foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

paothai kula

กุลา จากชนเผ่าพ่อค้าเร่ สู่ตำนานแห่งท้องทุ่ง

กุลา คือ ชนชาติต้องสู้และไทยใหญ่ ที่เดินทางค้าขายอยู่ในภาคอีสาน ในพงศาวดารภาคที่ 4 เรียก พวกกุลา ว่า นายกองตองสู หรือ ตองสู้ หรือ ต้องสู้

“กุลา, กุหล่า” ในภาษาลาวหมายถึง กลุ่มคนที่มาจากพม่าโดยเดินทางมาค้าขายเร่ไปตามบ้าน ซึ่งต่อมาการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาพบว่า กุหล่า หรือ กุลา คือ ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานของประเทศเมียนมา (บ้างก็ว่ามาจากเมืองมะละแหม่ง มีนิสัยชอบเดินทางค้าขาย) ที่ได้เดินทางมาติดต่อค้าขายในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวมุสลิมอินเดีย (Sulaiman, 1931:35-39) ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2390 กุลาเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดอุบลราชานี ในฐานะ "เขยสู่" เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมือง คนท้องถิ่นนิยมเรียกพวกเขาว่า กุลา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของจิตร ภูมิศักดิ์ “ในภาษาลาว กุหล่า เป็นคำเรียกชนพวกหนึ่งที่มาจากพะม่าเหนือ, สพายสัมภาระเร่ขายไปตามละแวกบ้าน, แต่ที่เข้าใจรวมๆ ว่าคือพะม่าก็มี” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2557: 361) แต่ คนกุลากลับขนานนามตนเองว่า “ต่องสู่” Ronald D. Renard ได้ตั้งข้อสังเกต ว่า “ต่องสู่” จัดอยู่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรู้จักกันดีในชื่อ กะเหรี่ยงดำ หรือ ปะโอ (Renard, 2003:8) [ เอกสารอ้างอิง "ประวัติศาสตร์กุลา" ]

paothai kula 08

ชาวกุลา คงจะเดินทางเร่ขายสินค้าในภาคอีสานนานแล้ว จนมีชื่อเรียก ทุ่งกุลาร้องไห้ (ซึ่งเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่ติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์) การเร่ขายสินค้าของชาวกุลาหรือต้องสู้นี้ จะเดินทางเป็นกองพ่อค้าวัวต่างจำนวนมาก บางคณะอาจจะมีถึง 100 คน

หลักฐานเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลานี้ พบเก่าที่สุดในปี พ.ศ. 2381 (รัชกาลที่ 3) ข้อความบันทึกของราชการที่กักตัวพวกกุลา หรือต้องสู้ที่เดินทางค้าขายในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก สวรรคโลก และกำแพงเพชร ส่วนภาคอีสานนั้น ปรากฏเอกสารเก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่บันทึกเรื่องราวของชาวกุลาในภาคอีสาน นั่นคือบันทึกเรื่องราวขัดแย้งระหว่างต้องสู้ กับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิและขอนแก่น กรณีโคประมาณ 600 ตัวที่ต้องสู้ซื้อในเมืองเหล่านี้

paothai kula 09

บันทึกมีว่า ต้องสู้ได้ซื้อโคในร้อยเอ็ด 66 ตัว ในสุวรรณภูมิ 178 ตัว และในขอนแก่น 333 ตัว แล้วเจ้าเมืองเหล่านี้ก็ยึดโคทั้งหมดไว้ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองเหล่านี้ ชดใช้ราคาโคแก่ชาวต้องสู้ ซึ่งขณะนั้นรออยู่ที่กรุงเทพฯ โดยให้ขายโคคืนแก่เจ้าของเดิม หรือขายให้ใครก็ได้เพื่อนำเงินมาชดใช้ให้ต้องสู้ แต่เจ้าเมืองเหล่านี้ก็ดำเนินการช้ามาก ทางกรุงเทพฯ จึงต้องจ่ายเงินค่าโคให้ต้องสู้ไปก่อน 2,763.5 บาท แล้วสั่งให้เจ้าเมืองใช้เงินคืนให้ทางกรุงเทพฯ โดยไม่ชักช้า

เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เองก็สงสัยอยู่ว่า พม่า-อังกฤษ (ขณะนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว) มีความในใจอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังการค้าของต้องสู้ และสั่งให้เจ้าเมืองในภาคอีสานมิให้ขายโคกระบือแก่ชาวต่างชาติ

paothai kula 12

ชาวกุลา ที่ตลาดเมืองโคราช ปี 2449 ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

เหตุการณ์ในภาคเหนือและภาคอีสานครั้งนั้น ก่อให้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับการค้าในระยะแรกๆ มาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับสัตว์พาหนะได้ถดถอยลง จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทางไทยห้ามค้าในที่สุด ส่วนพวกต้องสู้ที่เป็นพ่อค้าเร่ในภาคเหนือ บางทีก็ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย เหตุการณ์ในร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ และขอนแก่น เกิดขึ้นก่อนที่ สนธิสัญญาบาวริง ซึ่งได้รับการให้สัตยาบันในวันที่ 5 เมษายนพ.ศ. 2399 จะมีผลบังคับใช้

ข้อแรกของสนธิสัญญานี้บังคับว่า "ต้องรับประกันว่า บุคคลในบังคับอังกฤษที่เดินทางมาประเทศสยาม จะต้องได้รับความคุ้มครอง และได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลสยาม ในการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างดี

และผลประโยชน์ของบุคคลในบังคับอังกฤษทุกคน จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎระเบียบของกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ตลอดทั้งการพิพากษาคดีความ คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิเดินทางได้ทั่วไป ภายใต้การคุ้มครองของหนังสือเดินทางของอังกฤษ และตราประทับร่วมของเจ้าหน้าที่ไทยที่กำหนดชื่อไว้โดยเฉพาะ"

ข้อตกลงในสัญญาเหล่านี้ รวมทั้งภาคผนวก ซึ่งลงลายมือในเดือนพฤษภาคม 2399 เป็นพื้นฐานในการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าของกุลาหรือต้องสู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเมืองมะละแหม่ง และเป็นคนในบังคับอังกฤษ

paothai kula 01

หลังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ กิจการค้าของกุลาหรือต้องสู้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากท่าทีที่เจ้าหน้าที่สยาม อำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างด้าวจากพม่าในบังคับอังกฤษดีมาก

ในเวลาต่อมา เอกสารทางราชการไทยจำนวนมากที่ประกาศไปยังเจ้าเมือง หัวเมืองต่างๆ เกี่ยวกับแผนการเดินทางตามปรารถนาของบุคคลในบังคับอังกฤษ  ตามรายงานของกงสุลอังกฤษในสยาม

paothai kula 05

สถานที่ซึ่งกุลาหรือต้องสู้มีแผนการเดินทางเพื่อการค้าโดยทั่วไป คือ หัวเมืองในลาวฝ่ายเหนือ (มณฑลลาวพวน หรืออุดร) หรือ นครราชสีมา ตาก เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน น่าน ซึ่งเดินทางไปบ่อย และบริเวณที่ไม่บ่อยนัก คือ นครสวรรค์ สวรรคโลก ลพบุรี หล่มสัก เป็นต้น กลุ่มที่เดินทางไปทางนครราชสีมา มักจะเดินทางต่อไปยังมะละแหม่งเป็นจุดหมายปลายทาง โดยเดินทางผ่านหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ

สินค้าที่ต้องสู้ต้องการซื้อโดยทั่วไปที่นครราชสีมา และลาวฝ่ายเหนือ คือ ช้าง งาช้าง เขาสัตว์ ไหม และโคกระบือ พวกเขาสนใจไม้ซุงด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลิตผลในเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน และน่าน สินค้าที่นำไปขายเป็นพิเศษก็คือ ปืนและผ้าไหม กุลาหรือต้องสู้ จะเดินทางเป็นหมู่ถึง 48 คน พ่อค้ากุลาหรือต้องสู้เหล่านี้มีปืนและดาบเป็นอาวุธ

paothai kula 13

ชาวกุลา ที่ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ปี 2448 ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

รัฐบาลไทยจะแนะนำเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ให้อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยแก่ต้องสู้ในการค้าขาย ส่วนราคานั้นสุดแท้แต่จะตกลงกันเอง เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้บันทึกรายละเอียดของโคกระบือที่ตกลงซื้อขายกันแล้วเท่านั้น แต่เมื่อการค้าขยายตัวก้าวหน้ามากขึ้น การปฏิบัติก็นับเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหามากจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สรุปจากบทความของจุนโกะ โคอิซูมิ ทำไมกุลาร้องไห้ : รายงานขบวนการค้าของกุลาในอีสาน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
โดย บุญจิตต์ ชูทรงเดช เรียบเรียงคัดจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ (จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542)

เมื่อถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า กุลา คือ คนกลุ่มไหน?

ท่านตอบได้ทันทีว่า กุลา คือ พวกพ่อค้าเร่ที่มักจะเข้ามาค้าขายผ้าผ่อนแพรพรรณ และพักค้างคืนตามวัดในหมู่บ้านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (กุลาเที่ยวขายผ้านอนที่วัด)

paothai kula 10

การรับรู้ว่าคำว่า กุลา เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กุลา กลายเป็นชื่อที่เรียกพวกพ่อค้าชาวไทยใหญ่ที่มีสัญชาติพม่าในขณะนั้น (ในภาษาพม่า กุลา มาจากคำว่า กาลา (kala) ซึ่งแปลว่า คนต่างถิ่น) มีกลุ่มพ่อค้าเร่จำนวนมากจากประเทศพม่า เดินทางเข้ามาค้าขายตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล สิ่งของต่างๆ ที่พวกเขานำมาขายมีทั้งเสื้อผ้า กลอง เครื่องเงิน และเครื่องประดับอื่นๆ เป็นต้น

paothai kula 14

คาราวานเกวียนขนสินค้าในอดีต บริเวณที่พักคนเดินทาง ก่อนถึงดงพญาเย็น ปากช่อง นครราชสีมา
ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

ในสายตาของคนลาวซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ คนกุลา เป็นผู้ชายตัวสูง ใส่ตุ้มหู และโพกผ้าขาวรอบศีรษะ พวกเขามิได้ใช้วัวเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของเข้ามาขาย แต่เดินเท้าเข้ามาพร้อมกับ หาบ (หาบ ในที่นี้คือ ตะกร้าขนาดใหญ่มากคู่หนึ่ง ใหญ่กว่าที่คนลาวใช้กันเสียอีก)

คนลาวมองว่า คนกุลา เป็นคนแปลกหน้าที่มีความเก่งกล้าสามารถ อีกทั้งยังมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางพุทธศาสนา หรือเวทมนตร์คุณไสยต่างๆ พวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนได้ โดยไม่ต้องพะวงกับพรมแดนของประเทศ คนลาวเห็นว่าเพราะคนพวกนี้มีวิชาปกป้องตนเองจึงสามารถทำเช่นนั้นได้

paothai kula 02

ชาวกุลาบางคนแต่งงานกับผู้หญิงลาวในพื้นที่ เช่น ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และที่หมู่บ้านใน อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร คนลาวเห็นว่า คนกุลา ปฏิบัติตัวดีเป็นที่ยอมรับนับถือของคนลาว จากที่ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้าน พวกเขาเล่าว่า ชาวกุลา เป็นคนดีและร่ำรวย มีทั้งเงินมีทั้งทองทุกอย่าง (มีเงินมีทองมีหมด) อีกทั้งยังเป็นคนขยันขันแข็ง ไม่ทิ้งขว้างลูกเมียและครอบครัว

paothai kula 07คนกุลาบางคนได้ทำการเพาะปลูกในที่ดินของพ่อแม่ของฝ่ายภรรยา แต่บางคนก็มิได้ทำ เพียงแต่บ่นว่าดินที่นี่แข็งเกินไปไม่เหมาะจะปลูกอะไร ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว คนกุลาเริ่มออกเดินทาง โดยจะนำข้าวส่วนที่เหลือจากที่แบ่งไว้กินแล้ว น้ำตาลอ้อย และสิ่งละอันพันละน้อยอื่นๆ ใส่หาบออกไปตระเวนขายยังท้องถิ่นอื่น

เนื่องด้วย ชาวกุลามีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นอันมาก พวกเขาได้บริจาคเงินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดภายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังมอบคัมภีร์ที่มีอักษรจารึกทั้งภาษาไทยใหญ่ และภาษาพม่าให้แก่วัดอีกด้วย

นอกจากนี้ ชาวกุลายังมีสุขนิสัยการกินที่ผิดแผกไปจากคนลาว คือ กินผักที่ต้มแล้ว กินเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วใส่น้ำมันงา สูบบุหรี่มวนใบตอง เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวขาวกุลา คือ ข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่ใช่ข้าวเหนียว (U 007) ข้าวชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่คนลาว และตามหมู่บ้านลาวที่รู้จักกับคนกุลา

จากคำสัมภาษณ์คนลาวที่เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้าน ในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บุคคลที่ให้สัมภาษณ์นี้ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2456 จากความทรงจำของเด็กชายวัย 12 ปี เขาเล่าว่า "มีชาวกุลา 12 คนได้เดินทางเข้ามายังหมู่บ้าน และอาศัยอยู่ที่นี่ ในจำนวนนั้นเป็นพระ 4 รูป และที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา ภายหลังพระรูป หนึ่งได้ลาสึก และแต่งงานกับผู้หญิงลาว ส่วนพระอีก 3 รูปนั้นก็ยังคงอยู่ที่วัดในหมู่บ้านจนมรณภาพไปหมด สำหรับชาวกุลาที่เข้ามาขายของนั้น พวกเขาจะขายพวกผ้าฝ้าย ผ้าไหม ที่นำมาจากหมู่บ้านทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เมื่อคนกุลาเข้ามาที่หมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรกนั้น พวกเขามาพร้อมกับชาวบ้านอื่นๆ จากเมืองเชียงใหม่และลำปาง ที่ช่วยหาบของเข้ามาขาย คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็น ลูกน้อง พวกเขาจะได้รับค่าจ้าง 12 บาทต่อปี หลังจากนั้นมาอีกหลายปี เมื่อคนกุลาสร้างวัด (วัดทุ่งกุลา) ขึ้นในหมู่บ้าน พ่อแม่ของเขาก็เริ่มปลูกข้าวขาวกุลา (ประมาณปี พ.ศ. 2471) ปรากฏว่าครอบครัวเขาและหมู่บ้านลาวอื่นๆ ก็นิยมกินข้าวขาวกุลาเป็นมื้อเย็น ขณะที่ยังคงกินข้าวเหนียวเป็นอาหารมื้อเช้าและกลางวัน

ผลผลิตที่ได้จากการปลูกข้าวของครอบครัวเขานั้นมีสัดส่วนดังนี้ คือ 20% เป็นข้าวขาวกุลา 60% เป็นข้าวอีตม 10% เป็นข้าวโด (2 ชนิดหลังนี้เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียว) และ 10% สุดท้ายเป็นข้าวพูนทอง"

paothai kula 04

เขายังเล่าต่อไปอีกว่า "สมัยก่อนโน้น ชาวลาวจะประกอบอาชีพ 2 อย่าง คือ ปลูกข้าว กับ ค้าขาย ดูเหมือนว่าอันหลังนี้เป็นงานที่ยากสำหรับคนลาวทีเดียว? เราขายทั้งปลา, หมู, เนื้อ, ไก่, เป็ด ไปทั่วหมู่บ้าน วันนึงได้เงินมาแค่ 4-5 สตางค์เท่านั้น สมัยโน้นถ้าจะซื้อวัวตัวหนึ่งต้องใช้เงินมากถึง 1 บาท 50 สตางค์ คนลาวบางคนพยายามเป็นช่างทำเงิน ช่างทำทอง นอกเหนือไปจากการปลูกข้าว แต่ก็ได้เงินจากการนี้น้อยเต็มที

เงินเป็นสิ่งที่เราต้องการมาก ตอนที่ผมอายุ 20 ปี (ราวปี พ.ศ. 2476) นั้น ผมก็เริ่มออกค้าขาย โดยนำต่างหูและสร้อยคอ (ชิ้นละ 10 สตางค์) ไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว (ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน) โดยจะออกไปกับเพื่อนผู้ชาย 3-5 คนเป็นประจำอย่างนี้ทุกปี เราจะได้กลับมาในราว 12-30 บาทต่อปีต่อคน

กุลาในหมู่บ้านของเราก็ออกไปค้าขายด้วยเช่นกันในเวลาเดียวกันนี้ แต่วิธีการขายของพวกกุลาไม่เหมือนกับของคนลาว เราจะเตรียมของออกไปขาย เมื่อของหมดแล้วเราก็กลับมาที่หมู่บ้าน แต่พวกกุลาจะไม่ทำแบบนี้ พวกเขาจะซื้อของในที่ที่เขาไปถึงแล้วก็ขายต่อไป เป็นการต่อทุนเพื่อเดินทางไปเรื่อยๆ ทำให้พวกกุลาเดินทางไปได้ไกลกว่าพวกเราคนลาว แต่ดูเหมือนว่าในท้ายที่สุดแล้ว กำไรที่ได้จากการค้าขายของพวกกุลาก็ไม่ได้มากไปกว่าของพวกเราชาวลาวเลย

เป็นที่รู้กันทั่วไปในสมัยนั้นว่า อาชีพการตีเหล็ก, ช่างทำเงิน, และช่างทำทอง นั้นเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่ผู้ทำ พวกคนลาวมีเทคนิคการทำจากพ่อค้าชาวจีนในเมืองอุบลราชธานี หรือไม่ก็จากพวกคนลาวกันเองที่ไปทำงานนี้ในแขวงสะวัณณเขต สำหรับในหมู่บ้านของเราเองแล้วนั้น เกือบครึ่งหนึ่ง (ราว 100 ครัวเรือน) ก็ได้ไปเรียนวิชาเหล่านี้กับเขาด้วยเหมือนกัน ในช่วงราวปี พ.ศ. 2473 ประมาณนั้น

ผู้เฒ่าในหมู่บ้านบอกเราว่า เรียนกันแค่ 3 เดือนให้รู้พื้นฐานก็เพียงพอแล้ว จากนั้นก็เริ่มฝึกหัดทำกันไป ใช้เวลาอีกในราว 3-4 ปีถึงจะเรียกว่าทำเป็นอาชีพได้อย่างแน่นอน สำหรับการทำทองนั้น เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในจังหวัดอุบลราชธานีเลย ทำให้ต้องสั่งทองเข้ามาทำจากเมืองบางกอก *

paothai kula 11

ครอบครัวของท้าวสุวรรณ เจ้าเมืองธวัชบุรี (ซึ่งเป็นชาวกุลา) ภาพจาก Facebook @Wisuwat Buroot

(หมายเหตุ * ช่วงราวต้นปี พ.ศ. 2460 เกิดอหิวาตกโรคะบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อกันว่าโรคะบาดร้ายแรงนี้แพร่มาจากเมืองบางกอก เรามองเห็นทัศนคติที่ต่อต้านเมืองหลวงของคนในชุมชนในสมัยนั้นจากเหตุการณ์อันนี้ ขณะเดียวกัน เงิน ก็เปรียบเสมือนกับผีร้ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ คำว่า ผี นั้นชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถนำพาความอุดมสมบูรณ์หรือนำความหายนะมาสู่ชีวิตของพวกเขาได้ - Hayashi)

paothai kula 03

ในหมู่บ้านของชาวผู้ไทแห่งหนึ่งในอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พวกเขามีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น นายฮ้อย อยู่ร่วมด้วย คนเหล่านี้จะเดินทางไปค้าขายทั่วสารทิศ ทิศตะวันตกสุดที่เขาเดินทางไปถึงไกลถึงเมืองมะละแหม่งในประเทศพม่า ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว

ชาวผู้ไทในหมู่บ้านที่นี่ไม่เคยได้พบกับ นายฮ้อยลาว ที่เข้ามายังหมู่บ้านของพวกเขาเลย ตามความรับรู้ของกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนลาวและคนไท คำว่า นายฮ้อย นี้จะใช้เรียกคนลาวและชาวผู้ไท แต่ก็มี นายฮ้อย อีกพวกหนึ่งจากส่วยและเขมร เพียงแค่ไม่กี่คนที่เข้ามาค้าขายในเขตเมืองโคราช โดยความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้ก็ได้เดินทางค้าขายอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

(ขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย, แปลและเรียบเรียง จากบทความเรื่อง How Thai-Lao Dominance Was Constructed in Northeast Thailand :
From their Neighbors Point of View ของ Hayashi Yukio (The Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University)
พิมพ์อยู่ในหนังสือ The Dry Areas in Southeast Asia : Harsh or Benign Environment?
Papers presented at Kyoto-Thammasat Core University Seminar. Kyoto,
21-23 October 1996. Edited By Fukui Hayao
(The Center for Southeast Asian Studies (CSEAS), Kyoto University. March 1999).

