foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

คนในยุคสมัยก่อนนั้นจะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้

เครื่องมือดักสัตว์บก

คนอีสานนี่มีอาหารสมบูรณ์เพราะหาได้ทั่วไป จากน้ำก็พวกหอย ปู ปลา กบ เขียด ส่วนพวกสัตว์บกนี่มีเยอะ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย แต่นี่มันธรรมดาไป ขอเสนออาหารที่พิเศษนานๆ จะหามาได้ เช่น นกเขา นกคุ่ม กระต่าย หนูนา แย้ หรือ กะปอมก่า (กิ้งก่า) ซึ่งนอกจากจะกำจัดศัตรูพืชแล้วยังได้อาหารแซบๆ อีกด้วย

นกคุ่ม

zing nok koom 08นกคุ่ม เป็นชื่อเรียกนกชนิดหนึ่ง ตัวป้อมมีขนาดโตเท่าลูกไก่บ้าน อายุประมาณ 20 วัน ขนสีน้ำตาลเทา มีลายพาดเป็นแถบริ้วที่ปีกข้างลำตัว ที่แก้มมีจุดประสีขาวบนพื้นสีดำ ขนใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียใต้คางมีสีดำ ปากยาว ปีก หาง ขาสั้น ขาแต่ละข้างมีนิ้วเท้าด้านหน้าสามนิ้ว นิ้วหลังไม่มี วางไข่ คุ้ย เขี่ยหาปลวก แมลงและเมล็ดพืชบนพื้นดิน บริเวณพุ่มไม้เตี้ยโล่งหรือหากินในทุ่งนาระยะข้าวสุกเริ่มเก็บเกี่ยว

เมื่อได้รับอาหารสมบูรณ์ เดือน 3 เดือน 4 มีฝนตก อากาศสดชื่น ต้นหญ้าแตกใบระบัด นกตัวเมียจะอืดร้องเสียงนุ่มนวลไพเราะ นกคุ่มตัวผู้จะดูแลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี หากมีศัตรูเข้ามาทำร้ายลูก พ่อนกจะแกล้งทำปีกหัก ขาหัก นอนดิ้น กลิ้งอยู่ใกล้บริเวณนั้น ให้ศัตรูหันเหออกจากลูกมาสู่ตัวเอง เปิดโอกาสให้ลูกได้หลบหนีออกไป

นกคุ่มเป็นสัตว์ปีกที่ไม่มีอาวุธ หรือมีความสามารถในการบินเหมือนนกชนิดอื่น จะบินเฉพาะเมื่อตกใจ บินขึ้นระยะสั้นๆ แล้วบินลง ธรรมชาติจึงสร้างให้มีความสามารถในการหลบลี้ ซุ่มซ่อน อาศัยสีขนแฝงตัวกับกิ่งไม้ใบไม้ หญ้าแห้งกลมกลืนอย่างแนบเนียน หากนำมาเลี้ยงไว้จนเชื่องคุ้นจะส่งเสียงร้องอืดให้เพลิดเพลินใจ ชาวบ้านเชื่อกันว่า หากได้นกคุ่มที่ดีมาเลี้ยงไว้ นับว่าเป็นมงคล คุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาดจากเภทภัยอันตรายใดๆ ได้ เพราะมีชื่อ (คุ่ม หรือ คุ้ม) และสัญชาตญาณในการหลบหลีก แอบซ่อนนี้เอง ความเชื่อทางไสยศาสตร์ จึงใช้เข็มจุ่มหมึกดำสักเป็นรูปนกคุ่มบนผิวหนัง พร้อมกำกับอักขระคาถา เชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย มีเสน่ห์ เมตตามหานิยม

ชาวบ้านจึงนิยมดักต่อนกที่มีลักษณะที่ดี โดยเฉพาะนกตัวเมีย เพราะนกตัวเมียจะร้องอืดมีสีสวยงามมากกว่านกคุ่มตัวผู้ นกคุ่มตัวผู้ที่โชคร้ายจะใช้เป็นอาหารของผู้คนต่อไป

zing nok koom 07

นกต่อ คือ นกคุ่มตัวเมียที่ดักจับได้นำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง ในกรงเล็กๆ เรียก ตุ้มนกคุ่ม เพื่อฟังเสียงร้องอืดและใช้เป็นนกต่อ โดยห้อยแขวนไว้ในชานเรือน หรือใต้ถุนที่ร่ม และจะนำไปใช้ต่อนกโดยมีซิงเป็นอุปกรณ์ใช้ดัก

ซิงนกคุ่ม มีลักษณะแบบเดียวกันกับซิงกระต่ายแต่มีขนาดเล็กกว่า ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นกลม ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เป็นโครงไม้มีโคนหนาเสี้ยมปลายแหลม ใช้เสียบยึดดินและยืดหูตาข่าย เหนือปลายโคนประมาณ 10 เซนติเมตร คอดเล็กน้อย ถักตาข่ายออกจากหูห่วงลวดให้มีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีตาห่างประมาณ 3 เซนติเมตร ผูกเชือกคร่าวๆ ที่ขาโครงข้างหนึ่ง แล้วร้อยลอดห่วงต่อไปที่ตาข่าย ด้านบนไปที่ห่วงแล้วผูกที่ขาโครงอีกข้างหนึ่ง เมื่อต้องการเก็บซิงก็จะใช้ปลายโครงไม้ สอดยึดกับห่วง โครงขาจะดึงตาข่ายให้ตึง แล้วผูกรวมกันได้ครั้งละหลายๆ อัน

zing nok koom 05

วิธีการใช้ มีวิธีการใช้หลายวิธีหลายรูปแบบ โดยเริ่มดักนกในช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวไปถึงฤดูร้อนเดือน 5 บางครั้งพบว่า มีนกคุ่มเข้ามาหากินในนาข้าว ชาวนาก็จะวางซิงตามช่องระหว่างโคนกอข้าว โดยนำตาข่ายออกปักวางปลายไม้โครงเสียบดิน แล้วใช้วางพาดด้านบนปิดขวางระหว่างโครง จากนั้นก็อ้อมมาเกี่ยวข้าวอีกข้างหนึ่งมุ่งหน้าเข้าหาซิง การเกี่ยวข้าวจะเกี่ยวครั้งละหลายๆ คน เสมือนการต้อนนกคุ่มวิ่งไปข้างหน้าเข้าซิง การเกี่ยวข้าวก็เกี่ยวเป็นปกติ นกไม่ตื่นบินแต่จะลัดเลาะใต้กอข้าวเข้าติดซิง

การดักนกคุ่มด้วยซิงแบบอีสานบ้านเฮา

วิธีดักไล่ อาจใช้คนๆ เดียวหรือหลายคนก็ได้ เมื่อพบว่าบริเวณดังกล่าวมีนกคุ่มป่าอาศัยอยู่ อ้อมออกไปด้านหน้า วางซิงโดยการปักวางไม้โครงห่างๆ กันตามช่องทางที่คาดคะเนว่านกจะต้องผ่าน เส้นทางที่ดักหากมีช่องดักกว้างก็จะใช้กิ่งไม้วางปิดกั้น เรียก “กันเพียด” จากนั้น จึงอ้อมกลับด้านหลังใช้ไม้ตีพุ่มไม้ไล่ลงในพุ่มไม้ ตีดะไปเรื่อยๆ แต่ไม่ควรให้นกตื่นเพราะนกอาจจะบินข้ามซิง นกจะวิ่งลัดเลาะและในที่สุดจะวิ่งเข้าชนซิงโดยชนตาข่ายลอดเข้าหว่างขาซิง หูตาข่ายจะรูดรวบนกติดอยู่ภายใน

zing nok koom 06

การใช้นกต่อ ผู้ดักจะต้องใช้ซิงหลายอันช่วยในการดักต่อ โดยนำนกต่อที่อยู่ในตุ้ม คลุมผ้าเดินเข้าป่าที่มีนกคุ่มอาศัยอยู่ เมื่อเลือกสถานที่ที่มีนกคุ่มหากินหรือร้องอืด ก็จะห้อยแขวนนกต่อในพุ่มไม้เตี้ยๆ ใช้นกเป็นจัดศูนย์กลางแล้ววางซิงด้วยวิธีเดิม วางซิงโดยรอบเป็นรัศมีห่างจากนกต่อประมาณ 6 – 7 เมตร ถ้ามีช่องว่างมาก ก็วางเพียดช่วย จากนั้นก็เปิดผ้าคลุมแล้วออกนอกพื้นที่ห่างๆ ฟังนกต่ออืดร้อง และฟังนกป่าอืดร้องรับนกที่อยู่โดยรอบจะวิ่งเข้าหานกต่อ นกคุ่มตัวเมียจะเข้าจิกตี นกตัวผู้จะวิ่งเข้าหา จึงเข้าติดซิง

วิธีดังกล่าวอาจได้นกมาครั้งละสองตัว แต่หากนกคุ่มชุมก็จะได้มากกว่านั้น ชาวบ้านก็จะเลือกนกตัวเมียที่มีสีสวยงามตามลักษณะความเชื่อเลี้ยงไว้ อืดร้องเป็นนกต่อใช้ล่อนกต่อไป ส่วนนกตัวผู้หรือนกที่ไม่เข้าลักษณะ อาจใช้ประโยชน์ไปทางอื่น เช่น นำไปทำอาหารประเภทลาบ

นกคุ่มในภาคอีสาน มีอยู่ 3 ชนิดคือ

  • นกคุ่มอืด ตัวใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม รูปร่างอ้วนอุ้ยอ้าย มีลายเป็นขีดและเป็นจุด ร้องเสียงอืด อืด ชอบหากินเป็นฝูง หรือไม่ก็ไปเป็นคู่ ตัวผู้มีนิสัยหวงถิ่น และหวงตัวเมียมาก
  • นกคุ่มหรี่ ตัวเล็กสีน้ำตาล ชอบหากินตัวเดียว เวลาบินขึ้นฟ้าจะร้องเสียง "หลี่ๆ" ชอบทำรังตามรอยวัว รอยควาย ต่างจากชนิดอื่นที่ทำรังตามละเมาะไม้ ไม่ชอบร้องเหมือน นกขุ่มอืด
  • นกคุ่มลาย (นกคุ่มแกลบ) ตัวเล็กมาก หากินเป็นคู่ ตามป่าละเมาะและทุ่งหญ้า

นกคุ่ม มีบทบาทหน้าที่ตามธรรมชาติคือ กำจัดแมลง ด้วง หนอน ไข่ ตัวอ่อน ของแมลงศัตรูพืช และหน้าที่สุดท้าย เป็นอาหารของมนุษย์ และสัตว์กินเนื้อประเภทอื่น

