foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

LP suang header

หลวงปู่สรวง ออยเตียนสรูล เป็นปริศนาที่มีมานานมากแล้ว บ้างก็ว่าท่านเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ บ้างก็ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา มาจำพรรษาที่ประเทศไทยหลายแห่ง จึงไม่มีใครที่จะทราบเรื่องราวประวัติที่แน่นอนของท่านเลย มีเพียงคำบอกเล่าจากปากต่อปาก จนเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยสรีระสังขารของท่านนั้น ไม่ได้เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา จึงได้เก็บรักษาร่างของท่านไว้ในโลงแก้ว ที่วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

LP Suang 05

มีเรื่องเล่าประวัติทั้งที่พิสดาร และข้อสันนิษฐานต่างๆ มากมายเกี่ยวกับหลวงปู่สรวง เช่น

ตำนานที่ 1 เล่าว่า

หลวงปู่สรวง เดิมชื่อว่า “ต่อ” คนทั่วไปถามว่า หลวงปู่ชื่ออะไร หลวงปู่บอกว่า ลืมเสียแล้ว คนทั่วไปเข้าใจว่าหลวงปู่มาจากสรวงสวรรค์ จึงเรียกว่า “หลวงปู่สรวง” เล่ากันว่า "หลวงปู่สรวง เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล ตรงกับ วันที่ 9 เดือน มีนาคม พ.ศ. 1793 มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปี มะโรง รวมอายุได้ 750 ปี (เจ็ดร้อยห้าสิบปี)

หลวงปู่สรวง มีบิดา ชื่อ พ่อแก้ว มารดา ชื่อ แม่คำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน เป็น ชาย 5 คน หญิง 1 คน หลวงปู่สรวงเป็นบุตรคนที่ 5 บิดามารดาและพี่น้องทั้ง 5 คนไปอยู่เมืองสวรรค์กันทั้งหมด ในสมัยหลวงปู่สรวง อายุ 35 ปี จึงบวชพระเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ตรงกับ วันที่ 21 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 1828 ที่วัดคงคา จังหวัดศรีสะเกษ มีพ่อท่านแก้วเป็นเจ้าอาวาส ตอนนี้วัดนี้ไม่มีแล้ว พระครูเทพโลกอุดร เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ บวชแล้วอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดคงคา พระครูเทพโลกอุดรได้มาโปรดปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยๆ

ออยเตียนสรูลท่านชี้ บอกทาง แปลว่าอย่าเหินห่าง แบ่งให้
สรูลสุขเกิดทางสว่าง จากจิต ตนนา หมั่นสั่งสมก่อไว้ สุขแท้ตลอดกาลฯ "

ป.ปิโย ภิกขุ.​

ตำนานที่ 2 เล่าว่า

หลวงปู่สรวง แต่เดิมเป็นชาวกัมพูชา และได้เดินทางมาอยู่บริเวณอำเภอขุนหาญ และอำเภอขุขันธ์ แถบชายแดนตามเชิงเขาพนมดังรัก (พนมดองเร็ก) ซึ่งเป็นเขตกั้นกลางระหว่างประเทศกัมพูชา ท่านเป็นผู้ทรงศีลปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ และได้พักอาศัยอยู่ตามกระท่อมในไร่นาของชาวบ้านโคก และเวียนไปในที่ต่างๆ นานๆ ก็จะกลับมาให้เห็น ณ ที่เดิมอีก

LP Suang 02

ในสายตาและความเข้าใจของชาวบ้านในสมัยนั้นมองท่านว่า เป็นผู้มีคุณวิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป และเรียกขานท่านว่า “ลูกเอ็อวเบ๊าะ” หรือ “ลูกตาเบ๊าะ” (เป็นภาษาเขมร หมายถึงพระดาบสที่เป็นผู้รักษาศีลอยู่ตามถ้ำตามป่าเขา)

ในสมัยนั้น มีป่าเขาอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาพันธุ์ มีลูกศิษย์ติดตามหลวงปู่เดินธุดงค์ตามป่าเขาแถบชายแดนไทย ตลอดจนถึงประเทศเขมร แต่ก็อยู่กับหลวงปู่ได้ไม่นานจำต้องกลับบ้าน เนื่องจากทนความยากลำบากไม่ไหว หลวงปู่จึงเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ โดยลำพัง ทำให้ไม่มีใครทราบถิ่นกำเนิดและอายุของหลวงปู่ที่แท้จริง รู้เพียงแต่ว่าหลวงปู่เป็นชาวเขมรต่ำ ได้เข้าอาศัยในประเทศไทยนานแล้ว

