pra tam tesana header

พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อกัณฑ์นี้ ได้เทศน์โปรดญาติโยมที่วัดถ้ำแสงเพชร (สาขาวัดหนองป่าพง) จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516

kobtao fao korbua

" ...เราลองมาพิจารณาดูซิว่า มันมีเหตุมีผลแค่ไหน นี่แหละคือการทำตามประเพณี
ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้นมาแล้ว แล้วก็มักอ้างว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
อาตมาว่าจะทำมาตั้งแต่สมัยไหนก็ตามทีเถอะ ถ้ามันไม่ถูกก็ต้องทิ้งมันทั้งหมดนั้นแหละ... "
 

cha 07บุญกุศลคือความดี ไม่ก่อกวน ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ดังนั้นจึงว่าเราไม่เคยได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าเลย เวลาของหาย ลูกตาย เมียตาย จึงพากันร้องไห้ตาเปียกตาแฉะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะไม่ได้ฝึกไว้ ไม่ได้ซ้อมไว้ ไม่รู้ว่าของมันเกิดได้ ตายได้ มันหายเป็น มันเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ นะ ดูซิ บ้านไหนเมืองไหนมันก็เป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านให้มาภาวนา ภาวนาคืออะไร? คือมาทำจิตใจให้สงบเสียก่อน ปกติใจมันมีอะไรหุ้มห่ออยู่ เป็นใจที่ยังเชื่อไม่ได้ ถ้ามาทำให้สงบแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมา ใจมันสบาย สงบ มันจะแสดงอะไรออกมา เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ

มันจะค่อยพิจารณาไป เกิดความรู้ว่า อันนี้มันพาดี พาไม่ดี พาผิดพาถูก ท่านให้พิจารณาอันนี้ก่อน เรียกว่า สมถภาวนา เมื่อใจเราสบาย มันสว่าง มันขาว มันสงบ ความนึกคิดที่จิตใจสบายขึ้น มันต่างจากความนึกคิดของคนที่ไม่สบายใจ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ คือคนนึกคิดไม่ดี ใจไม่สบาย คิดไปทั่ว

อย่างพวกเราทั้งหลายที่พากันทำวันนี้ บางคนอาจไม่เคยทำเลย เคยแต่ไปเรียนเอาคาถากับคนนั้นคนนี้ ได้คาถาแล้วก็ไปภาวนาให้พ่อให้แม่ ให้คนโน้นคนนี้ สัตว์โน่นสัตว์นี่ ให้ตนเองไม่มี ตนไม่มีความดี แต่จะให้ความดีแก่คนอื่น จะเอาความดีที่ไหนไปให้เขา อย่างเราจะภาวนาให้พ่อแม่หรือใครก็ตาม ทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว เบื้องแรกเราต้องภาวนาให้ตัวเองก่อน เพื่อชำระความชั่วออกจากจิตใจ ให้ความดีปรากฏขึ้นในตัวเรา ต่อจากนั้นจึงแผ่ความดีที่ตนมีตนได้ให้แก่คนอื่น อย่างนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่าให้ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มี นี่คือความเข้าใจผิด ภาวนาแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

การภาวนาคือทำให้เกิดขึ้นมีขึ้น ที่ไม่รู้ทำให้มันรู้ ที่ไม่ดีทำให้มันดี ใจเป็นบาปเป็นกรรมทำให้เป็นบุญเป็นกุศล การสร้างบุญไม่ใช่ทำโดยการให้ทานอย่างเดียว การรักษาศีล การเจริญเมตตาภาวนา การฟังธรรมเหล่านี้เป็นบุญทั้งหมด เป็นเหตุที่จะให้บุญเกิด บางคนจะทำบุญแต่ละที ก็คอยแต่จะให้มีเงินมากๆ เสียก่อน เลยไม่ได้ทำสักที เห็นคนอื่นทำก็ออนซอนกับท่าน คิดว่าเพิ่นบุญหลายนอ คนไม่รู้จักบุญ บุญไม่ใช่อย่างนั้น การละความชั่ว ละความผิดมันก็เป็นบุญแล้ว การรักษาศีล การเจริญภาวนา การฟังพระธรรมเทศนา ทำให้เกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา เหล่านี้ก็ทำให้เกิดบุญขึ้นได้ แล้วคนเราสมัยนี้เข้าใจว่า การทำบุญก็คือการให้ทานเท่านั้น เพราะส่วนมากได้ยินพระท่านเทศน์เรื่อง ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี แต่ไม่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจ (ออนซอน : พลอยยินดีกับคนอื่นในสิ่งที่เขาทำได้ แต่ตนเองไม่มีวาสยา แต่แฝงด้วยความอยากมีอยากเป็นเช่นนั้น)

