foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kantruem header

"กันตรึม" เป็นรูปแบบของการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน ของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เป็นดนตรีที่ใช้ประกอบการร่ายรำพื้นเมือง ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีอันเป็นเอกลักษ์คือ ซอ ปี่ สก๊วล (กลองโทนกันตรึม) และใช้คำร้องเป็นภาษาเขมร โดยในยุคหลังๆ จะมีเครื่องดนตรีอีเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เข้ามาประสมด้วย เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด และกลองชุด บ้างก็ใช้คำร้องเป็นภาษาอีสานเข้าผสมด้วย เพื่อสื่อให้เข้าถึงผู้ฟังในถิ่นอื่นๆ กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ในแถบอีสานใต้

นักร้อง นักดนตรี แนวกันตรึมที่มีชื่อเสียง เช่น เฉลิมพล มาลาคำ, คง มีชัย (หรือ ร็อคคงคย), ดาร์กี้ กันตรึมร็อค, น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์, เจน สายใจ เป็นต้น

ตามประวัติแต่โบราณนั้นใช้สำหรับการขับร้องประกอบการร่ายรำ บวงสรวง รำคู่ และรำหมู่ ต่อมามีวิวัฒนาการของการเล่น คล้ายกับการเล่นเพลงปฏิพากย์ในภาคกลาง เป็นดนตรีพื้นบ้านทีมีโทน (สก๊วล หรือกลอง) ที่เรียกว่า “กลองกันตรึม” เป็นหลัก เมื่อตีเสียงโทนจะออกเป็นเสียง "โจ๊ะ-คะครึม-ครึม" จึงเรียกดนตรีนี้ว่า กันตรึม หรือ โจ๊ะกันตรึม การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน เล่นได้ทุกโอกาส ไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล กล่าวกันว่า ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า 100 ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ แข่งขันปฏิภาณถาม-ตอบปัญหา สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ

kantruem 01

กันตรึม เป็นการละเล่นที่มีดนตรีประกอบเป็นตัวนำคำร้อง ถือว่าดนตรีประกอบมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุด ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ส่วนคำร้องเป็นของชาวเขมรสูง (ในทีนี้หมายถึงในสามจังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ส่วนชาวเขมรในกัมพูชาจะเรียกว่า เขมรต่ำ) จากการสืบประวัติการเล่นกันตรึมไม่ค่อยได้รายละเอียดมากนัก ทราบแต่เพียงว่า การเล่นแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดมาแต่ขอม แต่เดิมการเล่นใช้ สำหรับประกอบการบวงสรวง เวลามีการทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรม ก็ใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงกันเป็นพื้นบ้าน ซึ่งต่างกันในจังหวะ ลีลา จะแตกต่างกันไปตามพิธีแต่ละงาน กล่าวคือ งานแต่งงานก็บรรเลงอย่างหนึ่ง งานศพอย่างหนึ่ง และเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน แต่ถ้าเป็นงานศพก็มักจะใช้ปี่อ้อ (แป็ยออ) มาบรรเลง แต่ถ้าเป็นงานแต่งงานมักใช้ปี่เตรียงหรือ ปี่เญ็นแทนปี่อ้อ เป็นต้น

รายการที่นี่บ้านเรา ThaiPBS : จังหวะกันตรึม

ปัจจุบัน "กันตรึม" มีการสืบทอดแบบมุขปาฐะ (Oral Tradition) ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้ปัจจุบันหลงเหลืออยู่น้อย ใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้านแบบรุ่นสู่รุ่น คือ เมื่อผู้เล่นกันตรึมคณะเดิมชราภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ ก็จะถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจเพื่อสานต่อกันไป ปัจจุบันคณะกันตรึมบางคณะที่ยังเล่นอยู่ก็มีแบบการรำที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกันตรึมไม่เน้นทางด้านการรำ แต่จะเน้นที่ความไพเราะของเสียงของผู้ร้อง และความสนุกสนานของท่วงทำนองเพลงกันตรึมที่มีหลากหลายมากกว่า กอร์ปกับมีรูปแบบใหม่ที่นำเอาเครื่องดนตรีตะวันตกในรูปแบบสตริงมาผสม เรียกใหม่ว่า "กันตรึมร็อค" มีรูปแบบบรรเลงเพลงอย่างลูกทุ่ง มีหางเครื่องนุ่งน้อยห่มน้อยมาเสริม ก็ยิ่งทำให้ "กันตรึม" ต้นฉบับดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไปเพราะขาดความสนุกสนาน

ในประเทศกัมพูชาไม่พบว่ามี วงดนตรีกันตรึม แต่มีวงดนตรีที่บรรเลงอย่างใกล้เคียงกับกันตรึม เรียกว่า เพลงอาเรียะ หรือเพลงอารักษ์ (ចម្រៀង អារ៉ាក់ or Phleng Arak) ในพิธีเลี้ยงผีและแก้บน เป็นการเข้าทรงรุกขเทวดาประจำหมู่บ้าน การนี้จะมีวงดนตรีประกอบเรียกอย่างชาวบ้านว่า อารักษ์ มีท่วงทำนองคล้ายกับกันตรึมมาก แต่เครื่องดนตรีที่ใช้ต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่จะมีลักษณะง่ายๆ น้อยชิ้น เช่น ปี่สไล ซอ กับกลอง เป็นหลัก ปัจจุบันพบว่ายังมีการเล่นอยู่ในเขตนอกเมืองเสียมเรียบ

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นกันตรึม ดั้งเดืมมีเครื่องดนตรีหลักอยู่ 3 ชนิด คือ ปีอ้อ ตรัว (ซอ) และสก๊วล (กลอง) โดยในการบรรเลงนั้น ปี่อ้อจะทำหน้าที่ประธาน เป็นหลักในการเทียบเสียงและบรรเลง มีตรัว (ซอ) ทำหน้าที่เดินทำนอง และสก๊วล (โทน) คุมจังหวะ ไม่มีฉิ่งและฉาบเล็ก ที่ถูกนำมาช่วยกำกับจังหวะในภายหลัง ยุคปัจจุบันวงกันตรึมส่วนใหญ่จะใช้เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลองกันตรึม (สก็วล) 2 ลูก ซอ (ตรัวเอก) 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง กรับ และฉาบ อย่างละ 1 คู่ แต่ถ้ามีเครื่องดนตรีไม่ครบก็อาจจะอนุโลมใช้เครื่องดนตรีเพียง 4 อย่าง คือ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอ 1 คัน ฉิ่ง และฉาบ อย่างละ 1 คู่ ในปัจจุบัน วงกันตรึมบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ เช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลิน เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยนิยมของผู้ชม

kantruem 02

การแต่งกายและการเล่น

การแต่งกายทั้งของนักดนตรีและนักร้องชายหญิง ของวงดนตรีพื้นบ้านแบบกันตึมนั้น ไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน จะแตกต่างตามความสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชม เช่น ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นไหมพื้นเมือง (ซำป๊วด) ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองขึ้นชื่อ เช่น ผ้าโฮล ผ้าอัมปรม ผ้าสาคู เสื้อแขนกระบอก จะมีผ้าสไบเฉียงห่มทับก็ได้หรือไม่มีก็ได้ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น สวมเครื่องประดับเงิน ที่เรียกว่า ปะเกือม (ปะคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อยหรือต่างหู มีผ้าไหมคาดเอว และมีผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ทั้งสองข้าง โดยชายผ้าทั้งสองจะห้อยอยู่ทางด้านหลังทั้งสองชาย

ส่วนการแต่งกายตามสมัยนิยมปัจจุบัน ทั้งชายและหญิงจะแต่งชุดสากลหรือชุดสุภาพทั่วไป โดยผู้ชายสวมกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว ผูกเนคไท สวมร้องเท้าถุงเท้าครบชุด ผู้หญิงสวมชุดติดกัน หรือชุดคนละท่อน เสื้อตัวหนึ่ง กระโปรงตัวหนึ่ง คาดเข็มขัด กระโปรงยาวครึ่งน่อง สวมรองเท้าส้นสูง ทั้งนี้การแต่งกายนักดนตรีและนักร้องหญิงชายไม่มีแบบแผนเป็นกฎเกณฑ์ นิยมแต่งตามสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชทในยุคสมัยนั้นๆ