คนแก่คนเฒ่าผู้สูงอายุที่เคยเห็นท่านต่างพูดว่า พอจำความได้ก็เห็นท่านอยู่ในลักษณะเหมือนที่เห็นในปัจจุบันนี้ ผิดไปจากเดิมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งหลวงปู่เป็นคนพูดน้อย และไม่เคยเล่าประวัติส่วนตัวให้ใครฟัง จึงไม่มีใครทราบประวัติและอายุที่แท้จริงของท่านได้ ชาวบ้านแถบนี้เห็นหลวงปู่บ่อยๆ ที่ป่าบ้านตะเคียนราม วัดตะเคียนราม (อำเภอภูสิงห์) แถวบ้านลุมพุก ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ และตามหมู่บ้านอื่นๆ รอบชายแดน ท่านจะอยู่แถบนี้โดยตลอด แต่ก็จะไม่อยู่เป็นประจำในที่ใดที่หนึ่ง บางทีหายไป 2-3 ปีก็จะกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยที่ไม่รู้ว่าหลวงปู่ไปไหน มาระยะหลังๆ นี้พบหลวงปู่เป็นประจำอยู่ในกระท่อมนาข้างต้นโพธิ์ บ้านขะยอง วัดโคกแก้ว บ้านโคกเจริญ กระท่อมนาระหว่างบ้านละลม กับบ้านจะบก กระท่อมนาบ้านรุน (อำเภอบัวเชด) และบ้านอื่นๆ ใกล้เคียง

ในระยะนี้ มีผู้ปวารณาเป็นลูกศิษย์อาสาขับรถให้หลวงปู่นั่งไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้มีผู้รู้จักหลวงปู่มากขึ้นทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละวันจะมีผู้ขับรถเข้ามากราบไหว้หลวงปู่เป็นจำนวนมาก บางคนก็สมหวังมีโอกาสได้กราบนมัสการ บางคนมาไม่พบก็ต้องนั่งรอนอนรอจนกว่าหลวงปู่จะกลับมา ถึงแม้ว่าจะพบความลำบากเพียงไรก็ยอมทน เพียงขอให้มีโอกาสกราบหลวงปู่สักครั้งหนึ่งในชีวิต

LP Suang 03

หลวงปู่เป็นพระที่มักน้อย สันโดษ สมถะ มีอุเบกขาสูงสุด ให้ความเมตตากับผู้ที่ไปหาทุกคน ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากันหมดไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นคนยากจน เป็นเศรษฐี ใครรู้จักหลวงปู่มานานขนาดไหน หรือได้ติดตามรับใช้หลวงปู่มานานก็ตาม ท่านไม่เคยเอ่ยปากนับว่าเป็นศิษย์ หรือใช้สิทธิพิเศษแก่คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะแม้แต่คนเดียว ทุกคนจะได้รับความเมตตาจากหลวงปู่เสมอมา จึงมีผู้มากราบไหว้หลวงปู่เป็นประจำ และกลับมาหาหลวงปู่อยู่เสมอ

ความเป็นอยู่ของหลวงปู่นั้นท่านอยู่อย่างเรียบง่าย จำวัดอยู่ตามกร่ะท่อมนาเล็กๆ มีกระดานไม้ปูไม่กี่แผ่น (บางครั้งก็มีแค่ 2-3 แผ่น) แค่พอนอนได้ ทุกแห่งที่หลวงปู่จำวัดจะมีเสาไม้สูงปักอยู่ มีเชือกขาวขึงระหว่างกระท่อม เสาไม้หรือต้นไม้ข้างเคียงมีว่าวขนาดโตที่บุด้วยจีวร หรือกระดาษแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์ ที่ขาดไม่ได้คือจะต้องให้ลูกศิษย์ก่อกองไฟไว้เสมอ บางครั้งลูกศิษย์เอาของถวายท่านก็จะโยนเข้ากองไฟ ฉะนั้น ถ้าเห็นว่ากระท่อมใดมีสิ่งของดังกล่าว ก็หมายถึงว่าเป็นที่ที่หลวงปู่เคยจำวัดหรือเคยอยู่มาก่อน

