foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

tok pood header

สังคมของฅนอีสานดั้งเดิมนั้นมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตน หรือส่วนรวม เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน การสร้างวัดวา อาราม การสร้างโรงเรียน หรือศาลากลางบ้าน ทำให้การงานสำเร็จลุล่วงไป ด้วยการลงแขก หรือ เอาแฮง ช่วยกันทำงาน

การลงแขก

ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อ และเกื้อกูลกันของสังคมฅนอีสานในอดีต ที่นับวันจะสูยหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า ลงแขก ในความหมายที่จะนำไปสู่คุกตะราง เพราะหมายถึงการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา แต่สำหรับฅนอีสานแล้ว การลงแขก มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว

buffalo ironคำว่า "ลงแขก" ประกอบด้วยคำสำคัญ 2 คำ คือ "ลง" หมายถึง การลงแรง ออกแรงช่วยกันทำงาน และ "แขก" หมายถึง เพื่อนบ้าน ญาติมิตร ที่สนิทชิดเชื้อไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือนกันเป็นประจำ เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน "ลงแขก" จึงหมายความว่า "การขอแรงเพื่อนบ้านในการกระทำสิ่งใดๆ ร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง" เช่น เมื่อถึงยามฤดูเก็บเกี่ยวข้าว บ้านใดมีแรงงานน้อยก็จะขอแรงเพื่อนบ้านในการช่วยเก็บเกี่ยว เพื่อให้สำเร็จก่อนที่รวงข้าวจะหักร่วงหล่นเสียหายหมดนั่นเอง

การลงแขกทางอีสานตอนเหนือ เช่น จังหวัดเลย จะเรียกว่า "เอาแฮง"

เนื่องจากชีวิตของคนอีสานเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทน มีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน

เมื่อควายเหล็กเข้ามาสู่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่ จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย

และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม - สาว ของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

long kag dam na

อย่างในภาพประกอบข้างบนนั่นก็เป็นภาพของชาวบ้านโพธิ์ศรีสมพร ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู นับร้อยชีวิตที่มารอร่วมลงแขกดำนาบนที่ดินของ นางนิดถา ภูโคกยาว ซึ่งเป็นชาวนาที่ขัดสนไร้คนช่วยทำนา โครงการดำนาหาเสี่ยว ของจังหวัดหนองบัวลำภูนี้ เกิดขึ้นมาจากความคิดริเริ่มของหลายๆ คน ที่มองเห็นว่า ประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยเรากำลังจะสูญหายไป เพราะต่างคนต่างทำ ความสัมพันธ์ในชุมชนมันจึงเริ่มถดถอย ส่งผลถึงผลผลิตของชาวนาบางคนลดน้อยและด้อยคุณภาพ ต่างไปจากคนที่มีกำลังคนและทุนทรัพย์อย่างมากมาย หากไม่นำประเพณีนี้กลับคืนมา เชื่อได้แน่ว่าถามเด็กๆ ก็คงจะบอกไม่ถูกว่าประเพณีลงแขกเขาทำอย่างไรกัน เพราะทุกวันนี้พวกเขาเข้าใจแค่คำว่า "ลงแขก" ที่ลงเอยต้องกลายเป็นผู้ต้องหาเป็นแน่แท้

long kag tam na

การลงแขก นอกจากจะใช้ในด้านการเกษตรกรรม (ดำนา - เกี่ยวข้าว - ตีข้าว - ตำข้าว) แล้ว ชาวอีสานยังมีการลงแขกทำงานอย่างอื่นๆ เช่น ลงแขกเฮ็ดเฮือน (สร้างบ้าน) ในสมัยโบราณดั้งเดิม ชาวบ้านจะมีการช่วยกันโดยไปตัดเอาไม้จากดอนปู่ตา หรือใครมีไม้ตามหัวไร่ปลายนาก็จะแบ่งปัน ตัด/แบก/ขนมาช่วยกันสร้างบ้านให้กัน จนแล้วเสร็จ ลงแขกสร้างศาลากลางบ้าน เป็นที่ทำกิจกรรมของส่วนรวม เช่น การทำบุญกลางบ้าน การประชุมของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นที่พักของแขกที่เดินทางมาจากหมู่บ้านอื่น (สมัยก่อนไม่มีที่พักสาธารณะ โรงแรม โรงเตี้ยม ศาลาวัดหรือศาลากลางบ้านจึงเป็นที่พักของคนเดินทางไกล เพื่อค้าขายหรือทำธุระอย่างอื่น ด้วยการคมนาคมที่ไม่สะดวกสบายอย่างเช่นทุกวันนี้ ต้องค้างแรมระหว่างเดินทาง)

การลงแขก ก่อสร้างทำนุบำรุงวัดวาอาราม ชาวบ้านจะมาช่วยกันในการถากถางหญ้าที่ขึ้นรก ขุดถมพื้นที่ต่ำให้ราบเรียบสม่ำเสมอ สร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิพระสงฆ์ เป็นต้น

ตกพูด - ปันพูด - แบ่งพูด

"พูด" ความหมายใน "ภาษาไทยกลาง" นั้นจะหมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อการสื่อสาร เจรจากัน แต่ "พูด" ใน "ภาษาอีสาน" นั้นมีความหมายได้หลายอย่างตามบริบท ดังนี้

พูด น.
แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียก พูด เช่น พูดปลา พูดกบ พูดเขียด พูดซิ้น อย่างว่า เสี่ยวเฮาปันพูดน้อยบ่สมส่วนกับขน (ผาแดง). portion, share (of meat from hunting or fishing).
พูด ก.๑
พ่นน้ำออกจากปาก เรียก พูด อย่างว่า มณีกาบฮู้อมน้ำพูดพลัน เสด็จผ่านแผ้วผายน้ำพูดพรม (สังข์). to spray water out of mouth.
พูด ก.๒
เปล่งเสียงออกเป็นถ้อยคำ เรียก พูด. to speak.

ที่มา : สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร. ปรีชา พิณทอง

ดังนั้น "พูด" ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงการส่งเสียงเจรจา แต่ พูด เป็น คำนาม ตามความหมายในภาษาอีสานนั้นหมายถึง แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียกว่า การตกพูด แบ่งพูด ปันพูด ในอดีตนั้นชาวบ้านอีสานมักออกไปล่าสัตว์ในป่า ยิงเก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ โดยชวนพรรคพวกเพื่อนบ้านไปด้วยกัน บ้างก็ไปกันถึงสามวันเจ็ดวัน หรือออกไปล่าเป็นเดือนก็มี เมื่อยิงสัตว์ได้แล้ว สัตว์ทุกตัวถือว่าเป็น "สมบัติส่วนกลาง" ที่ทุกคนพึงได้รับส่วนแบ่ง ซึ่งส่วนแบ่งนี้จะได้รับเท่าเทียมกัน

forest 01คำว่า "เท่าเทียมกัน" ถ้าเป็นคนในสังคมเมืองปัจจุบัน อาจต้องใช้เครื่องมือชั่ง ตวง วัด ให้ทัดเทียมกัน ขณะที่สังคมชนบทมิได้เล็งไปที่ความเท่ากันทางตัวเลข แต่กลับยึดถือที่ผู้นำเป็นหลัก ถ้าผู้นำแบ่งให้เท่าใด ก็ถือว่ายุติ (ธรรม) แล้ว

หลักการง่ายๆ ของความเท่าเทียมกันก็คือ ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งที่เหมือนกันทั้งหมด เช่น หากเข้าป่าไปด้วยกัน 7 คน ล่าได้เมย (กระทิง) มา 1 ตัว จะมีการแล่เนื้อทุกส่วนออกเป็น 7 ชิ้น เช่น เนื้อขาลาย เนื้อตะโพก เนื้อสัน ฯลฯ แต่ละชิ้นจะมีขนาดเท่ากัน (ตามความรู้สึกของผู้ตัดเฉือน) แม้กระทั่งไส้ และขี้เพี้ย (น้ำย่อยที่อยู่ในลำไส้อ่อน) และเลือด ก็ได้รับการแบ่งสันไว้ด้วยเช่นกัน ต่อจากนั้นหัวหน้าจะหยิบชิ้นเนื้อไปวางไว้เป็น 7 กอง ซึ่งกองเนื้อที่ได้รับการแบ่งปันนี้เรียกกันว่า "พูด" (เป็นคำนาม) ส่วนการแบ่งด้วยวิธีนี้เรียกว่า "ตกพูด" (เป็นคำกริยา) และมีคำอื่นๆ ที่แทนค่ากันได้ คือ ยายพูด แบ่งพูด ปันพูด เป็นต้น (ยาย ภาษาอีสานหมายความว่า วางไว้เป็นระยะๆ)

