foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kan header

kan 7แคน

แคน คือ เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ที่มาจากภูมิปัญญาที่บรรพชนชาวอีสานสั่งสมสืบต่อกันมา เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานต่างๆ ที่บันทึกเกี่ยวกับแคนไว้มากมาย อาทิ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี นิทาน ตำนาน วรรณกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ แคนเป็นเครื่องเป่า มีลิ้นโลหะ ทำจากไม้ไผ่ขนาดต่างๆ เรียงประกอบไล่ตามขนาดความยาวกันเข้าเป็นตัวแคน มีเต้าแคนสำหรับเป่า รูปทรงขนาดมือจับอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยลูกแคนสำหรับให้เสียงและเต้าแคนสำหรับเป่า นิยมเล่นกับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น พิณ โปงลาง โหวด กลอง ประกอบการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานโดยเฉพาะหมอลำ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรง ผิวสัมผัส และสีของไม้ไผ่ ให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ที่เครื่องดนตรีประเภทอื่นทำไม่ได้ คือ การผสมเสียงจากท่อเสียงแต่ละท่อ โดยอาศัยขั้นคู่เสียงธรรมชาติ อีกทั้งยังมีมาตราเสียง และกลุ่มเสียงเป็นเครื่องยืนยันอัตลักษณ์

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แคนผูกพัน และเชื่อมโยงกับ ประเพณีของอีสาน ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการสั่งสมภูมิปัญญาเชิงดุริยศิลป์ ที่สะท้อนความสนุกสนานของชาวอีสาน

ประวัติความเป็นมาของแคน

คน เป็นชื่อเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ แคน เป็น เครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป่าให้เป็นเพลง ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้ แต่ก็มีประวัติที่เล่า เป็นนิยายปรัมปราสืบต่อกันมา ดังต่อไปนี้

หญิงหม้ายผู้คิดประดิษฐ์ทำแคน

าลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพรานคนหนึ่งได้ไปเที่ยวล่าเนื้อในป่า เขาได้ยินเสียงนกกรวิก (นกการเวก) ร้องไพเราะจับใจมาก เมื่อกลับมาจากป่าถึงบ้าน จึงได้เล่าเรื่องที่ตัวเองไปได้ยินเสียง นกกรวิกร้องด้วยเสียงไพเราะนั้นให้แก่ชาวบ้านเพื่อนฝูงฟัง ในจำนวนผู้ที่มาฟังเรื่องดังกล่าวนี้ มีหญิงหม้ายคนหนึ่ง เกิดความกระหายใคร่อยากจะฟังเสียงร้องของนกกรวิกยิ่งนัก จึงได้พูดขอร้องให้นายพรานล่าเนื้อ อนุญาตให้ตนติดตามไปในป่าด้วย เพื่อจะได้ฟังเสียงร้องของนก ตามที่นายพรานได้เล่าให้ฟังในวันต่อมา

kan 2ครั้นเมื่อนายพรานล่าเนื้อได้พาหญิงหม้ายดั้นด้นไปถึงในป่า จนถึงถิ่นที่ นกกรวิก และนกเหล่านั้นก็กำลังส่งเสียงร้องตามปกติวิสัยของมันอยู่ นายพรานก็ได้กล่าวเตือน หญิงหม้าย ให้เงี่ยหูฟังว่า

"นกกรวิกกำลังร้องเพลงอยู่ สูเจ้าจงฟังเอาเถอะ เสียงมันออนซอนแท้ แม่นบ่"

หญิงหม้ายผู้นั้น ได้ตั้งใจฟังด้วยความเพลิดเพลิน และติดอกติดใจในเสียงอันไพเราะ ของนกนั้นเป็นยิ่งนัก ถึงกับคลั่งไคล้ใหลหลง รำพึงอยู่ในใจตนเองว่า

"เฮ็ดจั่งได๋นอ จั่งสิได้ฟังเสียงอันไพเราะ ม่วนชื่น จับใจอย่างนี้ตลอดไป ครั้นสิคอยเฝ้า ฟังเสียงนกในถิ่นของมัน ก็เป็นแดนดงแสนกันดาร อาหารก็หายาก หมากไม้ก็บ่มี" จึงได้คิดตัดสิน แน่วแน่ในใจตนเองว่า

"เฮาสิต้องคิดทำเครื่องบังเกิดเสียง ให้มีเสียงเสนาะ ไพเราะออนซอนจับใจ ดุจดังเสียง นกกรวิกนี้ให้จงได้"

เมื่อหญิงหม้ายกลับมาถึงบ้าน ก็ได้คิดอ่านทำเครื่องดนตรีต่างๆ ทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่า หลายๆ อย่าง ก็ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใด มีเสียงไพเราะวิเวกหวานเหมือนเสียงนกกรวิก ในที่สุดนางได้ไปตัดไม้ไผ่น้อยชนิดหนึ่ง เอามาประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง แล้วลองเป่าดูก็รูสึก ค่อนข้างไพเราะ จึงได้พยายามดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้ง หลายครา จนกระทั่งเกิดเป็นเสียง และ ท่วงทำนองอันไพเราะเหมือนเสียงนกกรวิก

จนในที่สุด เมื่อได้แก้ไขครั้งสุดท้ายแล้วลองเป่าก็รู้สึก ไพเราะออนซอนดีแท้ จึงคิดที่จะไปทูลเกล้าถวาย พระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ทรงทราบ ก่อนที่จะได้เข้าเฝ้า นางก็ได้เพียรพยายามปรับปรุงแก้ไขเสียงดนตรีของนางให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังได้ฝึกหัดเป่าเป็นท่วงทำนองต่างๆ จนมีความชำนาญเป็นอย่างดี

ครั้นถึงกำหนดวันเข้าเฝ้า นางก็ได้เป่าดนตรีจากเครื่องมือที่นางได้คิดประดิษฐ์ขึ้นนี้ถวาย เมื่อเพลงแรกจบลง นางจึงได้ทูลถามว่า "เป็นจั๋งได๋ ม่วนบ่ ข้าน้อย"

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสตอบว่า "เออ พอฟังอยู่"

นางจึงได้เป่าถวายซ้ำอีกหลายเพลง ตามท่วงทำนองเลียนเสียงนกกรวิกนั้น เมื่อจบถึง เพลงสุดท้าย พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงตรัสว่า "เทื่อนี่ แคนแด่" (ครั้งนี้ ดีขึ้นหน่อย)

