![]()
|
ถึงเดือนเมษายนทีไร พวกเราคนไทยก็จะมีความรื่นรมย์ นึกถึงแต่ความสนุกสนานใน "วันสงกรานต์" ซึ่งถือว่าเป็น วันปีใหม่ไทย จริงๆ แล้ว "ประเพณีสงกรานต์" ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ในประเทศแถบเอเซียนี้ล้วนมีประเพณีสงกรานต์กันทั้งนั้น เช่น ในกัมพูชาหรือเขมรเรียก : សង្រ្កាន្ត (สัง-คะ-แรน) ในพม่าเรียก : သင်္ကြန် (ทิง-ยาน) ใน สปป.ลาว เรียกว่า : ສົງການ, ປີໃໝ່ລາວ, ບຸນຫົດນໍ້າ (สงกาน, ปีใหม่ลาว, บุญหดน้ำ) ในประเทศจีนเรียกว่า : 泼水节 (โพ-ชุ่ย-เจี่ย โดยเฉพาะแถบสิบสองปันนา) และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจาก เทศกาลโฮลี (होली) ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดผงสีที่ได้จากพืชพรรณในธรรมชาติ แทนการสาดน้ำ ซึ่งเริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 คือ ในเดือนมีนาคม
"สงกรานต์" เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทย และในบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมวันที่จัดเทศกาลสงกรานต์จะกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์จากพราหมณ์หรือโหรในราชสำนัก แต่ปัจจุบันนี้เพื่อความสะดวกได้ระบุแน่นอนว่า เป็นวันที่ 13 ถึง 15 เมษายน ของทุกปี
สงกรานต์เฉพาะในภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “บุญเนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน โดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบ น้ำหอม หาบไปรวมกันที่ศาลาวัด เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ในแต่ละปีทาง กระทรวงวัฒนธรรม จะได้เผยแพร่ "ประกาศสงกรานต์" ของ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ให้ประชาชนได้ทราบและจะปรากฏชื่อ "นางสงกรานต์" แต่ละปีไม่ซ้ำกัน ทำให้หลายคนอยากทราบถึงที่มาของ "นางสงกรานต์" หรือทาง สปป.ลาว เรียกว่า "นางสังขานต์" หรือ "นางสังขาร" หรือ "นางสังขาน" หรือเขียนแบบอักษรลาวว่า "ນາງສັງຂານ" ว่าเป็นมาอย่างไร มีใครกันบ้าง?
ตามจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพนักไม่มีบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีว่ารวยนักแต่ไร้ทายาทสืบสกุล น่าเสียดายนัก จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้ไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตรสักที
จนกระทั่งวันหนึ่ง พอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมแม่น้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาพร้อมกับได้กล่าวอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาที่สถิตในต้นไทรนั้น รุกขเทวดามีความเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนามว่า "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยเติบโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่ง "ภาษานก" และเรียนคัมภีร์ "ไตรเภท" จบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ จนเขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้รู้ข่าวจึงลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรตนเองบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหม ได้ถาม ธรรมบาลกุมาร ว่า
ตอนเช้า 'ศรี' อยู่ที่ไหน ตอนเที่ยง 'ศรี' อยู่ที่ไหน และตอนค่ำ 'ศรี' อยู่ที่ไหน "
เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ไม่สามารถตอบได้ในทันที จึงขอผัดผ่อนกับ ท้าวกบิลพรหม เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม
นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้นั้นมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด" สามีตอบนางนกว่า "เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้" นางนกจึงถามว่า "คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร" สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน สามีจึงเฉลยว่า
ตอนเช้า 'ศรี' จะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยง 'ศรี' จะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น 'ศรี' จะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน "
ธรรมบาลกุมาร ก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมาร จึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม
ท้าวกบิลพรหม ได้คำตอบเช่นนั้น จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า "เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำทะเลก็จะเหือดแห้ง"
ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้นก่อน จากนั้น นางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่ง เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญ พระเศียรของบิดา ออกแห่ ทำเช่นนี้ทุกๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวใน วันมหาสงกรานต์ เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็หมายถึง พระอาทิตย์ เพราะคำว่า กบิล หมายถึง สีแดง
ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ กัน ดังนี้
อนึ่ง ท่าทางของนางสงกรานต์ จะกำหนดตามเวลาที่ 'พระอาทิตย์' ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือ 'เวลามหาสงกรานต์' ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้
ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้ จะมีระบุในประกาศสงกรานต์ทุกปีเสมอ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ไว้อีก ดังนี้
ขอขอบคุณ : ภาพประกอบนางสงกรานต์จาก กระทรวงวัฒนธรรม
ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง ชาวไทยจะมีกิจกรรมสำคัญที่กระทำกันดังนี้
สงกรานต์ เป็นประเพณีที่งดงามมากมายมาเนิ่นนาน แต่พอมายุคเศรษฐกิจหาเงินจากการท่องเที่ยว "ประเพณีอันดีงามของไทย" ทั้งหลายก็ถูกกระทำให้บิดเบี้ยวเพื่อรับใช้เงินตรา อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยวบังหน้า ทำลายประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไปเสียสิ้น จาก ความรัก ความห่วงหาอาทร กลายเป็น มหาสงครามสาดน้ำ ดังที่เห็น ต้องขอบคุณ "ไวรัสโควิด-19" ที่ทำให้ประเพณีอันดีงามกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)