foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

malai kao tok

แห่มาลัยข้าวตอก

าวบ้านฟ้าหยาด (อำเภอมหาชนะชัย) แห่งเมืองบั้งไฟโก้ยโสธร จะนำ "ข้าวตอกสีขาว" มาร้อยเป็นมาลัยสายยาว แทน "ดอกมณฑารพ" แห่งสรวงสวรรค์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ใน "งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก" ที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ของชุมชนลุ่มน้ำชี แห่งบ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ชาวบ้านจะนำข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยสายยาวแทน "ดอกมณฑารพ" อันเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ แล้วจัดขบวนแห่ไปถวายเพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา เฉพาะที่ชุมชนบ้านฟ้าหยาดแห่งนี้ เท่านั้น

malai kaotog 01

ขอบคุณภาพสวยๆ จาก น้องต๋อม Sunantha Putpan

malai kaotog 07

ความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัยนี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน หรือร่วงหล่น ก็ต้องมีเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์

malai kaotog 03

ขบวนแห่มาลัยข้าวตอกหนึ่งเดียวในประเทศไทยสวยงามยิ่งนัก...

malai kaotog 02

ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพ นี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพัน ต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเหล่าพระภิกษุ ผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพทั้งหลายด้วย หมู่เหล่าข้าราชบริพาร ประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพ อีกทั้งยังได้พากันเก็บนำดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการะบูชา และรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปดอกมณฑารพ ที่เก็บมาสักการะบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป

malai kaotog 04

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่างๆ ชาวพุทธจึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าแรกๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา

malai kaotog 05

ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม สืบทอดกันเรื่อยมา จากการตกแต่งมาลัยเพื่อความสวยงาม ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นการประกวดประชันกัน เมื่อมาลัยร้อยได้สวยงามก็เริ่มมีการแห่แหน ให้เป็นการเป็นงานขึ้นมาด้วยเพื่อประกอบพิธีนั้น จนกลายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้นมีการฟ้อนรำประกอบขบวน และกลายเป็นประเพณีแห่มาลัยในปัจจุบันและจัดให้มีขึ้น ในวันมาฆบูชา ของทุกๆปี

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน มาลัยข้าวตอก

บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนเดียวที่มีประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกทุกปี ซึ่งปัจจุบัน มาลัยข้าวตอก กลายเป็นสินค้าโอทอปของชุมชน ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้มากมายนัก แต่เป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้อยู่สืบไป

malai kaotog 06

บุญข้าวจี่ ฮีตคองในเดือนสาม

นอกจาก บุญมาลัยข้าวตอก นี้แล้ว ยังมี "บุญข้าวจี่" เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสาน ที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ใน "ฮีตสิบสอง" ดังรู้จักกันทั่วไปว่า

เดือนสามคล้อยจั่วหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี) "

บุญข้าวจี่ นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม  คือ  ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา  (เดือนสาม ขึ้น ๑๔ ค่ำ) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนหลายหมู่บ้าน นั่นคือ ชาวอีสานบางหมู่บ้านเรียกงานบุญนี้ว่า บุญคุ้ม จะทำกันเป็นคุ้มๆ หรือ บางหมู่บ้านก็จะทำกันที่วัดประจำหมู่บ้าน ล้วนแล้วแต่เป็น บุญข้าวจี่ หรือบุญเดือนสาม นั่นเอง ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพก็จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมกันทำบุญ

kao jee 01

ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุก แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทา แล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้ว เอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า

ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียก หัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า

เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา ”

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ข้าวจี่

มูลเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม เนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาได้มีการทำนาเสร็จสิ้น ชาวนาได้ข้าวขึ้นยุ้งใหม่ จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายแก่พระสงฆ์ สำหรับมูลเหตุดั้งเดิมที่มีการทำบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่ากันตามความเชื่อว่า ในสมัยพุทธกาล นางปุณณะทาสี ได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ ครั้นถวายแล้วนางคิดว่า "พระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะ อาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน"

