foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

heet m 05

บุญเดือนห้า

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนห้าได้พวกไพร่ซาวเมือง จงพากันสรงน้ำขัดสีพุทธรูป ให้ทำทุกวัด แท้อย่าไลม้างห่างเสีย ให้พากันทำแท้ๆ ไผๆ บ่ได้ว่า ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้สู่คน จั่งสิสุขยิ่งล้น ทำถืกคำสอน ถือฮีตคองควรถือแต่ปฐมพุ้น "

หลายท่านคงจะนึกแปลกใจเหมือนกับผู้เขียนในการเรียกขานพระสงฆ์ในชื่อต่างๆ ดูมีความซับซ้อนเหลือเกิน บางท่านจะถูกเรียกว่า "มหา" "ญาคู" "ญาซา" และเมื่อสึกจากการบวชพระแล้ว ก็จะมีคำเรียกขานที่แตกต่างกัน เช่น "เชียง" "ทิด" "จารย์" มีการกำหนด กฏเกณฑ์เช่นไรหนอ วันนี้ได้รับคำตอบมาจาก อาจารย์ชุมพล แนวจำปา มานำเสนอกันแล้วครับ 

โฮงฮด

โฮงฮด หรื ฮางฮด คือ ท่อนไม้ที่เซาะให้เป็นราง สำหรับเอาน้ำรดให้ไหลลงไปตามราง จึงเรียก "รางรด" หรือ "ฮางฮด" (คนอีสานออกเสียงพยัญชนะ ร. เป็น ฮ. เช่น รัก เป็น ฮัก) ช่างนิยมทำด้านหัวของฮางฮดเป็นรูปพญานาค มีทั้งเศียรเดียวและหลายเศียร ส่วนด้านท้ายทำเป็นหางนาค เป็นส่วนที่ใช้เทน้ำให้ไหลลาดไปทางหัวนาค ซึ่งเจาะเป็นรูให้น้ำไหลออกไปถูกองค์พระพุทธรูปที่ต้องการ "ฮดสรง" คว่ามยาวของฮางฮดเท่าที่ปรากฏสูงสุดไม่เกิน 12 ศอก ใน "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ได้กล่าวถึงการสรงน้ำพระพุทธรูปในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เรียก "บุญฮดสรง" เป็นช่วงตรุษสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ได้เคลื่อนย้ายจากฤดูหนาวก้าวสู่ฤดูร้อน จึงเรียกอีกอย่างว่า "บุญเดือนห้า"

kong hod 4

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นมีทั้งเส้นโค้งและเส้นตรง รูปทรงเป็นรางยาวแนวนอนเป็นรูปทรงพญานาค ลวดลายเป็นลายประดับตัวพญานาค ผิวของไม้ที่แกะสลักเป็นลายนูน มีการระบายสี ประดับกระจก และลงรักปิดทอง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อเรื่องนาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และความเชื่อเกี่ยวกับนาคที่ปกป้องศาสนาพุทธ

bulletลูกผู้ชายไทยควรได้บวชในบวรพระพุทธศาสนา

ลูกผู้ชายไทยทุกคนมีธรรมเนียมว่า เมื่อถึงอายุ 20 ปี ควรบวชในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาและเป็นการสืบสานพระศาสนาให้คงอยู่ เมื่อเป็นพระบวชใหม่ ยังมีพรรษาน้อยจะเรียกกันว่าพระ "นวกะ" ถ้าบวช 5 พรรษาขึ้นไปจึงพ้น "นวกะ" ในชุมชนอีสานมีธรรมเนียมการทำ "กองฮด" สำหรับพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า 5 พรรษาขึ้นไป

watpa inter 01 

bullet"กองฮด, ฮดสรง" พระสงฆ์อีสาน

“ฮดสรง” คือ พิธีสรงน้ำหรือรินน้ำแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบประเพณีที่เก่าแก่ของผู้คนในแถบอีสาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้าง การจัดพิธีฮดสรงนั้น จะถูกจัดขึ้นเมื่อชาวบ้านและพระเถระในคณะสงฆ์เห็นว่า มีพระสงฆ์ที่เล่าเรียนจบในบั้นหรือขั้นต่างๆ แล้ว จึงสมควรที่จะจัดพิธีฮดสรงให้ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15, 2542, น. 5362)

kong hod 3
ฮูปแต้ม “พิธีฮดสรง” ในสิมวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
(ภาพจากหนังสือ “ฮูบแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง” โดย อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม)

"กองฮด" เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านจัดขึ้นเพื่อยกย่องพระรูปใดรูปหนึ่งที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยกย่องพระดีมีคุณธรรม มีความสามารถในชุมชนขึ้นเป็น สำเร็จ ซา คู ฯลฯ เป็นการทำพิธีเถราภิเษกมอบถวายสมณศักดิ์กันในระดับชาวบ้าน โดยชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายในชุมชน นับว่าเป็นกิจกรรมที่ใหญ่พอสมควร ชาวบ้าน คนเฒ่า คนแก่ในละแวกบ้านนั้น ก็จะได้รับแจ้งข่าวคราวการตั้งกองฮด ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องพร้อมใจกันเห็นดีเห็นงามโดยการประชุมกัน เป็นการยกย่อง ไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่ง เป็นความดีความชอบที่ชาวบ้านยกให้พระสงฆ์

 kong hod 1

"กองฮด" หมายถึง การรดน้ำ (ภาษาอีสานออกเสียง รด เป็น ฮด) เริ่มพิธีกรรมโดยการที่ชาวบ้านจัดหาไตรจีวร และเครื่องอัฐบริกขาร เปลี่ยนผ้าให้พระสงฆ์ คือทำเหมือนกับที่ปฏิบัติกับพระพุทธรูป (อย่างเช่น การมีพระราชประเพณีเปลี่ยนเครื่องทรงให้กับพระแก้วมรกต) กองฮดนิยมทำในเดือนเมษายน (คล้ายกฐินต้องทำตอนออกพรรษา) ผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านจะเข้าแถวกันรด (ฮด) น้ำให้ไหลไปตามรางน้ำที่ทำเป็นรูปพญานาค แล้วไหลไปรดตัวพระสงฆ์ เสร็จแล้วเอาจีวรเก่าออก แล้วเอาจีวรใหม่มาห่มแทน ถวายบริกขาร ขอรับศีลรับพรจากท่าน พระสงฆ์รูปนี้จะถือว่าเป็นพระที่ผ่านการฮดแล้ว การเรียกขานพระสงฆ์ผู้นี้ภายหลังการลาสิกขาบทออกไปแล้วจะเรียกว่า "จารย์" เป็นคำนำหน้าชื่อ

