า “ตรี นาถภพ” ต่อมา ณรงค์ ประภาสะโนบล (พี่รงค์) จึงได้ดึงตัวไปช่วยงานที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” และ “ตู๊นตูน” ซึ่งเป็นหนังสือในเครือสำนักพิมพ์เดียวกันนั่นเอง

ที่ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” แห่งนี้เอง ที่ศักยภาพของเตรียมได้เปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ ทำให้ฝีมือของเตรียมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการนักวาดการ์ตูนในยุคนั้น

triam chachumpon 06

กับการ์ตูนเรื่องแรก หรือจะเรื่องที่สอง ผมก็จำไม่ได้แม่น อาจเขียนไปก่อนแล้วสักเรื่อง สองเรื่องก็ได้ แต่ไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร เตรียม ก็หันหน้ามาปรึกษาผม ผมเลยแนะนำว่า

“กูมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้มึงเขียน จะเหมาะกับหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย”
“เรื่องอิหยังล่ะหวา”
“เรื่องนี้นะ.. กูเองอยากเขียนใจแทบขาด แต่กูไม่มีปัญญาเขียนดอก มันบ่ใช่สไตล์กู เรื่องนี้กูว่ามึงคนเดียวที่เหมาะสมสุดๆ”
“เรื่องอิหยังหวา”

ผมพาเตรียมไปวงเวียนใหญ่ จำได้ว่าเคยเห็นหนังสือพ้อคเก็ตบุ้คที่มีเรื่องดังกล่าวนี้ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือนั้นวางขายอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ "รวมเรื่องสั้นของ มน เมธี" คลับคล้ายคลับคลาว่าชื่อ ”น้ำใจไหลเชี่ยว” นึกลุ้นว่า จะมีใครชิงซื้อตัดหน้าไปก่อนหรือเปล่า

มน เมธี เป็นนามปากกาของ มานี ศุกรสูยานนท์ เป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับ สุวรรณี สุคนธา น่าเสียดายที่ท่านกินยานอนหลับฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ปี 2512 ก็ไปรื้อๆ ค้นๆ ที่ร้านขายหนังสือเก่าข้างวงเวียนใหญ่ ค้นแค่เดี๋ยวเดียวก็เจอ หนังสือเล่มนั้นมีเรื่องสั้นชื่อว่า..”รุ่นกระทง” ปนอยู่กับอีกหลายๆ เรื่อง

ผมบอกเตรียมว่า... “มึงเขียนเรื่องนี้เลย”

เตรียมเชื่อผม หยิบเอา "รุ่นกระทง" ไปเขียนขึ้นเป็นนิยายภาพ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ตามกระแสหนังดังตอนนั้น คือหนังที่เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน หนังชื่อ Melody ซึ่งมี แจ็ค ไวลด์, มาร์ค เลสเตอร์, และเทรซีย์ ไฮด์ เป็นดารานำแสดง

triam chachumpon 09

หลังจากเรื่อง ”เพื่อน” ตีพิมพ์ เตรียม ชาชุมพร ก็ดังขึ้นมาทันที ราวกับสวรรค์วางแผนไว้ให้ ต่อจากนั้นเตรียมเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ไม่เหงา และเริ่มคุ้นเคยกับกรุงเทพฯ ผมก็หมดหน้าที่พี่เลี้ยงไป

ต่อมาเมื่อนิยายภาพเรื่อง “เพื่อน” ได้ตีพิมพ์ใน "ชัยพฤกษ์การ์ตูน" (นิยายภาพเรื่องนี้ เตรียมเขียนโดยใช้ชื่อ-นามสกุลจริง) ชื่อเสียงของ เตรียม ชาชุมพร ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยนิยายภาพชุดนี้มีเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ “รุ่นกระทง” ของ “มน เมธี” เนื้อหาว่าด้วย เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายชาวชนบทกับเด็กหญิงชาวกรุง ที่มีโอกาสได้รู้จักกัน และได้ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมกันท่องไปในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของท้องไร่ท้องนา ก่อนจะจากกันในท้ายที่สุด จุดเด่นของนิยายภาพชุดนี้คือ บรรยากาศชนบทที่ เตรียม ชาชุมพร รังสรรค์ได้อย่างงดงาม ชวนประทับใจ จากประสบการณ์ที่อยู่ในชนบทมาตั้งแต่วัยเด็ก และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาในเวลาต่อมา