ไม่ได้มีเป็นกฎที่ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีธรรมเนียมปฏิบัติในการตกพูด คือ หัวหน้าหรือผู้นำจะเป็นคนได้รับพูดสุดท้าย หลังจากที่ทุกคนเลือกเอาพูด (หรือกองอื่นๆ) ไปแล้ว ดังนั้น หัวหน้าหรือผู้นำ จึงปลอดจากข้อคลางแคลงสงสัยว่า จะหยิบกองก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่ไว้เป็นของตนหรือไม่ ส่วนบำเหน็จของความเสียสละที่นำพาพวกพ้องออกล่าสัตว์ ผู้นำจะได้รับหัวและขาของสัตว์ที่ล่าได้อีกโสดหนึ่ง แต่หัวหน้าอาจจะโอนของที่ได้เพิ่มมานี้ ให้แก่คนใดคนหนึ่งที่ร่วมล่าด้วยกันก็ได้ โดยต้องอยู่ในดุลยพินิจที่จะไม่ทำให้เสียการปกครองของหมู่คณะ

forest 02วิธีการดังที่ว่านี้ อาจดูคล้ายเป็นแนวทางของคนบ้านป่าเมืองเถื่อน และเปิดช่องทางให้หัวหน้าผู้มีจิตละโมบ ใช้อำนาจบังคับ หรือพลิกแพลงเอาจากพวกพ้อง แต่แท้จริงแล้ว การตกพูดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมของการจัดสรรปันส่วน และเป็นเรื่องของระดับชั้นเพื่อการอยู่ร่วมกัน คือต้องมีผู้นำและผู้ตาม เมื่อผู้นำไม่เอาเปรียบ มีแต่จะหาทางปกป้องคุ้มครอง เสียสละและรักษาผลประโยชน์ของผู้ตาม ก็จะอยู่ร่วมกันได้นานๆ อีกทั้งยังเป็นที่รัก เคารพนับถืออีกด้วย

แม้ในปัจจุบัน ลักษณะการแบ่งปันด้วยวิธีตกพูดยังปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน เช่น มีเหตุต้องชำแหละวัวหนุ่มตัวหนึ่ง กลุ่มผู้นำจะสอบถามความสมัครใจจากชาวบ้านว่า ใครใคร่จะได้เนื้อวัวไปทำอาหาร เมื่อทราบจำนวนคนแล้ว ก็นำตัวเลขคนที่ต้องการไปหาร แบ่งจากค่าวัวซึ่งตีราคาไว้ที่ 8,000 บาท มีผู้ประสงค์ 40 ครอบครัว ดังนั้นแต่ละคนจะต้องจ่าย 200 บาท

ในความเป็นจริง คณะกรรมการหมู่บ้านจะชำแหละวัวให้เรียบร้อย แล้วนำเครื่องชั่งมาเป็นเกณฑ์ ตรวจค่าน้ำหนักกำหนดราคาเนื้อวัว และอาจจะบวกค่าแรงและเวลาไปด้วยก็น่าจะได้ แต่ "วิถีชาวบ้าน" เลือกที่จะปฏิบัติด้วยวิธีตกพูด เพราะสิ่งที่ได้จากการที่ต้องจ่ายเงิน 200 บาท มิใช่เพียงแค่ชิ้นเนื้อล้วนๆ แต่ยังรวมถึงเนื้อส่วนอื่นๆ เช่น เนื้อส่วนที่เรียกว่าผ้าขี้ริ้ว ตับ ไส้ เลือด ขี้เพี้ย ที่ชาวบ้านนิยมบริโภค ทุกพูดจะประกอบด้วยชิ้นเนื้อที่เหมือนๆ กัน

pood seent

"พูดเนื้อวัว" จะถูกเจาะร้อยด้วยตอก หวาย หรือเครือไม้ เพื่อสะดวกในการถือหิ้วกลับบ้าน (ในยุคไร้ถุงก็อปแก็ป)

พูด ที่แบ่งกันใน พ.ศ. นี้ บรรจุลงในถุงพลาสติก แทนการห่อด้วยใบตองกุง (ใบพลวง) หรือการร้อยด้วยเส้นตอก เลือดและขี้เพี้ยถูกกรอกลงในถุงพลาสติกใบย่อมแยกกัน รัดด้วยยางรัด พื้นที่รองกองพูด เป็นตาข่ายไนล่อนแทนใบตองกล้วยป่า และไม่ว่ารูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการตกพูดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นหัวใจกติกาการตกพูด คือ ผู้แบ่งจะได้รับเป็นคนสุดท้าย

playai nammoonการตกพูดจะไม่นิยมนับจำนวนคน ถ้ามีคนห้อมล้อมมากเกินไป คือบางครอบครัวอาจมาหลายคน จะใช้วิธีให้หักไม้มาวางแทนครอบครัวแล้ว นับจำนวน (แท่ง) ไม้ เช่น นับได้ 10 แท่ง ก็จะตกพูดให้ได้ 10 พูด การตกพูด คือ การชำแหละออกเป็นส่วนๆ สัตว์เล็กๆ เช่น ปลา กบ หรือ พืช ผัก จะเรียกเป็นกอง กองนั้น กองนี้ ยกเว้นปลาตัวใหญ่มากอย่างปลาบึก ปลาค้าว ปลาเคิง จะตกพูดก็ได้

แต่หลายที่จะปันเกินไว้อีกพูด (ถ้าเรียกกองก็ปันไว้อีก 1 กอง) เพื่อเก็บไว้กินเลี้ยงสังสรรค์กันสำหรับผู้ที่คัว (คนทำหน้าที่แล่ แบ่ง) หรือผู้ที่มาร่วมสังสรรค์ก็กินด้วยกัน

ส่วนที่เป็นส่วนเกินนี่ล่ะ นอกจากจะปันเกินจำนวนคน 1 พูด (หรือหลายพูด ถือเป็นกำไร) แล้ว หัว ขา หรือส่วนใหนที่น่าเก็บไว้กินเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มที่แล่เนื้อ ก็จะนำมาทำกินกันก่อนเลย ณ บริเวณที่แล่เนื้อนั่น ก่อนที่จะแยกย้ายกันนำพูดของตัวกลับบ้านไปให้ลูกเมีย ส่วนเกิน 1 พูด (หรือหลายพูด หรือพูดใหญ่ๆ ก็มี) บางทีก็ขายเพื่อนำมาซื้อเครื่องดื่ม เพราะการฆ่าเนื้อ สำหรับชาวชนบทเราจะขาดไม่ได้เลยคือ เหล้าขาว บางคนก็ควักกระเป๋ามาร่วมซื้อกินด้วยกัน บางคนเมาแล้วยังเอาพูดของตัวเองมาทำกินกับเพื่อนพ้องก็มี นี่ล่ะคือความเป็นชุมชนอีสานที่มีความสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวเมื่อครั้งอดีต

tok pood

เมื่อยุคสมัยเปลั่ยนไปการซื้อขายด้วยน้ำหนักกิโลกรัม ก็จะได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ต้องการเท่านั้น

 


backled1

plook kao

 ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก

lilred

ประเพณีโบราณอีสานนั้น มีความเชื่อในเรื่องของภูติ ผี บรรพบุรุษ การจะกระทำสิ่งใดจะต้องมีการบนบาน บอกกล่าว เพื่อให้ผลแห่งการกระทำกิจการนั้นๆ สัมฤทธิ์ผล นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลแห่งการอุปโภค บริโภค อยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ในส่วนของการทำเกษตรกรรมนั้นก็จะการเลี้ยงตาแฮก ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนดังนี้

การแฮกนา

โบราณท่านนิยมแฮกนาดำวันอาทิตย์ แฮกนาหว่านวันจันทร์ ปักตาแฮก ปักกกแฮกและดำนานิยมทำวันพฤหัสบดี ทำขวัญข้าววันอังคาร แฮกถางไฮ่ สุมไฮ่เอาวันศุกร์ ให้เลี่ยงตาแฮกก่อนแล้วจึงไถแฮกนา ของเลี้ยงตาแฮกนั้น แล้วแต่เจ้าของนาเคยปฏิบัติมา แต่ส่วนมากมักจะใช้ไข่ต้มสุกที่ยังมิได้ปอกเปลือก เพราะเอาไว้ทายไข่หลังเลี้ยงตาแฮกแล้ว เหมือนไข่สูตรขวัญ ถ้าไข่เป็นน้ำ ทายว่า ปีนั้นฝนจะแล้ง ถ้าไข่เน่าหรือมีกลิ่น หรือเป็นสีดำ ทายว่า ศัตรูพืชจะรบกวน ถ้าไข่งามทายว่า ทำนาจะได้ผลดี

วิธีปักตาแฮก

ให้เอาต้นกล้ามา 8 ต้น เอาขัน 5 มายกใส่หัว อธิษฐานถึงแม่โพสพ ให้มาค้ำคูณ วางขันลงข้างตาแฮก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปักกล้าลงแต่ละต้นให้ว่าดังนี้ ปักต้นนี้พุทธรักษา ปักต้นนี้ธรรมรักษา ปักต้นนี้สังฆรักษา ปักต้นนี้เผิ่นเสียให้กู้ได้ ปักต้นนี้เผิ่นไฮ้ให้กูมี ปักต้นนี้ให้ได้หมื่นมาเยีย ปักต้นนี้ให้ได้หมื่นเยีย ปักต้นนนี้ขวัญข้าวพันเล้า มาโฮม ครบ 8 ต้นแล้วเป็นอันว่าเสร็จพิธี

hag na 2ปักกกแฮก 

ปักกกแฮก หมายถึง การเอากล้าลงไปปักในไร่นาก่อนลงมือดำจริงๆ ท่านให้ตั้งขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) อธิษฐานที่งานนา เอากล้ามา 14 ต้น อธิษฐานถึงแม่โพสพดังกล่าวแล้ว ให้เอาต้นกล้าปักในนา (แบบดำนาปกติ) 14 ต้น แต่ให้ปักทีละต้นพร้อมกับเสกมนต์ดำนาดังนี้

"ไฮ่นี้ไฮ่ก้ำขวา นานี้นาท้าวทุม ท้าวทุมให้กูมาแฮกไฮ่กูจักแฮก ปักกกนี้นกจอกโตตาแหวนให้บินหนี ปักกกนี้แมงคาโตฮู้ฮ่ำกกข้าวให้บินหนี ปักกกนี้ให้ได้ฆ้องเก้ากำ ปักกกนี้ให้ได้คำเก้าหมื่น ปักกกนี้ให้อวนข้าวหมื่นมาเยีย ปักกกนี้ให้มานใหญ่ท่อมานอ้อย ปักกกนี้ให้มานน้อยท่อมานเลา ปักกกนี้ให้ได้เป็นเศรษฐีเพราะขายข้าว โอมสหุม"

