pra tam tesana header

วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ หรือที่พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายเรียกกันว่าเป็นวันพระ เป็นวันชุมนุมผู้ที่มีศรัทธาและความเลื่อมใสมาประพฤติปฏิบัติธรรมะกัน ฉะนั้นต่อไปนี้จงพากันตั้งใจฟัง การฟังธรรมก็ให้รู้จักความหมายถ้าฟังธรรมไม่รู้จักความหมาย ก็เรียกว่าเป็นการเปล่าประโยชน์ ในการฟังธรรมของพวกเรา ธรรมะที่ฟังเป็นทางมรรคที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิพ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นผิด พระบรมครูของเรานั้นท่านให้เดินทางมรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

tam hi mun job

เรามาวัดในวันพระไม่ใช่ว่าเราต้องการอย่างอื่น เรามาวัดเพราะต้องการธรรมะ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะการมาฟังธรรมะนี้ประโยชน์มากตั้งแต่ต้นจนอวสาน เป็นเครื่องรู้จักทาง และไม่ใช่ทางตามสติกำลังของพวกเรา พระพุทธเจ้าทุกองค์และพระสาวกทุกองค์ ที่ดำเนินตามกันมาก็อาศัยการได้ฟัง เรามาฟังธรรมะเพราะว่าเรายังไม่รู้จัก เราจะรู้จักเพราะการมาฟังธรรมให้รู้ การแสดงธรรมก็คนอื่นนั่นแหละแสดงให้ฟัง ทีนี้มันยังเป็นปัญหาอยู่ว่า ท่านจะแสดงผิดหรือถูกนั้น พวกเราก็ยังไม่รู้จัก เพราะว่าเรายังไม่รู้ ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูกเมื่อเราฟังเราก็ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูก มีผู้อธิบายธรรมะให้เราฟังเราก็ฟังไป แต่ไม่รู้ว่ามันผิดหรือมันถูก เพราะเรายังไม่รู้จัก อันนี้มันก็เป็นปัญหาที่สับสนเรียนแม้กระทั่งตัวของเราเอง ถ้าหากว่าเรารู้แล้วคนอื่นจะพูดผิดหรือถูกเราก็รู้จัก แต่ในเมื่อเรายังไม่รู้ คนอื่นพูดผิดหรือถูกเราก็ยังไม่รู้จักแน่นอน เป็นแต่เพียงสำคัญว่าเห็นว่าจะถูกเท่านั้น เห็นแต่เป็นอย่างนั้นเท่านั้น มันจึงเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป

wave handดังนั้นพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ผู้แสวงหาโมกขธรรมความพ้นทุกข์ จึงเกิดความสงสัยลังเลอยู่เรื่อยไป สิ่งไหนก็ยังไม่แน่นอน อะไรก็ยังไม่แน่นอน เพราะอะไรถึงไม่รู้แน่นอน ได้ข่าวว่าอาจารย์องค์นั้นชื่อเสียงดีก็ไป ไปฟัง เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่าอาจารย์องค์นี้ดีขึ้นอีกก็ไปอีก ไปทุกอาจารย์นั่นแหละ แต่ท่านก็มีความเห็นต่างกันไปคนละอย่าง คนละทาง เราเป็นผู้ฟังก็ลังเลสงสัยว่าอะไรผิดอะไรถูกกันแน่ อย่างนี้เราก็ยังผิดอยู่คือยังติดสินใจไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาอยู่ตลอดกาลอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรายังไม่รู้ถึงที่สุดเมื่อไรเราก็จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ปัญหามีอยู่ว่า การฟังธรรมนั้นเราควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นไปในทางที่ดี