ทำลาบนกคุ่มแซบๆ

ส่วนประกอบที่ต้องเตรียมก่อนการทำลาบนกคุ่ม

  • นกคุ่มพวมแวง (วัยหนุ่มที่จับได้) ยิ่งมากยิ่งดี
  • เขียงไม้ขาม (สำหรับฟักลาบ และหั่นผักหอม)
  • น้ำต้มปลาแดก (อุมามิ อีสาน)
  • ข้าวคั่ว คั่วใหม่ๆ หอมๆ ตำละเอียดพอประมาณ (คันหมั่นกะให้คั่วแล้วเอาขวดเหล้าขาว บดเอา ใช้เวลาดนแหน่เด้อ)
  • บักผั่ว หัวหอม ผักหอมเป
  • เกลือ หยุบหนึ่ง
  • พริกคั่ว และ พริกสด
  • ผงนัว (แล้วแต่มักเด้อ คันปลาแดกดีกะบ่ต้องใช้กะได้)
  • เครื่องเสริม หยวกกล้วย (กรณีได้นกมาน้อย ใส่ลงไปให้พอกันกิน)
  • ใบมะกรูด หั่นฝอย
  • ผักกะหย่า ผักกะโดน ผักสะเม็ก ยอดใบมะตูม ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ แตงกวา (ผักเครื่องเคียงเอาหลายๆ จั่งสิอิ่มทั่วกัน)

zing nok koom 04

กรรมวิธีในการประกอบอาหาร

  • เอานกคุ่ม ออกจาก "ข้อง" (กรงใส่นกคุ่ม) กำคอมับ นกคุ่มเป็นนกใจเสาะ เห็นมือกำมาก็ตรอมใจตาย กำแรงๆ นิดหนึ่ง มันก็คอพับ "อ่อนแอ้แล้" บ่ต้องเอาค้อนตีหัวให้ยาก
  • หลกขน (ถอนขน) ให้หล่อนๆ (เกลี้ยงเกลา) ลนไฟให้ "ขนบั่ว" (ขนอ่อน) หมดไป หลังจากนั้น ผ่าท้องแผ่เอาขี้ออกให้เรียบร้อย จัดเก็บเครื่องในไว้ ผ่าเหนียง ล้างน้ำให้สะอาด
  • ขั้นตอนการเตรียมการลาบ ทำได้ 2 แบบ แล้วแต่มัก (ชอบ) คือ
    - นำนกคุ่มไปปิ้ง/ย่างพอห่ามๆ แล้วค่อยเอามา สับ (ภาษาอีสานเรียกว่า การฟักลาบ )
    - เอาตอกไม้ไผ่มาร้อยเนื้อนก แล้วนำไปลวกในน้ำต้ม แล้วเอามาฟักลาบ
    - กรณีที่ได้นกคุ่มมาไม่มาก มันบ่หมาน แต่แขกผู้มีเกิบ หรือแขกดอยเยอะ กลัวไม่พอกันกิน ก็ให้เอา หยวกกล้วย มาฟักลาบผสมลงไป เพื่อเพิ่มปริมาณ
  • แยกเครื่องในของมันออกไปต้ม เติมเกลือ น้ำปลาแดกนิดหนึ่ง เอาหัวสิงไค (ตะไคร้) ใส่ลงไปด้วย แก้คาว จะให้ดีต้องเติมบักขามส้มลง สักข้อ สองข้อ
  • นำน้ำต้มร้อนๆ มาราดเนื้อที่สับไว้ คนให้ทั่ว อายออก ฮ่วย..ฮ่วย จนเนื้อสุก (อย่า... อย่าสิน้ำลายหยดลงหม้อเด้อ)
  • รินน้ำออก เติมพริกคั่วป่นลงไป คนๆ เติมพริกสดที่ซอยไว้ลงไปอีก
  • เติมน้ำปลาแดกลงไป คนลองชิมดูแล้ว ถ้าเนื้อลาบในหม้อเย็นแล้ว
  • เอาข้าวคั่วใหม่ๆ ที่บดเตรียมไว้ เทลงไป คนให้ทั่ว เอาผักหอมต่างๆ ที่หั่นฝอยลงไป
  • ซอยเครื่องใน ไต ซอยเหนียง ไส้น้อย พวงไข่ในหม้อต้ม ลงไปใส่ในลาบ
  • เติมผงนัวตามใจขอบ (ผู้มีฝีมือดี น้ำปลาแดกดี ผงนัวก็ไม่จำเป็น)
  • ปรุงน้ำต้มในหม้อ ให้เป็นต้มแซบ ต้มนัว ใส่พริกป่นตามแต่มักไว้ซด

zing nok koom 03

จากนั้นก็ยกลงมาพร้อมกับลาบ และต้มนัว ผักต่างๆ ล้อมวงกันพี่น้อง ข้าวเหนียว ข้าวใหม่หอมๆ คุ้ยลาบ ซดน้ำต้ม รสชาติเป็นเอกในท้องทุ่ง ได้กินแล้วลืมความทุกข์ยากหมดสิ้น พี่น้องเอ๋ย...แซบพาล่ำพาโล อีหลี อีหลอ กระด้อกระเดี้ย

zing nok koom 02 

'หน่วงดักหนู' จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน

“หน่วง” คืออุปกรณ์จับสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโบราณ ที่พลิกแพลงหาวัสดุอุปกรณ์รอบตัวที่หาง่ายๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เรียกได้ว่าเป็น “มูนมัง” ของอีสานบ้านเฮาเลยกะว่าได้

ลักษณะการทำงานของ "หน่วง" ที่คนอีสานเรียกกัน น่าจะตรงกับคำว่า "บ่วง" ในภาษากลาง โดย “หน่วง” จะมีเชือกทำเป็นบ่วงเปิด รออยู่ในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อหนูเข้าไปกินเหยื่อในกระบอกหน่วง จะไปโดนไกของหน่วงทำให้บ่วงลั่นแล้วรัดตัวหนูเอาไว้ ทำให้หนีไปไหนไม่ได้ อย่างที่ภาคกลาง ชาวนาจังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นท่อน ก่อนจะเหลาทำเป็นคันดักหนู กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 90 เชนติเมตร และผูกด้วยลวดเพื่อทำเป็นบ่วง นำไปปักขวางทางเดินของหนูนา เมื่อหนูเดินผ่านเกี่ยวกับตัวบ่วงก็จะถูกตวัดรัดตัวหนีไปไหนไม่ได้

kab dag noo 3

ส่วนของชาวอีสานจะเป็นกระบอกไม้ไผ่ มีกลไกและเหยื่อล่อให้หนูเข้าไปกินเหยื่อ เมื่อหนูเข้าไปกระทบกลไก จะทำให้บ่วงถูกดึงขึ้นรัดตัวหนูติดอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่นั้น เหยื่อล่อเหมือนกับดักหลายๆ ชนิด หนูท้องขาวชอบกลิ่นหอมๆ เราเลยใช้ข้าวเหนียวนึ่ง นำไปจี่เป็นปั้นเล็กๆ หรือปั้นใหญ่นำมาบิเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้ บางทีอาจจะใช้กล้วยปิ้งหอมๆ ก็ได้เช่นกัน

kab dag noo 1

สถานที่ดักหนูของเราจึงมักจะไปตามหัวไร่ ปลายนา ชายป่าละเมาะ เป็นต้น คนอีสานจะเชี่ยวชาญรู้ว่าจุดไหนมีหนูอาศัยอยู่ สังเกตุจากรอยการหากิน หรือทางเดินของหนู หลังจากที่เราไปใส่หน่วงหรือไปดักหน่วงไว้ตั้งแต่ตอนหัววัน เวลาที่เหมาะกับการไปยามหน่วงรอบแรกก็ประมาณสี่ทุ่ม เราก็ใช้หม้อแบตพร้อมกับไฟส่องในการไปยามหน่วง หลังไหนลั่น ก็ลุ้นได้เลยว่าจะได้ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก อีกรอบนึงก็ไปเก็บรอบเช้า เพราะหนูมันออกหากินทั้งคืน ได้มากได้น้อยก็ว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพลาด

kab dag noo 4

สำหรับหนูนา หนูพุก หนูท้องขาว จะมีขนาดใหญ่และเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวนา เพราะจะมากัดกินรวงข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวให้เสียหายมาก การกำจัดหนูจึงได้ประโยชน์สองต่อ คือ ปราบศัตรูพืช และใช้เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง นิยมนำมาบริโภคกันแพร่หลาย ทั้งการนำมาย่าง ผัดเผ็ด ผัดกระเพรา อร่อยอย่าบอกใครเชียว

kab dag noo 2

ผัดเผ็ดหนูนาแบบแซบ

redline

backled1

isan vocation

คนในยุคสมัยก่อนนั้น จะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่ จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้

เครื่องมือดักสัตว์น้ำ

คนอีสานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาอื่นๆ จะมีการใช้เครื่องมือในการดักจับสัตว์น้ำคล้ายๆ กัน ส่วนใหญ่จะทำจากไม้ไผ่เป็นเครื่องจักสานที่มีขนาด รูปทรง เล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน  ซึ่งคงมีมานานเป็นพันปีดังจะเห็นได้จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

pa tam 01

เครื่องดักจับสัตว์น้ำของไทยส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวข้องกับการจับสัตว์น้ำจืดตามแม่น้ำ, ลำเหมือง, ร่องเหมือง, ท้องนา, หนอง, คลอง, บึง ฯลฯ ซึ่งมีกระจายทั่วไปเป็นหลัก ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่การเรียกชื่ออาจจะเหมือนหรือต่างกันไปบ้างตามท้องที่ แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน

ตุ้มปลายอน

"ตุ้มปลายอน" เป็นเครื่องมือจับปลาในแม่น้ำมูลที่มีมาแต่โบราณ พบหลักฐานเป็นภาพเขียนสีปรากฏอยู่ที่ ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องมือหาปลาชนิดนี้ทำจากไม้ไผ่สานลายขัดมีความยาวถึง 8 เมตร วิธีการทำเริ่มจาก สานก้นตุ้ม หรือเรียกว่า "ปากงา" มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ปากงาเป็นหัวใจสำคัญของตุ้ม เพราะปลายอนจะเข้าทางด้านนี้ จึงต้องสานให้แน่น ส่วนก้นตุ้มจะมีขนาดใหญ่สานโค้งเหมือนสุ่มไก่ จากนั้นจะเริ่มสานต่อเป็นรูปทรงกรวยยาวไปถึงปากตุ้ม ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร เมื่อสานก้นตุ้มและขึ้นโครงเสร็จจะนำไปแขวนบนต้นไม้ ให้ตุ้มอยู่ในรูปแนวตั้งเพื่อสะดวกในการสาน กินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เสร็จ

toom pla yon 1
การใส่ตุัมปลายอน ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูน (ชื่อดั้งเดิม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น แม่น้ำมูล ไม่แน่ใจในสาเหตุเหมือนกัน ใครรู้บอกด้วย) ตรงบ้านค้อใต้เป็นช่วงที่น้ำมูนลึกที่สุด เหมาะสำหรับการจับ ปลายอน หรือ ปลาสังกะวาด เพราะปลาชนิดนี้ชอบว่ายอยู่ในน้ำลึก รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องวางตุ้มในน้ำลึก 10 เมตร ส่วนวิธีการปักหลักตุ้มจะเลือกบริเวณที่น้ำไหล จากนั้นจะนำไม้ไผ่ยาว 15 เมตร 5 ลำ ลงไปปักยึดกับพื้นให้มั่นคง เว้นพื้นที่พอให้ก้นตุ้ม เพื่อให้ปลายอนเข้าได้ ในแถบลุ่มแม่น้ำสงครามเรียกว่า โทง หรือโทงปลายอน ก็เรียก นอกจากนี้ยังมี โทงปลาซิว และโทงปลาตะเพียนทอง ซึ่งมีขนาดสัดส่วนลดหลั่นตามขนาดความจุของปลา

toom pla yon 4

ขั้นตอนต่อไปนำตุ้มที่ผูกคานติดไว้มาวางในแนวตั้ง ให้ปากตุ้มพ้นน้ำประมาณ 1 คืบ ผูกคานตุ้มติดกับหลัก และต้องดำน้ำลงไปตรวจก้นตุ้ม ดูความเรียบร้อยที่ปากงา ให้ก้นตุ้มห่างจากพื้น 1-2 เมตร เพื่อเปิดพื้นที่ให้ปลาว่ายเข้าไปได้ง่าย

toom pla yon 2

สำหรับ ปลายอน (ภาคกลางเรียก ปลาสังกะวาด) เป็นปลาเนื้อมีขนาดตัวยาว 4 นิ้ว หัวเล็ก ลำตัวอ้วน มีสีเงินเลื่อมขาวตั้งแต่ครีบจรดปลายหาง ชาวบ้านนิยมนำไปทำปลายอนแดดเดียว หรือนำไปทำต้มปลายอน ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันหากินได้ยากมาก ในปีหนึ่งจะหาปลายอนได้ในช่วงเดือน มิถุนายน - สิงหาคม เท่านั้น หากเลยช่วงนี้ไประดับน้ำจะสูง กระแสน้ำแรง ฝนตกหนัก จึงไม่เหมาะแก่การใช้ตุ้มจับปลายอน