หญิงหม้าย เจ้าของเครื่องดนตรี จึงทูลถามว่า "เครื่องดนตรีอันนี่ ควรสิเอิ้นว่าจั่งได๋ ข้าน้อย" (เครื่องดนตรีนี้ ควรจะเรียกว่าอย่างไร พระเจ้าข้า)

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงตรัสว่า "สูจงเอิ้นดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำเว้าของเฮา อันท้ายนี้ สืบไปเมื่อหน้าเทอญ" (เจ้าจงเรียกดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำพูดของเราตอนท้ายนี้ ต่อไปภายหน้าเถิด)

ด้วยเหตุนี้ เครื่องดนตรีที่หญิงหม้ายประดิษฐ์ขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่น้อยมาติดกันใช้ปากเป่า จึงได้ชื่อว่า "แคน" มาตราบเท่าทุกวันนี้

สารคดีก(ล)างเมือง - แคน

นี่เป็นเพียงนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน

kanบางท่านก็สันนิษฐานว่า คำว่า "แคน" คงจะเรียกตามเสียงเครื่องดนตรีที่ดังออกมาว่า "แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน" ซึ่งเป็นเสียงที่ดังออกมาจากการเป่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่ บางคนก็มีความเห็นว่า คำว่า "แคน" คงเรียกตามไม้ที่ใช้ทำเต้าแคน กล่าวคือ ไม้ที่นำมาเจาะใช้ ทำเต้าแคนรวมเสียงจากไม้ไผ่น้อยหลายๆ ลำนั้น เขานิยมใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาค อีสานเรียกว่า "ไม้แคน" แต่บางท่านก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป

แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าคิดอยู่บ้างคือ "แคน" นี้น่าจะทำขึ้นโดยผู้หญิง ซ้ำยังเป็น "หญิงหม้าย" เสียด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า ส่วนประกอบที่ใช้ทำแคนอันสำคัญคือส่วนที่ใช้ปากเป่า ยังเรียกว่า "เต้า แคน" และมีลักษณะรูปร่างเป็นกระเปาะคล้าย "เต้านม" ของสตรีอีกด้วย ทั้งการเป่าแคนก็ใช้วิธี เป่าและดูด จนสามารถทำให้เกิดเสียงอันไพเราะ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกข้อคือ คำที่เป็นลักษณะนามเรียกชื่อ และจำนวนของแคนก็ใช้คำว่า "เต้า" แทนคำว่า อัน หรือ ชิ้น ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น ที่สำคัญคือ เสียงของแคนเป็นเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน ซาบซึ้งเหมือนเสียงนกการเวก ตาม นิทานเรื่องดังกล่าว เหมือนเสียงของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดาย ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า "หญิงหม้าย" เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำแคนขึ้นเป็นคนแรก จึงเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังได้มากพอสมควรทีเดียว

ลักษณะของแคนมีสองชนิด คือ แคนน้อย (ยาวศอก คืบ ยาวสองศอก ยาวสองศอกคืบ) และแคนใหญ่ (ยาวสามศอก ยาวสามศอกคืบ สี่ศอก สี่ศอกคืบ) ที่เคยใช้ในปัจจุบัน แต่ที่เคยมี ยาวถึงหกศอก แคนสองขนาดนี้แบ่งเป็นสองอย่าง คือ แคนเจ็ด และแคนแปด แคนเจ็ดนั้นมีลูกเจ็คู่ ส่วนแคนแปดนั้นมีลูกแปดคู่

kan7kan8

แคนเจ็ด                                                                     แคนแปด

ส่วนแคนของเผ่าลาวลุ่มนั้นมีหกคู่ และแคนของเผ่าลาวสูงมีแค่สามคู่เท่านั้น และใช้ท่อต่อเต้าสำหรับการเป่าตามธรรมดา

kanlao
แคนลาวสูง     ลาวลุ่ม      ลาวเทิง

"แคน" ทำด้วยไม้อ้อ หรือไม้เหี้ยน้อย แต่เดี๋ยวนี้ไม้อ้อหาได้ยาก เขาจึงทำแคนด้วยไม้เหี้ยน้อย และจะต้องหาให้ได้ขนาดเท่านิ้วมือจึงจะใช้ได้ นอกจากไม้เหี้ยน้อย ซึ่งทำเป็นลูกแคนยาวลดหลั่นกันตามลำดับ 7 คู่ หรือ 8 คู่ ประกอบเข้ากันกับเต้า ติดสูด (ขี้สูด ชันโรง) ข้างบนและข้างล่างเต้า เพื่อไม่ให้ลมเป่าเข้าสูบออกรั่ว แล้วยังมี ลิ้นแคน รูแพว และรูนับเสียงเป็นสิ่งสำคัญด้วย ข้างในของแต่ละลำไม้ลูกแคนประกอบด้วยลิ้นแคนหนึ่งอันที่มีหนึ่งเสียง และจะต้องเจาะรูแพวให้ถูกตามเสียงเสมอ วิธีเป่าแคนลาวลุ่มก็เหมือนกับการเป่าแคนลาวเทิง หรือ ลาวสูง คือจะต้องใช้อุ้งมือทั้งสองข้าง อุ้มเต้าแคนไว้แล้ว เป่าหรือดูดสูบลมที่รูเต้า ส่วนนิ้วมือก็นับไล่ตามเสียงไปด้วย

"กู่แคน School" ขทเพลงโฟล์คซองอีสาน

ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน


อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

wote

โหวด เดิมเป็นของเล่นของคนอีสาน ใช้แกว่งเล่นเหมือน "สนู" ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นเครื่องดนตรีของวงดนตรีพื้นเมือง ประเภทเครื่องเป่า สามารถเป่าหรือแกว่งให้เกิดเสียงดังได้

kan wodewote 02
เครื่องดนตรีจากไม้ไผ่ แคน และ โหวด                                  โหวด

โหวด เป็นชื่อเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ทำด้วยไม้ไผ่ (ชนิดหนึ่ง) แบบเดียวกับขลุ่ยแต่ประกอบด้วย ขลุ่ยต่างชนิดหลายเลาติดอยู่รอบแกน แต่ละเลาให้ระดับเสียงเพียง 1 ระดับ เวลาเป่าหรือแกว่งจะมีเสียงดัง "โหวดๆ" หรือ "หวูดๆ"

ประวัติความเป็นมาของโหวด

เดิมโหวดเป็นของเล่นของเด็กเลี้ยงควาย ชาวภาคอีสานทั่วๆ ไป ใช้เล่นในช่วงปลายฤดูฝนก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ใช้เล่น 3 กรณี คือ