แล้วเสกต่อว่า "โอมสิทธิการ ปู่ข้าวเอย ย่าข้าวเอย มื้อนี้แม่นมื้อสันต์ วันนี้แม่นวันดี ถูกทางผีบ่อห่อนเอื้อ ข้าวเฮี้ยผีบ่อห่อนเกิด จักเอามือแฮกนาผีก็บ่อห่อนใกล้ โอม ไชยะ วิรุฬหะ กก กอ ดอ ดก" แล้วเป่าไปยังข้าวที่ปักแล้ว 3 ที ถ้านามีน้ำก็กวักน้ำสาด 3 ที เป็นเสร็จพิธี

การเพาะปลูก

ชาวอีสานนั้นจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผลหลายขั้นตอน ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้มีความเข้มแข็ง ด้วยธรรมชาตินั้นมีความไม่แน่นอนนัก ปีนี้อาจะมีฝนดี หรือมีฝนแล้ง หรือมีน้ำท่วมก็ไม่อาจคาดเดาได้ ในยุคนั้นยังไม่มีการนำเอาหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ไม่มีการพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา จึงต้องอาศัยการเซ่นไหว้เทวาอารักษ์ ภูติผีเป็นหลัก โดยมีการทำพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้

วันปลูกพืช

  1. วันอาทิตย์ เป็นเหง้าฮากหัวดี ให้ปลูกพืชเป็นหัว เช่น ขิง ข่า เผือก มัน กระเทียม ฯลฯ
  2. วันจันทร์ เป็นเครือดั้วยาวดี ให้ปลูกพืชที่เป็นเถาว์ เช่น แตงกวา แตงโม ฯลฯ
  3. วันอังคาร เป็นใบดั้วดกดี คือให้ปลูกพืชที่ใช้ใบเป็นประโยชน์ เช่น หม่อน ฯลฯ
  4. วันพุธ เป็นดอกดกบานบ่อเศร้า คือให้ปลูกไม้ดอก เช่น มะลิ พุทธรักษา แค ฯลฯ
  5. วันพฤหัสบดี เป็นหมากแต่เค้าเท่าเถิงปลาย ท่านให้ปลูกพืชที่ให้รวง เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง ฯลฯ
  6. วันศุกร์ เป็นเปลือกหนาเหลือแหล่ ท่านให้ปลูกพืชที่ให้ผล เช่น ส้มโอ มะม่วง พุทรา ละมุด ลางสาด ฯลฯ
  7. วันเสาร์ เป็นต้นแก่เหลือแต่ลำ โบราณท่านให้ปลูกไม้ขายต้น เช่น ยูคาลิปตัส ปอ ฯลฯ

มีบ่อยที่บางคนปลูกพืชไม่ค่อยได้ผล ตกแต่ใบ แต่ผลไม่ค่อยมี บางคนมีผลดกมาก ใบมีพอสมควร บางคนมีผลดกแต่หล่นก่อนเวลาอันสมควร อาจจะเป็นที่ดูแลไม่ถูกวิธี ไม่มีความรู้ทางด้านการเกษตรที่ชัดแจ้ง หรือฤกษ์ยามในการเพาะปลูกอาจจะมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วยก็ได้ ขอท่านผู้อ่านแฟนนานุแฟนจงเอาไปทดลองกันดูเถิด ผสมกับความฮู้ในวิทยาการการเกษตรแผนใหม่ โดยเฉพาะ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของพวกเฮาชาวไทย จักประสบผลสำเร็จพ้นจากความทุกข์ยากแน่นอน

คาถากันบ้งกันปู

การที่เราเอายาฉีด ไปฉีดบ้ง ฉีดปูนั้น ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี ท่านผู้อ่านลองเอาคาถาโบราณไปใช้กันดู

poo na kata

เขียนใส่ใบตาล หรือใบลาน เอาไม่ไผ่เหลาผ่าหัวใส่คาถาไว้ แล้วเอาไปเสียบไว้ใน 4 มุมของไร่นา (4 มุมคันแททุกไฮ่นา) ดีนักแล

คาถาเสกน้ำหม่า (แช่) ข้าวปลูก

ให้ตั้งคายขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) เทียนจุดทำน้ำมนต์ 1 เล่ม ตักน้ำใส่ภาชนะจะหม่า (แช่) ข้าวปลูกนั้นให้เอาผ้าขาวม้าพาดบ่า ยกขัน 5 ขึ้นว่า พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา แล้วปลงขันลงไว้ที่สูง จุดเทียนน้ำมนต์ (เทียนอะไรก็ได้) แล้วเอาเทียนหยดใส่น้ำในอ่างหม่าข้าวปลูกพร้อมกับสวดว่า นโม ตัสสะ ฯลฯ 3 จบ แล้วเสกคาถาว่า

สักกัตวา พุทธะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง หิตัง เทวะมะนุสสานัง
พุทธะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ ทุกขา วูปะสะเมนตุ เต

สักกัตวา ธัมมะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง ปะริฬาหูปะสะมะนัง
ธัมมะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ ภะยา วูปะสะเมนตุ เต

สักกัตวา สังฆะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง อาหุเนยยัง ปาหุเนยยัง
สังฆะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุปัททะวา สัพเพ โรคา วูปะสะเมนตุ เต

ใช้คาถานี้ด้วยความเคารพเชื่อมั่น ข้าวไม่เป็นบั่ว ไม่เป็นเพลี้ย แลฯ

dam na

การดำนาในสมัยก่อน ใช้แรงงานเยอะ ปวดหลังปวดเอวน่าดู

เมื่อปลูกข้าวแล้ว ก็ได้เวลาต้องทำการเก็บเกี่ยว โบราณอีสานเราก็จะมีวิธีการและฤกษ์ผานาที เพื่อความเป็นศิริมงคล ดังนี้

มื้อเกี่ยวข้าว

ให้เริ่มเกี่ยววันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี ลงมือได้ในเวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

คาถาเกี่ยวข้าว

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ 3 จบ แล้วให้พนมมือยกเกี่ยวขึ้นใส่หัวแล้วว่าคาถา ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ 3 จบ แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว ก่อนเกี่ยวให้เอาดอกพุดน้อย หรือดอกไม้อื่นก็ได้ แต่ให้เป็นสีขาว 5 คู่ ใส่ขัน เอาแพพาดบ่านั่งต่อหน้าตาแฮก ยกขัน 5 นั้นขึ้นแล้วว่า

อุกาสะ ผู้ข้าขออนุญาตบาทคำ คุณตาแฮก คุณแม่โพสพ มื้อนี้มื้อดี ขออนุญาตตัดต้นข้าว อย่าได้ตกอย่าได้หล่น นกน้อย และฝูงหนู มวลศัตรูอย่าได้มาบังเบียด อุอะ มุมะ มูลมา "

ผู้ข้าขอเกี่ยวไฮ่ (บอกไฮ่ที่เอาสิเกี่ยว) นั้นก่อน แล้วจึงเกี่ยว

kiew kao

"การลงแขก" ขอแรงเกี่ยวข้าว วิถีชุมชนในอดีตที่หายไปเพราะมีรถเกี่ยวมาแทนที่

การเสียลาน

การทำลานนวดข้าว ให้ทำวันพุธ หรือวันเสาร์ เริ่มเวลาเช้า เลือกเอาที่ค่อนข้างสูง เสีย (ถาก) ลานเอาตอซังข้าวออก และปรับพื้นดินให้เรียบ สำหรับการทาลานด้วยขี้ควายหรือขี้วัวนั้นจะทำวันไหนก็ได้

การตั้งลอมข้าว

การหาบ/ขนข้าวขึ้นลานให้ทำวันพฤหัสบดี เวลาเที่ยงวัน แต่งขัน 5 ไปเชิญฟ่อนข้าวจากจุดที่เราเกี่ยวครั้งแรกนั้น 7 ฟ่อนมา ให้พ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นคนทำก็ได้ คำอัญเชิญให้ว่า นะโม ฯลฯ 3 จบ แล้วให้ว่าคาถา 3 จบ ดังนี้ "ปัญจะ พีชา หะทะยัง สะหุม" แล้วจึงขนข้าวไปใส่ลานได้ ให้แยกฟ่อนข้าวที่เกี่ยวครั้งแรกออกไว้ สำหรับปลงข้าวในวันเคาะ (นวด) ข้าว เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังทำนาอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าที่บ้านนอกนั้น (หลายสิบปีล่วงมาแล้ว) เพิ่นให้เคล็ดลับมาว่า "ให้ใส่เหล้าสาโทหวานๆ ไว้กลางลอมข้าวสัก 4-5 ไหซอง เพื่อเป็นมงคล" ตอนหลังมาเพิ่งได้กระจ่างว่า "ไหเหล้า" นี้ช่วยให้มีคนมาช่วยกันตี (เคาะ หรือ นวด) ข้าวมากมายโดยมิได้นัดหมายยาก เหตุผลท่านคงจะเดาออกนะขอรับ

nuad kao

การตีข้าว หรือ นวดข้าว ด้วยมือแบบนี้ก็เริ่มเลือนหายไปเพราะมีรถเกี่ยวข้าวแล้วสีใส่กระสอบได้เลย จนเกิดปัญหาตามมา