kobtao 02

คนส่วนมากจึงมักเข้าใจกันว่า การทำบุญคือการนำเอาสิ่งของไปถวายพระมากๆ คนยากคนจนก็เลยทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจภาษาบาลีดังที่กล่าว ความจริงเรื่องการให้ทานท่านแบ่งไว้ 3 ระดับ คือการเสียสละสิ่งของภายนอกจัดเป็นทานบารมี การสละอวัยวะจัดเป็นทานอุปบารมี การสละชีวิตจัดเป็นทานปรมัตถบารมี หรือ ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม

เหล่านี้ถ้าเราเข้าใจก็ไม่มีปัญหา ไม่ว่าคนรวยคนจนก็สามารถทำบุญให้ทานได้ โดยเฉพาะทานที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทอง คือ อภัยทาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ และทานชนิดนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญด้วย ดังนั้นการสร้างคุณงามความดีมีอยู่หลายอย่าง ให้พากันเข้าใจ บางคนคิดว่าการทำบุญให้ทานได้ผลอานิสงส์มาก ก็ทุ่มเทใส่จนหมดเนื้อหมดตัว ไม่รู้เรื่อง

ส่วนคนรู้เรื่อง มีขนาดไหนก็ใช้ไปขนาดนั้น มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำถูกมันเป็นบุญเป็นกุศลทุกอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างเช่น การช่วยเขาขุดบ่อน้ำริมถนน เราผ่านไปก็ได้เห็น เขาทำอะไรก็ช่วยทำ ถามว่าได้บุญไหม ตอบว่าได้ ได้อย่างไร การช่วยเขาขุดบ่อน้ำ ต่อไปภายหน้าเราก็ไม่ต้องซื้อน้ำ ใครผ่านมาก็ไม่ต้องซื้อกิน เพราะเป็นน้ำสาธารณะ ให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วๆ ไป อย่างนี้เป็นต้น  

อย่างเราอยู่ศาลาก็ช่วยเขาปักกวาด เขาถอนหญ้าเราก็ช่วย เขาทำอะไรก็ช่วย ไปอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เหมือนกัน จะเป็น 2 วัน 3 วัน ก็ต้องช่วยเขาทำในสิ่งที่เราทำได้ นี้เรียกว่า บุญ บุญมันอยู่ที่ใจของเราบ้านไหนมีบุญเรารู้ได้ คนในบ้านรู้จักเคารพพ่อแม่ เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ ทำอะไรก็มีความสุข มีความหมาย คนไม่รู้จักบุญก็วุ่นวายอยู่นั่น จะทำบุญแต่ละครั้งต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ไม่รู้จักเสียเลยจริงๆ บุญไม่ลำบากอย่างนั้นนะ ง่ายๆ ทำไปแล้วสบาย คิดขึ้นมาตอนไหนก็สบายใจ จะอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็สบาย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเข้าถึงธรรมะแล้วเป็นอย่างนั้น

 lp cha 03

โยมผู้ชายก็รู้เรื่องโยมผู้หญิง โยมผู้หญิงก็รู้เรื่องโยมผู้ชาย คนหนึ่งโมโห อีกคนหนึ่งก็เฉยเสีย ปล่อยเสีย มันก็สบาย ถ้าไม่รู้จักศีลรู้จักธรรมก็ทะเลาะกันทั้งเช้าทั้งเย็น กูหนึ่ง มึงสอง ไม่รู้จักหยุด ผลที่สุดก็พัง มันก็เดือดร้อน ถ้ารู้จักศีลรู้จักธรรมไม่ต้องเถียงกันหรอก พูดกันคำสองคำก็รู้เรื่อง หยุด มีความเคารพกันอย่างนั้น ผู้ไม่มีศีลมีธรรมก็ดันกันอยู่นั่นแหละ กูสอง มึงสาม กูสี่ มึงห้า เอาตลอดคืนเลย อย่างนี้เรียกว่า หาความไม่ดีมาใส่ตัวเอง คือยังไม่เข้าใจธรรมะ ถ้ารู้จักธรรมะแล้ว โยมผู้หญิงผู้ชายอยู่ด้วยกันสบาย ซื่อสัตย์ต่อกัน จะพูดอะไรก็พูดแต่คำจริงคำสัตย์ ไม่นอกใจกัน อันไหนผิดไปแล้วก็ให้มันแล้วกันไป อย่าเก็บเอามาพูด มันก็จบ อันนี้ไม่อย่างนั้น ของเก่าตั้งแต่สมัยไหนก็ขุดค้นมาว่ากัน จนเกิดทะเลาะกันวุ่นวาย

