foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

นายกำปั่น บ้านแท่น

kampan 01นายกำปั่น บ้านแท่น ชื่อจริง นายกำปั่น ข่อยนอก (นิติวรไพบูลย์) เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี พุทธศักราช 2494 ปีเถาะ ตรงกับวันอาทิตย์ เป็นลูกชาวนา บิดาชื่อ พ่อดี มารดาชื่อ แม่เพียร ข่อยนอก ณ บ้านเลขที่ 7 บ้านแท่น ตำบลโพนทอง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องเกิดร่วมท้องเดียวกัน 4 คน เด็กชายกำปั่น พอคลอดออกมาลืมตาดูโลกได้ประมาณ 6-7 เดือน มารดาได้เสียชีวิตลง จึงต้องอยู่ในความอุปการะดูแลของพี่ๆ บางครั้งต้องอาศัยดื่มนมจากหญิงแม่ลูกอ่อนในละแวกใกล้เคียง ด้วยความเวทนาสงสาร (เมื่อก่อนยังไม่มีนมผง หรือนมกระป๋อง) และบางครั้งต้องดื่มน้ำข้าวรินผสมใส่น้ำตาล (อร่อยมาก)

จุดหักเหสำคัญที่สุดครั้งแรก ที่ทำให้เด็กกำพร้ามีทางเดิน ก่อนที่จะถึงเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียน เมื่อวันเทศกาลสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ ชาวบ้าน ปู่ย่า ตายาย มักจะนำเด็กๆ ไปทำบุญที่วัด คนแก่ก็จะนั่งฟังเทศน์บนศาลา เด็กๆ ก็จะวิ่งเล่นในสนามวัดกันอย่างสนุก เล่นซ่อนหาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นตี่จับ หรือรีรีข้าวสาร โดยมากเด็กผู้ชายจะชอบเล่น บั้งโพล้ะ (นำกระบอกไม้ไผ่มาหนึ่งอัน และทำไม้สำหรับ กระทุ้งเข้าไปในรูกระบอกไม่ไผ่หนึ่งอันแล้วไปหาหน่วยพลับพลา ที่เกิดขึ้นอยู่ตามป่า ถ้ากินดิบๆ จะมีรสฝาด ถ้าแก่หน่อยไกล้สุกจะมีรสหวาน นำหน่วยดิบๆ มายัดลงที่รูกระบอกไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ที่ทำสำหรับกระแทก กระแทกลูกพลับพลาเข้าไป ให้ลูกพลับพลาหลุดออกอีกทางด้านหนึ่ง จะมีเสียงดัง โพล้ะ) การเล่นบั้งโพล้ะจะมีอันตราย ถ้าหากนำไปยิงกันจะเจ็บ ถ้าถูกตาตาอาจจะบอดได้ แต่เด็กผู้ชายชอบเล่นกันมาก ทำมาประกวดแข่งขันกัน ถ้าของใครยิงออกเสียงดังโพล้ะ ดังมากๆ คนนั้นจะชนะ ไม่เหมือนเด็กผู้ชายสมัยนี้ เขามีปืนพลาสติกเล่นกัน

kampan 02

ในวันนั้นเด็กชายกำปั่น กำลังวิ่งเล่นตามประสาเด็กๆ บังเอิญเหลือบแลไปเห็น เด็กชาย 2 - 3 คน ที่เป็นเด็กวัด ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เด็กเหล่านั้นจะมีผ้าขาวม้าสีเหลืองห่มคนละผืน คงจะเป็นผ้าอาบน้ำฝนของพระที่เก่าแล้ว และท่านแจกให้เด็กวัดใช้ห่ม เด็กเหล่านั้นจะโกนผมออกหมด คงไว้แต่เฉพาะคิ้ว ดูแล้วน่ารัก และมีราศีกว่าเด็กชาวบ้านธรรมดา ทำให้เด็กชายกำปั่นหยุดจ้องมองดูเด็กเหล่านั้นด้วยความสนใจ ในใจคิดว่า "เราทำอย่างไรจะได้เป็นเด็กวัดอย่างเขาเหล่านั้น ถ้าเราได้เป็นเด็กวัดเราคงจะได้ผ้าผืนสีเหลืองไว้ห่ม และจะได้โกนผมทิ้งเหมือนกับเด็กเหล่านั้น และเมื่อถึงวันสำคัญๆ ทางศาสนา ประชาชนชาวพุทธมาที่วัดมากๆ เราก็จะได้ยืนดูผู้คนที่หน้าต่าง ใครเห็นคงจะโก้พิลึก" ความคิดนี้วูบเข้ามาในสมองของเด็กชายกำปั่น และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขานึกเสมอว่าทำอย่างไรจะได้ไปอยู่ที่วัด เป็นเด็กวัด ถ้าจะให้สมความปรารถนา เห็นทีจะต้องเข้าไปตีสนิทกับเด็กเหล่านั้น เพื่อจะมีหนทางได้ไปเป็นเด็กวัดอย่างเขาบ้าง

เด็กชายกำปั้นเมื่อได้เข้าไปสนทนากับเด็กวัดเหล่านั้น ซึ่งได้เล่าถึงการอยู่วัดกับพระว่าดีอย่างไร และชวนเด็กชายกำปั่นไปอยู่วัดด้วยกัน เข้าทางเด็กชายกำปั่นจึงตัดสินใจออกจากบ้านไปอยู่วัด เมื่อมาอยู่วัดต้องอาศัยกินข้าวก้นบาตรพระอาจารย์ทิม ปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า ตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมปีที่หนึ่ง จนจบประถมปีที่สี่ ในขณะที่เป็นเด็กวัด ก็ได้เรียนหนังสือพระ เช่น ท่องบ่นบทสวดมนตร์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และสามารถสวดได้จบหมดตั้งแต่ อายุยังน้อย

kampan 05

เพราะช่วงขณะที่เป็นเด็กวัด พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาส ท่านจะพร่ำสอนให้เด็กทุกคนรู้ในบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ คุณของบิดา มารดา ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีพ่อแม่เราอาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คำพร่ำสอนของพระอาจารย์ทิม เด็กชายกำปั่น ยังสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังยึดเอาคำสอนเหล่านั้นเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่

เมื่อศึกษาจนจบชั้นประถมปีที่สี่ (เพราะสมัยนั้นภาคบังคับมีแค่ ป. 4) จึงได้ออกจากโรงเรียนมา เพื่อนบางคนเขาก็ไปเรียนมัธยมต่อ การเรียนหนังสือระดับมัธยมสมัยนั้น จะต้องไปเรียนที่ในตัวอำเภอ คือ อำเภอบัวใหญ่ บิดาของเด็กชายกำปั่น มาคิดดูว่าครั้นจะส่งลูกให้ไปเรียนมัธยมเหมือนเด็กคนอื่น เงินทองก็ไม่มี ไหนจะค่าเสื้อผ้า ไหนจะค่าเทอม ค่ากระดาษดินสอ ตำราเรียน ค่าเช่าบ้านจิปาถะ คงจะส่งไม่ไหวเป็นแน่แท้ จึงคิดว่า อย่ากระนั้นเลย เห็นทีจะต้องส่งไปให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนธรรมะบาลีจะดีกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าเทอมค่าอาหาร