  1. เป่าเล่นเพื่อประโลมใจขณะขี่หลังควายหรือพาควายเล็มหญ้าตามทุ่งนา
  2. ใช้แกว่งและเหวี่ยงเพื่อฟังเสียง ด้วยการต่อหางโหวดให้ยาว แล้วเอาบ่วง 2 หัว ที่เรียกว่า "ตอง" คล้องหัวและหางโหวด แล้วแกว่งรอบศรีษะด้วยความเร็วสูง เสียงปะทะรูโหวดทุกลูกพร้อมๆ กัน จะเกิดเสียงดังว่า "ลาวๆ" หรือ "แงวๆ" ฟังแล้วชวนเพลิดเพลิน ชาวไทยลาวภาคอีสานเรียกการแกว่งโหวด เช่นนี้ว่า "การแงวโหวด"
  3. การโยนเล่นเป็นกีฬา กล่าวคือ เมื่อแกว่งโหวดฟังเสียงพอใจแล้วก็ปล่อยหางบ่วง ทำให้โหวดลอยโด่งขึ้นไปในอากาศ จนเกิดเสียงดัง "โหวดๆ" หรือ "โหว่ๆ" เรียกว่า การทิ้มโหวด (ถิ้ม-ทิ้ม)

โหวดเสียงสวรรค์จากลำไผ่

คนโบราณมีความเชื่อว่า โหวด เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ตามนิยายปรัมปราที่เล่าขานกันมา โหวดคนอีสานโบราณเชื่อกันว่า เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ฝนหยุดตก ในที่นี้หมายถึงพระยาแถน ผู้ซึ่งประทานน้ำฝนให้ตกในเมืองมนุษย์ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ความเสียหายกับผลิตผลได้ จึงเป็นผลให้ไม่เป็นที่นิยมเล่นโหวดในฤดูฝน (เพราะกลัวฝนแล้ง)

 songsak pratoomsil
นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ หมอโหวดคนสำคัญ เป็นผู้คิดเอาโหวดประสมกับวงแคน ซุง และโปงลาง

wote 04การพัฒนาเป็นเครื่องดนตรี

การนำโหวดมาปรับปรุงใช้เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำขึ้นครั้งแรกโดยชาวอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด มี นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นหมอโหวดคนสำคัญ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) ปี พ.ศ. 2562) เป็นผู้คิดเอาโหวดประสมกับวงแคนและซุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2516 เรียกวงดนตรีชนิดนั้นว่า "วงโหวดเสียงทองหนองพอก" ต่อมาปี พ.ศ. 2517 จึงนำวงโปงลางเข้ามาประสมด้วย อันเป็นสาเหตุให้ต้องปรับปรุงมาตราเสียงของโหวดให้ตรงกับมาตราเสียงของโปงลาง คือมีระดับเสียงจากต่ำไปสูง จนแพร่หลายไปทั่วประเทศ และต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

woteการทำโหวด

การเรียนเป็นช่างทำโหวด จะเรียนรู้จากผู้รู้ โดยหลักการส่วนใหญ่ๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ความแม่นยำในการฟังระดับเสียง และคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อพัฒนาให้ทันสมัย

วัสดุที่ใช้ในการทำโหวด

ประกอบด้วยไม้ไผ่เฮี้ยหรือไม้ไผ่รวก และขี้สูด (รังของแมลงจำพวกแมงน้อย แมงน้อยนี้ชอบทำรังตามจอมปลวกหรือตามโพรงไม้ รังของมันมีน้ำหวานปั้นเอาน้ำหวานออก เรียก ขี้สูดแมงน้อย แมงน้อยไม่มีเหล็กไน ต่อยคนไม่เป็น)

อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำโหวด

ได้แก่ มีดอีโต้ (สำหรับตัดลำไม้ไผ่) มีดตอก (สำหรับเจียน ตกแต่ง) ไม้สำหรับปรับระดับเสียง และน้ำมันก๊าด (สำหรับล้างทำความสะอาด)

ขั้นตอนในการทำโหวด

  1. นำไม้ไผ่เฮี้ยที่เลือกสรรแล้ว มาตัดเรียงความยาวลดหลั่นกันตามลำดับ
  2. ตัดแต่งลูกโหวดแต่ละลูก โดยตัดเฉียงเป็นมุม 45 องศา อุดรูลูกโหวดด้วยขี้สูดแล้วปรับระดับเสียง
  3. นำไม้รวกมาตัดแต่งทำเป็นแกนโหวด โดยเลือกไม้ไผ่ให้มีขนาดใหญ่หรือเล็กตามขนาดของลูกโหวด
  4. นำลูกโหวดมาแปะติดกับแกนโหวด โดยใช้ขี้สูดเป็นตัวยึดโดยรอบ
  5. นำขี้สูดอีกส่วนหนึ่งติดที่หัวของโหวด ตกแต่งให้เรียบนูนสวยงาม และตกแต่งรูลูกโหวดให้เป่าง่ายไม่เปลืองลม

ขั้นตอนการทำโหวด

ขนาดของโหวด

wote 03ขนาดของโหวดแต่ดั้งเดิมนั้นนิยมทำกันอยู่ 3 ขนาด คือ 1) ขนาดเล็ก มีลูกโหวด 3-7 ลูก 2) โหวดกลาง มีลูกโหวด 9 ลูก 3) โหวดใหญ่ มีลูกโหวด 11-13 ลูก

ความยาวของลูกโหวดในแต่ละลูกนั้นจะสั้นยาวแตกต่างกัน ลูกที่ยาวที่สุดประมาณ 25 เซนติเมตร ลูกต่อมายาวลดหลั่นกันลงมา จนถึงลูกที่สั้นที่สุด ประมาณ 6 เซนติเมตร คนโบราณเรียกลูกโหวดลูกที่ยาวที่สุดว่า "ลูกโอ้" ลูกที่เหลือไม่ปรากฎชื่อ ในปัจจุบันจะเรียกชื่อลูกโหวดตามระดับเสียงโน้ตสากล คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที

โหวดพื้นเมืองมี 5 บันไดเสียง คือ โด เร ฟา ซอล ลา แต่ในปัจจุบันมีการปรับระดับเสียงให้ครบทั้ง 7 เสียง เพื่อให้สามารถนำไปบรรเลงประกอบวงดนตรีสากลได้ ทางดนตรีหรือลายโหวดประกอบการแสดงส่วนมากเป็นลายที่แต่งขึ้นใหม่ โดยอาศัยทำนองจากลายแคน จากทำนองหมอลำ จากทำนองสรภัญญะบ้าง