เส้นทาง "คนกุลา" บนท้องทุ่งแห่งอารยธรรมอีสาน I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

"ตกกลางท่งแล้วล้าเดินฝ่าเทิงหิว
อยู่กลางทุ่งแล้วเหนื่อยล้าเดินฝ่าแดดทั้งความหิว

เห็นแต่ท่งเป็นทิวมือกุมควันกุ้ม
มองเห็นแต่ท้องทุ่งเป็นทิวกว้างใช้มือป้องหัวกันฝุ่นคละคลุ้ง

เหลียวไปไสฟ้าหุ้มงุมลงคือสักสุ่ม
เหลียวไปทางไหนก็มีฟ้าโค้งลงขังเหมือนสุ่ม(สักปลา)

มื้อกลางเวนจุ้มกุ้มดงไม้กะบ่มี
ตอนกลางวันบนเนินดินกว้างไม่มีแม้เงาต้นไม้สักต้น

คักละหนอบาดนี่หลงท่งคนเดียว
แน่แล้วทีนี่หลงอยู่กลางทุ่งเพียงลำพัง

ถิ่มฮอดถงกะเทียวย่ามของสินค้า
ทิ้งทั้งถุง(ผ้าขาวม้าห่อของ)และย่ามใส่สินค้า

เหลียวทางหลังทางหน้ากุลายั้งบ่อยู่
มองไปข้างหลังมาข้างหน้ามีแต่ทุ่งกุลาอยุดไม่ได้

ลมออกหูจ้าวจ้าวไคลค่าวหย่าวไหล
เหนื่อยจนลมออกหูอื้ออึงเหงื่อหาฬไหลหยด

จนปัญญาแล้วให้เทิงจ่มระงมหา..."
อับจนปัญญาจนร้องไห้บ่นรำพันถึงชีวิต

"ทุ่งกุลาร้องไห้" สัญลักษณ์ของความแห้งแล้งดินแดนอีสาน เรื่องเล่า ตำนาน ขี้ดินแตกเขิบ ต้นไม้บ่มี แห้งแล้งสุดลูกหูลูกตาจนคนกุลาตายกลางทุ่ง! สิ่งเหล่านี้คือภาพจำที่ติดหูติดตาไม่ใช่แค่คนอีสานด้วยกัน แต่คนทั้งประเทศก็จดจำมันแบบนี้ แต่นี่มันปี 2016 มันยังเป็นคือเก่าบ่ละ ยังแห้งยังแล้งคือเก่าบ่ละ มาสิจูงแขนพี่น้องไปเบิ่งว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

อยู่ดีมีแฮง : ทุ่งกุลาลั้ลลา จาก ThaiPBS

 

redline

paothai thaidam

ไทดำ – ไทยทรงดำ – ลาวโซ่ง

ชาวไทดำ จังหวัดเลย นับเป็นเมืองเก่าที่มีความเป็นมาสืบสานวัฒนธรรมรักษา ภูมิปัญญา และมีกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากชาวไทยเลย แล้วยังมีชนชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ กลุ่มชนเชื้อสายไทดำ เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองเลย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกัน อยู่ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยนานมาแล้ว สำหรับความเป็นมาของหมู่บ้านไทดำ นับตั้งแต่สมัยที่มีการแย่งชิงดินแดนแคว้นต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ซึ่งเรียกว่า แคว้น 12 จุไทย ชาวไทดำ อพยพมาจากแคว้นพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน เข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2417

paothai dam 06

เนื่องจากมีเหตุการณ์ พวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน ทางหลวงพระบาง ขอให้ฝ่ายไทยส่งกองทัพไปช่วยเหลือ โดยมีพระยาภูธราภัย เป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปปราบฮ่อ ผลการปราบฮ่อครั้งนั้นไทยชนะ เมื่อเหตุการณ์สงบไทยได้ใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวน เข้ามายังประเทศไทยด้วย ชาวไทดำถูกกวาดต้อนมาถึงกรุงเทพฯ โดยทำมาหากินตามที่ต่างๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และพิษณุโลก ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านหมี่ คลองสนามแจง จังหวัดลพบุรี

หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี เจ้าเมืองบริขันธ์ มาทูลขอราษฎรกลับไปยังเมืองเชียงขวางตามเดิม โดยเริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำกอใหญ่ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็เข้าครอบครองดินแดนล้านช้าง และได้ขอให้ไทยส่งคนอพยพคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ชาวไทยดำบางส่วนเห็นว่า ต้องบุกป่าฝ่าดง จึงขอหยุดตั้งหลักแหล่งที่บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

paothai dam 10

สาวไทดำ เมืองเลย

ส่วนชาวไทดำ อีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์ มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ชาวไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงย้อนกลับมาตั้งหมู่บ้านที่ตาดซ้อ ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อยู่ได้ระยะหนึ่ง จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเบน แต่ภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การดำรงชีพ จึงได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยกัน เพราะสภาพเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีป่าเขาลำเนาไพรคล้ายถิ่นฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยมีจำนวนครัวเรือนในขณะนั้น 15 หลัง ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในทางการเกษตรกรรม

นอกจากนี้ยังมีชาวไทดำ หรือ ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ทางด้านจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยอพยพมาจากเมืองแถง ประเทศเวียตนาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ลาวโซ่งล่องเรือมาอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยลาวโซ่งยังได้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ใน จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

ไทดำ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น ภาษาพูด และภาษาเขียน อาชีพ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ การดำรงชีวิตประจำวันยังคงผูกพันกับประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมอยู่เป็นอันมาก ลักษณะทางสังคมของไทดำยังคงรักษาขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีและพิธีกรรม ไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความเป็นปึกแผ่น และการดำรงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

paothai dam 03

การแต่งกาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน กับอีกชนิดหนึ่งคือ เสื้อผ้าสำหรับใส่ในงานประเพณี หรืองานบุญต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมักนิยมใช้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมคราม สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ในพิธีกรรมจะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีสีดำตกแต่งด้วยผ้าไหมชิ้นเล็กๆ ส่วนใหญ่ มีเครื่องประดับเป็นเงิน ผู้หญิงมี "ผ้าเปียว" คล้องคอ ส่วนเด็กๆ จะมีหมวกคล้ายถุงผ้าปักไหม หรือด้ายสวยงามเรียกว่า "มู"

การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงเผ่าพันธุ์ไทดำ ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ชาวลาวโซ่งก็เช่นกัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่นเป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็น "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวโซ่ง ผู้หญิงในชีวิตประขำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด"

ลักษณะเฉพาะของผ้าลายแตงโม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 คือ หัวซิ่นจะเป็นสีครามไม่มีลวดลายกว้าง 12 นิ้ว
  • ส่วนที่ 2 จะเป็นลายโดยใช้เทคนิคการทอขัด แต่พิเศษที่ว่าเป็นฝ้ายแกมไหม คือ ใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยืน ทอเส้นพุ่งด้วยฝ้ายสีครามสลับสีผ้าอ่อนเป็นทางเล็กๆ คล้ายลายบนผลแตงโม เวลาทอเสร็จจะมองไม่เห็นไหมสีแดงเลย
  • ส่วนที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะตีนซิ่นนี้ออกเพื่อไว้ทุกข์

การนุ่งซิ่นลายแตงโมจะต้องจับขอบบนของผ้านุ่งทั้งซ้าย และขวามาทบเกยกันตรงกลาง และพับขอบผ้าลงมาโดยไม่ต้องคาดเข็มขัดผ้าก็ไม่หลุด

paothai dam 01

ตำนานผ้าซิ่นลายแตงโม

เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมา การที่ผ้าซิ่นลายแตงโมใช้เส้นยืนสีแดงเป็นหลักเส้นพุ่งเป็นสีดำ หรือครามเข้มเกือบดำ นั้นเรื่องราวก็มีอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณกาล ผู้ชายที่เป็นสามี เป็นผู้นำของครอบครัวมีหน้าที่ออกจากบ้านไปเข้าป่า หักร้างถางพง เป็นแหล่งทำมาหากินทำไร่ไถนา หาเผือกหามัน ปล่อยให้ภรรยาอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน จนกว่าสามีจะกลับบ้าน สาวเจ้าจะนั่งทอผ้าไป ใจก็ประหวัดนึกถึงสามีที่เข้าป่าหลายวัน อันความรักความคิดถึงย่อมจะมีอยู่ในตัวของทุกคน มันวิ่งแล่นอยู่ทุกลมหายใจ ยิ่งกว่ากระสวยที่พุ่งผ่านเป็นเส้นขัดให้เป็นผืนผ้าในกี่ทอผ้าที่กำลังทออยู่

สาวเจ้าจึงใช้สีแดงย้อมเส้นยืน ซึ่งเป็นสีที่ใช้แทนหัวใจที่โหยหาอาวรณ์ในคนรักที่จากกัน ส่วนเส้นพุ่งใช้สีครามเข้าเกือบดำแทนตัวเอง ใช้ทอทับเป็นเส้นขัดให้เกิดเป็นเนื้อผ้า โดยซ่อนเส้นยืนสีแดงเอาไว้ เมื่อเวลานุ่งผ้าซิ่นลายแตงโมคอยสามี ต้องแสงแดดแวววับของเหลือบสีแดงสะท้อนออกมา เสมือนหนึ่งเป็นสื่อสัญญาณแห่งความรักที่มีต่อกัน แม้จะเห็นเพียงรางๆ ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อปกปิดความอาย ที่เป็นคุณสมบัติของหญิงสาวชาวลาวโซ่งโดยแท้

ผ้าซิ่นลายแตงโม จะต้องนำมาต่อหัวซิ่นสีครามเข้มเกือบดำ ส่วนตีนซิ่นเย็บต่อให้มีความหนา เพื่อป้องกันไม่ให้ชายผ้าซิ่นขาดง่าย โดยหลักการของการทอผ้าทั่วๆ ไปเส้นยืนจะมีขนาดเล็กกว่าเส้นพุ่ง การทอผ้าแบบลาวโซ่งจึงสามารถที่จะซ่อนสีแดงของเส้นยืนเอาไว้อย่างมิดชิด แต่ไม่สามารถจะซ่อนอณูของสีที่เหลือบเอาไว้ เมื่อเวลาต้องแสงแดดจะมีสีของเส้นยืนสะท้อนออกมาให้เห็น นี่แหละภูมิปัญญาของพื้นบ้าน

paothai dam pa 01

ตำนานซิ่นนางหาญ

"ซิ่นนางหาญ" เป็นชื่อเรียกซิ่นตาหมี่ของชาวบ้านนาป่าหนาด จังหวัดเลย เป็นซิ่นที่ทอลักษณะเดียวกับซิ่นตาหมี่ แต่มีการขิดคั่นลายมากกว่าซิ่นตาหมี่

ซิ่นนางหาญนี้มีตำนานเล่ามาคือ หญิงไทดำที่ทอ มีพี่น้องที่เป็นหญิง 3 คน หญิงคนแรกเป็นผู้คิดค้นการมัดลายและทำการทอ แต่ทอยังไม่ทันแล้วเสร็จก็เสียชีวิตลง คนที่สองจึงทอต่อ ในระหว่างทอก็เสียชีวิตตามกันไปเป็นคนที่สอง หญิงคนที่สามจึงได้บอกเล่าผีเรือนว่า หากทอซิ่นผืนนี้สำเร็จ เมื่อมีการเสนเรือนจะใส่สำรับให้ ทำให้หญิงคนที่สามทอซิ่นผืนดังกล่าวได้สำเร็จ

ตั้งแต่นั้นมาชาวไทดำจึงนิยมใช้ ซิ่นตาหมี่ หรือซิ่นนางหาญ ประกอบในพิธีการเสนเรือนมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า "นางหาญ" ชาวบ้านนาป่าหนาดบอกว่า หมายถึง ความกล้า ความเด็ดเดี่ยว ซึ่งน่าจะหมายถึงหญิงในตำนานคนที่สาม ที่กล้าทอซิ่นผืนดังกล่าวได้จนสำเร็จอย่างเด็ดเดี่ยวนั่นเอง

paothai dam pa 02

เสื้อก้อม เป็นเสื้อสีดำด้วยการย้อมคราม ตัดเย็บด้วยมือ ฝีเข็มละเอียด จนสามารถสวมได้ทั้งสองด้าน ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมผ่าหน้า แขนกระบอกเข้ารูป ติดกระดุมเงินถี่มากประมาณ 9 – 11 เม็ดถ้าฐานะดีก็จะติด 2 แถว กระดุมนั้นทำด้วยเงินเก่า ตีด้วยฝีเข็มเป็นยอดแหลมมีลายกลีบบัว ติดห่วง ปัจจุบันหายากมาก เสื้อก้อมเป็นเสื้อที่ใช้คู่กับผ้าซิ่นเป็นชุดลำลอง หรือชุดประจำเผ่าของชาวลาวโซ่งหญิง ใช้สวมไปทุกแห่ง ถ้าไปวัดก็พาดผ้าเปียว หรือ ผ้าสไบอีก 1 ผืน บางทีจะใช้ผ้าคาดอกเรียกว่า ผ้าเปียว ปักลวดลายไว้ที่ชายทั้งสองหญิงที่แต่งงานแล้ว จะใช้ผ้าเปียวสีดำ หรือ สีครามแก่ ถ้าไปตลาดก็สะพายกะเหล็บ ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ละเอียดยิบ ใช้แทนกระเป๋า หรือถ้าจะเข้าป่าก็สะพายย่าม ใช้ผ้าเปียวก็นำมาโพกศีรษะแทนหมวก

ไทดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวไทดำ คือ ทรงผมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เรียกว่า ปั้นเกล้า ลักษณะของปั้นเกล้าจะบ่งบอกถึงอายุและสถานะภาพทางสังคม ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้

  • หญิงอายุ 13-14 ปี ผมยาวประไหล่ แต่ยังรวบไม่ได้ ทรงนี้เรียกว่า เอื้อมไหล่ หรือเอื้อมไร
  • หญิงอายุ 14-15 ปี ผมเริ่มยาวมากขึ้นจะพับปลายผมม้วนขึ้น แล้วใช้หวีสับไว้ตรงท้ายทอย ทรงนี้เรียกว่า ผมสับปิ้น
  • หญิงอายุ 15-16 ปี ผมยาวพอมัดได้บ้างแล้ว รวบผมมัดเป็นกระจุก และทำเหมือนกระบังไว้ข้างหน้า ปล่อยหางผมไว้ด้านหลัง ทรงนี้เรียกว่า ผมจุกต๊บ
  • หญิงอายุ 16-17 ปี ผมยาวพอสมควรแล้ว รวบโดยเอาผมผูกเป็นปมเหมือน ผูกเชือกไว้ด้านหลัง ปล่อยชายผมลงข้างขวา ทรงนี้เรียกว่า ผมขอดกระต๊อก
  • หญิงอายุ 17-18 ปี เกล้าผมโดยผูกลักษณะคล้ายโบว์ ไว้ด้านซ้าย ปล่อยชายผมเป็นหางไว้ด้านหลัง ทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าขอดซอย
  • หญิงอายุ 19-20 ปี ขึ้นไป ถือว่าเป็นสาวเต็มตัว ผมทรงนี้ต้องใช้ผมยาว มากจึงจะเกล้าได้ โดยเกล้าผมตลบไว้กลางศีรษะม้วนชายสอดเข้าข้างใน ใช้ไม้สอดขัดไว้เพื่อไม่ให้หลุด ทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าต่วง และเมื่อ พ่อแม่หรือสามีตาย หญิงนั้นต้องไว้ทุกข์โดยปั้นเกล้าให้ตกค่อนไปทาง ด้านหลังไม่ยกสูงทรงนี้เรียกว่า ปั้นเกล้าต๊ก หรือ ทรงแม่หม้าย

การละเล่นของชาวไทดำ

ไทดำ หรือ ลาวโซ่ง มีอาชีพหลัก คือการทำนา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วช่วงเดือน 5 - 6 เป็นช่วงพักผ่อน ชายหนุ่มก็จะเดินทางไปเที่ยวยังต่างหมู่บ้านเพื่อพูดคุยและทำความรู้จักกับหญิงสาวโดยมี "เสียงแคนเป็นสื่อ" ประเพณีอันนี้เราเรียกว่า อิ้นกอนฟ้อนแคน จะเริ่มด้วยการโยนลูกช่วง เมื่อรับลูกช่วงได้ก็จะมาเจรจาของสิ่งของเป็นที่ระลึกแก่กัน ชายมักขอสไบของหญิงเป็นสื่อแทนรักหญิง จะขอผ้าขาวม้าเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นก็จะเป็นการละเล่นฟ้อนแคน ซึ่งเพลงที่ใช้ในการฟ้อนแคน มีอยู่หลายเพลง ลักษณะลีลาร่ายรำเป็นไปตามจังหวะ และทำนองของเสียงแคน แคนย่าง เป็นจังหวะค่อนข้างช้าการร่ายรำอ่อนช้อยงดงาม แคนแล่น เป็นเพลงจังหวะเร็ว การร่ายรำเป็นการหยอกล้อสนุกสนาน แคนแกร เป็นเพลงจังหวะปานกลางการร่ายรำอ่อนช้อย สลับการรำอยู่กับที่โดยย่อและโย้ตัวตามจังหวะ

paothai dam 07

ฮีตคองประเพณี

ประเพณีการเกิด นับตั้งแต่ท้องจนถึงวันคลอด ผู้เป็นแม่คงทำงานตามปกติไม่มีการพักผ่อนโดยเชื่อว่าการออกใช้แรงงานนั้น จะทำให้คลอดลูกง่าย เมื่อมีอาการเจ็บท้องก่อนคลอด จะทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "วานขวัญผีเรือน" การประกอบพิธีกรรมให้หมอขวัญเป็นผู้ทำพิธีฆ่าไก่ 1 ตัว เซ่นให้ผีญาติพี่น้องที่ตายทั้งกลม หรือตายในขณะคลอดลูกกินก่อน เพื่อไม่ให้มารังควาญรบกวนในขณะคลอด เมื่อเด็กคลอดพ้นจากครรภ์มารดาแล้ว ก็จะตัดสายรกซึ่งเรียกว่าสายแห่ยาวประมาณ 2 ข้อมือ อาบน้ำเด็กน้อยด้วยน้ำอุ่น แล้วนำไปวางไว้ในกระด้ง รอจนกระทั่งสายรกหลุดออกมา

