art local people

pongsak 00พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)

พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (ชื่อเดิม นายสงคราม) เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2479 ที่บ้านดอนใหญ่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นลูกชายกก (ลูกคนแรก) ของนายสุขุม - นางแดง จันทรุกขา และมีพี่น้องตามกันมาอีก 7 คน แม่ตั้งชื่อให้ว่า "สงคราม" เพราะเกิดในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ก่อนจะได้ชื่อนี้พ่อตั้งให้ว่า "สมพงษ์" เพราะความชื่นชอบในนักมวยที่เป็นแชมป์มวยสากล ส่วนชื่อ "พงษ์ศักดิ์" นี้มาเปลี่ยนเองในภายหลัง ความหมายคือ "ศักดิ์ศรีแห่งเผ่าพงษ์" หรือ "ศักดิ์ศรีแห่งตระกูล"

จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากร (วัดมณีวนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี (พ.ศ. 2545)

ความใฝ่ฝันแน่วแน่มาแต่วัยเยาว์คือ การเช้าสู่วงการเพลง ในช่วงวัยเยาว์เล่าเรียนมีประสบการณ์ของการเป็นนักพากย์ (หนังประโมทัย หรือหนังตะลุงอีสาน) ครั้นจบการเรียนชั้น ม.6 พ่อ-แม่อยากให้เรียนครูรับราชการเหมือนท่าน แต่ความใฝ่ฝันมันชักจูง จึงตัดสินใจใช้เงินที่ทางบ้านให้มาลงทะเบียนเรียนครูเป็นค่าเดินทางตีตั๋วรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปกรุงเทพฯ มาก่อน

การเดินทางสร้างประสบการณ์ชีวิตมากมาย ได้พบกับผู้อุปถัมภ์ค้ำชูหลายๆ คน จนได้มาอยู่กับ ท่านกูฏ (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ) ที่บ้านศรีย่าน ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดกับบรรดาศิลปินใหญ่หลายๆ ท่าน ที่นี่เป็นดัง "ตักศิลา" ที่ให้ความรู้มากมายในหลายๆ แขนง

ประสบการณ์ทำงานของครูพงษ์ศักดิ์ เริ่มจากทำงานเป็นครูที่ โรงเรียนอุบลวิทยากร พ.ศ. 2498 - 2500 เริ่มประพันธ์เพลง ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ในนาม พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เคยเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ในนาม "เทพสงคราม" ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 - 2512 นักเขียนบทละครวิทยุ เล่นละครวิทยุ ให้กับคณะมิตรมงคล ของครูสวาศดิ์ ไชยนันท์ พ.ศ. 2502 นอกจากนี้ยังเคยสร้างภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง "มนต์รักลำน้ำพอง" "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ " เมื่อปี พ.ศ.2519 - 2523 กำกับภาพยนตร์และเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง "มนต์รักแม่น้ำมูล" "ลูกทุ่งเพลงสวรรค์"

pongsak 07
ขอบคุณภาพจาก @earnkhwan_pim

หลังม่านบทเพลงบรมครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา - ไทยบันเทิง ThaiPBS

ครูพงษ์ศักดิ์ยังเป็น นักโหราศาสตร์ (หมอดู) ในนาม "ธณวัฒน์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 - ปัจจุบัน และเคยเป็นนักแสดงภาพยนตร์ เรื่อง "ฟ้าสางที่ฝั่งโขง" ดำรงตำแหน่งประธานชมรม "ศรีเมืองใหม่รวมน้ำใจเอื้ออาทร" ผู้ก่อตั้ง "ลานบ้านลานธรรม" พ.ศ. 2540 และครูพงษ์ศักดิ์ เป็นนักร้องเพลงธรรม ในนาม "เฒ่า ธุลีธรรม" และในพ.ศ.2540 ได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดลำหมอลำซิ่ง ครูได้รับการยกย่องเป็น "ครูภูมิปัญญาไทย" รุ่นที่ 4 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. 2548

pongsak 06
ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิหนังไทย

ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์เพลงแห่งอุบล เพลงแรกในชีวิตการเป็นนักแต่งเพลง คือ ดาวบ้านนา แต่งให้กับ สมนึก นิลเขียว นักร้องหนุ่มรูปหล่อเสียงดีจากเมืองเพชรบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงหวานคลาสสิกผสมกลิ่นอายลิเก และไพรวัลย์ยังร้องเพลงนำในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลำน้ำมูล ที่ครูพงษ์ศักดิ์เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย

เพลง ทุ่งรัก ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่ครูพงษ์ศักดิ์แต่งนั้นภาษางดงามมาก จนหลายคนหลงคิดว่าเป็นเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ยังมีเพลงอื่นๆ ที่ภาษางดงามมากอีก เช่น เสียงซุงเว้าสาว, ตะวันรอนที่หนองหาน

เพลง สาละวันรำวง ที่ครูแต่งให้กับลูกศิษย์คนสำคัญอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ผ่านบทเพลงก่อนหน้านั้นมีเพลง สาวคนโก้ และ สาวชุมแพ ของขุนพลเพลงเมืองสุพรรณท่านนี้ด้วย

อีสานบ้านเฮา - เทพพร เพชรอุบล

ส่วนเพลง อีสานบ้านของเฮา นั้นครูพงษ์ศักดิ์ประมวลความเป็นภาคอีสาน ทั้งวัฒนธรรมการอยู่การกิน การประกอบอาชีพ เรียกว่าได้บรรยากาศอีสานครบถ้วนสมบูรณ์เลยทีเดียว เมื่อบวกกับเสียงร้องโทนสนุกสนานรื่นเริง ของ เทพพร เพชรอุบล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เพลงนี้มีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จากเพลง “อีสานบ้านของเฮา” สำทับความเป็นอีสานตามมาด้วยเพลง ลำนำอีสาน

ลำน้ำอีสาน - มนต์แคน แก่นคูณ

นอกจากนี้ยังมีเพลงดังข้ามยุคสมัยเป็นอมตะไม่ว่าจะเป็นเพลง รอรักใต้ต้นกระโดน ของ ดาว บ้านดอน ด่วน บขส., แคร์ด้วยหรือน้อง, ดอกอ้อริมโขง, อดีตรักทุ่งอีสาน ของ สนธิ สมมาตร รักร้าวหนาวลม ของ บรรจบ เจริญพร ร้องแก้กับ ผ่องศรี วรนุช, เพลง รักลาอย่าเศร้า, คำหมอบอก ของ พรสวรรค์ ลูกพรหม ดวงใจคนจน, หนาวเดือนห้าแล้งเดือนหก ให้กับ รังษี บริสุทธิ์ ฯลฯ

การสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานการประพันธ์เพลงที่ได้รับความนิยมระดับชาติ หลายเพลง เช่น สาละวันลำวง สาวชุมแพ ตะวันรอนที่หนองหาน รักร้าวหนาวรม ทุ่งรัก สาวอุบลรอรัก อีสานบ้านเฮา รอรักที่ต้นกระโดน ด่วน บ.ข.ส. ดอกจานบาน ฯลฯ ซึ่งเพลงเหล่านี้ได้สร้างนักร้องโด่งดังในระดับประเทศ เช่น ไพรวัลย์ ลูกเพชร ศรคีรี ศรีประจวบ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เทพพร เพชรอุบล สนธิ สมมาตร ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น

ชีวิตครอบครัว

สมรสกับ นางจิตประไพ จันทรุกขา มีบุตร-ธิดา รวม 7 คน

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

  • รางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น "กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย" จากเพลง "สาละวันรำวง" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • รางวัลสุพรรณหงส์ ภาพยนตร์ดีเด่นด้านส่งเสริมเยาวชนเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" และผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพลงศิลปินดอกหญ้า
  • รางวัลผู้สร้างสรรค์ดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (การประพันธ์เพลง) จากสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงศึกษาธิการ
  • ปราชญ์เมืองอุบล จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
  • ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี (การแต่งเพลง) จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
  • ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น "ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง)" ประจำปีพุทธศักราช 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ประพันธ์เพลง) พ.ศ. 2557
  • รางวัลเพชรในเพลง จากเพลง "อีสานบ้านเฮา" พ.ศ. 2558