ประเภทของโหวด

โหวดมี 3 ประเภท คือ

  1. โหวดกลม ใช้เป่าเป็นเครื่องดนตรีประกอบวงดนตรีพื้นเมืองอีสานนิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน
  2. โหวดแกว่ง ลักษณะเหมือนโหวดกลม แต่ต่างกันตรงที่ติดหางยาวไว้สำหรับแกว่งให้เกิดเสียง
  3. โหวดแผง ใช้เป่าเหมือนโหวดกลม แต่ได้ดัดแปลงการติดตั้งลูกดหวดจากการติดรอบแกน มาเป็นการติดกันเป็นแผงเหมือนกับแคนแต่เป็นแถวเดี่ยวแถวเดียว

wote 05
โหวดแผง และวิธีการเป่า

 สอนการเป่าโหวด

สอนการเป่าโหวด ลายเต้ยโขง โดย อ.สิงห์เฒ่า ศราวุธ ทุ่งขี้เหล็ก

redline

backled1

pong lang

โปงลาง

โปงลาง มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือหมากโปงลาง เป็นต้น โปงลางเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ประกอบด้วยไม้ตัดเป็นท่อน เจาะรูร้อยเรียงกันจำนวน 13 ท่อน ทำให้เกิดเป็นเสียงสำหรับเล่นดนตรีได้เกือบทุกเสียงตามมาตรฐานดนตรีสากล ใช้แขวนตีกับเสาบ้าง ขึงบนรางบ้าง หรือบางทีก็ผุกกับตัวผู้บรรเลง ถือกันว่า กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งที่เริ่มการเล่นโปงลางเป็นแห่งแรก ต่อมาได้รับการสร้างสรรค์และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักจนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันนอกจากจะใช้บรรเลงโดยลำพังแล้วยังบรรเลงรวมวงกับเครื่องดนตรีอื่นๆ รวมถึงประกอบการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานด้วยการฟ้อนท่วงทำนองหลากหลาย

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นเครื่องดนตรีที่ให้ท่วงทำนองสนุกสนานเร้าใจ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แสดงถึงความสนุกสนาน และการใช้เป็นสัญญลักษณ์บอกเหตุลางดีและลางร้าย

pong lang 01

โปงลาง มีลักษณะวิธีการบรรเลงคล้ายกับระนาดเอก คือนำท่อนไม้ หรือกระบอกไม้มาร้อยติดกันเป็นผืน และใช้ไม้ตีเป็นทำนองเพลง แขวนตี กับเสาบ้าง ขึงบนรางบ้าง หรือบางทีก็ผูกติดกับตัวผู้บรรเลง เครื่องดนตรีชนิดนี้พบทั่วไปในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยพบในแถบภาคอีสาน และเรียกเครื่องดนตรีนี้หลายชื่อด้วยกัน เช่นเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือหมากโปงลาง เป็นต้น ที่ได้ชื่อว่า หมากขอลอ เพราะเวลาเคาะแต่ละลูกมีเสียงดังกังวานคล้าย ขอลอ (หมายถึง เกราะ ในภาษาอีสาน)

pong lang2ส่วนคำว่า โปงลาง นั้น เดิมเป็นคำที่ใช้เรียก กระดึงสำริด ที่ใช้แขวนคอวัวในสมัยโบราณที่เรียกกระดึงนี้ว่า "โปงลาง" คงเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ต่อมามีผู้นำชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อ ลายแคน (การบรรเลงแคน) ที่เป่าเลียนเสียงโปงลางที่ผูกคอวัวเรียกว่า ลายโปงลาง และที่เรียกว่า "หมากกลิ้งกล่อม" ก็เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะ สามารถกล่อมให้ผู้ฟังมีความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลิน

โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับขา หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระนาดในปัจจุบัน ที่มีเจ็ดเสียง

pluang 02และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียง และคุณภาพเสียงที่ต้องการ การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลง โดยการสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" หรือเพลง "ลายกาเต้นก้อน" เป็นต้น

โปงลางนั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น พิณ แคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลัง อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ประยุกต์วงโปงลางขึ้นใหม่ โดยนำกระดึงผูกคอวัวที่เป็นโลหะมาแขวนเรียงแทนลูกโปงลางเดิมที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดมิติของเสียงที่แตกต่างจากการบรรเลงโปงลางแบบเดิม นับเป็นต้นแบบของ การพัฒนาโปงลางในระยะต่อมา เช่น การทำลูกโปงลางด้วยแผ่นทองเหลืองขนาดต่างๆ รวมถึงการนำเอาไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดลดหลั่นกัน ทำให้ได้เสียงที่ทุ้มและนุ่มนวลขึ้น

ต้นกำเนิดโปงลาง

pong langโปงลาง บางแห่งเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากเตอะเติน เป็นเครื่องดนตรีที่พัฒนามาจาก "เกราะลอ" หรือ ขอลอ คำว่า "โปงลาง" นี้ ใช้เรียกดนตรีชนิดหนึ่ง ที่มีการเล่นแพร่หลายทางภาคอีสานตอนกลางและตอนเหนือบางส่วน โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเล่นแพร่หลายมาก เพราะเป็นที่กำเนิดโปงลาง ความหมายของโปงลางนั้นมาจากคำ 2 คำ คือ คำว่า "โปง" และ "ลาง"

โปง เป็นสิ่งที่ใช้ตีบอกเหตุ เช่น ตีในยามวิกาลแสดงว่ามีเหตุร้าย ตีตอนเช้าก่อนพระบิณฑบาตให้ญาติโยมเตรียมตัวทำบุญตักบาตร และตีเวลาเย็นเพื่อประโยชน์ให้คนหลงป่ากลับมาถูก เพราะเสียงโปงลางจะดังกังวาลไปไกล (สมัยก่อนใช้ตีในวัด) ส่วนคำว่า ลาง นั้น หมายถึง ลางดี ลางร้าย

โปงลางนั้นก่อนที่จะเรียกว่า โปงลาง มีชื่อเรียกว่า "เกราะลอ" ซึ่ง เกราะลอ มีประวัติโดยย่อคือ ท้าวพรหมโคตร ซึ่งเคยอยู่ประเทศลาวมาก่อนเป็นผู้ที่คิดทำเกราะลอขึ้น โดยเลียนแบบ "เกราะ" ที่ใช้ตีตามหมู่บ้านในสมัยนั้น เกราะลอทำด้วยไม้หมากเลื่อม (ไม้เนื้ออ่อน สีขาว มีเสียงกังวาล) ใช้เถาวัลย์มัดร้อยเรียงกัน ใช้ตีไล่ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่ ในนา ต่อมาท้าวพรหมโคตร ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกลางเหมือน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ถ่ายทอดการตีเกราะลอให้แก่นายปาน นายปานได้เปลี่ยนเกราะลอ จากเดิมมี 6 ลูก เป็น 9 ลูก มี 5 เสียง คือ เสียง โด เร มี ซอล และ ลา