จึงได้นำเด็กชายกำปั่นเดินทางจากบ้านแท่น ไปที่ตัวอำเภอบัวใหญ่ โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ วัดบัวใหญ่ ที่มี ท่านเจ้าคุณปทุมญาณมุณี (หลวงพ่อเขียว) เป็นเจ้าคณะอำเภอและเป็นเจ้าอาวาส เพราะที่วัดนั้นมีการเรียนปริยัติธรรม ตั้งแต่ชั้นนักธรรมตรี โท เอก และมีการสอนบาลี

kampan 04

สามเณรกำปั่น บรรพชาเป็นสามเณร และเรียนหนังสือปริยัติธรรม เพื่อจะสอบนักธรรมชั้นตรี โดยมีอาจารย์เทียนเป็นผู้สอน การเรียนนักธรรมชั้นตรี จะต้องท่องหนังสือนวโกวาทให้จบทั้งเล่ม หนังสือพุทธประวัติ หนังสือพุทธภาษิต เพื่อแต่งเรียงความแก้กระทู้ อันเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะเป็นนักแต่งเรื่อง แต่งเพลง การเชื่อมเนื้อหาแต่ละเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่สามารถแต่งให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสนิท โดยมีสุภาษิตอ้างอิงเป็นหลักฐาน สารเณรกำปั่น จะเก่งในการแต่งเรียงความแก้กระทู้มาก เพราะด้วยสาเหตุจากการได้อ่านหนังสือพระไตรปิฏก เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัด จนได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์เทียนว่า เณรน้อยคนนี้ต่อไปจะเป็นนักเขียนเรื่องราว นักแต่งเพลง นักจินตนาการที่ดีคนหนึ่ง

สามเณรกำปั่นที่บรรพชาเพียง 3 ปี ก็สามารถสอบนักธรรมตรี โท เอก และมหาเปรียญได้ สามเณรกำปั่นยังมีความปรารถนาจะสอบบาลีไวยากรณ์ให้ได้ อีกใจหนึ่งก็อยากจะฝึกหัดเทศน์ 2 ธรรมมาส เพราะได้ปัจจัยดี เวลาโยมไปนิมนต์เทศน์ตามงานต่างๆ เขาเรียกว่า เทศน์โจทย์ จึงไปฝึกหัดเทศน์กับพระอาจารย์แสง ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ที่ฝีปากคมกล้า ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมติดอกติดใจ จนมีงานเทศน์ไม่ขาดสักวัน จนได้เป็นนักเทศน์สมใจ ญาติโยมต่างแซ่ซร้องในความสามารถ ต่อมาก็สามารถสอบได้เปรียญธรรม 3 และ 4 ประโยค

ต่อมาได้ลาสิกขาจากการเป็นสามเณรมาเป็นฆราวาส คิดว่าจะอยู่เป็นฆราวาสประมาณสักหนึ่งเดือน หรืออย่างมากสองเดือน ก็จะทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ในปีนั้นเองเป็นปีที่ฟ้าฝนแห้งแล้ง กำปั่นต้องออกจากบ้านไปเที่ยวหารับจ้างคนอื่นๆ เขา เพราะครอบครัวยากจน ได้ไปเป็นคนงานตัดอ้อยที่จังหวัดระยองแต่ถูกโกงค่าแรง จึงกลับมาบ้าน ต่อมาบิดาเสียชีวิตจึงได้ไปทำไร่มันกับพี่สาว แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ดีจึงไปหาพี่ชายที่อำเภอนางรอง

kampan 06

เมื่อไปถึงบ้านพี่ชาย เห็นหลานๆ กำลังฝึกหัด "เพลงโคราช" อยู่หลายคน โดยครูยอดชาย บ้านหนองน้ำขุ่น มาเป็นครูฝึกให้ เห็นทุกคนมีความตั้งใจที่จะเอาจริงๆ จึงนึกอยากหัดบ้างเป็นรอบที่สอง จึงได้ทำพิธีไหว้ครู รับเอาครูยอดชายเป็นครู ครูยอดชายก็รับเอากำปั่นเป็นศิษย์ ในคืนนั้นทั้งคืนจึงนั่งเขียนเพลงที่ครูแต่งให้ เพื่อนำกลับมาท่องที่บ้านดงบัง เมื่อเห็นว่า พอที่จะออกรับงานแสดงได้ จึงขออนุญาตลาครูเดินเข้าสู่สังเวียนของนักเพลงโคราช โดยได้มาสังกัดอยู่ที่ คณะหัวหนองบัว มีจ่าจเรเป็นหัวหน้าคณะ มาครั้งแรกต้องอาศัยติดตามหมอเพลงรุ่นพี่ไปตามงานต่างๆ ก่อน เมื่อช่วงตอนดึกๆ เขาแสดงเหนื่อยก็ช่วยเขาขึ้นร้อง หาประสบการณ์ไปก่อน

ต่อมาไปสมัครอยู่กับ คณะเกาะลอย อาจารย์ลอยชายเห็นก็รับทันที และให้ไปร้องออกวิทยุที่ สถานี วปถ.3 เพราะวันนั้นเป็นวันเสาร์ และได้ร้องเพลงเกี้ยวกับ นางกาเหว่า โชคชัย เป็นคนแรก เมื่อกลับมาจากออกวิทยุหัวหน้าก็ก็รับงานให้ไปแสดงงานแรก คือวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 เรื่อยมาจนถึงปี 2523 อยู่ในระยะปีนี้ ที่บ้านลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย ได้ค่าตัว 400 บาท ดีใจมากที่สุดในชีวิต ต่อมาหัวหน้าคณะเสียชีวิต จึงมาอยู่กับ คณะหวานน้อย หนองบุญนาค จนเป็นเหตุให้ได้ใกล้ชิดกับน้องสาวภรรยาหัวหน้าคณะ คือ นางกาเหว่า โชคชัย จึงได้แต่งงานกัน อยู่กินเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจนถึงปัจจุบันนี้

กำปั่น บ้านแท่น - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน ปี 2555

ต่อมาจึงตั้งคณะเป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย อยู่ที่สามแยกวัดหัวสะพาน ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ยึดแนวทางการดำเนินงาน แบบมุ่งหวังในทางพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้ใหม่ เสมอนำเสนอแต่สิ่งใหม่ๆ ทั้งรูปแบบการแสดง เนื้อหาของกลอนเพลง ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีออกทิ้งไป จัดหากลอนเพลงต่างๆ โดยการแต่งขึ้นมาใหม่บ้าง จากของเก่าที่เป็นของครูเพลงบ้าง นำเสนอสำหรับแฟนเพลงและเจ้าภาพ โดยมีสมาชิกที่อยู่ในสังกัดครั้งแรกประมาณ 20 คน ผลงานการแสดงบนเวที เริ่มเข้าตานักฟังเพลง ไม่นานชื่อเสียงของ เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของนักนิยมฟังเพลงโคราช

kampan 03

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน มีการนำอิเล็กโทนเข้ามาประกอบการแสดง มีหางเครื่อง และการร้องรำที่สนุกสนาน จนกลายเป็น เพลงโคราชซิ่ง มีคณะเพลงโคราชซิ่งเกิดขึ้นมากมาย จนการแสดงของคณะกำปั่น บ้านแท่น เริ่มน้อยลง มีคนแนะนำว่า น่าจะไปจุดธูปเทียนกราบขอ "ย่าโม" ดู เผื่อว่าย่าจะช่วยได้ กำปั่นและกาเหว่าจึงได้ไปจุดธูปเทียนบนบอกย่าโม