triam chachumpon 12

รูปปั้น "คำแพง" ที่วัดภูสิงห์ จังหวัดเลย

ผลงานส่วนใหญ่ของ เตรียม มักเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เสพง่าย ตรงไปตรงมา เช่น ‘เด็กชายคำแพง’ ซึ่งถ่ายทอดประวัติของตัวเขา หรือ ‘ตากับหลาน’ ซึ่งหยิบเรื่องของเล่นวัยเด็กอย่างเรือขุดมาดัดแปลง รวมทั้งรับงานวาดภาพประกอบให้แบบเรียนและสื่อสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะช่วงปี 2520 - 2521 นับเป็นยุคทองของ เตรียม ชาชุมพร อย่างแท้จริง งานของเขาไปปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนมากมาย หลากหลายหัว ไม่เว้นแม้แต่บนปกการ์ตูนเล่มละบาท ที่สำนักพิมพ์หวังขายชื่อของ "เตรียม ชาชุมพร" ตามกระแสนิยม

triam chachumpon 07

ดำรงค์ แนวสีนาค กล่าวถึง เตรียม ชาชุมพร ในตอนที่เขียนการ์ตูนเรื่อง "โสนน้อย" ว่า "พี่เตรียม เขียนภาพประกอบเรื่องนี้ แกไปถ่ายชีวิตชาวเรือแถวใต้สะพานพระราม 6 ไปเจอเด็กผู้หญิงน่ารักมาก ชื่อ "น้องปู" แกเอามาเป็นแบบวาดตัวนางเอก และไม่รู้แกนึกยังไง เอาผมมาเป็นแบบตัวพ่อ...ซะงั้น" ู้เขียนเรื่อง โสนน้อย คือ แม้นมาส ชวลิต เขียนภาพประกอบโดย เตรียม ชาชุมพร

triam chachumpon 08

ในระยะหลังงานของ เตรียม ชาชุมพร เริ่มพัฒนาไปสู่นิยายภาพแนวสะท้อนสังคม โดย เตรียม นำเรื่องราวที่เขียนมาจากข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับคนยากจน สุดชายขอบของสังคมเมือง ชะตากรรมอันน่าสลดใจ และความไร้มนุษยธรรม ที่กลายเป็นข่าวแทบไม่เว้นวัน มีข้อสังเกตว่า เตรียม ใกล้ชิดอยู่กับการงานของ มูลนิธิเด็ก และบรรดาอาสาสมัครผู้ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้น ข้อมูลของเขาหรือผู้ให้ข้อมูลแก่เขา จึงมาจากคนทำงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ นิยายภาพของเตรียม 4 เรื่องในแนวนี้ ได้แก่ "ยายจ๋า, ตากับหลาน, เพื่อนบ้านใหม่" และ "ตุ๊กตาขาด้วน" ได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่ม และได้รับการยกย่องจากคณะผู้วิจัยของ สกว. ให้เป็น "หนึ่งใน ๑๐๐ ชื่อเรื่องหนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน"

จากผลงานอันโดดเด่น ในการสะท้อนภาพชีวิตชนบทได้อย่างน่าประทับใจนี่เอง ทำให้ "เตรียม ชาชุมพร" ได้รับเลือกให้เป็นผู้วาดภาพประกอบในหนังสือ "แบบเรียนภาษาไทย" ชุด มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม 1 และภาพประกอบใน "เรื่องสั้นชุดชีวิตชนบท" ซึ่งเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ของกรมวิชาการ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย องค์การค้าของคุรุสภา เนื้อหาเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตอันรื่นเริง สดใสของบรรดาเด็กๆ ในชนบทภาคใต้ จากปลายปากกาของ "มานพ แก้วสนิท" นักเขียนผู้ถนัดเรื่องราวชีวิตชนบทเป็นพิเศษ

triam chachumpon 01

หมายเหตุ : ผู้วาดภาพในแบบเรียน มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ มีดังนี้ คือ

  • เตรียม ชาชุมพร ชั้น ป. ๑ เล่ม ๑ (รวมทั้งภาพแผนที่)
  • ปฐม พัวพิมล ชั้น ป. ๑ เล่ม ๒
  • พินิจ มนรัตน์ ชั้น ป. ๒ เล่ม ๑ และ ๒
  • ส่วนชั้นอื่นๆ เป็นผลงานของ คณะทำงาน จากกระทรวงศึกษาธิการ

triam chachumpon 11

หากถามว่า "คนส่วนใหญ่หลงรักอะไรในภาพวาดแบบเรียน มานะ มานี ชั้น ป.1"