เมื่อนายปานเสียชีวิต นายขานน้องนายปานได้รับการถ่ายทอดการตีเกราะลอ และนายขานนี่เองที่เป็นคนถ่ายทอด การตีเกราะลอให้กับศิลปินแห่งชาติผู้พัฒนาโปงลางให้เป็นเครื่องดนตรีที่ใครๆ ก็รู้จัก นายเปลื้อง ฉายรัศมี

เนื่องจากเกราะลอใช้สำหรับตีไล่ ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่นา ดังนั้น จึงมีเกราะลออยู่ในทุกโรงนา (อีสานเรียกว่า เถียงนา) เมื่อเสร็จจากภาระกิจในนาแล้ว ชาวนาจะพักผ่อนในโรงนาและใช้เกราะลอเป็นเครื่องตี เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเกราะลอนี้จะตีนอกหมู่บ้านเท่านั้น เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าตีในหมู่บ้านจะเกิดเหตุการไม่ดี เช่น ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น

การเรียนการตีเกราะลอในสมัยก่อน เป็นการเลียนแบบ คือเป็นการเรียนที่ต้องอาศัยการจำ โดยการจำทำนองของแต่ละลาย เกราะลอที่มี 9 ลูกนี้จะเล่นได้ 2 ลายคือ ลายอ่านสือใหญ่ (อ่านหนังสือใหญ่) และลายสุดสะแนน (เช่นเดียวกับลายแคนและลายพิณ ดังนั้นเมื่อนำมาเล่นผสมผสานกันจึงได้อรรถรสยิ่งนัก)

pluang 01ปี พ.ศ 2490 นายเปลื้อง ได้เรียนวิธีทำเกราะลอ และการตีเกราะลอ จากนายขาน ลายที่ตีคือ ลายภูไทใหญ่ หรืออ่านหนังสือใหญ่ นอกจากนั้น นายเปลื้อง ยังเป็นคนที่นำเกราะลอมาตีในหมู่บ้านเป็นคนแรก ในปีแรกนั้นการตีเกราะลอไม่เพราะหูคนฟังเท่าไรนัก 2 ปีต่อมาการตีเกราะลอของนายเปลื้องจึงดีขึ้น จนชาวบ้านพากันนิยมว่าตีได้ดี

ปี พ.ศ 2500 นายเปลื้อง ได้วิวัฒนาการ การทำเกราะลอ จากแต่ก่อนหน้านี้ที่โปงลางทำด้วยไม้หมากเลื่อม มาเป็นไม้หมากหาด (มะหาด, หาด) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง เวลาตีแล้วไม่บวมง่าย โดยเฉพาะไม้ที่ตายยืนต้น เสียงจะกังวาล ที่เอาไม้หมากหาดมาทำโปงลางนี้ นายเปลื้องได้รับแนวคิดจากพระที่วัด ที่นำไม้นี้มาทำโปงที่ตีบอกเหตุ หรือตีให้สัญญาณดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ต่อมานายเปลื้อง ได้คิดทำเกราะลอ เพิ่มลูกจาก 9 ลูกมาเป็น 12 ลูก เมื่อทำเสร็จลองตีดูเห็นว่าเสียงเพราะมาก

ดังนั้นในปี พ.ศ 2502 นายเปลื้อง จึงเพิ่มลูกเกราะลอจาก 12 ลูกมาเป็น 13 ลูก และเพิ่มเสียงจาก 5 เสียงเป็น 6 เสียงคือ เสียง โด เร มี ฟา ซอล และลา (ส่วนเสียง ซี นั้น ดนตรีพื้นเมืองของอีสานจะไม่ปรากฏเสียงนี้ จึงไม่เพิ่มเสียงนี้ไว้) และได้คิดลายใหม่ๆ เพิ่มเป็น 5 ลาย คือ ลายอ่านหนังสือใหญ่ ลายอ่านหนังสือน้อย ลายสุดสะแนน ลายสร้อย และได้เปลี่ยนชื่อ "เกราะลอมา" เป็น "โปงลาง" ซึ่งเรียกชื่อดนตรีชนิดนี้ว่า โปงลาง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ 2505 นายเปลื้องซึ่งสนใจและศึกษาโปงลาง หรือ เกราะลอเดิม มาตั้งแต่อายุ 14 ปี ตั้งแต่การเล่นนอกหมู่บ้านและนำมาเล่นในหมู่บ้าน และเคยรับงานแสดงในเทศกาลต่างๆ แต่การเล่นมักจะเป็นการเล่นเดี่ยวเท่านั้น นายเปลื้องจึงได้เกิดแนวความคิดว่า ดนตรีอีสานมีหลายอย่างด้วยกัน หากนำมาบรรเลงร่วมกันคงจะมีความไพเราะและเร้าใจมากขึ้น จึงได้รวมเพื่อนๆ ตั้งวงโปงลางขึ้น โดยนำเอา ซอ พิณ แคน กลอง หมากกั๊บแก้บ ไห มาร่วมกันบรรเลง และได้รับความสนใจจากผู้ที่ได้รับชมเป็นอันมาก

ปี พ.ศ 2511 นายเปลื้อง ได้พบกับนายประชุม อินทรตูล ซึ่งเป็นป่าไม้อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายประชุมให้การสนับสนุน และตั้งวงโปงลางขึ้นใหม่ ชื่อว่า วงโปงลางกาฬสินธุ์ นอกจากจะมีเครื่องดนตรีและเครื่องประกอบจังหวะแล้ว ยังมีรำประกอบอีกด้วย รำในขณะนั้นก็มีรำโปงลาง รำซวยมือ รำภูไท เป็นต้น วงโปงลางกาฬสินธุ์ได้รับความนิยมตลอดมา และได้มีการอัดเทปขายให้กับผู้สนใจด้วย