"สาธุย่าโมจงสดับรับรู้ด้วยเถิด ที่ลูกหลานกำปั่น กาเหว่า ขอขมาย่า ในการที่ลูกหลานได้นำเพลงโคราชที่เป็นมรดกย่าให้มา เอามาดัดแปลงเป็นเพลงโคราชซิ่ง ใส่ดนตรีเป็นการผิดแผกไปจากเดิม เจตนามิได้ลบหลู่ดูหมิ่น แต่ที่ทำไปด้วยใจเจตนาอยากเผยแพร่เพลงโคราช ภาษาโคราช ให้แผ่กระจายไปสู่ในผู้คน ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อเพลงโคราชจะได้ยืนอยู่คู่เมืองย่าต่อไป ขอให้ย่าจงดลบันดาลให้ลูกจำหน่ายขายเทปได้ด้วยเถิด สาธุ" นี้คือถ้อยคำของกำปั่น กาเหว่าที่ได้ขอย่าโมในวันนั้น (ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่)

และเช้าวันรุ่งขึ้น จึงได้นำเทปไปที่วัดบ้านไร่เพื่อให้หลวงพ่อคูณท่านเจิมให้ หลวงพ่อท่านก็มีความเมตตาอนุเคราะห์ทำให้เป็นอย่างดี ทั้งน้ำมนต์รด ทั้งปลุกเสกลงอักขระขอม ส.ส.ประทีป กรีฑาเวช ได้แนะนำว่า "ผลิตเพลงออกมา ถ้าไม่ได้เปิดตามสถานีวิทยุต่างๆ ให้เขาได้ฟัง แล้วจะมีใครรู้ เมื่อเขาไม่รู้แล้วจะให้ขายเทปได้อย่าไร" จริงอย่างที่ท่านพูด เรื่องนี้กำปั่นก็ลืมคิดเสียสนิทใจ

นักจัดรายการวิทยุที่ชื่อ แสนรัก เมืองโคราช กับ ศุภลักษ์ อุ่นทวง ได้นำเอาเพลงไปเปิดตามคำร้องขอของ ส.ส.ประทีป ด้วยท่าทีอึดอัดใจ กำปั่นจึงบอกว่า "ไม่เป็นไร ถ้าเปิดแล้วไม่มีกระแสตอบรับจากแฟนเพลง ก็หยุดเปิดก็ได้" เขาทั้งสองก็เลยรับปาก

kampan 08

เช้าวันรุ่งขึ้น กำปั่นได้เหมารถไปส่งเทปเพื่อฝากขายที่อำเภอพิมายอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่รถกำลังเข้าจอดที่หน้าทางเข้าชมประสาทหินพิมาย เห็นขบวนรถทัศนาจร 2 - 3 คัน กำลังเข้าจอดเช่นกัน กำปั่น ได้แบกเทปเดินข้ามถนน และมีกลุ่มนักทัศนาจรกลุ่มนั้นเดินนำหน้า โดยมุ่งตรงมาที่ร้านจำหน่ายเทปคนละฟากกับถนน เมื่อเข้ามาในร้านได้ยินเสียงนักทัศนาจรกำลังถามหาซื้อ เทปเพลงโคราชซิ่ง

เจ้าของร้าน : ไม่เคยมี ไม่เคยได้ยิน มีแต่หมอลำซิ่ง
นักทัศนาจร : มีซิ เพราะผมฟังวิทยุจากในรถเมื่อกี้นี้เอง เป็นนักร้องจากโคราชนี้แหละ
เจ้าของร้าน : อ๋องั้นก็ของ หมูพงษ์เทพ หรือ สุนารี
นักทัศนาจร : ไม่ใช่ นักร้องพวกนั้นผมรู้จักแต่นี้ ชื่ออะไรหนา... อ้อ.. ชื่อกำปั่นๆ อะไรนี่แหละ

เจ้าของร้านยืนงงเพราะไม่รู้จักจริงๆ พอดีกำปั่น แบกเทปฟังอยู่ จึงบอกว่า "ก็นี้ไง ผมกำลังเอามาส่ง เป็นเทปออกใหม่พึ่งจะวางแผงวันนี้เอง" พวกนักทัศนาจร จึงลองให้เปิดฟังดู แล้วจึงบอกว่า "นี่ล่ะ ใช่เลย" แล้วพากันอุดหนุน กันคนละ 3 - 4 ตลับ ณ ที่ตรงนั้นเองที่เทปกำปั่น บ้านแท่น ขายได้เป็นครั้งแรก และขายได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ลัง 200 ตลับ ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที เพราะมีเถ้าแก่เจ้าของแผงเทปจากสระบุรีมาเที่ยวด้วย และรับซื้อเอาไปจำหน่าย ได้เงินสดๆ หกพันบาท

รางวัลเกียรติยศต่างๆ

  • รางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่นของจังหวัดนครราชสีมา 2 ปีซ้อน คือปี 2543 - 2544
  • รางวัลศิลปินอีสานแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านสื่อสารมวลชน ปี พ.ศ. 2545 มอบให้โดย สถาบันวิจัยศิลปะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • รางวัลสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือยอดเยี่ยม ปี 2542 - 2543 ครั้งที่ 18 จากศูนย์ส่งเสริมประสานงานเพื่อเยาวชนแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี มอบให้โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ได้รับการไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผลิตสื่อแนวเพลงพื้นบ้านมากมาย อาทิ กรมการการเลือกตั้ง สาธารณะสุขจังหวัด วิทยุชุมชน. เทศบาล. องค์การบริหารส่วนจังหวัด. ผู้แทนราษฎร สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้รับใบประกาศเกียรติคุณทุกใบ
  • รางวัลถ้วยเกียรติยศและเงินสด 500,000 บาท จากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการประกวดมหกรรมหมอลำซิ่ง 19 จังหวัดในภาคอีสาน รวมทั้งหมดมี 95 คณะมีศิลปินรวมแล้ว 20-90 คน ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1
  • ไดรับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาสิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี พ.ศ. 2555 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี 2564 จาก กระทรวงวัฒนธรรม

kampan 10

ผลงานช่วยเหลือสังคม

หาเงินจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงโคราช จัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือศิลปินยากไร้ เจ็บ ตาย เป็นวิทยากรพิเศษกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน จัดเลี้ยงอาหารบ้านคนชราทุกปี รวมทั้งเลี้ยงอาหารเด็กเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ

ด้านศาสนา

ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างที่เก็บน้ำฝนถวายวัดเขาแก้ว อ.โชคชัย มูลค่า 50,000 บาท สร้างเสาศาลาการเปรียญวัดบ้านแท่น และเสาวิหารหลวงปู่โตวัดโนนกุ่ม สร้างกำแพงวัดป่าคลองขุนเทียน ซื้อตู้เย็นถวาย 5 วัด จำนวน 5 ตู้ ซื้อกลองยักษ์ถวายวัดบ้านโจด 1 ใบ จัดกองผ้าป่าไปทอดตามวัดต่างๆ ทุกปีไม่ขาด

kampan 09

ด้านตำแหน่งหน้าที่

  • เป็นประธานชมรมเพลงโคราช 2 ปี
  • เป็นที่ปรึกษาสมาคมเพลงโคราช
  • เป็นอนุกรรมการวิทยุชุมชนของคนโคราช
  • เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
  • เป็นกรรมการโครงการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสุขภาพ (ส.ส.ส.)
  • อาจารย์พิเศษร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเพลงโคราช ร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป์