เราจึงควรพูดกันให้ดี ฟังให้ดี แล้วก็คิดให้ดี ฟังไม่ดีคิดไม่ดีมันก็ยิ่งไม่เกิดประโยชน์ ฟังดีคิดดีมันก็เป็นประโยชน์ทั้งสองทาง เป็นปัญหาสับสนอยู่อย่างนี้ พระอริยเจ้าทุกๆ องค์จะเป็นผู้มีปัญญามาก หรือน้อยก็ตามก็ได้ตรัสรู้ทั้งนั้น แต่มีปัญญาไม่เท่ากัน เพราะคนเราจะมีปัญญาไม่เหมือนกัน ฟังธรรมอันเดียวกัน กัณฑ์เดียวกัน อาจารย์เดียวกัน แต่ก็ยังไม่รู้เหมือนกันอันนี้ก็เพราะเครื่องรับของเรามันต่างกัน ดังนั้นการฟังธรรมเราควรเก็บหมด ท่านอธิบายมาก็เก็บหมด เก็บไว้แล้วก็อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่ามันถูกหมด อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่ามันผิดหมด เพราะมันเป็นความคิดหรือความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจของเราเท่านั้น หมายความว่าความรู้ตามความเป็นจริงนั้นยังไม่มีในเรา เราถึงเป็นอยู่อย่างนั้น ดังนั้นการตรัสรู้ธรรมะมันถึงเป็นการเนิ่นช้า เพราะเราไม่รู้แน่นอน การไม่รู้แน่นอนนี้เป็นปัญหาที่สับสนเหลือเกิน ทีนี้ถ้าหากว่ามันเป็นปัญหาที่สับสนอย่างนี้เราก็ตกลงใจยังไม่ได้ในเรื่องของความเป็นจริง ดังนั้นเราจึงควรนำเอาอันนี้ไปพิจารณา เพื่อการภาวนานั่นเอง

เมื่อเราฟังไปนั้นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าฟัง เราฟังเราก็พอรู้ แต่รู้ยังไม่ถึง มีทั้งการฟัง มีทั้งการรู้ แต่รู้ยังไม่ถึง มันก็ยังมีความสงสัยลังเลอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย จึงมีแต่ความลังเลสงสัยอยู่ตลอดกาล เมื่อยังมีการลังเลสงสัยอยู่ มันก็ยังไม่เห็นโทษในสิ่งที่ควรละ เพียงศีลสิบเท่านั้นก็ยังรับไม่ได้ มันก็ยังไม่เป็นประโยชน์การปฏิบัติของพวกเรานั้น ไม่ค่อยจะตั้งใจปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงกัน เปรียบเหมือนกับชาวประมงคนหนึ่ง ไปสุ่มปลาในหนองในคลองสุ่มไปๆ

ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีความรู้สึกว่ามีสัตว์ตัวหนึ่งเข้าไปติดอยู่ในสุ่มนั้น มันสัมผัสด้วยกายของเรา ทำให้เราพอจะรู้ได้ แต่เมื่อสัมผัสถึงใจเราก็ยังไม่รู้จัก เพียงแต่รู้ว่ามีตัวอะไรอย่างหนึ่งมาปรากฏอยู่ในสุ่มของเขา เขาก็กดสุ่มลงไปให้แน่น เพราะกลัวว่าถ้าเป็นปลาแล้วมันจะหนีออกไปเสีย กดลงไปให้แน่น แล้วก็เอามือล้วงลงไปก็ปะทะกับสัตว์ที่อยู่ในสุ่มนั้น คลำๆดูก็รู้สึกว่าตัวมันยาวๆ จะว่าเป็นงูก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นปลาไหลก็ไม่ใช่ สงสัยอยู่อย่างนี้ คนสุ่มปลาคนนั้นก็ไม่สบายใจไม่รู้ว่าจะทิ้งหรือจะเอามันดี อย่างนี้ก็เป็น "วิจิกิจฉา" ยังลังเลสงสัยอยู่อย่างนั้น

cha 13ทำให้ชาวประมงนั้นลำบากใจ จะทิ้งหรือจะเอาก็ไม่แน่นอน อันนี้เรียก "วิจิกิจฉา" ถ้าจะปล่อยไปก็กลัวว่ามันจะเป็นปลาไหล หรือว่าจะกำเอามันขึ้นมาก็กลัวว่าจะเป็นงู กลัวมันจะกัดเอา มีความลังเลสงสัยอยู่ จึงเรียกว่าเป็นปัญหาสับสน ในที่สุดก็เลยล้วงลงไปจับเอามันชูขึ้นมาอย่างระมัดระวัง พอมันพ้นน้ำขึ้นมาคอลายๆ เป็นแฉกๆ ก็เห็นชัด รู้ชัดเจนว่ามันเป็นงูเท่านั้นแหละ ก็วางปุ๊บลงโดยไม่รู้ตัวเลย ตัวเรานี้มันก็เตือนตัวเอง มันก็รู้สึกของมันเอง มันแก้เองวางเอง