เนื่องจากนายเปลื้อง ได้เปลี่ยนและย้ายไปทำงานหลายแห่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นายเปลื้องทำงานในที่ต่างๆ ก็จะเผยแพร่และฝึกสอนโปงลาง และดนตรีพื้นบ้านอีสานแก่ผู้สนใจ และตั้งวงโปงลางให้แก่ที่ที่ทำงานนั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะวงโปงลางกาฬสินธุ์นั้น นายเปลื้องได้ควบคุม ดูแล ฝึกสอนและพัฒนาตลอดมา จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้อย่างแพร่หลาย จนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง ได้มีโอกาสแสดง ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ขอนแก่น แสดงงานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

pong lang3นอกจากจะได้แสดงเผยแพร่ทางสื่อมวลชนสาขาต่างๆ แล้ว วงโปงลางกาฬสินธุ์ ยังได้มีโอกาสไปแสดงที่สวนจิตรลดา วังละโว้ วังสราญรมย์ สวนอัมพร และตามจังหวัดสำคัญใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เมืองโบราณสมุทรปราการ โดยก่อนหน้านั้น นายเปลื้องยังได้มีโอกาสนำโปงลางไปบรรเลง เพื่อเป็นการต้อนรับ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในโอกาสที่ท่านเดินทางมาเยี่ยมค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนมอีกด้วย

ถึงแม้ว่า โปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่นายเปลื้องได้พัฒนาขึ้นมานี้ จะมีอายุไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานชนิดอื่น เช่น แคน พิณ ซอ เป็นต้น แต่เนื่องจากโปงลาง เป็นดนตรีที่มีเสียงไพเราะ กังวาล และให้ความรู้สึกของความเป็นพื้นบ้านอีสานได้อย่างแท้จริง

จึงทำให้โปงลางได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ได้รับเลือกเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่อง "แคนลำโขง" และ "แผ่นดินแม่" ซึ่งนายเปลื้องได้ลงมือบรรเลงโปงลาง ดนตรีที่ตนเองพัฒนามาประกอบภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ด้วยตนเอง

เนื่องจาก "โปงลาง" ได้รับความนิยมสูงมาก ดังนั้นทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 โดยรายการ ชีพจรลงเท้า ได้ติดต่อนายเปลื้อง เพื่อสัมภาษณ์สาธิตวิธีทำและการเล่น ให้ได้ออกอากาศเผยแพร่ไปทั่วประเทศ

นอกจากจะเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในประเทศไทยเราแล้ว เมื่อปี พ.ศ 2516 นายเปลื้อง ฉายรัศมี โดยการนำของ ร้อยโทวิรัตน์ พงษ์สวัสดิ์ ได้เดินทางไปในลักษณะการท่องเที่ยว แต่ได้นำศิลปะวัฒนธรรมไปแสดงด้วย ซึ่งในครั้งนี้ นายเปลื้อง ได้มีโอกาสนำ โปงลาง ไปแสดงที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อิหร่านและกรีซ ซึ่งทำให้ "โปงลาง" ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น และสามารถใช้เป็นสื่อทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นยังมีชาวสวิสและชาวอเมริกัน ได้ฟัง "โปงลาง" แล้วสนใจ และได้นำไปยังประเทศของตนอีกด้วย

นอกจากจะทำหน้าที่สอนดนตรีพื้นบ้านอีสานแก่ นักเรียนนาฎศิลป์ ของ วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์แล้ว นายเปลื้องยังได้ร่วมมือกับ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการอนุรักษ์ เผยแพร่ และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของอีสานอีกทางหนึ่งด้วย โดยจัดการอบรมและฝึกสอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน จัดการประกวดโปงลาง จัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจร เป็นต้น นอกจากนั้นด้วยความร่วมมือของท่านผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ได้ตั้งวงโปงลางของวิทยาลัยขึ้น ได้มีโอกาสเผยแพร่ไปในต่างจังหวัด เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และยังมีโอกาสไปแสดง ณ. ประเทศอินเดียด้วย

pong lang4

ปัจจุบันนี้ นายเปลื้องได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่วิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์ ทำหน้าที่สอนดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้แก่ พิณ ซอ แคน โปงลาง โหวด และอื่นๆ แก่นักเรียนนาฎศิลป์ พร้อมทั้งควบคุมวงโปงลางของวิทยาลัยนาฎศิลป์กาฬสินธุ์

นายเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นนักดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความสามารถพิเศษ สามารถเล่นและสอนดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เกือบทุกชนิด ทั้ง พิณ แคน ซอ โปงลาง และอื่นๆ โดยเฉพาะโปงลางนั้น สามารถถ่ายทอดและเล่นได้ดีเป็นพิเศษ

เดี่ยวโปงลาง กาเต้นก้อน - ครูเปลื้อง ฉายรัศมี

และที่สำคัญที่สุดคือ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้เป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุง และพัฒนาโปงลางตลอดระยะเวลา 40 ปี จนทำให้เกราะลอซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ใช้ตีไล่นกกาตามไร่ ตามนา พัฒนาเป็น "โปงลาง" ที่มีสภาพเป็นเครื่องดนตรี เอกลักษณ์ของภาคอีสานเคียงคู่กับแคน ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว นายเปลื้อง ฉายรัศมี จึงควรแก่การยกย่องเชิดชูไว้ในฐานะเป็น "ศิลปินแห่งชาติ" สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2529 โดยแท้จริง

วิธีทำโปงลาง

ไม้ที่ใช้ทำโปงลางนั้นส่วนมากจะไม้เนื้อแข็ง เพราะจะให้เสียงที่ไพเราะและกังวาล ไม้ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ไม้หมากหาด (มะหาด) ใช้ทำลูกโปงลาง ไม้ประดู่ใช้ทำไม้ตีและขาตั้ง ไม้มะหาดนั้นจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด โดยจะแบ่งตามเกรด ดังนี้

  1. ไม้มะหาดทองคำ จัดอยู่ในเกรด A
  2. ไม้มะหาดดำ จัดอยู่ในเกรด B
  3. ไม้มะหาดน้ำผึ้ง จัดอยู่ในเกรด C

การเลือกไม้

การเลือกไม้ที่จะนำมาใช้ทำโปงลางนั้น จะต้องเป็นไม้มะหาดที่ตายแล้วประมาณ 20 ปีขึ้นไป เพราะจะให้เสียงที่ดี กังวาน และไม่ผิดเพี้ยนหลังจากการผลิต ส่วนไม้มะหาดที่ยังสดอยู่นั้น จะไม่ใช้เพราะจะทำให้เสียงเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และเสียงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อไม้แห้งลง