วิธีการล่อปลาเข้าตุ้ม ต้องนำปลายข้าวต้มสุกมาใส่ไว้ในตุ้มเพื่อล่อปลายอนเข้ามากิน โดยปั้นข้าวเป็นก้อนกลมหย่อนลงไปในตุ้ม ข้าวจะลงไปอยู่ก้นตุ้ม จากนั้นใช้มือตีน้ำให้เป็นจังหวะ เพื่อเรียกปลาเข้ามากินข้าวในตุ้ม ในหนึ่งวันจะทำอย่างนี้ 3 - 4 ครั้ง และเมื่อปลาเข้ามาในตุ้มแล้วจะไม่สามารถว่ายออกได้

ช่วงเวลาตี 3 ชาวประมงจะออกไปกู้ตุ้ม เมื่อถึงที่หมายดึงสายที่ผูกอยู่กับปากตุ้มขึ้นเพื่อปิดปากงา พร้อมทั้งปิดปากตุ้ม ปลดเชือกระหว่างตุ้มกับหลักออก ดึงตุ้มขึ้นมาให้ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แล้ววางพาดขึ้นมาไว้บนเรือ ก่อนพายเข้าฝั่ง

toom pla yon 3

เมื่อถึงฝั่งยกก้นตุ้มให้อยู่สูงกว่าปากตุ้ม จากนั้นเปิดปากตุ้มเทปลายอนลงในภาชนะมารองไว้ เมื่อเขี่ยปลายอนออกจนหมด นำตุ้มกลับไปที่หลักตามเดิมทำความสะอาดก้นตุ้ม และปากงาให้สะอาด นำกลับไปผูกไว้กับหลักเดิมใส่เหยื่อล่ออีกครั้ง แล้วจึงนำปลาที่จับได้ไปขายในตลาดต่อไป

การใส่ตุ้มปลายอน

ลอบ และ ไซ ดักปลา

lob sai dak pla 3ลอบ เป็นเครื่องมือจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบ มีช่องว่างให้ปลาเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ

  • ลอบนอน ใช้ดักปลาสำหรับน้ำไหล มักจะมีหูข้างอยู่ที่ปากลอบด้วย โดยใช้แผงเฝือต่อจากหูช้างทั้งสองข้าง กั้นขวางตามแนวแม่น้ำ ลำคลอง วางลอบอยู่ในแนวนอน ลอบมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ก้นรอบเป็นรูปรีๆ มีความยาว 1-2 เมตร เหลาไม้ไผ่เป็นซี่กลมๆ ประมาณ 20 ซี่ มัดด้วยหวาย เถาวัลย์ หรือลวด ไม้ไผ่แต่ล่ะซี่ห่างกันเกือบ 3 เซนติเมตร หากจะดักปลาตัวเล็กก็เรียงซี่ไม้ไผ่ให้ติดกัน ปากลอบดักปลาทำงา 2ชั้น เมื่อปลาว่ายเข้าไปก็จะว่ายออกมาไม่ได้เพราะติดงากั้นไว้ ลอบนอนไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ ลอบนอนอีกประเภทหนึ่งใช้กับน้ำนิ่งเรียกว่า ลอบเลาะ
  • ลอบยืน ใช้ดักปลาในน้ำลึก จะใช้แผงเฝือกกั้นหรือไม่ก็ได้ หากใช้เฝือกกั้นก็ดักลอบยืนไว้ตามน้ำนิ่งๆ ใกล้กอหญ้าปลาที่จะเข้าไปมักเป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น ลอบยืนมีลักษณะทรงขวดที่วางตั้งไว้ แต่ส่วนปลายลอบยืนนั้นมัดปลายซี่ไม่ไผ่มารวมกัน ตรงด้านข้างทำงายาวผ่าเกือบตลอด
  • ลอบกุ้ง ใช้ลอบนอนหรือลอบยืนก็ได้ แต่การสานซี่ไม้ไผ่ต้องมีระยะชิดกัน ไม่ให้กุ้งลอดออกไปได้ บางทีใช้ตาข่ายถี่ๆ หรือผ้ามุ้งคลุมรอบตัวลอบไม่ให้กุ้งหนีออกไปได้ เหยื่อที่ใช้ เช่น กากน้ำปลา รำละเอียดผสมดินเหนียวปั้นเป็นก้อน เป็นต้น

lob sai dak pla 1

ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ โดยมากดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามบิ้งนาคันนา ไซมีหลายรูปทรง ตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร ไซท่อ สานคล้ายท่อดักปลา หรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ เช่น ไซสองหน้า มีช่อง 2 ด้าน ไซลอย ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้นๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้า วางแช่น้ำไว้ ไซปลากระดี่ ใช้ดักปลากระดี่ ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซโป้ง สานก้นโป่งเล็กน้อย แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง (ซี่ไม้เสี้ยมปลายแปลม รูปทรงคล้ายกรวยที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้)

ไซต่างๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อเพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปลา ลูกปู มาล่อ

lob sai dak pla 2

วัสดุที่ใช้สานไซ คือ ต้นไผ่ ปัจจุบันนี้หาง่ายมาก มีปลูกกันเต็มไปหมดทุกหัวระแหง ต้นไผ่ที่นำมาทำไซ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป มันก็จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย

วิธีการสานไซ ผู้ทำมักเหลาเส้นตอกให้เล็ก เป็นเส้นกลม ยาวอย่างน้อย 2 ปล้องไผ่ เมื่อได้เส้นตอกตามจำนวนที่ต้องการแล้ว นำมามัดปลายด้านหนึ่งรวมกัน ก่อนจะพับให้กลับไปด้านหลัง แล้วใช้เส้นตอกอีกส่วนหนึ่งสานขวางสลับกันไปตั้งแต่ด้านบนถึงด้านล่าง การสานนิยมสานเป็น “ลายขวางไพห้า” ระหว่างสานผู้ทำต้องบังคับให้รูปทรงป่อง แคบ ตามลักษณะของงาน ส่วนบริเวณตรงกลางหรือกลางค่อนไปทางปลาย จะมีการเจาะใส่งาอีกด้านละช่อง เพื่อให้เป็นส่วนที่ปลาวิ่งเข้าผ่านงา (งา รูปทรงคล้ายกรวย ที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้) และนำปลาออกอีกด้าน

สุ่มดักปลา

soom dak pla 2สุ่มดักปลา เป็นเครื่องมือไว้สำหรับครอบปลาในน้ำตื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาช้านาน จวบจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นความสามารถของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอมีกำลังในการใช้ฝีมือจักสานอยู่บ้าง โดยเฉพาะการสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถและมีความชำนาญ มีขั้นตอนวิธีสานสุ่มดักปลานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่นำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 60 เซนติเมตร นำไปรมควันจนดำทำให้มีสีสวย ป้องกันมอดไม้ที่จะมากัดไม้ไผ่ ทำให้ชิ้นงานเสียหาย เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสอนต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

แล้วนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นซี่เล็กๆ ขนาด 1 - 1.50 เซนติเมตร ไปลนไฟให้ท่อนตรงปลายอ่อนและขยายเล็กน้อย นำไปเจาะรูทั้งหมด 61 รู เพื่อสานไม้ไผ่ใส่ซึ่งต้องเน้นความถี่เป็นสำคัญ ป้องกันปลาออกนอกสุ่ม ก่อนนำเชือกมาถักระหว่างซี่ไม่ให้หลุดออกจากกัน สุ่มดักปลาก็จะเสร็จสมบูรณ์

สุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มมีขนาดกว้างใหญ่กว่าสุ่มชนิดอื่น โมง มาจากภาษาถิ่น คือ โม่ง มีความหมายว่า ใหญ่โต สุ่มโมงบางพื้นบ้านเรียก สุ่มซี่ หรือ สุ่มก่อง ซึ่งเรียกตามลักษณะการทำของชาวบ้าน สุ่มโมงจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ประมาณ 50 – 100 ซี่ หากสุ่มใหญ่ก็ใช้ซี่ไม้ไผ่มากขึ้น สุ่มชนิดนี้จะใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดถักร้อยซี่ไม้ไผ่ยึดกัน โดยมีวงหวาย หรือวงไม้ไผ่ ทำเป็นกรอบไม้ภายใน การถักเส้นหวายเถาวัลย์หรือลวด จะถักซี่ไม้รัดกับวงภายในให้แน่น บางทีชาวบ้านเรียกการถักร้อยสำหรับยึดให้แน่นนี้ว่า “ก่อง” จึงเรียก สุ่มก่อง และลักษณะที่ก่องเป็นซี่ๆ นี้เอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุ่มซี่

สุ่มสาน เป็นสุ่มขนาดแคบกว่าสุ่มโมง เหลาซี่ไม้ไผ่จำนวนมาก สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมห่างๆ แต่ไม่ให้ปลาลอดออกได้ บางทีก็เรียกว่า สุ่มขัด สุ่มชนิดนี้ไม่ต้องใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดถักยึดใดๆ สุ่มกลอง มีรูปเล็กกว่าสุ่มสานเล็กน้อย การทำสุ่มจะใช้หวายเถาวัลย์หรือลวดถักสุ่ม ส่วนบน ส่วนล่างใช้ซี่ไม้ไผ่สานขัดเป็นสี่เหลี่ยม

สุ่มงวม หรือ อีงวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน สุ่มภาคอื่นๆ มีขนาดใหญ่กว่าสุ่มโมงมาก สุ่มบางอันสูงเกินกว่า 1 เมตรก็มี สุ่มงวมจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ปลายตีนสุ่มกว้างออกเล็กน้อย ด้านบนสุ่มทำเป็นวงกว้างเพื่อใช้มือ 2 ข้าง ล้วงจับปลาในสุ่มได้สะดวก การสานสุ่มงวมจะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่บางๆ สานลายขัดทึบโดยตลอด

soom dak pla 1

การสุ่มปลามักสุ่มในห้วงน้ำไม่กว้างและลึกนัก สุ่มไปเรื่อยๆ เหมือนคำที่ว่า สุ่มสี่สุ่มห้า แล้วเอามือล้วงควานภายในสุ่ม ถ้าครอบปลาได้จะควานจับใส่ข้องที่มัดสะพายติดตัวไป สมัยก่อนนั้นการสุ่มปลาใช้คนลาก “ไม้ค้อน” ซึ่งเป็นไม้ท่อนกลมจมน้ำ ใช้เชือกมัดท่อนไม้ 2 ข้าง ใช้คน 2 คน ลากในห้วงน้ำ คนถือสุ่มหลายๆ คน จะเดินตามไม้ค้อน ปลาเมื่อเห็นไม้ค้อนลากมาใกล้ตัวหรือถูกตัวจะกระโดดหนี บางทีมีฟองน้ำเป็นทิวๆ ไปข้างหน้า การกระโดดและว่ายหนีนี้จึงเป็นข้อสังเกตให้สุ่มปลาได้ถูก ในนิราศสุพรรณบุรีของสุนทรภู่ยังได้กล่าวถึง เรื่อง สุ่มปลา ไว้ว่า