เวทีการแสดง

การเล่นดนตรีพื้นบ้านกันตรึม แต่เดิมไม่มีเวที เจ้าภาพในงานจะจัดให้มีที่นั่งให้วงกันตรึมบรรเลงบนบ้าน หรือหาที่บนศาลา โดยมีแขกห้อมล้อมฟังอยู่รอบๆ ข้าง แต่ในสมัยต่อมามีการปลูกโรงเรือน หรือยกเวทีสูง ไม่มีฝาปล่อยโล่งทั้ง 4 ด้าน ผู้ชมจะสามารถดูได้รอบเวที นักดนตรีนั่งเป็นวงที่พื้นเวทีค่อนไปทางด้านหลัง นักร้องจะยืนอยู่ด้านหน้า หรือด้านข้างวง ร้องและรำประกอบทำนอง สลับกันชาย-หญิงเป็นคู่ๆ หรือชายหนึ่งคนร้องโต้ตอบกับนักร้องหญิงสองคน แล้วแต่เนื้อและทำนองที่นักดนตรีสีซอขึ้นทำนองเพลง

kantruem 04

หากเป็นการบรรเลงประกอบการแสดงบนเวที จะมีที่นั่งบนตั่งหรือเก้าอี้ตามแต่เจ้าภาพจะจัดหาให้ อยู่ตรงกลางหรือด้านข้างเวทีตามความเหมาะสมสวยงาม ครั้นในยุคปัจจุบันนี้ มีการใช้ระบบไฟ แสง เสียงสี สวยงาม ก็จะมีเวทีเฉพาะให้แสดงได้สะดวก ยกเวทีขึ้นสูงให้มองเห็นในระยะไกลได้ แยกส่วนนักดนตรี นักร้อง และผู้รำ (หางเครื่องประกอบ) เป็นสัดส่วน เน้นให้ผู้ชมชมการแสดงทางด้านหน้าเวทีเป็นหลัก

การเล่นกันตรึม ใช้ผู้เล่นประมาณ 6-8 คน ผู้ร้องเป็นชายและหญิง อาจจะมี 1-2 คู่ หรือชาย 1 คน หญิง 2-3 คน แต่โดยทั่วไปนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน การเล่นกันตรึมจะเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งในโอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และลอยกระทง เป็นต้น หรืองานอวมงคล เช่น งานศพ นอกจากนี้ยังใช้เล่นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน

วิธีการเล่นกันตรึม

วงกันตรึมจะเล่นที่ไหน ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งผู้ดูและผู้เล่น เมื่อไหว้ครูเสร็จก็จะเริ่มบรรเลงเพลง เป็นการโหมโรงเพื่อปลุกใจให้ผู้ดูรู้สึกตื่นเต้น และผู้แสดงก็จะได้เตรียมตัว จากนั้นจะเริ่มแสดง โดยเริ่มบทไหว้ครูตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิม วิธีการร้องจะขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง มีการรำประกอบการร้อง ไม่ต้องใช้ลูกคู่ช่วยร้องรับบทเพลง

บทเพลงกันตรึมไม่มีเนื้อร้องเป็นการเฉพาะ แต่มักคิดคำกลอนให้เหมาะสมกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จดจำสืบต่อกันมามีประมาณ 200 กว่าทำนองเพลง ไม่มีใครสามารถจดจำได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการจดจำบอกต่อๆ กันมาเท่านั้น

kantruem 03

การแบ่งประเภทบทเพลงกันตรึม

  1. บทเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู จัดเป็นเพลงที่มีความไพเราะ แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ รำลึกถึงครูอาจารย์ เป็นเพลงสูงชั้นครูใช้บรรเลงนำก่อนบทเพลงอื่นๆ อันมีท่วงทำนองส่วนใหญ่เป็นทำนองที่ช้า โหยหวนใช้เป็นเพลงเริ่มฝึกหัด ได้แก่ สวายจุมเวือด แซร็ยประเซอร แซร็ยสะเตือร ละลืย ร่ำเป็อย–จองได มโหรี เป็นต้น
  2. บทเพลงสำหรับขบวนแห่ ใช้บรรเลงในขบวนแห่จต่างๆ เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองจังหวะที่สนุกสนาน ครึกครื้น มีการฟ้อนรำประกอบการขับร้อง มีหลายทำนอง ใช้ในงานมงคล มีความเร็วปานกลาง ได้แก่ ซมโปงเซาะทม รำพาย ตร็อบตุม อันซองซเนญนบ กะเปือมเปง ปรีอีเกิด เกาะกรอก ออกยุม พนมซรุจ (ซร็วจ)  เป็นต้น
  3. บทเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ เป็นบทเพลงที่มีทำนองจังหวะลีลารวดเร็ว เร่งเร้า ให้ความสนุกสนาน มักใช้บรรเลงบนเวทีการแสดง ใช้เป็นบทขับร้องในโอกาสทั่วๆ ไป เช่น เกี้ยวพาราสี สั่งสอน สู่ขวัญ และรำพึงรำพัน เป็นต้น ทำนองเพลงจะมีหลายทำนอง เช่น จองนารี กัญจัญเจก ตำแร็ยยูลได นอรแกล คเมาแม (เขมาแม) อมตูก กัจปกาซาปาดาน กันเตรยโมเวยงูดตึก กะโน้ปติงต้อง และมลบโดง ฯลณ กลุ่มอายัย เช่น อาไยลำแบ อาไยพิมพวง อาไยสาระยัง อาไยกลาย อาไยจ๊ะ
  4. บทเพลงประยุกต์ (ปัจจุบันเป็นการแสดง) ใช้ประกอบการละเล่นทั่วๆ ไป เช่น เรือม (รำ) กระโน้บติงตอง ใช้เพลงกระโน้บติงตอง (ที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ลีลาท่าทางเลียนแบบท่าของตั๊กแตน) เรือมอายัย ใช้เพลงแซร็ยสะเตือร เพลียง ปันแซร กาบเป มลบโดง อันซองชแนญนบ ตำแร็ยยูลได แล้วจบด้วยเพลง กัตปกา และซาปดาน หรือพิธีบายศรี ใช้เพลง มงก็วลจองได ใช้ประกอบการละเล่นเรือนกันตรึม รวมทั้งเป็นบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ เข้ามาประยุกต์เป็นทำนองเพลงกันตรึม เช่น ดิสโก้กันตรึม สัญญาประยุกต์ และเตียแขมประยุกต์ เป็นต้น

 รายการพันแสงรุ้ง ตอน กันตรึม ดนตรีแห่งชีวิต

กันตรึมประยุกต์ร่วมสมัย

วงดนตรีกันตรึม ก็มีวงจรและพัฒนาการเช่นเดียวกับดนตรีพื้นบ้านอื่นๆ ที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้คนยุคใหม่รับได้กับวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ สืบสานให้คงอยู่ได้ด้วยการพัฒนาให้ร่วมสมัยมากขึ้น นำเอาดนตรีกันตรึมไปผสมผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตกเพื่อให้มีจังหวะที่กระชับ เร้าใจ มีกลิ่นอายที่ทันสมัยมากขึ้น ผู้ที่บุกเบิกคนแรกคือ สมชาย คงสุขดี หรือ ดาร์กี้ กันตรึมร็อค ที่มีสายเลือดกันตรึมมาจากพ่อ-แม่ ที่เป็นบรมครูเพลงเจรียงและเพลงกันตรึมของเมืองสุรินทร์ ด้วยการนำเครื่องดนตรีฝรั่ง นำจังหวะเพลงตะวันตกมาใช้ แต่ทำนอง-คำร้องเป็นของกันตรึมทั้งหมด เนื้อหาจะประยุกต์ของดั้งเดิม มีทั้งเนื้อหาที่แต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทำนองจังหวะยังยืนทางเก่าไว้อยู่ จะผสมเครื่องดนตรีฝรั่ง เช่น กลองชุด กีต้าร์ เบส แต่เครื่องดนตรีของเก่าจะขาดไม่ได้เป็นอันขาด คือ “ซอ” และ "ปี่อ้อ" ที่นับวันจะหาคนสืบสานได้ยากแล้ว และผลงานเพลงชุด “เปิดกรุอีสานใต้” เป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จักศิลปินชื่อ "ดาร์กี้" เป็นอย่างดี เพลงชุดนี้ได้ดังระเบิดเถิดเทิงไปทั่วภาคอีสาน อย่างไม่เคยมีกันตรึมประยุกต์คณะใดเคยได้รับมาก่อน และอีกหลายๆ ผลงานเพลงต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน

รายการพันแสงรุ้ง ตอน กันตรึมประยุกษ์

แล้วก็มีคณะอื่นๆ ประยุกต์กันตรึมเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้นติดตามมาอีก เช่น คณะกันตรึมน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ คณะกันตรึมสมานชัย คณะก้องสุรินทร์ คณะกันตรึมยอดรัก โคกนาสาม คณะกันตรึมร็อคคงคย ล้วนเป็นวงกันตรึมยุคหลังที่ได้รับความนิยมมาก เพราะมีจังหวะที่รวดเร็ว สนุกสนาน มีการแสดงที่หลากหลายดึงดูดผู้ชมได้ดี นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มคำร้องจากที่เป็นภาษาเขมร มาเป็นภาษาไทยที่เยาวชนยุคใหม่รับได้รวดเร็วมากกว่า เช่น เพลงเจรียง "ยิ่งยงสอนน้อง" ของ ยิ่งยง ยอดบัวงาม มีนักร้องเพลงกันตรึมที่ได้รับความนิยมไม่เฉพาะในเขตอีสานใต้ แต่โด่งดังไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เอาชนะนักร้องท้องถิ่น และมีชื่อเสียงไปถึงอเมริกา แคนาดา ที่มีคนเขมรอพยพไปอาศัยอยู่ นั่นคือนักร้องหญิงจากจังหวัดสุรินทร์ที่ชื่อ เจน สายใจ

kantruem 05

redline

backled1

kan header

ท่วงทำนองแคน หรือ ลายแคน

ท่วงทำนองของแคนที่ถูกเป่าออกมานั้น ชาวอีสานเรียกว่า ลายแคน ซึ่งก็คือ จังหวะ ทำนองแคน นั่นเอง ลายแคนเป็นการสืบต่อกันมาจากความทรงจำหมอแคนในอดีต ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลายแคนถูกประดิษฐ์ขึ้น จากการเลียนลีลา และท่วงทำนองหรือเสียงจากธรรมชาติ ซึ่งให้ความไพเราะจับใจ

"ลาย" ในความหมายของดนตรีอีสาน หมายถึง สิ่งที่มีมากกว่า 1 ขึ้นไปผสมผสานอยู่ในสิ่งเดียวกัน จะอยู่ในแนวเดียวกันหรือตัดกันก็ได้ เรียกว่า ลาย หรือ ลวดลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ลายที่สามารถสมผัสได้ด้วยตา เช่น ลายของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกิดจากการถักทอจักสาน เช่น ผ้า ตระกร้า กระด้ง ฝาผนังบ้านโบราณ หรือลายที่เกิดจากการวาด เป็น ต้น
  2. ลายที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตาและหู คือลายที่ใช้สำหรับดนตรีอีสาน ดนตรีอีสาน หมายถึง เพลงหรือท่วงทำนองและลีลาการบรรเลงดนตรีอีสาน

morkan 02คำว่าลาย ต่างจาก เพลง คือ

  • เพลง มีความสั้นยาวของวรรคตอนที่ชัดเจน เช่น เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยเดิม มี 1- 4 ท่อน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อบรรเลงครบแล้วจะย้อนจากท่อน 1 หรือท่อนใดก็ได้จนจบเพลง
  • ลาย จะมีความสั้นยาวไม่แน่นอนและอยู่กับความสามารถบวกกับความเชี่ยวชาญของผู้บรรเลง จะยาวสั้นเท่าไหร่ก็ได้

ประวัติและที่มาของลายดนตรี ขึ้นอยู่กับชนิด และความเหมาะสม ในการบรรเลงของเครื่องดนตรีที่ใช้ดำเนินทำนอง ตามความหมายของคำว่าลาย ผู้เชี่ยวชาญการเป่าแคนหรือหมอแคน ยังไม่สามารถแยกคำว่า ลาย และระดับเสียง ออกจากกันได้เนื่องจากมีการปลูกฝังและสืบทอดกันมายาวนาน แต่เท่าที่รับฟังคำบอกเล่าของผู้รู้และหมอแคนพอจะกล่าวได้ว่า

 

ดนตรีอีสานสามารถแยกระดับเสียงได้โดยยึดแคนเป็นหลัก มี 2 กลุ่มระดับเสียง คือ กลุ่มทางยาว และกลุ่มทางสั้น

  • ทางยาว หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองเชื่องช้า เหมาะสำหรับการลำในบทเล่าเรื่อง บทพรรณา บทโศกเศร้า หวนหา
  • ทางสั้น หมายถึง การบรรเลงประกอบการลำที่มีท่วงทำนองกระชับ สนุกสนาน ร่าเริง

แคน มีลายหลักๆ อยู่ 6 ลายโดย แยกตามกลุ่มทางยาวและทางสั้นได้ดังนี้

 

ลายกลุ่มทางยาวมี 3 ระดับ คือลายกลุ่มทางสั้นมี 3 ระดับ คือ
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า ทางใหญ่ หรือ ลายใหญ่
เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ทางน้อย หรือ ลายน้อย
เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ทางเซ หรือ ลายเซ
เสียงต่ำ หมอแคนเรียกว่า สุดสะแนน
เสียงกลาง หมอแคนเรียกว่า ลายโป้ซ้าย (หัวแม่มือซ้าย)
เสียงสูง หมอแคนเรียกว่า ลายสร้อย

การเสวนาวิชาการ “แคน” มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว

ลายแคน

ลายแคน มีดังนี้

      1. ลายสุดสะแนน คำว่า "สะแนน" คงจะเพี้ยนมาจากคำอีสานคำหนึ่งคือ "สายแนน" มีความหมายว่า ต้นตอ หรือสายใย เช่น ถ้าคนเราเคยเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกันหรือผัวเมียกันในอดีต ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นดังอดีตอีก เขาเรียกว่าคนเกิดตามสาย "แนน" เนื่องจาก ลายสุดสะแนน เป็นลายครูของแคน มีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา หมอแคนทราบดีว่าจะต้องเป่าลายสุดสะแนนให้เป็นก่อน จึงจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ ได้

        ดังนั้นคำว่า สุดสะแนน ในเรื่องของลายแคนนี้จึงหมายถึง ความไพเราะจับใจ ใครได้ฟังลายนี้แล้วมักจะคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือต้องใช้คำว่าเกิดความออนซอน ขึ้นมาอย่างที่สุด นั่นก็คือเขาคิดหวนกลับไปถึง สายแนน ดั้งเดิมของเขานั่นเอง

        สะแนน เป็นภาษาอีสาน หมายถึง เตียง (สำหรับผัวเมียนอน) หรือแคร่สำหรับนอนย่างไฟ (ของหญิงเมื่อคลอดบุตร) จึงหมายถึง ความยากลำบาก คนอีสานมักใช้คำนี้ หลังจากที่ผู้หญิงคลอดลูกแล้วอยู่ไฟ คนอีสานเรียกว่า อยู่กรรม ต้องอาบน้ำร้อน กินน้ำร้อน นอนผิงไฟบนไม้กระดานแผ่นเดียว ซึ่งเป็นความยากลำบากของผู้หญิง
         

      2. ลายอ่านหนังสือใหญ่ หรือลายใหญ่ ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปของคนอีสานหมายถึง "ภาษาบาลี" เช่น คนที่จะเป็นมหาเปรียญต้องเรียนหนังสือใหญ่นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์และยุ่งยากต่อการศึกษา จะต้องเรียนกันหลายปี และมีสติปัญญาดี จึงจะเล่าเรียนได้สำเร็จ "ลายอ่านหนังสือใหญ่" เป็นลายแคนที่นิ่มนวล เสียงโหยหวล ทำนองลำยาว แสดงถึงความอบอุ่นมีเมตตา การเป่าลายนี้ผู้เป่าจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษไม่ให้มีเสียงเพี้ยนเลย

        ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสาน ที่มีทั้งความรักและความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู้อย่างมีความหวัง และความเพลิดเพลิน บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความรัก และความผูกพันที่มีต่อความรักของชายหนุ่มหญิงสาว ตลอดทั้งความรักที่มีต่อครอบครัว เครือญาติ และผู้ที่รู้จักมักคุ้นที่อาศัยอยู่ด้วยกันในท้องถิ่นตนเอง และใกล้เคียง

        บางท่วงทำนองบ่งบอกถึงความผูกพัน กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จนสร้างสมให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันในสังคม บางท่วงทำนองบ่งบอกให้เห็นถึงความอดทนต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่รุมเร้าเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต บางเรื่องก็หาวิธีแก้ไขได้ บางเรื่องก็ต่อสู้ไปตามยถากรรม ให้วันเวลาผ่านพ้นไป

        บางท่วงทำนองแสดงถึงการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่จากไปแล้วไม่มีวันกลับ บางท่วงทำนองแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสนุกสนาน เพลิดเพลินอย่างบริสุทธิ์ เสียงแคนลายใหญ่ หรือ ลายอ่านหนังสือพิมพ์ จะทำให้ผู้ฟังนึกถึงภาพคนอีสานกำลังทำงาน เช่น ทำไร่ ทำนา บางครั้งเหงื่อไหลเข้าตา บางครั้งเหงื่อค่อยๆ ไหลผ่านใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยอันเหี่ยวย่น แลดูแก่เกินวัยลงสู่พื้น มองดูแววตาเหน็ดเหนื่อย แต่มุ่งมั่นอดทน เพื่อความหวังและการรอคอย
         

      3. ลายอ่านหนังสือน้อย คล้ายคลึงกับลายอ่านหนังสือใหญ่ แต่มีจังหวะที่เร็วกว่า เสียงไม่ทุ้ม ให้ความไพเราะ ท่วงทำนองไม่สลับซับซ้อนเท่าลายอ่านหนังสือใหญ่

        ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึงการพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่จะมีเนื้อหาน้อยกว่าลายใหญ่ เนื่องจากมีเสียงจำกัด ไม่สามารถดำเนินทำนองได้เต็มรูปแบบเหมือนลายใหญ่
         

      4. ลายเซ เป็นลายที่สามารถเป่า นอกเหนือจากทางใหญ่ ทางน้อยได้ เป็นทางแยกออกมาและบรรเลงได้เช่นกัน ใช้เป่าประกอบลำยาว

        ความหมายทางด้านทำนอง หมายถึง การพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่ไม่สามารถเก็บราย ละเอียดได้เท่าลายน้อยและลายใหญ่ เนื่องจากมีขีดจำกัดของเสียงมากขึ้นอีก
         

      5. ลายแมงภู่ตอมดอก เป็นลายที่ลอกเลียนธรรมชาติได้ดีเป็นพิเศษ คำว่า แมงภู่ ก็คือ แมลงภู่ตัวใหญ่ๆ สีน้ำเงินแก่มองดูจนเขียว เวลาบินตอมดอกไม้มีเสียงดังหึ่งๆ ลักษณะเสียงของแมงภู่จะมีทำนองลีลาช้าๆ ก่อนแล้วเร็วกะชั้นเข้าตามลำดับ ลีลาของเสียงแคนจะฟังได้เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย สมกับเสียงของแมงภู่ตอมดอกไม้จริงๆ
         
      6. ลายโปงลางขึ้นภู ลายแคนนี้ก็เป็นลายดัดแปลงจากธรรมชาติเช่นกัน โปงลางนิยมทำไว้แขนคอวัวต่างๆ ซึ่งนายฮ้อย (พ่อค้า) นิยมเทียมเกวียนเที่ยวไปขายของในที่ต่างๆ เวลาวัวเดินข้ามภูเขา จะมีเสียงขึ้นๆ ลงๆ เป็นทำนอง เพราะวัวแต่ละตัวแขวนโปงลางขนาดที่แตกต่างกัน วัสดุมีความหนาบางต่างกัน เสียงประสานกันของโปงลางจากวัวแต่ละตัวผสมเข้ากับเสียงกีบวัวกระทบก้อนกรวด ก้อนหิน รวมทั้งเสียงออดแอดของล้อเกวียน ฟังแล้ววิเวกวังเวงชวนให้คิดถึงบ้านที่จากมาเป็นที่สุด หมอแคนจะดัดแปลงเลียนเสียงเหล่านี้ขึ้นเป็นลายแคน เรียกกันว่า ลายโปงลางขึ้นภู นั่นเอง
         
      7. ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายแคนนี้เป็นเสียงพิลาปรำพันของหญิงหม้ายที่ว้าเหว้เดียวดายของนาง สะท้อนออกมาในการกล่อมลูกในเปล นางรำพันถึงความหลังและประชดประชันในชีวิตที่ถูกสามีทอดทิ้งไป หมอแคนถอดเอาความรู้สึกนี้มาสู่ลายแคนได้อย่างน่าฟัง เป็นลายเอกอีกลายหนึ่งที่มีคนรู้จักมากหลาย
        "...นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม     นอนอู่แก้วสาแล้วแม่ซิกวย
        แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว           สิไปหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง
        ลุงและป้าอาวอาเพิ่นบ่เบิ่ง                           เพิ่นก็เพิ่งบ่ได้เฮือนใกล้เพิ่นก็ซัง"

        การประกวดเดี่ยวแคน งานไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่น

      8. ลายลมพัดไผ่ เป็นลายแคนที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติอีกลายหนึ่ง ต้นไผ่ในอีสานมีมากมาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่หน่อถึงลำต้น เวลาลมพัดมาแต่ละครั้ง กิ่งไผ่จะลู่ไปตามลมเสียดสีกันดังออดแอด กอร์ปกับลักษณะการหล่นหลุดของใบไผ่จากต้นที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากใบเล็กเรียวแหลม เมื่อตกลงยังพื้นดินจะเกิดการหมุนเหมือนกังหัน เมื่อตกลงมาพร้อมๆ กันจำนวนมากจะมีความสวยงามเป็นพิเศษ หมอแคนได้จินตนาการเอาลักษณะของใบไผ่ร่วงผสมกับเสียงเสียดสีของกิ่งไผ่ยามลู่ลมมาเป็นลายแคนที่ไพเราะ หวีดหวิวน่าฟัง เรียกกันว่า ลายลมพัดไผ่ นั่นเอง
         
      9. ลายลมพัดพร้าว เป็นลายแคนที่จำลองแบบของใบมะพร้าวเมื่อต้องลมซึ่งผิดกันกับใบไผ่ ใบมะพร้าวเมื่อถูกลมจะโยกไหวอย่างเชื่องช้า คราใดที่พายุพัดโบกมาก็จะเอนตัวไปตามสายลมพร้อมกับสะบัดใบเสียงดังเป็นจังหวะ หมอแคนได้ถอดเสียงธรรมชาติออกมาเป็นลายแคนที่ไพเราะน่าฟัง ท่วงทำนองจะช้ากว่าลายลมพัดไผ่
         
      10. ลายล่องของ คำว่า ล่องของ เป็นคำเดียวกับคำว่า ล่องโขง หมายถึงท่วงทำนองลำยาว เอื่ยๆ เรื่อยๆ แต่รัญจวนใจเปรียบเหมือนกับการปล่อยเรือให้มันล่องลอยไปตามกระแสน้ำตามลำน้ำโขงโดยไม่ต้องพาย ทำนองล่องของนี้จะเป่าแคนเดี่ยวๆ ก็ไพเราะน่าฟัง จะเป่าประกอบหมอลำตอนลำกลอนยาวล่องของก็ม่วนอีหลีเด้อ
         
      11. ลายโป้ซ้าย เป็นลายทางสั้น มีทำนองเดียวกันกับลายสุดสะแนน จะแตกต่างก็ลายสุดสะแนนที่ความยากง่ายของการเล่น มีการติดสูดที่ลูกแคนที่อยู่ตรงตำแหน่งหัวแม่มือซ้าย หรือโป้ซ้าย จึงได้ชื่อลายว่าอย่างนั้น
         
      12. ลายเต้ย เป็นลายแคนที่มีจังหวะกระชับ เร็ว การลำตามปกติจะต้องมาจากลำสั้นโต้ตอบกัน ระหว่างหมอลำฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เมื่อค่อนรุ่งก็จะเป็นลำลาแบบลำยาวเช่นลำล่องของ จึงจะถึงการเต้ย จังหวะเต้ยเป็นจังหวะกระชับเพื่อให้ผู้ลำได้ออกท่าฟ้อน ฉะนั้นเวลาเต้ยหมอลำจะต้องฟ้อนตลอด ไม่ยืนเฉยเหมือนการลำสั้นลำยาว คนไหนเต้ยได้ดี ฟ้อนได้สวย จะได้รับความนิยมมาก ฉะนั้นเวลาเป่าลายเต้ย หมอแคนจะเป่าเป็นตอนๆ ตามคนเต้ยแล้วมีที่ลง แต่ละตอนไม่ยาวนัก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานน่าฟัง อาจสลับด้วยเต้ยหัวโนนตาล แล้วเป็นเต้ยพม่า ตามลำดับก็จะน่าฟังมากขึ้น
         
      13. ลายเซิ้ง เป็นลายง่ายๆ เป่าให้คนฟ้อนในลักษณะเซิ้ง เบื้องต้นจริงๆ มาจากเซิ้งแม่นางด้ง ซึ่งต้องใช้แคนเป่าคลอไป ภายหลังได้ดัดแปลงเป็นเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง เซิ้งกระติบข้าว แต่ทำนองก็คล้ายคลึงกัน
         

       เดี๋ยวแคนลายหนังสือใหญ่ - พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี

       

      เดี๋ยวแคนลายหนังสือน้อย - พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี

      การพัฒนาของลายแคนยังมีเพิ่มเติมมาอีกหลายลาย ทั้งที่พัฒนามาจากลายดั้งเดิม และลายใหม่ๆ ที่เลียนแบบมาจากเสียง หรือเหตุการณ์ของสังคมที่อยู่รอบข้าง เช่น ลายรถไฟไต่ราง ลายสาวหยิกแม่ ลายสาวสะกิดแม่ ลายภูไทครวญ เป็นต้น

      เสียงแคน หรือ โน๊ตแคน 

      คน เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงครบ 7 เสียง แคน 1 เต้าสามารถเล่นได้ประมาณ 3 คีย์เสียงเป็นอย่างน้อย เราจึงเห็นหมอแคนมีการเปลี่ยนเต้าแคนใหม่ เมื่อเป่าลายที่แตกต่างกัน เท่าที่สอบถามจากผู้รู้ และหมอแคนพบว่าที่นิยมใช้กัน จะมีเสียงคีย์หลักๆ ดังนี้ 

      kan 1แคนแบบที่ลายใหญ่ลายน้อยลายเซ
      1AmDmEm
      2GmCmFm
      3BmEmF#m
      4DmGmAm