วิธีทำลูกโปงลาง

ไม้ที่ตัดมาจากต้นจะตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 65 เซนติเมตร ท่อนหนึ่งจะผ่าแบ่งเป็นลูกโปงลางได้ 4-8 ลูก แล้วแต่ขนาดของท่อนไม้ ถ้าเป็นวิธีทำสมัยโบราณไม่มีเครื่องทุ่นแรงใดๆ เมื่อนำมีดมาถากไม้พอกลม ก็นำมาใช้ได้เลย ต่อมาได้นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้คือ กบมือ จึงได้นำกบมือมาไสไม้ที่ทำโปงลางให้มีความกลมและสวยงามมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน

ใช้มีดถากให้กลมพอประมาณ และขั้นตอนต่อไป นำไปเข้าเครื่องกลึงเพื่อความสวยงาม ละเอียด และกลมมากขึ้น เมื่อกลึงเสร็จแล้ววัดและตัดขยาดความยาว ลูกแรกยาว 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์ 7 เซนติเมตร ลูกต่อมาลดลงตามส่วน ห่างกันลูกละ 1 เซนติเมตร ลูกสุดท้ายยาว 29 เซนติเมตร

ขั้นตอนต่อไป นำไม้มาวัดหัวท้ายข้างละ 12 เซนติเมตร และลดลงตามส่วน ลูกล่างสุดวัดได้ 6 เซนติเมตร ในแต่ละข้าง เรียงไม้ให้สม่ำเสมอกัน แล้วนำมีดมาถากให้มีลักษณะเว้าทั้ง 2 ข้าง ของลูกโปงลาง แล้วนำมาแต่งเสียงโดยวิธีการตัดไม้ออก และเทียบเสียงให้เข้ากับ โปงลางต้นแบบ ขั้นตอนสุดท้าย เจาะรู โดยวัดเข้ามาวิธีเดียวกันกับการถากลูกโปงลางให้เว้า

 อีสานสังคีต - การทำโปงลาง ตอนที่ 1

อีสานสังคีต - การทำโปงลาง ตอนที่ 2

การเทียบเสียง

เสียงโปงลางถ้าใช้กับวงพื้นบ้านอีสานทั่วไป จะใช้ แคน เป็นหลักในการบันทึกเสียง แต่ถ้าจะใช้บรรเลงกับวงดนตรีสากล จะต้องใช้ คีย์บอร์ด, อิเล็คโทนในการเทียบเสียง หรือไม่ก็ใช้เครื่องเทียบเสียงสากล ในการเทียบเสียงลูกโปงลางในแต่ละลูก เสียงที่ได้มาจะเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้เป็นอย่างดี

 อีสานสังคีต - การทำโปงลาง ตอนที่ 3


อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

pin 01

การขึ้นสาย/ตั้งสายพิณ

การขึ้นสายพิณ หรือการตั้งสายพิณ หรือการตั้งเสียงพิณ นั้นจะพบว่ามีความแตกต่างกันตามลักษณะของพิณว่า มีกี่สาย และใช้เล่นเพลงแบบใด พบว่ามีอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้

  1. แถบอีสานกลาง ในแถบบริเวณจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ จะใช้พิณแบบ 2-3 สาย โดยมีการตั้งสายดังนี้

lai pin 3sai

สายที่ 1 สายล่างเสียง ม (E) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายบนเสียง ม (E)
  1. แบบโบราณดั้งเดิม จะใช้พิณแบบ 2 สายหรือ 3 สาย จะมีการตั้งสายและเฟรตไม่ค่อยแน่นอน แล้วแต่ลายเพลงที่เล่น โดยมีการตั้งสายดังนี้

lai pin boran

สายที่ 1 สายล่างเสียง ม (E) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายบนเสียง ล (A)
  1. แบบ 2 สายทางอุบลราชธานี จะใช้พิณแบบ 2 สายหรือ 3 สาย จะมีการตั้งสายครั้งเดียว นิยมเล่นกับขบวนแห่ หมอลำเพลิน หมอลำหมู่ ดนตรี หมอลำซิ่ง โดยมีการตั้งสายดังนี้

lai pin 2sai

สายที่ 1 สายล่างเสียง ร (D) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A)
  1. แบบพิณ 4 สาย พิณชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นโดยลูกหลานเมืองอุบลราชธานี นายคณาวิจก์ โถตะบุตร เมื่อปี 2524 ซึ่งสามารถเล่นได้หลายระดับเสียง รวมทั้งเล่นคอร์ดได้คล้ายกับกีตาร์ จึงสามารถเล่นร่วมกับเพลงลูกทุ่ง หมอลำ หรือเพลงสากลอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้กีตาร์ มีการตั้งสายดังนี้

lai pin 4sai

สายที่ 1 สายล่างเสียง ร (D) สายที่ 2 สายกลางเสียง ล (A) สายที่ 3 สายกลางบนเสียง ม (E) สายที่ 4 สายบนเสียง ล (A)

ซึ่งการตั้งสายพิณแบบ 4 สายนี้จะทำให้ได้เสียงที่ตรงกับเสียงเครื่องดนตรีสากล สามารถร่วมบรรเลงไปด้วยกันได้ มีเสียงครบตั้งแต่ โด (ด = C), เร (ร = D), มี (ม = E), ฟา (ฟ = F), ซอล (ซ = G), ลา (ล = A), ที (ท = B) และยังมีครึ่งเสียงทั้งสูงกว่าเสียงเดิม ชาร์ฟ (#) และที่มีเสียงต่ำกว่าเสียงเดิมครึ่งเสียง แฟท (b)

หลักการเล่นพิณ

  1. จับที่ดีด (หรือปิ๊ก) ตามถนัด แล้วฝึกดีดขึ้นลงในแต่ละสายให้คล่องโดยการสลัดข้อมืออย่างสม่ำเสมอ (ควบคุมจังหวะในการดีดให้สม่ำเสมอ)
  2. เมื่อดีดคล่องแล้วให้ใช้นิ้วกดสายลงบนเฟรตที่ดีดให้ตรงกับสายที่ดีด
  3. ฝึกไล่ลำดับเสียงตามตัวโน๊ตและตามชนิดของพิณ (ต้องทราบว่าพิณที่เราใช้ตั้งสายแบบใด)
  4. รายละเอียดลูกเล่นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือฝึกจากการฟังเสียงจากต้นฉบับต่างๆ ให้แม่นยำ
  5. ถ้าเป็นพิณไฟฟ้า สามารถต่อเข้ากับเครื่องปรับแต่งเสียง (Effect) ได้เหมือนกับกีตาร์ ให้ทดลองปรับแต่งเพื่อหาเอกลักษณ์ตามที่ต้องการ

รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน มือพิณถิ่นอีสาน #2

ตัวอย่างลายพิณ (โน๊ต) เพื่อการฝึกฝน

ตัวอย่างลายพิณเหล่านี้ใช้สำหรับการฝึกฝน เมื่อมีความชำนาญอาจจะปรับปรุงระดับเสียงใส่ลูกเล่นเข้าไปได้อีกมากมาย

ลายนกไส่บินข้ามทุ่ง
* / ม ซ ล ล ด ซ ล / ม ซ ล ล ด ซ ล / ด ร ม ม ซ ร ม / ด ร ม ม ซ ร ม / ม ซ ล ล ด ซ ล /
ม ซ ล ล ด ซ ล / ม ร ด ล ด ซ ล / ม ร ด ล ด ซ ล / ล ซ ม ม ซ ร ม / ล ซ ม ม ซ ร ม /
ด ม ร ด ล ซ ล / ด ร ม ร ด ล ซ ล / (ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายแมลงภู่ตอมดอกไม้
(เกริ่น) ด . . . . ./ ร . . . . ./ ม . . . . ./
*/ ล ล ล / ล ม / ม ซ ม / ร ม ซ ม / ล ล ล / ล ร / ด ร ม ร ด / ล ด ล ม / ม ซ ม /
ร ม ซ ม / ล ด ล ร / ด ร ม ด ร / ล ซ ม / ซ ร ม ด / ร ซ ร ม / ซ ม / ล ซ ม / ซ ร ม ด /
ร ซ ม / ซ ม / ล ซ ม / ซ ล ซ ล / ด ร ด ล ซ ล / ล ซ ม / ซ ล ซ ล / ด ร ด ล ซ ล/
ด ร ม ร ม / ซ ล ซ ม ร ม / ด ร ม ร ม / ซ ล ซ ม ร ม / ล ด ร / ม ร ด ร / ด ร ม ร ด ร /
ด ล ด ร ด ร / ด ร ม ร ด ร / ล ซ ม / ซ ร ม ด / ร ซ ร ม ซ ม / ล ซ ม / ซ ร ม ด /
ร ซ ร ม ซ ม / ล ด ร / ด ล ด / ร ซ ร ม ซ ม / ล ด ร / ด ล ด / ร ซ ร ม ซ ม / (กลับไปซ้ำ *)
(ท่อนจบ) ล ม / ร ซ / ร ม ล ด / ล ม ซ ร / ด ร ม ซ / ล . . . . / (ช้า)

 

ลายเต้ยโขง
* / ล ซ ม ล / ซ ด ล ซ ล ม / ล ซ ม ล / ซ ด ม ล / ซ ด ล ซ ม ล / ซ ม ร ด ม / ร ซ ม ร ด ล /
ด ร ม / ร ด ซ ล / ด ร ม / ร ด ซ ล / (ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายเต้ยพม่า
* / ล ท / ล ซ ล ซ / ล ซ ท ล / ซ ร ม / ล ท / ล ซ ล ซ / ล ซ ท ล / ซ ร ม / ม ซ ล ซ / ม ร /
ด ร ล ด / ร ม ร ด / ล ด ร ม / ซ ล ซ ม / ซ ร ร / ล ร / ล ท / ล ซ ล ล / ร ด ท ล /
ล ซ ล ล / ร ด ท ล / (ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายโปงลาง
* / ม ซ ล ซ ล / ล ด ล ซ ล / ด ร ม ร ม / ล ซ ม ร ม / ม ซ ล ซ ล / ร ด ล ซ ล / ซ ม ล ซ ม /
ด ร ซ ม ร ม / ซ ม ล ซ ม / ด ร ซ ร ม / ม ร ด ล ซ ล / ด ร ม ร ด ล ซ ล / (ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายเซิ้งบั้งไฟ
* / ล ด ล ด ล ด ล / ล ด ล ด ล ด ล / ล ด ล ด ร ด ล / ร ด ร ด ร ด ล / ร ด ร ด ร ด ล /
ม ร ม ร ม ด ร / ม ร ม ร ม ด ร / ม ร ม ล ด ร ม ร ม / ม ร ม ล ด ร ม ร ม / ม ร ม ด ม ร ล ด /
ม ร ม ด ม ร ล ด / ด ม ร ด ม ร ด ล ล / ด ม ร ด ม ร ด ล ล / ม ร ม ด ม ร ด ล ด / ม ร ม ด ม ร ด ล ด /
(ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายลำเต้ย
* / ล ด ร ม ด / ม ด ม ร ล ด / ล ซ ล ด ร ม / ล ม ซ ล ซ ม ซ / ร ล ด ร ม ซ /
ด ร ม ซ ร ม ด / ซ ม ร ซ ร ม ด / ซ ม ร ด ล ซ / ซ ม ร ด ร ม ซ ล / (ซ้ำ * 5 รอบ)

 

ลายศรีโคตรบูรณ์
* / ด ล ด / ร ม ซ ม / ล ม ซ ด / ร ม ซ ม / ด ล ด / ร ม ซ ม / ล ม ซ ม / ร ม ซ ล /
ด ล ซ ม ล / ด ล ซ ม ล /ร ด ล / ซ ม ล / ด ล ซ ม ล / ด ล ซ ม ล / ด ซ ด ล / ซ ม ร ม /
ด ร ม / ซ ร ม / ด ร ม / ซ ร ม / ด ร ม / ร ล ด / ม ร ด ล / ม ร ด ร / ด ร ม ร ด ร /
ด ล ด ร ด ร / ม ซ ม / ร ด ท ล / ม ร ด ท ล / ม ร ด ท ล / ท ล ร / ล ด ท ล / ท ล ซ ล /
ท ล / ร ล ท ล / ซ ล ท ล / ท ล ซ ล ท ล / (ซ้ำ * 3 รอบ)

การฝึกฝนการเล่นพิณนั้นคงต้องอาศัยทักษะเช่นเดียวกับดนตรีชนิดอื่นๆ คือฝึกให้สามารถจดจำทำนอง (ลาย) พิณให้ได้ จึงจะสามารถสอดแทรกใส่ลูกเล่นต่างๆ ลงไปในลายให้เกิดความไพเราะ สนุกสนาน

ทำนอง (ลาย) ข้างบนนั้น นอกจากใช้เล่นกับพิณแล้ว ยังใช้กับการเป่าแคน โปงลาง ได้ด้วย ผู้ที่ชำนาญในการเล่น จะสามารถดัดแปลงใส่เสียงประสาน ทำให้เล่นร่วมกันเกิดความไพเราะ ยิ่งขึ้นได้

 

"ลำเพลินโบราณ แบบอีสานบ้านเฮา" บรรเลงพิณ : พ่อทองใส ทับถนน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)