พระสงฆ์ที่ไม่ผ่านพิธีการฮด แต่บวชเกินพรรษา เมื่อลาสิกขาบทแล้วจะเรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "ทิด" ส่วนสามเณร เมื่อลาสิกขาบทแล้วจะเรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "เซียง" พระสงฆ์ที่สอบเปรียญได้ถึงแม่ว่าจะไม่ผ่านการฮด เมื่อลาสิกขาบทแล้วก็เรียกขานคำนำหน้าชื่อว่า "มหา" พระสงฆ์บวช 10 พรรษาขึ้นไป เรียก "ญาคู" เป็นพระสงฆ์อาวุโส พระสงฆ์อาวุโสบวช 10 พรรษาขึ้นไป และเป็นอุปัชฌาย์ คือบวชผู้อื่นได้ (ให้กำเนิดพระสงฆ์ได้) เรียก "ญาซา"

"จัว" เป็นคำเรียกเณร "เจ้าหัว" เป็นคำเรียกพระสงฆ์ ถ้าบวชนานๆ เป็น "ญาคู" ถ้าได้เป็นอุปัชฌาย์ เป็น "ญาซา" ดังนี้แล

การฮดสรง ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ สำหรับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์แถบอีสานในอดีต เพราะพระสงฆ์ที่จะมีลำดับชั้นสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นได้นั้น ต้องผ่านการ “ฮดสรง” หรือ “พิธีเถราภิเษก” โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ในชุมชนของตนก่อน สำหรับสมณศักดิ์พระสงฆ์แถบอีสานในอดีตมีลำดับชั้นดังนี้

  • สำเร็จ คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรง ครั้งที่ 1
  • ซา คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 2 (เชื่อกันว่า ซา หมายถึง ปรีชา หรือสามารถ)
  • คู (ครู) คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรง ครั้งที่ 3
  • คูหลักคำ คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 4
  • คูลูกแก้ว คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 5
  • คูยอดแก้ว คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 6

kong hod 6

โฮงฮดรูปพญานาค จากพิพิธภัณฑ์บ้านท่าไห อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนสมณศักดิ์ชั้นสูงสุด คือ “ราชครูหลวง” นั้นเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ของอาณาจักรล้านช้างเป็นผู้สถาปนาด้วยพระองค์เอง แก่พระภิกษุที่มีวัตรปฏิบัติเหมาะสม และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแล้วต้องเป็นภิกษุที่มีบทบาทสูง ในการช่วยกษัตริย์ล้านช้างควบคุมดูแลให้บ้านเมืองมีความสงบสุขเรียบร้อยในทางสังคมร่วมไปด้วย เช่น ราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอม ในคำที่ชาวบ้านในอดีตคุ้นเคย ทั้งนี้ ภิกษุและสามเณรที่ผ่านการฮดสรงแล้ว จะมีการเรียกสมณศักดิ์ดังกล่าวตามไปด้วย

ในอดีตแถบอีสานเรียกภิกษุว่า “เจ้าหัว” สามเณรเรียกว่า “จัว” เช่น ภิกษุชื่อมา หลังฮดสรงครั้งที่ 1 เรียก เจ้าหัวสำเร็จมา หากฮดสรงจนถึงครั้งที่ 6 จะเรียก เจ้าหัวคูยอดแก้วมา ส่วนสามเณรก็เช่นกัน เช่น สามเณรมี หลังฮดสรงครั้งที่ 1 เรียก สำเร็จจัวมี หากผ่านการฮดสรงครั้งที่ 6 เรียก คูยอดแก้วจัวมี (สังเกตว่า การเรียกจัว หลังฮดสรงจะนำหน้าชื่อด้วย ลำดับสมณศักดิ์)

3diamondเครื่องกองฮด (หด,รด)

ซึ่งอุปกรณ์ประกอบพิธีฮดสรงที่สำคัญคือ “ฮางฮด” หรือ “รางริน” ลักษณะของฮางฮด โดยทั่วไปจะใช้ไม้เนื้อแข็งในการแกะสลักเป็นรูปพญานาคในทางยาวประมาณ 3 เมตร หรือ 3.50 เมตร ส่วนเส้นรอบวงอยู่ระหว่าง 20 - 25 เซนติเมตร ทั้งนี้ขนาดของฮางฮดบางวัดอาจมีขนาดที่เล็กหรือใหญ่กว่าขนาดดังกล่าวข้างต้น ไม่ถือเป็นมาตรฐานแน่นอน และการแกะสลักฮางฮดเป็นรูปพญานาคสะท้อนนัยยะการให้ความสำคัญแก่สัตว์ประเภทนี้ ทั้งในฐานะผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล และความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นเอง ที่เชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่จริง นอกจากตัวฮางฮดแล้ว ยังมีองค์ประกอบของฮางฮดที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขาตั้งหรือขาค้ำยันสำหรับฮางฮด ซึ่งจะมีทั้งแบบ 2 ขาและ 4 ขา รวมทั้งจะมีการแกะสลักเป็นรูปสัตว์ที่สวยงามด้วยเช่นกัน อาทิ เต่า กระต่าย สุนัข ฯลฯ (ติ๊ก แสนบุญ, 2548, น. 43.)