ด้านการถ่ายทอด

  • มีลูกศิษย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งเพลงโคราช เพลงลูกทุ่ง.ดนตรี.ประมาณ 60-70 คน ดังที่มีรายชื่อ ทำเนียบลูกศิษย์
  • ได้ประพันธ์เพลงโคราชไว้มากมาย เช่น เพลงโคราชประวัติหลวงพ่อคูณ 100 กลอน เรื่องมหาเวสสันดรโรงใหญ่ 300 กลอน เรื่อง ยาเสพติด อนุรักษ์ธรรมชาติ 150 กลอน เรื่อง มนุษย์โลกล้านปี เรื่องต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงให้ ก.ก.ต. จังหวัด เรื่อง ป้องกันโรคติดต่อ 8 ชนิดให้สาธารณะสุขจังหวัด และเรื่องเชิญชวนท่องเที่ยวภาคอีสาน 19 จังหวัด เป็นต้น
  • สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่หอสยามกุมารี วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และแสดงเพลงโคราชถวายต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ฯลฯ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปีพ.ศ. 2545 เป็นผู้นำการแสดงแสงสีเสียง สื่อผสมสัญจร ธ.สถิตในดวงใจของชาวไทยทั่วหล้า พ.ศ.2543 และแข่งขันหมอลำซิ่งอีสาน 95 คณะ ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทั้งที่เป็นเพลงโคราช แต่สามารถชนะหมอลำได้

kampan 07

ปัจจุบัน กำปั่น บ้านแท่น และกาเหว่า โชคชัย ภรรยา ก็ยังพำนักอยู่ที่เดิม คือบ้านเลขที่ 336 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และก็ยังอยู่บ้านเช่า ข้าวซื้อเช่นเดิม ยังเป็นคนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง หน่วยงานใดมีงานให้รับใช้ไม่มีเกี่ยง ถึงว่าจะต้องเสียค่ารถค่ากินไปเองก็ตาม เว้นเสียแต่ติดงานเสียก่อน ติดตามได้ทาง Facebook : กำปั่น ข่อยนอก (กำปั่น บ้านแท่น)

พ่อกำปั่น – กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ กับ แม่กาเหว่า – ทวาย เกริ่นกระโทก คู่รักเพลงโคราช

redline

backled1

art local people

นายคำหมา แสงงาม

kamma 01นายคำหมา แสงงาม หรือ “ครูคำหมา” หรือ “จารย์ครูคำหมา” ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ ทางช่างศิลป็ผู้มืฝีมือยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับของซาวอีสาน จนกระทั่งมืผู้ให้สมญานามว่า “ช่างเทวดา” และ “ช่างเนรมิต” โดยเป็นช่างคนเดียวของภาคอีสาน ที่มืความสามารถในการทำ "นกหัสดีลิงคํ" ได้อย่างสวยงาม และ ด้วยความโดดเด่นในฝีมือการก่อสร้างและการบูรณะถาวรวัตถุ ประเภทโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ฯลฯ อันเป็นสิ่งปลูกสร้างทางพุทธศาสนา ได้สร้างซื่อเสียงให้แก่ครูคำหมา จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาทิ การบูรณะองค์พระธาตุพนม การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกแบบและก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงแก้ว โบสถ์ เมรุเผาศพชั่วคราว มากมายหลายสิบแห่ง

ในด้านงานแกะสลัก ท่านถือเป็นผู้บุกเบิก "การแกะเทียนพรรษา" ที่ถือเป็นรูปแบบใหม่ในยุคนั้น เนื่องจาก สมัยก่อนไม่มีการหล่อเทียน แห่เทียน เช่นปัจจุบัน ซาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระ เพื่อจุดบูชาจำพรรษา ครั้นในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ มีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก แต่ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันจนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทน ประเพณีการแห่เทียนพรรษาจึงเกิดขึ้นมาถึงจนบัดนี้

ซึ่งแต่เดิมต้นเทียนมีลักษณะเรียบง่าย คือ การนำเทียนมาติดกับสำไม้ไผ่ โดยมีกระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสีทอง) ตัดลายฟ้นปลาปิดรอยต่อเท่านั้น ต่อมามีการหล่อเทียนเป็นลวดลายต่างๆ อาทิ กระจังตาอ้อย บัวควํ่า ก้ามปู ฯลฯ แล้วน่าไปติดที่ สำต้นเทียนเพื่อความสวยงาม และมีการประกวดเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

candle festival 007

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ครูคำหมา แสงงาม ได้คิดและแกะสลักต้นเทียนโดยไม่ต้องพิมพ์ดอกมาติด เหมือนเช่นที่ช่างรุ่นก่อนทำมา ทำให้ต้นเทียนแกะสลักที่นายคำหมาทำให้กับ วัดบ้านกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ มีความแปลกใหม่สวยงาม จึงมักได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียงเป็นประจำทุกปี จนถือเป็นต้นแบบให้แก่ช่างฝีมือในยุคนั้นเป็นต้นมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีประจำปีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร โดยมีการประกวดต้นเทียนประเภทต่างๆ รวมถึงขบวนแห่ เพื่อดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ไปเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก

การสั่งสมประสบการณ์

นายคำหมา แสงงาม เกิดเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. 2434 ที่บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายเคน และนางค้ำ แสงงาม มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน นายคำหมา แสงงาม เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว และได้แต่งงานกับนางลำดวน แสงงาม มีบุตรธิดา 4 คน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2 บ้านขมิ้น หมู่ที่ 5 ตำบลเทอดไทย อำเภอธวัชบุรี (ปัจจุบัน ขึ้นกับอำเภอบึงเขาหลวง) จังหวัดร้อยเอ็ด

นายคำหมา เรียนหนังสือตัวธรรมและมูลกระจายจากพระสงฆ์ เมื่ออายุ 6 ขวบ พ่อแม่นำไปฝากเป็นศิษย์วัดศรีนวล บ้านชีทวน ศึกษาวิชาหนังสือและวิชาช่างกับพระอาจารย์วง และ พระอาจารย์สี จนกระทั่งอายุ 10 ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศิลปะการช่างไปพร้อมกันด้วย

ต่อมาได้ศึกษาวิชาศิลปะการช่างเพิ่มเติมกับ พระครูวิโรจน์ รัตโนบล (ญาถ่านดีโลด) จนสำเร็จที่ วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านไม่ทิ้งวิชาช่าง ยังศึกษาฝึกฝนตนเองเรื่อยมา ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าในการสั่งสมความรู้ โดยในปี พ.ศ. 2444 ท่านได้เป็นหนึ่งในช่างที่เดินทางไปทำการบูรณะองศ์พระธาตุพนม ตามดำริของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก นับเป็นประสบการณ์เชิงช่างที่มีคุณค่ายิ่ง

nakon panom 1

และในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านได้ติดตามพระอาจารย์ของท่านไปทำงานช่างตามวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน จนกระทั่งอายุ 26 ปี ได้ลาจากเพศบรรพชิต และหันมาทำงานเป็นช่างเต็มตัว โดยศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม จากหนังสือ ตำรา ใบลาน ทำให้มีความรู้แตกฉานในวิชาช่างแบบโบราณ รวมทั้งคติความเชื่อของชาวอีสานที่แฝงอยู่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างถ่องแทํในงานช่าง รู้มาก รู้ลึกและรู้กว้าง ยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ สามารถปั้นและหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้ ผลงานทุกชิ้นจะมีความวิจิตรบรรจง ประณีตสวยงาม และคงไว้ซึ่งศิลปะแบบพื้นบ้าน จนเป็นที่กล่าวขวัญยอมรับและยกย่องกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งมีผู้ยกย่องว่าเป็น "ช่างเทวดา"