เมื่อสายรกหลุดพ้นออกจากครรภ์แล้ว นำไปล้างบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ แล้วนำไปแขวนที่คบไม้ใหญ่ในป่าบั้งแห่ ซึ่งเป็นป่าสำหรับทิ้งรกเด็กแรกเกิด โดยแขวนสูงจากพื้นดินระดับเสมอศีรษะคนเดินผ่าน ส่วนแม่ก็ให้ล้างชำระทำความสะอาดร่างกายเล็กน้อย แล้วนั่งอยู่ไฟเรียกว่า "อยู่กำเดือน" เมื่อถึงเตาไฟให้หันหน้าเข้าหาเตาไฟ เอามือควักเขม่าควันไฟมากิน หลังจากนั้นดื่มน้ำร้อนอยู่ไฟ และอาบน้ำร้อนที่ต้มผสมใบไม้ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านจนครบเดือน

การอยู่กำ (กรรม) หรืออยู่ไฟ

ภายหลังคลอดเริ่มอยู่ไฟตั้งแต่วันแรกเป็นเวลา 30 วัน ในระยะแรก การอยู่ไฟจะนั่งอยู่ที่เตาไฟตลอดเวลา 3 วัน เรียกว่า "อยู่กำไฟ" แม่กำเดือนหรือหญิงที่อยู่ไฟ จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหาร รับประทานได้แต่ข้าวเหนียวนึ่งกับเกลือคั่ว หรือเกลือเผาจนครบ 3 วัน จึงจะ "ออกกำไฟ" ในระยะนี้จะมีญาติพี่น้อง และผู้ใกล้ชิดมาเยี่ยมเยือนและอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลา

เมื่อออกกำไฟแล้ว ให้ไปสระผมที่ท่าน้ำแต่จะไม่อาบน้ำ ใช้ผ้ารัดเอวไว้ผืนหนึ่งพร้อมกับคาด "ผ้าฮ้ายฝั้นใต้ไฟ" (ชุดติดไฟ) ทับไว้อยู่ข้างนอกเพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย เมื่อกลับมาถึงเรือนแล้วทำพิธี เซ่นผีย่าไฟโดยใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง ไปวางไว้ตรงที่ทารกคลอด ทำพิธีสู่ขวัญให้แก่เด็กน้อย สู่ขวัญนม และสู่ขวัญที่นอนเพื่อขอให้ช่วยดูแลรักษาและเลี้ยงดูเด็กน้อยที่เกิดใหม่ ส่วนแม่ใช้ไก่ต้ม ข้าวต้ม ขนม จัดใส่สำรับทำพิธีสู่ขวัญ หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลากลางคืน ก็ให้แม่และเด็กน้อยย้ายไปนอนบริเวณที่นอนตามปกติ แต่ผู้เป็นแม่จะต้องอยู่ไฟต่อไปจนกระทั่งครบ 30 วัน จึงออกจาก "อยู่กำเดือน"

อาหารการกินในเวลาอยู่ไฟจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทั่วไป มีแต่ผักและปลาบางชนิด เช่น ปลาคิง ปลาแก้ม โดยนำมาปิ้งเมื่อครบ 20 วัน ฆ่าเป็ด 1 ตัว ทำพิธีเซ่นผีเต่ท่า จากนั้นจึงเริ่มรับประทานเนื้อสัตว์ได้ โดยเริ่มจากเป็ดก่อนต่อมาเป็นไก่ หมู ปลาย่าง ปลาไหลย่าง ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย จนกว่าจะออกจากกำเดือน โดยเฉพาะเนื้อควายเผือกห้ามรับประทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีอาการแสลงอาจถึงตายได้

ประเพณีวัยหนุ่ม การศึกษาอบรม พ่อจะสอนลูกชายให้รู้จักการทำไร่ไถนา จักสาน เช่น สาน กะเหล็บ กระบุง ข้อง ไซ และภาชนะต่างๆ ส่วนแม่จะสอนลูกสาวให้รู้จักเวียกเหย้าการเรือน ปั่นฝ้าย เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า และการประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า

paothai dam pa 03

การเลือกคู่ครอง

เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาว ผู้สาวจะชวนเพื่อนๆ ไปลงข่วงปั่นฝ้ายเป็นกลุ่มๆ ในยามค่ำคืนของฤดูหนาว ส่วนผู้บ่าวก็จะชวนกันไปเกี้ยวสาวปั่นฝ้าย โดยเป่าปี่แล้วขับไทดำ วนเวียนไปมาตามข่วงโน้นบ้างข่วงนี้บ้าง มีการขับโต้ตอบกันไปมาระหว่างหนุ่มสาวจนดึกดื่น จึงกลับขึ้นเรือนโดยมีผู้บ่าวที่ชอบพอกันติดตามไปส่ง กระทำเช่นนี้เป็นกิจวัตรประจำจนเกิดความรักซึ่งกันและกัน

ฝ่ายชายจะเล่าให้พ่อแม่ฟังเกี่ยวกับเรื่องที่ตนไปรัก มักผู้สาวแล้วอยากได้เป็นภรรยา หลังจากนั้นพ่อแม่ก็จะไปหารือ บรรดาลุงป้าน้าอาที่นับถือ แล้วแต่ง "พ่อใช้" ไปถามผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง 2-3 ครั้ง โดยปกติการไปถามครั้งแรก หรือครั้งที่สองพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะยังไม่ตอบตกลง หรืออาจบอกปัดก็ได้ ดังนั้นจึงไปถามอีกเป็นครั้งที่สามเรียกว่า ถามขาด เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตอบรับก็เป็นอันว่าตกลงให้แต่งงานกันได้ หลังจากนั้นจะเตรียมพิธีกินดองน้อย

กินดองน้อย เป็นพิธีสู่ขอเรียกว่า "ไปส่อง" ฝ่ายชายจะจัดเตรียมพาข้าวหรือขันหมากสู่ขอ โดยฆ่าไก่ 4 ตัว แยกเป็น 4 ห่อ สิ่งของประกอบพิธีสู่ขอจะทำเป็นห่ออย่างละ 4 ห่อ ได้แก่ ปลาปิ้ง 4 ห่อ หนังหาด 4 ห่อ (เปลือกไม้ใช้เคี้ยวกับหมาก) พลู 4 ห่อ เหล้า 4 ขวด จัดใส่สำรับมอบให้เฒ่าแก่ญาติฝ่ายเจ้าสาว แล้วมอบตัวเป็น "เขยกว้าน" ในวันนั้น เพื่อเตรียมพิธีกินดองใหญ่ (แต่งงาน) ต่อไป

เขยกว้าน จะอาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าสาว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่พิธีกินดอง โดยใช้เวลา 2 เดือน ถึง 1 ปี บางรายอาจใช้เวลา 3 - 4 ปี และยังไม่มีสิทธิ์อยู่กินกันฉันสามีภรรยา เพราะผิดผีเรือน จะต้องนอนอยู่ทางกว้าน (ปลายเท้าของพ่อตาแม่ยาย) หลังจากพิธีส่อง ฝ่ายหญิงยังมีสิทธิเสรีในการพูดคุยกับผู้บ่าวคนอื่นที่มาเกี้ยวพาราสี โดยว่าที่สามีจะต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและไม่โกรธ ทั้งนี้เพื่อทดสอบความอดทน อดกลั้นในอารมณ์

พิธีแต่งดอง เป็นพิธีแต่งงานของไทดำ มีกำหนด 3 วัน บางครั้งจะจัดพิธีพร้อมกับการ "เสนเรือน" วันแรกฝ่ายชายจะทำพิธีเซ่นผีเรือนที่บ้านเจ้าสาว โดยฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 8 ตัว ปลาปิ้ง 8 ห่อ หาด 8 ห่อ พลู 8 ห่อ เหล้าไห 2 ไห พร้อมกับเงินสินเลี้ยง หรือค่าน้ำนม 5 หมัน 2 บี้ ฆ่าควาย 1 ตัว เลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน

วันที่สองสะใภ้ใหม่จะไปหยามเรือนพ่อปู่แม่ย่า คือ ไปเยี่ยมพ่อแม่ของสามี ตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อแสดงความเคารพ สะใภ้จะต้องมีของไปฝาก เช่น ผ้าเปียว ผ้าปู ที่นอน ซิ่นไหม เสื้อ ถุงย่าม ที่ทำจากฝีมือของตนเอง ส่วนพ่อปู่ แม่ย่าจะให้เงินรับไหว้จำนวน 5 - 10 หมัน หรือให้สิ่งของตอบแทนตามสมควรแก่ฐานะ หลังจากนั้นก็จะไปนบไหว้ญาติผู้ใหญ่ของสามี จนกระทั่งถึงตอนบ่ายจึงเดินทางกลับไปรับประทานอาหารเรียกว่า กินงายหัว

ส่วนวันที่สามของพิธีแต่งดองเป็นวันสรุป เพื่อเก็บของที่ยืมมาจัดงานส่ง ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่อยู่ช่วยงาน ส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนสนิท และเพื่อนบ้านใกล้เคียง ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทดำ ผู้เป็นเขยจะต้องอยู่ที่บ้านของพ่อตาแม่ยาย ถึง 12 ปี จึงจะมีสิทธิ์กลับคืนไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายสามี หรือปลูกเรือนใหญ่อยู่ใกล้ๆ กับพ่อแม่และญาติฝ่ายสามี ต่อมาลดลงเหลือ 8 ปี ปัจจุบันลดลงเหลือ 4 ปี

"มานทาง" หญิงใดมีท้องนอกสมรสเรียกว่า "มานทาง" จะถูกสังคมลงโทษ โดยถูกอำนาจการปกครองของหมู่บ้านปรับไหมทั้งชายและหญิงเป็นเงิน 1 หมัน 5 บี้ เรียกว่า "เงินล้างน้ำล้างท่า" แล้วให้อยู่กินเป็นสามี-ภรรยากัน ถ้าหากฝ่ายชายไม่ยอมรับเป็นภรรยาจะต้องเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นเงิน 30 หมัน ในกรณีที่หญิงนั้นตายจะถูกชาวบ้านปรับไหมเรียกว่า "เฮียวซาว" โดยให้ฆ่าควาย 1 ตัวเพื่อเลี้ยงผู้มาช่วยงานศพ แล้วมอบความรับผิดชอบการจัดงานศพให้ฝ่ายชายรับภาระทั้งหมด

paothai dam 05

ประเพณีการตาย เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน ซึ่งทุกคนจะหยุดทำงานจนกว่าจะนำศพไปฝัง หลังตายบรรดาญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำศพ จากนั้นก็แต่งตัวด้วยชุดเสื้อผ้าของเผ่าไทดำ นำผ้าแพรสีขาวมาเย็บเป็นถุงบรรจุศพแล้วใช้ไหมเย็บติดให้เรียบร้อย บรรจุลงในโลงศพโดยใช้ผ้าคลุมหน้าศพไว้ผืนหนึ่ง

กรณีเด็กน้อยตายจะไม่ประกอบพิธีกรรม ตายวันไหนให้นำไปฝังในวันนั้น

ส่วนคนหนุ่มสาวถ้าตายตอนกลางคืน ในเช้าวันรุ่งขึ้นให้ฆ่าหมูหรือวัว ควาย 1 ตัว ทำอาหารจัดสำรับทำบุญอุทิศให้ผู้ตายกินเรียกว่า "เฮ็ดงาย" พอถึงตอนเย็นก็นำไปฝัง ส่วนคนวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุตายเก็บศพไว้ 1-2 คืน แล้วจึงนำไปฝัง และฆ่าหมูหรือวัวควาย 1 ตัว เฮ็ดงายให้ผู้ตายในเช้าของวันที่จะนำไปฝัง

การทำพิธีฝัง ฆ่าหมู 1 ตัว อุทิศให้เรียกว่า หมูเข้าขุม หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะทำพิธีเฮ็ดเฮียว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนำเครื่องเฮียวไปส่งให้ที่ป่าช้า เมื่อเสร็จพิธีฝังศพ ผู้ไปร่วมพิธีศพทุกคนจะลงไปอาบน้ำชำระร่างกายและสระผมในแม่น้ำ เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลทั้งหลายออกจากร่างกาย พอถึงตอนเย็นหมอขวัญจะทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย และผู้ที่ไปส่งศพ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ทุกคน

หลังจากนั้นครอบครัวของผู้ตาย จะจัดสำรับอาหารไปทานอุทิศให้ที่หลุมฝังศพผู้ตายเป็นเวลา 7 วัน พอครบวันที่เจ็ด จะทำพิธีเชิญขวัญ หรือวิญญาณของผู้ตายขึ้นไปเป็นผีเรือน โดยนำไปไว้ด้านในสุดของเรือนเรียกว่า "กะลอหอง" เพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป

หลังจากนั้นเมื่อครบรอบวันตายทุกๆ 10 วัน จะจัดพาข้าวเป็นสำรับเล็กๆ ทำพิธีเซ่นผีเรือนเรียกว่า "เสนเทวดาปาดตง" หรือ "มื้อปาดตง" นำไปวางไว้ที่ห้องผีเรือน โดยใช้อาหารจากที่สมาชิกในครอบครัวรับประทานในชีวิตประจำวัน ส่วนการ "เสนปาดตง" พิเศษจะทำในช่วงเวลาที่ได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวข้าว ทำพิธีเสนปาดตงเพื่อทานข้าวใหม่ให้ผีเรือนกินก่อนสมาชิกของครอบครัว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและลูกหลาน

paothai dam 09

พิธีเสนเรือน เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของไทดำ ซึ่งเป็นผีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามปกติพิธีเสนเรือนจะปฏิบัติกันทุกครอบครัวเป็นประจำ 2 - 3 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ และความพร้อมของครอบครัว เพื่อคุ้มครองบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญก้าวหน้า ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ "หมอเสน" ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติๆ รวมทั้งแขกเชิญในกรณีที่เจ้าบ้าน หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นพนักงานของรัฐ มีตำแหน่งสำคัญจะเชิญแขกจำนวนมาก บางครั้งแขกมาร่วมงาน 200 - 300 คน ญาติที่มาร่วมงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

คือ ญาติสืบสายโลหิต จะแต่งกายแบบธรรมดา และ ญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ ฝ่ายเขยหรือสะใภ้ จะแต่งกายพิเศษด้วยชุด "เสื้อฮี" หรือเสื้อยาวเพื่อเป็นการเคารพผีเรือน และเป็นที่สังเกตให้ผู้มาร่วมงานรู้ว่า เป็นเขย หรือสะใภ้ ก่อนทำพิธีเสนเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ เหล้า หมู 1 ตัว ตามปกติจะเตรียมต้มเหล้าไว้ล่วงหน้าใส่ไหฝังดินไว้ 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้ได้เหล้าที่มีคุณภาพดี ส่วนหมูจะเตรียมเลี้ยงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี

พิธีเสนเรือน เริ่มโดยมีหมอเสน เป็นผู้ประกอบพิธีในห้องผีเรือน ผู้เข้าร่วมพิธีได้แก่ญาติที่อยู่ในสิง หรือ ตระกูลผีเดียวกัน เริ่มจากเจ้าบ้านยกสำรับเครื่องเซ่นถวายผีเรือน จากนั้นหมอเสนจะเริ่มประ กอบพิธี โดยกล่าวเชิญผีเรือนให้มารับเครื่องเซ่นโดยเรียกชื่อผีเรือนจาก "ปั๊บ" รายชื่อผีเรือนให้มากินเครื่อง เซ่นทีละคน ขณะที่เรียกชื่อหมอเสนจะใช้ไม้ทู (ตะเกียบ) คีบอาหารและเครื่องเซ่นป้อนให้ผีเรือนกิน โดยหย่อนลงทางช่องเล็กๆ ลงไปใต้ถุนบ้านแล้วหยอดน้ำตามลงไป จนกระทั่งเรียกชื่อครบทุกคน พิธีเซ่นให้ผีกินอาหารนี้จะทำ 2 ครั้ง คือมื้อเช้าและกลางวัน จากนั้นจะเสนเหล้าหลวง โดยใช้เหล้า 1 ขวด และกับแกล้มเป็นเครื่องเซ่น หมอเสนจะทำพิธีเรียกผีบรรพบุรุษมากินตามรายชื่อในปั๊บผีเรือนจนครบทุกคนเป็นเสร็จพิธี

paothai dam 02

ความเชื่อ

ชาวไทยดำ มีความเชื่อเรื่อง "ผีฟ้า" หรือ "แถน" คือ เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างโลก และบันดาลให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า "ผีเฮือน" ซึ่งเมื่อตายแล้วจะไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนคอยช่วยเหลือลูกหลานอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อชาวไทยดำตายลง ลูกหลานจะนำศพไปฝัง และไปเชิญผีจากหลุมหลังจากที่ตายแล้ว 3 วัน เรียกว่า "พิธีเอาผีขึ้นเรือน" ในบ้านจะจัดที่มุมใดมุมหนึ่งของห้องเป็น "กะลอห้อง" หรือ "กะลอฮ้อง" มีพาข้าว (ถาดใส่ข้าว) เป็นที่บูชาผีบรรพบุรุษ ปกติไม่อนุญาตให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติเข้าไป

ในปัจจุบันชาวไทยดำ ที่บ้านนาป่าหนาดหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น และเริ่มเผาศพแทนที่จะฝังอย่างเดิม และพิธีกรรมต่างๆ เช่น ความเชื่อ เรื่องผีเรือน ความเชื่อเกี่ยวกับหมอรักษา หรือเจ้าบ้าน (พระเสื้อเมือง) เมื่อมีคนตายทุกบ้าน จะหยุดทำงานจนกว่าจะนำคนตายไปป่าช้าเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มทำงานใหม่ในงานศพ ไม่มีพระสงฆ์มาเกี่ยวข้องเพราะถือว่าพระกับผีไม่ถูกกัน นิยมฝังศพมากกว่าเผา

