mp3

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้อนห่วนๆ
เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน... "

จำกันได้ไหมกับเพลงนี้ อีสานบ้านเฮา เมื่อหลายสิบปีก่อน ประพันธ์โดย ครูพงศักดิ์ จันทรุกขา จากเสียงร้องของขุนเพลงอีสานอีกฅนหนึ่ง เทพพร เพชรอุบล มีแฟนๆ เรียกร้องต้องการรู้จักประวัติของนักร้อง/นักแต่งเพลงท่านนี้ ก็เลยสรรหามาฝากกันครับ

อีสาน บ้านเฮา - เทพพร เพชรอุบล

tepporn 01เทพพร เพชรอุบล

นักร้องและนักแต่งเพลง ขุนพลฅนอีสาน

ชื่อจริง : นายเทพพร บุญสุข ชื่อเล่น อ๋อ   ชื่อศิลปิน : เทพพร เพชรอุบล

เกิดเมื่อ : วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2496

ภูมิลำเนา : บ้านเลขที่ 23/4 บ้านโนนใหญ่ ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

บิดาชื่อ นายมี มารดาชื่อ นางเหรียญ บุญสุข มีพี่น้อง 2 คน โดย "อ๋อ" เป็นบุตรคนเล็ก

การศึกษา : จบชั้น ปวช. ปีที่ 3 แผนกช่างกลโรงงาน จากโรงเรียนองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียอาคเนย์ (โรงเรียน ส.ป.อ. ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี) หลังจากนั้นก็เข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง กทม. แต่เรียนได้แค่ 2 ปี ก็ลาออก

อาชีพ : นักร้องและนักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง

  • รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
    • รางวัลศิลปินดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ปี 2535
  • ผลงานบริการสังคม
    • แต่งเพลงและร้องเพลงในเหตุการณ์พระธาตุพนมถล่ม เมื่อปี 2518 ทำให้คนไทยรำลึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนั้นมิรู้ลืม
    • ร่วมแต่งเพลงและร้องเพลง จำหน่ายเพื่อการกุศลในวาระ 200 ปี จังหวัดอุบลราชธานี และวาระสมโภชน์ 100 ปี จังหวัดอุดรธานี ปี 2535
    • สนับสนุนณรงค์คนอีสานไม่กินปลาดิบ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ขอนแก่น และคณะเพชรพิณทอง ปี 2535
    • สนับสนุนรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2536
    • ได้รับเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง ให้เป็นตัวแทนนักร้องของภาคอีสาน แต่งเพลงและร้องเพลงเนื่องในงานส่งพระวิญญาณสมเด็จย่า
    • ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านที่วัดพระศรีนครินทร์ ประเทศสวิทเซอร์แลนด์

that phanomนายเทพพร เพชรอุบล เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 2 คน ของพ่อมี แม่คำเหรียญ บุญสุข เนื่องจากเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในการร้องลำ สนใจดนตรีและเสียงเพลง จึงยึดอาชีพเป็นนักประพันธ์เพลงหลังจบการศึกษา (อาจกล่าวได้ว่า วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาไม่เคยนำมาประกอบอาชีพแต่อย่างใด) และประกวดร้องเพลงจนได้รับรางวัลอย่างมากมาย เนื่องจากมีลีลาการร้องและสุ้มเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการยึดอาชีพนักร้องคือ ครูพร ภิรมย์ ศิลปินนักร้องลูกทุ่งผู้โด่งดังในยุคนั้น

นายเทพพร เพชรอุบล ได้สมัครเป็นนักร้องวงดนตรีของ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร และครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ รับไว้ประจำวง ใช้ชื่อการเป็นนักร้องในครั้งนั้นว่า จะเด็ด เพชรอุบล อยู่ในวงนอกจากเป็นนักร้องแล้ว ยังฝึกแต่งเพลงไปด้วย ฝึกเล่นดนตรีไปด้วย มีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงแรกในเพลง "นับหมอนรถไฟ" แต่งเอง เมื่อ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ยุบวง ก็กลับไปบ้าน สมัครทำงานอยู่ที่ สนามบินอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้ร่วมกับสมัครพรรคพวกตั้งวงดนตรี เทพพรโชว์ และเปลี่ยนชื่อเป็น เทพพร เพชรอุบล มีเวลาว่างก็ไปร้องเพลงให้กับวงดนตรีหมอลำชื่อดังยุคนั้นคณะ "รังสิมันต์" ร้องเพลงบ้าง เล่นดนตรีบ้าง ดนตรีที่ถนัดก็คือ แซ็กโซโฟน, แอ๊คโอเดี้ยน