คำปลงข้าว

เมื่อขนข้าวขึ้นใส่ลานแล้ว ต้องมีการเคาะ (นวด) ข้าว การปลงข้าวให้ทำวันศุกร์ หรือวันเสาร์ก็ได้ ให้เตรียมดังนี้ ซวย 4 อัน เหล้าก้อง 1 ขวด ไข่หน่วย 1 หน่วย น้ำเต็มเต้า 1 เต้า ข้าวเต็มก่อง เผือกต้ม 2 หัว มันต้ม 2 หัว ขมิ้นขึ้น 5 หัว ข้าวต้ม ตีนงัว ตีนควาย (ข้าวต้มโคมธรรมดา) 1 คู่ ใบไม้เป็นมงคล (ใบคูณ ใบยม ใบยอ) อย่างละ 5 ใบ ผลไม้ตามฤดูกาล 5 ลูก ธูป 5 คู่ เทียน 5 คู่ และดอกไม้ขาว 5 คู่ แต่งใส่พานไว้ เอาข้าวที่แยกไว้ตอนตั้งลอมข้าว จำนวน 7 ฟ่อน มาวางข้างขวาพานเครื่องบูชานั้น 3 ฟ่อน ข้างซ้าย 3 ฟ่อน อีกฟ่อนหนึ่งที่เหลือเอาไม้เคาะข้าวรัดเอาไว้ ให้พ่อบ้านผู้ประกอบพิธีนั้น ยกพานขึ้นเหนือหัวแล้วว่าดังนี้

  • ว่า นะโม ตัสสะ ฯลฯ 3 จบ
  • ป่าว สัคเค ถ้าไม่ได้ให้พูดเอา โดยให้ว่าดังนี้
    อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสอาราธนา คุณเทวาและเจ้าที่ตาแฮก เจ้าแม่โพสพจงมาประสุม ชุมนุมกัน เมื่อมาแล้วผู้ข้าขอถวายเครื่องสักการะบูชากียาอันได้ทำไว้ แล้วขอให้ผู้แก่นแก้วจงเอนดูกูณา อย่าได้เป็นโทสาบาปข้อง ผู้ข้าขอเหยียบย่ำข้าวผู้มีพระคุณ ขอให้คูณกันมาไหลหลั่ง อั่งอั่งขึ้นคือน้ำแม่นะที อุอะ มุมะ มูลมา มหามูลมังสวาหุม "

เมื่อว่าแล้วให้วางพาบูชาลงแล้วจึงไปเคาะข้าว ฟ่อนที่เอาไม้ตีข้าวรัดไว้ ให้ว่าดังนี้

  • เคาะบาดหนึ่ง ให้ได้งัวแม่ลาย
  • เคาะบาดสอง ให้ได้ควายเขาย่อง
  • เคาะบาดสาม ให้ได้ฆ้องเก้ากำ
  • เคาะบาดสี่ ให้ได้คำเก้าหมื่น
  • เคาะบาดห้า ให้ได้ข้าวหมื่นมาเยีย
  • เคาะบาดหก ให้ได้ผัวเมียและพี่น้อง
  • เคาะบาดเจ็ด ให้ได้ช้างใหญ่มาเทียมโฮง

ให้ว่าดังนี้ จนเคาะหมดทั้ง 7 ท่อน ให้แยกฟ่อนหนึ่งที่เคาะครั้งแรกไว้ เอาเครื่องสักการะทั้งหมดในพาน ยัดเข้าในฟ่อนฟางฟ่อนแรกนั้น เอาฟางฟ่อนนั้นห่อแล้วมัดให้ดี เอาคันหลาวมาสอด แล้วเอาไปเสียบไว้บนลอมข้าว เอาไว้ 3 วัน จึงเอาออกได้ เมื่อหัวหน้าครอบครัวปลงข้าว และเคาะข้าวเป็นตัวอย่างแล้ว จากนั้นลูกหลานก็เคาะต่อไปได้เลย

เมื่อการนวดข้าวสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการนำข้าวจากลานขึ้นสู่เล้าข้าว ซึ่งก็จะมีพิธีการเพื่อเป็นศิริมงคลอีกเช่นเดียวกับขั้นตอนอื่นๆ เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงบุญคุณของข้าว สืบต่อไป

การปลูกเล้าเข้า

เล้าเข้า หรือ ยุ้งข้าว ของคนอีสานนั้น ใช้เป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อการบริโภค และใช้เก็บพันธุ์ข้าวเพื่อไว้ใช้ปลูกในปีต่อไป การปลูกเล้าเข้าตามโบราณประเพณีอีสานให้ถือฤกษ์วัน เดือนในการปลูกสร้างเหมือนกับบ้านเรือน แต่กำหนดให้เอาทิศทางของเฮือนเป็นหลักก่อนจะปลูกเล้าเข้า ทิศที่นิยมคือให้ปลูกเล้าเข้าทางทิศตะวันตกของเฮือน หรือทางหลังของบ้าน [ ดูรายละเอียดที่นี่ ]

tam na

ใช้วัวเทียมเกวียน ขนข้าวขึ้นเล้า

เอาข้าวขึ้นเล้า

วันเอาข้าวขึ้นเล้า เป็นวันที่ขนเอาข้าวจากลานนวดข้าวเข้าบ้านโดยใช้การหาบ หริอขนด้วยวัวเทียมเกวียน จะนิยมทำกันในวันจันทร์ พฤหัสบดี หรือ ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5 โมง มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

  1. เอาเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ใส่ขัน
  2. กระบุงเปล่า 1 ใบ
  3. หาขัน หรือกระบอกใส่ข้าว (ขวัญข้าว) 1 อัน
  4. พ่อบ้าน หรือหัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอก สำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว
  5. ว่าคาถาเรียกขวัญข้าว เมื่อไปถึงลานข้าว และได้เวลาแล้วพ่อบ้านเอาผ้าขาวม้าเฉวียงบ่า นั่งคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ไม่ต้องกราบหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกขัน 5 ขึ้นว่า นะโม ฯลฯ 3 จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าวดังนี้ อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาส ราธนาคุณแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า คุณขวัญข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ"

แล้วเอาขันหรือกระบอกที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ตักเอาขวัญข้าวใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นเล้าไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุดตรงข้ามกับประตูเข้าเล้า หาอะไรครอบไว้เพื่อไม่ให้หนู หรือนกไปกินได้ ข้าวที่เก็บได้นั้นคือ "ขวัญข้าว" ซึ่งเราจะต้องเอามาผสมกับข้าวปลูก เพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป

สู่ขวัญข้าว

เมื่อขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว บางคนก็สู่ขวัญข้าวในวันนั้น บางคนก็เอาวันหลัง ที่นิยมทำกันก็คือ วันจันทร์, พูธ, พฤหัสบดี, วันศุกร์ หรือวันอาทิตย์ก็ได้ ไม่นิยมทำกันในวันอังคาร วันเสาร์ วันจม และวันเดือนดับ ในวันสู่ขวัญข้าวนั้นให้อัญเชิญเอาขวัญข้าวที่เราเก็บใส่ขัน หรือกระบอกไว้ดังกล่าวนั้นมาใส่ในพาขวัญ สู่ขวัญแล้วจึงนำไปเก็บไว้ยังที่เดิม (คำสู่ขวัญข้าว ดูรายละเอียดที่นี่)

farmer thai 2

การเปิดเล้าเอาข้าวมากิน

ตามที่โบราณอีสานนิยมกัน เมื่อมีการขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว เขาจะแยกเอาบางส่วนใส่กระสอบ หรือใส่กระเฌอเอาไว้สำหรับตำกิน กะให้พอกินถึงวันเปิดเล้า คือเมื่อเอาข้าวขึ้นเล้าและสู่ขวัญเสร็จ คนโบราณจะเปิดเล้าข้าวไว้ แต่การเปิดเล้าข้าวนั้น คนในภาคอีสานนิยมเปิดเล้า ตักกินข้าวเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หรือวันมงคลอื่นๆ ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่นนิยม คาถาเปิดเล้าตักข้าวมากินว่า ดังนี้

  1. ตั้ง นะโม ฯลฯ 3 จบ
  2. ให้เสกคาถาว่า "โอมแม่โพสพ ผู้เป็นเจ้าขวัญข้าว ขนมาเล้ามาเยีย ถึงฤดูเดือนตักกินข้าวแล้ว ขอให้แม่แก่นแก้วอย่าได้ตกใจ ผู้ข้าตักกินทานไปอย่าได้บก ผู้ข้าจกกินทานไปอย่าได้เสี่ยง ขอให้มีอยู่เลี้ยงเหลืออยากเหลือกิน มา ขะโย มา วะโย มัยหัง มา จะโกจิ อุปัททะโว ธัญญะธะนานิ เม ปะวัสสันตุ ธนัญชะยัสสะ ยถา ฆะเร ภะสะพะโภชะนัง มหาลาภัง สุขัง โหตุ" ว่า 3 จบ แล้วตักไปกินไปขายได้

คาถาหม่าข้าว

"สุ รุ รุ กึตตัง ภัพพา ภัพพัง ร้านพระ ร้านปานะ โภชนะ อุทะกัง วาวัง ตัณฑุลานิ ปะริปูริตานิ สัพพะกาลัญจะ ภิยโยโส" เสกใส่น้ำหม่าข้าวนึ่งหรือหุงกิน ท่านว่ากินบ่บกจกบ่อลงสุขภาพร่างกายของผู้กิน ก็จะดีไปด้วย

lao kao2

ฤกษ์ยามเอาข้าวขึ้นเล้า

เอาข้าวขึ้นเล้าควรเว้นวันเสาร์ ส่วนเดือนนั้นเดือนไหนก็ได้ แต่โบราณท่านให้ถือข้างขึ้น ข้างแรม ดังนี้