นอกจากนั้นชาวไทดำยังเป็นชนเผ่าที่นับถือ "พ่อมด" ซึ่งพ่อมดเปรียบเหมือนเทวดา การประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะเป็นการเชิญพ่อมดมาเพื่อประกอบพิธีกรรมของชนเผ่า และการประกอบพิธีกรรมบูชาพ่อมด ชาวไทดำจะล้อมวงกันเต้น และจะมีหญิงกระทุ้งไม้ไผ่ให้จังหวะรอบวง ซึ่งประเพณีดังกล่าว เป็นการเล่นเพื่ออัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้เวลานานเป็นวันๆ โดยที่ชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมพิธี

ขับมด เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อมีคนเจ็บป่วยเรื้อรังในครอบครัว รักษาด้วยหมอยาแล้วไม่หาย สามีภรรยาหรือญาติของผู้ป่วยจะไปหา "หมอเหยา" มาเสกเป่าเยียวยาแก้ไข ถ้ายังไม่หายก็จะไปเชิญหมอมด มาทำพิธีรักษา หมอมดจะรักษาด้วยการขับมดและเสี่ยงทาย เพื่อให้ทราบสาเหตุของการเจ็บป่วย ถ้าหากถูกผีทำก็จะทำพิธีเลี้ยงผีแก้ไขอาการเจ็บป่วย เดิมการรักษาของหมอมดมีค่าคาย (ขึ้นครู) 2 บี้ แต่ปัจจุบันใช้เงิน 1,000 กีบ เทียน 8 คู่ ไข่ 2 ฟอง กระเทียม 2 - 3 หัว ฝ้าย 1 มัด เกลือ 1 ห่อ ข้าวสารใส่กะละมัง หวี และปอยผม 1 ปอย เพื่อถวายให้ผีมด

การรักษาเริ่มด้วยการให้ผู้ช่วยหมอมด 2 คนช่วยกันเป่าปี่ หมอมดจะทำการขับมด เพื่อเชิญผีมดให้มาช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บป่วย โดยสุ่มถามผีมดว่าถูกผีอะไรทำ เช่น ถามว่าถูกผีเรือนทำใช่ไหม แล้วเสี่ยงทายหาคำตอบด้วยการสาดข้าวสารลงบนพื้น 3 ครั้ง ให้ได้จำนวนคู่-คี่สลับกัน กล่าวคือ ถ้าครั้งแรกได้จำนวนคู่ ครั้งที่สองจะต้องได้จำนวนคี่ และครั้งที่สามได้จำนวนคู่ แสดงว่าผิดผีเรือน ถ้าเสี่ยงทายไม่ได้จำนวนดังกล่าวก็จะเป่าปี่ขับมดต่อไปอีกจนจบคำขับมด แล้วเสี่ยงทายอีกเช่นนี้จนกระทั่งได้จำนวนคู่สลับคี่ตามที่ต้องการ ดังนั้นการขับมดจึงใช้เวลานานอาจใช้เวลาตั้งแต่ตอนบ่ายจนกระทั่งถึงกลางคืน เมื่อทราบถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยว่าถูกผีใดมาทำ หมอมดก็จะให้ญาติผู้ป่วยจัดเตรียมสิ่งของสำหรับเซ่นเลี้ยงผี เพื่อให้เลิกทำแก่ผู้เจ็บป่วย

การรักษาของหมอมดไม่มีข้อห้ามในการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน แม้ว่าคนป่วยจะนอนอยู่โรงพยาบาล หมอมดทำพิธีรักษาที่บ้านไปด้วยก็ได้ ผู้ร่วมพิธีขับมดได้แก่ ญาติพี่น้องใกล้ชิด เพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งคนในหมู่บ้านจะมาร่วมโดยไม่ต้องบอกกล่าว ขับมดจึงเป็นการรักษาทางด้านจิตใจ การเชิญหมอมดมารักษาแสดงว่าลูกผัวรักแพง รวมทั้งมีญาติ และเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยือนทำให้ผู้ป่วยมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้หายจากการเจ็บป่วย

paothai dam 04

วิถีชีวิตของชาวไทดำในปัจจุบัน

เป็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บ้านเรือนมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ เหมือนชุมชนทั่วไปในชนบท การใช้ชีวิตของชาวไทยดำก็เปลี่ยนไปตามวิถีกระแสสังคมและเทคโนโลยี ชาวไทดำส่วนหนึ่งใช้ชีวิตในสังคมของการพัฒนา ลูกหลานต้องไปโรงเรียนในอำเภอ วัยรุ่นแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป แต่อีกส่วนหนึ่งชาวไทดำ ก็ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทดำจะมีระเบียบแบบแผนเป็นของตนเอง ซึ่งอยู่บนบรรทัดฐานของความเชื่อ

ปีใหม่ของชาวไทดำ จะจัดขึ้นในเดือนสิบ เรียกประเพณีปาตดง นอกจากนั้น ไทดำยังมีการละ เล่น ที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นการแสดงความเคารพต่อ "พ่อมด" ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะมีเครื่องดนตรี ประกอบด้วย ปี่บั้วบู ฟางฮาด เรียกการเล่นนี้ว่า แซปาง มักมีการแสดงในวันแรม หนึ่งค่ำ และเดือนหก

ด้านหัตถกรรมภูมิปัญญา ชาวไทดำมีศิลปะการทอผ้าที่สวยงาม และมีผ้าฝ้ายซึ่งเป็นผ้าพื้นเมือง ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบัน ชาวไทดำ ยังคงใช้ศิลปะทอผ้าแบบดั้งเดิมทุกกระบวนการผลิต

paothai dam 08

อาหารของชาวไทดำ ประกอบด้วยผักและน้ำพริก คือ แจ่วอดทำจากใบบอนคัน ไม่ค่อยนิยมกินเนื้อสัตว์ ชาวไทดำจึงคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม นอกจากความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวแล้ว ชาวไทดำยังคงมีปฏิทินเป็นของตนเอง ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ในซึ่งปฏิทินทั่วไปจะมี 7 วัน แต่ของชาวไทดำมี 10 วัน

ชนชาวไทดำ จะนับถือและบูชาพระยาแถน บรรพบุรุษและผีต่างๆ มากและมีความเชื่อว่าคนทุกๆ คนนอกจากประกอบไปด้วยร่างกายแล้ว ยังประกอบด้วยอีกส่วนหนึ่งก็ คือ ขวัญ (วิญญาณหรือจิต) และเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เกิดจากการที่ขวัญไม่อยู่กับตัวเอง หรือขวัญได้หนีหายไป จะต้องมีพิธีตามหาขวัญหรือเรียกขวัญให้กลับคืนมา ในพิธีการเรียกขวัญนี้ต้องอาศัยหมอผี ซึ่งชาวไทดำเรียกว่า มด โดยหมอผีจะเชิญผีต่างๆ ให้ไปตามหาขวัญกลับมา

ในการเชิญผีชนิดใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าขวัญนั้น จะไปตกอยู่ที่ใด เช่น ขวัญไปอยู่ตามป่าตามเขาก็จะอัญเชิญผียะวาย ซึ่งเป็นผีเจ้าป่าเจ้าเขาเป็นผู้ตามหาขวัญให้กลับมา แต่ถ้าขวัญตกน้ำ ก็จะเชิญผีกองกอยตามหาขวัญซึ่งเมื่อตามหาขวัญกลับมาได้แล้วคนไข้ ก็จะหายจากการเจ็บป่วย และเมื่อถูกรักษาหายก็จะเป็นลูกเลี้ยงของหมอผีไป เมื่อครบรอบ 4 ปี หมอผีจะจัดพิธีเลี้ยงผีขึ้น ซึ่งชาวไทดำเรียกพิธีนี้ว่า การแซปาง หรือ ชมปาง โดยหมอผีจะอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวไทดำนับถือลงมาชมปางก่อน แล้วค่อยอัญเชิญผีชนิดต่างๆ ลงมาชมปาง ในพิธีนี้ชาวไทดำทุกคนจะต้องมาร่วมพิธี ซึ่งมีการจัดหาเครื่องดนตรี มีการจัดเลี้ยงและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน กินเวลาข้ามวันข้ามคืน

สืบสานวัฒนธรรมไทดำ จังหวัดเลย จาก ThaiPBS

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ไทดำรำพัน : เพลงรำลึกถึงบ้านเกิดชาวไทดำ

 

redline

paothai poothai

ชนเผ่าภูไท หรือ ผู้ไท (Phutai) ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวภูไทเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และแค้นสิบสองปันนา (ดินแดนส่วนเหนือของลาวและเวียดนาม ซึ่งติดต่อกับส่วนใต้ของประเทศจีน) ราชอาณาจักไทยได้สูญเสียดินแดนแค้วนสิบสองจุไทยให้ฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 107 (พ.ศ. 2431) ภูไท มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และบางส่วนกระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างดี

การแต่งกาย

ผู้ชาย นิยมนุ่งกางเกงขาก๊วย สีดำหรือนุ่งโสร่งตาหมากรุก เสื้อใช้ผ้าสีครามหรือดำชนิดเดียวกับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแคบชิดคอหรือคอจีน ตัวเสื้อผ่าอกตลอด ชายเสื้อผ่าข้าง จะเป็นแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้ มีผ้าคาดเอว และโพกศีรษะ ผู้ชายโบราณมักนิยมสักแขนขา ลายด้วย หมึกสีดำ แดง ถือเป็นเครื่องรางและแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี

ผู้หญิง นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่ทำจากผ้า ซึ่งลักษณะเด่นของซิ่นภูไท คือ การทอและลวดลายเช่น ทอเป็นลายนาคเล็กๆ นอกจากนี้มีลายอื่นๆ เช่น หมี่ปลา หมี่กระจัง หมี่ข้อ หมี่ขอ ทำเป็นหมี่คั่นหรือหมี่ลวด ต่อด้วยหัวซิ่นและตีนซิ่นทั้งขิดและจก นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายสีขาวสลับดำย้อมใบครามหรือมะเกลือสีดำ เย็บต่อด้วยหัวซิ่นตีนซิ่น

 phutai 01

สตรีชาวภูไทมักสวมเสื้อแขนกระบอก คอตั้งแบบเสื้อคอจีน ติดกระดุมกะลา กระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ เช่น เหรียญสตางค์ห้า สตางค์สิบ มาติดเรียงเป็นแถว ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้าย้อมครามเข้มหรือสีดำ บางท้องที่นิยมตกแต่งสาบเสื้อด้วยผ้าลวดลายต่างๆ ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม นิยมสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินหรือทอง หญิงภูไททุกคนไม่ว่าสาวหรือแก่ไว้ผมยาวเกล้ามวยสูง มีปิ่นหรือลูกประคำประดับที่มวยผม สำหรับชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร นิยมใช้ผ้ามนหรือแพรมน (แพรฟอย) ทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม

เครื่องประดับของชาวภูไท สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า (ก้องแขน-ก้องขา) ด้วยโลหะเงิน ทองหรือนาก

เครื่องนุ่งห่ม ชาวภูไทเป็นเผ่าที่ทำเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผ้าห่มจนเหลือใช้ (แม้กระทั่งในปัจจุบัน ชาวภูไทก็ยังทำผ้าห่มไว้มาก แขกมาเยี่ยมมาพักมีให้ห่มอย่างพอเพียง) ส่วนเสื้อผ้าก็พอมีใช้ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ขัดสน ด้วยฝีมือความสามารถของตนเอง ซึ่งบางอย่างสวยงามมีศิลปะ ในอดีตนั้นวัสดุในการผลิตผ้าหามาเองโดยการปลูกบ้าง เอาจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติบ้าง โดยผ่านกระบวน การต่างๆ จนเป็นเครื่องนุ่งห่มล้วนหามาเอง ทำขึ้นเองทั้งสิ้น เช่น ฝ้าย เริ่มตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นทอเป็นผ้า ล้วนแต่ทำเอง ในปัจจุบันนี้มีโรงงานที่ทันสมัยที่ผลิตวัสดุที่จะทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ราคาไม่แพง สี ลวดลาย แบบ มีให้เลือกมากมาย

phutai pa 01 phutai pa 03

ผ้าห่ม (จ่อง) ผ้าห่มผืนเล็กๆ เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มพื้นเมืองอีสาน ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาว ใช้คลุมไหล่ เช่นเดียวกับกลุ่มไท–ลาว ที่นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ ผ้าห่มของกลุ่มชนต่างๆ ในเวลาต่อมาทำให้มีขนาดเล็กลง ทำเป็นผ้าสไบ และเป็นส่วนประดับแทนประโยชน์ใช้สอย เดิมคือห่มกันหนาว หรือปกติปิดร่างกายส่วนบนโดยการห่มทับเสื้อ นอกจากนี้ยังมีผ้าแพรวา ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นับเป็นผ้าจ่องที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบันนอกจากผ้าจ่องแล้ว ชาวภูไทยังมีลายผ้า ซึ่งใช้เป็นผ้ากั้นห้อง หรือใช้ห่มแทนเสื้อกันหนาว หรือต่อกลางสองผื่นเป็นผ้าห่มขนาดใหญ่พอสมควร

phutai pa 02

วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุที่ใช้ทอผ้าก็มีฝ้ายเป็นหลัก และไหม สีย้อมผ้าก็เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ และสีที่ชาวภูไทชอบใช้มากที่สุด คือ สีดำที่ได้จากต้นคราม การใช้ผ้าของชาวภูไทในอดีตนั้นผ้าบางชนิดก็มีกาลเทศะในการใช้ เช่น "ผ้าจ่อง" เป็นผ้าที่ทออย่างดี สีย้อมด้วยครั่ง จะใช้คลุมหีบศพ (ผู้มั่งมี) ผ้าสี่เหาก็ใช้คลุมหีบศพได้เช่นกัน เสื้อผ้าที่ตัดเย็บใหม่ๆ เรียกว่า "ส้งเอาบุญ" หรือ "ชุดเอาบุญ" จะไม่ใส่เล่นจะเก็บไว้ในหีบอย่างดีพอมีงานบุญจะเอาออกมาใช้ โสร่งไหมเป็นผ้าชั้นดีหายาก จะมีเฉพาะผู้ที่มีภรรยาหรือแม่ที่เลี้ยงไหม หรือผู้ที่มีฐานะดีสามารถนุ่งไปจีบสาวได้ เวลานั่งใกล้สาวจะถลกโสร่งขึ้นเลยเข่าอวดขาลาย หากเมื่อสมัย 60 ปีก่อน บ่าวใดมีขาลายผู้สาวจะรักมาก ส่วนผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์

ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม จะเห็นแต่ผ้าคลุมหีบศพ เมื่อหามศพลงเรือนผ้าคลุมหีบจะปลดออกไว้ใช้ต่อไป ก่อนจะนำมาใช้จะมีพิธีโยนผ้าก่อน ในปัจจุบันการโยนผ้าก็ยังปฏิบัติกันอยู่ และนอกจากนี้ประเพณีของชาวภูไทเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม 4 อย่างนี้ คือ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ผ้าขาวม้า หญิงสาวชาวผู้ไทยต้องจัดสร้างขึ้นมาไว้มากๆ เมื่อหนุ่มมาขอแล้วฝ่ายสาวต้องเร่ง ส้างเคิ้ง คือ สร้างเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง ในปัจจุบันนี้ก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่ เพียงแต่ว่าหญิงสาวทุกวันนี้ต้องเรียนหนังสือ หรือไปทำงานต่างถิ่นไม่มีเวลาทำ เมื่อใกล้จะแต่งงาน อาจจะให้ญาติๆ ช่วยทำ หรือซื้อสำเร็จรูป

ลักษณะทางสังคม

ชาวภูไทเป็นกลุ่มชนที่มีความขยัน อดออม และมีวัฒนธรรมในเรื่องการถัก–ทอ เด่นชัด จึงปรากฏเสื้อผ้าชนิดต่างๆ ทั้งผ้าฝ้าย ไหม ในกลุ่มชาวภูไท เช่น ผ้าแพรวา ในปัจจุบัน เป็นผ้าที่ผลิตยากใช้เวลานาน มีความสวยงาม จึงนับว่าชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นหมี่ ตีนต่อ เป็นตีนต่อขนาดกว้าง 4-5 นิ้ว (มือ) เรียกว่า "ตีนเต๊าะ" เป็นที่นิยมในกลุ่มภูไททอเป็นหมี่สาด หมี่หม้อย้อมคราม จนเป็นสีครามแก่เกือบเป็นสีดำ ชาวบ้านมักเรียก "ผ้าดำ" หรือ "ซิ่นดำ"

วิถีชีวิตของชาวภูไท

ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวภูไท ก็เหมือนกับครอบครัวไทยทั่วๆ ไป คือ ในครอบครัวก็จะมีพ่อเป็นใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ แม่ พี่คนโต และรองลงไปตามลำดับ ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน สังคมภูไทได้ให้ความสำคัญต่อผู้เป็นสามีมาก ในปัจจุบันก็ยังให้ความนับถืออยู่ เพียงแต่ลดพฤติกรรมบางอย่างลงไป เช่น การสมมาสามีในวันพระ บางคนไม่ได้ทำเลยโดยเฉพาะภรรยารุ่นใหม่ แต่จะสมมาสามีตอน "ออกคำ" (ออกจากการอยู่ไฟใหม่ๆ) เหมือนในอดีตเพราะสามีเป็นผู้ลำบากทุกข์ยาก อดตาหลับขับตานอน ตักน้ำหาฟืนดูแลภรรยาที่อยู่คำ (การอยู่คำภาษาลาวจึงเรียกว่า "อยู่กรรม")

phutai 02

การกินข้าว แต่ก่อนต้องพร้อมกัน เมื่อทุกคนนั่งวงล้อมนาข้าวแล้ว ให้สามีเริ่มก่อนเดี๋ยวนี้ลดลง เพราะต่างมีธุระลูกก็รีบไปโรงเรียน สามีก็ติดธุระก็อนุญาตลูกเมียกินก่อน นานๆ เข้าก็เลยถือเป็นเรื่องธรรมดาไป แต่ก็มีแบบเดิมให้เห็นอยู่ไม่มากการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมีมาประมาณ 30 ปีมาแล้ว

การสืบสายตระกูล

ชาวภูไทส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นหลักในการสืบสายตระกูล ในการสืบมรดกนั้นในอดีตมักจะให้ผู้ชาย เพราะถือว่าลูกผู้หญิงต้องไปสร้างกับสามี ลูกชายคนที่จะได้มรดกมาก แบ่งดังนี้