ศิลปะเชิงช่าง การออกแบบสร้างสรรค์เมรุชั่วคราว รูปนกหัสดีลิงค์ ช่างคำหมา ถือว่า เป็นนายช่างผู้เชี่ยวชาญการทำเมรุชั่วคราวทั้งแบบธรรมดา และแบบทรงนกหัสดีลิงค์ โดยศิลปะสถาปัตยกรรมในพิธีดังกล่าว ท่านถือเป็นบรมครูช่างผู้นำเข้าคติรสนิยม จากพื้นที่วัฒนธรรมอุบลฯ มาสู่จังหวัดต่างๆ ในแถบอีสานกลาง ไม่ว่าจะเป็นที่ เมืองอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฯลฯ จวบจนมาถึงปัจจุบันสมัย โดยได้มีการขยายรสนิยมในเชิงช่าง และคตินิยมการปลงศพด้วยการขึ้นนกหัสดีลิงค์นี้ไปยังที่ต่างๆ ในอีสาน ผ่านพิธีกรรมปลงศพกลุ่มพระเถระ ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน แม้ในเชิงช่างจะมีการปรุงปรับดัดแปลง อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ รูปแบบส่วนยอดหอแก้ว หรือซุ้มสำหรับวางหีบศพที่ช่างคำหมา ได้ออกแบบสร้างสรรค์จะนิยมการทำเป็นทรงเครื่องยอด แบบอย่างทรงจอมแห ที่เป็นอิทธิพลช่างหลวงราชสำนักกรุงเทพฯ จากเครื่องยอดของพระเมรุมาศเจ้านายชั้นสูง ทำให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ทางรสนิยมเชิงช่างที่ไม่หยุดนิ่ง ระหว่างวัฒนธรรมหลวงกับวัฒนธรรมชาวบ้าน ผ่านนายช่างผู้มากฝีมือท่านนี้ ปัจจุปันสานุศิษย์ของท่านก็ยังสืบสานต่อ

kamma 07

บทวิเคราะห์ที่สำคัญที่ท่าน อาจารย์ วิโรฒ ศรีสุโร ครูใหญ่ด้านวิชาการศิลปะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานศึกษา ผู้ล่วงลับ ได้วิเคราะห์ผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ ศาสนาคาร ของ ช่างคำหมา แสงงาม ไว้ว่า “….ผลงานในระยะแรกๆ ย่อมมีอิทธิพลจากตระกูลช่างทางล้านช้าง แต่พอในระยะหลังๆ กลับได้รับอิทธิพลจากทางบางกอก (รัตนโกสินทร์) ตลอดทั้งรูปแบบทางสถาปัตยกรรม (อุโบสถหรือสิม) และงานตกแต่งประดับ ก็เป็นไปอย่างทางภาคกลางทั้งสิ้น อาจจะเป็นไปได้ว่า ทางวัดอยากได้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง จึงบีบคั้นให้ท่านได้พัฒนาการตัวลายให้เป็นไปอย่างสมัยนิยม จนบางครั้งทำให้ขาดรสชาติของความเป็นพื้นถิ่นอีสานไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่บางครั้งช่างก็อาจรู้ดี แต่เพื่อความต้องการของตลาดจึงจำใจต้องโอนอ่อนตามไปในที่สุด” (วิโรฒ 2536)

ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย กระจายกันไปประกอบวิชาชีพทั่วภาคอีสานนับพันคน ท่านฝึกหัดอบรมโดยใช้วิธีทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วจึงมอบหมายงานให้ทำจากง่ายไปสู่งานที่มีความซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นผู้ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และเป็นคนสมถะ ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์

kamma 02

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความมัธยัสถ์ โดยเงินทองที่หามาได้ส่วนใหญ่จะน่าไปบุญ และสมทบทุนสร้างถาวรวัตถุ งานบางแห่งไม่มีค่าแรงก็รับทำเพื่อทำบุญ การทำงานก็เช่นกัน หากมีวัสดุเหลือใช้หรือแม้แต่เศษวัสดุที่ผู้อื่นทิ้งแล้ว ท่านก็สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะที่สวยงามได้ และท่านมักลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง เพื่อประหยัดเวลาถือเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ายิ่ง

ครูคำหมา แสงงาม เป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยนอกจากท่านจะทำงานด้านศิลปะแล้ว ยังอุทิศตนให้กับการให้ความรู้แก่ลูกศิษย์จำนวนมาก โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และด้วยเป็นปราชญ์ในงานด้านทัศนศิลป็ ทั้งงานปั้นและงานแกะสลัก ทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เชิญท่านเป็นวิทยากรอยู่บ่อยครั้ง

kamma 03

ผลงานที่สำคัญ

  • การบูรณะองค์พระธาตุพนม ขณะนายคำหมาบรรพชาเป็นสามเณร ได้ร่วมเดินทาง ไปกับคณะพระครูวิโรจน์ รัตโนบล ช่างไทยรุ่นแรกที่ไปบูรณะพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. 2444
  • งานปั้นและหล่อพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระประธานองค์ใหญ่ วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บูรณะพระเหลา วัดพระเหลา บ้านพนา อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน จังหวัดอำนาจเจริญ) พระสังข์กัจจายน์ วัดสระทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด พระประธานวัดบ้านขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ฯลฯ
  • การบูรณะโบสถ์ ซุ้มประตู วัดเอี่ยมวรนุช กรุงเทพมหานคร
  • การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี แนะนำออกแบบและดูแลลูกศิษย์บูรณะหัวเสากำแพงรอบวัด
  • สร้างเมรุเผาศพแบบชั่วคราวเป็นประจำทุกปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 7 ครั้ง
  • สร้างนกหัสดีลิงค์ สำหรับเผาศพเจ้านายหรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ประมาณ 20 ครั้ง
  • ออกแบบและก่อสร้างโบสถ์ไม่น้อยกว่า 80 แห่ง ศาลาการเปรียญ 10 แห่ง หอระฆัง 10 แห่ง หอไตร วิหาร มณฑป 9 แห่ง
  • ออกแบบและก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงแก้ว 45 แห่ง
  • ออกแบบและแกะสลักลวดลายเทียนพรรษา ได้รับรางวัลชนะเลิศ ที่ จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงเป็นประจำทุกปี

kamma 04

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบัน) ได้มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ ให้แก่ท่าน และในปี พ.ศ. 2529 ท่านได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปีนแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป๋ (การปั้นแกะสลัก) อันเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต

kamma 08

นานาทัศนะ

สุวรรณศรี สันคอกช้าง จากเวปไซด์ส่งสการดอทคอม กล่าวถึงนกหัสดีลิงค์สีสันสวยงามที่สร้างขึ้นโดย พ่อครูคำหมา แสงงาม ผู้เป็นปราชญ์ที่จรรโลงสร้างนกหัสดีลิงค์ในภาคอีสานว่า “รู้สึกจะมีพ่อครูคำหมาเป็นผู้สืบทอดแต่เพียงผู้เดียว เคยมีคนถามว่า นกหัสดีลิงค์ ที่สร้างขึ้นของทางเหนือสวยและถูกกว่าทางภาคอีสาน แล้วทำไมไม่มีใครได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ข้าพเจ้าขอตอบอย่างเป็นกลางว่า ไม่มีสิ่งไหนที่จะบรรยายได้ว่าสวยหรือไม่สวย เพราะงานทุกชิ้นที่ถูกผลิตออกมานั้นมันมีค่าทางจิตใจมากกว่า ทางภาคอีสานมีผู้สามารถสร้างนกหัสดีลิงค์ได้เพียงแค่ท่านเดียว ก็สมควรแล้วที่จะต้องได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปีนแห่งชาติ เพราะมีแค่หนึ่งเดียวในภาคอีสาน ส่วนทางภาคเหนือเรางานประเภทนี้มีให้เห็นหนาตา”