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณะทาสี จึงรับสั่งให้พระอานน์ปูลาดอาสนะ แล้วทรงประทับนั่งฉันท์ ณ ที่นางถวายนั้น เป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็บรรลุโสดาบันปัตติผล ด้วยอานิงสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่ ชาวอีสานจึงเชื่อในอานิสงส์ของการทานดังกล่าว จึงพากันทำข้าวจี่ถวายทานแด่พระสงฆ์สืบต่อมา

 

redline

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยงข้อง : ฮีตเดือนสาม บุญเข้าจี่ ]

 

heet m 12

บุญเดือนสิบสอง

ฮีตหนึ่งนั้น เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นบ่คือแท้แต่หลัง ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ซ่วงกันบูชา ฝูงนาโค นาคเนาว์ในพื้น ชื่อว่าอุชุพะนาโค เนาว์ ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสะการ จงทำให้ทุกบ้านบูชาท่านนาโค แล้วลงโมทนาดอม ชื่นชมกันเล่น กลางเว็นกลางคืนให้ระงมกันขับเสพ จึงสิสุขอยู่สร้างสบายเนื้ออยู่เย็น ทุกข์ทั้งหลาย หลีกเว้นหนีห่างบ่มีพาน ของสามานย์ทั้งปวงบ่ได้มีมาใกล้ ไผผู้ทำตามนี้เจริญขึ้นยิ่งๆ ทุกสิ่งบ่ไฮ้ ทั้งข้าวหมู่ของ กรรมบ่ได้ถึกต้องลำบากในตัว โลดบ่มีมัวหมองอย่างใดพอดี้ มีแต่สุขีล้นครองคน สนุกยิ่ง อดในหลิงป่องนี้เด้อเจ้าแก่ชรา "

ฮีตสุดท้ายของปีคือ ฮีตเดือนสิบสอง ในทางพระพุทธศาสนาแล้วชาวอีสานจะทำ บุญกฐิน กันดังเช่นกับภาคอื่นๆ ของไทย การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า "ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว พระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้"

กฐิน คือ "ไม้สะดึง" ที่ใช้สำหรับขึงผ้า เวลาจะเย็บผ้าจีวรพระในการเย็บให้สะดวกขึ้น จึงเป็นที่มาของผ้ากฐิน คือ ผ้าจีวร สบง หรือผ้านุ่งห่ม ที่จะนำไปถวายพระนั่นเอง บุญกฐินจึงเป็นบุญที่ต้องนำเข้าไปถวายพระเป็นสำคัญ บุญกฐินเป็นบุญฮีตสุดท้ายของอีตเดือนสิบสองของชาวอีสาน

boon ka tin 01

ในสมัยโบราณ การเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณไม่ว่าจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่ม เป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปขายแล้ว)

ความเป็นมาของกฐิน

ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบาก เพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส สามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

  • ไปไหนไม่ต้องบอกลา
  • ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน
  • ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)
  • เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ
  • จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

boon ka tin 02

ความหมายของกฐิน

กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือ “กรอบไม้” หรือ “ไม้แบบ” สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)

กฐิน อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้

  • กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น
  • กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)
  • กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆืเพื่อกรานกฐิน
  • กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

boon ka tin 03

ความสามัคคีของคนในชุมชนร่วมกันเผาข้าวหลามในบุญกฐิน (ช่วงหอมข้าวใหม่)

ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น

การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้

  • จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
  • จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป
  • จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
  • จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้
  • จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
  • จำกัดคราว คือ วัดๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 

loy kratong 1

เทศกาลลอยกระทง (Loy Krathong Festival)

ในส่วนประเพณีของประชาชนทั่วไปในช่วงเดือนนี้ที่เป็นที่รู้จักกันไปไกลทั่วโลก คือ เทศกาลวันลอยกระทง  เป็นประเพณีโบราณของอินเดีย ที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่า มีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)

ตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มี นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า พิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป  ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปอดกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน"

loy kratong 2

แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วย เพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวย จึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยในที่สุดจนสืบทอดมาจนปัจจุบันนี้

ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า "บุญสิบสองเพ็ง" หมายถึง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป

 

ประเพณีลอยกระทง ของ จังหวัดร้อยเอ็ด

 

redline

backled1

heet m 11

บุญเดือนสิบเอ็ด

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วก็เป็นแวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้ว อย่าเซา "

หลังจากที่พระสงฆ์ได้จำพรรษามาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก็ถึงช่วงการออกพรรษา วันออกพรรษาจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า "มหาปวารณา" เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย 

พีธีกรรมสำหรับพระสงฆ์

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เริ่มตั้งแต่เช้ามืด พระสงฆ์ตีระฆังให้รวมกันที่โบสถ์ แสดงอาบัติแล้วทำวัตรเช้า จบแล้วไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกทำปวารณาแทน การทำปวารณา คือ ให้โอกาสว่ากล่าวตักเตือนกัน ก่อนจะทำปวารณาให้ตั้งญัตติก่อน จะปวารณา 1 – 2 หรือ 3 จบ ถ้า 3 จบให้ดำเนินการดังนี้

พระเถระผู้ใหญ่ขึ้นนั่งบนอาสน์แล้วตั้งญัตติว่า

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ อัชชะ ปะวาระณา ปัณณะระสี ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ เตวาจิกัง ปะวาเรยยะ
แล้วลงจากอาสน์ นั่งคุกเข่า ว่านะโมพร้อมกัน ๓ จบ

แล้วพระเถระนั่งหันหน้าลงมาหาสงฆ์ กล่าวคำปวารณาต่อสงฆ์ว่า

สังฆัง อาวุโส ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ
ว่าดังนี้รูปละ ๓ หน แล้วว่าไปตามลำดับแก่อ่อน เปลี่ยน อาวุโส เป็น ภันเต

ครั้นจบคำปวารณาแล้ว พระเถระผุ้ใหญ่จะให้โอวาทกล่าวตักเตือนพระสงฆ์ ให้เห็นความสำคัญในการปวารณา คนเราต่างมีทิฏฐิมานะด้วยกัน ถ้าไม่ปวารณากันไว้ เวลาไปทำผิดพลาดเข้า จะไปตักเตือนว่ากล่าว ก็จะถือว่าละลาบละล้วงล่วงเกิน ถ้าได้ปวารณากันไว้ ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ จบโอวาทแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีการออกพรรษาปวารณา

maha pavarana 1

การทำปวารณาของคณะสงฆ์

การใต้ประทีป :  เนื่องในวันออกพรรษา พระสงฆ์จะจัดทำเรือไฟขึ้นในวัด ตรงหน้าโบสถ์ ใช้เสาไม้หรือต้นกล้วย 4 ต้น พื้นปูด้วยกาบกล้วยมีหัวหางคล้ายเรือ ตกกลางคืนนำดอกไม้ธูปเทียนมาจุดบูชา ถือว่าเป็นพุทธบูชาได้บุญกุศลแรง ตัวอย่างเช่น พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ ได้รับยกย่องว่ามีตาทิพย์ ทั้งนี้เกิดจากอานิสงส์ได้ให้ประทีปเป็นทาน

พีธีกรรมสำหรับฆราวาส

ถวายผ้าจำนำพรรษา :     คือ ผ้าที่พระภิกษุสงฆ์จะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว มีเวลาที่จะถวายพระภิกษุ คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 มีเวลาถวายถึง 4 เดือน หากถวายหรือรับเลยกำหนดนี้ ไม่เรียกว่าผ้าจำนำพรรษา ผ้านี้ทายกนิยมถวายในวันออกพรรษา