  1. พี่จะได้มากกว่าน้อง คือ "อ้ายเอาสอง น้องเอาหนึ่ง" เพราะมรดกต่างๆ เช่น ที่นา ถือว่าพี่เป็นคนช่วยพ่อทำมากกว่าน้อง นอกจากนี้พี่ยังเป็นคนเลี้ยงน้องด้วย
  2. ผู้ที่รับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่มาก ย่อมได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือเป็นน้อง ถ้าเป็นผู้ดูแลพ่อแม่จนพ่อแม่ตาย มรดกส่วนที่ยักไว้ของพ่อแม่ย่อมเป็นของผู้ที่เลี้ยงดูนั้น (พ่อแม่มักอยู่กับลูกชายมากกว่าอยู่กับลูกสาว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน) มีการให้มรดกแก่ลูกสาวอีกวิธีหนึ่ง คือ การ "กาวลำชาย" (กล่าวเอาว่าเป็นลูกชาย) คือ ในกรณีที่ลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับสามี แล้วเกิดตกทุกข์ได้ยาก ผู้เป็นพ่อก็เอามา "กาวลำชาย" ให้รับมรดกได้ "การกาวลำชาย" นั้นจะกล่าวตอนที่หญิงสาวแต่งงาน โดยแจกไม้ขีดไฟให้ "เท้าอ้ายเท้าน้อง" (ผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายพ่อ) และบรรดาเขยทั้งหลาย แล้วประกาศให้ทราบว่า "นาง... ต่อไปนี้จะกล่าวถือว่าเสมือนเป็นลูกชาย...ให้ญาติพี่น้องรับทราบไว้" เมื่อกล่าวแล้ว นาง...ก็มีสิทธิรับมรดกจากพ่อ และบางคนเมื่อถูกกล่าวลำชายแล้วหันมาใช้นามสกุลของพ่อก็มี ในปัจจุบันนี้การสืบสายตระกูลสืบมรดก ลูกทุกคนมีสิทธิได้รับแบ่งเท่าเทียมกันแต่จะยักไว้ "พูดพ่อแม่" (ส่วนของพ่อแม่) ไว้ให้ผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่จนตาย

ขนาดครอบครัว ในอดีตยังไม่มีการวางแผนครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ บางครอบครัวมีลูกตั้ง 10-12 คน ใครมีลูกมากยิ่งดีจะได้ "กินแฮง (กินแรง) ลูก" คือ จะมีผู้มาเลี้ยงดู เวลามีการแต่งงานจะมีการให้พรคู่บ่าวสาวว่า "...เฮ่อได้ลุเต๋มบ้านเฮ๋อได้หลานเต๋มเมิง..." (ให้ได้ลูกเต็มบ้าน ให้ได้หลานเต็มเมือง) แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการรณรงค์การคุมกำเนิด บางครอบครัวก็มีลูก 2 คน หรือ มีแค่คนเดียว

phutai 03

ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ในสมัยก่อน 30 ปีมาแล้ว ผู้ที่แต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อตาแม่ยายเสียก่อน ชั่วระยะ 2-3 ปี แล้วจึงค่อยแยกครอบครัวออก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง คือ พอแต่งงานอยู่กับพ่อแม่ชั่วระยะเดี๋ยวเดียวก็ออกไปนั้น จะแยกกล่าวดังนี้

ลูกชาย ในสมัยก่อนเมื่อลูกชายแต่งงานแล้วต้องอาศัยอยู่กับพ่อก่อน เพราะต้องพึ่งพ่อแทบทุกอย่างเงินทองก็ต้องอาศัยพ่อแม่ เวลาที่จะออกเรือนแยกไปไม่แน่นอน หากน้องชายแต่งงานเร็วพี่ชายก็จะแยกเรือนออกไปเร็ว เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปลูกชายก็เลยหาเงินเอาเอง สร้างฐานะได้ไว จึงแยกครอบครัวได้ไว

ลูกเขย ไม่มีใครอยากจะ "ชูพ่อเฒ่า" เลย เพราะทุกข์ยากทั้งกายและใจ สำรวมทุกอิริยาบถ ต้อง "คะลำ" หลายอย่าง ทำงานสารพัด จนมีคำพูดว่า "เล็กอยู่เฮินว้าเขย" (เหล็กอยู่เรือนเรียกว่า พร้า ข้าอยู่เรือนเรียกว่า เขย) เสมือนว่า เขย คือขี้ข้าคนหนึ่งในเรือน ความทุกข์ยากของเขยชู พรรณนาไว้เป็นผญาอีสาน (ผู้ไท) ดังนี้

"...เป็นเขยนี้ทุกข์ยากหัวใจ เฮ็ดแนวใดย่านแต่เพิ่นว่า (ทำอะไรกลัวแต่ท่านว่า)
สานกะต่ากะด้งกะเบียน อยู่ในเฮือนมุมุบมุม้าย (อยู่ในเรือนแบบเจียมตัว ก้มหน้าอยู่)
บ่ว่าฮ้ายมันแม่นอีหลี (ไม่ได้ใส่ความ เพราะมันเป็นความจริง)
แต่หัวทีเกินอุกเกินอั่ง (ในหัวคิดมีแต่ความกลัดกลุ้ม)
นั่งบ่อนใดย่านแต่ผิดแม่เฒ่า (นั่งตรงไหนกลัวแต่ผิดใจแม่ยาย)
ชาวมือกะบ่ติง (20 วันก็ไม่ไหวติง (อยู่อย่างเจียมตัว))
เถิงบาดยามกินข้าวสองสามคำกะพัดอิ่ม (ยามกินข้าว 2-3 คำก็อิ่ม)
ชิมอันนั้นอันนี้หนี้จ้อยบ่อยู่คน (ชิมถ้วยนั้นถ้วยนี้หนีไปไม่อยู่นาน)
ฝูงหมู่คนกินข้าวนำกันก็เหลียวเบิ่ง (ฝูงหมู่คนกินข้าวด้วยกันก็เหลียวดู)
ส่งบาดยุ้มบาดแย้มแนมเจ้าว่าจังใด (ส่งยิ้มเป็นนัยๆว่าเจ้าเขยเป็นอย่างไร ละอายหรือเปล่า) "

ในปัจจุบันนี้ "เขยชู" ประเภทที่ออกเรือนได้ จะออกเรือนเร็วกว่าอดีต เพราะหาเงินหาทองเพื่อสร้างฐานะได้เร็วกว่าอดีต ถึงแม้จะมีการชูพ่อเฒ่า พ่อเฒ่าก็หัวสมัยใหม่ พยายามทำให้ลูกเขยอยู่อย่างสบายใจเป็นกันเอง สำหรับฮีตสำคัญก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น ห้ามกระทำบางอย่างบนบ้านพ่อตา เช่น ลับพร้า ขัดฟักพร้า ดีด สี ตี เป่า ร้อง รำ ทำเพลง จับมือถือแขนน้องสาวภรรยายังห้ามทุกกาลเทศะ

บทบาทของสมาชิกครอบครัว บทบาทของสมาชิกในครอบครัวนั้นจะแตกต่างกันไปดังนี้

ผู้ที่เป็นสามี บทบาทต่อครอบครัว มีบทบาทในการเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเป็นคนขยันทำมาหากิน "เฮ่อตืนติ๊กลุกเช้า" (ให้ตื่นดึก ลุกเช้า) "ตึนมื้อเช้าเฮ้อได้ 9 ทางหยาม" (ตื่นเช้าให้ได้ 9 ทางไปหาอยู่หากิน หาเงินหาทอง) ไม่เป็นคนละเลย ไม่นิ่งดูดาย "มีเฮ่อก้มหน้าอยู่ด๋ายหงายตาอยู่เบา" (ไม่ให้ก้มหน้าอยู่ดาย หงายตาอยู่เปล่า) ไปนั่นมานี่ให้รู้จักมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แล้วนำมาใช้ คือ "ไป๋ด๋งอย่าได้มาเปา ไปเลาอย่าได้มาด๋าย เฮ่อฮักไม้ต๋ายมาแก้งก้นหม้อ" (ไปดงอย่ามาเปล่า ไปเหล่าอย่ามาดาย ให้หักไม้ตายมาชำระก้นหม้อ คือ เอามาเป็นฟืน)

ให้เป็นคนมีความเพียร ประกอบสิ่งใดก็ทำให้สำเร็จ คือ "ค๋ำน้ำมิเฮ่อเอ็ดก้นฟู จกฮูมิเฮ่อเอ็ดมือสั้น" (ดำน้ำอย่าให้ก้นฟู ล้วงรูอย่าทำมือสั้น) เหล่านี้ล้วนเป็นคำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ตั้งแต่โบราณนานมา ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะจะสอนเน้นในตอนผู้จะเป็นเจ้าบ่าวตอนเข้าพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ยังต้องดูแลให้ความคุ้มครองแก่ภรรยาและบุตร คือ ปฏิบัติตนเป็นสามีที่ดีภรรยา เป็นพ่อที่ดีแก่บุตร ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้สมกับเป็นช้างเท้าหลัง

phutai 05

บทบาทต่อบุพการี ต้องให้ความเคารพ ให้การดูแลเอาใจใส่ให้การเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองสมเองกับเป็นลูกที่ดี พ่อแม่ของภรรยา คือ พ่อตาและแม่ยาย ยิ่งให้ความยำเกรงเป็นพิเศษในอดีตถึงขั้นเอาผีเรือนมาว่าเลย ถ้าเขยทำไม่ดีไม่งามจะผิดผีเรือน ต้อง "เม๋อ" (ปรับไหม) สิ่งที่เขยทำแล้วผิดนั้นเป็นการกระทำที่บ้านพ่อตา เช่น ห้ามลับพร้า ใส่หมวก ขัดมีดขัดฝักพร้า ร้องรำทำพลง ดีดสีตีเป่า เดินเตะเตี่ยวลอยชาย (นุ่งผ้าขาวม้าไม่เหน็บชาย) ใส่รองเท้าย่ำบนบ้าน จับมือถือแขนน้องสาวภรรยา ละลาบละล้วงกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายพ่อตา มีคำสอนอยู่ว่า "เซ้อพ้อแม้ลุงต๋า โต๋ท้อก้อย น้อยท้อทู เฮ่อเคารพย๋ำแหยง" (เชื้อสายทางพ่อตาตัวเท่านิ้วก้อย น้อยเท่าไม้ตะเกียบ ให้เคารพยำเกรง) ในปัจจุบันนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังถืออยู่ เพียงแต่ไม่ค่อยจะอ้างผี (ข้อห้ามเหล่านี้ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น)

บทบาทของภรรยาต่อครอบครัว ถึงแม้ภรรยาจะเป็นผู้ "อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเฮิน" (อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน) แต่รับภาระหนัก เช่น เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ตักน้ำตำข้าว "น้ำมิเฮ่อฮาดแอง แกงมิเฮ่อฮาดหม้อ" (น้ำไม่ให้ขาดแอ่ง แกงมิให้ขาดหม้อ) ซักเสื้อผ้าเก็บกวาดเหย้าเรือน จัดหาเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่ อิ้วฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ (ด้วยมือ) จนสำเร็จเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ ยังไปช่วยงานสามีนอกบ้านด้วย เช่น งานไร่งานสวน ทั้งยังต้องปรนนิบัติพ่อปู่แม่ย่าอีก ในปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือ ภรรยาบางคนก็ออกไปทำงานนอกบ้านเทียบเท่าสามี โดยฝากการเลี้ยงดูลูกให้กับปู่ ย่า ตา ยาย สาเหตุการเปลี่ยนแปลงก็เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ถ้าปล่อยแต่สามีหาเลี้ยงครอบครัวก็คงจะลำบาก

บทบาทต่อชุมชน ในอดีตภรรยาไม่ค่อยจะมีบทบาทต่อชุมชน เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้หน้าที่แม่บ้าน ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม ถ้าขลุกแต่ในบ้านก็จะไม่ทันสมัย หูไม่กว้าง ตาไม่ไกล บางครั้งก็เสียผลประโยชน์ต่อครอบครัวด้วย เช่น การเป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่างๆ การเข้าร่วมพัฒนาหมู่บ้าน การเข้ารับการอบรมความรู้ด้านต่างๆ เป็นต้น

บทบาทต่อบุพการี ให้ความอุปการะญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตน และฝ่ายสามีเหมือนครอบครัวทั่วไป

บทบาทต่อบุตร ภรรยาจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากกว่าสามี เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการอบรมสั่งสอนลูก จะเป็นหน้าที่ของภรรยามากกว่า การอบรมเลี้ยงดู ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ผู้ที่รับภาระหนักที่สุดก็คือ แม่ การหาพี่เลี้ยงยังไม่มี ถ้าจำเป็นทั้งพ่อทั้งแม่มีภาระหนัก เช่น ต้องออกดำนาก็ให้ปู่ย่าตายาย หรือน้องสาว หรือลูกหลานที่โตพอที่จะดูแลเด็กได้แล้วเป็นผู้เลี้ยงดูชั่วคราว อาหารการกินสำหรับลูกนั้น แยกเป็นระยะดังนี้ (ไม่กล่าวถึงนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารหลักออยู่แล้ว)

  • ทารกอายุ 1 สัปดาห์ ถึง 8 เดือน ให้กินข้าวหมก ข้าวหมกนี้มาจากข้าวเหนียว แม่จะเอามาเคี้ยวจนละเอียดแล้วคายใส่ใบตองไม้เป้า (เป็นใบเรียบยาวกว้างหาได้ง่ายใกล้บ้าน) 1 มื้ออาจเคี้ยว 5-6 คำใหญ่ แล้วห่อแบบห่อหมก เอาไม้ปิ้งหนีบแล้วไปย่างไฟจนสุก กลิ่นรถหอมหวานอร่อยมาก
  • อายุประมาณ 9 เดือน ถึง 1 ปีครึ่ง ให้กินข้าวย่ำ ย่ำ(เสียงนาสิก) เป็นภาษาอีสาน คือ เคี้ยว การป้อนข้าวย่ำคือการที่แม่ หรือพ่อเอาข้าวมาย่ำ พร้อมกับคือเนื้อปลา ไก่ เป็นต้น ให้ละเอียดเข้ากันแล้วคายออกให้ลูกกิน ดังนั้นเมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาทพ่อแม่มักจะดุด่าลูกว่า "เสแฮงกูย่ำข้าวป้อนเห้าปากกู๋แซบแต๊ะ ยังได้คายเฮ่อกิ๋น..." (เสียแรงกูเคียวข้าวป้อน เข้าปากกูแสนที่จะอร่อย ก็ยังคายให้กิน)
  • อายุประมาณ 2 ปี ก็ให้อดนม อายุ 3 ปี ก็กินเองได้อย่างพ่อแม่เพียงแต่ลดรสเผ็ด

ในอดีตบทบาทในการอบรมลูกหลานนี้ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน คือ จะอบรมสั่งสอนตามสถานการณ์ บางครั้งก็เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาสั่งมาสอน ยกเอาบุคคลอื่นมาอ้าง หรือ เอานิทาน หรือคำสุภาษิตโบราณขึ้นมาสั่งสอน ที่อบรมสั่งสอนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ ที่ พาข้าว เพราะตอนนั้นลูกๆ จะพร้อมกัน

phutai 06

ด้านศีลธรรมจรรยา

ไม่ว่าลูกหญิงลูกชายจะได้รับการอบรมเหมือนกัน คือ ให้มีสัมมาคารวะทุกอริยาบทให้สำรวม เช่น การยืน ต้องดูกาลเทศะ ใกล้ผู้ใหญ่ห้ามยืนใกล้ (มิเห้อยืนโท่มเก้า โท้มโห) ไม่ให้ยืนท่วมเกล้าท่วมหัว พูดกับผู้ใหญ่ถ้าผู้ใหญ่นั่ง ต้องนั่งพูดด้วย สำหรับหญิงจะเน้นพิเศษอีก คือ "อย่ายื๋นเค่อปอง" อย่ายืนใกล้ช่องกระดาน (พื้นเรือน) คงจะกลัวผู้ชายแอบเข้าไปส่องที่ใต้ถุน ไม่ให้ยืนกลางแดด (เช้า หรือ บ่าย) มีคำสอนว่า "ขี้ค้านอย่าเอ็ดนาฮิมทาง นุ้งซีนบ๋างอย่ายื๋นก๋างแดด" (ขี้คร้านอย่าทำนาริมทางนุ่งซิ่นบางอย่ายืนกลางแดด) เพราะถ้าแสงแดดเข้าทางหน้าหรือทางหลัง คนผู้ทางตรงข้ามจะมองเห็นเงาขาในผ้าถุง

การเดิน ไม่ให้เดินท้าวหนัก "อย่าย้างสะลื๋งตึ๋งตั๋ง" (อย่าเดินแบบม้าดีดกะโหลก) เดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ต้องก้มตัวลง ถ้าอยู่ใกล้ให้เดินเข่าหรือคลาน "ย้างก๋ายหน้าก๋ายต๋าผู้ใหญ่ พอก้มเห้อก้ม พอคา" การนั่ง ชายให้นั่งขัดสมาธิ หญิงให้ "นั่งตะมอ" (นั่งพับเพียบ ) ถ้านั่งกินข้าว (กับพื้น) เป็นเด็กไม่ว่าหญิงหรือชายให้นั่งพับเพียบหมด

นอน หญิงห้ามนอนในที่เปิดเผย ถ้านอนที่เปิดเผยให้ระมัดระวังให้นอนตะแคง ผ้าถุงเหน็บหว่างขา ห้ามนอนหงาย ห้ามนอนใกล้ "ป่อง" (ช่องกระดานพื้นเรือนหรือช่องข้างฝา) กลัวจะถูกชาย "จก" (ล้วง) ผู้ชายไม่ค่อยมีการห้ามเรื่องการนอน แต่ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีสถานที่ห้ามนอน คือ ใต้ขื่อบ้าน เพราะขื่อบ้านเป็นสิ่งที่วางศพ แม้แต่พาข้าวก็ห้ามวางใต้ขื่อ และอีกอย่าง ห้ามนอนเอามือทับหน้าอก เพราะผีจะอำ (ผีทับ)

การพูด ชาวภูไทเมื่อ 40 ปี ก่อนมักใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า กู บุรุษที่สองใช้คำว่า มึง ลูกพูดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ใช้คำนี้ ส่วนคำว่า ข้อย และ เจ้า เป็นคำพูดที่สุภาพมาก จะใช้อยู่ระหว่างบ่าวสาว คู่ผัวเมีย ลูกเขยกับพ่อตาแม่ยาย ลูกสะใภ้กับพ่อปู่แม่ย่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะการศึกษาเจริญขึ้น คำว่า กู มึง ที่เด็กใช้กับพ่อแม่ไม่ได้ยินอีกแล้ว

วัฒนธรรมการกิน แหล่งที่มาของอาหารการกิน ชาวภูไทเป็นคนที่พิถีพิถันในเรื่องการเลือกทำเลที่จะตั้งหมู่บ้าน จะต้องเป็นที่ราบใกล้ภูเขาหรือแหล่งน้ำ ในอดีตแหล่งอาหารก็ใกล้บ้านนั่นเอง พวกสัตว์บกสัตว์น้ำ เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต มีให้เห็นอยู่ทุกวัน หาได้ง่าย และมีกินบ่อย พืชผักต่างๆ ก็มีมาก ทั้งพืชบ้าน พืชสวน พืชป่า ดังมีผญาคำสอนบทหนึ่งว่า "อย่าไป๋เก็บดอกหว่านบ้านเพิ๋นมาบ๋าน เฮ่อเจ้ายื๋นงอยชานเก็บดอกกะเจ๋วฮิมโฮ้" (อย่าไปเก็บดอกหว่านบ้านอื่นมาบ้าน ให้เจ้ายืนที่ชานเก็บดอกกระเจียวริมรั้ว) ชี้ให้เห็นว่าสมัยก่อนดอกกระเจียวก็เก็บเอาที่ริมรั้วติดกับชานบ้าน แสดงว่าอุดมสมบูรณ์มากจริงๆ