kamma 05

ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงครูคำหมาว่า พ่อใหญ่คำหมา แสงงาม เป็นศิลปินแท้ๆ เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถทางช่างและศิลปะ มีวิริยะธรรม มีมนุษยธรรม และมีศีลธรรม ท่านได้สร้างกุศลธรรมไว้มากมาย ไม่ใช่เพราะว่าท่านมีอายุมากถึง 99 ปีเท่านั้น ศิลปินที่แท้จริงเช่นนี้นับวันจะหายาก เพราะโลกได้เปลี่ยนไป แม้แต่คนไทยก็เอาอย่างคนตะวันตกเกือบทุกทาง โดยไม่รู้ว่าเราเองมีดีอย่างไร”

kamma 06

อาคม วรจินดา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน กล่าวยกย่องครูคำหมาว่า พ่อครูเป็นฮากบ้านฮากเมีอง คือรอบรู้ในฮีตบ้าน คลองเมือง มีปิญญาสุขุมไม่ร้อนวิชา ดำเนินชีวิตงดงามบริสุทธิ์ และสมถะ พ่อครูมีบุญคือ เป็นรัตตัญญู ผู้รู้ราตรืนาน มีอายุยืน มีชีวิตเป็นดั่งตำนานแห่งงานหัศนศิลป็ ประกอบศาสนคารไว้อย่างมีคุณค่าน่าสะออน”

พ่อครูคำหมา แสงงาม ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ขณะอายุได้ 99 ปี

redline

backled1

mp3

ponsak songsaeng 01

พรศักดิ์ ส่องแสง

พรศักดิ์ ส่องแสง หรือ นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ที่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 6 คน ของนายเฮา และนางแว่น ประจันตะเสน

การศึกษา จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ที่ บ้านหนองหญ้าลังกา ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จากนั้นไปสมัครเป็นคอนวอยในวงหมอลำชื่อ "แชมป์อีสาน" ของครูคำหอม ได้บันทึกเทปกลอนลำชุดแรกเมื่อ พ.ศ. 2524 ชื่อชุด "เสือสำนึกบาป" และ "ซาหลงบั้ง" ต่อมาได้บันทึกเสียงเพลงลูกทุ่งในชื่อชุด "หนุ่มนานครพนม" ต่อมาได้คัดเลือกทหารและจับสลากได้ใบแดงเป็นทหารเกณฑ์ เข้ารับราชการที่ มณฑลทหารบกที่ 24 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี ก็ยังลาราชการออกมาทำวงอยู่ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ชื่อ พรศักดิ์ ส่องแสง ตั้งให้โดยครูเพลง รักษ์ วัฒนยา หรือ ครูคำหอม พ่อฮ้างน้อย ผู้สนับสนุนให้ตั้ง วงดนตรี พรศักดิ์ ส่องแสง มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 40 ชุด เพลงที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับพรศักดิ์ ส่องแสง จนรู้จักกันทั่ว ดังเช่น หนุ่มนานครพนม, มาลัยใจดำ, สาวคุมกำเนิด,  ลอยแพ, เสือสำนึกบาป, อีสานพลัดถิ่น, แม่ของใคร เป็นต้น

เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ - พรศักดิ์ ส่องแสง

มีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุดประมาณปี พ.ศ. 2529-2530 โดยครูคำหอมเตรียมแผนการใหญ่จะเอา "หมอลำเข้าเธคให้ได้" เพราะสมัยนั้น สถานบันเทิงที่เรียกว่า ดิสโก้เธค ได้รับความนิยมของนักเที่ยวกลางคืน จึงติดต่อ สุมทุม ไผ่ริมบึง (แสนคม พลโยธา) ผู้ประพันธ์เพลง "สาวอีสานรอรัก" และเพลง "คิดถึงทุ่งลุยลาย" แต่งกลอนลำเต้ยสลับเพลงลูกทุ่งอีสาน ในชื่อ "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" ผลงานเพลงนี้เองที่ทำให้เธคทั้งหลายมีแดนซ์รูปแบบหมอลำ สุมทุม ไผ่ริมบึง เขียน "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" โดยนำเอาเพลง "คักใจเจ้าแล้วบ่" ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ที่ว่า "พอใจของเธอหรือยัง บอกแล้วบ่ฟังเลยหนีแม่หนีพ่อ.." มาใส่ในเต้ยสาวจันทร์ฯ "พอใจหรือยังสาวจันทร์ หรือฝันหาชายคนใหม่.."

เบื้องต้นครูคำหอม ต้องการให้เต้ยสาวจันทร์ฯ เป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำที่ฟังกันได้ทั้งประเทศ และให้พรศักดิ์ ร้องขยี้สไตล์ตัวเอง ไม่ได้เอาตามที่สุมทุม คนแต่งที่เขียนเป็นกลอนผญา เมื่อปล่อยเทปเพลงชุด "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" ออกสู่ท้องตลาด ก็เป็นไปตามที่ครูคำหอมคาดการณ์ไว้ ด้วยจังหวะการลำร้อง และดนตรีที่เร้าใจ หมอลำก็ได้เข้าดิสโก้เธคจริงๆ เมื่อทุกเธคต้องเปิดเต้ยสาวจันทร์ฯ

คำว่า "กั้งโกบ" ก็เป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ภาคอื่นค้นหาคำตอบ ซึ่ง "กั้งโกบ" หมายถึง อาการยกมือขึ้นป้องหน้า สาวจันทร์กั้งโกบ ก็หมายถึง สาวจันทร์ยืนป้องหน้า มองหาชายคนรัก

พรศักดิ์ได้ออกตระเวนแสดงทั่วประเทศ และออกไปแสดงถึงในต่างประเทศ เคยมีการจัดคอนเสิร์ตประชันกันระหว่าง พรศักดิ์ ส่องแสง กับ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ด้วยดนตรีสองแนวต่างสไตล์มาแล้ว โดยใช้คอนเสิร์ตชื่อว่า "คอนเสิร์ตสองคนสองคม" แสดงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ที่ สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก

ponsak songsaeng 05

พรศักดิ์จดจำคำสอนของครูคำหอมได้เป็นอย่างดี จะร้องหรือลำ ก็อย่าให้เหมือนใคร ต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง "อย่านำเขา ให้เขานำเฮา" หมายถึงอย่าเลียนแบบเขา ให้เขาเลียนแบบเรา พรศักดิ์ ส่องแสง จดจำคำสอนของครูหอมไม่ลืม "อย่าเฮ็ดคือไผ" ออกไปหน้าเวที ไม่ต้องฟ้อนเหมือนหมอลำ ไม่ต้องยักคิ้วหลิ่วตาเหมือนนักร้องลูกทุ่ง พรศักดิ์ ส่องแสง บนเวทีวันแรก จนเวทีสุดท้ายของชีวิต จึงเป็น 'ศิลปินคนบ้านบ้าน' อย่างเราเห็นกัน

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พรศักดิ์ ส่องแสง ได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต "คำภีร์ ไลฟ์ ก็ใจมันบงการ" ของ ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เมื่อ 26 มีนาคม 2559 โดยทั้งคู่ร่วมร้อง "เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ" และ "หนุ่มนานครพนม" เพลงในตำนานชีวิตราชาลูกทุ่งหมอลำ

ponsak songsaeng 14

จะว่าไปแล้ว พรศักดิ์ ส่องแสง เป็นศิลปินพรสวรรค์ล้วนๆ ไม่มีครูบาอาจารย์ด้านกลอนลำ อาศัยจดจำจากการฟัง และนำมาประยุกต์ให้เป็นลีลาของตัวเอง โดยมีแต่ครูคำหอมเป็นเทรนเนอร์ อย่างเพลง หนุ่มนานครพนม เคยมีนักร้องในวงลูกทุ่งดาวสวรรค์ เคยร้องไว้แล้ว แต่ไม่ดัง ครูคำหอมนำมาให้พรศักดิ์ร้องใหม่ กลับได้รับความนิยม เพราะลีลาการร้องต่างกัน