LP Suang 10

พระครูโกศลสิกขกิจ “หลวงพ่อพุฒ วายาโม” เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า มีลูกศิษย์วัดมาบอกว่า หลวงปู่สรวง ได้มาเยือนวัดไพรพัฒนา จึงรีบออกไปเพื่อต้อนรับ ปรากฏว่า ไม่พบหลวงปู่ ไม่ทราบว่าหายไปทางทิศใด บุคลิกและกิจของหลวงปู่สรวง จะมีลักษณะความสันโดษ แม้ว่าท่านจะมีผู้คอยติดตามรับใช้ ท่านก็ไม่เคยยึดติด หลวงปู่ยังคงใช้ชีวิตธรรมดา พักอาศัยตามกระท่อมของชาวบ้าน เมื่อท่านได้รับปัจจัยมา ท่านก็ไม่ยึดติดและทำการให้ทานแก่คนยากไร้มาโดยตลอด และหลายๆ ครั้งท่านก็แทบจะไม่สนใจลาภสักการะเงินทองอะไรเลย มีเรื่องเล่าว่า บางครั้งหลวงปู่ยังนำเงินบริจาคลงบนกองไฟก็มีมาแล้ว มีผู้ติดตามเล่าให้ฟังว่าไม่เคยเห็นหลวงปู่นอนหลับเลย บางครั้งไม่ฉันเป็นสิบๆ วันก็ยังอยู่ได้เป็นปกติ

บางครั้งไม่เห็นท่านนานหลายวัน อยู่ดีๆ ก็เห็นท่านกลับมาอีกครั้ง โดยจะสังเกตุได้จากว่าวที่แขวนหน้ากระท่อม ถ้าหลวงปู่สรวงไม่อยู่ ว่าวนี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน บางครั้งก็นุ่งห่มเหลือง บางครั้งก็แต่งขาว ชาวบ้านถือเป็นเรื่องปกติเพราะเป็น มหามุนีเทพดาบส โดยทั่วๆไปที่เรียกว่า หลวงปู่ นั้น ด้วยมีกิจปฏิบัติเฉกเช่นสงฆ์

LP Suang 07

ล่วงเข้าปี 2540 ช่วงเย็นวันหนึ่ง หลวงปู่สรวงเดินทางมาที่ตำบลไพรพัฒนา กำนันทวาย ไพรบึง จึงจัดขัน 5 ขัน 8 อันเป็นเครื่องสักการะ แล้วนิมนต์ให้จำวัดไพรพัฒนา วันรุ่งขึ้นพอฟ้าสางก็หายไปอีก อีกชั่วระยะหลวงปู่สรวงก็กลับมาอีก หลวงพ่อพุฒจึงนำขันดอกไม้ไปสักการะและก่อกองไฟให้ หลวงปู่ฯ จึงเทศนาให้ฟังจนดึก แล้วเขียนอักขระให้ 3 ตัวคือ อองโพธิสัตว์ ออยกังกูย เพียวะเนีย (เป็นพระให้เจริญภาวนา) เทอเจิ๊ด ออยสะหรูด (ทำให้สบาย) เทอเจิ๊ด ออยสะโหลด (ทำให้บริสุทธิ์)

ความอัศจรรย์มากมาย ที่เล่าต่อๆ กันมามีมากมาย ทั้งจากลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาส และพระสงฆ์ ต่างก็พากันยืนยันในเรื่องความดีงามของหลวงปู่สรวง อีกทั้งผู้คนมากมาย มักมีโชคลาภ และเชื่อกันว่าเป็นเพราะบารมีหลวงปู่สรวง การเล่าปากต่อปาก มากมายในเรื่องราวปริศนา และความอัศจรรย์ต่างๆ เป็นเหตุให้ผู้คนจากทั่วสาระทิศ วนเวียนมากราบไหว้บูชาหลวงปู่สรวงอย่างไม่ขาดสาย

เหตุการณ์ในวันที่ 8 กันยายน 2542 (ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง)