kong hod 5

นอกจากการฮดสรงจะมีฮางฮดเป็นอุปกรณ์ประกอบพิธีที่สำคัญแล้ว ยังมีบริขารเครื่องยศประกอบสมณศักดิ์ สำหรับมอบถวายแก่พระสงฆ์ ที่ได้รับการฮดสรงด้วย โดยทั่วไปจะประกอบด้วย 1. อัฐบริขาร (จีวร ผ้าสังฆาฏิ สบง สายประคด มีดโกน กล่องเข็ม ธรรมกรก มีดตัดเล็บ) 2. ผ้าห่ม 3. รองเท้า 4. ไม้เท้า 5. หมวก 6. เตียงนอน 7. ตาลปัตรรูปใบโพธิ์ (ใช้เส้นไหมปัก) 8. หลาบเงินหรือหลาบทอง (คือแผ่นเงินหรือแผ่นทองที่จารึกพุทธพจน์หรือพุทธภาษิต)

เมื่อเห็นเป็นการสมควรว่า พระภิกษุ สามเณรลูกหลานรูปใด ได้สำเร็จการศึกษาควรแก่การยกย่องให้เตรียมกองฮด (หด) จะมี ไตร จีวร (สามเณรไม่ต้องใส่สังฆาฏิ์) มีดโกน กล่องเข็ม มีดตัดเล็บ ธรรมกรก ประคตเอว ผ้าห่ม รองเท้า ไม้เท้า ตาลบัตร มีดชะนาก เงี่ยง (กระโถน) ขันหมาก หลาบเงิน เครื่องยศ เทียนกิ่ง (ทำเทียนเหมือนหอกสามง่ามสำหรับใต้ติดโฮงหด) เทียนเล็ก ได้แก่เทียนน้อยใต้ถวายพระตอนพระมาหด บายศรี 1 คู่ เทียนอาจ (เทียนเล่มบาท 2 คู่) น้ำหอม 3 ตุ่ม

การฮด (หด, รด) ให้ทำน้ำอบน้ำหอมใส่ตุ่มไว้ให้มาก เอาโฮงหดมาตั้ง เอาต้นกล้วยเป็นเสา เอาใบตองกล้วยและหญ้าแพรกมารอง ถ้าสูงจนหย่อนขาได้เรียกว่า บัลลังก์ศิลาอาสน์ ถ้าต่ำกว่านั้นเรียกว่า หินศิลาอาสน์ ตั้งไว้ใต้ป่องน้ำโฮงหด เวลาเทน้ำใส่โฮงหดน้ำจะไหลลงมารดผู้รับการรดน้ำพอดี

kong hod 2

การหดน้ำจะทำต่างหากก็ได้ หรือจะทำร่วมกับบุญอื่นๆ ก็ได้ พระเถระผู้ใหญ่จะนำในการประกอบพิธี ให้พระรดน้ำก่อนจากนั้นคนแก่คนเฒ่าจะรดตามเรียงลำดับไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป การหด (รด) นี้เป็นพิธีกรรมที่สำคัญมาก เพราะเป็นการสถาปนาให้ผู้ได้รับการรดน้ำนี้เปลี่ยนชื่อ เป็นผู้มียศทางสังคมได้ สมควรจะสืบต่อประเพณีอันดีงามนี้สืบไป

กองฮด วัดบ้านนาแก้ว อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อรดน้ำเสร็จแล้วก็จะมีการถวายไตรจีวร พระที่รับไตรจีวรก็จะพินทุผ้า ปัจจุทธรณ์ผ้า (ถอนผ้าเก่าถ่ายใส่ผ้าใหม่) อธิษฐานผ้าและครองผ้า เปลี่ยนที่เปียกออก เสร็จแล้วชาวบ้านจะเอาฆ้องมาให้ตี พ่อใหญ่ทายกวัดจะหิ้วเชือกฆ้องไว้ (หากฆ้องใหญ่ ให้จับที่เชือกแขวนแทน) พระที่รับการหดน้ำจะเอากำปั้นตีจูมฆ้อง 3 ครั้ง แต่ละครั้งที่ตีให้บริกรรมว่า "สีหะทานัง นะทันเตเต ปะริสาสุ วิสาระทา" ต่อจากนั้นก็ไปให้ศีล และรับถวายกองหดทั้งหมดจากญาติโยม ให้พร เป็นอันจบพิธี

ประเพณีสงกรานต์ 

ในช่วงเดือนนี้ ยังมีเทศกาลสำคัญของประชาชนทั่วไปคือ วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ ก่อนที่จะมีการประกาศวันขึ้นปีใหม่แบบสากล ในขณะที่ชาวต่างชาติต่างรู้จักวันสงกรานต์ในฐานะของการละเล่นสาดน้ำคลายร้อนที่โด่งดังไปทั่วโลก

boon songkran 2

คำว่า สงกรานต์ นั้น แปลว่า ก้าวขึ้น เปลี่ยนผ่าน หรือย่างขึ้น ซึ่งตรงกับทางโหราศาสตร์ที่ว่า วันสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 , 14, 15 เมษายนของทุกปี ในบางจังหวัดก็จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 3 วัน เช่น ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์ (วันไหล) พัทยา สงกรานต์ถนนข้าวเหนียวจังหวัดขอนแก่น และนอกจากไทยแล้ว ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกัน

ในระหว่าง 3 วันนี้ จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน เข้าวัดทำบุญ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว

ในวันที่ 13  เมษายน จะเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ เป็นวันสิ้นปีเก่าเตรียมเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ผู้คนก็จะปัดกวาด ทำความสะอาดบ้าน เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน เป็นการต้อนรับปีใหม่ บางบ้านก็จะยิงปืน จุดประทัด หรือทำอะไรก็ได้ให้เกิดเสียงดัง เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป

วันที่ 14 เมษายน วันเนาหรือวันเน่า ตามวัดวาอารามต่างๆ จะมีการเตรียมงานทำบุญสงกรานต์ ตอนบ่ายๆ จะมีการขนทรายเข้าวัดเตรียมก่อเจดีย์ทราย ในวันนี้คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามพูดจาไม่ดีต่อกัน ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะทำให้โชคไม่ดีไปตลอดปี

วันที่  15 เมษายน วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน  เป็นวันที่ผู้คนพากันเข้าวัด ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน มีการก่อเจดีย์ทราย การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่หนุ่มสาวจะได้พบปะกันพูดคุยกัน เกี้ยวพาราสีกันได้ด้วยการละเล่นสาดน้ำ

boon songkran 1

ที่มาของประเพณีสงกรานต์นั้นอิงมาจาก ตำนานนางสงกรานต์ เมื่อธรรมาบาลกุมารผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่อง สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้ ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องตัดศีรษะตนเองตามที่ตกลงไว้กับธรรมบาลกุมารว่า จะยอมตัดศีรษะให้หากตอบคำถามได้ แต่ศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้นหากตัดแล้วนำไปตั้งไว้บนผืนดิน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นท้องฟ้า ฝนจะแล้ง ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้งเจ็ดคนผลัดเปลี่ยนกัน จัดขบวนแห่ศีรษะของตนเองรอบเขาพระสุเมรุ ทุกๆ 365 วัน การนำศีรษะของท้าวกบิลพรหมออกแห่จึงถูกนับว่าเป็นการขึ้นปีใหม่นั่นเอง

new1234อ่านเพิ่มเติม : ประเพณีสงกรานต์ที่ควรรู้จัก  

อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

 

ประเพณีวันสงกรานต์

redline

backled1

heet m 04

บุญเดือนสี่

ฮีตหนึ่ง พอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา มาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้ อย่าได้ไลหนีเว้น แนวคองตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญ ให้ฝูงซาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว "

pawes 02ลายคนคงจะสงสัยกันอยู่กับคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึง พระเวสสันดร งานบุญผะเหวด เป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือช่วงเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี (อาจจะขยับไปนิดหน่อยเพื่อไม่ให้ตรงกับหมู่บ้านใกล้เคียง)

ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

การจัดงานบุญผะเหวดนั้น สำคัญอยู่ที่การจัดให้มีเทศน์เรื่อง "พระเวสสันดรชาดก" หรือ เทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่า "ถ้าหากฟังเทศน์มหาชาติครบทั้งหมดในวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้อย่างถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรยในภายภาคหน้า แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา" จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันทุกคน อีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมี อันเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติและตรัสรู้เป็น "พระพุทธเจ้า" ในภายหลัง

pawes 03นอกจากการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ประเพณีนี้ยังได้แฝงความเชื่อหลายประการไว้ด้วย คือ ความเชื่อในเรื่อง พระอุปคุต อันเป็นพระผู้รักษาพิธีต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตังแต่ต้นจนจบ โดยมีความเชื่อกันว่าในการทำบุญแต่ละครั้งจะมี "มาร" เข้ามาขัดขวางทำลายพิธี ชาวพุทธจึงต้องนิมนต์ "พระอุปคุต" มาร่วมพิธีด้วย เพื่อช่วยขจัดอันตรายต่างๆ และเกิดความสวัสดิมงคลอีกด้วย

การนิมนต์พระอุปคุตจะเริ่มทำก่อนวันเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน เรียกว่า "มื้อโฮม (วันสุกดิบ)" ในตอนบ่ายจะทำพิธีแห่พระเวสส์ (พระเวสสันดร) เข้าเมือง

หลังจากนั้นจะนิมนต์พระอุปคุตมาสถิต ณ บริเวณพิธี โดยมีขบวนแห่ดอกไม้ ธูป เทียน ขันห้า หรือขันแปด ไปยังสระน้ำที่อยู่ใกล้ๆ แล้วผู้อาวุโสจะหยิบก้อนหินจากสระน้ำขึ้นมาถาม 3 ครั้ง ก่อนจะนำหินนั้นมาสถิตๆ ไว้ยัง "หอพระอุปคุต" (สมมุติว่าหินนั้นเป็นพระอุปคุต) โดยกำหนดหอพระอุปคุตเป็นศาลเพียงตา หรือทำหิ้งบูชาอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งจะมีเครื่องบูชาต่างๆ ได้แก่ บาตรพระ, ขันห้า หรือขันแปด, ผ้าไตรจีวร, พานหมากและพานยาสูบ, ร่มกางกันแดด, น้ำดื่มและกระโถน วางไว้ (วัดใดมีสระก็จะสร้างศาลเพียงตาเล็กๆ ไว้ในสระ หากไม่มีหรือมีแต่อยู่ไกลบริเวณพิธี ก็จะกำหนดเขตที่ตั้งศาลเป็นบริเวณสระน้ำ)

pawes 01บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ..." ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์

ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์สุดท้าย

pawes 04การจัดงานประเพณีบุญผะเหวดที่ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ต้องที่เมืองเกินร้อย หรือเมืองร้อยเกิน จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรก ของเดือนมีนาคม ของทุกปี ในชื่องาน "กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"

ชาวร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่า ได้จัดร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) พร้อมทั้งน้ำยาหลากหลายชนิด ให้ผู้มาร่วมงานได้กินฟรีตลอดงาน พร้อมจัดกิจกรรมการแข่งขันกินข้าวปุ้นเร็ว ชิงรางวัลเงินสด และถ้วยรางวัล การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การประกวดดนตรีพื้นบ้าน การเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ส่วนภาคกลางคืน จะเป็นการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระเวสสันดรชาดก โขนจากกรมศิลปากรเรื่อง รามเกียรติ์ และหนังตะลุง ให้ชมฟรีตลอดทั้งคืนอีกด้วย

บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป

ลำกลอน บุญพระเวส โดย ทองแปน พันบุปผา

หมายเหตุ : บทความนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ เพราะมีคนรุ่นลูกหลานสอบถามมากันมาก ทั้งเรื่องการฟังเทศน์มหาชาติ การแห่อุปคุต การแห่ข้าวพันก้อน มีความเกี่ยวพันกันเช่นไรใน "บุญผะเหวด บุญพระเวส" หรือ "บุญมหาชาติ" นี้ ก็เลยไปค้นคว้าสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ได้ความมาดังนี้ครับ

ความเป็นมาและมูลเหตุแห่งการทำบุญมหาชาติ

การทำบุญใหญ่ตามฮีต 12 ในฮีตเดือน 4 คือ การทำบุญมหาชาติ หรือที่ชาวอีสานทั่วไปเรียก "บุญผะเหวด" ซึ่งมาจากคำว่า "พระเวส" หรือ "พระเวสสันดร" นั่นเอง มีการกล่าวถึงไว้ในหนังสือ "มาลัยหมื่นมาลัยแสน" ว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยได้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับ "พระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์" ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ท่านทรงทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้ว จึงสั่งความกับพระมาลัยว่า "หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อ ตีแม่ สมณชี พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์" ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงได้พากันทำบุญผะเหวด และไปฟังเทศน์มหาชาติให้ได้ครบ 13 กัณฑ์กันทุกปี

การจัดงานบุญผะเหวดนั้นสำคัญอยู่ที่การเทศน์เรื่อง "พระเวสสันดรชาดก" หรือ "เทศน์มหาชาติ" มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยมาทำพิธีร่วมกัน อีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ ก่อนจะเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง

ขั้นตอนพิธีการจัดงาน

เมื่อกำหนดวันจัดงานได้แล้ว (ซึ่งรวมถึงการนิมนต์พระผู้มีลีลาการเทศน์ที่ชาวบ้านชื่นชอบจากที่ต่างๆ มาเทศน์ได้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ ให้มาร่วมงานพร้อมแล้ว) ชาวบ้านจะช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) เก็บดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน 3 พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้มาร้อยเป็นมาลัย เพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกัน 3 วัน ดังนี้

วันแรกของงาน ตอนบ่ายๆ หรือเย็น จะมีการแห่พระอุปคุตรอบบ้านให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา โดยการทำพิธีให้ผู้ที่เคารพนับถือกล่าวนำอัญเชิญพระอุปคุต ขึ้นจากแม่น้ำใหญ่ (แทนมหาสมุทร บางหมู่บ้านไม่มีแม่น้ำก็จะใช้หนอง สระน้ำในหมู่บ้านแทน) ให้ชาย 3-5 คนนุ่งขาว ลงงมเอาก้อนหินในน้ำขึ้นมาถามว่า "ใช่พระอุปคุตหรือไม่" ในครั้งที่สามให้ผู้งมคนหนึ่งคนใดบอกว่า "ใช่" จากนั้นจึงนำขึ้นมาบนฝั่งจัดขบวนแห่รอบหมู่บ้าน แล้วนำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงานเพราะเชื่อว่าเป็นพระเถระผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำ หรือมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลที่จะเกิดขึ้นในพิธีได้

pa pawes 02

วันที่สองของงาน เป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดจะจัดขบวนแห่แต่ละกัณฑ์ทั้ง 13 กัณฑ์ แห่รอบหมู่บ้าน หรือรอบเมือง โดยมีผ้าขาวเขียน "ฮูปแต้มเรื่องพระเวสสันดร" ผืนยาว แสดงเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละกัณฑ์ เมื่อถึงวัดจะนำผ้าฮูปแต้มนี่มาขึงโดยรอบศาลาโรงธรรม หรือบริเวณพิธีให้ลูกหลานได้เรียนรู้เรื่อง "พระเวสสันดร" เพื่อความซาบซึ้งในเทศน์กัณฑ์ต่างๆ ตอนเย็นมีมหรสพสมโภชเป็นที่ครึกครื้น (ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีการจัดงานประเพณีบุญผะเหวดทุกปีเป็นงานใหญ่ ในวันที่ 2 และที่ 3 ชาวร้อยเอ็ดจะจัดให้มีโรงทานเลี้ยง "ข้าวปุ้นบุญผะเหวด" แก่ผู้คนที่มาร่วมในงานกินได้ตลอดเวลาฟรีๆ มีชาวบ้าน ร้านค้า และ หน่วยงานราชการมาตั้งโรงทานกันมากมาย)

วันที่สามของงาน เริ่มตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตี 4 ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเสียบไม้จำนวน 1,000 ก้อน เพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า "ข้าวพันก้อน" ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาโรงธรรม มีหัวหน้ากล่าวคำบูชา ดังนี้

นะโม นะไม จอมไตรปิฎก ยกออกมาเทศนาธรรม ขันหมากเบ็งงานสะพาส ข้าวพันก้อนอาดบูชา ซาเฮาซา สามดวงยอดแก้ว ข้าไหว้แล้วถวายอาดบูชา สาธุ "

ว่าดังนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 3 จบ แล้วนำขึ้นไปศาลาโรงธรรม แล้วญาติโยมพากันทำวัตรเช้า อาราธนาศีลอาราธนาเทศน์ โดยอาราธนาเทศน์พระเวสโดยเฉพาะ การอาราธนาเทศน์พระเวสนั้น ถ้าไม่ต้องว่ายาวจะตัดบทสั้นๆ ก็ได้ ให้ขึ้นตรง "อาทิกัลยาณังฯ เปฯ อาราธนัง กโรม" เท่านี้ก็ได้

ความเป็นมาของการแห่ข้าวพันก้อน

การเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์นั้นจะประกอบด้วย พระคาถา 1,000 คาถา เช่น กัณฑ์ที่ 9 มัทรี มี 90 คาถา เราก็ปั้นข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ แทนพระคาถาคือ 90 ก้อน ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่จะนำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือหรือขนาดเท่านิ้วก้อย เท่ากับจำนวนกัณฑ์ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย เมื่อรวมทั้งหมดทุกกัณฑ์แล้วจะได้จำนวน 1,000 ก้อนซึ่งเท่ากับ 1,000 พระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก

นำข้าวก้อนใส่ถาดจากบ้านเรือนของตนมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน แล้วเริ่มจัดขบวนแห่จากหมู่บ้านเข้ามายังศาลาโรงธรรม (หอแจก) จัดขบวนแห่ข้าวรอบบริเวณธรรมาสน์ที่พระเทศน์ โดยขบวนแห่ประกอบด้วย กลองยาว แคน ฉิ่ง ฉาบ ฯลฯ นำขบวนผู้มีศรัทธานำขบวน ผู้มีศรัทธาบางคนจะพากันฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงกลองอย่างสนุกสนาน เวียนรอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนเหล่านั้นไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ ที่หลักธงชัยทั้ง 8 ทิศ แล้วใส่ไว้ในตระกร้าที่วางอยู่บนศาลาตามจุดที่ที่มีทุงโซและเสดกะสัด เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จ ก็จะมีการเทศน์สังกาศ คือการเทศน์บอกปีศักราช เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน เมื่อจบสังกาศก็จะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านของตน นำข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรจังหัน

วัตถุประสงค์ของการแห่ข้าวพันก้อน

  • เพื่อเป็นการบูชาธรรม ถือว่าเป็นการบูชาอันสำคัญยิ่ง
  • เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธศาสนา
  • เกิดความเป็นมงคลสำหรับผู้มาร่วมงานที่จะบันดาลให้พบความสุข ความสำเร็จ และประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรือง
  • เพื่อเป็นการพบปะกันของชาวบ้านในงานบุญของหมู่บ้าน
  • เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีของคนระหว่างหมู่บ้านและละแวกเดียวกัน

อุปกรณ์ในการทำพิธีแห่ข้าวพันก้อน

  • ธูป เทียน ดอกไม้อย่างละพันเพื่อไว้บูชาคาถา “พันคาถาในการเทศน์”
  • พระอุปคุต (บาตร ไตร ร่ม)
  • ข้าวเหนียว (ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ)
  • เครื่องบูชาธรรม
  • ปะรำพิธี (ประดุจดังป่าหิมพานต์)

หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้ว จึงเริ่มเทศน์ผะเหวด เริ่มเทศน์กัณฑ์ทศพร ไปจนจบที่นครกัณฑ์ อันเป็นกัณฑ์ที่ 13 เทศน์แต่เช้ามืดไปจนค่ำ จบแล้วจัดขันขอขมาโทษ พระสงฆ์ให้พรเป็นอันเสร็จพิธี ในวันที่ 3 นี้เอง ชาวบ้านชาวเมืองจะแห่ กัณฑ์หลอน มาร่วมถวายกัณฑ์เทศน์ตลอดทั้งวัน กัณฑ์เทศน์จะมี 2 ลักษณะ คือ

  • กัณฑ์หลอน เป็นการแห่กัณฑ์เทศน์มา ถึงบริเวณที่พระกำลังเทศน์ก็ถวายกัณฑ์เทศน์โดยไม่เจาะจงว่า จะเป็นพระสงฆ์รูปใด
  • กัณฑ์จอบ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่กลุ่มผู้ถวายปรารถนาจะถวายเฉพาะภิกษุที่ตนชอบ เคารพศรัทธา จึงมีการส่งคนไปสอดแนมว่าขึ้นเทศน์หรือยัง ภาษาอีสานเรียกว่า "จอบ" หรือ "แอบดู" จึงเรียกกัณฑ์เทศน์ประเภทนี้ว่า "กัณฑ์จอบ"

pa pawes 06

พระอุปคุต

พระอุปคุต พระอุปคุปต์ หรือ พระบัวเข็ม เป็นพระภิกษุองค์สำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายสรวาสติวาทชื่อ "อุปคุต" แปลว่า ผู้คุ้มครองรักษา

จากการค้นหาข้อมูลของพระอุปคุตนั้น ทราบเพียงว่า ท่านเกิดหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ประมาณ พ.ศ. 218 ปี แต่ไม่ทราบ ภูมิเดิมของท่านละเอียด ว่า เป็นบุตรของใคร เกิดในวรรณะอะไร และที่ไหน

จากการสันนิษฐานตามตำนาน พระเถระอุปคุต น่าจะเป็นชาวเมืองปาตลีบุตร เมื่อบวชแล้วบำเพ็ญเพียร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ สำเร็จอภิญญาต่างๆ จนสามารถแสดงอภินิหาร เป็นที่เล่าลือมาจนทุกวันนี้ มีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย นัยว่าท่านเนรมิตเรือนแก้ว (กุฏิแก้ว) ขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) แล้วก็ลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วตลอดเวลา เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในพระศาสนา หรือเมื่อมีพิธีกรรมใหญ่ๆ หรือมีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือ ด้วยความเต็มใจเสมอ

พระอุปคุต เป็นพระที่เป็นที่นิยมนับถือของชาวอินเดีย มอญ ชาวไทยวน และอีสาน สมัยก่อนพระมอญได้นำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในตอนที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงกล่าวถึงความเป็นมาในพระราชนิพนธ์ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ด้วย

เชื่อกันมาว่า พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี (พญามาร) มีเรื่องเล่ามาว่า ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า "พระบัวเข็ม"

pra oopacoob

ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยวนว่า พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุต ยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวนจะเรียกว่าเป็น "วันเป็งปุ๊ด" (วันเพ็ญ หรือวันเพ็ง ที่ตรงกับวันพุธ) พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น