คำว่า "ร้องให้ดี" กับ "ร้องให้ดัง" นั้นขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ของนักร้องแต่ละคน พรศักดิ์เองยอมรับว่า เพลงหนุ่มนานครพนม เขาร้องผิดเนื้อผิดคำ "ลืมหนุ่มนครพนม เคยนั่งเรือชมสองฝั่งเวียงจันทน์.." ซึ่งคำร้องที่ถูกต้องคือ "ลืมหนุ่มนครพนม เคยนั่งเรือชมสองฝั่งเคียงกัน.." และโดยความเป็นจริงแล้ว นครพนมอยู่ตรงข้ามกับแขวงคำม่วน ไม่ใช่นครหลวงเวียงจันทน์

เนื่องจากพรศักดิ์ เป็นนักร้องที่อาศัยจดจำคำร้องจากผู้แต่ง จึงร้องผิดเนื้ออยู่หลายเพลง แต่ครูคำหอมบอกว่า "มึงอย่าไปสนใจ ร้องให้ดัง เพลงดังแล้ว คนก็ไม่สนใจว่าร้องผิดร้องถูกตรงไหน"

พรศักดิ์ ส่องแสง ได้เล่าถึงเรื่องราวในอดีตว่า "หลังจากครูคำหอม อาจารย์ของผมท่านเสียชีวิต ผมก็มารับช่วงวงจากท่าน คือซื้อวงต่อ ทำมา 2 ปีไม่ไหว มันได้แต่ชื่อเสียงไม่ได้เงิน กลายเป็นหนี้เขา เป็นเพราะเราคุมคนไม่ได้ ไม่มีอำนาจ ไม่มีบารมีเหมือนครูคำหอม คนในวงรุ่นใหญ่กว่าทั้งนั้นเขาไม่ค่อยเชื่อฟังเรา สั่งอะไรไม่ทำอย่างที่เราสั่ง มีเพื่อนๆ ก็ไม่จริงใจ สุดท้ายผมก็เลยคิดว่าหยุดดีกว่า ผมเลยขายทุกอย่างในราคาที่ถูกมาก ถามว่าเสียใจมั้ย ผมไม่เสียใจไม่เสียดาย ผมเป็นคนแฟร์ ผมคิดว่าผมมาก็ไม่ได้มีอะไรมา"

ponsak songsaeng 02

"หลังจากนั้นก็ไปทำรถบัสแดง ทำไร่อ้อย ทำสิบล้อ ทุกอย่างเจ๊งขาดทุนหมด เป็นหนี้เขาอีก เป็นช่วงลำบากชีวิตในเมืองไทยเป็นช่วงขาลง จ้างไปทำงานก็ราคาตก ผมก็ไม่ทำถึงจะอดก็อดอย่างมีศักดิ์ศรี สุดท้ายเลยตัดสินใจไปหาเงินที่ต่างประเทศ ไปร้องเพลง ผมไปได้ทุกที่ เพราะเมื่อก่อนเวลาเข้าหน้าฝนเข้าพรรษา ครูคำหอมเขาก็จะพาเราไปทำบุญต่างประเทศ ไปวัดไทยในสวิสฯ เยอรมัน อังกฤษ พ่อเสียเราก็กลับไปสายเดิม พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ชักชวนให้ไปช่วยงาน ผมลำบากนะ แต่เงินดี ได้มากกว่าเมืองไทย และที่นู่นทุกคนยังต้อนรับเราแบบซูเปอร์สตาร์อยู่"

"ผมทำงานหนักนะ แต่ทำได้เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวของพี่น้อง ช่วงหลังกลับมาเมืองไทยก็มาอัดเพลงทิ้งไว้ แล้วกลับไปทำงานต่อ ชุดแรก อยากจะร้องไห้ก้องไปทั้ง... กระแสมา พอมาชุดสอง ตอนเมียไม่มี ทำไมไม่เจอ ก็มาอีก ก็เลยใส่ชุด 3 เข้าไป มีเมียเด็ก ก็ได้อีก ตอนนี้เลยไม่ได้ไปไหนเลย 3 - 4 ปีนี่อยู่แต่เมืองไทย ก็ถือว่าเราโชคดี ถ้าจะให้กลับไปทำวงตอนนี้ผมไม่ทำแล้ว เขาสร้างให้พรศักดิ์มาเป็นนักร้อง ไม่ใช่ผู้บริหาร ถ้าทำวงก็เจ๊งอีก"

ponsak songsaeng 03

"ทุกวันนี้ถ้าไม่มีงานผมก็อยู่บ้านสบายๆ อยู่ที่อีสานหนองบัวลำภู เวลาอยู่บ้านผมมีความสุข ไม่เหงา ผมมีไร่ มีนา มีสวน เลี้ยงวัว จับปลา เป็นชาวบ้านเต็มขั้นอยู่อย่างพอเพียง ผมถือว่าผมโชคดี ผมประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว เพราะหมื่นคน ล้านคนก็ไม่ได้เหมือนเรา จบ ป. 4 มาได้ระดับนี้ อยากจะไปประเทศไหนก็เก็บกระเป๋าไปได้เลย ไม่รวย แต่มีทุกอย่างพอเพียงให้ดูแลครอบครัวได้"

"ส่วนเรื่องสุขภาพ ตอนนี้ผมสุขภาพไม่ดี เป็นโรคหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด ทุกวันนี้กินยาคุมมันอยู่ พร้อมเมื่อไหร่จะไปทำบอลลูน ช่วงนี้งานเยอะอยู่ เอาเถอะ ผมไม่แคร์หรอกความตาย ตายก็ตาย เพราะว่าก็จะตายมาหลายเที่ยวแล้ว ปีนี้สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 มกราคม มันแน่นหน้าอก พูดไม่ได้เลย มารู้ตัวอีกทีก็อีกวันนึง..."

พรศักดิ์ ส่องแสง สมรสกับ นางจุฬาวัลย์ ประจันตะเสน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ศึกษาต่อการศึกษานอกโรงเรียนจนได้วุฒิการศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 6 และได้รับศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประจำปีการศึกษา 2547-48

หลังจากนั้นก็มีชุดอื่นๆ อีกมากมาย แต่มาประสบความสำเร็จอีกครั้ง ประมาณปี 2548 จากชุด "มีเมียเด็ก"

ponsak songsaeng 06

รางวัลเกียรติยศ

  • พ.ศ. 2534 - รางวัลพระราชทาน ลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2534
  • พ.ศ. 2548 - รางวัลมาลัยทองนักร้องยอดนิยม ประจำปี พ.ศ. 2548
  • ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประจำปีการศึกษา 2547-48
  • พ.ศ. 2562 - รางวัลสิงหราช สาขาศิลปะการแสดง จาก คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ponsak songsaeng 11

สำหรับฉายา "ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร" นั้นมาจากสมัยวัยรุ่นชอบการต่อยมวย พรศักดิ์ให้ช่างสักแถว อำเภอบ้านไผ่ สักรูปมังกรไว้ที่แขนซ้าย โดยจ่ายค่าสักเป็นกระทิงแดง 1 ขวดและยาทันใจ ได้เป็นลวดลายและฉายาในการขายกำปั้น เมื่อมาเป็นนักร้องมีเพลงดัง เขาอยากลบรอยสัก ก็ลบไม่ได้ ครูคำหอมจึงบอกว่า ไม่ต้องลบ เอาลายสักเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เลยเป็นที่มาของฉายา "ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร พรศักดิ์ ส่องแสง"

