attalak isan

ศาสนาคาร

ความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่รับใช้ศาสนาและความเชื่อ

ศาสนาคาร คือ อาคารที่ใช้ในทางศาสนาเพื่อการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งมีจุดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์อีสานที่ชัดเจน เป็นสถาปัตยกรรมที่มีจุดเด่นเฉพาะของภาคอีสาน ซึ่งผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนได้ข้อสรุปของอัตลักษณ์อีสานด้านศาสนาคาร 8 อย่าง ดังนี้

1. มุขบันได

มุขบันได คือ ส่วนฐานของสถาปัตยกรรมทางศาสนาคารในบริบทสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะต้องมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตแห่งพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่จักคุ้มครองป้องกันภัย ก่อเกิดเป็นงานช่างที่สร้างรูปอารักษ์ เป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันอันตราย หรือที่เรียกว่า "ทวารบาล" วัฒนธรรมหลวงเรียกงานช่างนี้ว่า "พลสิงห์" หรือ "บันไดพลสิงห์" อันหมายถึงพนักบันไดที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน โดยมีการตกแต่งส่วนที่เป็นพนักด้านนอกของตัวขั้นด้วยปูนปั้น หรือบ้างก็ใช้การตกแต่งเพียงเส้นขอบรอบนอกแบบเรียบๆ ธรรมดาหรือทำเป็นปูนปั้นรูปสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น พญานาค หัวสิงห์ เหรา หรือ ตัวมอม งูซวง หมาสรวง เป็นต้น

sim drawing 11

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งเลียนแบบธรรมชาติ พาดยาวตามราวบันได มีรูปทรงและรูปสัตว์ที่แปลกตาอันเกิดจากจิตนาการของช่าง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อทางศาสนาเรื่องทวารบาลผู้ปกปักรักษาอาคาร และความเชื่อเรื่องนาค มกร หรือเหรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์

sim mook bandai 01

2. ฐานแอวขัน

ฐานแอวขัน คือ ส่วนฐานของตัวเรือน และใช้เรียกส่วนฐานในงานพุทธศิลป์อื่นๆ ด้วย โดยฐานแอวขันถือเป็นการสืบทอดคติและตีความจากดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา แอวขัน มีองค์ประกอบสำคัญคือ 1) ส่วนที่มีลักษณะแบบบัวคว่ำและบัวหงายที่แยกส่วนด้านบนและด้านล่าง 2) ส่วนที่เรียกว่า ท้องไม้ ทำหน้าที่เป็นส่วนคั่นกลางระหว่างบัวทั้งสอง 3) ส่วนเส้นแนวตกแต่งที่เป็นลวดบัว 4) ส่วนที่เรียกว่า ดูกงู หรือ กระดูกงู โดยส่วนนี้เป็นตัวเสริมคั่นจังหวะบริเวณท้องไม้ให้มีจังหวะลูกเล่นมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่พื้นที่ว่างบริเวณท้องไม้มีที่ว่างมาก

sim aew kan 01

ลักษณะร่วมของฐานแอวขันของไทยอีสานและลาว อยู่ที่มีการตวัดปลายบัวงอนเชิดขึ้น-ลง พบมากในกลุ่มช่างพื้นเมือง โดยส่วนบัวคว่ำบัวหงายจะมีลักษณะอ้วนป้อมรวมถึงการผายปากบัวและการช้อนบัว

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งและเส้นตรงแนวนอน มีรูปทรงจากกลีบบัว ปลายงอนโค้งขึ้น ใช้เป็นฐานอาคาร ฐานพระธาตุ ฐานพระพุทธรูป ฐานธรรมาสน์ ฐานเชี่ยนหมาก

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อ ศาสนา และเป็นฐานรองสิ่งมีค่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์

sim aew kan 02

3. ช่องเปิด

ช่องเปิด เป็นส่วนที่ควบคุมทางเข้าออกระบายอากาศ และเปิดรับแสงสว่าง เพื่อสุขภาพอนามัยและสภาวะน่าสบายแห่งการอยู่อาศัย เป็นสื่อกลางในการเชื่อมพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร อีกทั้งเชื่อมคนกับธรรมชาติแบ่งเป็นช่องเปิดประตู และหน้าต่าง-ช่องแสงหรือช่องลม มี 2 รูปแบบคือ 1) ทรงซุ้มปราสาทย่อส่วนมีเครื่องยอด 2) ทรงกรอบซุ้มทรงเครื่องและกรอบซุ้มธรรมดา ภาคอีสานนิยมทำซุ้มป่องเยี่ยม ซุ้มโข่งหรือซุ้มโขง ทั้งนี้สิมพื้นบ้านอีสานจะไม่นิยมทำช่องเปิดมาก อีกทั้งนิยมเปิด-ปิดเข้าด้านใน มีทางเข้าออกเฉพาะที่ประตูด้านสกัดด้านหน้าทางเดียว และมีหน้าต่างขนาดเล็กๆ เพียง 1-2 ช่องเท่านั้น สำหรับศาสนาคารประเภทอื่นๆ เช่น หอไตร หอแจก ที่เป็นเครื่องไม้จะนิยมทำเป็นอาคารโถง หรือถ้าตีผนังทึบก็จะปิดกันเพียงบางส่วน

