attalak isan

เซิ้งกระติบ

เซิ้งกระติบ เป็นการรำของภาคอีสานในงานรื่นเริง ท่าของการรำแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะการดำรงชีวิต เพราะลีลาท่าทางการรำเลียนแบบการทำงาน และท่าทางในชีวิตประจำวันอันเกี่ยวข้องกับการกิน ผู้เซิ้งเป็นผู้หญิง แต่งกายตามแบบพื้นเมืองอีสาน คือ นุ่งซิ่นสั้นประมาณเข่า เสื้อแขนกระบอก พาดสไบหรือผ้าเบี่ยง และห้อยกระติบข้าวไว้ข้างตัว ดนตรีที่ใช้ให้จังหวะส่วนใหญ่ คือ กลอง แคน ฉาบ ฆ้อง ฉิ่ง

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ท่ารำของเซิ้งกระติบที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ ท่าเดิน ท่าล้างมือ ท่าเช็ดมือ ท่าปั้นข้าว เป็นต้น รวมถึงเครื่องแต่งกายชุดพื้นเมือง และการบรรเลงดนตรีอีสาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ท่ารำแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและการดำรงชีวิต สะท้อนถึงความสนุกสนาน รักศิลปะและดนตรี คล่องแคล่วทำงานเก่ง

serng kratib kao 01

เซิ้งกระติบข้าว

เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิม "เซิ้งอีสาน" จริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้า ยกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามอำเภอใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่อง ตามฤทธิ์เหล้าในขณะนั้น

ในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) ต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำ จังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้น จะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อย "กระติบข้าว" เพราะเห็นว่ารุงรังเกินไป

serng kratib kao 02

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่า กำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไป แต่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว" จนปัจจุบัน

เซิ้งกระติ๊บ

องค์ประกอบที่บ่งบอกให้เห็นคณลักษณะของศิลปะพื้นถิ่น

  • เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ
  • นักแสดงทุกคนแต่งตัวนุ่งซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง และนำกระติบข้าวห้อยทางไหล่ขวา สาเหตุของการนำกระติบข้าวมาใช้ในการแสดง เพราะเห็นว่ากระติบข้าวเป็นสัญลักษณ์ของคนอีสาน

รูปแบบ วิธีการแสดงของศิลปะพื้นถิ่น

เซิ้งกระติบข้าว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภูไท ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาช้านาน ในดินแดนทางภาคอีสานของไทย เช่น ในเขตจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม และจังหวัดข้างเคียง นิยมเล่นกันในโอกาสรื่นเริงวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การแสดงจะเริ่มด้วยชาวภูไทฝ่ายชายนำเอาเครื่องดนตรี และเครื่องประกอบจังหวะหลายอย่าง ได้แก่ แคน เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งใช้ปากเป่าเป็นทำนองเพลง แก๊บ (กรับ) กลองเถิดเทิง กลองแต๊ะ โหม่ง และ ฉาบ มาร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีทำนองและจังหวะรุกเร้า ต่อจากนั้นเหล่าสตรีชาวภูไทในวัยต่างๆ ซึ่งมีกระติบข้าวแขวนสะพายอยู่ข้างตัว ออกมาเต้น รำเซิ้งเป็นการแสดงอากัปกิริยาของสตรีชาวภูไท ขณะเมื่อสะพายกระติบข้าวเพื่อนำอาหารไปส่งให้แก่สามี และญาติพี่น้องที่ออกไปทำงานอยู่นอกบ้าน

การเซิ้งกระติบข้าว ถือว่าเป็นการฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับ เซิ้งกุบ เซิ้งสาวน้อยเลียบดอนสวรรค์ เซิ้งสวิง อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่

เซิ้งกระติ๊บข้าว : ยอดรัก สลักใจ

ก่องข้าว กระติบข้าว ของชาวอีสาน

กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสานที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญาของชาวอีสาน เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ความแตกต่างของกระติบข้าวและก่องข้าว อยู่ที่รูปทรง โดย

  • ก่องข้าว จะมีลักษณะคล้ายกระบุง มีฝาปิด และมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ ส่วน
  • กระติบข้าว นั้นพบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว

 kong kratip kao

[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : กระติบข้าว ก่องข้าว ภูมิปัญญาอีสาน ]

redline

backled1