กลับบ้านเกิด

แม้จะมีชัวิตโลดแล่นในวงการดนตรีและภาพยนตร์อยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้กลับบ้านเกิดบ้างหลายครั้งทั้งในฐานะลูกที่มาเยี่ยมบ้าน มาในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนสตร์กับภาพยนตร์บางเรื่อง แต่ชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเมืองกรุงเป็นหลัก จนช่วงปลายวัยหกสิบจึงได้กลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด อำเภอศรีเมืองใหม่ ด้วยความที่เป็นคนลูกทุ่ง คนในวงการเพลง มองเห็นแววและโอกาสของลูกหลาน จึงไดทำโครงการ "ประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมัธยมศึกษา" ขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ที่โรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร โดยการนำนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอทุกอำเภอภายในจังหวัดมาประกวดแข่งขัน

pongsak 04
ต่าย อรทัย นักร้องผู้แจ้งเกิดจากเวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมัธยมศึกษาของครูพงษ์ศักดิ์

เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นปีที่ นางสาวอรทัย ดาบคำ นักเรียนจากโรงเรียนนาจะหลาย คว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งปีนั้นครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงมือทองเป็นกรรมการตัดสินด้วย ได้ส่งเสริมให้ อรทัย ดาบคำ ได้เป็นนักร้องลูกทุ่งสาวดาวค้างฟ้าในชื่อ "ต่าย อรทัย" แห่งค่ายแกรมมี่ โกลด์ ถ้าย้อนไปในปีก่อนหน้า ปี 2539 คนที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวบุปผา บุญมี จากโรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร ซึ่งเรารู้จักกันในเวลาต่อมาคือ "ดอกอ้อ ทุ่งทอง" นั่นเอง

pongsak 10

เมื่อกลับมาบ้านเกิด ได้รับที่มรดกจากพ่อ-แม่ 2 ไร่ และที่มรดกของน้องๆ อีก 2 คนจำนวน 4 ไร่ ที่มอบให้พี่ชายจัดการดูแล ที่เมื่อก่อนเป็นสวนมะม่วงหิมพานต์ ก็ถูกจัดการให้มีความร่มรื่นน่าอยู่ จนกลายมาเป็น "ลานบ้าน ลานธรรม" พื้นที่สัปปายะเพื่อการปฏิบัติธรรมของผู้คน โดยเฉพาะนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่

pongsak 05
ขอบคุณภาพจาก มติชนออนไลน์

"ปราชญ์แห่งอีสาน" ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เข้าโรงพยาบาลหลังมีอาการเหนื่อยหอบ ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา เจ้าตัวกำลังใจดี จรดปากกาเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต "หอมดอกผักกะแญง" ระบุไม่ใช่แค่หนังสือประวัติ-ผลงาน แต่เป็นคู่มือที่ให้คนนำมาใช้ได้จริง

pongsak 09
ขอบคุณภาพจาก คมชัดลึกออนไลน์

"ขอบคุณหมอและพยาบาลที่ดูแลรักษาอาการป่วยให้ครูเป็นอย่างดี ทำให้มีกำลังใจมาก ซึ่งรู้สึกดีขึ้นบ้าง ครูเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ "หอมดอกผักกะแญง" ซึ่งเป็นการเขียนหนังสือครั้งแรกในชีวิตครู หนังสือเล่มนี้ครูรวบรวมผลงานทั้งหมดอย่างละเอียด ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงอัตชีวประวัติของนักแต่งเพลงคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นคู่มือที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ และดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 1,000 เล่มเท่านั้น ราคาเล่มละ 295 บาท โดยวางจำหน่ายไปได้บ้างแล้ว ที่ร้านซีเอ็ดบุ๊ค มารับไปวางจำหน่ายให้แล้ว ก็อยากจะฝากหนังสือเล่มนี้ไว้ให้คนทั่วไปได้งานและศึกษา" คำกล่าวบอกมายังแฟนเพลงจากปากของครูพงศักดิ์ จันทรุกขา

pongsak 08
ขอบคุณภาพจาก star-album

ประตูสู่อีสานขอร่วมอาลัยครูเพลง

ขอไว้อาลัยแด่ "ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง - ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ.2557 เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ขณะมีอายุได้ 79 ปีด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (ถุงลมโป่งพอง) ซึ่งญาติได้พาเข้ารับการรักษาหลังมีอาการเหนื่อยหอบ ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา จนมาเสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลา 18.45 น.ของวันที่ 1 กันยายน 2558

และได้มีการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ ณ วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ที่่ 7 กันยายน 2558 เวลา 16.00 น. 

ประวัติคุณพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ในวันพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดเลียบ อุบลราชธานี

ติดตามความเคลื่อนไหว : ลานบ้าน ลานธรรม

redline

backled1