ต่อมา วิเชียร สติรอดชมภู ได้ชักนำให้ไปเป็นโฆษก เล่นดนตรี และเล่นตลกหน้าเวที ประจำวงดนตรีหมอลำคณะ "เพชรสยาม" ภายใต้การนำของ "เทพบุตร สติรอดชมภู" อยู่วงนี้มีโอกาสได้แต่งเพลงให้นักร้องในวงร้องบันทึกเสียงหลายเพลง เช่น ศักดิ์สยาม เพชรชมพู แล้วร่วมก่อตั้ง วงดนตรีศักดิ์สยาม เพชรชมพู จนมีชื่อเสียงโด่งดังโดยมี เทพพร เพชรอุบล เป็นผู้ประพันธ์เพลงด้วยการนำภาษาอีสานมาผสมกับภาษากลาง ออกมาเป็นเพลงลูกทุ่งทำนองอีสาน ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของการสร้างสรรค์เพลงลูกทุ่งรูปแบบใหม่ ที่ฟังง่าย ติดหูติดปากผู้ฟัง ตัวเขาเองก็มีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงเหมือนกัน เพลงแรกที่ร้องแล้วสร้างชื่อเสียงก็คือ "คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ"

ในปี พ.ศ.2518 เขากับเพื่อนๆ ก็ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นเป็นของตัวเอง ชื่อวง เทพพร เพชรอุบล พร้อมๆ กับมีเหตุการ "พระธาตุพนม" โค่นล้ม เขาได้แต่งเพลง "อาลัยพระธาตุพนม" ดังพอสมควร วงดนตรีเทพพร เพชรอุบล ตั้งอยู่ได้ประมาณ 7 ปี ก็เลิกวง เทพพรเองก็ไปร้องเพลงตามห้องอาหารบ้าง รับเชิญทั่วไปบ้าง ไปขึ้นวงลูกศิษย์ลูกหาบ้าง แต่งเพลงขายบ้าง สร้างผลงานเพลงลูกทุ่งไม่น้อยกว่า 30 เพลง

on uma sing siri 01

นอกจากนี้ยังประพันธ์เพลงให้กับนักร้องท่านอื่น รวมแล้วไม่น้อยกว่า 80 เพลง ส่งผลให้ศิลปินนักร้องเหล่านั้นมีชื่อเสียง นอกจากนี้ นายเทพพร เพชรอุบล ยังใช้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ช่วยเหลือสังคม โดยได้แต่งเพลงเพื่อการกุศล และไปเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านที่ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ จากการทำงานอย่างหนักมาตลอดชีวิต เป็นผลให้ นายเทพพร เพชรอุบล ล้มป่วยเนื่องจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน เป็นผลให้ปัจจุบันไม่สามารถเคลื่อนไหวและช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง

เทพพร เพชรอุบล ชีวิตที่รอวันฟ้าเปิด

tepporn 02หนึ่งในขุนพลเพลงอีสาน เทพพร เพชรอุบล ผู้ขับร้องเพลง "อีสานบ้านเฮา" จน "หอมดอกผักกะแยง...." กันไปทั่วประเทศ วันนี้ เขายังหวังกลับมากับผลงานเพลงที่บรรจงแต่งให้ จินตหรา พูนลาภ กับ สิทธิพร สุนทรพจน์ ขับร้อง เทพพร วันนี้ร่างกายยังคงเป็นอัมพฤกษ์ ทำให้พูดออกเสียงได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็คุยได้รู้เรื่อง กล่าวกับ "คม ชัด ลึก" ถึง เพลง ล่าสุด "รอวันฟ้าเปิด" ที่ส่งให้ สิทธิพร ขับร้องในสังกัด อินคัม ว่าคล้ายกับชีวิตของตนเอง