LP Suang 01ตามปกติแล้ว หลวงปู่จะมีสุขภาพแข็งแรง สามารถนั่งรถเดินทางไปไหนมาไหนได้เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน โดยหยุดพักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่านจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หรือแสดงอาการว่าเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด จะมีบ้างก็เป็นการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และก็หายได้ในเร็ววัน เพิ่งจะมีอาการป่วยปรากฏไม่กี่เดือนหลังนี้ หลวงปู่มีอาการป่วยและฉันอาหารไม่ได้เป็นเวลาหลายวัน ท้ายสุดหลวงปู่ได้มาพักอยู่ที่กระท่อมนาข้างวัดป่าบ้านจะบก ในเวลาประมาณ 14.00 น. อาการป่วยของหลวงปู่ก็กำเริบหนัก โดยหลวงปู่ได้บอกบรรดาศิษย์ว่าจะไปที่บ้านรุน และได้ให้นายกัณหาผู้เป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่ง ซึ่งอยู่บ้านละลมถอดเสื้อออกมาโบกพัดด้านหลังหลวงปู่

หลังจากพัดอยู่นานพอสมควร ก็ได้สั่งให้ลูกศิษย์ที่รวมกันอยู่ในกระท่อมในขณะนั้น ช่วยกันงัดแผ่นกระดานปูกระท่อม ที่หลวงปู่นั่งทับอยู่ออกมาหนึ่งแผ่น ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ยังนั่งอยู่บนกระดานแผ่นนั้น พองัดออกมาหลวงปู่ได้พนมมือไหว้ทุกทิศ เสร็จแล้วก็ให้ศิษย์หามท่านออกมาจากกระท่อม วางบนพื้นดินด้านทิศเหนืออยู่ระหว่างกระท่อมกับต้นมะขาม โดยตัวท่านเองหันหน้าเข้ากระท่อม

ขณะนั้น มีผู้นำน้ำดื่มบรรจุขวดมาถวายสองขวด หลวงปู่ได้เทราดตนเองจากศีรษะลงมาจนเปียกโชกไปทั้งตัว คล้ายกับเป็นการสรงน้ำครั้งสุดท้าย นายชัยผู้ขับรถให้หลวงปู่นั่งเป็นประจำได้นำรถมาเทียบใกล้ๆ แล้วช่วยกันพยุงหลวงปู่ขึ้นรถแล้วขับมุ่งตรงไปที่บ้านรุน ซึ่งอยู่ในอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายสุข หรือนายดุง (คนบ้านเจ๊ก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) ขับรถติดตามไปเพียงคนเดียว พอถึงบ้านรุนนายชัยได้หยุดรถตรงหน้าบ้านนายน้อย เพื่อจะบอกให้นายน้อยตามไป แต่หลวงปู่ได้บอกให้นายชัยขับรถไปที่กระท่อมโดยด่วน โดยสั่งว่า “โตวกะตวม โตวกะตวม กะตวม”

พอถึงกระท่อมนาก็ได้อุ้มหลวงปู่วางลงบนแคร่ที่ตั้งอยู่ในกระท่อม แล้วช่วยก่อกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่หลวงปู่ นายสุขได้อาสาออกไปหาอาหารข้างนอก เพื่อมาถวายหลวงปู่และรับประทานกันเอง นายสุขไปที่บ้านโคกชาติ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ ไปหานายจุก นางเล็ก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ไปอุปัฏฐากหลวงปู่เป็นประจำ โดยบอกให้นายจุกรีบไปบ้านรุนเพื่อให้ไปดูอาการหลวงปู่ ซึ่งมีอาการป่วยหนักกว่าปกติ ส่วนตัวเองกับสามีก็รีบขับรถตามมาทีหลัง พอมาถึงกระท่อมปรากฏว่า ไม่มีรถของนายชัยจอดอยู่ พวกที่อยู่ก็ช่วยกันประกอบอาหารอย่างรีบเร่งเพื่อจะให้หลวงปู่ได้ฉัน

โดยหวังว่าหากหลวงปู่ฉันแล้ว ก็คงจะทำให้หลวงปู่มีอาหารดีขึ้นบ้าง แต่หลวงปู่ไม่ยอมฉันเลย แม้จะพากันอ้อนวอนอย่างไรท่านก็นิ่งเฉย นายชัยที่ออกไปทำธุระข้างนอกได้กลับมา โดยขับรถตามนายน้อยที่นำของมาถวายหลวงปู่เหมือนเดิม เมื่อไม่สามารถที่จะทำให้หลวงปู่ฉันได้ ทุกคนก็พิจารณาหาวิธีการว่าจะช่วยหลวงปู่ได้อย่างไร