ข้างขึ้น

  ถ้าขึ้น 1-8-9-10 ค่ำ ผีช่วยกิน 1 ตน บ่ดีแล
  ถ้าขึ้น 2-3-4-5-7-12-14-15 ค่ำเป็นวันปลอด ดี เอาข้าวขึ้นเล้าเถิด ดีแล
  ถ้าขึ้น 6-11 ค่ำ ผีช่วยกิน 3 ตน บ่ดีแล
  ถ้าขึ้น 13 ค่ำ ผีช่วยกิน 2 ตน บ่ดีแล

ข้างแรม

  ถ้าแรม 1-2-3-4-5-7-12-14-15 ค่ำเป็นวันปลอด ดี เอาข้าวขึ้นเล้าเถิด ดีแล
  ถ้าแรม 5-6 ค่ำ ผีช่วยกิน 3 ตน บ่ดีแล
  ถ้าแรม 7-8 ค่ำ ผีช่วยกิน 4 ตน บ่ดีแล
  ถ้าแรม 10-11-12 ค่ำ ผีช่วยกิน 2 ตน บ่ดีแล

blueline

 ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก

 

redline

backled1

 

pee ta hag

 ตำนานความเชื่องเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก

lilred

วามเชื่อเรื่อง "ผีและวิญญาณ" ของชาวอีสานซึ่งนับถือ ศาสนาพุทธ พราหมณ์ และผี มาผสมกลมกลืนในการประกอบพิธีกรรมในชีวิตของคนอีสานอยู่เสมอ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างๆ งานศพ งานแฮกนา ฯ แม้เรื่องของผีจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ชาวอีสานก็เชื่อว่าผีมีจริง จนบางคนกล้ายืนยันว่า "ตนเองเคยเห็นผี" ในทัศนะของคนอีสานเชื่อว่า มีผีให้คุณ เช่น ผีปู่ตา เป็นผีประจำหมู่บ้าน คอยพิทักษ์คุ้มครองชาวบ้านตลอดทรัพย์สินอื่นๆ ของหมู่บ้าน โดยมีผู้ที่เป็นสื่อกลางติดต่อกับผีปู่ตา คือ "จ้ำ" ซึ่งจะเป็นมีบทบาทและทรงอิทธิพลต่อหมู่บ้านมาก ในฐานะเป็นทูตที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับผี สามารถเจรจากับผีรู้เรื่อง "เฒ่าจ้ำ" จึงเป็นผู้นำชุมชนในเรื่องพิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผีปู่ตา" ชาวบ้านให้ความยำเกรงผีปู่ตามาก ส่วน "ผีตาแฮก" จะรักษาไร่นาให้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์

ส่วน ผีให้โทษ เช่น "ผีปอบ" เกิดจากคนที่ไปเรียนคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน แต่ไปทำผิดข้อห้าม "คะลำ" จึงกลายเป็นผีปอบเข้าสิงทำร้ายคน ความเชื่อเรื่องผีปอบยังมีอยู่มากในกลุ่มคนอีสาน เมื่ออพยพไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปักษ์ใต้ หรือแม้แต่คนอีสานที่อพยพไปอยู่ที่ต่างประเทศ ก็มีผีปอบตามไปอยู่ไปกินด้วย ดังนั้นถ้ามีผีปอบเข้าที่ใดแสดงว่าที่นั้นมี "ฅนอีสาน" อยู่แน่นอน รวมทั้ง "ผีแม่ม่าย" ในยุคหลังๆ ที่เกิดจากความเชื่อว่า มาเอาชีวิตผู้ชายในหมู่บ้าน ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไปเจอหมู่บ้านใดแขวน "เสื้อแดง" ไว้ที่หน้าบ้าน แสดงว่า กำลังทำสิ่งป้องกันหลอกผีแม่ม่ายไม่ให้มาเอาชีวิตผู้ชายในครอบครัวไปนั่นเอง

ชาวบ้านอีสานมีการนับถือผี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผีบรรพบุรุษ" ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษา ปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป นอกจากผีบรรพบุรุษแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องผีชนิดต่างๆ อีกมากมาย เช่น

  • ผีเป้า เชื่อว่าเป็นผีกินคน
  • ผีโพง เชื่อว่าเป็นผีป่าที่จะคอยทาร้ายคนที่เดินในป่ายามค่าคืน
  • ผีปอบ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของผีดุร้ายที่จะทาให้คนเสียสติได้
  • ผีกองกอย เชื่อว่าเป็นผีเจ้าชู้และรักสนุก คนที่นอนไม่เรียบร้อยจะถูกผีกองกอยจัดหัวจัดเท้าเล่น
  • ผีอีซิ่นเหี้ยน เชื่อว่าเป็น "ผีแม่หม้าย" ที่หลอกผู้ชายไปเป็นสามี และฆ่าทิ้ง

ผีตาแฮก : ความเชื่อของชาวนาอีสาน

mae posopารปลูกข้าวในยุคสมัยต่างๆ ตามแบบแผนวิถีชีวิตของคนไทย มุ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภค เป็นหลัก เหลือบริโภคก็เก็บไว้ในยุ้งฉาง จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ บ้าง ก็เฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เช่น แลกกับเสื้อผ้า อาหาร เกลือ ยารักษาโรคแต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับเครื่องประหัตประหาร ทั้งนี้เพราะคนไทยเชื่อว่า ข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีเทพธิดา ชื่อว่า "แม่โพสพ" ประจำอยู่ ในท้องถิ่นบางแห่งเรียกว่า "นางโคสก" หรือ "แม่โคสก" เชื่อกันว่า นางมีอิทธิฤทธิ์ สามารถดลบันดาลความสมบูรณ์พูนสุขแก่ผู้ปฏิบัติชอบต่อนางได้ และถ้าปฏิบัติไม่ดีจะได้ผลตรงกันข้าม ในอดีตหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแต่ละปี ชาวบ้านจึงต้องจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้นาง และปฏิบัติต่อนางอย่างเคารพนอบน้อม

เทพเจ้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการทำนา

การทำนาให้ได้ผลดีนั้น จะต้องถือปฏิบัติเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น เทพเจ้า เทวดาอารักษ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งการปฏิบัติบูชาเซ่นไหว้ก็จะทำในโอกาส หรือวาระต่างๆ กัน เช่น พิธีจรดพระนังคัญแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีหลวง จัดขึ้นเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรคนในชาติ ส่วนคนในท้องถิ่นอื่นก็จะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคนอีสานแล้ว จะยึดถือเอาเทวดา ภูตผี ในการทำการเกษตรกรรมดังนี้

pee ta hag 01

ตาแฮก หรือ ผีตาแฮก

ตาแฮก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีเฝ้าไร่นา เมื่อชาวบ้านเข้าหักร้างถางพง เพื่อแปรสภาพที่ดินไปเป็นที่นา พวกเขาจะทำพิธีเชิญผีตาแฮกตนหนึ่งมาเป็นผู้เฝ้ารักษาที่นาและข้าวกล้า แต่ละปีเจ้าของนาจะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยก่อนลงไถนา และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะต้องแบ่งข้าวสี่เกวียน (เกวียนจำลองเล็กๆ) ให้แก่ผีตาแฮกด้วยทุกปี

** ผีตาแฮก เป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และดูแลทำให้ข้าวกล้าเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ ผีตาแฮกทุกปี คือ ก่อนลงมือปักดำ ฉะนั้น ในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ บางคนอาจปักเสาเป็นสัญญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้ คือ "ที่อยู่ของผีตาแฮก" หรือบางแห่งอาจทำรั้วถี่ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้ การไหว้ผีตาแฮก หรือทำพิธีปักกกแฮก จะดำเนินการตอนช่วงจะเริ่มปักดำ สิ่งที่ใช้ในการทำพิธีปักกกแฮก ประกอบด้วย เหล้าขาว 1 ขวด ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน 1 ตัว บางคนอาจมีข้าวดำ ข้าวแดง ปลาร้า ด้วยก็ได้ ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่ น้า 1 ขวด แก้ว 2 ใบ กระติ๊บข้าวเหนียว

หลังจากนั้น นำของเซ่นไหว้ไปที่ที่อยู่ของ "ตาแฮก" แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมาใส่ถาดเหล้า เปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้าเทใส่แก้วคนละใบ จุดเทียนตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ พร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ โบราณนิยมแฮกนาดำวันอาทิตย์ แฮกนาหว่านวันจันทร์ ปักตาแฮก ปักกกแฮกและดำนาวันพฤหัสบดี ทำขวัญข้าววันอังคาร แฮกถางไฮ่ (ถางไร่) สุม (เผา) ไฮ่เอาวันศุกร์

ตาปู่ หรือ ปู่ตา

ตาปู่ เป็น ผีประจำหมู่บ้าน อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน การสร้างหมู่บ้านจะต้องทำ ศาลปู่ตา หรือ ตูบปู่ตา แล้วทำพิธีอัญเชิญปู่ตาซึ่งถือเป็นผีบรรพบุรุษ ให้มาอยู่ทำหน้าที่คอยพิทักษ์รักษามนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารในหมู่บ้านให้ปลอดภัย การติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้านจะผ่านตัวแทน คือ คนทรง หรือที่เรียกว่า "จ้ำ" หรือ "พ่อเฒ่าจ้ำ" เมื่อถึงเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงปู่ตา และเสี่ยงทายเรื่องความสุขสบาย ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้าน และทำนายปริมาณน้ำฝนในปีนั้นๆ