"เพลงนี้เดิมชื่อ ขอวันเวลาวันฟ้าเปิด มันเป็นการเปรียบเทียบตอนวันฟ้าปิด ชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่ล้มอย่างเดียว มันมียืนขึ้นบ้าง ผมเปรียบเทียบเหมือนหนุ่มบ้านนอกเข้าไปหางานทำก็คล้ายกับตอนฟ้าปิด แต่เมื่อเราสำเร็จในด้านการงานแล้วทุกอย่าง มันเหมือนเวลาวันฟ้าเปิด สำหรับชีวิตตอนนี้เหมือนฟ้ากำลังแง้มๆ มีตั้งเค้าฝนนิดๆ สุขภาพดีขึ้น บางทีก็เหนื่อย เวลาพูดคุย ช่วงไหนที่กินข้าวแล้วอร่อย จะทำให้อึดอัด จะพูดออกเสียงก็ลำบาก เดี๋ยวนี้จะกินข้าวมื้อเช้าเยอะๆ ตอนเย็นกินข้าวต้ม น้ำหนักมันขึ้นมา 4-5 กก. ตอนนี้ร่างกายเดินได้แล้ว 75-80 เปอร์เซ็นต์"

อดีตนักร้องระดับแถวหน้าของอีสาน พูดถึงการแต่งเพลงของตนเองว่า มักจะไม่ได้แต่งเก็บเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเขียนตามที่เขาสั่งเพลงมาจะทำได้ดีกว่า "เวลาใคร (ค่ายเพลง หรือนักร้อง) สั่งก็เขียน ถ้าปกติสบายดีก็ไม่ได้เขียน เพราะเวลามีคนสั่งมาก็จะได้พล็อตมาก็จะเขียนได้ดี ตอนนี้ ได้เขียนเพลงให้ มี จินตหรา พูนลาภ สิทธิพร สุนทรพจน์ และนักร้องในค่ายชัวร์ ออดิโอ นอกจากเพลง รอวันฟ้าเปิดแล้ว ยังมีเพลง "ไอดินกลิ่นกรุง" แต่งมาได้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ค่ายมาสเตอร์เทปเขาคงเชียร์เพลงอื่นก่อน แล้วมาเชียร์เพลงของเรา อย่างเพลง "คิดฮอดตลอดเวลา" ที่จินตหราร้อง เขาก็มาเชียร์ทีหลัง ชุดของสิทธิพรแต่งไป 3-4 เพลง เขาเลือกมา 1 เพลง ลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในมือผม แต่บางเพลงก็ซื้อขาดไป เพลงที่แต่งทั้งหมดมีร่วม 500 เพลง มีบริษัท ทีทีซี ของอาร์เอส จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้"

tepporn 03tepporn 04

ขุลพลเพลงอีสาน กล่าวทิ้งท้าย ถึงคนในวงการว่า คิดถึงวงการ แต่ร้องเพลงไม่ได้แล้ว ว่างๆ ให้แวะมาเยี่ยมกันบ้าง "อยากจะกลับมาหน้าเวที ยังคิดถึงวงการ คงไม่มีโอกาสได้ร้องเพลง แต่ผมยังมีมันสมองถ่ายทอดผลงานเพลงให้ วงการลูกทุ่งอีสาน อยากให้มีศิลปินอีสานมากๆ ถ้าใครจะทำเพลงอีสาน ลองติดต่อได้ที่โทร. 08-1262-2451 สำหรับใครที่เผื่อมาขอนแก่น แวะเยี่ยมเยือนกันบ้าง"

ชีวิตที่ดั่งฟ้าจะแง้มเปิด จะสดใสเพียงไร คงต้องอยู่กับแฟนเพลงผู้ฟังและคนในวงการจะได้มีส่วนร่วมในการสร้าง ฟ้าใหม่ให้อดีตขวัญใจอีสานคนนี้

tepporn petubon 01

จาก : นสพ. คมชัดลึก วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

จากไปอย่างสงบ! อาลัย "เทพพร เพชรอุบล"