      ลายแคนม่วนๆ หมอลำม่วนๆ

       

      ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน

      redline

      backled1

      kan header

      "แคน" ที่กล่าวถึงในพงศาวดาร

      kan 3
      กองทหารดุริยางค์ เมืองอุบลราชธานี (วงแคน)
      ภาพจาก หนังสือประมวลภาพถ่ายเหตุการณ์เมืองอุบลราชธานีในรอบ 200 ปี (2535)

      ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ และได้ทำการปราบปรามจนสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370 ก็ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทน์ และชาวเมืองอื่นๆ ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ดังข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ความว่า

      "ครอบครัวเวียงจันทน์ครั้งนั้น โปรดเกล้าให้อยู่เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองสุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครชัยศรีบ้าง พวกเมืองนครพนม พระอินทร์อาสาไปเกลี้ยกล่อมก็เอาไว้ที่เมืองพนัสนิคม กับลาวอาสาปากน้ำ ซึ่งไปตั้งอยู่ก่อน"

      เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวชาวเวียงจันทน์ ชาวบ้านราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้ถูกกองทัพ ไทยกวาดต้อนมาเป็นเชลยถึง 2 ครั้ง 2 ครา ให้อยู่ในท้องที่จังหวัดต่างๆ ทั้งในภาคกลางบ้าง ภาค อีสานบ้าง ตามรายทางการถูกกวาดต้อนมา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี แม้แต่ดนตรีต่างๆ ที่เป็นประจำพื้นเมืองของชาวบ้าน ก็คงจะต้องนำติดตัวมาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้ "หมอลำ-หมอแคน" อันเป็นศิลปะการร้องรำของชาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง จึงได้ถูกนำติดตัวมารำ-ร้อง และบรรเลง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ในยามคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนอย่างแน่นอน ศิลปะแขนงนี้จึงได้ถูกนำมาร้องเผยแพร่ในภาคกลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้แต่ในเมืองหลวงเองก็ยังมี การละเล่นหมอลำ หมอแคนกันอย่างแพร่หลาย

      แคนวง - ออกซุ้มลาวแพน

      เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว พอมาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิทธิพลของการละเล่นหมอลำ หมอแคน ยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ข้าราชบริพารของ พระมหากษัตริย์หลายท่านก็มีความนิยมในการละเล่น และสนับสนุนเป็นอย่างมาก แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงโปรดการแสดงหมอลำหมอแคนมาก จนถึงกับทรงลำและเป่าแคนได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 4 หน้า 315 มีความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าว่า

      "พระองค์ทรงโปรดแคน ไปเที่ยวทรงตามเมืองพนัสนิคมบ้าง ลาวบ้านลำประทวน เมืองนครชัยศรีบ้าง บ้านศรีทา แขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็น พระองค์ก็สำคัญว่า ลาว"

      kan 3kan 5
      ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงความนิยมในการเป่าแคนในยุคสมัยนั้น

      หมอลำ หมอแคน กลายเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในสมัยนั้น จนมหรสพอื่นๆ เป็นต้นว่า ปี่-พาทย์ มโหรี โสภา ปรบไก่ สักวา เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ต้องแพ้การละเล่นลำแคน หรือหมอลำ หมอแคนอย่างราบคาบ จนหากินแทบไม่ได้ ครั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ พากันนิยมเล่นแคนหนักเข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เกิดความวิตก ด้วยพระองค์เห็นว่า การละเล่น ลำแคนไม่ควรเอาเป็นพื้นเมืองของไทย จึงได้ทรงประกาศห้ามการเล่นลำแคนขึ้น ซึ่งสมัยนั้นเรียก ว่า การเล่น "แอ่วลาว" บ้าง "ลาวแคน" บ้าง ซึ่งได้แก่ การลำที่มีการเป่าแคนประสานเสียง ซึ่งเรียกว่า "หมอลำ" สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ขับร้องและออกท่ารำประกอบ และ "หมอแคน" คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป่าแคนประสานเสียงประกอบเป็นทำนองเพลงต่างๆ ซึ่งทำให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น นักร้องจะร้องเพลงได้ไพเราะน่าฟัง จะต้องมีดนตรีประกอบการขับร้องฉันใด หมอลำจะขับลำได้อย่างไพเราะ ก็จะต้องมี "หมอแคน" ประกอบการขับลำ การขับลำนั้นจึงจะสมบูรณ์ก็ฉันนั้น

      หมอแคนหมอลำ ต้นทางสร้างสรรค์วรรณกรรมนานาชาติพันธุ์

      จากพระราชพงศาวดารดังกล่าวนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมศิลปินผู้ทำให้ "แคน" เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ จากการตระเวนไปแสดงยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคกลาง ครับ... ผมกำลังหมายถึง สมัย อ่อนวงศ์ ขุนพลแคนแดนสยาม นั่นเอง แต่ถ้าจะกล่าวถึง หมอแคนที่สร้างชื่อของคนอีสาน ส่วนใหญ่จะนึกถึงหมอแคนผู้นี้ครับ สมหวัง เอวอ่อน ด้วยลีลา และท่าทางการเป่าแคนอันไพเราะจับใจ ลองดาวน์โหลดตัวอย่างเสียงแคนจากศิลปินผู้นี้ไปฟังกัน ครับ เป็นไฟล์แบบ MP3 เชิญคลิกข้างล่างครับ

      สุดซะแนน | แมงผู่ชมดอกไม้

      ปรับปรุงคุณภาพเสียงแล้วครับ จากลีลาการเป่าของเทพแห่งแคน
      อาจารย์สมบัติ สิมหล้า ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

      ศาสตร์ตราช่าง : "แคน" เสียงสวรรค์จากแดนอีสาน ตอนที่ 1

      ศาสตร์ตราช่าง : "แคน" เสียงสวรรค์จากแดนอีสาน ตอนที่ 2

      ศาสตร์ตราช่าง : "แคน" เสียงสวรรค์จากแดนอีสาน ตอนที่ 3

      เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรา (รัฐบาล ข้าราชการ นักวิชาการด้านวัฒนธรรม) ค่อนข้างจะเชื่องช้า มองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมในผืนแผ่นดินของตนเอง จนเมื่อทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ยื่นเรื่องต่อยูเนสโก (UNESCO) ขอให้ "แคน" จาก สปป.ลาว เป็นมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปเรียบร้อยแล้ว

      เสียงแคน จากประเทศลาว ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

       

      ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน

      redline

      backled1

      kan header

      "แคน" เครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก

      morkan 01มอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางไปสอนศาสนาในเมืองจีน ได้พบว่า คนจีนได้เอาดนตรีแคนของไทยไปเลียนแบบทำเป็นดนตรีของจีน และเมื่อหมอสอนศาสนาเหล่านั้นกลับไปยุโรป ก็ได้เอาแบบฉบับของแคนไปปรับปรุงให้เป็นออร์แกนในเวลาต่อมา

      ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง ท่านได้เขียนเล่าประวัติเครื่องดนตรีไทยว่า "เมื่อตอนที่ผมอยู่นิวยอร์คนั้น ผมได้พบกับศาสตราจารย์ผู้หนึ่ง ซึ่งสนใจในการค้นคว้าเรื่องประวัติดนตรีมาก เขาบอกว่า ได้พบเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกแล้ว มีลักษณะเป็นกระบอกไม้ไผ่หลาย กระบอก เอามาผูกมัดเรียงกันเข้าไป ในแต่ละกระบอกมีลิ้นโลหะ

      ถ้าเป่าลมเข้าไปในกระบอก ให้ลมผ่านลิ้นนี้แล้วจะเกิดเป็นเสียงดนตรีขึ้น เขาว่าได้พบและเชื่อแน่ว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นดนตรีโบราณที่สุด แล้วเขาก็พยายามจินตนาการวาดรูปมาหลายรูปตามที่คาดคิดว่า ของจริงคงจะมีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น ผมดูแล้วขำแทบตาย เพราะรูปร่างที่เขาวาดนั้นพิลึกกึกกือ มิใช่น้อย เลยบอกเขาไปว่าอย่าเสียเวลาเลยจะดูให้เห็นของจริงๆ เครื่องดนตรีชนิดนี้เขาเรียกว่า "แคน" ถ้าอยากเห็นก็ไปเมืองไทยเถอะ จะเอาสักกี่ร้อยกี่พันก็ยังได้"