อาหารจำพวกเนื้อ สมัยอดีตไม่ค่อยได้กิน หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย มีมากมาย แต่ไม่มีใครฆ่ากิน อาจจะเป็นเพราะเคร่งศีลธรรมก็ได้นานๆ ที เช่น มีงานบุญ บุญกฐิน บุญพระเวส ฆ่าทีหนึ่ง ผู้ที่ฆ่าขายก็หายากเต็มที ฆ่าแล้วก็ไม่ค่อยมีผู้ซื้อ สมัย 40 ปีมาแล้วเนื้อวัวควายราคาถูกมาก ซื้อ 10 บาทได้เนื้อ 1 หาบ หมูโตเต็มที่ตัวละ 200 บาท ไก่ตัวใหญ่ตัวละ 5 บาท ในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนมากขึ้นของกินก็หายากระบบการซื้อขายเข้ามา ผู้คนจึงหาซื้อกันที่ตลาดเป็นส่วนมาก [ อ่านเพิ่มเติม : วัฒนธรรมเกี่ยวกับการบริโภคชาวอีสาน ]

อุปนิสัยในการกิน ชาวภูไทมีอุปนิสัยในการกินแบบเรียบง่าย และในการกินอาหารก็เหมือนอีสานทั่วๆ ไป คือ กินข้าวเหนียว นั่งกินกับพื้น ไม่มีช้อนกลาง ช้อน 2-3 คัน เปลี่ยนกันซด บางครอบครัวก็กินในห้องครัว บางครอบครัวก็กินที่ระเบียงหน้าบ้าน ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยก็มีโต๊ะอาหาร (บางทีกินข้าวเจ้า) คือ พยายามปรับตัวเหมือนกับคนภาคกลาง

ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร ชาวภูไทมีความเชื่อเกี่ยวกับอาหารที่จะต้อง "คะลำ" เพราะมีความเชื่อว่าอาหารบางชนิดกินเข้าไปแล้วจะทำให้ผิดต่อโรค โดยเฉพาะ "แม่อยู่คำ" (ผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ) จะกินแต่ข้าวจี่ หน่อข่า ผักต่างๆ ปูจี่ กบ เขียด ยังพอกินได้ แต่ในปัจจุบันนี้ได้รับการอบรมด้านโภชนาการ ความเชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่กระต่ายและเก้ง ในปัจจุบันก็ยังกินไม่ได้ ซึ่งถ้ากินเข้าไปแล้วจะ"ผิดกรรม"

phutai 04

ที่อยู่อาศัย สภาพบ้านเรือนของชาวผู้ไทยในอดีตสมัย 40 ปี มาแล้วเป็นเรือนทรงมนิลา คือ มีหลังคาทรงเหลี่ยมยอดแหลมดั้งสูง ใต้ชานสูงประมาณ 2 เมตร มีฝาล้อมรอบ มีประตูหน้าบ้านเข้า 2 ประตู มีหน้าต่างแห่งเดียวเล็กๆ พอเอาศีรษะลอดเข้าออกได้ ภาษาผู้ไทยเรียกว่า "ประตูบอง" ถ้าเป็นบ้านของผู้มีฐานะหน่อยหน้าต่างจะสูงเท่าประตู ตรงหน้าต่างจะมี "เสาปากช้าง" หรือ "เสาคาช้าง" ค้ำทอดบ้านตรงหน้าต่าง ภาษาภูไทเรียก "หอนทอด" จะตีติดเคร่า เสาคางช้าง หรือ ปากช้างจะปาดเป็นบ่าค้ำทอดไว้ จะเป็นเสาใหญ่กว่าเสาบ้านทุกต้น เป็นเสาโชว์พิเศษสลักเสาลวดลาย ปลายเสาจะปาดเป็นรูปกลีบบัว หรือ กาบพรหมศร

ชาวภูไทในอดีตอาจจะเห็นเป็นรูปคล้ายปากช้าง หรือคางช้าง ก็เลยเรียกเสาคางช้าง หรือเสาปากช้าง มีระเบียงยื่นออกมาด้านหน้า ภาษาภูไทเรียกว่า "เก๋ย" หลังคาระเบียงถ้าต่อจากหลังคาเรือนใหญ่ลาดลงมาเรียกว่า "หลังคากะเทิบ" ถ้าหลังยกเป็นหน้าจั่วยอดแหลมเหมือนเรือนใหญ่จะเรียก "หลังคาโหลอย" (หลังคาหัวลอย) เรียกทั้งตัวบ้านว่า "เฮินโหลอย" (เรือนหัวลอย) ระหว่างหลังคาเรือนใหญ่และหลังคาหัวลอยจะมีรางน้ำ ซึ่งเจาะต้นไม้ทั้งลำแบบหลัง คากะเทิบจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะไม่คอยดี บ้านหลังคาหัวลอย หรือเรือนหัวลอยจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะดี นอกจากนั้นก็ดูที่ฝาและหลังคา ถ้าฝาและหลังคาเป็นกระดานแสดงว่ามีฐานะดี ถ้าหลังคามุงด้วยหญ้า ฝาเป็นฝาขัดแตะแสดงว่าฐานะไม่ดี

huan poothai 1

"เฮินซู" (เรือนสู่) เป็นบ้านอีกรูปทรงหนึ่งซึ่งสร้างแบบง่ายๆ "เสาไม้เมาะ แตะไม้ลื่ม" (เสาไม้มอก ตอกไม้ลิ่ม-มอก คือ กระพี้, ไม้ลื่ม คือ ไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่) เสาทำด้วยต้นไม้เนื้อแข็งที่ต้นยังเล็กอยู่ ขนาดพอดีเป็นเสา โดยไม่ต้องถากเพียงแต่ปอกเปลือก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม.) ตัดหัวท้ายยาวตามขนาดที่ต้องการ การเข้าไม้ประกอบเป็นตัวบ้านไม่ใช้ตะปู (เพราะในอดีตไม่มีตะปู) จะใช้ "เคออู้ย" (เครืออู้ย–เถาวัลย์ชนิดหนึ่งเหนียวมาก) และ "เตาะไม้ลื่ม" คือเอาไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่อายุประมาณ 10-12 เดือน มาจักเป็นตอกมัด ตอกไม้ลื่มจะเหนียวไม่เปราะเหมือนตอกไม้แก่ (ไม้แก่ ภูไทว่า ไม้กล้า)

ตัวไม้ทำโครงบ้านก็เหมือนบ้านโบราณดั้งเดิมทั่วไป คือ หลังคามุงหญ้าคา ฝาเป็น "ฝาพะล่าน" ไม่มีเกย ไม่มีชาย ไม่มีเรือนครัว เฮินซู เป็นบ้านที่เขยมาสร้างไว้ก่อนแต่งงาน สร้างให้เฉพาะลูกเขยที่จะมา "ซูพ่อเฒ่า" (สู่พ่อตา) คือ ลูกเขยที่แต่งงานแล้วขออาศัยอยู่กับพ่อตาชั่วคราว เมื่อพอเลี้ยงตัวได้แล้ว หรือบางทีอยู่ 2-3 ปีก็ขยับขยายไปสร้างบ้านใหม่ในที่อื่น บางทีพ่อตากลัวลูกสาวลำบาก ลูกเขยสร้างบ้านใหม่ก็ให้สร้างบริเวณที่ดินพ่อตาเลย กล่าวถึงการสร้างเฮินซูนั้น เมื่อหาวัสดุพร้อมแล้ว ก็จะวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้เสร็จภายในวันเดียว ปัจจุบันไม่มีการตั้งเฮินซูแล้ว ประการแรกเพราะเขยก็จะอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อตา โดยยกห้องใดห้องหนึ่งให้ ประการที่สองไม่ค่อยมีการซูพ่อเฒ่า ในปัจจุบันนี้บ้านรูปทรงดังกล่าวนี้หายากแล้ว เพราะผู้ที่สร้างบ้านใหม่ก็จะสร้างตามสมัยนิยมกันหมด

ประโยชน์ใช้สอยบ้าน บ้านชาวภูไทเมื่อสมัย 40 ปีมาแล้วแบ่งประโยชน์ใช้สอย ดังนี้

ห้องใน เรียกว่า "โก๋ง" ภายใน "โก๋ง" จะกั้นเป็นห้องนอนอีก มี 1 ประตู ภูไทเรียกว่า "โก๋ง โส้ม" สำหรับเป็นที่นอนของลูกสาว บางบ้านภายใน "โก๋งโส้ม" อาจจะกั้นห้องหรือเอาตู้ กั้นให้เป็นที่นอนของพ่อแม่ด้วย ข้างโก๋งโส้มอาจจะทางซ้ายหรือขวาเรียกว่า "ฮอง" เป็นที่นอนของพ่อแม่หรือลูกชาย

ห้องนอกหรือเกย ภาษาผู้ไทยว่า "เก๋ย" ไม่มีฝา มีแต่หลังคาเป็นที่นั่งเล่น เป็นที่รับแขก เป็นที่รับประทานอาหาร หรือกั้นเป็นห้องให้ลูกเขยอยู่

huan poothai 2

"เฮินไฟ" (เรือนครัว) จะตั้งต่อจากเกยออกไป บางหลังคาเรือนอาจจะตั้งแยกออกไป มีเพียงกระดาน 1-2 แผ่นพาดเชื่อมกับเกย เนื้อที่ภายใน "เฮินไฟ" นั้นมีเตาไฟ มีลักษณะเป็นกระบะยกพื้นสูง สูงขึ้นจากพื้นเรือนครัวประมาณ 5-10 ซม. กว้าง 1x1 เมตร ขอบกระบะสูงประมาณ 1 คืบ ใส่ดินให้เต็มเพื่อป้องกันไฟไหม้พื้น ที่ก่อไฟนั้นอยู่กลางล้อมด้วยก้อนเส้า 3 ก้อน เป็นที่วางหม้อหรือบางทีใช้ "เคง" (เคียง) คือ ที่วางหม้อเวลาต้มแกง เป็นที่วางที่เป็นเหล็กมี 3 ขา ด้านบนขาจะเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กบาง งอเป็นรูปวงกลมเป็นที่สำหรับรับก้นหม้อ รอบตามฝาเรือนครัวจะวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติบข้าว ตะกร้า ไหปลาร้า ไหเกลือ เป็นต้น เหนือเตาไฟจะมีห้างสูงระดับหน้าผาก มีไว้สำหรับห้อยเนื้อที่จะทำเนื้อแห้ง ห้อยข้อง ตะกร้าที่เพิ่งสานใหม่ๆ เพื่อป้องกันแมลงกินไม้ เช่น มอด มิให้มากินข้อง ตะกร้า ฯลฯ เหล่านี้

ที่ด้านใต้ของครัวหรือเฮือนไฟ มักนิยมที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ มากมากว่าใต้ถุนของเฮือนใหญ่ ในว่าอาหารเหลือก็โยนลงไปไม่เสียของ

ชาน (ซาน) เป็นพื้นที่ต่อกับเกยหรือเรือนครัว สำหรับวางตุ่มน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำใช้ ริมชานมัก จะวางรางผัก ไม่มีหลังคาไม่มีฝา พื้นชานจะต่ำกว่าเกยหรือเรือนครัว มีบันไดเรียกว่า "ขั้นบันได๋ซาน"

การใช้บริเวณบ้าน อดีตเมื่อ 40 ปีมาแล้วการใช้บริเวณบ้านของชาวภูไท พอกล่าวได้ดังนี้

  1. ใต้ถุนบ้านจะเป็นที่ผูกควาย คือ ทำเป็นคอกควาย โดยตีไม้ล้อมรอบ มีประตูซัด เอาเสาบ้านเป็นเสาคอกและมีเสาเสริมอีกเพื่อให้แข็งแรง บางคนที่ไม่ชอบผูกวัวควายไว้ใต้ถุนบ้าน ก็ออกผูกนอกใต้ถุนข้างๆ บ้าน เรียกว่า "แลงควาย" (แหล่งควาย) หรือ "แลงโง" (แหล่งวัว)
  2. ด้านหลังบ้าน หรือด้านข้างจะสร้าง "เล้าข้าว" (ยุ้งข้าว) ใต้ยุ้งข้าวจะทำเล้าไก่หรือเล้าหมู
  3. หน้าบ้าน ปล่อยโล่งไว้นั่งผิงแดดเรียกกว่า "ลานหน้าบ้าน" มีปลูกไม้ยืนต้นบ้างพอเป็นร่ม

ความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ในอดีตชาวผู้ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ดังนี้

  1. เกี่ยวกับไม้ที่จะนำมาสร้างบ้านนั้น จะห้ามเอาไม้ดังต่อไปนี้มาสร้างบ้าน เช่น ไม้ฟ้าผ่า ผู้ไทยเชื่อว่าไม้ที่ถูกฟ้าผ่านั้นเพราะ "มันเข็ด มันขวง" (มัน อัปรีย์ จัญไร) ไม้แยงเงา (ไม้ส่องเงา) คือ ต้นไม้ ที่อยู่ริมห้วย ลำต้นเอนเข้าหาลำห้วย (อาจจะเป็นเพราะโค่นยาก ปล้ำยาก อันตราย) ไม้ที่ชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ไม้กระบก คำว่า "บก" คือ บกพร่องหรือขาด นำมาสร้างบ้านจะทำให้สร้างไม่ขึ้น ขาดเขินอยู่เป็นประจำ
  2. เกี่ยวกับการใช้บ้าน ห้ามวางพาข้าวหรือนอนใต้ขื่อ (ยังหาคำอธิบายไม่ได้) ศพจะวางไว้ใต้ขื่อ อันนี้คิดว่าตรงใต้ขื่อมันจะตรงกับคานของบ้านพอดี ซึ่งจะรับน้ำหนักของหีบศพได้ดีกว่าบริเวณอื่น ส่วนประกอบ เช่น บันได จำนวนขั้นบันไดจะเป็นจำนวนคี่ เช่น 5 ขั้น 7 ขั้น 9 ขั้น เป็นต้น

phutai 07

ยารักษาโรค ในอดีตการแพทย์ยังไม่เจริญ ชาวภูไทเมื่อเจ็บป่วยก็ทำการรักษาเยียวยาตามความเชื่อ หรือ ทางด้านสมุนไพร การรักษาด้วยสมุนไพรนี้ อาศัยความรู้ และประสบการณ์ของบรรพบุรุษสืบทอดต่อๆ กันมา บางคนมีความรู้มากในด้านสมุนไพรรักษาโรค จนรักษาโรคด้วยสมุนไพรได้ เรียกว่า "หมอฮะไม้" (หมอรากไม้) และยังมีหมอเฉพาะโรค เช่น หมอกระดู หมอหมากไม้ (รักษาอาการไข้ชนิดหนึ่ง เรียกไข้หมากไม้)

วัสดุและแหล่งที่มา วัสดุก็เป็นพืชต่างๆ และบางอย่างก็ได้จากสัตว์ ซึ่งหาได้จากป่า และภูเขาใกล้บ้าน การใช้ตัวยาสมุนไพรที่ได้จากพืชมีการใช้ไม่เหมือนกัน บางชนิดใช้รากบางชนิดใช้ลำต้น บางชนิดใช้ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และวิธีใช้ก็มีทั้งต้ม แช่น้ำ ฝน อาบ ดื่ม ทา แล้วแต่โรค และแล้วแต่สมุนไพร

ความเชื่อเรื่องยารักษาโรค หมอรักษาโรคในอดีตนั้น ยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาหรือฮีต คลองอยู่ ถ้าผิดฮีตแล้วจะรักษาไม่หาย แต่หมอจะพูดว่า "ผิดครู ผิดคาย" คำว่า "คาย หรือ ค่ายกครู" ซึ่งจะขอแยกกล่าวกระบวนการดังนี้

  1. การไปหาหมอต้องมีดอกไม้เทียนคู่ คือ ดอกไม้ 1 คู่ เทียน 1 คู่ ไปหาอย่างกิจจะลักษณะจนถึงบ้าน ยกเว้นจำเป็นจริงๆ พบกันที่กลางบ้านก็พากันที่กลางบ้านเลยก็ได้ แต่ต้องมีดอกไม้เทียนคู่ดังกล่าว
  2. ฝ่ายผู้ป่วยต้องแต่งคาย จำนวนเงินใส่ในคายตามที่หมอบอก เงินใส่คายนี้จะเกิดที่ครูบอกไม่ได้ เช่น 6 สลึง 12 บาท เป็นต้น ส่วนค่าป่วยการของหมอนั้นแล้วแต่ฝ่ายผู้ป่วยจะให้ ค่าป่วยการภูไทเรียกว่า "ค้าเซิงติ๋น" (ค่าเชิงตีน) และหมอรากไม้ทุกคนมักจะมีมนต์ในการรักษาด้วย
  3. รื้อคาย จะรื้ออยู่ 3 กรณี คือ คนไข้หาย คนไข้ไม่หาย คนไข้ตายก็รื้อได้
  4. เครื่องยาบางอย่างมีข้อ "คะลำ" อยู่ตั้งแต่การไปหาการใช้ เช่น น้ำมันงา ห้ามหญิงแตะต้อง การคั้นน้ำมันงาต้องให้ผู้ชายหา เมื่อนำไปใช้ก็ต้องเก็บไว้ให้ดีไม่ให้ผู้หญิงไปถูกต้อง ไม่เช่นนั้นมันจะไม่ขลังในปัจจุบันนี้ ผู้ที่เป็นหมอรากไม้หายาก เนื่องจากการสาธารณสุขไปถึงชนบท ผู้ป่วยจะไปโรงพยาบาล จะมีก็เพียงผู้ที่รู้เกี่ยวกับสมุนไพรรากไม้บางอย่าง และหาต้มดื่มเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเท่านั้น

หมอเป่า หมอทรง หมอธรรม ในกลุ่มชาวภูไทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏมีผู้มีอาชีพแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ มีเพียงผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพร รากไม้ รากยา พอช่วยเยียวยาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นสินน้ำใจ ถ้าทางฝ่ายคนไข้ไม่มีเงินก็รักษาฟรีเอาพี่เอาน้องไว้

หมอเป่า ในอดีตยังมีหมออีกประเภทหนึ่งที่รักษาคนไข้ด้วยการใช้คาถาเป่า (เรียกว่า หมอเป่า) คนป่วยเป็นไข้ ตกต้นไม้ ควายชน แข้งหักขาบวมช้ำ หมอก็ใช้คาถาเป่าได้ ชาวบ้านในอดีตมักจะไปหามหมอมาเป่า ในเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยอดีตมักจะโยนให้ผี ที่ถูกใส่ความบ่อยที่สุด คือ ผีปอบ และผีป่า