ดังนั้น การตักบาตรพระอุปคุตจะตักบาตรให้สามเณรเป็นหลัก โดยตั้งแต่เที่ยงคืนจะมีการสวดบูชาพระอุปคุตพอได้เวลา สามเณรจะบิณฑบาตไปรอบหมู่บ้านโดยของใส่บาตรจะเป็นขนม เนื่องจากเวลาที่ใส่บาตรเป็นเวลานึ่งข้าวของชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถใส่อาหารได้ตามปกติ จึงมีการทำขนมรอไว้ใส่บาตร ดังนั้นของใส่บาตรจึงเป็นพวกขนมหรือผลไม้ ซึ่งก็คือทำไว้เพื่อใส่บาตรสามเณรที่เป็นเด็กได้กินกันนั่นเอง และการบิณฑบาตรจะเสร็จก่อนฟ้าแจ้งเหมือนกัน แต่เนื่องจากสังคมที่เปลี่ยนไปในวันพุธคนต้องไปทำงาน เลยขยับเวลาไปตอนเที่ยงคืนแทน เพื่อคนจะได้ไปทำงานไหวไม่ง่วงนั่นเอง

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ผ้าผะเหวด ]

redline

backled1

heet m 03

บุญเดือนสาม

ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ กุศลยัง สินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ หากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นาน ให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อ เอย คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า บ้านเมืองเฮาสิเศร้า ภัยฮ้ายสิแล่นตาม "

บุญข้าวจี่ เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสาน ที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง ดังรู้จักกันทั่วไปว่า "เดือนสามคล้อยจัวหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)"

บุญข้าวจี่นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น 14 ค่ำ) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม 13 ค่ำ และ 14 ค่ำ เดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนหลายหมู่บ้าน นั่นคือ ชาวอีสานบางหมู่บ้านเรียกงานบุญนี้ว่า "บุญคุ้ม" จะทำกันเป็นคุ้มๆ หรือ บางหมู่บ้านก็จะทำกันที่วัดประจำหมู่บ้าน ล้วนแล้วแต่เป็น บุญข้าวจี่ หรือ บุญเดือนสาม นั่นเอง ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพก็จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมกันทำบุญ

boon kao jee 01

ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออก แล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทน กลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ นำไปปิ้งไฟ ข้างนอกทาด้วยไข่และน้ำมันหมู ข้างในมีน้ำอ้อยก้อนถือเป็นข้าวจี่ที่ดีที่สุด พอเกรียม  จะได้ข้าวจี่จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า

boon kao jee 03

ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียก หัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า

เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา ”

เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่า เป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือ มีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง

เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆ์เจ้าเอาแท้หมู่บุญ ”

ประวัติความเป็นมาประเพณีบุญข้าวจี่

มูลเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม เนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาได้มีการทำนาเสร็จสิ้น  ชาวนาได้ข้าวขึ้นยุ้งใหม่จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายแก่พระสงฆ์  สำหรับมูลเหตุดั้งเดิมที่มีการทำบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่ากันตามความเชื่อว่า  ในสมัยพุทธกาล นางปุณณะทาสี  ได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ  ครั้นถวายแล้วนางคิดว่า "พระองค์คงไม่เสวย และอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน"

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณะทาสี  จึงรับสั่งให้พระอานน์ปูลาดอาสนะ แล้วทรงประทับนั่งฉันท์  ณ  ที่นางถวายนั้น เป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็บรรลุโสดาบันปัตติผล ด้วยอานิงสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่ 

จากเรื่องราวนี้ชาวอีสานได้นำมาเป็นคติความเชื่อว่า "การถวายข้าวจี่นั้นจะได้อนิสงส์มาก" ดังนั้นชาวอีสาน รวมถึงชาวลาวที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงพากันยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า “บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม” จัดอยู่ในช่วงเดือนปลายเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์

boon kao jee 02

ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา (บทกลอน) เกี่ยวกับการทำบุญช่วงเดือนสาม และเดือนสี่ ในประเพณีฮีตสิบสองไว้ว่า “เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี” แปลว่า เมื่อถึงเดือนสามพระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) สามเณรจะเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญมหาชาติ

ในปัจจุบัน "ข้าวจี่" ถือเป็นอาหารว่างที่ราคาไม่แพง มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ทั้งในภาคอีสานและในกรุงเทพฯ  ขายคู่กับหมูปิ้งหรืออาหารว่างอย่างอื่น สำหรับเป็นอาหารในชั่วโมงเร่งด่วน รับประทานได้ง่าย รสชาติอร่อย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าข้าวจี่นอกจากเป็นอาหารที่ชาวอีสานทำขึ้นเพื่อการทำบุญ และนิยมทำรับประทานแล้ว ยังเป็นอาหารที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถรับประทานได้อีกด้วย

เดือนสามบุญข้าวจี่

บุญข้าวจี่ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรม ญาติโยมจะมาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่เส็จแล้วเอาข้าวจี่ไปใส่บาตร พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระฉันเสร็จแล้วอนุมโทนาเป็นการเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ในปัจจุบันชาวบ้านนอกจากจะทำบุญข้าวจี่แล้วยังทำบุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง วันมาฆบูลานี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนสามเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพระทูทธศาสนา 4 ประการคือ

  1. เป็นวันเพ็ญเดือนสาม ดวงจันทร์เสยวมาฆฤกษ์
    2. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันที่เวฬุวันมหาวิหารโดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า
    3. พระสงฆ์ที่มาประชุมครั้งนี้นล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา (ภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้)
    4. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์

คำถวายข้าวจี่

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสัมฺพุทฺธสฺส ( 3 หน)
สทา ชาครมานานํ อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ อฎฐํ คจฉนฺติ อาสวาติ ฯ "

นอกจากนี้แล้ว ได้มีการเพิ่มการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเข้ามาในเดือนนี้ นั้นก็คือบุญมาฆะบูชา เพราะว่า วันมาฆะบูชา นั้นเป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงวางรากฐานของพุทธศาสนา โดยพระองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางพระอรหันต์สาวกจำนวน 1,250 รูป ณ วฬุวันมหาวิหาร ในเวลาตะวันบ่ายคล้อย ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนสามหรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า ”มาฆมาส” สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์หรือหลักการของพุทธศาสนาที่สำคัญที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้นมี 3 ข้อ ดังนี้

  1. การไม่ทำบาปทั้งปวง
  2. การทำความดีให้ถึงพร้อม
  3. การทำจิตใจให้บริสุทธิผ่องแผ้ว

boon kao jee 04

การทำบุญในวันมาฆะบูชานี้ เพื่อเป็นการบูชาให้ถูกต้องตามหลักการของคำว่า “มาฆะบูชา” ที่แปลว่า การบูชาพระรัตนตรัย ในวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือนสามนอกเหนือจากการบูชาตามปกติของวันสำคัญทางพุทธศาสนาด้วยการสมทานศีล ฟังธรรมถวายทาน และเวียนเทียนแล้ว ควรจะมีการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ดังที่ได้กล่าวแล้วด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นยอดแห่งการบูชาทั้งปวง..