      จากบันทึกที่ท่านศาตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้บันทึกไว้นี้ ผนวกเข้ากับนิทานปรัมปราที่กล่าวมาแล้ว ทำให้มีความเชื่อได้สนิทใจว่า "แคน" คือ เครื่องดนตรีโบราณของไทย ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอ้ายลาว ในยุคน่านเจ้า เพราะว่าได้มีการค้นพบเครื่องดนตรีชนิดนี้ในแถบ มณฑลยูนาน และยังเชื่อกันว่า แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 2 พันปีขึ้นไป และที่ว่าแคน เป็นเครื่องดนตรียุคน่านเจ้า แท้ที่จริงแล้วอาจจะมีก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำไป ดังนั้นจึงน่าจะมีเหตุผล เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า แคน คือ เครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก

      kan 2สำหรับชาวอีสานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาก็ได้เห็นแคน และได้ยินเสียงอันไพเราะดั่งนกการเวก ด้วยท่วงทำนองที่หลากหลายมานานแล้ว จนได้ชื่อว่า เป็นเมืองหมอแคน แดนหมอลำ แน่แท้ นั่นเอง

      แคน เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะมาก การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง บังคับเสียงทำ ให้เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และ ความรู้สึกต่างๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว มีความสมบูรณ์ขนาดที่ว่า ถ้าใช้เครื่องดนตรีอื่นๆ บรรเลง ก็ต้องใช้หลายเครื่องทีเดียว แต่แคนเพียงเต้าเดียวก็สามารถทำได้ ยิ่งถ้าได้นักเป่าแคนที่มีความ สามารถ มีความชำนิชำนาญ สามารถเป่าท่วงทำนองต่างๆ ซึ่งตามภาษาพื้นบ้านอีสานเรียกว่า "ลายแคน" ก็ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเทียบได้

      แคน เป็นเครื่องดนตรีสำคัญของชาวอีสาน ทำจากไม้กู่แคน แคนหนึ่งอันเรียกว่า แคนหนึ่งเต้า มีส่วนประกอบของแคน มีดังนี้

      ทีวีชุมชน - คุณแคน

      1. ลูกแคน คือไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเป็นแคน ทำจากไม้ซาง ซึ่งเป็นพืชตะกูลไม้ไผ่ลำเล็กๆ มีปล้องยาว ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วนาง ตามลำดับ โดยนำมาลนไฟแล้วดัดให้ตรง ขนาดยาวตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรถึงสามเมตร ไม้กู่แคนทุกลำทะลุข้อออก เพื่อให้ลมผ่าน ฝังลิ้นทองเหลือง หรือลิ้นเงินห่างจากปลายข้างบนประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร โดยบริเวณนั้นบากเป็นช่องสี่เหลี่ยมสองช่อง ห่างหรือไกล้กัน ตามลักษณะของระดับเสียง ตรงกลางของไม้กู่แคนเจาะรูกลมเล็กๆ ลำละหนึ่งรู เพื่อใช้นิ้วปิดเปิดเวลาบรรเลงเรียกว่า รูนับ รูที่บากอยู่ด้านในเมื่อประกอบเป็นแคนแล้วจะมองไม่เห็น แคนแต่ละดวงจะมีจำนวนลูกแคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของแคน แคนหก มีใม้กู่แคนสามคู่ แคนเจ็ด มีไม้กู่แคนเจ็ดคู่
      2. เต้าแคน คือปล้องตรงกลางแคน มีลักษณะกลมเป็นกระเปาะ หัวท้ายสอบ มีไว้เพื่อประกอบลูกแคนทุกลูกรวมเข้าด้วยกันและหุ้มลิ้นลูกแคนไว้ เต้าแคนถูกเจาะรูกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งเซนติเมตรที่หัวเต้า เพื่อใช้ปากเป่าให้ลมผ่านลิ้นแคนทุกลิ้น ระหว่างเต้าแคนและลูกแคนนำขึ้สูดมาปิดให้แน่นป้องกันมิให้ลมที่เป่าเข้าไปนั้นรั่วออกมาข้างนอก ไม้ที่นิยมทำเต้าแคน คือ ไม้ประดู่ไหม ไม้พยุง ไม้แคน หรือ ไม้ตะเคียน ไม้หนามแท่ง ส่วนมากนิยมใช้ไม้ประดู่ส่วนที่เป็นราก
      3. หลาบโลหะ คือแผ่นโลหะบางๆ ที่สกัดออกเป็นลิ้นแคน โดยมากใช้โลหะผสมระหว่างทองแดงกับเงิน ถ้าใช้แผ่นเงินบริสุทธิ์ หรือ ทองแดงบริสุทธิ์ จะทำให้อ่อนหรือแข็งจนเกินไป แผ่นโลหะแผ่นหนึ่งยาวประมาณสามเซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร และหนาเพียง 2 มิลลิเมตร
      4. ขี้สูตหรือชันโรง เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่ง ตัวเล็กกว่าผึ้ง เรียกว่า แมลงขี้สูด คุณสมบัติของขี้ผึ้งชนิดนี้คือเหนียว ไม่ติดมือ และไม่แห้งกรอบ ขี้สูตใช้ผนึกช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้า เพื่อไม่ให้ลมที่ผ่านเข้าทางปากรั่วไหลออกจากเต้า

      วิถีไทย ตอน วิถีคนทำแคน

      kan2การประกอบส่วนต่าง ๆ ให้เป็นแคน เริ่มจากเมื่อเตรียมลูกแคน และเต้าแคนเรียบร้อยแล้ว นำลูกแคนทั้งหมดสอดเข้าไปในเต้าแคนตามลำดับ เป็นคู่กัน

              คู่ที่หนึ่ง ด้านซ้ายเรียกว่า โป้ซ้าย ด้านขวา เรียกว่า โป้ขวา

              คู่ที่สอง ด้านซ้ายเรียกว่า แม่เวียงใหญ่ ด้านขวา เรียกว่า แม่เซ

              คู่ที่สาม ด้านซ้ายเรียกว่า แม่แก่ ด้านขวา เรียกว่า สะแนน

              คู่ที่สี่ ด้านซ้ายเรียกว่า แม่ก้อยขวา ด้านขวาเรียกว่า ฮับทุ่ง

              คู่ที่ห้า ด้านซ้ายเรียกว่า แม่ก้อยซ้าย ด้านขวาเรียกว่า ลูกเวียง

              คู่ที่หก ด้านซ้ายเรียกว่าสะแนนน้อย ด้านขวาเรียกว่า แก่นน้อย

              คู่ที่เจ็ด ด้านซ้ายเรียกว่า เสพซ้าย ด้านขวาเรียกว่า เสพขวา

      ประเภทของแคน 

      การแบ่งประเภทของแคน อาจแบ่งตามขนาด หรือแบ่งตามลักษณะการบรรเลงก็ได้ การแบ่งตามขนาดแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ

      • แคนหก คือแคนที่จำนวนลูกแคนหรือไม้กู่แคนมีสามคู่ หกลำ เป็นแคนสำหรับเด็กเป่าเล่น เป่าได้เฉพาะเพลงง่ายๆ เพลงยากที่มีเสียงสูงต่ำหลายเสียงไม่สามารถเป่าได้ เพราะลูกแคนมีเพียงหกลูก มีระดับเสียงสูง-ต่ำไม่ครบตามที่ต้องการ (มีเฉพาะเสียง ฟา ซอล ลา โด เร)
      • แคนเจ็ด คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคนหรือลูกแคนเจ็ดคู่หรือสิบสี่ลำมีเสียง 14 เสียง นิยมใช้เป่าเป็นแคนวงมีเสียงครบทั้ง 7 เสียง (โด เร มี ฟา ซอล ลา ที)
      • แคนแปด คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคนแปดคู่หรือสิบหกลำมีเสียง 16 เสียง ใช้เป็นแคนเดี่ยวสำหรับเป่าประสานเสียงคลอไปกับการลำ เป็นที่นิยมของหมอลำ มีเสียงครบทั้ง 7 เสียงเหมือนแคน 7 แต่เพิ่มคู่ที่ 8 เข้าไปเป็นเสียงประสานให้เกิดความไพเราะมากยิ่งขึ้น
      • แคนเก้า คือแคนที่ประกอบด้วยไม้กู่แคนเก้าคู่หรือสิบแปดลำ มีเสียงทั้งหมดแปดเสียง เป็นเสียงใหญ่ทุ้มต่ำใช้ประกอบการลำพื้นบ้าน โดยเพิ่มเสียงคู่ประสาน ซอล และลา เข้าไปอีก 1 คู่

      kan1แบ่งตามการบรรเลงแคนปัจจุบันมี 3 ลักษณะ คือ ประเภทแคนเดี่ยว ประเภทแคนวง และประเภทแคนวงประยุกต์

