attalak isan

เครื่องปั้นดินเผาภาคอีสาน

เครื่องปั้นดินเผา เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์มา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ก็เริ่มรู้จักนำดินมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วนำไปเผาไฟ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งคงรูป เหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น หม้อน้ำ แจกัน ถ้วยชาม อิฐ เป็นต้น และเมื่อชุมชนใดมีการผลิตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ก็จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตน ทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผา จึงเป็นศิลปวัตถุอย่างหนึ่ง ที่สามารถบ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงเทคโนโลยีของชนแต่ละเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี 

din pao 01

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของไทยนั้น เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาเป็นเวลายาวนาน หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาภาคอีสานที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดก็คือ ที่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเขียนสี ที่มีอายุเก่าแก่ถึงประมาณ 5,600 ปี ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากนั้น ยังมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณในที่อื่นๆ  เช่น บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งสำริด จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงกลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม เป็นต้น

เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ตั้งแต่นครราชสีมาขึ้นไป ว่าถึงรูปร่างมีตั้งแต่ไห โอ่ง ชาม กระปุก ขวด แจกัน โถ ตลับ และที่ทำเป็นรูปสัตว์ก็มี เช่น กระปุกเป็นรูปนก ไหเป็นรูปช้าง เป็นต้น

ว่าถึงวัตถุที่ทำมีทั้งที่ปั้นด้วยหินผสมดิน ดินสีแดง ดินขาว ส่วนผิวนั้น มีทั้งที่ไม่เคลือบและที่เคลือบ น้ำยาที่เคลือบนั้น มีทั้งชนิดที่กระเทาะง่ายและที่เคลือบแน่นอย่างเคลือบศิลาดอน หรือเคลือบแบบสังคโลก แต่นํ้ายานั้นไม่ดีเท่าของสังคโลกเท่านั้นเอง พูดถึงรูปแบบแล้วของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่แพ้ที่พบแถวสุโขทัย หรือศรีสัชนาลัย พูดถึงความคงทนของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงทนมากทีเดียว เพราะผสมดินและหินอย่างดีและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก ทำให้ภาชนะบางชิ้นแข็งแกร่ง ไม่เปราะ

din pao 02

สีเคลือบที่พบมีทั้งสีดำ สีน้ำตาลอมเหลือง สีเขียวอ่อน สีขาว ลวดลายเท่าที่พบถ้าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เช่น โอ่งหรือไห มักจะเป็นลายหวีลากเส้นโยงถึงกัน ถ้าเป็นของขนาดเล็ก เช่น กระปุกหรือขวด จะมีลายขีดๆ ลงมา เคยเห็นมีลายนูนเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นของไม่ได้เคลือบ นอกนั้นเป็นลายที่ขูดลงไปในตัว เคยพบไหชนิดสี่หู ปากผาย ทรงป้อม ที่เรียกว่า ไหเชลียง หรือ ไหขอม มีอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เคลือบสีดำ จะเป็นของที่ทำขึ้นในภาคนี้ หรือเอามาจากเชลียง (สุโขทัย) ก็ไม่ทราบแน่ เพราะยังไม่เคยพบที่ทำ

เครื่องปั้นดินเผาไฟสูง

เครื่องปั้นดินเผาไฟสูง (Stoneware) ที่โดดเด่นของภาคอีสานมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ 5 แห่งใน 5 จังหวัด คือ บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา บ้านดอนกลาง บ้านโพนบก บ้านโพนเงิน อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย บ้านกลาง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บ้านท่าไห อำเภอเขื่องใน และบ้านท่าเตาไห อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง จัดว่าเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สำคัญในการดำรงชีวิต เพราะใช้เก็บถนอมรักษาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ข้าว น้ำดื่ม น้ำใช้ เกลือ ผักดอง ปลาแดก (ปลาร้า) ตลอดจนใช้เก็บน้ำตาล สุรา รวมทั้งเก็บนุ่นฝ้าย และเสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นเครื่องครัวจำพวกครกแลพถ้วยชามต่างๆ ด้วย

din pao 03

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม มีรูปทรงหลากหลาย ลวดลายเกิดจากการขูด กด และประทับลายบนผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดมิติ และมีความสวยงามตามลักษณะของแต่ละท้องถิ่นมีความคงทนยาวนาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแต่โบราณที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษโดยตรง มีวิธีคิด วิธีแก้ปัญหา ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน เพื่อนำมาผลิตเป็นของใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย

din pao 04

เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ

เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ (Earthenware) มีแหล่งผลิตอยู่ทั่วทุกจังหวัดในภาคอีสาน มีประวัติความเป็นมายาวนาน แหล่งที่มีชื่อเสียงมากคือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาชนิดสีดำขูดลายในผิวเนื้อ ชนิดสีเทาลายเชือกทาบ ชนิดสีนวลก้นโค้ง และชนิดมีลายเขียนสีเป็นรูปและลวดลายต่างๆ เป็นต้น สันนิษฐานว่าใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย รวมถึงบริเวณแอ่งโคราชก็พบหลักฐานภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา เผาไฟต่ำ ทั้งที่ทำเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน และใช้ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตายกระจายอยู่ทั่วไป

din pao 05

ในยุคหลังให้ความสำคัญในการทำภาชนะดินเผ่า เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่าการประกอบพิธีกรรมฝังศพ เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนมากจะมีการตกแต่งผิวไม่มากนัก เพราะมุ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นจึงมักทำเป็นลวดลายขูดขีด ลายเชือกทาบ ฯลฯ ที่มักจะเกิดจากการใช้เครื่องมือตีผิวเนื้อ เพื่อขึ้นรูปทรงให้ได้ตามต้องการ อันจะมีผลทำให้สะดวกต่อการผลิต และเนื้อดินประสานกันแน่นมากขึ้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลวดลายเกิดจากการนำเชือกมาทาบ ใช้เครื่องมือมีคมขูดขีดลวดลายต่างๆ มีรูปทรงกลมมน มีผิวสัมผัสทั้งเรียบปละหยาบ มีสีน้ำตาลอ่อน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ใช้บรรจุกระดูกผู้ตายในประเพณีฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บางครั้งเรียก "หม้ออุทิศ"

din pao 06

แจ้งเพื่อทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

din pao 07

redline

backled1