ศรีศะเสียงเสียงแซ่ล้วน พวกลาว แก่หนุ่มสุ่มปลาฉาว แช่น้ำ
ผ้าบ่นุ่งพุงขาว ขวยจิต รอดเอย เดกด่วนชวนเพื่อค้ำ ค่ามให้ใกล้ลาว "

ข้อง

kong sai pla 2ข้อง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อ มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้องมีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้ เรียกว่า งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ ปลาปู กุ้ง หอย กบ เขียด ข้องมีหลายลักษณะ เช่น

ข้องยืน มีลักษณะคล้ายรูปทรงของโอ่งน้ำ หรือรูปทรงกระบอก มีลายปากข้องบานออกขนาดสูง ตั้งแต่ 10 - 15 เซนติเมตร การสานที่ก้นข้องมักจะสานเป็นก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวข้องกลมป้อม ป่องตรงกลางค่อยๆ สอบเข้าตรงคอข้อง แล้วบานออกที่ปลายปากข้องคลายปากแตร ที่ก้นข้องและตัวข้องจะสานด้วยลายขัดตาหลิ่ว ตรงคอข้องถึงปากข้องสานด้วยลายขัดตาทะแยง ปลายปากข้องจะต้องทำฝาปิดเปิดโดยสานผิวไม้ไผ่เป็นปิดเวลาจับปลาใส่ข้อง ไม่ต้องเปิดฝาข้องก็ได้ เพราะฝาข้องนี้สามารถใส่ปลาได้สะดวก ปลาจะกระโดดออกมาไม่ได้เพราะ ติดที่ฝาปิดเรียกงา (งา รูปทรงคล้ายกรวย ที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้) ฝาข้องอาจทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี ผูกเชือกไว้สำหรับสะพายติดตัวไปหาปลา

ข้องนอน หรือ ข้องเป็ด มีรูปทรงเป็นแนวนอน การสานข้องมีลักษณะเหมือนเป็ด ลายปากข้องบานหงายขึ้น ด้านบน สำหรับใส่ปลาไว้ในข้อง การสานก้นข้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้องนอนหรือข้องเป็ดมักไม่ค่อยสะพายติดตัวไปในขณะกำลังหาจับปลาแต่จะวางไว้ในเรือ ริมคลอง ริมตลิ่ง เป็นต้น

ข้องลอย เป็นข้องที่ใช้ลอยในน้ำได้ในระหว่างจับปลา ข้องลอยจะใช้ข้องยืน หรือข้องนอน มัดกับลูกบวบซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2 ท่อน มัดขนาบตัวข้องให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว

การใช้งาน ใช้ใส่ปลา กุ้ง หอย ทุกชนิด ใช้ในเวลาที่ออกหาปลา โดยผูกข้องไว้ที่เอว ถ้าจับปลาที่มีขนาดใหญ่นิยมใช้ข้องเป็ด เพราะปลาไม่ต้องงอตัวอยู่ในข้อง ปลาจะนอนตามความยาวของตัวข้อง จะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้าขังปลาด้วยข้องเป็ดแล้วนำไปแช่น้ำที่ไหล ยิ่งจะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้หลายวัน

kong sai pla 1
ข้องยืน                                     ข้องลอย                                   ข้องเป็ด

อุปกรณ์ในการสานข้อง

  • ไม้ไผ่ที่จักเป็นเส้น เเละเหลาเป็นเส้นบางๆตามความยาวที่ต้องการ
  • มีดสำหรับเหลา 1 อัน ต้องเป็นมีดที่คม
  • เศษผ้าสำหรับพันที่นิ้วชี้ ใช้งานเมื่อเหลาไม้ไผ่ป้องกันการบาดมือ
  • ท่อนไม้ที่เหลาเป็นทรงกลม สำหรับทำเเบบขนาดของปากข้อง

วิธีการทำ

  • นำไม้ไผ่ที่เป็นลำมามาผ่า เเล้วจักให้เป็นเส้นๆ เสร็จเเล้วเหลาให้เป็นเส้นบางๆ จะใช้เฉพาะที่ผิวเปลือกนอกในการสานข้อง เพราะจะมีความทนทาน กว่าการใช้ใส้ข้างใน
  • ในการเหลาจะเหลาไว้หลายขนาด ถ้านำมาสานที่ตัวข้องจะใช้เส้นที่ยาวเเละเเบน ถ้านำมาทำที่ปากข้องจะใช้เส้นเล็กเเละกลม เพื่อความเเน่นหนา เเละคงทน
  • ทำการสานโดยสานตั้งเเต่ฐานของข้องขึ้นมาก่อน โดยสานเป็นการสลับ 1 เว้น 1

เครื่องมือดักปลาไหล อีจู้ บั้งลัน

ปลาไหล หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า "เอี่ยน" ซึ่งดันไปออกเสียงคล้ายกับคำว่า "ปลาไหล" ในภาษาอังกฤษด้วยนะ "eel" คือ ปลาไหล จะมีเครื่องมือในการดักจับปลาไหลอยู่ 2 ชนิด คือ

อีจู้

e joo pla lai 1อีจู้ เป็นเครื่องดักปลาไหลชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีงาแซงอยู่ริมก้นใส่เหยื่อไว้ในกะพล้อ บางแห่งเรียก อีจู้ ว่า กระจู้ หรือ จู้

อีจู้ มีลักษณะกลมป่องส่วนก้น แล้วเรียวที่ส่วนบน คล้ายคนโทใส่น้ำบางชนิด หรือคล้ายรูปหม้อคอสูง ขนาดของอีจู้โดยทั่วไปวัดตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ส่วนก้นมีความกว้างตั้งแต่ 20 – 40 เซนติเมตร เมื่อวางตั้งมีความสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตร จนถึง 1 เมตร การสานอีจู้ใช้ตอกไม้ไผ่เหลาบางๆ เริ่มสานที่ก้นเป็นลายขัดสี่เหลี่ยมเป็นตาห่างๆ แต่ต้องไม่ให้ปลาไหลลอดออกไปได้ แล้วสานในแนวตั้งขึ้นมาเป็นลายขัดทึบ สานปลายปากอีจู้เรียวแคบลงทีละน้อยๆ ส่วนริมปลายปากจะบานออกเล็กน้อย เพื่อวางที่ปิดปากอีจู้ส่วนใหญ่ใช้กะลามะพร้าว หรือเศษฟางเศษหญ้าจุกปากให้แน่น

ริมก้นอีจู้ด้านหนึ่งด้านใดจะสานเป็นช่องวงกลมไว้ เพื่อใส่งาแซงให้ปลาไหลเข้า โดยทั่วไปแล้วอีจู้แต่ละอันจะมีงาแซงอยู่ 1 ช่องเท่านั้น แต่ถ้าสานอีจู้ขนาดใหญ่ก็ทำแซงริมก้นอีจู้ทุกด้าน คือ มีงาแซงใส่ไว้ 4 ช่องทาง ภายในสานไส้อีจู้ด้วยไม้ไผ่เป็นลายขัดห่างๆ ทำเป็นกรวยใส่เหยื่อล่อปลาไหล บางทีเรียกว่า “กะพล้อ” หรือ รอง สามารถดึงเข้าดึงออกได้ เหยื่อที่ใส่ให้ปลาไหลเข้าไปกิน มักใช้เนื้อหอยโข่งนา ปูตาย ทุบให้แหลก หรือเนื้อปลาสับ

การดักปลาไหลจะดักในน้ำนิ่งตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามแปลงนา ความลึกของน้ำไม่มากนัก ต้องให้ส่วนปลายปากอีจู้โผล่พ้นน้ำเพราะปลาไหลจะได้ขึ้นมาหายใจได้ ใช้ใบหญ้าคลุมอีจู้แต่งช่องทางให้ปลาไหลเข้าไปทางงาแซงได้สะดวก ช่องงาแซงอยู่ในระดับพื้นดินใต้น้ำพอดี ปลาไหลซึ่งชอบอาศัยอยู่ในโคลนเลน เมื่อได้กลิ่นเหยื่อจะหาทางเข้าไปกิน จนกระทั่งเข้าช่องจากแซงนั้น แต่ไม่สามารถกินเหยื่อได้เพราะใส่ไว้ในกะพล้ออีกชั้นหนึ่ง ทำให้เหยื่อไม่หมด ปลาไหลตัวอื่นๆ จะเข้าไปอีก การกู้อีจู้อาจกู้วันละครั้ง หรือดักไว้หลายๆ วันก่อนจึงมากู้ก็ได้

e joo pla lai 2

วิธีการทำอีจู้ปลาไหลยุคใหม่

บั้งลัน

e joo pla lai 3บั้งลันดักเอี่ยน เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวบ้าน ใช้สำหรับดักเอี่ยน (ปลาไหล) เฮ็ดมาจากกระบอกไม้ไผ่ การเฮ็ดบั้งลันดักเอี่ยนนั้น ต้องหาไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ โดยตัดให้มีระยะประมาณ 3 - 4 ปล้อง ให้เหลือข้อไม้ไผ่ไว้ด้านหนึ่ง เพื่อเฮ็ดเป็นก้นลัน ไม่ให้เอี่ยนหนีออกไปได้ ใช้ท่อนไม้หรือมีดทะลวงข้อไม้ไผ่ด้านในให้เป็นรูทะลุถึงกัน เว้นไว้เฉพาะข้อไม้ไผ่ที่เฮ็ดเป็นก้นเท่านั้น การเฮ็ดบั้งลันในช่วงนี้มีลักษณะคือ กระบอกน้ำ ใช้มีดกรีดลำไม้ไผ่ส่วนปล้องที่เป็นก้นให้เป็นร่องเล็กๆ ทะลุเนื้อไม้ไผ่ มีความกว้างประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร อาจกรีดเป็นร่อง 3 -– 4 ร่อง การกรีดร่องหรือเจาะร่องกระบอกไม้ไผ่แบบนี้ เพื่อที่จะให้กลิ่นเหยื่อที่ใช้ดักเอี่ยน (ปลาไหล) กระจายไปในน้ำในบริเวณนั้นได้สะดวก เพื่อล่อให้ปลาไหลเข้าลันได้ดี