      1. แคนเดี่ยว ใช้บรรเลงประกอบลการลำซิ่ง หมอลำแบบดั้งเดิม ใช้เสียงแคนเท่านั้นเป่าประสาน การร้องหมอลำจะใช้แคนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็ได้
      2. แคนวง เป็นการบรรเลงหลายเต้าพร้อมกันโดยเป่าผสมกับเครื่องให้จังหวะ เช่น กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ จะใช้แคนขนาดใดก็ได้โดยใช้จำนวน 6-12 เต้า
      3. แคนวงประยุกต์ เป็นการนำแคนไปบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากลประเภทกลองชุด เบส กีต้าร์ ออร์แกน อิเล็กโทน หรือ บางครั้งก็นำเอาดนตรีไทย เช่น ซอ ขิม จะเข้ เข้ามาประกอบการบรรเลงชนิดนี้ ประกอบการร้องเพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง มีหางเครื่องเต้นโชว์ประกอบ หรือบรรเลงประกอบการแสดงหมอลำหมู่และหมอลำซิ่ง

      การเก็บรักษาแคน แคนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ทำจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น วัสดุที่ใช้ประกอบแคนค่อนข้างบอบบาง มีโอกาสชำรุดเสียหายได้ง่าย แคนจะอยู่ในสภาพดี หากเจ้าของเป่าเสมอต้นเสมอปลาย ปริมาณลมเข้าออกเท่าๆ กันทำให้ปลายลิ้นแคนไม่โก่ง การเก็บรักษาแคนควรเก็บไว้ในกล่องที่แข็งแรง หรืออาจเก็บไว้ในถุงผ้าที่ปิดได้สนิท กันแดด และฝุ่นได้ ไม่ควรเอาแคนไปจุ่มน้ำเพื่อทำความสะอาด ลิ้นแคนจะเป็นสนิมได้ ควรใช้ผ้าสะอาดที่แห้งปัดฝุ่นหรือเช็ดลิ้น

      ความไพเราะและอิทธิพลของเสียงแคน

      วามไพเราะและอิทธิพลของเสียงแคนมีมากเพียงใดนั้น สามารถดูได้จากประเพณีการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานที่มีเครื่องดนตรี "แคน" มาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ รวมทั้งจากนิทานพื้นบ้านต่างๆ ก็ได้กล่าวถึงมนต์เสียงแคนอยู่เช่นเดียวกัน

      kan 4นิทานวรรณคดีเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ"

      (เรื่องย่อ) ท้าวก่ำ มีรูปร่างอัปลักษณ์ เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป แม้กระทั่ง มารดาของตนก็เกลียดชัง จึงเอาไปลอยแพล่องน้ำ พระอินทร์บนสวรรค์มีความสงสาร จึงเนรมิตส่งกาดำลงมาเป็นแม่นม คอยเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ท้าวก่ำจึงได้รับการขนานนามว่า "ท้าวก่ำกาดำ" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

      เมื่อท้าวก่ำกาดำเติบโตขึ้น ก็ได้อาศัยอยู่กับย่าจำนวน คนเฝ้าสวนของกษัตริย์ วันหนึ่ง ธิดาทั้งเจ็ดของกษัตริย์มาเที่ยวชมสวน ท้าวก่ำกาดำแอบดูนางทั้งเจ็ด แล้วเกิดผูกสมัครรักใคร่ นางลุน ธิดาคนสุดท้อง

      ท้าวก่ำกาดำ มีความสามารถพิเศษในการร้อยดอกไม้ และเป่าแคน จึงได้ร้อยมาลัยดอกไม้เป็นสื่อความในใจ แล้วมอบให้ย่าจำนวนนำไปถวายนางลุน พอถึงเวลากลางคืน ก็เป่าแคนไปเที่ยวในเมือง เสียงแคนอันแสนไพเราะของท้าวก่ำกาดำ ในเวลากลางคืนที่เงียบสงัดนั้น ลอยลมไปไกล จนกษัตริย์และนางลุนได้ยินทุกคืน ด้วยเสียงแคนอันไพเราะนี้ กษัตริย์จึงได้รับสั่งให้ท้าวก่ำกาดำเข้าเฝ้า เพื่อถวายการเป่าแคน ท้าวก่ำกาดำมีความภูมิใจมาก ได้ตั้งใจเป่าแคนอย่างสุดฝีมือ เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์และนางลุน ซึ่งเป็นอานิสงฆ์ส่งให้ท้าวก่ำกาดำพ้นเคราะห์ กาดำได้ชุบร่างขึ้นใหม่ให้เป็นชายรูปร่างงดงาม และในที่สุดก็ได้นางลุนมาเป็นคู่ชีวิตสมดังปรารถนา

      เพื่อให้เห็นจริงเห็นจังถึงความไพเราะของเสียงแคน ที่ท้าวก่ำกาดำได้เป่าถวายกษัตริย์และนางลุนฟัง จึงขอนำคำกลอนลำอีสาน ที่ได้พรรณนาถึงความไพเราะของเสียงแคนมาบันทึกไว้ ดังนี้

      ท้าวก็เป่า จ้อย จ้อย อ้อยอิ่ง กินนะรี  บุญมี เลยเป่าแถลง ดังก้อง
      เสียงแคนดังม่วนแม่ง พอล่มหลูด ตายไปนั้น  ท้าวก็เป่า จ้อย จ้อย คือเสียงเสพ เมืองสวรรค์
      ปรากฏดัง ม่วนก้อง ในเมือง อ้อยอิ่น  เป็นที่ใจ ม่วนดิ้น ดอมท้าว เป่าแคน
      สาว ฮามน้อย วางหลามาเบิ่ง  เขาก็ปบ ฝั่งฟ้าว ตีนต้อง ถืกตอ
      บางผ่อง ป๋าหลาไว้ วางไป ทั้งแล่นก็มี  บางผ่อง เสื้อผ้าหลุด ออกซ้ำ เลยเต้นแล่นไปก็มี
      ฝูงคนเฒ่า เหงานอน หายส่วง  สาวแม่ฮ่าง คะนิงโอ้ อ่าวผัว
      ฝูงพ่อฮ่าง คิดฮ่ำ คะนิงเมีย  เหลือทน ทุกข์อยู่ ผู้เดียว นอนแล้ง
      เป็นที่ อัศจรรย์แท้ เสียงแคน ท้าวก่ำ  ไผได้ฟัง ม่วนแม่ง ใจสล่าง หว่างเว
      ฝูง (คน) กินเข่า คาคอ ค้างอยู่  ฝูง (คน) อาบน้ำป๋าผ่า แล่นมา.... (นั่นละนา)

      ลายสุดสะแนน - อ.บัวชัยศิลป์ แก้วแสนไชย

      นี้คือความไพเราะของเสียงแคน ที่ปรากฏในวรรณคดีพื้นบ้านภาคอีสาน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องแต่งที่มีคติธรรมสอนใจ ให้เกิดคุณธรรม คุณงามความดี โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงเท่าใดนัก แต่ถ้าหากพิเคราะห์ให้ดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า "เสียงแคน" นั้นยังมีมนต์ขลังอยู่เสมอ และขอจบบทนี้ด้วย กลอนลำกำเนิดของแคนด้วยครับ