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายเทพพร บุญสุข หรือ เทพพร เพชรอุบล ศิลปินและนักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง เนื่องจากอาการป่วยโรคมะเร็งตับ ผู้สื่อข่าวจึงได้ไปที่บ้านพักเลขที่ 118 ม.4 บ้านห้วยชัน ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม ได้รับการเปิดเผยจาก นางพิกุล บุญสุข อายุ 64 ปี ซึ่งเป็นภรรยาว่า อาการของครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ได้ทรุดอย่างกระทันหันในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น.วันที่ 22 ต.ค. โดยมีอาการตัวแข็ง ไม่ขยับตัวไม่ตอบสนอง มีเพียงแค่อ้าปากค้าง และลืมตากรอกไปมาช้าๆ หรือซึ่งผิดปกติแตกต่างจากวันที่ผ่านมา ที่สามารถพูดคุยได้ วิจารณ์เพลงที่ลูกศิษย์แต่งให้ฟังได้ จึงได้โทรบอกให้เพื่อนญาติๆ ได้ทราบกันว่า อาการไม่ค่อยดี ทรุดหนักมากจนขยับตัวไม่ได้ มีอาการอ่อนแรงตัวแข็ง ไม่ตอบสนอง กินไม่ได้ ดื่มน้ำแทบจะไม่ได้แล้ว

tepporn petubon 04

และในวันนี้ได้มี นายธีระชาติ เล็กสิงห์โต ลูกศิษย์นักแต่งเพลง โดยเฉพาะเพลง "คืนเดือนหลายดวง" ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่ได้ร่วมกันแต่งกับลูกศิษย์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อประกอบในภาพยนต์เรื่อง "มนต์รักสีพันดอน" ของ สุรสีห์ ผาธรรม มาเปิดให้ฟัง โดยมีญาติสนิทร่วมรับฟังด้วย

นางพิกุล กล่าวต่อว่า หลังจากเมื่อกลางปีที่แล้ว อาการป่วยด้วยโรคมะเร็งได้กำเริบ ต้องหามส่งโรงพยาบาล จนกระทั่งออกมารักษาตัวที่บ้าน อาการของนายเทพพรก็ทรงและทรุดมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งไม่สามารถเดิน หรือช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อสามเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังพูดคุยพยุงนั่ง ยกไม้ยกมือ ทานอาหารได้ เมื่อวานยังพูดคุยหัวเราะกับลูกหลานได้อย่างปกติ แต่กลับทรุดกระทันหันในช่วงดึกที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนก็ได้เตรียมใจและทำใจไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 20.14 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า นายเทพพรได้เสียชีวิตอย่างสงบ โดยมีญาติและศิลปินลูกทุ่งเช่น  ศักดิ์สยาม เพชรชมภู, เหลือง บริสุทธิ์, เทพรังสรรค์ ขวัญดารา ทีมตลกที่เคยร่วมงานวงดนตรีเทพพร เพชรอุบล มาเฝ้าดูใจจนวินาทีสุดท้าย โดยญาติจะนำศพไปตั้งบำเบ็ญกุศลที่วัดบ้านห้วยชัน ตำบลศิลา ซึ่งอยู่ใกล้บ้านพักช่วงเช้าวันที่ 23 ตุลาคม นี้

tepporn petubon 03ประวัติ "เทพพร เพชรอุบล"

สำหรับนายเทพพร เพชรอุบล นั้นมีชื่อจริงว่า เทพพร บุญสุข เกิดปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นชาวบ้านโนนใหญ่ ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  คนที่บ้านเรียกว่า อ๋อ เขาจบชั้น ป. 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ก่อนจะไปต่อชั้นมัธยมในตัวจังหวัด และจบการศึกษาชั้นสูงสุดปีที่ 3 แผนกช่างกลโรงงาน จากโรงเรียนองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์ หรือ ร.ร.ส.ป.อ. ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เมื่อปี 2509

หลังจบการศึกษา เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อโรงเรียนเพาะช่าง สาขาประติมากรรม แต่เรียนได้ 2 ปีก็ลาออก เนื่องจากอยากเป็นนักร้อง เพราะมีพรสวรรค์ในการร้องรำทำเพลง สนใจดนตรีและเสียงเพลงมาตั้งแต่ยังเด็ก ระหว่างที่เรียนช่างกล ส.ป.อ. ก็เคยขึ้นร้องเพลงให้กับทางโรงเรียน โดยผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการอยากเป็นนักร้องในยุคนั้นของเขาก็คือ พร ภิรมย์ ศิลปินนักร้องลูกทุ่งผู้โด่งดังในยุคนั้น ซึ่งเขาสามารถเลียนเสียงเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ได้เหมือนมาก