ด้านปากลันสานงาด้วยไม้ไผ่เอาไว้ เจาะรูกระบอกไม้ไผ่ให้ทะลุถึงกันทั้ง 2 ด้าน ใส่เดือยสลักยาวเสียบผ่านงาเพื่อยึดงา และใช้ปักดินเพื่อยึดลัน ในเวลาดักนำเหยื่อล่อเอี่ยน (ปลาไหล) ให้เข้าไปกิน เช่น หอยทุบให้แตก กระดองปูทุบให้แหลก หรือสับตัวปลาให้เป็นต่อนน้อยๆ แล้วกะนำไปใส่ไว้ในบั้งลัน นำงาที่สานมาปิดไว้ที่ปากลัน โดยใช้ไม้สลักสอดใส่ในรูกันบ่ให้งาหลุด การดักกะเอาลันไปไว้ในน้ำลึกประมาณท่วมหัวเข่า ให้ลันอยู่ในแนวนอนกับพื้นดิน มักสิดักลันในบริเวณน้ำขุ่นๆ เมื่อเอี่ยนได้กลิ่นเหยื่อที่ล่อไว้ในลัน เอี่ยนกะสิหาหนทางเข้าไปกินเหยื่อ ยามตอนเช้า กะไปกู้ลันที่ดักเอาไว้ คันมีเอี่ยนติดอยู่ในลัน กะดึงสลักไม้ที่ขัดงาออกแล้วกะดึงงาออกมา ยกปากกระบอกลันใส่ในฮูข้อง เอี่ยนกะะร่วงลงไปในข้องพอดี เสร็จแล้วเฮากะเอาไปต้มเปรต อ่อม แกง ป่น ผัดเผ็ด ตามใจชอบได้เลย

e joo pla lai 4

ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกในการทำบั้งลันก็หันมาใช้ท่อ PVC (ท่อน้ำประปา) ขนาด 2 - 4 นิ้ว ยาว 1 - 2 เมตร มาทำแทนไม้ไผ่ แต่ส่วนงาปิดก็ยังคงใช้ไม้ไผ่สานเหมือนเดิมเพื่อให้เอี่ยนเข้าแล้วออกไม่ได้ (แอบไปพบภูมิปัญญาสมัยใหม่ เป็นการดัดแปลงคอขวดพลาสติกน้ำอัดลม ตัดให้เป็นริ้วใช้แทนงา เข้าท่าดีเหมือนกัน)

บั้งลันยุคใหม่ใช้ท่อพีวีซีแทนลำไม้ไผ่

แงบ ดักกบ

ngab dag kob 2แงบ ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปร่างคล้ายกระเป๋า มีขนาดประมาณ 20 x 30 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร ใส่งาไม้ไผ่ ส่วนด้านท้ายของแงบสามารถเปิดได้เพื่อเอากบออก เวลาใช้ดักกบจะใช้ไม้ไผ่ขัดไว้เพื่อป้องกันกบหนีออก

โดยทั่วไปเมื่อย่างเข้าหน้าฝน เราจะได้ยินเสียงกบ เขียด อึ่งอ่าง ออกมาจากการจำศีล ร้องระงมทั่วท้องทุ่งเพื่อเรียกคู่ผสมพันธุ์ กบในช่วงนี้จะค่อนข้างผอม กระดูกแข็งกินไม่อร่อยนัก ต้องให้ผ่านฝนไปอีกสักหน่อยพ้นฤดูผสมพันธุ์กบจะมีเนื้อหนัง ไขมันสะสม ก่อนจะเข้าจำศีลช่วงปลายหนาวต่อหน้าแล้ง การจับกบที่นิยมกันก็มีตั้งแต่การใส่เบ็ดกบ ใส่แงบดักกบ

โดยทั่วไปชาวบ้านนิยมนำแงบมาดักกบในช่วงเดือน สิงหาคม - พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงหลังฤดูทำนาของทุกปี แงบจะใช้ดักกบในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่จะดักบริเวณชายน้ำ โดยขุดดินบริเวณที่จะวางแงบเล็กน้อย หลังจากนั้นทำการลูบดินหน้าแงบให้เรียบ แล้วจึงหากิ่งไม้ ใบหญ้ามาคลุมบนแงบ เพื่อเป็นการอำพราง เหยื่อที่ใส่ในแงบได้แก่ พวกปลาเน่าหมัก ปูหมัก การวางแงบดักกบให้ได้ผลดีที่สุด เราควรจะเลือกวางในวันที่อากาศปลอดโปร่งไม่มีฝนตกนะครับ

ngab dag kob 1

ใส่แงบไม้ไผ่ดักกบแบบโบราณ

ได้กบมาแล้ว ก็นำไปทำอาหารได้เลย ไม่ว่าจะต้มกบใส่มะขามอ่อน ใส่ใบขะแยง ปิ้งกบกินกับตำถั่วปี (ถั่วออกสีม่วงเขียว) ป่นกบใส่น้ำปลาร้า หรือจะทำอ่อมกบ อั่วกบก็ตามชอบเลยครับ นึกไม่ออกดูคลิปนี่

รายการทุกทิศทั่วไทย : หมกกบ รสแซบจัดจ้าน

เบ็ด (ปลา, กบ, กุ้ง)

เบ็ด คือ เครื่องมือสําหรับตกปลา กบ หรือ กุ้ง ประกอบด้วยคันเบ็ด หรือเชือกราว มีเชือกหรือด้ายต่อกับตัวเบ็ดที่มีรูปเป็นขอสําหรับเกี่ยวเหยื่อ ส่วนมากมีเงี่ยง เมื่อปลา กบ หรือกุ้ง มากินเหยื่อจะถูกตะขอเกี่ยวปากไม่ให้ดิ้นหลุดออกไป

bed 1

ในฤดูน้ำหลาก เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และช่วงฤดูแล้ง เดือนธันวาคมถึงเมษายน คนหาปลาจะวางเบ็ดในบริเวณริมฝั่งที่มีพุ่มไม้ ในแม่น้ำใหญ่ที่มีถ้ำใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาขนาดใหญ่ห้วยสาขา หนอง วัง บุ่งในป่าทาม พบเห็นตามริมฝั่งแม่น้ำมูน ห้วยสาขาและแหล่งน้ำในป่าบุ่งป่าทาม

เบ็ด ที่เกษตรกรชาวอีสานใช้จะมีอยู่ 3 แบบใหญ่ๆ คือ

bed 6

1. เบ็ดราว จะประกอบด้วยเชือกยาวขึงตามริมฝั่งแม่น้ำ หรือขวางลำน้ำ เพื่อใช้ดักล่อปลาขนาดใหญ่ แล้วผูกเชือก, ด้ายไนล่อน หรือเส้นเอ็นบอร์ 60 - 100  ที่ผูกกับตัวเบ็ดเบอร์ 1 - 10 ที่เป็นเหล็กปลายงอ มีเงี่ยง (ดังภาพด้านบน) ที่จะเสียบเหยื่อล่อเป็นเหยื่อเป็น (ยังดิ้น กระดุกกระดิกได้ ไม่ตาย) หย่อนลงในน้ำไหล ซึ่งจะมีปลาขนาดใหญ่เช่น ปลาเคิง ปลาคัง ปลาค้าว ปลาบึก และอื่นๆ ในลำน้ำโขง ชี มูล และแม่น้ำสาขาต่างๆ

bed 2

2. เบ็ดคัน จะมี 2 แบบ คือ แบบที่ใช้จับปลาใหญ่เรียกว่า เบ็ดโยง (เบ็ดคันตรง) มีคันไม้ไผ่ก้านตรงยาวประมาณ 1 - 1.5 เมตร เหลากลมให้เกลี้ยงไม่มีเสี้ยน ด้านหนึ่งทำให้แหลมเพื่อใช้ปักลงในดิน ผูกกับสายเอ็นเบอร์ 60 ส่วนตัวเบ็ดจะใช้เบอร์ 4 - 16 สำหรับจับปลาตัวใหญ่ในฤดูน้ำหลาก ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งก็จะใช้เส้นเอ็นและเบ็ดขนาดเล็กลง เพราะจะไม่มีปลาขนาดใหญ่มากนัก แบบที่ 2 ใช้จับปลาขนาดเล็ก เรียก เบ็ดคันงอ จะใช้คันเบ็ดไม้ไผ่ที่เหลาให้ด้านปลายที่ผูกเข้ากับขอเบ็ดนั้นอ่อนโค้ง ความยาวของคันเบ็ดประมาณ 80 เซนติเมตร โดยทั่วไปจะใช้เบ็ดเบอร์ 15 - 20 ใช้สายเอ็นเบอร์ 40 - 45 แต่หากใช้สายไนล่อนจะใช้เบอร์ 4 - 6 นิยมปักคันเบ็ดตามห้วย หนอง คลองขนาดเล็ก ตามคันนาในฤดูฝน ซึ่งปลาที่จับได้ก็จะเป็น ปลาดุก ปลาข่อ (ช่อน) ปลาหลาดหรือปลากระทิง ปลาเข็ง ปลาขาว เอี่ยน ปลาก่า ปลากั้ง ปลากด  ปลาหลด ปลาตอง ปลาผอ ปลาปาก

bed 3

3. เบ็ดกบ จะทำจากไม้ไผ่เหลากลมเกลี้ยงปลายด้านหนึ่งแหลม มีความยาวประมาณ 25 - 30 เซนติเมตร

bed 4

เกษตรกร ผู้มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ท้องทุ่งต่างมีวิธีการพึ่งพาธรรมชาติ อย่าง "ทุ่งนา" แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งพืช ผัก และสัตว์ต่างๆ ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ การหาอยู่หากินจึงถูกพัฒนาและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

bed 5

เว้านัว หัวหม่วน ย้อนว่า ไปลักยามเบ็ดผู้อื่นบ้อสู อย่าหาเฮ็ด หาทำเด้อบักหล้าเอย...

ที่นี่บ้านเรา สารคดีโดย กอนกวย กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ วันนี้จะไปกันที่ชุมชนบ้านหนองขนาน อ.ขุนหาญ จ.ศรีษะเกษ ไปดูวิถีการดักจับสัตว์น้ำด้วยลอบ การวางเบ็ด ของเหล่าเกษตรกร

ที่นี่บ้านเรา : เพชฌฆาตน้ำจืด

redline

backled1

isan vocation

มันสำปะหลัง

แหล่งปลูกมันสำปะหลังดั้งเดิม

มันสำปะหลัง เป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยสันนิษฐานไว้ 3 แหล่ง คือ

  • บริเวณอเมริกากลาง แถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เปรู โดยพบพันธุ์ป่า และเมล็ดมันสำปะหลังที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 4000 ปี
  • ทางเหนือของอเมริกาใต้ แถบชายฝั่งทะเลคาริบเบียน ประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเวลา โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี และพบพันธุ์ป่าขึ้นอยู่บ้าง
  • ประเทศบราซิล โดยพบว่าในประเทศนี้พบมีพันธุ์ป่าของมันสำปะหลังจำนวนมาก

โดยพบว่าชาวพื้นเมืองของประเทศเหล่านี้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นอาหาร จากหลักฐานทางโบราณคดี มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปหัวมันสำปะหลังที่ประเทศเปรู เครื่องปั้นนี้มีอายุประมาณ 2,500 ปี แสดงว่า มนุษย์เรานั้น รู้จักใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารมานานเกินกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

ในสมัยโบราณก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส สำรวจพบทวีปอเมริกาในปี พ.ศ. 2035 ก็มีการปลูกมันสำปะหลังอยู่เฉพาะในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเท่านั้น ส่วนในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ยังไม่มีการปลูกมันสำปะหลัง เพราะยังไม่มีการติดต่อกัน ต่อมาจึงมีการนำมันสำปะหลังจากทวีปอเมริกา ไปแพร่กระจายยังทวีปแอฟริกา และเอเชีย ตามลำดับ

man sam pa lang 01

การนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใด และอย่างไร แต่สันนิษฐานกันว่า คงจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ พ.ศ. 2329 - 2383 คาดว่าคงมีผู้นำเข้ามาจากมาลายูเข้ามาปลูกทางภาคใต้ ราว พ.ศ. 2329 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำใน ภาษาชวาตะวันตก ซึ่งเรียกมันสำปะหลังว่า สัมเปอ (Sampue) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำใน ภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่

การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ช่วงแรกที่ปลูกในภาคใต้นั้น เป็นมันสำปะหลังชนิดหวาน ใช้ทำขนม ต่อมาจึงนำเข้าพันธุ์ชนิดขมสำหรับปลูกส่งโรงงานในภายหลัง โดยปลูกเป็นพืชแซมระหว่างแถวต้นยางพาราขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา มีโรงงานผลิตแป้งมันและโรงงานทำสาคูส่งออกไปยังปีนังและสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าในภาคใต้นั้นค่อยๆ หมดไป เพราะการปลูกแซมในระหว่างแถวต้นยางพาราและพืชยืนต้นอื่นๆ นั้น เมื่อปลูกได้ 4 - 5 ปี ต้นยางพาราก็โตคลุมพื้นที่หมด ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้อีกต่อไป จึงได้ย้ายแหล่งปลูกไปยังภาคตะวันออกที่ จังหวัดชลบุรี และระยอง

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ภาคที่มีการปลูกมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 54.5) รองลงมา คือ ภาคกลาง (ร้อยละ 25.6) และภาคเหนือ (ร้อยละ 19.9) พื้นที่รวม 48 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตรวมกว่า 30.23 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2556

จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ ได้แก่ นครราชสีมา กำแพงเพชร กาญจนบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ ชัยภูมิ เนื้อที่เพาะปลูกของ 6 จังหวัดนี้ เมื่อรวมกันแล้ว มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ

man sam pa lang 02

มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เช่นเดียวกับ ปอแก้ว ปอกระเจา ตัวผู้เขียนเองมีประสบการณ์ในการปลูกมันสำปะหลังบ้างนิดหน่อย ตอนนั้นทางบ้านได้ไปลงทุนบุกเบิกทำไร่มันที่ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ทำอยู่ 4 - 5 ปี ก็ประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ไม่คุ้มทุน เลยขายที่ทางกลับมาทำนาที่อุบลราชธานีเหมือนเดิม (เรียกว่า เจ๊ง ไม่รอดเลย) แต่มันสำปะหลังก็ยังคงนิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน

มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ยอดใบ จนถึง ราก (หัวมัน) เพื่อการบริโภค เป็นอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์ รวมถึงใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ

  1. ใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยใช้ส่วนหัว นำมา ต้ม นึ่ง ย่าง อบ เชื่อม เป็นอาหารชนิดต่างๆ ส่วนใบ นำมา ต้มจิ้มน้ำพริก
  2. ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งที่เป็นหัวสด กากที่เหลือจากการทำแป้ง เปลือกของหัวใบสด ตากแห้งป่นผสมเป็นอาหารสัตว์
  3. ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ใช้เพื่อผลิตเป็น มันสำปะหลังเส้น (cassava chips/shredded) มันสำปะหลังอัดเม็ด (cassava pellets) แป้งมันสำปะหลัง (cassava flour/tapioca flour) และจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งแปรรูป (modified starch) ชนิดต่างๆ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น สาคู ตลอดจนใช้แป้งมันช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการผลิตซอสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ และอาหารกระป๋องต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรส รวมถึงการผลิตไลซีน และสารให้ความหวานต่างๆ

อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร เช่น อุตสาหกรรมทำกาว อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นตัวฉาบผิวด้วยกาวจากแป้ง ทำให้กระดาษเรียบ คงรูปร่าง ช่วยทำให้กระดาษไม่ซึมหมึกพิมพ์สี อุตสาหกรรมซักรีด อุตสาหกรรมยาสีฟัน และเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และสารดูดน้ำในการผลิตผ้าอ้อม (แพมเพิร์ส) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่  เป็นต้น

อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิต เอทานอล เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอลล์

man sam pa lang 03

ความเป็นพิษในมันสำปะหลัง

ในส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังจะมี กรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid ,HCN) ซึ่งเกิดจาก การแตกตัวของสารประกอบไซยาโนเจเนติก กลูโคไซด์ (cyanogenetic glucosides) ให้สารพิษในรูปกรดไฮโดรไซยานิค ที่มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ถึงตายได้ เนื่องจากทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง

man sam pa lang 04

ได้มีการแบ่งชนิดของหัวมันตามระดับของสารพิษที่มีอยู่ ดังนี้คือ ถ้าหัวมันสำปะหลังสดมีกรดไฮโดรไซยานิกต่ำกว่า 50 ส่วนในล้านส่วน ถือว่า เป็นประเภทมีพิษน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ถ้าหัวมันสำปะหลังสด ที่มีกรดไฮโดรไซยานิกอยู่ในช่วง 50-100 ส่วนในล้านส่วน ถือว่ามีพิษ ปานกลาง แต่ถ้ามีกรดไฮโดรไซยานิกสูงกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน ถือว่า มีพิษรุนแรง มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 1 ที่ปลูกกันในประเทศไทย เพื่อผลิตมันเส้น มันอัดเม็ดและแป้งมัน จัดอยู่ในประเภทที่มีพิษรุนแรง ได้มีการรายงานถึงระดับที่เป็นพิษของกรดไฮโดรไซยานิก ในคนและสัตว์ว่า ถ้าได้รับกรดไฮโดรไซยานิกประมาณ 1.4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะเป็นพิษถึงตายได้

สารพิษในรูปกรดไฮโดรไซยานิคนี้ มีมากที่เปลือกของหัวมันสำปะหลัง และที่ใบ ยอดอ่อน แต่สารนี้จะสลายตัวได้ง่าย เมื่อถูกความร้อน ดังนั้นวิธีการลดความเป็นพิษในหัวมันสำปะหลัง ก่อนนำมาบริโภค คือ

  1. ปอกเปลือก เนื่องจากสารกลูโคไซด์จะสะสมอยู่ในเปลือกมากกว่า ในเนื้อมันสำปะหลัง การปอกเปลือกจึงเป็นการกำจัดสารดังกล่าวได้ดีที่สุด
  2. ล้างน้ำและแช่น้ำ เนื่องจากสารกลูโคไซด์ละลายน้ำได้ดีมาก ดังนั้น การล้างน้ำและแช่น้ำนานๆ กลูโคไซด์จะละลายไปกับน้ำ
  3. การหั่น สับ ขูด หรือบดเป็นชิ้นเล็ก และตากแดดให้แห้ง จะช่วยเร่งปฏิกิริยาลดความเป็นพิษลงได้เช่น ในกระบวนการทำมันเสัน มันอัดเม็ด
  4. การใช้ความร้อน เนื่องจากกลูโคไซด์สลายตัวได้ดีมากที่อุณหภูมิ 150 ํซ. ดังนั้นเมื่อนำหัวมันสำปะหลังมาทำให้ร้อนจะด้วยวิธีอบ นึ่ง ต้ม เผา ความเป็นพิษจะหมดไป
  5. การหมักดองหัวมันสำปะหลัง ทำให้เกิดกรดอินทรีย์ขึ้น ซึ่งมีผลในการไฮโดรไลส์สารกลูโคไซด์ที่มีในหัวมัน ทำให้เกิดแก๊สไฮโดรไซยาไนด์ ระเหย และความเป็นพิษลดลง

man sam pa lang 05

วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สามารถลดความเป็นพิษ ด้วยการลดสารกลูโคไซด์ในมันสำปะหลังลงได้มากจนถึงหมดไป เป็นผลให้มันสำปะหลังใช้บริโภคได้ โดยไม่เป็นพิษต่อร่างกายเลย ถึงแม้ว่าในบางครั้ง ก่อนบริโภคจะขจัดสารที่มีพิษออกไม่หมด แต่ถ้ามีสารดังกล่าวหลงเหลือ อยู่บ้างในปริมาณเล็กน้อย เมื่อรับประทานเข้าไปสารนี้จะถูกน้ำย่อยในลำไส้ย่อยได้อีก ฉะนั้นโอกาสที่สารพิษในหัวมันสำปะหลังจะเป็นพิษ ต่อการบริโภคนั้นจึงมีน้อยมาก ถ้าเราได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องในการเตรียมอาหาร

การปลูกมันสำปะหลัง

ในอดีตการปลูกมันสำปะหลังเป็นที่นิยมปลูกเพราะ ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความทนแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ในแหล่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ (ดินร่วนปนทราย หรือดินทราย) ไม่จํากัดเวลาการเก็บเกี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีแรงงานเพียงพอ และทิ้งไว้ในแปลง รอเก็บผลผลิตออกขายในช่วงที่ได้ราคาดีก็ได้ เมื่อมีการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ ดินมักเสื่อมคุณภาพ ต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก เกษตรกรสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้ โดยปลูกปอเทืองหรือถั่วพร้า เป็นปุ๋ยพืชสดแล้วไถกลบ ระหว่างปลูกอย่าละเลยการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราไร่ละ 100-200 กิโลกรัม

พันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูก

เกษตรกรควรใส่ใจเลือกพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะกับสภาพดินที่ใช้ปลูก เช่น

  • ดินร่วนเหนียว เรียกว่า เป็นดินดีสำหรับปลูกมันสำปะหลัง ให้ใช้ พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 ไม่แนะนำให้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบง 60 และระยอง 9 เพราะต้นมันสำปะหลังทั้ง 4 สายพันธุ์ จะเจริญเติบโตในส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมากกว่าลงหัว ซึ่งลักษณะดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกันว่า ขึ้นต้น หรืออาการบ้าต้น บ้าใบ เกินไปนั่นเอง
  • ดินร่วนทราย ถือว่า เป็นดินปานกลางถึงเลว ควรเลือกปลูกพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบง 60 และ ระยอง 9

สำหรับ พันธุ์ระยอง 7 เหมาะสำหรับปลูกในแหล่งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นตลอดช่วงของการเจริญเติบโต แต่ไม่ควรปลูกพันธุ์ระยอง 7 ในสภาพดินที่แห้งแล้งขาดน้ำ

แม้ว่า มันสำปะหลังเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่การเจริญเติบโตและผลผลิตก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วยเช่นกัน จึงควรปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ กุมภาพันธ์-มีนาคม รองลงมาคือ ช่วงต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และช่วงปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เพื่อให้ได้รับน้ำและความชื้นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ปลูกมันสำปะหลังยุคใหม่ ไม่ต้องรอเทวดาช่วย

1. การเตรียมดิน

หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดินเพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหรือเครือเถาต่างๆ ควรใช้ยาสตาร์เรนฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้น ไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (อย่าเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20-30 ซม. แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20-30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่

2. การเตรียมท่อนพันธุ์

ใช้ท่อนพันธุ์มันที่สด อายุ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกินประมาณ 15 วัน โดยติดให้มีความยาวประมาณ 20 ซม. มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในยาแคปแทน 1.6 ขีด (160 กรัม) ผสมร่วมกับมาลาไธออน 20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที ก่อนปลูก

3. การปลูก

ปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรงลึกในดินประมาณ 10 ซม.

4. การฉีดยาคุมเมล็ดวัชพืช

สำหรับการปลูกในฤดูฝนสภาพดินชื้น ควรฉีดยาคุมวัชพืชด้วยยาไดยูรอน (คาแม็กซ์) หลังจากการปลูกทันที ไม่ควรเกิน 3 วัน หรือก่อนต้นมันงอก หากฉีดหลังต้นมันงอก อาจทำให้ต้นมันเสียหายได้ ใช้ยาในอัตรา 6 ขีด (600 กรัม) ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นได้ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง

การปลูกของเกษตรกรยุคใหม่จะไม่ใช้สารเคมีแล้ว แต่ใช้เครื่องจักรการเกษตรที่เหมาะสมมาแทน ซึ่งปลอดภัยกว่าและเป็นการทุ่นแรงงานได้มาก อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย

5. การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย

กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 1 ประมาณ 30-45 วัน หลังการปลูก โดยใช้รถไถเล็กเดินตาม หรือ จานพรวนกำจัดวัชพืช ติดท้ายรถแทรกเตอร์ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25-50 กก./ไร่ ห่างจากต้นมัน 1 คืบ (20 ซม.) จากนั้นใช้จอบกำจัดวัชพืชส่วนที่เหลือ พร้อมกับกลบปุ๋ยไปด้วย หรือใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุม ห่างจากโคนต้น 1 คืบ แล้วกลบดินตามก็ได้ ข้อสำคัญควรใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2 ประมาณ 60-70 วัน หลังการปลูก โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับครั้งแรก กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 3 ตามความจำเป็น โดยใช้จอบถาก หรือฉีดพ่นด้วยยากรัมม๊อกโซน (ควรใช้ฝากครอบหัวฉีด เพื่อป้องกันไม่ให้ยาโดนตาและลำต้นมัน)

6. การเก็บเกี่ยว

ทำการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ประมาณ 10-12 เดือน พร้อมทั้งวางแผนการเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อการปลูกในคราวต่อไปส่วนของต้นมันสำปะหลังที่ไม่ใช้ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน หรือ ลำต้น ควรสับทิ้งไว้ในแปลง เพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสดในดินต่อไป

การเก็บเกี่ยว มันสำปะหลัง ระยะที่เหมาะสมคือ ช่วงอายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อนจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

มันสำปะหลัง เป็นสินค้าพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญของโลก จากข้อมูล FAO ปี 2555 มีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับที่ 8 ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก รองจาก อ้อย ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ผักต่างๆ ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังรวมทุกประเทศผลิตได้ประมาณ 200 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของผลผลิตพืชผลทางการเกษตรของโลก นอกจากนั้น มันสำปะหลังยังเป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร ของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ สำหรับในทวีปเอเชีย ประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ยังคงมีการบริโภคมันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก ปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีร้อยละ 60 ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ร้อยละ 27.5 ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ และร้อยละ 12.5 ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย มันสำปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ มีปริมาณการผลิตมากกว่า 20 ล้านตันในแต่ละปี โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาจาก ประเทศไนจีเรีย แต่มีการใช้บริโภคภายในประเทศเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ส่งออกไปยังตลาดโลก โดยในปี 2556 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกว่า 12.15 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่ารวมกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลกด้วย แต่เกษตรกรผู้ปลูกก็ยังมีรายได้น้อยอยู่

การฝานมันสำปะหลังตากแห้ง

เรื่องขำๆ ส่งท้าย

มันสำปะหลัง นี่ไม่ต่างจาก "ปอแก้ว" ถ้าเข้าเขตที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากๆ ท่านจะได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของมันสำปะหลัง (กลิ่นเหม็น) โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่า "ลานมัน" (ลานตากมันสด) ซึ่งเป็นลานคอนกรีตขนาดใหญ่ จะมีการใช้เครื่องฝานหัวมันสดให้เป็นแผ่นบางๆ นำไปตากให้แห้ง ก่อนส่งเข้าโรงงานทำแป้งมัน หรือโรงทำมันอัดเม็ด ตอนที่ยังไม่แห้งสนิทนี่แหละ จะมีกลิ่นเอกลักษณ์โชยไปไกลได้นับกิโลเมตร ขับรถหรือเดินทางผ่านแม้แต่คนตาบอดก็บอกได้ว่า นี่ผ่านลานมันแน่เลย

man sam pa lang 06

เรื่องฮาๆ มีอยู่ว่า สมัยผมไปทำไร่มันที่เสิงสาง โคราช มีลูกน้องหนุ่ม-สาวคู่หนึ่งรักใคร่ชอบพอกัน ก็เลยมาขอให้ทางผมเป็นเฒ่าแก่จัดงานแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี หลังจากนั้นไม่นาน ผมมีเหตุที่ต้องเดินผ่าน "กระท่อมข้าวใหม่ปลามัน" หลังนั้นตอนหัวค่ำ เพื่อไปเอารถปิ๊กอัพที่จอดอยู่ข้างๆ กระท่อมเข้าไปทำธุระในเมือง ยังไม่ทันได้ถึงรถก็ได้ยินเสียงชายหนุ่มพูดกระซิบเบาๆ ลอดออกจากกระท่อมมาว่า...

"โอ้ น้อง ยังกะลานมันเลย" แล้วก็ได้ยินเสียงหัวเราะคิกคักอย่างมีความสุข สนุกสนานกันไปตามประสาผัวเมียคู่ใหม่ คำว่า "ยังกะลานมัน" นี่มันมี 2 นัยยะ 2 ความหมาย อยู่นะครับ

ถ้าเป็นน้องผู้หญิงตีความ เธออาจจะยินดีปรีดาที่สามีบอกอย่างนั้น เพราะเธอแปลความหมายเอาเองว่า "นาผืนน้อยของเธอนั้น ช่างกว้างใหญ่ไพศาล ราวกับลานมัน จนสามีลุ่มหลง ตื่นเต้นขนาดนี้ได้" จริงไหม?

แต่ถ้าเป็นผู้ชายแบบอาวทิดหมู อาจจะตีความต่างออกไปว่า "นาผืนน้อยของเธอกลิ่นช่างรุนแรงเหลือเกิน ยังกะกลิ่นของลานมันก็ได้" (555) มันเป็นเช่นนี้แล... พี่น้อง มองใครมองมันตามจินตนาการนะครับ

man sam pa lang 07

คำชมที่บอกว่า "ยังกะลานมัน" นั่นควรมีความหมายใด โปรดได้บอกอาวทิดหมูด่วนเลยนะน้อง

redline

backled1

isan vocation

ka so 00กะโซ้ (เครื่องมือวิดน้ำ)

กะโซ้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิดน้ำออกจากบ่อ หรือที่นา ในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องจักรประเภทเครื่องสูบน้ำ การวิดน้ำจากนา จากบ่อ หรือจากสระน้ำ จะใช้ภาชนะที่มีขนาดจุน้ำให้มากพอสมควร ทำการตักน้ำออกทิ้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความล่าช้า และความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อแขน จึงได้มีการคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยในการวิดน้ำขึ้น โดยอาศัยหลักของแรงเหวี่ยงของแขน ทำให้สามารถวิดน้ำได้เร็วขึ้น และออกแรงน้อยลง นั่นคือ กะโซ้ นั่นเอง (คนโบราณกะฮู้จักการใช้แรงตามกฎฟิสิกส์คือกันเด้อ)

ตัวกะโซ้ ทำมาจากการสานด้วยไม้ไผ่ เพื่อให้มีน้ำหนักเบา มีคันสำหรับจับและดันส่งแรงในการวิดน้ำ กะโซ้ในภาคอื่นจะมีชื่อเรียกแปลกออกไป เช่น โชงโลง ชงลง หรือ พงน้ำ ซึ่งก็อันเดียวกับ กะโซ้ คันโซ้ ในภาคอีสาน ที่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิดน้ำ เพื่อทำการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ หรือวิดน้ำจับปลาไว้เป็นอาหาร

กะโซ้ ชงโลง หรือ โพง เป็นเครื่องวิดน้ำ โดยการโพงน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จึงมักเรียกว่า “โพง” เครื่องวิดน้ำ พื้นบ้านชนิดนี้มีใช้ทุกภาคของประเทศ รูปแบบอาจแตกต่างกันไปบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่รูปแบบหลักๆ และลักษณะการใช้งานจะเหมือนกันแทบทั้งสิ้น

สมัยทิดหมูยังน้อย กะเคยแบกกะโซ้ไปสาปลาข้อน กับอีพ่ออยู่นาอยู่เด้อ บางทีกะเห็นพ่อไปสาน้ำจากหัวไฮ่ปลายนาเข้าใส่ตากล้า ไปหาปลาในหนองยามน้ำขอดกะใช้กะโซ้ สมัยสู่มื้อนี้สะดวกกว่าหลาย ย้อนเพิ่นมีเครื่องสูบน้ำน้อยใหญ่มาใช้แทน

กะโซ้ น. โชงโลง โชงโลง เรียก กะโซ้ คันโซ้ ก็ว่า สานด้วยไม้ไผ่ มีคันจับใช้วิดน้ำเข้านา หรือวิดน้ำในหนองเพื่อจับเอาปลา อย่างว่า ตกตาว่าได้จับคันโซ้ลงหนองสาสาด ซิฟาดให้แห้งเอาปลาต้มใส่งาย (ผญา). long-handled scoop-shaped basket suspended from a tripod used for scooping water over a dike.

 

กะโซ้ น. ชื่อแมลงชนิดหนึ่ง ตัวเล็ก รูปร่างคล้ายคันโซ้ อาศัยอยู่ในน้ำ เรียก แมงกะโซ้ แมงคันโซ้ แมงปอ ก็เรียก. a type of small water insect shaped similar to water-scoop basket. "

 

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

mang kaso 01

กะโซ้ หรือ ชงโลง มีสองชนิดคือ ชนิดที่สานด้วยไม้ไผ่ และชนิดที่ทำด้วยไม้จริง กะโซ้ทั่วไปจะมีรูปร่างคล้ายช้อน หากเป็นกะโซ้ไม้ไผ่มักจะสานทึบทั้งหมด เพื่อไม่ให้น้ำรั่ว กะโซ้จะมีด้ามไม้ไผ่ผูกติดอยู่กลางปาก ด้ามกะโซ้จะมีทั้งแบบยาวและแบบสั้น หากเป็นด้ามสั้นจะใช้วิดน้ำโดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่ด้ามกะโซ้ค่อนไปข้างหน้า มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามกะโซ้ที่ยื่นพ้นออกไปจากตัวกะโซ้ค่อนไปข้างหน้า มืออีกข้างหนึ่งจับด้ามโพงที่ยื่นพ้นออกไปจากตัวกะโซ้เล็กน้อยวิดน้ำโดยการแกว่งกะโซ้จ้วงตักน้ำแล้วสาดไปข้างหน้า

กะโซ้ มีลักษณะคล้ายเรือครึ่งท่อน แต่มีลักษณะเล็กกว่า วัสดุที่นำมาทำกะโช้ใช้ผิวไม้ไผ่มาจักเป็นตอก และมักจะสานเป็นลายสองหรือลายสาม ที่ปลายขอบจะเหลาไม้ไผ่หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ประกบตอกที่สานในส่วนปลายขอบ เพื่อให้มีความคงทนถาวร ไม่หลุดลุ่ยได้ง่าย ไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับประกบนั้นจะมัดด้วยหวาย ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า การขอดหัว หรือ การขอดหัวแมลงวัน เป็นการผูกมัดเงื่อนหวายให้แน่นวิธีหนึ่ง

ka so 01

กะโซ้ มีด้ามยาวๆ ทำด้วยไม่ไผ่เช่นกัน ไม้ไผ่ส่วนปลายที่ติดกับปากกะโซ้ ใช้ไม้จริงค่อนข้างเหนียว สมัยโบราณนิยมใช้ไม้ข่อย เจาะรูที่ไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ข่อยสอดรูให้ได้พอดิบพอดี มีลักษณะเหมือนไม้กางเขน ใช้หวายผูกมัดไม้ข่อยอีกครั้ง ส่วนปลายบนอาจจะทำในลักษณะค้ำยันด้วยไม้ไผ่สามเส้า ชาวบ้านเรียก ขาหยั่ง หรือ ห่างฮะ เอาปลายเชือกมัดหลักที่ค้ำยันนั้น เวลาโพงน้ำหรือวิดน้ำจะจับด้ามกะโซ้ตักน้ำสาดไปข้างหน้า ช่วยทุ่นแรงมากกว่าและใช้ได้นาน