            แคนนี้เป็นของเลิศล้ำเก่าแก่ แต่เดิมมา
      มื้อหนึ่งมีพระราชาเข้า ดงดอนนอนอยู่ในป่า
      กับทั้งอำมาตย์ไท้ พวกหมู่มนตรี
      ฝูงหมู่กวางฟานเม่น เห็นพระองค์โยงพ่าย
      แม่งหนึ่งไปฮอดเกี้ย ตีนตาดผาสูง
      เป็นขัวนัวคือเกี้ยว เขียมอารมณ์เป็นร่ม
      พระองค์เลยสะมิ่ง ง่วงเหง่าเหงานอน
      ฝูงหมู่เสนาเหง้า มนตรีน้อยใหญ
      แต่นั้น พระหนึ่งต้น ตนผ่านพารา
      ฟังยินเสียงกอย ๆ ร้องแกว ๆ กรวีก
      พ้อมด้วยเสียงนกเอี้ยง เฮียงฮ้องออหอ
      สัมมะปิเสียงห้าว วาวโวแววโว
      ฟังแล้วเลยสะม้อย อ้อยอิ่นในพระทัย
      ยินเสียงลมสะแวงต้อง นอนนันกรวีก
      พระองค์คิดแม่นแม่ง มักใคร่ในเสียง
      จึงได้หันตัดต้าน ถามขุนข้ามหาด
      ไผจักตกแต่งตั้ง ทำสิ่งเป็นเสียงได้นอ?
      เฮ็ดให้เป็นของใช้ ดนตรีสีเป่า
      ยังมีอำมาตย์ชั้น กวีเอกสาขา
      สองก็วางคำมั่น สัญญาเด็ดขาด
      พระองค็ก็พาไพร่โค้ง คืนสู่งกรุงสี
      มีสนมนั่งเฝ้า เรียงปางข้างเสิ่อ
      บัดนี้ จักกล่าวอำมาตย์เค้า ผู้รับอาสา
      คิดจนใจหลายมื้อ บ่มีหวนเห็นหุ่ง
      ลาวก็เข้าป่าไม้ ดงด่านอรัญญา
      แม่ง หนึ่งถึงแดนห้วย สวยลวยกล้วยป่า
      ได้ยินน้ำสะท้าน โตนตาดเสียงดัง
      ยินสะออนฝูงกะเบื้อ บินเฟือแคมฝั่ง
      พักหนึ่งลมล่วงเท้า อ้ออ่อนแคมชล
      เลยสะออนใจเฒ่า เหงาไปเซือบหนึ่ง
      แต่นั้นลมพัดป้าน อ้ออ่อนปลายกุด
      ผ่องก็แจง ๆ แจ้ แวแววโว่หว่อ
      อีกประสบครั้งนั้น วันบ่ายพอดี
      นกเขาทอง เขาตู้ คูขันก้องสนั่น
      ลาวก็สะส่วยหน้า ลุกนั่งฟังเสียง
      เสียงตอยาวตอสั้น ปนกันน้อยใหญ่ ่
      เฒ่าเลยคิดซวาดรู้ วิธีแต่งดนตรี
      เดี๋ยวหนึงวันมัวค้อย ทดทะสูงแสงต่ำ
      เลยเล่าหายเหตุร้อน นอนพ่างภรรยา
      นกกาเวามันร้อง จองหองขายกอก
      ตัดเอาต้นไม้อ้อ สามคู่พอดี
      บ่อนหว่างทางกลางนั้น เจาะลงเป็นปล่อง
      เมื่อนั้นเฒ่าก็หาเอาไม้ มาทำเต้าเป่า
      พอเมื่อเฒ่าสร้างแล้ว ก็ลองเป่าฟังเสียง
      ทังแลนแจน ลันแจ้ อยากคือ เสียงกรวีก
      พอคิดแล้วเท่านั้น ตนพ่อเสนา
      เอาดนตรีให้ถวาย ภูวนัยดั่งว่า
      เฒ่าเลยนั่งตะแพยคู้ แล้งเป่าเอาถวาย
      เสียงดนตรีดั่งได้ แกว ๆ ก้อง แก้วก่อ
      พระราชาทรงตรัส " ใช้แคนแด่" เดี้ย
      ให้ท่านทำดีขึ้น ทูลถวายรายใหม่
      ในกาลครั้งนั้น คุณพ่อเสนา
      ลาวจึงเพียรแปงสร้าง วางแปลนรูปใหม่
      เฮ็ดไปถวายเทื่อนี้ 7 คู่ พอดี
      เพราะมันมีเสียงแก้ว แกว ๆ แจ้วแน่นแน่
      ขุนก็ทำอีกครั้ง เป็นเทื่อที่สาม
      มีเสียงทองเสียงห้าว วาวแววแจ้วลั่นจั่น
      ลูกมันมีหมดเกลี้ยง 8 คู่งามขำ
      ทรงกระหายหัวย่าม เห็นงามแย้มพระโอษฐ์
      มันได้มีแต่พุ้น สืบต่อกันมา
      คันบ่มีคำเว้า แคนไคไกลมอ
      อีกอย่างหนึ่ง ย่อน ดนตรีประเภทนี้ พาสว่างความอุก
      ชื่อว่าแคน แคน แล้ว หมดทั้งมวลมีแต่หม่วน
      แต่ครั้งศาสนาพระวิปัดสีเจ้า
      เที่ยวหาเซ็ดเนื้อในด้าวด่านไพร
      จรลีไปถึงเขตขวางเขากว้าง
      จนเวลาเที่ยงค้ายหายจ้อยเครื่องเสวย
      มีหมู่ยูงยางดกดู่แดงดวงดั้ว
      ลมพัดมาฮ่าว ๆ เย็นจ้าวหน่วงตึง
      อรชรลมโรย ล่วงโชยมาเต้า
      พร้อมอาศัยที่นั้นในฮั่นสู่คน
      เลยนิทรานอนหลับเซือบไปคราวน้อย
      จับอยู่เทิงหง่าไม้ไฮฮ้องส่งเสียง
      เสียง ออ ๆ อีๆ วี่แววแจวจี้
      มีทั้งโอ่และโอ้ โออ้อยอิ่นออย
      ภูวไนยนอนหลับตื่นมาฟังแจ้ง
      เลยกระสันสว่างเศร้า เบาเนื้อห่างแคน
      ในสำเนียงของนก ที่บรรเลงนั้น
      พร้อมประกาศบอกชี้เชิญมิ่งช่วยฟัง
      ให้คือสำเนียงนกเป่าฟัง กันได้
      เฮาพระองค์สิให้สินจ้างค่าพัน
      เข้ารับบัญชาทำถวาย ดั่งใจจงอ้าง
      ในโอกาสครั้งนั้น ตะเว็นส้วยอ่อนลง
      จรลีถึงเมืองนั่งปองเป็นเจ้า
      พระองค์กะยังอ่าวเอื้อเสียงนั้นอยู่บ่เซา
      หาตรึกตรองปัญญาท่าใดสิทำได้
      เลยมุ่งออกจากฮ่องเฮือนย่าวห่าวไป
      เดินดุ่งคาคาวไกล เมื่อยแคนคาวแค้น
      มีสาขาหน่ออ้อ ซ่อซ้องทั่วดาน
      อยู่ในวัง มีแต่ปูปลาหอย ล่องลอยชมก้อน
      เฒ่าก็นั่งจ้อก้อ ลงหั่นเมื่อยเซา
      ปานคนกินสุราท่าเมาเยาย้อน
      ใจคนึงบ่แล้ว วิธีสร้างแต่งการ
      เสียงมันดัง วี วุด วู่ แวว แอว แอ้
      เป็นเพราะปล้องไม้อ้อ ยาวสั้น บ่าข่ากัน
      ฝูงแมงอีกาเลน เผ่นบินมาฮ้อง
      ฝ่ายอำมาตย์ผู้นั้น นอนแล้วตื่นมา
      ฟังสำเนียงลมพัด เป่าตอลำอ้อ
      ทั้งเรไรต่างเชื้อ ประสมเข้าม่วนหู
      ตามดั่งองค์ภูมี มอบหมายมานั้น
      ลาวจึงไต่ต้าว คืนเข้าสู่นคร
      จนเวลาสูนสาง สว่างมายามเช้า
      ลาวก็ชอกได้พร้า ประดาเข้าสู่ไพร
      ทั้งเหลา ซี แทง เลาะ ข้อเสียงหมดเกลี้ยง
      เจาะรูแพงส่องแล้ว เลยเหน็บลิ้นตื่มแถม
      เฮ็ดคือนมผู้เฒ่า เป็นเป้าอยู่กลาง
      มีสำเนียง ออแอ วี่แวแววแว
      คันว่าแม่น ผิด ก็มีเสียงเล็กน้อยพอสิได้ค่าพัน
      เลยไววาเมือฮอด โฮงพระยาเจ้า
      ทางมหาราชเจ้า จึงจำเฒ่าเป่าดู
      ทำท่าไกวหัว หาง ย่างจำเอา ไว่ ๆ
      เอาบ่น้อ สำนี้ พระองค์เจ้าว่าจั่งใด๋
      ขุนเจ้ายังปุนแปงเฮ็ดเกิดเป็นปานนี้
      เฮาก็ยังสิให้สินจ้างค่าพัน
      ก็จึงอำลา คืนคอบเฮือน เร็วฟ้าว
      ประดิษฐ์ใหญ่ขึ้นหน้า จะแจ้งยิ่งทว
      องค์พระภูมี ตรัสว่า "แคน ๆ" แล้ว
      เฮ็ดมาถวายอีกแม้ ให้ดีกว่าเทื่อหลัง
      มีทั้งงาม จบดี ครบ กระบวน ควรย่อง
      เสี้ยงทุ้มยู้ก็พ่องนั้น หันขึ้นวึ่นเสียง
      ขุนเมือง นำเมื่อถวาย ทอดพระกรรวันท้าย
      โปรดว่า "แคนแท้แล้ว" คราวนี้ท่านขุน
      ย่อนว่าราชาตรัส ว่า "แคนแคน แล้ว"
      ก็แม่นกรวีกร้อง ของแท้อีหลี
      พาให้หายความทุกข์ ยากแคนแสนแค้น
      เพิ่นจึงม้วนใส่หั่น คำนั้นว่า "แคน" ……………
      ……… จากบทความ หนังสือสูจิบัตร งานอนุรักษ์ส่งเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแคน
      การประกวดเป่าแคนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ปี 2541

      สารคดี สีสันมหรสพ : แคนข้ามโขงสัมพันธ์ไทยลาว

      ประวัติความเป็นมาของแคน | แคนเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลก | แคนที่กล่าวถึงในพงศาวดาร | ทำนองแคน หรือลายแคน

      redline

      backled1

      isan word tip

      isangate net 345x250

      ppor blog 345x250

      adv 345x200 1

      นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

      ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)