** คติความเชื่อ เจ้าภูมิ เจ้าไพร เจ้าป่า ผีสางนางไม้ เป็นคติความเชื่อของชาวอีสานมาแต่โบราณ ซึ่งชาวไทยอีสานเรียกว่า "ไทยน้อย" เมื่ออพยพครอบครัวไปตั้งหมู่บ้าน ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แห่งหนใด มักเลือกชัยภูมิป่าที่เห็นเหมาะสม ทำพิธีตั้งพระภูมิบ้าน เรียกว่า "ปู่ตา" หรือ "ดอนปู่ตา" ให้เป็นพระภูมิเทพาอารักษ์ของหมู่บ้าน เพื่อคุ้มครองดูแลหมู่บ้านรักษาผู้คนและปศุสัตว์ ช่วยป้องกันอันตรายและภัย และมีผีตาแฮกคอยป้องกันรักษาพืชพันธ์ ไร่นา

"ผีปู่ตา" เป็นผีรักษาบ้าน รักษาเมือง ดูแลสังคมในหมู่บ้าน ไม่ให้มีการข่มแหงเอารัดเอาเปรียบกัน "ปู่" คือ พ่อของพ่อตา คือ พ่อของแม่ ชาวอีสานถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่จะต้องดูแลคุ้มครองลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข เวลามีกิจกรรมสาคัญๆ จะต้องบอกกล่าวเสมอ เช่น การทาบุญหมู่บ้าน การออกเรือนใหม่ การย้ายบ้านเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นต้น จะไปต้องลา จะต้องมาบอกปู่ตา ซึ่งได้วางแนวปฏิบัติไว้ให้สังคมหลายอย่าง พ่อแม่จะด่าลูกอย่างหยาบคายก็ไม่ได้ผิดผีปู่ตา

แถน

แถน หรือ พญาแถน เป็นเทวดาหรือผีฟ้าอยู่บนสวรรค์ มีอำนาจบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ แก่มนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารบนโลกได้ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือแถนมาก ยามทุกข์ร้อนสิ่งใด มักจะบนบานให้แถนช่วยเหลือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา คือ ชาวบ้านเชื่อว่า แถนมีอำนาจสั่ง ให้ฝนตกได้ แต่ละปีจึงมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาแถน เพื่อให้แถนสั่งให้ผู้มีหน้าที่ทำให้ฝนตก เช่น นาค พระพิรุณ ประทานฝนลงมาให้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง บุญบั้งไฟ   >>>

นาค

เป็นสัตว์ในอุดมคติที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในโลกบาดาล งานหรือหน้าที่ของนาค คือ การพ่นฝนให้ตกลงในจักรวาลนี้ อันประกอบด้วยมหาสมุทร มนุษย์โลก และป่าหิมพานต์ นาคเกี่ยวข้องกับ การทำนาในส่วนที่เป็นผู้ทำให้น้ำฝนตกลงในมนุษยโลก ทำให้มนุษย์ได้ทำนา นอกจากนี้ยังมีนาค อีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า "นาคทรงแผ่นดิน" เมื่อทำพิธีแรกไถนา ชาวนาต้องดูวัน เดือน ปี และทิศ ที่จะบ่ายหน้าควาย ต้องไม่ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาค หรือเสาะเกล็ดนาค เพราะถ้า เป็นอย่างนั้นการทำนาในปีนั้นจะทำให้เกิดอุปสรรคต่างๆ ขึ้น

นางธรณี

ชาวบ้านเชื่อกันว่า นางธรณี หรือ แม่ธรณี เป็นเทพเจ้าแห่งพื้นดิน ก่อนจะไถนาหรือปลูก ข้าว ต้องบอกกล่าวขออนุญาตต่อนางเสียก่อน และทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยพาหวาน (มีข้าวนึ่ง ไข่ไก่) 1 พา และขอให้นางธรณีช่วยปกป้องรักษาข้าวในนา อย่าให้มีศัตรูมาเบียดเบียน และขอให้ได้ทำนา ด้วยความสะดวกสบายตลอดฤดูกาล

pi tee rag na 1 
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาหลวง (พิธีหลวง)

พิธีแฮกไถนา (แบบชาวนาอีสาน)

การแรกไถนาทำในเดือนหก วันฟู เวลาเช้า เจ้าของนาเป็นผู้ทำพิธี เทพเจ้าหลักที่อ้างถึงใน พิธีนี้คือ นางธรณี หรือ ผีตาแฮก แล้วแต่ใครจะนับถือองค์ไหน เทพเจ้าประกอบได้แก่ พระภูมิเจ้าที่ และ รุกขเทวดา กระทำพิธีในนาแปลงใดก็ได้ องค์ประกอบในพิธีมี พาหวาน 4 และ พายา 4 กอก (กรณี นับถือตาแฮก) องค์ประกอบนี้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อปฏิบัติของแต่ละบุคคล

วิธีทำ นำเอาเครื่องประกอบเหล่านี้ไปเซ่นสังเวยบอกกล่าวว่า "มื้อนี้เป็นมื้อสันต์วันดี จะทำการแฮกไถนา ขอให้เทพเจ้า (ออกชื่อ) จงช่วยคุ้มกันรักษา ขยับขยายที่ให้ได้ทำนา อย่างสุขสบาย" แล้วเริ่มไถนาในทิศทางที่ตามเกล็ดนาค (ห้ามไถทวนเกล็ดนาค) ไถวน จำนวน 3 รอบแล้วหยุด ปล่อยควาย เป็นการเสร็จพิธี วันต่อไปจึงเริ่มไถเป็นปกติได้ พิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองรักษาทั้งคน สัตว์ ข้าวกล้า และขออนุญาตต่อเทพเจ้า เพื่อเตรียมดินปลูกข้าวในปีนั้นๆ ตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมา

pi tee rag na 2

จัดขึ้นประมาณเดือนเจ็ดหรือเดือนแปด (มิถุนายน - กรกฎาคม) วันประกอบพิธีต้องเป็น วันฟู หรือวันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี หรือวันเกิดของเจ้าของนา แล้วแต่ใครจะเลือกนับถือ ทำพิธีเวลาเช้า พ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นผู้กระทำ เทพเจ้าที่อ้างถึงได้แก่ ผีตาแฮก หรือ นางธรณี แล้วแต่ ใครจะนับถือรูปใดก็บูชารูปนั้น สถานที่ที่ปลูกข้าวตาแฮกนั้นให้เลือกเอาบริเวณที่ใกล้ๆ กับโพนนา (จอมปลวก) หรือใกล้กกไม้ (โคนต้นไม้)

pi tee rag na 3

วิธีทำ เตรียมดินให้กว้างพอจะปลูกข้าวแฮกประมาณ 7 หรือ 14 กอ แล้วสร้างร้านสี่เสา เล็กๆ ขึ้นพอจะเป็นที่วางเครื่องสังเวยได้ เอาเครื่องสังเวยซึ่งเป็นเช่นเดียวกับพิธีแฮกไถนาวางบน ร้าน จากนั้นจึงกล่าวคำอ้อนวอนว่า "มื้อนี้มื้อสันต์วันดี พวกข้าจะมาปักแฮก ขอให้ตาแฮก (หรือนางธรณี) ช่วยคุ้มครองรักษาให้ข้าวกล้าในนางอกงาม ไม่มีพวกช้าง พวกควาย หรือ ไพร่พลมาทำลาย" แล้วจึงปักข้าวแฮก 7 หรือ 14 กอ ตามแต่นับถือ เป็นอันเสร็จพิธี

เป้าหมายของพิธี คือ ต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองข้าวกล้าให้งอกงาม ไม่มีโรคภัยมา เบียดเบียน สำหรับกรณีผู้นับถือตาแฮกจะบนบานว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งข้าวที่ได้ให้ ตาแฮก 4 เกวียน (เกวียนจำลอง)

พิธีเลี้ยงผีปู่ตาหรือผีตาปู่

โบราณอีสานจะตั้งบ้านตั้งเมือง ณ ที่ใด จะตรวจดูแม่น้ำและป่าไม้ก่อนสิ่งอื่นๆ เพราะแม่น้ำนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับแรก หากไปตั้งอยู่ไกลแม่น้ำจะไม่สะดวกในการทำมาหากิน อาหารที่จำเป็นของชาวอีสานอันดับแรกคือ ปลา ถ้าบ้านใกล้แม่น้ำจะหาปลากินง่าย ไม่ต้องขุดสระเลี้ยงปลา ในสมัยโบราณปลามีอุดมสมบูรณ์ อย่างว่า

บ้านข้อยพุ้นดินดำน้ำชุ่ม   ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง
ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น   จักจั่นฮ้องคือฆ้องลั่นยาม "

don puta 02

ความสำคัญอันดับสองคือ ป่าไม้ เพราะมีประโยชน์ทั้งการนำไม้มาสร้างบ้านเรือน เป็นที่หาอาหารเช่น พืชผัก ผลไม้ เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง และสัตว์อื่นๆ การรักษาป่าของคนโบราณอีสานฉลาดนัก แทนที่จะมอบให้คนรักษาแต่ไม่มอบให้ เพราะคนรู้จักและเข้าใจคนว่าชอบแต่ได้ไม่ชอบเสีย และไม่ซื่อตรง แอบลักลอบทำการเอาประโยชน์ส่วนตน จึงมอบให้ผีปกปักรักษาป่า สร้างที่อยู่ให้ผี เรียก หอปู่ตา แล้วทำการเชิญผีมาอยู่ ผีที่ว่าก็หมายถึง ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มาเฝ้าดูแลป่าและปกปักรักษาลูกหลาน ในแต่ละปีจะมีการเลี้ยงผี เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ป่าดอนปู่ตานี้จะอยู่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน

putaการเลี้ยงผีปู่ตานี้จะจัดขึ้นในเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) วันพุธ (จะเป็นวันพุธสัปดาห์ไหนก็ได้) ตอนเช้า พิธีนี้มี "จ้ำ" เป็นผู้ดำเนินการ โดยป่าวประกาศให้ลูกบ้านทราบว่าจะทำพิธีวันไหน และให้ลูกบ้านบริจาคเงิน ข้าวของตามศรัทธาให้แก่จ้ำ เพื่อจะได้นำไปซื้อเครื่องเซ่นมาทำพิธี ซึ่งมีไก่ 3 ตัว เหล้า 1 ขวด บุหรี่ ยาสูบ หมาก ผ้าซิ่น ดอกไม้ และธูปเทียน

เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านทุกครอบครัวไปร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นเวลาเช้า ณ ศาลปู่ตาประจำ หมู่บ้าน ในพิธีมีการเสี่ยงทายโดยใช้ไก่ 3 ตัว เป็นเครื่องเสี่ยงทาย 3 กรณี คือ

  • ไก่ตัวที่ 1 เสี่ยงทายเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์
  • ไก่ตัวที่ 2 เสี่ยงทายเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ
  • ไก่ตัวที่ 3 เสี่ยงทายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์

โดยดูจากลักษณะปลายขากรรไกรล่างทั้งสองข้างของไก่ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง การเสี่ยงทายอีกประการหนึ่ง คือ การเสี่ยงทายฟ้าฝนด้วยไม้วา โดยเอาไม้มาหนึ่งท่อนขนาดยาว 1 วาของจ้ำ (ผู้กระทำพิธี) นำมาเข้าพิธี โดยอธิษฐานว่า ถ้าฝนดีขอให้ไม้นี้ยาวกว่า 1 วาของจ้ำ ถ้าฝนแล้งขอให้ไม้สั้นกว่า 1 วาของจ้ำ เมื่อทำพิธีอธิษฐานแล้วก็เอาไม้มาวัดเทียบกับวาของจ้ำ แล้วให้ ทำนายตามผลที่ปรากฏ

ส่วนการทำนายตามลักษณะไก่ คือ ดึงเอาขากรรไกร (ปากล่าง) ของไก่ที่บูชาปู่ตาแล้วออกมา แล้วดูว่า ส่วนปลายขากรรไกรทั้งสองข้าง (ซึ่งมีลักษณะเป็นสองง่าม) เป็นอย่างไร

  1. ถ้าปลายง่ามห้อยตกลงหรือไม่เสมอกัน หมายถึงในปีนั้นสัตว์เลี้ยงจะไม่สบาย เกิดโรค ถ้าเกี่ยวกับคนทายว่าจะแตกความสามัคคี เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็จะไม่สมบูรณ์
  2. ถ้าง่ามขากรรไกรทั้งสองข้างยาวเท่ากัน จะหมายถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์เลี้ยง ผู้คน และพืชพันธุ์
  3. ถ้าขากรรไกรมีสีขาว แสดงว่า ฝนแล้ง
  4. ถ้าขากรรไกรมีสีดำ แสดงว่า ฝนฟ้าดี

พิธีเลี้ยงผีปู่ตา เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำนา ปลูกข้าวอย่างใกล้ชิด ผลคำทำนายเป็นเช่นไร? ชาวบ้านมักจะนำไปเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวทำนาในปีนั้นๆ นอกจากนั้นปู่ตา ยังมีความสำคัญกับหมู่บ้านเพราะเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนของหมู่บ้านนั้นๆ ให้ ยังคงอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชุมชนตราบเท่าลูกหลาน

ดอนปู่ตา นอกจากจะเป็น สถานที่เคารพสักการะ ที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจแล้ว ดอนปู่ตา ยังเป็น แหล่งอาหารสำคัญของหมู่บ้าน เพราะอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ ป่าไม้ที่ให้ร่มเงา ทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้ผล ไม้ไผ่ ที่ให้ทั้ง ใบ ดอก ผล และหน่ออ่อน ที่เป็นอาหารของคนในชุมชน มีเห็ดนานาชนิด และสัตว์ต่างๆ ที่เป็นอาหารได้ ดอนปู่ตาจึงเปรียบได้กับ ตลาดสด ใกล้บ้าน หรือ ตู้เย็นที่เก็บสะสมอาหารสดใหม่ให้กับชุมชนได้ประโยชน์ในทุกฤดูกาลนั่นเอง

don puta 01

ในปัจจุบันนี้ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามามากๆ เรื่องของ "ดอนปู่ตา" ก็อาจจะจางหายไปในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยเหตุที่ดอนปู่ตาไปอยู่ในเส้นทางของการพัฒนา ตัดถนนหนทางให้กว้างขวาง (ไม่ได้ตัดอ้อมวกวนเหมือนกับทางเกวียนในอดีต) เราจึงได้ยินว่า ผีปู่ตามาเข้าฝันเถ้าจ้ำบอกว่า "เห็นสิอยู่หม่องเก่าบ่ได้ละเด้อ กูถืกบักกุดจี่ทอง (รถแทรกเตอร์) มันมาไถมาดุนจนตูบกูพังทลายลงเบิดแล้ว ทั้งๆ ที่เจ้าของของมัน (คนขับรถไถ) ก็พยายามดึงบังเหียน (คันบังคับรถ) ไว้อย่างสุดแฮงก็ยังเอาบ่อยู่ แฮ่งดึงมันแฮ่งมุดเข้ามาไถโพนและตูบของกูจนพังทลายลงเบิดแล้ว คือสิได้ไปหาหม่องอยู่ใหม่ บอกไทบ้านแหน่..." นับวันดอนปู่ตาจะสูญหายหมดไปจากคนอีสาน

JudJee thong

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ผีปู่ตา

** คัดมาจาก "วิเคราะห์พิธีกรรมการบูชาและความเชื่อเกี่ยวกับผีตาแฮกในชุมชน
ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี"

โดย พระอธิการทิพเนตร ปญฺญาทีโป พระครูสิริสุตาภรณ์ และ พระมหาณัฐกิตติ อนารโท

blueline

 ตำนานเรื่อง ผีตาแฮกและดอนปู่ตา | ความเชื่อและพิธีกรรม เกี่ยวกับการเพาะปลูก | เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์

redline

backled1

boon katin

ความหมายของกฐิน | ตำนานกฐิน | กฐินหลวง | กฐินรษฎร์ | ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน

bulletกฐินราษฎร์

ฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ประชาชน หรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวาย ณ วัดต่างๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง) การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง 4 รูปแบบคือ

  • กฐิน หรือ มหากฐิน
  • จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น
  • กฐินสามัคคี
  • กฐินตกค้าง

boon ka tin 06

3diamondกฐิน หรือ มหากฐิน

เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น

นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 คือ

  1. เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น
  2. เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
  3. เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม
  4. เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น

หรือจะมีอย่างอื่นนอกจากที่กลาวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุ สามเณร จะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

นอกจากนั้น ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริมน้ำ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว (ถ้าเป็นวัดที่อยู่ไกลแม่น้ำให้มีธงผ้าขาวเขียนรูปตะขาบปักไว้หน้าวัดแทนรูปสัตว์น้ำ) การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้

ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ

  1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
  2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

นอกจากนี้แล้วยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐิน ถ้าเป็นเวลาเช้าจะมีการทำบุญถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร ในวัดด้วย

กฐินที่ราษฎรเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินและบริวารกฐินไปทอดยังวัดต่างๆ นี้เรียกว่า กฐิน หรือ มหากฐิน เหตุที่เรียกว่ามหากฐินอาจเป็นเพราะจะให้เห็นความแตกต่างจากกฐินอีกชนิดหนึ่งคือ จุลกฐิน ก็ได้

 

3diamondจุลกฐิน หรือ กฐินแล่น

เป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่า กฐินแล่น (ความหมายคือเร่งรีบ ฟ้าว ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล) เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝัก มีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้แล้ว ทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุก แล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน

เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระภิกษุองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย

หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั้นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ ทับรีดเสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จการพินทุอธิษฐานแล้วจะมีการประชุมสงฆ์ แจ้งให้ทราบ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีจุลกฐิน

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมาก พอจะตัดวิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่ มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุ อธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบ

ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธาน และเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธงจรเข้ ตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาในเรื่องของกฐินหรือมหากฐินนั่นเอง

 

3diamondกฐินสามัคคี

เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะบริจาคมากน้อยอย่างไรไม่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการก็มักจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่มีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาก็นำมาจัดหาผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารต่างๆ เมื่อมีปัจจัยเหลือก็นำถวายวัดเพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น กฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นการสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

เรื่องของกฐินสามัคคีเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาก เพราะนอกจากจะถือกันว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงวัด ตลอดจนเป็นการสร้างความสมานสามัคคีของชุมชน ให้มีความรักมั่นกลมเกลียวอันเนื่องมาจากอานิสงส์ของกฐินสามัคคีนั่นเอง

 

3diamondกฐินตกค้าง

กฐินประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฐินตก กฐินโจร ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินชนิดนี้ ตลอดจนชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปว่า (จากเรื่องเทศกาลออกพรรษา)

"...แต่ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดตกค้างไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐินตามปกติในวันใกล้ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน (คือวันก่อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12) การทอดกฐินอย่างนี้เรียกว่า กฐินตกค้าง หรือเรียกว่า กฐินตก บางถิ่นก็เรียก กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา บางคนเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้ทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือบางวัดทอดไม่ได้ (อาจเป็นที่ไม่ครบองค์สงฆ์) ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่า ผ้าป่าแถมกฐิน