lai rua fire 1

การไหลเฮือไฟในวันออกพรรษา ของจังหวัดนครพนม

เมื่อดำเนินการทางพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นพิธีการของชาวบ้านที่แทรกด้วยความสนุกสนาน ส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน ซึ่งจะมีหายกิจกรรมแล้วแต่พื้นที่ เช่น การถวายปราสาทผึ้ง หรือ “ต้นผาสาดเผิ้ง” (สำเนียงอีสาน) เพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น จังหวัดสกลนคร บางท้องถิ่นอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำจะมี "การไหลเรือไฟ (ฮ่องเฮือไฟ)" เพื่อเป็นการบูชาคารวะพระแม่คงคา เช่น จังหวัดนครพนม แต่สำหรับจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำก็จะมีการจัด "แข่งเรือ (ส่วงเฮือ)" เพื่อความสนุกสนานและสามัคคีร่วมกันในงานอีกด้วย

prasart pueng 1

การถวายผาสาดเผิ้งในวันออกพรรษา ของจังหวัดสกลนคร

การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ถือเป็นหนึ่งในบุญเดือน 11 โดยเจ้าเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำ ต้องปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นของบ้านเมือง มีพิธีอัญเชิญเจ้าเมืองและสิ่งศักดิ์ลงในเรือ ทำพิธีตีช้างน้ำนอง หรือการแข่งเรือ เพื่อบวงสรวงสักการะแม่น้ำโขง รุกขเทวดา พญานาค และสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองแม่น้ำโขง มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความเสียสละและเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชนริมสองฝั่งน้ำ

boon suang hua 1

การส่วงเฮือในช่วงออกพรรษา ของประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำใหญ่

ที่จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดนครพนม จะมีการจัดแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) ระหว่างพี่น้องชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง มีระยะทางการแข่งขันประมาณ 3 กิโลเมตร มีร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวเป็นการยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นผู้ชนะคือ ผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง ปัจจุบันนี้ ความสำคัญด้านพิธีกรรมได้ลดน้อยลง เน้นการแข่งเรือกันเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก และยังคงแข่งเรือร่วมกับพี่น้องฝั่งลาวทุกปี

boon suang hua 2

ความเชื่อเกี่ยวกับการแข่งเรือ การแข่งเรือของชาวอีสานมิใช่ทำกันเล่นๆ เพื่อความสนุกสนานเอารางวัลหรือเดิมพันเท่านั้น แต่ทำขึ้นภายใต้ความที่มีมาแต่โบราณว่า เป็นการบูชาพญานาคชื่อ อสุภะนาโค ดังคำกลอนอีสานว่า

เดือนสิบสองมาแล้วลมวอยหนาวสั่น เดือนนี้หนาวสะบั้นคือแท้แต่หลัง
ในเดือนนี้เพิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ช่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาว์ในพื้น
ชื่อว่าอสุภะนาโนเนาว์ในพื้นแผ่น สิบห้าสกุลบอกไว้บูชาให้ส่งสการ "

จากคำกลอนนี้ก็แปลได้ว่า เมื่อถึงช่วงเดือนสิบสองจะต้องมีการแข่งเรือ เพื่อเป็นการสักการบูชาพญานาคที่อยู่ใต้เมืองบาดาล เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป

 

เซิ้งเฮือส่วง ผลงานประพันธ์  พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ขับร้อง รวมศิลปินลูกทุ่งแกรมมี่

redline

backled1

heet m 10

บุญเดือนสิบ

ฮีตหนึ่งนั้น เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ ข้าว สลากนำไปให้สังโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นพ้นที่สูง ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเนือง น้อมส่ง ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง "

ดือนกันยายน หรือเดือนสิบตามปฏิทินลาว ชาวบ้านจะจัดงานบุญตาม "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปี ที่เรียกว่า "บุญข้าวสาก" หรือ "บุญเดือนสิบ" เนื่องจากเมื่อจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่างๆ อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะมารับส่วนกุศลด้วย