sim drawing 08

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงเป็นซุ้มปราสาทจากจินตนาการ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อจากพุทธศาสนาว่าเป็นปราสาทบนสวรรค์ของพระอินทร์ และปราสาทบนสวรรค์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนา ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจและเกิดจินตภาพเรื่องสวรรค์

sim soom kong 01

ที่มา : ติ๊ก แสนบุญ 2545. ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนวัตกรรมฐานข้อมูลศิลปะงานปูนปั้นและแกะสลักในส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมศาสนาคารไทยอีสานกับ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาสู่การออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

4. คันทวย

คันทวย เป็นส่วนค้ำยันของสถาปัตยกรรมแถบเอเชียอาคเนย์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ทำให้คนในแถบนี้สร้างอาคารที่มีชายคา เพื่อป้องกันแดดฝนไม่ให้สาดส่องเข้ามาภายในอาคาร คันทวย จึงเป็นส่วนค้ำยัน และทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนตัวเรือนผนังอาคาร กับส่วนโครงสร้างหลังคา อีกทั้งยังทำหน้าที่แห่งนัยความหมายด้านสุนทรียภาพ ความงามทางศิลปะ ที่สัมพันธ์กับระบบความเชื่อของสังคมชุมชนท้องถิ่น "ทวย" เป็นคำนำหน้าชื่อเรียก และตามด้วยการเรียกตามลักษณะทางการยภาพ เช่น ทวยแผง ทวยนาค ทวยเทพพนม ทวยแขนนาง เป็นต้น

sim kantuay 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เส้นส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้งรับกับส่วนชายคา ลดความแข็งกระด้างของส่วนค้ำยัน มีลวดลายป็นสัตว์จากจินตนาการ เช่น นาค มอม หงส์ เป็นต้น และลายน้ำไหล ลายก้านขด

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสัญลักษณ์แทนการค้ำจุนศาสนา ความเป็นสิริมงคล ลวดลายการม้วนเกาะเกี่ยวกันของพญานาค ตัวมอม หงส์ และลวดลายสายน้ำวนของคันทวยในแถบริมน้ำโขง แสดงการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์

sim kantuay 02

5. ฮังผึ้ง

ฮังผึ้ง หรือ ฮวงผึ้ง หรือ ฮวงเผิ้ง มีหน้าที่สำคัญคือ การช่วยรับน้ำหนักในเชิงโครงสร้างอาคารบริเวณสีหน้าหรือหน้าบัน และช่วยยึดปลายหัวเสา ในส่วนโครงสร้างของหลังคาลักษณะกึ่งคาน หรือกำแพงผนังรับน้ำหนักตามหลักการถ่ายแรงที่สะท้อนผ่านรูปทรงสัณฐาน อีกทั้งช่วยป้องกันแดดฝนไม่ให้สาดส่องเข้าสู่พื้นที่ว่างภายในอาคาร โดยเฉพาะทำหน้าที่เสมือนผนังกำแพงปิดล้อม เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ว่างระหว่างภายนอกกับภายใน ของส่วนตัวเรือน กับส่วนหลังคา โดยมีลักษณะกึ่งเปิดกึ่งปิดของพื้นที่บริเวณโถงทางขึ้นลงด้านหน้าอาคาร วัสดุที่ทำฮังผึ้งมีทั้งไม้และปูน แบ่งเป็น 1) ฮังผึ้งเอก อยู่ใต้ส่วนหน้าจั่วใหญ่ ถ้าเป็นอาคารขนาดเล็กและเตี้ย นิยมแบ่ง 3 จังหวะตามช่วงเสา 2) ฮังผึ้งโท อยู่ใต้ส่วนหน้าอุดปีกนก

sim drawing 10

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้ง รูปทรงเป็นแผงแบน ด้านล่างเป็นซุ้มโค้ง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ถ่ายทอดคติธรรมและปริศนาธรรมตามความเชื่อพื้นบ้านอีสาน

sim hung pueng 01

6. สีหน้า

สีหน้า หรือ หน้าบัน คือ พื้นที่สามเหลี่ยมอุดโพรงจั่วหลังคาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หรือที่นิยมเรียกว่า ด้านหุ้มกลอง เพราะอาคารแบบไทยมีหลังคาเป็นทางแหลม เหตุนี้จึงต้องมีจั่วหรือหน้าบันปิด เพื่อป้องกันแดดฝนและความร้อนอบอ้าว อีกทั้งเพื่อคุณประโยชน์ในการระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีทั้งแบบเครื่องก่อและเครื่องไม้ โดยศาสนาคารที่เป็นเครื่องไม้จะมีลักษณธของเฮือนอีสานโบราณ มีลวดลายจากธรรมชาติ ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ ลวดลายทางความเชื่อ และลวดลายสัตว์มงคลต่างๆ

sim nabun 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีทั้งเส้นตรงและเส้นโค้ง รูปทรงเป็นแผงสามเหลี่ยม