อยู่ในวัดวาอาราม พระเจ้าพระสงฆ์มีความสามัคคีกัน องค์หนึ่งพูดแล้วก็จบ ไม่มีปัญหา อยู่ในบ้านในเรือนก็เหมือนกัน พ่อแม่พูดแล้วก็แล้วกัน นี้เรียกว่า อำนาจของศีลของธรรม ถ้ามีศีลมีธรรมมันง่ายอย่างนี้ สีเลนะ สุคะติง ยันติ... เราจะมีปัญญาพ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะศีลนี่แหละ ให้เราพิจารณาอย่างนี้

เมื่อก่อนมีโยมคนหนึ่งเป็นชาวส่วย มาหาอาตมา ถามว่า "ครูบาจารย์ให้ข้าน้อยรักษาศีลจะให้กินอะไร" อาตมาตอบว่า "ก็กินศีลนั่นแหละ" กินอย่างไร แกสงสัย เลยบอกว่า รักษาไปเถอะ เดี๋ยวก็ได้กินหรอก แกคิดไม่ออก แย่จริงๆ วันหนึ่งแกมารักษาอุโบสถ แกบอกว่า ไม่รู้คิดอย่างไรหนอ จึงไม่ให้กินข้าวเย็น ลองกินดูก็ไม่เห็นเป็นอะไร เห็นแต่มันอร่อยเท่านั้น แกว่า แล้วทำไมจึงไม่ให้กิน แกคิดไป เลยลองกินดูว่า มันจะผิดเหมือนผีเข้าจ้าวศูนย์หรือเปล่า กินดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดีเสียอีก แกว่า ชั่วขนาดนั้นก็มีนะคนเรา แกมารักษาศีล อาตมาเลยบอกว่า เอ้า ให้รักษากันจริงๆ ลองดู ทุกวันนี้รู้จักแล้ว อาตมากลับไปเยี่ยมที่ภูดินแดง (สาขาที่ 3) แกมากราบทุกปี มาสารภาพกับอาตมาว่า "โอ๊ย ครูบาจารย์แต่ก่อนผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ครูบาจารย์ว่าให้กินศีล ผมไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้คิดได้แล้ว ก็กินศีลอย่างครูบาจารย์ว่า ทุกวันนี้เลยสบาย"

            คนเราให้รักษาศีลรักษาธรรม ก็กลัวแต่ทุกข์ยากลำบาก มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ ศีลธรรมให้ความเบา ความสบายแก่เรา ไม่มีโทษไม่มีภัย คิดไปข้างหน้า คิดไปข้างหลังก็สบาย ถ้ามีศีลธรรม คิดไปข้างหลังความผิดเราก็รู้จัก เมื่อรู้จักเราก็ละพวกนั้น ต่อไปก็บำเพ็ญคุณงามความดี มองไปข้างหน้าก็สบาย มองไปข้างหลังก็สบาย ดังนั้น ความทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ที่ความเห็นผิด ถ้าเห็นผิดมีทุกข์ทันที ถ้าเห็นถูกแล้วก็สบาย พระศาสดาท่านจึงให้สร้างความเห็น การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เพื่อสร้างความเห็นของเรา คือเรายังเห็นไม่ถูกต้อง

ความจริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันพอดี มันสม่ำเสมออยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนต้นไม้ในป่านั่นแหละ ต้นยาวก็มี ต้นสั้นก็มี ตรงก็มี คดก็มี ต้นที่มีโพรงก็มี มีทุกอย่าง มันพอดีของมัน คนต้องการต้นคดก็ไปเอา ต้องการต้นตรงก็ไปเอา อยากได้ต้นสั้นต้นยาวก็ไปเอา มันเลยพอดีของมัน ในโลกนี้ก็เหมือนกัน มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราไม่รู้จักเอามาใช้ ถ้าเอามีดมาใช้มันก็เอาสันมันมาใช้ มีดเล่มเดียวกันนั่นแหละ ใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์

ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาไม่ถูกเรื่องก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้ประโยชน์ เหมือนคนฟังธรรมไม่เข้าใจ ไม่ได้ธรรมะ ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ความเห็นถูกมันก็ไม่มี ถ้าความเห็นไม่ถูกต้อง การปฏิบัติก็ไม่เป็นผล ผลสุดท้ายฟังเทศน์ฟังธรรมก็เลยเบื่อ เพราะฟังแล้วไม่ได้อะไร อย่างนี้ก็มีอันนี้เพราะความไม่เข้าใจในธรรมะ ถ้าเขาใจในธรรมะแล้วไม่มีปัญหา สบาย

kobtao 03

นั่นแหละท่านจึงบอกว่า ธัมโม จะ ทุลละโภ โลเก การที่จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้านี้ก็ยาก คนพูดคนเทศน์มีเยอะ ที่ไหนๆ ก็มี ไม่รู้ว่าพูดขนาดไหน คนปฏิบัติก็เยอะ ไม่รู้ปฏิบัติขนาดไหน ไม่รู้ถูกหรือผิดมันยาก

ปัพพะชิโต จะ ทุลละโภ ฟังธรรมแล้วจะได้บวชในพระศาสนานี้ก็ยาก เหมือนกับญาติโยมจะบวชลูกบวชหลานแต่ละทีมันหาโอกาสยาก ครั้นบวชแล้วจะมีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็ยาก ดังนั้นทุกวันนี้มันจึงน้อยลงไปๆ

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้เป็นคนมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไม่รู้เรื่องจริงๆ เหมือนกับสมัยก่อน มีประเพณีการทำต้นดอกผึ้ง การทำต้นดอกผึ้งเป็นความเชื่อว่า ถ้าบิดามารดาหรือญาติสายโลหิตสิ้นชีวิตไปแล้ว เกรงว่าจะไม่มีที่อยู่ แล้วจะได้รับความลำบาก หากลูกหลานสร้างปราสาทดอกผึ้งอุทิศไปให้แล้ว ก็จะได้มีวิมานหรือปราสาทอยู่อย่างสบาย ไม่น้อยหน้าใครในเทวโลก ก็ทำกันไปตามประเพณี บางทีทำหมดขี้ผึ้งเท่ากำปั้นนี้ แต่เอาควายมาฆ่า เหล้าหมดไม่รู้กี่ลัง ทำกันอย่างนี้จะได้บุญเมื่อไร

สมมุติว่าเราตาย ลูกหลานทำต้นดอกผึ้งไปให้ เราจะต้องการไหม นึกอย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจนะพวกเรา ต้นดอกผึ้งมันจะพาไปสวรรค์ไปนิพพานได้เมื่อไร มันเรื่องเกจิอาจารย์เขียนกันขึ้นมา ว่าทำอย่างนี้ได้บุญหลาย ใครทำแล้วจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ เราลองมาพิจารณาดูซิว่า มันมีเหตุมีผลแค่ไหน นี่แหละคือการทำตามประเพณี ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้นมาแล้ว แล้วก็มักอ้างว่าทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย อาตมาว่าจะทำมาตั้งแต่สมัยไหนก็ตามทีเถอะ ถ้ามันไม่ถูกก็ต้องทิ้งมันทั้งหมดนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านให้มีปัญญา คือให้รู้ตามความเป็นจริง ความจริงไม่ใช่อยู่ที่การกระทำสืบๆ กันมา ความจริงอยู่ที่ความจริง เหมือนจิตใจมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันไม่มีตัวรู้ มันก็ทำไปตามจิตที่มันหลงนั่นแหละ ก็เลยกลายเป็นประเพณีถือกันมาอย่างนั้น อันนั้นมันประเพณีของคน ไม่ใช่อริยประเพณี ไม่ใช่ประเพณีของพระพุทธเจ้า ทำไปก็ไม่เกิดประยชน์ นี่แหละท่านว่าฟังธรรม แต่ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังธรรมจากเกจิอาจารย์ เลยทำกันไปอย่างนั้น

อ่านต่อ : กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัว ตอนที่ 3

redline

backled1