boon kao sag 02

ก่อนถึงกำหนดวันทำบุญข้าวสาก คือ ราววันขึ้น 13 - 14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่างๆ มีทั้งข้าว เนื้อ ปลา ข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารคาวหวานอื่น ตลอดจนผลไม้ต่างๆ ไว้สำหรับทำบุญ สำหรับข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันโดยใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าว ให้เป็นข้าวสาก (ข้าวกระยาสารท) แต่บางท้องถิ่นไม่นำข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอก มาคลุกเข้าด้วยกัน คงแยกไปทำบุญเป็นอย่างๆ เมื่อเตรียมสิ่งของทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใครีนับถือ อาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ สิ่งของเหล่านี้มักแลกเปลี่ยนกันไปมา ระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรือนเคียง ถือว่าเป็นการได้บุญ

boon kao sag 03 

ตอนสายๆ ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ เป็นข้าวสากไปวัดอีกครั้งหนึ่ง เอาอาหารต่างๆ จัดเป็นสำรับหรือชุดสำหรับถวายทาน หรือถวายเป็นสลากภัต โดยจัดใส่ภาชนะต่างๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งจัดใส่ถ้วยหรือบางแห่งใช้ทำเป็นห่อทำเป็นกระทงด้วยใบตองกล้วยหรือกระดาษ แต่ละบ้านจะจัดทำสักกี่ชุดก็ได้ตามศรัทธา ก่อนที่จะถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร จะกล่าวคำถวายข้าวสาก หรือสลากภัตพร้อมกัน

คำถวายสลากภัตร

เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "

คำแปล

"ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้
ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ."

เมื่อเสร็จพิธีถวายข้าวสากแล้ว ช้าวบ้านที่ไปร่วมพิธียังนิยมเอาชะลอม หรือห่อข้าวสากไปวางไว้ตามที่ต่างๆ ในบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติ หรือเปรตผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารต่างๆ ที่วางไว้ และขอให้มารับส่วนกุศลที่ทำบุญอุทิศไปให้ด้วย (ผู้จัดทำ ก็เคยทำสมัยเป็นเด็กกับมารดา)

boon kao sag 04

ภายหลังจากการถวายข้าวสากแด่พระภิกษุสามเณร และนำอาหารไปวางไว้ตามบริเวณวัดเสร็จแล้ว ก็มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสาก และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ไปให้เปรต สัมภเวสี และญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่มีที่นาจะนำข้าวสากไปเลี้ยง "ตาแฮก" ที่นาของตน เพื่อให้ตาแฮกรักษานาและให้ข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ตาแฮก หรือการแฮกนา ]

โดยทั่วไปจะมีเพียงการนำอาหารคาวหวานไปถวายทานที่วัดเท่านั้น แต่ที่บ้านเหล่าเลิง ตำบลไร่ขี อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ มีอาหารที่พิเศษกว่าบ้านอื่น นั้นคือการทำข้าวตอกแตก เรื่องราวความพิเศษที่มาพร้อมกับงานบุญนี้จะเป็นอย่างไร ชมได้จากสารคดีนี้เลย

รายการทีวีชุมชน ทางช่อง ThaiPBS ตอน "บุญข้าวสาก"

มูลเหตุแห่งการทำบุญข้าวสาก

มูลเหตุที่ทำให้เกิด บุญข้าวสาก มีอยู่ว่า บุตรกุฏมณีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามี จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร

พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมา และมีการเปลี่ยนเรียกนางยักษิณีว่า "ตาแฮก" [ อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ ]

boon kao sag 05

ความเป็นมาของสลากภัตทาน อีกด้านหนึ่งกล่าวว่า

ในสมัยหนึ่ง พุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนั้นบุรุษเข็ญใจพาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า "เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า" ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขาย ได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น

สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวาย เสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพี แล้วตั้งความปราถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนี้

ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า "สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา"

กาลกตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้ว ก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้

รายการกระจกหกด้าน ชุด "ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญข้าวสาก"

สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ ในแถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมยฺ ก็จะมีการจัด งานวันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

san donta6

[ อ่านเพิ่มเติม : วรรณกรรมอีสาน บุญข้าวสาก ]

อ่านเพิ่มเติม : ความแตกต่างระหว่างบุญข้าวสากกับบุญข้าวประดับดิน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)