ที่บ้านเกิด เขาจับคู่กับ นพดล ดวงพร โฆษกวิทยุประจำจังหวัดในสมัยนั้น ออกรับงานร้องเพลงตามที่ต่างๆ ในเขตจังหวัด ต่อมาทั้งสองเกิดความคิดขยับขยายความดังออกไปนอกตัวจังหวัด ด้วยการไปเป็นนักร้องวงดนตรีใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงพากันมาสมัครอยู่กับวง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ซึ่งที่นี่ พิพัฒน์ บริบูรณ์ เจ้าของวงให้ เทพพร ใช้ชื่อว่า จะเด็ด เพชรอุบล

นอกจากการเป็นนักร้องแล้ว ที่วงเขายังมีหน้าที่พิเศษคือ คัดลอกเพลงจากสมุดเล่มเก่าลงเล่มใหม่ ด้วยเหตุว่าเป็นคนลายมือสวย งานนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการแต่งเพลงไปโดยอัตโนมัติ ในช่วงนี้ เขาได้ลองแต่งเพลงหลายเพลง โดยใช้ชื่อว่า เทพพร ศิริโมกุล

ที่วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร เขาได้รับการสนับสนุนให้บันทึกเสียงหลายเพลง แต่เพลงแรกที่เขาแต่งเองร้องเอง มีชื่อว่า  “นับหมอนรถไฟ“ ซึ่งเขียนขึ้นจากประสบการณ์การหลงทางในกรุงเทพฯ ของเขาเอง จากนั้น เทพพร ก็แต่งเพลงขึ้นอีกหลายเพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือเพลง หมั่นไส้ ซึ่ง ผ่องศรี วรนุช ร้องแก้กับเพลง เสียวไส้ ของสุรพล สมบัติเจริญ

ต่อมาไม่นาน วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร ก็ยุบวง เทพพร หันไปทำงานสารพัดที่ค่ายทหารอเมริกัน ในสนามบินอุบลราชธานี แต่ถ้ามีเวลาว่างก็ขึ้นร้องเพลงกับวงดนตรีที่เปิดการแสดงในเขตจังหวัด และเล่นดนตรี (แซกโซโฟน กับ แอคคอเดียน ที่ไปเรียนรู้มาจากวงศักดิ์ศรี ศรีอักษร) ให้กับหมอลำคณะรังสิมันต์ ต่อมา วิเชียร สติรอดชมภู ชักชวนให้มาเป็นโฆษก พร้อมทั้งทำหน้าที่เล่นดนตรี และเล่นตลก ประจำวงดนตรีและหมอลำคณะเพชรสยาม ภายใต้การบริหารของ เทพบุตร สติรอดชมภู ซึ่งยังมีวงดนตรีและคณะหมอลำอยู่ในสังกัดอีกหลายวง

ที่นี่ ผลงานการแต่งเพลงของเทพพร ได้สร้างนักร้องดังในสังกัดของเทพบุตร สติรอดชมภูขึ้นมาคนหนึ่ง เขาชื่อ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ที่โด่งดังถึงขั้นสามารถประชันกับวงดนตรีชื่อดังแห่งยุคของภาคกลางอย่าง สายัณห์ สัญญา ได้เลยทีเดียว ซึ่งในช่วงนี้เทพพร เริ่มเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เทพพร เพชรอุบล และหันมารับบทนักร้องอีกครั้ง พร้มกับได้บันทึกเสียงเพลงดัง “คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ”

เพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงลงบนแผ่นเดียวกับเพลง “ลำเพลินเจริญใจ“ ของ ดาว บ้านดอน แต่อยู่คนละหน้า และก็ถูกความดังของลำเพลินเจริญใจกลบเสียสิ้น แต่ต่อมาเกิดเหตุรัฐประหารในประเทศ และมีคำสั่งห้ามโฆษณาตามวิทยุ ทำให้รายการวิทยุไม่มีรายได้ และเตรียมอำลาหน้าปัด จึงเปิดเพลง “คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ” ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคที่ว่า “ยกมือขึ้นบ๊าย บาย เป็นความหมายว่าอ้ายลาก่อน“ เพื่ออำลาแฟนเพลง เพลงนี้จึงดังขึ้นมา

 

คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ - เทพพร เพชรอุบล

จากนั้นในปี 2518 เขาลาออกจากวง และได้รวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งวงดนตรี เทพพร เพชรอุบล ซึ่งสามารถยืนอยู่ในวงการได้ 7 ปี จากนั้นก็ผันตัวเองมาเป็นนักร้องรับเชิญตามวงต่างๆ นอกจากนี้ เทพพร ยังประพันธ์เพลงให้กับนักร้องท่านอื่นมากมาย ส่งผลให้ศิลปินนักร้องเหล่านั้นมีชื่อเสียง