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ลวดลายแฝงคติความเชื่อทางพุทธศาสนาและความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เช่น พระอินทร์ พระราหู เป็นต้น ความเชื่อเรื่องจักรวาล เขาพระสุเมรุ นรก สวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับนาค มกรหรือเหรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์

sim nabun 02

7. โหง่ว

โหง่ว เป็นส่วนที่ประดับตกแต่งอยู่ยอดปลายสุดของส่วนไม้แป้นลม ทั้งส่วนสกัดด้านหน้าและด้านหลัง ทำหน้าที่ประสานส่วนยอดปลายสุด ส่วนที่เป็นรวบจอมไม้แป้นลม (หลายท่านเข้าใจว่าเป็น "ช่อฟ้า" และพบเห็นการทำพิธียกช่อฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วคือ การยกโหง่ว) วัสดุที่ใช้ทำโหง่วมีทั้งที่เป็นไม้และเป็นปูนปั้น โหง่วยังตอบสนองสุนทรียภาพ ความงาม ที่มีนัยยะแห่งลัทธิความเชื่อ ผ่านรูปสัญญะต่างๆ โดยกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวนิยมทำอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1) แบบหัวนาค 2) แบบเฮือนเสาเหลี่ยมยกหลังคาสับลาย (ลูกกรงไม้กลึง) 3) แบบช่อฟ้าแป้นลม (ราชสำนักกรุงเทพฯ เรียก ช่อฟ้ามอญ) ในอีสานและลาวนิยมใช้รูปแบบหัวนาคเป็นส่วนใหญ่ ในอีสานโหง่วที่ดูโดดเด่นคือ กลุ่มช่างพื้นเมืองจังหวัดอุบลราชธานี คือ หัวนาคจะสะบัดปลายหงอน ปากนาคมีลักษณะแบบปากคีมกว้างแหลม และที่สำคัญคือการนิยมทำปีก

sim drawing 05

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม อยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น รูปทรงสวยงามและมีความหมายจากคติความเชื่อ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และปกปักรักษาพุทธศาสนา

sim kngow 01

8. ช่อฟ้า

ช่อฟ้า เป็นชื่อเรียกส่วนตกแต่งบริเวณกลางสันหลังคาสิม หรือโบสถ์ ในอีสานนิยมเรียก "ช่อฟ้า" หรือภาษาเก่าเรียกว่า ผาสาดหรือปราสาท โดยมีหนึ่งช่อฟ้าต่อหนึ่งสิม วัสดุที่ใช้ทำช่อฟ้า ฝั่งลาวจะใช้ปูนปั้น ในขณะที่อีสานช่างพื้นถิ่นจะใช้ไม้ ช่อฟ้าอีสานมีรูปแบบแท่งๆ โดดๆ อันเดียวหรือแผงไม้แกะสลักเล็กๆ ไม่นิยมทำส่วนบริวาร โดยมีลักษณะคล้ายธาตุไม้ และมีตัวกาบกนกเป็นส่วนตกแต่งส่วนยอดเหล่านั้น รูปแบบของช่อฟ้าจะสะท้อนคติความเชื่อเรื่อง ศูนย์กลางจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีปราสาทไพชยนต์ตั้งอยู่บนยอด ด้วยรูปลักษณะเป็นแท่งๆ แบบธาตุบัวเหลี่ยมจึงมีซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ขนาบด้านข้างลดหลั่นเป็นรูปปราสาทบนยอดเขาบริวารที่เรียกว่า "สัตบริภัณฑ์" นอกจากนั้นในนิมิตความหมายที่เชื่อมโยงกับลัทธิถือผีของกลุ่มชนพื้นเมืองยังพบว่า ช่อฟ้าในแถบพื้นที่ภาคอีสานมีพัฒนาการที่สืบทอดคติเรื่องการเคารพบูชาไม้หลักบ้านหรือไม้หลัก

sim drawing 04

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม อยู่จุดที่เด่นที่สุดของอาคาร รูปทรงงดงามและมีความหมาย เป็นทรงปราสาทบนเขาพระสุเมรุหรือภูมิจักรวาล

sim chawfah 02
ช่อฟ้า ของ สิม วัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน) อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สัญญลักษณ์แทนความเชื่อ ความศรัทธา ความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติ และความเป็นสิริมงคล

sim chawfah 01
ช่อฟ้า ของ สิมวัดเชียงทอง หลวงพระบาง สปป.ลาว

 ผลงานเขียนภาพลายเส้นโดย อาจารย์กิตติสันต์ ศรีรักษา

redline

backled1