ศิลปินมรดกอีสาน : นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน (พรศักดิ์ ส่องแสง)
สาขาศิลปะการแสดง ประเภทลูกทุ่งหมอลำ ประจำปีพุทธศักราช 2559

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปกระทันหัน

ponsak songsaeng 08

เมื่อเวลา 20.40 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายบุญเสาร์ ประจันตเสน หรือ พรศักดิ์ ส่องแสง ได้เกิดวูบล้มในห้องน้ำที่บ้านพักถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และได้จากไปอย่างกระทันหันจากหัวใจวายเฉียบพลัน ณ ห้องผู้ป่วย โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เสียชีวิตอย่างสงบด้วยอายุ 60 ปี ทางครอบครัวได้นำศพกลับมาที่บ้านเลขที่ 236 หมู่ 14 ตำบลบ้านขาม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

ponsak songsaeng 10.jpg

โดยบรรยากาศที่บ้านพักมี พระราชวชิรธาดา เจ้าคณะจังหวัดหนองบัวลำภู เจ้าอาวาสวัดวัดพัชรกิติยาภาราม บ้านห้วยเตย ตำบลหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ พรศักดิ์ ส่องแสง เคยไปบวชอยู่ที่วัดด้วย ได้เดินทางมาที่บ้าน ส่วนนางจุฬาวัลย์ ประจันตะเสน อายุ 58 ปี ภรรยาของ พรศักดิ์ ส่องแสง อยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ ไม่พร้อมที่จะให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ มีญาติมิตรนั่งปรึกษาหารือเรื่องจะจัดงานศพในช่วงโควิดอย่างไร และผู้ที่ทราบการเสียชีวิตได้เดินทางมาที่บ้านจำนวนหนึ่ง

ponsak songsaeng 12

ponsak songsaeng 13

ทางทีมงานเว็บไซต์ 'ประตูสู่อีสาน' ขอแสดงความอาลัยและเสียใจกับครอบครัว 'ประจันตะเสน' ด้วยครับ ชมไลฟ์สดสุดท้ายเพื่อระลึกถึงแฟนเพลงกันหน่อย

"ลายมังกร" พรศักดิ์ ส่องแสง : ความจริงไม่ตาย ThaiPBS

redline

backled1

 

art local people

หมอลำคูณ ถาวรพงษ์

koon tawonpong smหมอลำคูณ ถาวรพงษ์ เกิดเมื่อปี 2445 ณ บ้านจานตะโนน หมู่ที่ 11 ตำบลหนองบ่อ อำเภอเขื่องใน (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นเขต อำเภอเมืองอุบลราชธานี) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายพ่วย และนางสุนีย์ ถาวรพงษ์ ท่านชอบการร้องลำมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก โดยหัดลำด้วยตนเองก่อน ต่อมาได้ไปเรียนลำจากครูที่บ้านเตยสวนงัว อำเภอม่วงสามสิบ เมื่อท่านอายุ 16 ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดจานตะโนน และได้ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ. 2469 ท่านก็หันมาประกอบอาชีพเป็นหมอลำเต็มตัว และได้แต่งงานอยู่กินกับ นางพับ สุวรรณกูฎ มีบุตรเป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน

หมอลำฝ่ายหญิงที่ลำคู่กันกับหมอลำคูณ มีหลายคน ได้แก่ หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์, หมอลำหม่อน, หมอลำอั้ว, หมอลำเที่ยง, หมอลำสุบรรณ เป็นต้น แต่ที่ลำด้วยกันบ่อยที่สุด คือ หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ จนกิตติศัพท์ดังไกลถึงหูของ นาย ต.เง็กชวน นายห้างเจ้าของห้างแผ่นเสียงตรากระต่าย ซึ่งมีความคิดที่จะนำศิลปินพื้นบ้านประจำภาคต่างๆ มาอัดแผ่นเสียงบ้าง จึงได้แสวงหาจากภูมิภาคต่างๆ สำหรับภาคอีสานนั้นได้ทราบว่า มีหมอลำชื่อดังของเมืองอุบลราชธานี คือ หมอลำคูณ ถาวรพงษ์ กับหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ ท่านทั้งสองจึงได้ถูกชักชวนให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถไฟ เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2483 โดยมีหมอแคน คือ นายชื่น ทานให้ และ นายบัว มีทรัพย์ เพื่อบันทึกเสียง แผ่นเสียงที่นาย ต. เง็กชวน อัดออกจำหน่ายในครั้งนั้นคือ "ลำทางสั้น กลอนศีลห้า" และลำคู่กันคือ "ลำเว้าสาว" เป็นแผ่นเสียงชุดแรกและชุดสุดท้ายของท่านทั้งสอง มีการจำหน่ายเผยแพร่และได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ชื่อเสียงของท่านทั้งสองโด่งดั่งมากขึ้นไปอีก จนมีงานลำมากมายทุกวันจนไม่มีเวลาพักผ่อน

koon tawonpong 01

ลำเว้าสาว - หมอลำคูณ-หมอลำจอมศรี

ในสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องขยายเสียง การลำต้องลำด้วยปากเปล่า การเดินทางต้องเดินด้วยเท้าบ้าง ใช้เกวียนบ้าง (ไม่ได้มีรถประจำทางอย่างสมัยนี้) ท่านเป็นหมอลำที่มีน้ำเสียงดี ก้องกังวาน ชัดเจน และถนัดในการลำกลอนเพอะ (สองแง่สองง่าม) คนทั่วไปจึงพากันตั้งฉายาให้ท่านว่า “หมอลำคูณหี” (เพราะกลอนลำของท่านเฉียดฉิวอยู่กับอวัยวะเพศชาย-หญิงนั่นเอง) แต่นิสัยของท่านนั้น เป็นคนมีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต สันโดษ ไม่ดื่มสุราและไม่มีนิสัยทางชู้สาวเลย เป็นคนสุขุม ค่อนไปในทางเก็บตัว จึงมีลูกศิษย์น้อย ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงคือ หมอลำวังสถาน สิงห์ธรรม

ลำเว้าสาว - หมอลำคูณ-หมอลำจอมศรี

ในปี พ.ศ. 2487 หมอลำคูณได้ล้มป่วยลงด้วยอาการไข้ งดรับงานลำอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมาลำได้ตามปกติ แต่อาการยังไม่สู้ดีนัก ในขณะที่ท่านลำที่บ้านโนนแดง ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเกิดอาการไข้จับสั่น แต่ก็ฝืนลำฉลองงานไปตลอดคืนจนสว่าง สถานที่นี้คือเวทีลำสุดท้ายของท่าน ก่อนจะล้มป่วยลงอีกครั้ง และได้เสียชีวิตเมื่อปี 2488 อายุ 43 ปี

ลำกลอนตลก (ลำเพอะ) โดย หมอลำคูณหี (คูณ ถาวรพงษ์)

ลำชมสัตว์ต่างๆ โดย หมอลำคูณ ถาวรพงษ์

ลำชมเรือน โดย หมอลำคูณ ถาวรพงษ์

ลูกศิษย์เอกของหมอลำคูณ ถาวรพงษ์ ที่ได้สืบทอดการลำแบบกลอนเพอะไปได้ครบถ้วน และมีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง คือ หมอลำวังสถาน สิงห์ธรรม คนบ้านคำหว้า ตำบลคำหว้า อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และนี่คือกลอนลำทางสั้นที่ชื่อกลอนว่า "มักโยนี"

ลำมักโยนี - หมอลำวังสถาน สิงห์ธรรม

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)