ผีปอบ คือ คนที่เรียนคาถาประเภทเดรัจฉานวิชา และ "คะลำ" ถือปฏิบัติตามที่ครูบอกไม่ได้ เมื่อเป็นปอบแล้ว จะมีวิญญาณลึกลับอยู่ในตัวคนนั้น และเป็นวิญญาณร้ายที่ออกหากินคน ผู้ที่ถูกกินจะป่วยลงเมื่อหาหมอเป่าคนป่วยก็จะเพ้อออกมาว่าเป็นผู้นั้นมาเข้า การที่คนป่วยเพ้อออกมา ภูไทเรียกว่า "เอาะป้ะ" (ออกปาก) หมอเป่าก็จะใช้คาถาเป่า คุมจนปอบยอมออกจากร่าง เมื่อปอบออกจากร่าง แล้วคนไข้ลุกขึ้นนั่งเดินได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นป่วยนอนซมอยู่ไปไหนมาไหนไม่ได้

ผีป่า เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ใหญ่ ถ้าคนไปทำผิด เช่น ไปตัดไม้ หรือไปกวนบ่อน้ำในแหล่งน้ำซับกลางป่า หรือของป่าบางอย่าง ผีป่าก็จะเข้าทับร่างทำให้เป็นไข้ได้ป่วย หรือบางทีเห็นหญิงสาวสวยผีป่ารัก ก็เข้ามาทับร่างได้เหมือนกัน อาการป่วยก็เหมือนผีปอบ แต่พอเป่าคนไข้เพ้อไปทางป่าว่าอยู่ที่นั่นต้นไม้นั่น หนองน้ำนี่ "พวกสูไปรื้อบ้านกู" (ตัดต้นไม้) เป็นต้น หมอก็จะคุมจนออกเช่นกัน

หมอทรง เป็นหมอที่ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณต่างๆ ตามที่ผู้มาหาบอก เพื่อให้เข้าร่างหมอทรงแล้วจะได้บอกกล่าวเรื่องราวระหว่างวิญญาณกับผู้มาหาหมอ

หมอธรรม เป็นหมอที่นั่งทรงทางในเพื่อดูดวงชะตา หรือสิ่งที่มากระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่มาหาหมอ หรือไล่เลขไล่ยาม ผู้ไทยเรียกว่า "นั่งธรรม" หมอธรรมจะเป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับคน คล้ายหมอทรง แต่ไม่มีพิธีสลับซับซ้อนเท่าหมอทรง

การเหยา เป็นพิธีกรรมในการรักษาคนป่วยของคนภูไท เพราะเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เนื่องมาจากถูกผีกระทำ อาจจะเป็น ผีดง ผีป่า ผีแถน ผีปอบ ผีเป้า ผีบรรพบุรุษหรือถูกคุณไสย ผู้ที่เก่งกล้าในการขจัดปัดเป่าความเจ็บความไข้ออกไปได้ คือ หมอเหยา และหมอเป่า โดยหมอเป่าจะใช้คาถาเป่าขับไล่ผี แต่หมอเหยาใช้ไม้นวม คือ พูดจาหว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานและเป็นทำนองเหยา (คล้ายลำ)

ภาษา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาภูไท และยังคงรักษาไว้ได้ด้วยดีตลอดมา ภาษาภูไทเป็นภาษาที่พูดแปร่งไปจากภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาเขียนได้ เพราะหลายคำเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ใด จะยกตัวอย่างคำบางคำที่พอจะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้พอใกล้เคียง ดังนี้

  1. คำที่มีสระ เ-ีย , เ-ือ , -ัว จะเป็นสระ เ-, เ-อ, โอ เช่น เมีย - เม , เขียน - เขน , เขียด - เคด เสื่อ - เสอ , เลือด - เลิด , เมือง - เมิง , ผัว - โผ , ด่วน - โดน , - โสน
  2. สระ ไ, ใ, -ัย บางคำจะเป็นสระ เ-อ เช่น ใต้ – เต้อ (เสียงแปร่งอยู่ระหว่างวรรรณยุกต์เอกและโท คือ .่......) ใส่ – เชอ ให้ (สิ่งของ) – เห้อ (เสียงแปร่ง) ใหม่ – เมอ
  3. พยัญชนะ ข จะเป็นตัว ห เช่น เขียง-เหง ขาย- หาย ของเขา- หองเหา,เขา (สัตว์)- เหา
  4. พยัญชนะ ร จะเป็น ฮ เช่น เรือ – เฮือ เรือน – เฮือน รอย – ฮอย ร้อง – ฮ้อง รีบ – ฮีบ
  5. คำที่สะกดด้วย ก. ไก่ จะไม่มีเสียงตัวสะกด และสระจะเป็นสระเสียงสั้น เช่น แตก-แต้ะ แบก – แบ้ะ ผูก – พุ สาก – ซะ ปาก – ป้ะ
  6. บางคำที่มีเสียงสระ –ึ จะเป็นเสียงสระ เ-อ เช่น ลึก - เล็ก ผึ้ง- เผิ่ง (เสียงแปร่ง = .่...๋...้.)
  7. บางคำมีคำเรียกเฉพาะที่ไม่มีเค้าทางภาษาไทยเลย เช่นสิ่งของหาย- เฮ้ / หายเจ็บหายไข้ - ดี๋เจ็บดี๋ไข้ (แปร่ง) / ท้ายทอย - กะด้น (แปร่ง) / หัวเข่า - โหโค้ย / ผิดไข้ - มึไข้ (แปร่ง)/ ตาตุ่ม - ป๋อมเพอะ /ไปไหน - ไป๋ซิเลอ / ผู้ใด - ใคร - เพอ / อยากกินข้าว - เยอะกิ๋นข้าว (แปร่ง) ฯลฯ

ผักผลไม้บางชนิดที่เรียกต่างกันมาก เป็นไปได้ว่าช่วงที่คนไทยรวมอยู่ด้วยกัน ไม่มี มะละกอ ฟักทอง ส้มโอ ต้นไม้ 3 ชนิดนี้ คนไทยอาจรับเข้ามาภายหลังที่แยกตัวออกไปตามที่ต่างๆ แล้วส่วนคู่เปรียบ เทียบคำในภาษาภูไทกับภาษาไทยอีสานก็พบว่าเหมือนกันร้อยละ 37.67 คล้ายกันร้อยละ 52.14 หากรวมเข้าด้วยกันเท่ากับร้อยละ 89.81 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาษาภูไท กับภาษาไทยอีสานก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และเป็นกลุ่มที่ใกล้กันมาก มีแตกต่างกันเพียงร้อยละ 12.86 จึงเป็นไปได้มากกว่าคน 2 กลุ่มนี้อยู่บริเวณเดียวกันมาก่อน ดังที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองแถง มาแยกกันเมื่อคนลาวอพยพ มาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จากหลวงพระบางลงมาทางเวียงจันทน์และแอ่งสกลนคร ส่วนกลุ่มภูไทก็ยังอยู่บริเวณสิบสองจุไท และยังขึ้นกับลาวตลอดมาด้วยภาษาจึงใกล้เคียงกันมาก

phutai 08

คู่เปรียบเทียบคำในภาษาภูไท กับภาษาไทดำ

มีคำเปรียบเทียบกันน้อยจากทั้งหมด 89 คำ พบว่าเหมือนกันร้อยละ 34.83 คล้ายกันร้อยละ 44.94 รวมร้อยละ 79.77 ต่างกันร้อยละ 20.23 จึงอาจสรุปได้ว่าภาษาของคน 2 กลุ่มนี้ตระกูลเดียวกัน และคงอยู่บริเวณเดียวกันมาก่อนด้วย แต่ได้แยกกันมา 200 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มภูไทบ้านหนองโอใหญ่นี้ แยกจากเมืองแถงไปอยู่เมืองวัง เมืองคำอ้อ แล้วจึงอพยพมาอยู่ที่ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ส่วนผู้ไทยดำกลุ่มที่ให้ข้อมูล แยกจากเมืองแถงไปอยู่เชียงขวาง จากเชียงขวางไปอยู่บ้านอีไล ในแขวงเวียงจันทน์ และในที่สุดก็อพยพมาอยู่ที่ศูนย์ผู้อพยพ จ.หนองคาย ในปี พ.ศ. 2518 ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษ ที่ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ติดต่อกัน และต่างฝ่ายก็รักษาภาษาของกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง เช่น รองเท้า ภูไทเรียก เกิ้บ แต่ไทดำเรียก ฮาย ซึ่งน่าจะเป็นภาษาญวน ญวนเรียกรองเท้าว่า ไย่ บางคำอาจจะคิดขึ้นภายหลังจากแยกย้ายออกไปจากเมืองแถงแล้ว เช่น กระดุม ภาษาภูไทเรียกว่า มะติง แต่ภาษาไทดำเรียก มะห่อ แต่อย่างไรก็ตามคำหลักๆ ของสองภาษานี้คล้ายกันมาก

การทำมาหากิน ชาวภูไท ขยันทำงานหลายอาชีพ เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน ค้าวัว-ควายนำกองเกวียนไปขายต่างถิ่นที่เรียกว่า นายฮ้อย ชาวภูไทวาริชภูมิมีความรู้ในการปลูกหวายไว้รับประทาน

วิถีถิ่นผู้ไท กาฬสินธุ์

ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต นอกจากเอกลักษณ์ทางด้านการแต่งกายแล้ว ชาวภูไทมีการสร้างทำนองตนตรี ที่เรียกกันว่า ลาย มีแบบบ้านภูไท แต่ปัจจุบันมักปลูกบ้านอาศัยแบบไทย และในการแสดงฟ้อนภูไท ผู้ฟ้อนจะสวมเล็บยาว ปลายมีพู่สีแดง ฟ้อนเพื่อถวายองค์พระธาตุ และฟ้อนในพิธีต้อนรับแขกบ้านเมือง งานประเพณีของชาวผู้ไทยส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายๆ กัน ในส่วนของชาวผู้ไทวาริชภูมิ คือ พิธีบวงสรวงเจ้าปู่มเหสักข์ ในวันที่ 6 เมษายน ทุกปี

 

redline

 

paothai isan

ไทยลาว (ไทยอีสาน) ไท-ลาว Laotian  ตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Langauge Family) กลุ่มไทยลาว หรือทั่วไปเรียกว่า “ชาวอีสาน” ที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในอีสาน ซึ่งชาวภาคกลาง มักจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาว”  เพราะว่า มีภาษาพูดเป็นภาษาเดียวกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แต่ความจริงแล้วเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงแต่โบราณ (ร่วมกับไทยเวียง หรือ ชาวเวียงจันทน์) มีตัวอักษรของตนเองใช้มาแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และอาจจะร่วมสมัยสุโขทัย ตัวอักษรที่ใช้มี 2 แบบ คือ อักษรไทยน้อย และอักษรไทยธรรม

อักษรไทยน้อย เป็นอักษรสุโขทัยสาขาหนึ่ง ส่วนอักษรตัวธรรมเป็นอักษรที่ได้ต้นแบบอักษรมอญโบราณ คล้ายอักษรตัวเมืองของภาคเหนือ มีวรรณกรรมท้องถิ่นของตนเอง เช่น เรื่องสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ  นางผมหอม  ไก่แก้ว ลิ้นทอง กำพร้าผีน้อย ขูลูนางอั้ว ท้าวผาแดงนางไอ่ ฯลฯ อาจจะกล่าวได้ว่ากลุ่มไทยลาว เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน ฉะนั้นภูมิปัญญาสังคม เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี กลุ่มไทยลาวจะเป็นกลุ่มที่สืบทอด และถ่ายทอดให้ชนกลุ่มไทยกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย

ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวหรือชาวอีสาน ที่มีการตั้งหลักปักฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากตีความแล้ว หมายถึงคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย (อีสานเป็นภาษาบาลี แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ในภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติ เช่น เชื้อชาติลาว เขมร ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่แต่โบราณกาล หรืออพยพเข้ามาอยู่ใหม่หลังสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดในอีสาน

ราชสำนักส่วนกลาง ในสมัยก่อนการปฏิรูปการปกครอง 2435  เรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองลาวกาวตะวันออก จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน

pao thailao 2

ความเป็นมา

เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด 2 อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอๆ กัน

  1. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียง คือ ลาว ก็แสดงว่า ลาว มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า 5,600 ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน 14 บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง 5,600 ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว
  2. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสาน และมีมาจากที่อื่นด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่าคนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า "อีสาน" โดยประมาณ 1,000 – 7,000 ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่า ลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมิเป็นพวกแรก พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิ ก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ 3 อาณาจักร คือ
  • อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี)
  • อาณาจักรโยนก เมืองหลวงได้แก่ เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน
  • อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง

จากแนวคิดที่ 2 จะเห็นว่า ในคำรวมที่นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เรียกว่า "คนอีสาน" นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ "ลาว" อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้า หรือพวกข่า หมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงกล้าสรุปได้ว่า "อ้ายลาว" ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำเหลือง ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น 3 เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา

ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณยูนานในปัจจุบัน มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาว เป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1272 ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่างๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี 7 คน คือ

  1. ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
  2. ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
  3. ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
  4. ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
  5. ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
  6. ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
  7. ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนพี่น้องอ้ายลาว

ทั้ง 7 ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกัน โดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า "ไผรบราแย่งแผ่นดินกันขอให้ฟ้าผ่ามันตาย" สำหรับกลุ่มอ้ายลาวนี้ น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียง และลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง)

 pao thailao 4

ในพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เริ่มตั้งแต่สร้างเมืองชวา หรือเมืองหลวงพระบาง มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 22 องค์ กษัตริย์องค์หนึ่ง คือ พระเจ้าเงี้ยว ได้กำเนิดลูกชายคือ พระเจ้าฟ้างุ้ม หรือ พระเจ้าฟ้าลุ้ม เกิดมามีฟันเต็มปาก เสนาอำมาตย์ในราชสำนักเห็นเป็นอาเพศ จึงทูลให้พระบิดานำไป "ล่องโขง" คือ ลอยแพไปตามลำน้ำโขง มีพระเขมรรูปหนึ่งพบเข้า เกิดเมตตาเอาพระเจ้าฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ แล้วถวายตัวในราชสำนักเขมร พระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการศึกษาอบรมอย่างองค์ชายเขมร และทรงเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรด้วย เมื่อพระเจ้าฟ้าเงี้ยวสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าคำเสียวผู้เป็นน้องชาย ขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพจากเขมรทวงราชสมบัติของบิดาคืน สามารถโจมตีเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าฟ้าคำเลียวเสียทีแก่หลานสู้ไม่ได้ น้อยใจจึงกินยาพิษตาย เจ้าฟ้าลุ้มจึงขึ้นครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 1896 ทรงพระนามว่า "พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี"

พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นนักรบผู้กล้าหาญชาญฉลาด ในช่วงนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอำนาจแผ่ไปถึงญวน ลงมาถึงส่วนหนึ่งของเขมรตอนล่าง และเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน ได้อพยพผู้คนจากเวียงจันทน์มาอยู่บริเวณเมืองหนองหาน และหนองหานน้อยประมาณ 10,000 คน พระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์และแผ่แสนยานุภาพเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าฟ้างุ้ม คิดแผ่แสนยานุภาพเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องเจรจาหย่าศึก โดยอ้างความเป็นญาติร่วมวงศ์ขุนบรมเดียวกันว่า "เฮาหากแมนอ้ายน้องกันมาแต่ขุนบรมพุ้น หากเจ้าเป็นลูกหลานขุนบรมจริง เฮาอย่ามารบราฆ่าฟันกันเลย ดินแดนส่วนที่อยู่เลยดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ไปจดภูพระยาฝอ และแดนเมืองนครไทย ให้เป็นของเจ้า ส่วนที่อยู่เลยดงพญาไฟลงมาให้เป็นของข้อย แล้วจัดส่งลูกสาวไปจัดที่อยู่ที่นอนให้" (ทองสืบ ศุภมารค: อ้างในสมเด็จพระสังฆราชลาว 2528:43) พระเจ้าอู่ทอง ยังได้ส่งช้างพลาย 51 เชือก ช้างพัง 50 เชือก เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกอย่างละ 100 ให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม จากหลักฐานนี้ จึงมีอำนาจครอบครองดินแดนอีสาน ยกเว้นเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงเป็นอิสระอยู่ เพราะในหนังสือ "King of Laos" ระบุว่าในปี ค.ศ. 1385 อาณาเขตกรุงล้านช้างทางทิศตะวันตกติดต่อกับโคราช (นครราชสีมา) ดินแดนอีสานส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้มเรื่อยมา

จนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ลาวเขียน ไชยเสฏฐามหาราช) ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2091 - 2114 ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์ พระองค์ได้ทำสัญญาพันธมิตร กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และทั้งสองได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นเขตแดนระหว่างสองอาณาจักร กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างวัดองค์ดื้อ และศาสนสถานต่างๆ ในเขตเมืองหนองคาย และบูรณะพระธาตุพนมด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สนใจดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมากกว่าสมัยก่อนๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2250 ได้เกิดการแก่งแย่งอำนาจขึ้นในลาว ทำให้ลาวถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาจักร มีหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ เป็นศูนย์กลาง

paothai isan 04

ในปี พ.ศ. 2256 อาณาเขตเวียงจันทน์ทางใต้ได้ถูกแบ่งแยกโดย เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) มีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ส่งจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) มาเป็นเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองทุ่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นับว่านครจำปาศักดิ์ได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำมูล – ชี ตอนกลาง เวลาต่อมาลูกหลานเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองสุวรรณภูมิได้สร้างเมืองต่างๆ ในดินแดนอีสานมากกว่า 15 เมือง (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 :71) เช่น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชนบทขอนแก่น ฯลฯ ต่อมาเกิดความไม่ลงรอยแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มขุนนาง และกษัตริย์ลาวผู้คนได้อพยพหนีภัยการเมือง จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้าสู่อีสานเหนือ กลุ่มสำคัญได้แก่

กลุ่มเจ้าผ้าขาว โสมพะมิตร กลุ่มนี้อพยพผู้คนมาตั้งอยู่ริมน้ำปาว คือ บ้านแก่งสำเริง (สำโรง) เจ้าโสมพะมิตร ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เพื่อถวายความจงรักภักดี และเนื่องจากมีกำลังคนถึง 4,000 คน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านแก่งสำเริง เป็นเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเจ้าโสมพะมิตรได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาไชยสุนทร" เจ้าเมืองกาฬสินธุ์

กลุ่มพระวอพระตา พระวอพระตาเป็นเสนาบดีลาว เกิดขัดใจกษัตริย์เวียงจันทน์ อพยพผู้คนข้ามโขงมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" แต่ได้ถูกกองทัพลาวตามตี จนพระตาตายในที่รบ ส่วนพระวอได้พาบริวารไพร่พลหนีลงไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงดอนมดแดง และต่อมาลูกหลานของพระวอได้ขอตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี และเมืองยโสธร

กลุ่มท้าวแล ท้าวแล และสมัครพรรคพวกได้อพยพหนีภัยการเมือง จากเวียงจันทน์ มาอยู่ในท้องที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปทางตอนเหนือแล้วขอตั้งเป็นเมืองชัยภูมิ ท้าวแลได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า "พระภักดีชุมพล" ต่อมาได้เลื่อนเป็น "พระยาภักดีชุมพล"

การตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24 - 25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง มีแบบแผนการปกครองตามแบบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ คือมีตำแหน่งอาชญาสี่คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ส่วนเมืองในเขตอีสานใต้ คือนครราชสีมา และหัวเมืองเขมรป่าดง ได้ใช้แบบแผนการปกครองแบบกรุงเทพฯ คือมีเจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง จากหลักฐานของลาวสามารถหาได้กลุ่มชาติพันธุ์ลาว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอีสานมานานแล้ว จึงสรุปได้ว่า คนในท้องถิ่นอีสาน หรือบริเวณนี้เป็นเชื้อสายลาว ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดสายธารทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว

ตามหลักฐานทางตำนานและพงศาวดาร ลาวเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองสิงห์ ทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนา มายังแคว้นสิบสองจุไทย ในเขตลุ่มแม่น้ำดำ ทางตะวันออกและคลุมลงมาทางใต้ในเขตหัวพัน ลงมาจนถึงบริเวณแคว้นตวัน-นินห์ ของญวน

มีลาวกลุ่มหนึ่งได้ขยายมาทางลุ่มแม่น้ำโขง ทางด้านตะวันตกและด้านใต้ ได้แสดงทัศนะว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ตรงกับรัชกาลของพระยาสามแสนไทย เป็นช่วงเวลาที่คนลาวเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในอีสาน การเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยของคนลาว มีการเข้ามาอยู่ 2 ลักษณะคือ

  1. การอพยพเข้ามาลี้ภัย ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  2. การถูกกวาดต้อนเข้ามา ส่วนใหญ่จะถูกนำมาอยู่ในเขตจังหวัดในภาคกลาง

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทยลาว ยึดมั่นในจารีตประเพณี ดำเนินชีวิตตาม "ฮีตสิบสอง" (คือกิจกรรมประเพณีในรอบ 12 เดือน) นับถือศาสนาพุทธแบบชาวบ้าน คือ พุทธศาสนาที่ปรับเข้ากับจารีตของชาวบ้านมุ่งที่จะสั่งสอนให้เป็นพลเมืองดี มากกว่าที่จะสอนให้ละโลกีย์ไปสู่นิพพาน ตามปรัชญาพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า ผีแถน รวมทั้งผีไร่นา ฯลฯ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษยังมีอิทธิพลต่อสังคมมาก นั่นคือ ผีปู่ตา ทุกชุมชนในชนบทจะมีศาลเจ้าปู่ตา (ตูบปู่ตา) ประจำหมู่บ้าน และมีตำแหน่งเฒ่าจ้ำ หรือหมอจ้ำ เป็นผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณ เฒ่าจ้ำจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากผู้หนึ่ง

pao thailao 3

ความเชื่อคนอีสานในอดีตกาลนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ไกลปืนเที่ยง การดูแลทางด้านสุขอนามัยเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย คนอีสานจึงหันไปเพิ่งภูตผี คนอีสานนั้นเชื่ิอในเรื่องของ ผี เป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็น ผีของปู่ ย่า ตา ยาย ผีป่า ผีเขา ผีปอบ ฯลฯ ในทุกวันนี้ความเชื่อในเรื่องผีของชาวอีสานนั้นยังมีอยู่ ยากที่จะลบล้างในความเชื่อนั้น ในขณะเดียวกันบนความเชื่อนั้น นอกจากจะเป็นการเตือนสติ ไม่ให้ประพฤติผิด ปฏิบัติชั่วแล้ว ยังทำให้เกิดประเพณีที่ดีงาม งานบุญต่างๆ มากมายกับคนอีสาน เป็นกุศโลบายล้ำลึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ร่วมกันในชุมชน เช่น ดอนปู่ตา ดอนเจ้าปู่

ชาวไทยลาวนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในพิธีกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านไทย - ลาว จะมีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม วัดยังเป็นโรงเรียนสอนหนังสือให้เด็กๆ ซึ่งเด็กชายจะมีความใกล้ชิดกับวัด เพราะใช้เป็นสถานที่เรียน บวชเณร และอุปสมบทตามลำดับ นอกจากนั้นชาวไทย-ลาวยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ เช่น ผีในต้นไม้ แม่น้ำ ในบ้าน ในไร่นา ผีประจำหมู่บ้าน และผีบรรพบุรุษ จะมีพิธีเซ่นไหว้ผีเป็นประจำ ในฤดูเก็บเกี่ยวหรือเพาะปลูกข้าว เวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวไทย-ลาวเชื่อว่ามีสาเหตุจากผีและขวัญออกจากร่าง ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบพิธีรักษาโรค และเรียกขวัญ เช่น พระ สงฆ์ นอกจากนั้น ยังเชื่อเรื่องผีปอบ ซึ่งเป็นคนที่ถูกวิญญาณ ชั่วร้ายเข้าสิง และสามารถทำร้ายผู้อื่นได้

ชาวอีสานเป็นกลุ่มชนที่ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติตนเป็น พุทธมามะกะ ที่ดี ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากทุกเทศกาลสำคัญของไทย (ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ถนนหนทางที่มุ่งสู่สายอีสานจะเนืองแน่นด้วยรถรา คนอีสานพากันกลับบ้าน ไม่เว้นแม้จะไปทำงานยังต่างแดนก็ตาม) ชนชาวไทยอีสานจะตั้งกองกฐิน ผ้าป่า ไปทอดถวายวัดที่บ้านเกิด เพื่อนำรายได้ไปสร้างวัดและบูรณะ ปฏิสังขร วัดวาอารามต่างๆ ที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเป็นเนืองนิจ คนอีสานเมื่อไปเยี่ยมเยี่ยนเพื่อนบ้านต่างถิ่น สิ่งแรกที่จะมองหานั่นคือ วัดวาอาราม หากหมู่บ้าน แห่งหนตำบลใด มีวัดวาอาราม และพระอุโบสถ (สิม) สวยงดงาม จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของหมู่บ้านนั้นๆ

การตั้งถิ่นฐาน

การตั้งภูมิลำเนาของกลุ่มไทยลาวจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตอนบนของภาคนับตั้งแต่ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี เลย มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบางอำเภอ ของ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ (อ.รัตนบุรี) นครราชสีมา (อ.บัวใหญ่ อ.สูงเนิน อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ (อ.พุทไธสง) นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่มบนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "โนน" โดยยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ นั่นคือ บริเวณรอบหมู่บ้าน จะมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีหนองน้ำ หรือลำน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำสำหรับบริโภคในฤดูแล้ง ไม่ห่างไกลหมู่บ้านจะมีป่าละเมาะสาธารณประโยชน์ ซึ่งใช้พื้นที่ปล่อยวัว ควายในฤดูทำนา และเป็นแหล่งเก็บพืชผักป่าอีกด้วย

หากมีวัดจะตั้งอยู่ตอนท้ายหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเชื่อที่ว่า วัดควรแยกจากหมู่บ้าน คือ วิสุงคามสีมา (แปลว่า เขตนอกชุมชน) แต่โดยปฏิบัติแล้วพระภิกษุกับชาวบ้าน จะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้ง 12 เดือน นอกจากวัดแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาลปู่ตา หรือ เรียกตามภาษาว่า "ตูบปู่ตา" ซึ่งมักจะตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นดอนที่ยื่นออกมา บางแห่งมีพื้นที่กว้างใหญ่เรียกว่า "ดอนปู่ตา"

การสร้างบ้านเรือน

หมู่บ้านชาวไทยลาว จะตั้งอยู่ติดแม่น้ำ แวดล้อมด้วยสวนมะพร้าว และนาข้าว ตัวบ้านสร้างจากไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีบันไดอยู่ด้านหน้า บนเรือนจะกั้นเป็นห้องนอน และพื้นที่ทำงาน ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือทำนาทำไร และใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนยุ้งข้าวจะปลูกอยู่ห่างจาก ตัวเรือนออกไป

huan isan 01 

ชาวอีสานสร้างเรือนเพื่ออยู่อาศัย จึงไม่ประณีตบรรจงมากนัก นั่นคือ ผู้มีฐานะขนาดปานกลางจะสร้างบ้านเรือนที่มีขนาด 2 ห้องนอน คือ ห้องส้วม (ห้องลูกสาว และห้องหอ) และห้องเปิง (ห้องหัวหน้าครอบครัวและไว้หิ้งผี ที่เรียกว่า "ห้องฮักษา") มีส่วนที่เชื่อมต่อห้องนอนของลูกสาวกับเครือญาติ เป็นชานโล่ง (ไม่มีหลังคา) ติดต่อกับครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูงเพื่อทำกิจกรรม เช่น ทอผ้า เก็บเครื่องมือทำนา และให้วัวควายนอนส่วนหนึ่ง

huan isan 02

วัฒนธรรมอาหาร

ชาวอีสานรับประทานข้าวเหนียว อาหารหลักของชาวบ้าน คือ เครื่องจิ้ม (เช่น แจ่วบอง ป่น) กับผัก ส้มตำ แกง อ่อม จากเนื้อสัตว์และพืชผักที่หาได้ตามไร่นา ส่วนอาหารพิเศษอื่นๆ ได้แก่ ลาบ ก้อย เนื้อย่าง ฯลฯ นั้นจะบริโภคเมื่อยามมีงานบุญ หรือการเลี้ยงฉลองเท่านั้น

การละเล่น ขับร้อง ลำนำ

การละเล่น เครื่องดนตรี ได้แก่ หมอลำ การขับเซิ้ง ฟ้อน ส่วนเครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ แคน ซึง หรือ พิณ ฉิ่ง ฉาบ กลอง (เครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เห็นในปัจจุบัน เพิ่มเติมมาใหม่จากการผสมผสานวัฒนธรรม และการคิดค้น ปรับปรุง เช่น โปงลาง โหวต)

พิธีกินดอง (แต่งงาน)

pao thailao 5หนุ่มสาวในภาคอีสานโดยเฉพาะกลุ่มไทย-ลาว ค่อนข้างจะอิสระในการเลือกคู่ครอง นั่นคือ ประเพณีพื้นบ้านไม่ค่อยจะเคร่งครัดในความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว แต่กระนั้นก็ตามหนุ่มสาวภาคอีสาน จะเกรงกลัวผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า "ผิดผี" คือไม่กล้าที่จะประพฤติล่วงเกินประเพณีที่เรียกว่า "ฮีตบ้านคองเมือง" ประเพณีอีสานโดยทั่วไป จะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้คุ้นเคย หรือร่วมกิจกรรมสาธารณะ ด้วยกันเสมอ พ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายสาวก็ไม่ได้ปกป้องแต่อย่างใด เช่น

การลงข่วง (หนุ่มๆ จะมาช่วยสาวๆ ปั่นฝ้ายและเกี้ยวพาราสีกันได้) หรืองานบุญประเพณีทั่วไป หนุ่มสาวต่างหมู่บ้านจะมีโอกาสพบปะและสังสรรค์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสเลือกคู่ครองที่พึงใจไปด้วยในงานบุญประเพณีนั้นๆ ครั้นเมื่อหนุ่มสาวแน่ใจว่าพบบุคคลที่พึงพอใจแล้ว หนุ่มสาวจะมาเยี่ยมเยือนกันที่บ้านสืบต่อไป

พิธีกินดอง เป็นการเลี้ยงในพิธีแต่งงานที่จัดเป็นพิธีใหญ่ นั่นคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวมีฐานะ มีหน้าตาของหมู่บ้าน ฝ่ายสาวจะรู้ตนเองว่าพ่อแม่เป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ ครั้นเมื่อสมัครรักใคร่กับหนุ่มใดๆ มักจะไม่ยินยอมให้ฝ่ายชายมาซูน (สัมผัส/แตะต้อง) เพราะถือว่าเป็นการไม่รักษาหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง ฉะนั้นฝ่ายสาวจะยินยอมให้ฝ่ายชายมาสู่ขอตามประเพณี หรือบางกรณีชายหนุ่มอาจจะส่งเฒ่าแก่มาขอเลยทีเดียวก็ได้ การสู่ขอสาวเพื่อแต่งงานนี้เรียกว่า "โอม" (หรือโอมสาว)

พิธีโอม (การสู่ขอ) การสู่ขอนั้นฝ่ายชายจะส่งแม่สื่อไปทาบทาม ถามความสมัครใจจากฝ่ายสาวก่อน ฝ่ายพ่อแม่จะเรียกบุตรสาวมาถามความสมัครใจ หากฝ่ายหญิงสมัครใจก็จะทำพิธีโอม ซึ่งในการนี้แม่สื่อจะปรึกษากับฝ่ายสาว เรื่องการกำหนดวันทำพิธีโอมด้วย ถึงวันกำหนดทำพิธีโอมกันนั้น เจ้าโคตรฝ่ายชาย (เจ้าโคตรคือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่หรืออาวุโสของตระกูล) จะเป็นเฒ่าแก่จัดพานหมาก 4 คำ หรือเรียกว่า "ขันหมาก" กับเงิน 3 บาท ไปบ้านเจ้าสาว

เมื่อถึงเรือนฝ่ายสาว บิดามาดารญาติพี่น้องจะจัดการต้อนรับเจ้าโคตรฝ่ายชายที่เป็นเฒ่าแก่มาสู่ขอ (หรือมาโอม) ตามสมควร เมื่อทั้งสองฝ่ายได้นั่งตามสมควรแล้วเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะยกพานหมาก 4 คำ (มีผ้าขาวปิดไว้) ให้บิดามาดารฝ่ายหญิงกิน และรับเงิน 3 บาท ที่อยู่ในพานนั้นด้วย เงินนี้เรียกว่า "เงินไขปากคอ" การรับเงินแสดงว่าฝ่ายสาวตกลงใจแล้ว หากไม่ตกลงฝ่ายสาวจะส่งเงินคืน 3 บาทคืน ครั้นเมื่อพิธีโอมเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาค่าสินสอดกันเรียกว่า "คาดค่าดอง"

การประกอบอาชีพ

คนไทย-ลาว ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีการจับปลาเป็นอาหาร และชาวลาวยังทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ปั้นหม้อ สานตะกร้า ทอผ้า เป็นต้น ผู้หญิงลาวจะมีหน้าที่ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ตำข้าว เตรียมอาหาร ทำครัว เพาะปลูกเก็บเกี่ยว ส่วนผู้ชายจะทำงานหว่านไถนา ชาวลาวมีการนับถือญาติทั้งสองฝ่าย เมื่อชายหญิงแต่งงานแล้วจะอาศัยอยู่บ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะย้ายออกไปตั้งเรือนใหม่ ลูกสาวมักได้รับมรดกจากพ่อแม่ และมักจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนหลังจากแต่งงาน

การแต่งกายของชนชาติไท-ลาว

ผู้ชาย เมื่ออยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม แขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อร่วมงานบุญ จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคล้องคอ

ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น นิยมนุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ ผ้าซิ่น ไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหม เสื้อแบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้จะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางได้รวดเร็ว จึงทำให้เผ่าไทยลาว มีแบบเสื้อแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆ เช่น เสื้อแขนกระบอก คือ ทอจากผ้าแพรตกแต่งให้มีจีบมีระบาย แขนกระบอกผ้าฝ้ายย้อมคราม หรือมัดหมี่ กลุ่มที่แต่งกายแบบดั้งเดิมจริงๆ นิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น

การพัฒนาการของการทอผ้ามัดหมี่ ทำให้ไทยลาว ในปัจจุบันสามารถทอผ้าลายหมี่คั่นหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และนิยมสีฉูดฉาด นอกจากนี้ชาวเผ่าไทยลาวยังนิยมทอผ้าห่ม ผ้าจ่องลวดลายสวยงาม ซึ่งสามารถปรับแต่งมาเป็นผ้าสไบโชว์ลวดลายของผ้าประกอบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี

เครื่องประดับของชาวเผ่าไทยลาว นิยมเครื่องเงินเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น นอกจากเครื่องเงิน ยังนิยมสวมสร้อยที่เป็นรัตนชาติ สอดชายเสื้อในซิ่นหมี่ไหม คาดด้วยเข็มขัดเงิน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของชนเผ่าไทยลาว คือ การนิยมผ้าขาวม้าทั้งชายและหญิง ผ้าขาวม้าที่งดงามคือผ้าไส้ปลาไหล มีสีเขียว-แดง-เหลือง ตามแนวยาว สามารถคัดแปลงเป็นผ้าคล้องคอ ผ้าสไบของสตรีในการเสริมแต่งกายให้งดงามขึ้น

pao thailao 1

บุคคลิกและอุปนิสัย โดยเอกลักษณ์นิสัยใจคอของชาวอีสานในอดีตส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังจะเห็นได้จาก เอกลักษณ์โดดเด่นในหมู่บ้านของชาวอีสานทั่วไป จะมีซุ้มเล็กๆ หรือเพิงเล็กๆ ปลูกไว้หน้าบ้าน ในซุ้มหรือเพิงเล็กๆ นั้นจะมีตุ่มน้ำเย็นใสสะอาดพร้อมกระบวยไว้ให้แขกต่างบ้าน หรือใครที่เดินผ่านไปมาได้ตักดื่มกินแก้กระหาย (ภูมิปัญญาอีสาน ตุ่มน้ำจากดินเผาเมื่อใช้ไปนานๆ จะมีตะไคร่น้ำจับภายนอกทำให้น้ำในตุ่มเย็น นี่เป็นตู้เย็นธรรมชาติที่ไม่เปลืองกระแสไฟฟ้า)

pao thailaoคนอีสานมีความเป็นกันเองกับทุกคน เป็นคนจริงใจ ให้ความไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจคนง่าย เพราะคนอีสานในอดีตจะเป็นชนที่ไม่ชอบพูดโกหก หรือพูดปดมดเท็จ ซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามศีลห้าค่อนข้างจะเคร่งครัดในศีลธรรม ถ้าใครคนหนึ่งบอกกล่าวหรือเล่าอะไร ก็จะเชื่อตามกันไปเกือบทั้งหมด นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของชนชาวอีสานในอดีต ที่มักจะถูกหลอกลวงง่าย เพราะเชื่อว่า ทุกคนให้ความจริงใจต่อกันและกัน ทำให้มิจฉาชีพบางกลุ่มอาศัยจุดนี้ หลอกลวง ทำมาหากินบนความซื่อของชนชาวไทยอีสานมานักต่อนัก

เอกลักษณ์เด่นอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสานคือ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูสูง ให้ความเคารพนับถือต่อบุพการี ให้ความเคารพผู้มีพระคุณและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก จะได้ยินผู้มีอายุน้อยกว่าเรียกผู้สูงอายุในเกือบทุกพื้นที่ว่า

"พ่อคุณ" "แม่คุณ" คำว่า "คุณ" ที่ใช้เรียกชื่อผู้สูงอายุแทนการเรียกชื่อกับคนที่รู้จักและไม่รู้จัก มีความหมายว่า "ผู้มีพระคุณ" (บางแห่งเอิ้นว่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่) คนอีสานระลึกเสมอว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้มีพระคุณต่อทุกคน เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิต และเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ชนรุ่นหลังอยู่เสมอมา

 

redline

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)