บางคนอาจนึกถึงภาพตัวละครที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บางคนอาจประทับใจภาพวิวทิวทัศน์ ทั้งต้นไม้ ภูเขา สายน้ำ หรือแม้แต่ภาพแผนที่ ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

แต่เบื้องหลังความงดงามนั้นมีแรงผลักดันสำคัญจาก ชีวิตวัยเด็กของตัวศิลปินนั่นเอง เตรียม ชาชุมพร เป็นเด็กบ้านนอก เติบโตท่ามกลางท้องนาไร่ปอในหมู่บ้านหนองหวาย จังหวัดศรีสะเกษ แม้มีฐานะยากจน แต่เขาก็หาความสนุกจากธรรมชาติรอบตัว และสิ่งนี้ก็ฝังแน่นในใจเรื่อยมา เขาเคยบรรยายภาพชีวิตช่วงนั้นว่า

“พ่อกับแม่มักออกไปหาปลาที่แม่น้ำมูล แม่พายเรือ พ่อตกปลา เรามักไปกันเป็นหมู่เรือหลายลำ ได้ปลาก็จอดเรือพักกินข้าวกลางวันกัน เอาปลามาย่าง ผักก็เก็บเอาตามป่าถึงชีวิตช่วงนั้นจะลำบากแต่ผมก็รักมัน..

“พ่อผมเป็นช่างประดิษฐ์ที่หาตัวจับยาก แกประดิษฐ์ได้หมดถ้าเป็นงานฝีมือของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเรือ ทำปืนแก๊ป ทำเกวียน ทำบั้งไฟ จนถึงงานจักสาน กระบุง ตะกร้า หรือเครื่องจับปลาหลายๆ ชนิด”

เตรียมไม่ต่างจากลูกไม้ใต้ต้นที่ซึมซับความสามารถด้านนี้มาเต็มๆ เขาผลิตของเล่นเองทุกอย่าง ตั้งแต่ขุดเรือลำเล็กๆ จากต้นไม้ ลากเล่นไปบนพื้นทรายในหมู่บ้าน หรือทำรถสี่ล้อจากดินเหนียวเลียนแบบรถขายยา ซึ่งนานๆ ถึงแวะเข้ามาในหมู่บ้านสักครั้ง แต่ผลงานที่ช่วยยืนยันพรสวรรค์ คือ การสร้างหุ่นละครจากหนังประโมทัย หรือหนังตะลุงของภาคอีสาน ซึ่งปกติมักแสดงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น

“ผมดูหนังแล้วประทับใจมาก เพราะทั้งสนุกทั้งมัน ตัวคนพากย์คนร้องเขามีบทเจรจาที่แซ่บจริงๆ เวลาตัวพระสู้กับตัวยักษ์เราก็ลุ้นกันมันไปเลย หรือพวกตัวตลกออกมาที ก็หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง”

ครั้งนั้น เตรียม รวบรวมพรรคพวกในหมู่บ้านมาช่วยทำหุ่น โดยเขาเขียนรูปหุ่นที่ชอบลงบนกระดาษปฏิทิน จากนั้นทุกคนก็มาช่วยกันตัดกระดาษ ตกแต่งลวดลวย แล้วหาผ้าขาวมาขึง เอาไฟตะเกียงมาส่อง ช่วยกันเชิด ช่วยกันร้อง เป็นที่ติดอกติดใจของเด็กและผู้ใหญ่ไปตามๆ กัน นับเป็นก้าวแรกของเส้นทางศิลปินตัวจริง

ท่านที่สนใจ หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ สามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบ PDF ได้ที่นี่ [ คลิกเลย ]

triam chachumpon 05

ที่ผ่านมา เตรียม ชาชุมพร ย้ำเสมอว่า “การปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กก็เหมือนการให้ปุ๋ยต้นไม้ ผลออกมาก็เป็นผลไม้ที่สวยงาม มีเมล็ดกิ่งงอกออกมาเป็นพันธุ์ที่ดี การ์ตูนเป็นสื่อที่สำคัญมาก เพราะสามารถปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กได้ รูปแบบก็เชิญชวน และการเขียนการ์ตูนก็เหมือนกับการให้การศึกษาอีกระดับหนึ่ง”

เตรียม ชาชุมพร ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุรถประจำทางปรับอากาศ พุ่งชนเขา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมอายุได้ 38 ปี

triam chachumpon 10

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)