ในที่สุดก็มีความเห็นว่า ให้รีบแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปด (ดอกไม้ธูปเทียน) ขอขมาหลวงปู่โดยด่วน ตามที่เคยกระทำมาแล้วและได้ผลมาหลายครั้ง หลวงปู่หายจากการป่วยทุกครั้งไป โดยการยืนยันของนายชัยว่า ถ้าได้แต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดขอขมาพร้อมนิมนต์แม่ชีมาร่วมสวดมนต์ให้ท่านฟังด้วย แล้วท่านก็จะหายเป็นปกติ ทุกคนเห็นชอบด้วยจึงให้นายชัยรีบไปดำเนินการโดยด่วน

นายชัยขับรถออกไปที่บ้านขยุง เพื่อไปหาคนที่เคยแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปด เมื่อนายชัยออกไปแล้วลูกศิษย์ที่อยู่ในที่นั่น ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านบ้านรุนและลูกน้องอีกหลายคน รวมทั้งเจ้าของกระท่อมนาที่หลวงปู่พักอยู่ด้วยได้ช่วยกันแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดเฉพาะหน้าไปก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาจนกว่านายชัยจะตามคนแต่งมาแต่งให้อีกทีหนึ่ง โดยตัวนายน้อยเองได้อาสาไปหาธูปเทียนจากข้างนอก นายน้อยได้ขับรถไปประมาณ 300 เมตรก็ไปติดหล่มไม่สามารถขับออกไปได้ ทั้งๆ ที่เป็นทางเข้าออกเป็นประจำไปมาได้สะดวกตลอดเวลา และด้วยความร้อนใจอยากจะได้ธูปเทียนมาโดยเร็ว นายน้อยได้จัดการล็อครถแล้วอุ้มลูกเดินออกไป

ช่วงนั้นเอง นายชัยก็ได้ขับรถเข้ามาแต่ก็ผ่านเข้ามาไม่ได้ เนื่องจากรถของนายน้อยจอดติดหล่มขวางไว้ จึงได้กลับรถแล้วเอาไปจอดไว้ที่บ้านนายน้อย ระหว่างที่กำลังคอยนายน้อยออกไปซื้อธูปเทียนนั้น บรรดาชาวบ้านบ้านรุน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านก็ได้ทยอยกันลากลับทีละคนสองคน มีชาวบ้านรุนซึ่งเป็นผู้หญิงพูดออกความเห็นว่า ถ้าจะให้ดีแล้วควรนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลน่าจะเป็นการดีที่สุด แต่ก็กลับบ้านไปจนหมด ไม่เหมือนทุกครั้งที่เขาเหล่านั้นจะอยู่กับหลวงปู่ตลอดเวลาไม่ยอมกลับกันง่ายๆ จะกลับไปก็ต่อเมื่อหลวงปู่ได้ไปที่อื่นแล้วเท่านั้น

มีลูกศิษย์อยู่กับหลวงปู่ในกระท่อมแค่ 8 คนเท่านั้น รวมทั้งเด็กที่เป็นลูกของนายจุกนางเล็กด้วย ทุกคนต่างก็หาวิธีการที่จะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของหลวงปู่ ซึ่งขณะนั้นเมื่อจับดูตามร่างกายของหลวงปู่จะเย็นจัดตลอดเวลา บางคนได้เอาหมอนไปอังไฟให้ร้อนแล้วนำมาประคบตามร่างกายของหลวงปู่ เอาผ้าชุบน้ำเช็ดนิ้วมือนิ้วเท้าหลวงปู่ ทำความสะอาดและเช็ดทั้งร่างกาย โดยย้ำว่าให้ทำความสะอาดดีที่สุด บางจุดที่เท้าของหลวงปู่ที่ลูกศิษย์เช็ดให้ไม่สะอาดพอ หลวงปู่ก็จะใช้นิ้วเกาออกอย่างแรงจนสะอาด เมื่อทำความสะอาดร่างกายพอสมควรแล้ว หลวงปู่เอ่ยออกเสียงแผ่วเบามาเป็นภาษาเขมรว่า “เนียงนาลาน” (นาง..ไหนล่ะรถ)