อดีตนักร้องระดับแถวหน้าของอีสาน พูดถึงการแต่งเพลงของตนเองว่า มักจะไม่ได้แต่งเก็บเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเขียนตามที่เขาสั่งเพลงมา จะทำได้ดีกว่า "เวลาใคร (ค่ายเพลง หรือนักร้อง) สั่งก็เขียน ถ้าปกติสบายดีก็ไม่ได้เขียน เพราะเวลามีคนสั่งมาก็จะได้พล็อตมาก็จะเขียนได้ดี"

 

สั่งฟ้าไปหาน้อง - เทพพร เพชรอุบล

จากการทำงานอย่างหนักมาตลอดชีวิต เป็นผลให้ปลายปี 2540 เขาล้มป่วย เนื่องจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน เป็นผลให้ไม่สามารถพูดหรือเคลื่อนไหว และช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง ทำให้เขาหายจากโรค และกลับมาแข็งแรง สามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้อีกครั้ง

tepporn petubon 02ผลงานเพลง (ร้อง)

1. อาลัยพระธาตุพนม 2. คิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ 3. นัดวันให้น้องรอ 4. สั่งฟ้าไปหาน้อง 5. เสียงแคนแทนใจ 6. ฝังใจเวียงจันทน์ 7. สามเกลือเที่ยวกรุง (2) 8. รำวงหาคู่ 9. ครวญหาอังคนางค์ 10. จนแท้น้อ 11. ร้องไห้ทำไม 12. บ่ลืมบ้านนอก 13. สัมภาษณ์เทพี 14. ป๋ากันเถาะ 15. ไก่จ๋าไก่ 16. คนอุ้มไก่ 17. กลับมาเถิดน้อง 18. นับหมอนรถไฟ 19. อีสานบ้านเฮา

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  • รางวัลศิลปินดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ปี 2535
  • รางวัลศิลปินมรดกอีสาน  จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2554

ผลงานบริการสังคม     

  • แต่งเพลงและร้องเพลงในเหตุการณ์พระธาตุพนมถล่ม เมื่อปี 2518 ทำให้คนไทยรำลึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนั้นมิรู้ลืม
  • ร่วมแต่งเพลงและร้องเพลง จำหน่ายเพื่อการกุศลในวาระ 200 ปี จังหวัดอุบลราชธานี และวาระสมโภชน์ 100 ปี จังหวัดอุดรธานี ปี 2535
  • สนับสนุนณรงค์คนอีสานไม่กินปลาดิบ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ขอนแก่น และคณะเพชรพิณทอง ปี 2535
  • สนับสนุนรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2536 ได้รับเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง ให้เป็นตัวแทนนักร้องของภาคอีสาน แต่งเพลงและร้องเพลงเนื่องในงานส่งพระวิญญาณสมเด็จย่า
  • ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านที่ วัดพระศรีนครินทร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อาลัยพระธาตุพนม - เทพพร เพชรอุบล

tepporn petubon 05จนกระทั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2555 ที่ผ่านมา นางพิกุล บุญสุข หรือ โบตั๋น ภรรยาที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ได้นำตัวเทพพร ส่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  อีกครั้งหลังจากมีอาการทรุดหนักเพราะอาการอัมพฤกษ์กำเริบ ประกอบกับมีภาวะโรคตับแทรกซ้อนด้วย และต้องนอนพักอยู่โรงพยาบาลนานนับเดือนถึงได้กลับไปอยู่ที่บ้าน ที่ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และเทียวเข้าออกโรงพยาบาลตลอด  17 ปีที่ผ่านมา

จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อเวลา 20.14 น. วันที่ 22 ตุลาคม 2556 ในวัย 66 ปี

จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก : วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2556

ทีมงานเว็บไซต์ ประตูสู่อีสาน : IsanGate.com ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของขุนพลเพลง เทพพร เพชรอุบล และขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวบุญสุข ต่อการจากไปของนักร้อง/นักแต่งเพลงขวัญใจคนอีสานท่านนี้ด้วยครับ

redline

backled1