การทำกะโซ้

ใช้ไม้ไผ่ความยาว 80 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร ผ่าเป็นชิ้นๆ จักเป็นตอกกว้าง 2 เซนติเมตร หนาครึ่งมิลลิเมตร นำมาสานลายสองให้ความกว้างยาวตามต้องการและม้วนก้นใส่ขอบ ใช้หวายถักรอบขอบเข้ากับก้านไม้ไผ่แข็ง นำคันกะโซ่ ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ยาวประมาณ 2.50 เมตร มาติดใช้หวายถักมัดและดึงรั้งขอบของกระโซ้ทั้งสองด้านให้หุบเข้าหากัน

กะโซ่ : เครื่องมือหาปลา ตำนานที่จะเลือนหายไป

วิธีการใช้งาน

โดยทั่วไปสำหรับคนถนัดมือขวา ให้ใช้มือซ้ายจับที่คันบริเวณด้านขอบในตัวกระโซ้ มือขวาจับคันด้านนอกตักน้ำจากที่ต้องการ ใช้มือขวาเป็นแรงส่งดันเทน้ำไปยังอีกฟากหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีการทำขาหยั่ง 3 ขา สูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร ขาด้านบนไขว้ทับกัน ด้านล่างถ่างออกให้มึความกว้างมากกว่าตัวของกะโซ้พอสมควร ใช้เชือกผูกขาหยั่งด้านบนตรงกลางห้อยลงมา ผูกตรงบริเวณกลางขอบในของกะโซ้ ผู้ใช้ใช้มือทั้งสองข้างจับที่ปลายคันของกระโซ้ปักดิ่งลงไปตักน้ำแล้วเหวี่ยงเททิ้งไปข้างหน้า วิธีนี้จะผ่อนแรงกว่าวิธีแรกมาก ชาวบ้านเรียกว่าการทำ ขาหยั่ง หรือ ห่างฮะ 

ka so 02

ปัจจุบัน การใช้กะโซ้วิดน้ำเพื่อการเกษตรหรือการจับสัตว์น้ำ มักไม่ค่อยใช้กันเหมือนในอดีตแล้ว เพราะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาใช้แทนที่ บางสถานที่ยังมีการใช้กะโซ้อยู่บ้าง แต่กะโซ้สมัยใหม่แทนที่จะสานด้วยไม้ไผ่ ก็จะใช้กระป่อง แกลลอนพลาสติก หรือปี๊บ ทำเป็นกะโซ้ใช้วิดน้ำแทนได้

กะโซ่ : หาปลา วิดน้ำแบบโบราณ

 

กงพัด, หลุก หรือ ระหัดวิดน้ำ แบบอีสานโบราณ

กงพัด

กงพัด น. ระหัด พัดลม เครื่องวิดน้ำเข้านา เรียก กงพัด กงหัน ก็ว่า คนโบราณอีสานเมื่อต้องการน้ำในแม่น้ำขึ้นมาทำนาก็ใช้กงพัดหรือกงหัน ดึงเอาน้ำขึ้นมา เรียก หมากปิ่น ก็ว่า อย่างว่า เชื่อกงหันลมต้องปิ่นหันลิ่นลิ่นปานคนหมุน(กลอน). waterwheel, windmill. "

 

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

กงพัด หมายถึง ระหัดวิดน้ำเข้านา โดยใช้ไม้ทำเป็นรางระหัดให้น้ำไหลผ่าน ซึ่งมีใบระหัด (ภาษาอีสานเรียกว่า แป้นพัดน้ำ) เป็นตัวกวาดน้ำให้ขึ้นมาตามรางระหัด เมื่อขณะที่ชาวนาใช้เท้าถีบคันฉุดล้อจะหมุนฉุดคันระหัดเลื่อนไป โดยกวาดน้ำให้ไหลขึ้นไปตามรางระหัดด้วย (ในภาคกลางทำนาเกลือใช้ระหัดชนิดเดียวกัน ต่างแต่ใช้กังหันลมฉุดให้ลากใบระหัดกวาดน้ำไหลเข้านาเกลือ)

กงพัด ในภาษาอีสานนั้นยังหมายถึง กงพัดน้ำในพิธีฮดสรงพระ ด้วย

IR ระหัดวิดน้ำ

ลักษณะของกงพัด

กงพัด เป็นเครื่องมือใช้ในการวิดน้ำเข้านา ทำจากไม้กระดาน มีกลไกซับซ้อนกว่าเครื่องมือพื้นบ้านอื่นๆ ประกอบด้วย

  1. เรือนกงพัด ทำด้วยโครงไม้กระดานแข็งแรง มีความยาวประมาณ 2.50 เมตร กว้าง 0.25 เมตร สูง 0.40 เมตร รางน้ำยาวประมาณ 2.30 เมตร กว้าง 15 เซนติเมตร สูง 20 – 30 เซนติเมตร รางน้ำทำด้วยไม้กระดานตอกติดกันเป็นราง ใช้ชันยากันน้ำรั่ว
  2. กง หรือ กงล้อ กงล้อยึดแน่นอยู่ทั้งด้านหัวและด้านท้าย มีขนาดเท่ากัน ประกอบด้วยเพลามีซี่กงล้อ 8 ซี่ ซึ่งทำหน้าที่ฉุดใบระหัดให้เคลื่อนตัวกวาดน้ำให้ไหลขึ้นไปตามรางน้ำ กงล้อด้านหัวนั้นจะมีเพลายาวยื่นออกมาต่อกับคันฉุดหรือที่ถีบระหัด
  3. ใบระหัด หรือ แป้นพัดน้ำ ทำด้วยไม้กระดาน ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สูง (ยาว) 15 เซนติเมตร ตรึงติดกับไม้แกนที่มีข้อต่อติดกันเป็นสายเหมือนสายโซ่

look ra had wid nam 2

วิธีใช้งาน

นำกงพัดไปวางให้ด้านท้ายลงแช่ในน้ำ โดยให้ส่วนหัวไปพาดกับคันนาที่จะชักน้ำเข้า ชาวนาจะใช้เท้าถีบคันฉุด (เหมือนถีบจักรยาน) คันฉุดจะลากใบระหัดให้เคลื่อนที่ ส่วนแป้นพัดน้ำจะกวาดเอาน้ำให้ไหลขึ้นไปตามรางน้ำของระหัด หากถีบคันฉุดเรื่อยๆ น้ำจะไหลเข้านาเรื่อยๆ

หลุก ระหัดวิดน้ำ อีกแบบที่ใช้พลังจานจากน้ำโดยตรง

ระหัดวิดน้ำ หรือที่ในภาคอีสาน เรียกว่า "หลุก" เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดน้ำมาใช้ในการเกษตร ระหัดวิดน้ำทำจากไม้ไผ่เกือบทั้งหมด

พัดทดน้ำ มรดกจากบรรพบุรุษ : รายการซีรีส์วิถีคน ThaiPBS

ส่วนประกอบของระหัดวิดน้ำ มีองค์ประกอบหลัก 14 อย่าง คือ

  1. หลักค้ำ จำนวน 4 ตัว ทำหน้าที่เป็นเสารองรับหรือค้ำระหัดไว้ทั้งตัว
  2. คาน ทำหน้าที่รองรับหมอนรองดุม และระหัดทั้งตัว
  3. หมอนรองดุม ทำหน้าที่รองรับ หรือหนุนดุมแกนระหัด
  4. ดุม ทำหน้าที่เป็นแกนหมุน คล้ายเฟืองรถยนต์เพื่อให้ระหัดหมุนวิดน้ำได้คล่องตัว
  5. กำระหัด มีทั้งหมด 38 - 40 กำ ทำหน้าที่คล้ายกำล้อเกวียน หรือซี่ล้อรถจักรยานเพื่อยึดรอบดุมให้เป็นวงกลมแข็งแรง
  6. กงระหัด ทำหน้าที่เป็นวงกลม (วงนอก) เชื่อมต่อเข้ากับกำ เพื่อยึดกำระหัดให้แข็งแรงไม่เลื่อนหลุด
  7. คื่อ หรือ ขื่อ เป็นคานรองรับรางรับน้ำ
  8. ตาด อยู่บริเวณปลายกำ มีลักษณะคล้ายพัดทำหน้าที่กั้นหรือตักน้ำเข้ากระบอกไม้ไผ่ (บั้งน้ำ)
  9. บั้ง หรือ กระบอกน้ำ ทำหน้าที่รับน้ำจากตาดส่งต่อไปให้กับรางรับน้ำ
  10. รางรับน้ำ ทำหน้าที่รับน้ำจากบั้งน้ำ ให้ไหลส่งต่อไปรางส่งน้ำอีกทอดหนึ่ง
  11. รางส่งน้ำ ทำหน้าที่ส่งน้ำไปให้ไหลเข้าแปลงนา
  12. รวงน้ำ ทำหน้าที่บีบน้ำหรือบังคับน้ำให้น้ำไหลเข้าสู่ระหัด สัมผัสกับตาดให้เกิดแรงดันหมุนระหัด (ทำหน้าที่คล้ายกับฝายกั้นน้ำเปลี่ยนทิศทางให้น้ำไหลเร็วแรงมายังตัวใบตาด เพิ่มกำลังฉุดลากกังหัน)
  13. ราวกั้นน้ำ ทำหน้าที่เหมือนฝายทดน้ำหรือคูกั้นน้ำ
    14. ปล่องเรือ อยู่บริเวณราวกั้นน้ำ เป็นช่องควบคุมระดับน้ำและระบายน้ำฉุกเฉิน หากปริมาณน้ำมีมากในหน้าฝน

look ra had wid nam 1

ปัจจุบัน ระหัดวิดน้ำ ยังพบอยู่บริเวณน้ำลำตะคอง ใช้หนาแน่นมากบริเวณต้นน้ำและกลางน้ำในเขตอำเภอปากช่อง สีคิ้ว และสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบในบริเวณลำปะทาว ในพื้นที่ ตำบลนาเสียว นาฝาย และบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ประโยชน์ของระหัดวิดน้ำ

  • ประหยัดพลังงานและเป็นพลังงานทางเลือก
  • มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในฤดูทำนา
  • สามารถดักปลา กุ้ง และสัตว์น้ำเล็กๆ ได้
  • เป็นที่กักเก็บน้ำ
  • เป็นแหล่งขยายพันธ์ปลา
  • ใช้เป็นเส้นทางเดินข้ามคลอง
  • สามารถใช้วัสดุธรรมชาติท้องถิ่นซ่อมแซมได้ง่าย
  • มีอายุการใช้งานยาวนานประมาณ 20-30 ปี
  • สร้างความสามัคคีในชุมชน เพราะชาวบ้านต้องมาร่วมมือกันในการสร้างและซ่อมแซมระหัด

ระหัดวิดน้ำลำตะคอง ร่องรอยของกาลเวลายังคงเคลื่อนไหว

เห็นอย่างนี้แล้ว ระหัดวิดน้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเอง จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ภาครัฐและเอกชน ควรหันกลับไปพิจารณาและพัฒนาต่อยอดต่อไป แทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

Amazing Primitive Water Pumping System And Machinery New Technology
วิวัฒนาการของเครื่องมือการเกษตรจากอดีตสู่ปัจจุบัน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)