LP Suang 06

ซึ่งเสียงที่เปล่งออกมานั้นแผ่วเบามาก ทุกคนเข้าใจว่าเนียงนั้นหมายถึงนางเล็ก จึงได้พากันอุ้มหลวงปู่ไปขึ้นรถของนายจุกนางเล็ก ผู้ที่อุ้มมีนายจุกและนายตี๋ นายสุขเป็นผู้เปิดประตูรถให้ พอนำหลวงปู่ขึ้นนั่งบนรถ ลูกศิษย์ได้ปรับเบาะเอนลงเพื่อจะให้หลวงปู่ได้เอนกายสบายขึ้น ท่านได้พยายามยื่นมือมาดึงประตูรถปิดเอง ลูกศิษย์ก็ได้ช่วยปิดให้ รถเคลื่อนออกจากกระท่อมเพื่อจะไปโรงพยาบาลบัวเชด ซึ่งใกล้ที่สุด แต่ไปได้ไม่ถึง 50 เมตร อาการของหลวงปู่ก็เริ่มหนักขึ้นทุกที จนลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยด้านหลังตกใจและร้องขึ้นว่า “หลวงปู่อาการหนักมากแล้ว” จึงจอดรถ

ผู้ที่นั่งอยู่รถคันหลวงก็วิ่งเข้ามาดูแล้วก็บอกว่า อย่างไรก็ต้องนำหลวงปู่ไปส่งให้ถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ รถจึงออกอีกครั้ง แต่ไม่สามารถจะไปได้ เพราะรถของนายน้อยติดหล่มขวางทางอยู่ นายจุกได้ร้องตะโกนบอกให้นายจันวิ่งไปสำรวจดูเส้นทางอื่นว่าจะนำรถออกไปทางไหนได้อีก เมื่อดูโดยทั่วแล้วก็เห็นว่ามีทางออกอีกเพียงทางเดียว ก็คือขับฝ่าทุ่งหญ้าออกไปหาถนน เมื่อดูสภาพทางแล้วก็ไม่น่าจะออกไปได้ แต่ก็ตัดสินใจขับออกไปและก็สามารถขับผ่านออกไปได้

เหตุการณ์บนรถในขณะที่กำลังเลี้ยวรถเพื่อจะขับผ่านทุ่งหญ้าออกไปนั้น ได้มีอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณแสดงว่า หลวงปู่จะมรณภาพแน่นอนให้คนที่อยู่บนรถเห็น ต่างคนก็ร่ำไห้มองดูด้วยความอาลัยและสิ้นหวัง หลวงปู่เริ่มหายใจแผ่วลง ในที่สุดได้ทอดมือทิ้งลงข้างกายแล้วก็จากไปด้วยความสงบ อย่างไรก็ตาม ลูกศิษย์ก็ยังคงนำหลวงปู่มุ่งไปที่โรงพยาบาลด้วยความหวังว่า หมอจะสามารถช่วยให้หลวงปู่ฟื้นขึ้นมาได้

ระหว่างทางไปโรงพยาบาลนั้น นายสาด ชาวบ้านตาปิ่น อำเภอบัวเชด ก็ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมา นายจุกชะลอรถแล้วตะโกนบอกให้นายสาดตามไปที่โรงพยาบาลบัวเชดด่วน โดยบอกว่าอาการหลวงปู่นั้นแย่มาก ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่ พอไปถึงโรงพยาบาลแพทย์และนางพยาบาลได้รีบนำหลวงปู่เข้าห้องฉุกเฉิน ทำการตรวจโดยละเอียด แล้วสรุปว่าหลวงปู่สิ้นลมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง แต่ลูกศิษย์ต่างก็ยืนยันว่าสิ้นลมไม่เกิน 10 นาทีแน่นอน เพราะระยะทางจากบ้านรุนมาโรงพยาบาลบัวเชิดประมาณ 10 กิโลเมตร และก็ได้ขับรถมาอย่างเร็วด้วย ลูกศิษย์ไม่ให้ทางโรงพยาบาลฉีดยา หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับร่างกายของหลวงปู่ทั้งสิ้น เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะช่วงหลวงปู่ได้แน่นอนแล้วก็พากันนำร่างหลวงปู่กลับ