ทางมรรคก็ไม่ต้องคิดเช่นนั้น ง่ายเหลือเกิน เพราะเราเข้าใจ เราคิดได้ว่าถ้ามันกัดแล้วเราจะตาย มันกัดแล้วเราจะเป็นทุกข์ เห็นชัดเจนแล้วเช่นนี้มันก็วางได้ เพราะมันง่าย อันนี้มันทำกันได้ง่าย เราเห็นตัวตนทั้งหลายซึ่งเป็นที่สุดนั้น ถ้าหากว่าเราเห็นขนาดนั้น เห็นโทษมันอย่างนั้น เห็นอันตรายมันอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครมาพูด หรือมาบอกให้เว้น หรือจ้ำจี้จ้ำไชตัวของเราให้ปล่อยวางความชั่วอันนั้น มันจะปล่อยของมันเอง มันจะรู้มันเอง มันจะเป็นของมันเอง นี่มันเป็นลักษณะอย่างนี้

ถ้าใครเห็นโทษในการกระทำผิดทางกายและทางวาจา หรือทุกอย่างนั้น มันก็ง่ายที่สุด ไม่ใช่ว่ามันยาก จะได้เลิกพูดว่า "แหม! การปฏิบัตินี้มันยากลำบาก" มันยากก็เพราะว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะไม่เห็นโทษในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง มันถึงลำบาก เกิดปัญหาสับสนในการประพฤติปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย ถ้าเราเห็นชัดเจนเข้าไปจริงๆอย่างชาวประมงคนนั้น จับตัวงูชูพ้นน้ำขึ้นมา เห็นว่าเป็นงูจริงๆ แล้วก็วาง โดยที่ไม่ต้องมีใครไปบังคับบัญชามัน ตัวเราเมื่อเกิดความรู้สึก มันก็ปล่อยวางของมันเองอย่างนั้น นี่เรียกว่ามันง่ายดี

คือมันเป็นอย่างนี้ถ้าเราเห็นชัดแจ้ง มันง่ายที่สุด มันไม่ยาก ถ้าเราจะทิ้งขณะที่เรายังไม่เห็นชัด มันก็ลำบาก มันจึงเป็นวิจิกิจฉา มันลังเลสงสัยอยู่อย่างนั้นตลอดกาลตลอดเวลา การฟังธรรมะให้รู้จักตามความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะรู้เฉพาะที่ท่านเทศน์ให้ฟังอย่างนี้ รู้ในเวลานี้เป็นการรู้ในสัญญาเท่านั้นท่านพูดไป เราก็ฟังไปพิจารณาไป พิจารณาไปเท่านั้นถ้าเราเชื่อ เชื่อเพราะอะไร? เชื่อเราก็เชื่อผู้อื่น ความเชื่อผู้อื่นนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ พระพุทธองค์นั้นสรรเสริญผู้ที่รู้ด้วยตนเอง เป็นสิกขีภูโตเอาตนเองเป็นพยานของตน ฟังธรรมจากพระองค์อื่น ฟังธรรมจากผู้อื่นแล้วรู้ รู้แล้วน้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก มาพิจารณาให้เกิดความรู้เกิดความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง เห็นว่ามันเป็นโทษจริงๆ อย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

arjhan cha 10

เหมือนชาวประมงคนนั้นรู้จักอสรพิษอย่างแท้จริง อันนี้มันก็ทำให้ปล่อยวางความเชื่อทุกอย่าง ไม่ต้องสงสัยลังเลแล้ว เรียกว่าพ้นวิจิกิจฉา ตัดกระแสของธรรมะอย่างแท้จริง ไม่มีใครจะต้องมาบังคับ ไม่มีใครจะต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช ไม่มีใครจะต้องพูดให้ฟังร่ำรี้ร้ำไร คือเข้าถึงธรรมะแล้ว ตัวธรรมะก็เข้าไปถึงใจ ใจก็เข้าไปรู้ตัวธรรมะคือรู้อารมณ์ เมื่อธรรมะเข้าไปถึงใจ ใจนั้นก็รู้จักธรรมะ ธรรมะนั้นก็อยู่ในใจ เมื่อดูใจก็เห็นธรรมะ เมื่อดูธรรมะก็เห็นใจ ทั้งใจ ทั้งธรรมะ เมื่อเราพิจารณาใจเราเมื่อไร เราจะเห็นธรรมะเมื่อนั้น เราพิจารณาธรรมะเมื่อไรเราก็เห็นใจเมื่อนั้น อันนี้เป็นการรู้อย่างแท้จริงที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง

เมื่อความรู้สึกชนิดปรากฏขึ้นกับเราแล้ว จะนั่งอยู่มันก็พูดอยู่พูดอยู่ รู้อยู่ คิดอยู่ ปฏิบัติอยู่ มีสติอยู่ มีความสังวรสำรวมอยู่ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เมื่อฉลาดแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเอาตัวของตัวเองเป็นพยานแล้ว จะไปทำความชั่วที่ไหนก็ไม่ต้องมีใครบอกหรอกตัวเองก็ไม่กล้าทำด้วย เพราะเข้าใจแล้วว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว จะทำดีทำชั่วก็มีผู้ตามรู้ จะไปทำอยู่ที่ไหนแม้จะไม่มีใครรู้ แต่เราก็ต้องรู้ จะไปทำอยู่ในน้ำก็มีคนรู้ ไปทำอยู่บนบกก็มีคนรู้ หรือใครจะไปทำอยู่บนอากาศก็จะต้องมีคนเห็นอยู่รู้อยู่อย่างนั้น อันนั้นเป็นเพราะอะไร? เพราะพระธรรมมันเกิดจากใจ เราปฏิบัติธรรมะทำความเพียรอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีการประมาท เป็นผู้สังวร เป็นผู้สำรวม เป็นผู้ระวังอยู่ อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติจนเป็นวงกลมติดต่อกันอยู่

cha 4เมื่อบุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ธรรมะไม่เข้าถึงใจ ใจไม่เข้าถึงธรรมะ จะทำความชั่วอะไรก็กลัว กลัวคนอื่นจะเห็น กลัวพ่อแม่จะเห็น กลัวครูบาอาจารย์จะเห็น กลัวคนอื่นจะรู้ คือคนยังไม่เห็นธรรมก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อไปในสถานที่ใดๆ ที่ว่างจากผู้คน ว่างจากพ่อแม่ว่างจากครูบาอาจารย์ เห็นว่าไม่มีเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีใครอยู่ในที่นั้น ก็พยายามทำความชั่วอยู่ที่ตรงนั้น ด้วยความประมาท เพราะความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง การกระทำเช่นนั้นเขาก็คิดว่าเขาทำถูกแล้ว พ้นภัยแล้ว เพราะว่าไม่มีใครเห็นเขา ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นเขาอย่างนี้ ก็กระทำอย่างสนิทใจเลย แต่คนคนนั้นในทางธรรมถือว่าเป็นคนโง่ที่สุด คือเป็นคนดูถูกตัวเองที่สุด

ความเป็นจริงนั้นเมื่อจิตมันเป็นธรรมะ เมื่อธรรมะเป็นจิต มันจะกลมกลืนเป็นอันเดียวกันเลย จะไปทำผิดอะไรที่ตรงไหนเป็นต้น ก็ต้องมีคนเห็น คนอื่นไม่เห็นเราก็เห็นคนอื่นไม่รู้เราก็รู้ ดังนั้นถึงจะไปอยู่ตรงไหนก็เป็นอยู่อย่างนั้น จึงเป็นธรรมะ ไม่กล้าทำ เพราะใจมันเป็นธรรมะแล้ว พระอริยสาวกทุกๆ องค์เมื่อใจเป็นธรรมะแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้นทุกๆองค์ ที่ลับไม่มี ที่แจ้งไม่มี อะไรๆ มันก็ไม่มี รู้แต่ว่าท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่แล้ว

นี่คือผลที่ได้รับจากการไปฟังธรรมจากคนอื่น แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ น้อมเข้ามาในใจของเราจนเห็นตามความจริงอย่างนั้นคำสอนของผู้อื่นได้เข้าถึงจิตใจของเรา ใจเราจะรู้ธรรมะ ธรรมะก็จะถึงใจเรา ถ้าใครมาเห็นถนัดชัดเจนอย่างนี้ ก็จะพ้นจากความสงสัย อันนี้ก็เท่ากับเราได้รู้จักฐานะที่ควรหรือไม่ควรแล้ว และถูกต้องตามพระธรรมที่ท่านได้ตรัสบอกเอาไว้ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งหลายทั้งปวงนั่นแหละ เอตัง พุทธานะ สาสะนัง อันนี้เป็นคำสอนของพระศาสดา อันนี้เป็นหัวใจของพระศาสนา เมื่อจิตเราเป็นอย่างนั้น อันนี้ไม่ใช่คำพูดเฉยๆ แต่จิตมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อะไรที่ขึ้นชื่อว่ามันผิด มันบาป ใจของเรามันจะไม่รับ ไม่รับนั้นเรียกว่า สัพพะปาปัสสะ

 อ่านต่อ : ทำให้มันจบ ตอนที่ 2

redline

backled1