รายการทีวีชุมชน ThaPBS : บุญข้าวจี่

 

redline

backled1

heet m 02

บุญเดือนยี่

ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้ มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใด ดอกแท้เข็นฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย "

บุญคูณลาน เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือนมกราคม (สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี) จุดมุ่งหมายของการทำบุญประเพณี "บุญคูณลาน" ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน และเพื่อเป็นการขออานิสงส์ต่างๆ การสู่ขวัญข้าวจะกระทำที่ลานนา หรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก หลังการสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นเล้า (ยุ้ง/ฉาง) ก่อนการขนข้าวขึ้นเล้า เจ้าของข้าวจะต้องไปเก็บเอาใบคูนและใบยอเสียบไว้ที่เสาเล้าทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับว่า ขอให้ค้ำคูณ ยอๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวพร้อมทั้งแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

 boon koon lan 01

ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสานบ้านเฮาหรือ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" เมื่อถึงเวลาเดือนยี่ หรือเดือนสอง จะมีพิธีหรือมีบุญประเพณี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวนา คือ "บุญคูณลาน" ความหมายของคำว่า "คูณ" หมายความว่า เพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเอง ส่วนคำว่า "ลาน" คือสถานที่ลานกว้างสำหรับนวดข้าว (ดั้งเดิมจะเลือกทำเลเนินดินสูงใกล้เถียงนา ถากดินให้เรียบ แล้วนำมูลขี้ควายมาเทผสมน้ำ กวาดให้เรียบสำหรับกองฟ่อนข้าว และมีบริเวณสำหรับการนวดข้าวด้านหน้า) การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" การทำประเพณีบุญคูณลาน กำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนยี่"ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล
เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ "

หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้เข้าป่าจัดหาไม้มาไว้ทำฟืน สำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของพวกเฮา

boon koon lan

การทำบุญคูณลานนี้ หลายๆ หมู้บ้านอาจจะทำในเวลาที่ไม่ตรงกัน เพราะว่าการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะใช้เวลามากน้อยต่างกัน ตามพื้นที่การทำนาและแรงงานที่มี แต่จะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมากๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉาง ก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป

boon koon lan 02

ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่ง ปฏิบัติการบางอย่างที่เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในช่วงเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้ว ก็จะพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้ สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาวๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้าน (ลงข่วง) (คำว่า "หลัว" หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน และอาจหมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)

ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอม ไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นก็จะนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงดูญาติพี่น้องลูกหลาน และผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาร่วมในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนา เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

boon koon lan 03

ในปัจจุบันนี้ "บุญคูณลาน" ค่อยๆ จางเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติปฏิบัติกัน กอร์ปกับในทุกวันนี้ ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จและมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนาโดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว กันเป็นส่วนมาก (เกี่ยวเสร็จข้าวยังไม่แห้งดี ก็เข้าเครื่องนวดออกมาเป็นเมล็ดไหลลงในกระสอบไปสู่โรงสึ ที่พูดกันเป็นสำนวนว่า สีข้าวเขียว หรือขายข้าวเขียว) จึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป (ขืนรอช้ากองข้าวไว้ล่อตาโจร ข้าวหายไปกับสายลมอีก)

แต่ก็ยังมีบางหมู่บ้านในบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญ โดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกันในสถานที่ส่วนรวม (ลานกลางหมู่บ้าน หรือลานวัด) เป็นกองใหญ่เรียก “กุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่า "บุญกุ้มข้าวใหญ่" แทน "บุญคูณลาน" ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ให้เหมาะกับกาลสมัยได้เหมือนกัน ข้าวนี้เมื่อทำบุญเสร็จบ้างก็นำไปเก็บในธนาคารของหมู่บ้าน เพื่อเป็นใช้กองกลางช่วยเหลือเกื้อกูลกันยามขาดแคลน หรือบ้างก็นำไปขายเอาเงินมาสร้างสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านหรือบำรุงวัดวาอาราม

boon koon lan 04

อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมสำหรับพิธีกรรม มีดังนี้

  1. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ 7 ใบ, ยาสูบ 4 มวน, หมาก 4 คำ
  2. ไข่ 1 ฟอง, ข้าวต้ม 1 มัด, มัน 1 หัว, น้ำ 1 ขัน, เผือก 1 หัว
  3. ขัน 5 ดอกไม้ ธูปเทียน
  4. เขาควายหรือเขาวัว 1 คู่

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุอุปกรณ์ (ข้อ 1-3) ลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า “ขวัญข้าว” เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลาน และบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว 1 คู่ ไม้สน 1 อัน คันหลาว 1 อัน มัดข้าว 1 มัด ขัดตาแหลว 1 อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า “ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไป ลูกหลานจะนวดข้าว จะเหยียบย่ำ อย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป” อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี

boon koon lan 05

ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าว พันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว แล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว

เที่ยวไทยไม่ตกยุค ThaiPBS : "จากรวงข้าวสู่ศรัทธา งานบุญคูนลาน" จังหวัดกาฬสินธุ์

redline

backled1 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)