พอมาถึงบ้านตาปิ่น ก็ได้แวะจอดเอาจีวรเก่าของหลวงปู่ที่เคยให้นายสาดไว้ เพื่อนำมาครองหลวงปู่ให้อยู่สภาพที่เรียบร้อย นายสาดก็ได้นำขึ้นรถมาด้วย พอถึงบ้านรุน นายชัยและนายน้อยได้จอดรถรออยู่แล้วก็ได้แจ้งว่า หลวงปู่มรณภาพแล้ว ต่างคนต่างก็รีบขับรถออกมาโดยมุ่งหน้าไปทางบ้านละลม พอมาถึงบ้านไพรพัฒนา นายจุกได้ขับรถแวะเข้าที่วัดไพรพัฒนาเพื่อแจ้งข่าวให้หลวงพ่อพุฒ วายาโม เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนาได้ทราบว่า หลวงปู่ได้มรณาภาพแล้ว

ขณะนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. หลวงพ่อพุฒกำลังนั่งสนทนากับพระลูกวัดอยู่ก็มีรถ 4 คัน วิ่งเข้ามาจอด มีนายสาด ตาปิ่น ซึ่งเป็นคนที่รู้จักขึ้นมาบนกุฎิแล้วบอกหลวงพ่อพุฒว่า หลวงปู่มรณภาพแล้ว หลวงพ่อพุฒอึ้งอยู่ขณะหนึ่งแล้วถามว่า มรณภาพที่ไหน นายสาดตอบว่า มรณภาพโรงพยาบาล และได้นำร่างของท่านมาพร้อมกับรถนี้แล้ว หลวงพ่อพุฒจึงลงไปที่รถแล้วเปิดประตูกราบลงบนตักหลวงปู่ แล้วเอามือจับตามร่างกาย และถามบรรดาลูกศิษย์ว่าจะดำเนินการกันต่อไปอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า จะนำศพหลวงปู่ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านขยุง หลวงพ่อพุฒบอกให้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนจะตามไปทันที

รถทั้งสี่คันเคลื่อนตัวออกจากวัดไพรพัฒนามุ่งหน้าไปยังบ้านขยุง หลวงพ่อพุฒที่ได้เดินทางตามมาได้อธิษฐานว่า “สาธุ ถ้าหากหลวงปู่มีความประสงค์จะให้ลูกหลานได้เป็นผู้บำเพ็ญกุศล ก็ขอให้หลวงปู่ได้กลับมายังวัดด้วยเถิด” พอถึงหน้าวัดป่าบ้านโคกชาติ มีรถหลายคันจอดอยู่ ปรากฏว่า ขบวนที่นำร่างหลวงปู่มาบอกว่าจะนำร่างหลวงปู่กลับมาบำเพ็ญกุศลที่วัดไพรพัฒนา หลังจากที่เดินทางกลับมาถึงวัดไพรพัฒนาแล้ว หลวงพ่อได้ให้อัญเชิญร่างของหลวงปู่มาไว้ที่ศาลาพร้อมกับจุดธูปอธิษฐานว่า “หากเป็นความประสงค์ของหลวงปู่ที่จะให้ลูกหลานได้บำเพ็ญกุศลในที่นี่จริง ก็ขอให้ดำเนินการไปโดยเรียบร้อย และก็ขอให้มีลูกศิษย์ของหลวงปู่เดินทางมาร่วมบำเพ็ญกุศลโดยทั่วกันด้วย”

LP Suang 08

ต่อจากนั้นก็ได้ดำเนินการบำเพ็ญกุศลให้กับหลวงปู่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน นี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดว่า เหตุใดสรีระหลวงปู่สรวงจึงได้มาตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

คำสอนของหลวงปู่สรวง ที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ

ออย เตียน สรูล แปลว่า ให้ทาน มีความสุข "

ออยเตียน เมียนบาน" แปลว่า "ให้ทาน แล้วจะร่ำรวย "

เทอเจิด ออยสะโลด" แปลว่า "ทำจิตให้บริสุทธิ์แจ่มใส "

เต็อวเวือด เรียะษาเซ็ล" แปลว่า "ไปวัด รักษาศึล "

พรที่หลวงปู่สรวงให้เราตลอดมา คือ

บายตึ๊กเจีย แปลว่า ข้าวน้ำดี
หมายถึง ให้อยู่ดีมีสุข อุดมสมบูรณ์ด้วย ความพอเพียง "

LP Suang 09

 วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)