foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

maan puri tatto

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (20 มกราคม พ.ศ. 2413 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็น "พระผู้เลิศทางธุดงควัตร" ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

LP Mann 01

ชาติกำเนิดและการอุปสมบท

LP Mann 02ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อ คำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ โดยมี เพีย (พระยา) แก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 20 เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี)

มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นลูกกก (บุตรคนหัวปี, คนแรก) ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา

เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ท่านใดเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

เมื่ออายุท่านได้ 17 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อออกมาช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาตามคำขอนั้นเพื่อช่วยงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาออกไปแล้วก็ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า

เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก "

คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ 22 ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา-มารดาเพื่อขอบวช ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษา ในสำนักพระอาจารย์เสาร์ (หลวงปู่เสาร์) กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล

อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปฌาย์ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436

LP Mann 03

พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต" แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์ เมื่องอุบลราชธานีเป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลราชธานีเป็นครั้งคราว

ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ

บำเพ็ญเพียร

ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

LP Mann 04

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก 1 พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับท่านเจ้าคุณพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง 11 ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น 2 พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) 3 พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม 5 พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ปัจฉิมวัย

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบท ไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็น อำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง แถวนั้นบ้าง

ครั้น พ.ศ. 2487 จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา 8 ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนา เป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"

LP Mann 05

มาถึงปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า 80 ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

ครั้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา 12.00 น. เศษ ครั้นถึงเวลา 2.23 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกันท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มี เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ 79 ปี 9 เดือน 21 วัน รวม 56 พรรษา

LP Mann 06

ซึ่งท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ" ไว้ว่า

"องค์ท่าน เบื่องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อยๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ข้างหลังท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุดกลัวจะกระเทือนท่านมากไป ดังนัน การนอนท่านในวาระสุดท้ายจึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียงๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัยที่จะแก้ไขได้อีก

อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่ พระกับเณร ฆราวาสมีน้อย ที่นั่งอาลัยอาวรณ์ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตามๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่าน ซึ่งกำลังแสดงอย่างเต็มที่เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่าค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตามๆ กัน ผู้นั่งดูลืมกระพริบตาเพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อยๆ หายเงียบไปอย่างละเอียดสุขุม จนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วนมิได้แสดงอาการผิดปกติเหมือนสามัญชนทั่วๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น" ดังนี้

พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ" พร้อมกับยกนาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี 2 นาฬิกา 23 นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้น มองดูพระเณรที่นั้งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอ ทั้งจาม ทั้งเสียงบ่นพึมพำไม่ได้ถ้อยได้ความ ใครอยู่ที่ไหนก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่แวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่งราวกับโลกธาตุได้ดับลง ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริงๆ เวลานั้น ทำให้รำพึงรำพันและอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิตที่กำลังว้าวุ่นขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้างจากความแสนรักแสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล

ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุดมันมุดมันด้านมันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระพอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุเป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึงได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจ เพื่อฝากอรรถฝากธรรมและฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย"

ตลอดชีวิตขององค์หลวงปู่ ด้วยความที่ท่านหวัง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่ง เฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์แก่ชนในสถานที่นั้นๆ เริ่มจากอุบลราชธานีบ้านเกิด ไปกรุงเทพมหานครเพื่อร่ำเรียนศึกษากับครูบาอาจารย์ แล้วธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน จำพรรษาในที่ต่างๆ จนหวนคืนสู่ภาคอีสานในบั้นปลาย

LP Mann 07

ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น

ธุดงควัตร ที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ 4 ประการ

  1. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้พักผ่อนให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
  2. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวก บ้านไม่ได้ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉันจนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
  3. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
  4. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ 25 เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจน สุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

พระอริยคุณคุณาธาร วัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

LP Mann 08

ภาพประวัติศาตร์ ขณะอาราธนาหลวงปู่มั่น มาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่

"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร 13 ("...ธุดงค์ 13 แต่ละข้อมีความหมายในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ยากที่คาดให้ทั่งถึงได้ดังนี้ 1.บิณฑบาตเป็นวัตร 2.บิณฑบาตตามลำดับบ้าน 3.ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง 4.ฉันในบาตร 5.ฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ 6.ถือผ้าสามผืน 7.ถือผ้าบังสกุล 8.อยู่รุกขมูลร่มไม้ 9.อยู่ป่า 10.อยู่ป่าช้า 11.อยู่กลางแจ้ง 12.อยู่ในที่เขาจัดให้ 13.ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน...") นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไรออกนอกลู่นอกทางนั้นไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก

นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจยึดถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัยก็คือ ปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัตได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตา ไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย

นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื่องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฏของพระ ระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยอันดับลำดา

ดังเคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษยทั้งหลายพร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว

พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนอนของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น แตกกระจายออกไปการที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาด พาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก

นี่ละเป็นที่ ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับเราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนิน ด้วยความอุ่นแน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง ไม่มีจะว่ายังไงนั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
(จากหนังสือ "หยดน้ำบนใบบัว")

LP Mann 09

"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น...ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียง อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ

บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะ ที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา

เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใครท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโธ) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
จากอัตตโนประวัติหลวงปู่ชา "ใต้ร่มโพธิญาณ"

 

 คำสอน

  • ธรรมชาติของดีทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม ก็เกิดขึ้นมาจาก โคลนตม อันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียดแต่ว่า ดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งสะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ เสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีก
  • ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
  • ถ้าจิตมีความสงบถึงฐานของสมาธิแล้ว อย่าไปบังคับให้ถอนนะ ปล่อยให้อยู่ในความสงบนั้นไป จนจิตได้มีความอิ่มตัวในสมาธินั้นๆ ได้เวลาแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป
  • ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุม จึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง อย่าพึงเข้าใจว่า พระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลาย เมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอม ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย
  • ได้สมบัติทั้งปวงไม่เท่าได้ตน เพราะตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่ง สมบัติทั้งปวง

LP Mann 10

  • ของดีมีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา ไม่ใช่เกาถูกที่คันต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้ จะได้หายห่วงอะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ
    ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร อาตมาขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง…
  • เวลาที่สวดไปใจก็กำหนดตาม เกิดความเห็นชัดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ในเวลาที่สวดอยู่นั้น ควรสงเคราะห์เข้าไปในกองปัญญา ก็พอครบสิกขา 3 ตามแบบปฏิบัติบูชาส่วนดอกไม้ ธูปเทียน และภาชนะที่ใส่ดอกไม้วางอยู่หน้าพระพุทธรูป ก็เป็นอามิสบูชา ข้าพเจ้าแยกเป็น 2 ส่วนให้ท่านฟังนี้ ขอท่านจงจำไว้ จะได้ไม่เห็นผิดว่า การไหว้พระสวดมนต์เป็นอามิสบูชา...
  • “ใจ” มีภาษาเดียวเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด มีเพียงความรู้คือใจนี้


หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ข่าวปิติของชาวพุทธเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ "หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต" ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 เป็น "บุคคลสำคัญของโลกประจำวาระปี 2563-2564" นับเป็นพระอริยสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และท่านพุทธทาสภิกขุ

LP mun Unesco

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ๑๕๐ ปี ชาตกาลหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)