กฐินประเภทนี้ เรื่ององค์กฐิน บริวารกฐิน ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฐินอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ไม่มีการจองวัดล่วงหน้า การทอดก็ทอดได้เฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด และเจ้าภาพเดียวอาจจะทอดหลายวัดก็ได้ ตลอดจนสามารถนำเอาของไทยธรรมที่เหลือ ทำเป็นการบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน ได้อีก

การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง

ในกรณีที่วัดใดวัดหนึ่งไม่มีผู้จองกฐิน หรือที่เรียกว่ากฐินตกค้างนั้น ถ้าเข้าใจความมุ่งหมายของการทอดกฐินแล้วแก้ปัญหาได้ง่าย เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าการทอดกฐินนั้นต้องใช้จ่ายสิ้นเปลืองมาก ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์พอก็ไม่ค่อยกล้าแสดงความจำนงจองกฐิน

ความจริงการทอดกฐินนั้นมีเพียงผ้าผืนเดียว ซึ่งอาจตัดเย็บย้อมเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่มซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจถวายผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ นับเป็นการทอดกฐินแล้ว ที่เราสิ้นเปลืองกันมากนั้นเป็นการไปเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ขึ้นมากันตามกำลังศรัทธา เพื่อให้มีองค์ประกอบสวยงาม โดยเฉพาะมหรสพคบงันต่างๆ ที่สร้างความครึกครื้นนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้แต่อย่างใด ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นใดๆ เลย

พราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเรื่องวัดใดวัดหนึ่งไม่มีใครจองกฐิน ใครก็ได้ที่มีศรัทธาและทุนไม่มากไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งมาถวาย ก็เรียกว่า ทอดกฐิน แล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้นก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวาย ก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระวินัย เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายๆ เพียงเท่านี้

boon ka tin 07

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน

มื่องานบุญกฐินเป็นงานมหากุศลที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานบุญประเพณีนี้ต้องทำให้ถูกพระธรรมวินัยจึงจะได้อานิสงส์ ข้อปฏิบัติที่น่าสนใจมีดังนี้

การจองกฐิน

การจองกฐิน ก็คือ การแจ้งล่วงหน้าให้ทางวัดและประชาชนได้ทราบว่าวัดนั้นๆ มีผู้ศรัทธาทอดกฐินกันเป็นจำนวนมากถ้าไม่จองไว้ก่อนอาจไม่มีโอกาส จึงเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นว่าจะทอดกฐินต้องจองล่วงหน้า เพื่อให้มีโอกาสและเพื่อไม่ให้เกิดการทอดซ้ำ วัดหนึ่งวัดปีหนึ่งทอดกฐินได้ครั้งเดียว และในเวลาจำกัด คือหลังจากออกพรรษาแล้วเพียงเดือนเดียวดังได้กล่าวมาแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม กฐินหลวงไม่มีการจองล่วงหน้า เว้นแต่กฐินพระราชทาน ผู้ประสงค์จะขอรับพระราชทานกฐินไปทอดต้องจองล่วงหน้า โดยแจ้งไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวมาแล้ว

ตัวอย่างใบจองกฐิน

ข้าพเจ้าชื่อ ................................................... บ้านเลขที่ ............ ตำบล ...................................... อำเภอ .................................................... จังหวัด ...................................... มีศรัทธาปรารถนาจะทอดกฐินแก่พระสงฆ์วัดนี้ มีองค์กฐิน .................... มีบริวารกฐิน ....................... กำหนดวัน ............. เดือน ............................................. ปี ..................... เวลา ........................

ขอเชิญท่านทั้งหลายมาร่วมกุศลด้วยกัน หากท่านผู้ใดมีศรัทธามากกว่ากำหนด ขอผู้นั้นจงได้โอกาสเพื่อทอดเถิด ข้าพเจ้ายินดีอนุโมทนาร่วมกุศลด้วย

ถ้าหากว่ามีผู้ศรัทธามากกว่าจะนำกฐินมาทอด ณ วัดเดียวกัน ก็ต้องทำใบจองดังกล่าวมานี้มาปิดไว้ที่วัดในที่เปิดเผย เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้น และเป็นธรรมเนียมที่ถือกันว่า การที่มีผู้มาจองทับเช่นนี้ไม่เป็นการเสียมารยาทแต่อย่างใด แต่ถือเป็นเรื่องสนุกสนานในการทำบุญกุศลอย่างหนึ่ง ในภายหลังไม่นิยมจองทับกันแล้ว ถ้ามีศรัทธาวัดเดียวกันก็มักจะรวมกันซึ่งเรียกว่า กฐินสามัคคี

ในการทอดกฐินสามัคคีนี้ ผู้ทอดอาจเชิญชวน ผู้มีจิตศรัทธาให้มาร่วมกันทำบุญ โดยแจกใบบอกบุญหรือเรียกว่า ฎีกา ก็ได้

การทอดกฐิน

เมื่อได้ตระเตรียมพร้อมแล้ว ถึงกำหนดก็นำผ้ากฐินกับบริวารไปยังวัดที่จองไว้ การนำไปนั้นจะไปเงียบๆ หรือจะแห่แหนกันไปก็ได้เมื่อไปถึงแล้ว พักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สะดวก เช่น ที่ศาลา ท่าน้ำ ศาลาโรงธรรม โรงอุโบสถ หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งทางวัดจัดไว้ เมื่อพระสงฆ์พร้อมแล้วก่อนถวายกฐิน อาราธนาศีล รับศีล เมื่อรับแล้ว ทายกประกาศให้รู้พร้อมกัน หัวหน้าผู้ทอดกฐินหันหน้าไปทางพระพุทธรูป ตั้งนโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์กล่าวถวายเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย หรือทั้งสองภาษาก็ได้ ว่าคนเดียวหรือว่านำแล้วคนทั้งหลายว่าตามพร้อมกันก็ได้ การกล่าวคำถวายจะกล่าวเป็นคำๆ หรือจะกล่าวรวมกันเป็นวรรคๆ แล้วแต่ความสะดวกของผู้กล่าวนำและผู้กล่าวตาม คำถวายมีดังนี้

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 1

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 2

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โร ภันเต อิมัง สะปริวารา กะฐินะทุสสัง ปฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 3

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคันหาตุ
ปะฏิคคเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับบริวารนี้ ครั้นรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

เมื่อจบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน องค์กฐินพร้อมทั้งบริวารนั้นถ้าปรารถถวายเป็นของสงฆ์ทั้งหมดก็ไม่ต้องประเคน ถ้าปรารถนาจะประเคนก็อย่าประเคนสมภาร หรือองค์ที่รู้ว่าจะต้องครอง ให้ประเคนองค์อื่น องค์ที่เหมาะสมก็คือองค์รองลงมา เฉพาะองค์กฐินนั้นไม่จำเป็นต้องประเคน ส่วนบริวารนั้น ถ้าจำนงถวายแก่ภิกษุสามเณรในวัดนั้นส่วนเฉพาะ ก็ช่วยกันถวายโดยทั่วกัน เมื่อประเคนเสร็จแล้วจะกลับเพียงนั้นก็ได้ แต่ถ้ายังไม่กลับจะรอจนพระสงฆ์อปโลกน์ และมอบผ้ากฐินเสร็จแล้วก็ได้

ถ้าผ้ากฐินนั้นต้องทำต่อไปอีกเช่น ต้องซัก กะ ตัด เย็บย้อม จะอยู่ช่วยพระก็ได้ จึงมีธรรมเนียมอยู่ว่า ประเคนเฉพาะองค์กฐินแก่พระรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น แล้วรออยู่เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเบื้องต้นของท่านเสร็จจึงประเคนบริวารกฐินในภายหลัง พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายทั้งหมดตั้งใจฟังคำอนุโมทนา และขณะนั้น เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

เพียงเท่านั้นก็เสร็จพิธีถวายกฐินสำหรับทายกผู้มีศรัทธา ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์จะได้ดำเนินการในเรื่องกรานกฐินต่อไป

หมายเหตุ ปี พ.ศ. 2563

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปร่วมทำบุญทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีญาติโยมพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากในปีนี้ เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ข่าวการทอดกฐินของวัดนี้นัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกฐินที่ "โยมอุปัฏฐาก" วัดตระกูลหนึ่งได้จองกฐินไว้ทอดถวายทุกปี แต่ปีนี้เป็น "กฐินสามัคคี" ที่ไม่มีใครจอง ทางวัดได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทั่วไปได้ทราบทั่วกัน ผู้เขียนเลยได้มีโอกาสมาร่วมพิธีด้วย ได้สอบถามญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่ใกล้เคียงวัดนี้ว่า "ทำไมปีนี้ ไม่มีเจ้าภาพจองกฐินเช่นปีก่อนๆ"

ได้รับคำตอบว่า "หลวงพ่อเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดมีมติไม่ให้จอง เพราะได้ปัจจัยน้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลศาสนสถานที่เริ่มชำรุดทรุดโทรม ให้ทำเป็นงานบุญกฐินสามัคคีดีกว่า ได้ปัจจัยมากกว่า" ซึ่งก็เป็นนเช่นนั้นจริงๆ ด้วย หลายปีก่อนย้อนไป 10 ปี ได้ปัจจัยปีละไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ปีนี้ "กฐินสามมัคคี" มีญาติโยมมาร่วมงานคับคั่งจากทุกสารทิศที่ทราบข่าว ได้ปัจจัยเพื่อบูรณะพระอุโบสถและศาลาการเปรียญมากเกือบ 2 ล้านบาท ก็แล้วแต่จะคิดต่อกันนะครับ แค่เอามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

 

redline [ กฐินหลวง | กฐินราษฎร์ ]

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)