attalak isan

เชียงคาน

เชียงคาน แต่เดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ปัจจุบัน เชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 940.45 ตารางกิโลเมตร บรรยากาศดีเงียบสงบ ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มาได้ยาวนานกว่า 100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณจะมีการจัดงานฉลอง "100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณริมฝั่งโขง" ไปเมื่อวันที่ 4 - 6 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคานให้คงอยู่สืบไป

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม บ้านเรือนไม้ริมแม่น้ำโขงที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เมืองมีบรรยากาศดีและเงียบสงบ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ให้ความรู้สึกถึงความเป็นอดีตทั้งในด้านภูมิปัญญาและประเพณีที่คงอยู่ ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีพลัง

chiang kan 01

ความเป็นมาของเชียงคาน

ประวัติความเป็นมา เมืองเชียงคาน เดิมตั้งอยู่ที่ เมืองชะนะคาม ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสร้างโดย ขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้าง แยกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้ง เมืองเชียงคาน เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน

ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกัน และให้เป็นประเทศราชของไทย และได้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย

chiang kan 02

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย โดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงค์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุล เครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง และได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิม ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก

ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่า ศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมี พระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่ง นายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้

chiang kan 05

เว็บมาดเซ่อกะได้ไปนอนเชียงคานอยู่ตั่วนี่ (ภาพเก่าตั้งแต่ปี 2554)

เชียงคาน เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงสุดชายแดนไทย เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ที่คงยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบประเพณี การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งหาดูยากในปัจจุบัน เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแห่งนี้กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ภาพบ้านเก่าๆ ที่เรียงรายติดกันอยู่ริมถนนชายโขง ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายรุ่นต่างหลั่งไหลเดินทางกันมาที่นี่ บ้านเรือนที่เมืองเชียงคานจะแบ่งออกเป็นซอยเล็กๆ เรียกว่า ถนนศรีเชียงคาน ขนานคู่กันไปไปกับถนนใหญ่ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เริ่มตั้งแต่ถนนศรีเชียงคาน ซอยที่ 1- 24 แบ่งเป็นถนนศรีเชียงคานฝั่งบนกับฝั่งล่างซึ่งชื่อซอยเหมือนกัน

ถนนศรีเชียงคานฝั่งล่าง คือ ถนนเส้นที่เต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าแก่ ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร และร้านค้าเก๋ มากมายซึ่งถนนในเส้นนี้จะเรียกว่า "ถนนชายโขง" ซึ่ง ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยว นิยมมาปั่นจักรยานชมบรรยากาศ ถ่ายรูปเล่น ชมบ้านไม้สมัยเก่า แต่ก็มีบางส่วนเป็นตึกแถวสร้างใหม่ ซึ่งทางเทศบาลไม่อนุญาตให้ปลูกสร้าง เพราะต้องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมบริเวณถนนสายนี้ให้เป็นบ้านไม้ทั้งหมด เป็นการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเชียงคาน แต่ถึงแม้บ้านไม้เก่าๆ ถึงแม้ถูกดัดแปลง ให้เป็นร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ บ้านพักโฮมสเตย์ไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรความ สงบเรียบง่ายของวิถีชีวิต รอยยิ้มที่แสนจะจริงใจของผู้คนในเมืองนี้ ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เมืองเชียงคานแตกต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ

chiang kan 04

เชียงคาน เป็นเมืองเล็กมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจักรยานจึงเป็นพาหนะยอดฮิตของใครหลายๆ คน มาเที่ยวเชียงคานต้องมาปั่นจักรยาน เพราะทำให้เรารู้จักและสัมผัสกับเสน่ห์ของเชียงคานได้มากยิ่งขึ้น การปั่นจักรยานไปตามตรอกซอกซอยชมบ้านไม้เก่าๆ ที่บางส่วนก็ถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านกาแฟ แถมได้ทักทายยิ้มแย้มทำความรู้จักกับชาวบ้าน ปั่นไปมาเพียงแค่วันเดียวก็เกือบรู้จักกันเกือบทั่งซอย เพราะที่นี่เป็นเมืองที่เล็กที่มีแต่รอยยิ้มและมิตรภาพ การปั่นจักรยานเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ไปพร้อมกับความเรียบง่ายของเมืองเล็กๆ แสนสงบแห่งนี้ น้อยนักที่เราจะสามารถปั่นจักรยานและปล่อยเวลาให้เดินช้าลงแบบ ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นใดมาใส่ให้หนักสมอง เพราะเราจะเห็นแต่รอยยิ้มอันอบอุ่นของชาวบ้านและ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งบนแคร่ไม้หน้าบ้าน คอยทักทายเราตลอดเส้นทาง ได้ออกกำลังกายไปในตัวรับอากาศบริสุทธ์แบบห่างไกล มลพิษอีกด้วย

chiang kan 03

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเชียงคานก็คือ ชาวบ้านเกือบทุกหลังจะลุกขึ้นมาตักบาตรข้าวเหนียวแต่เช้าตรู่ ถือเป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว ซึ่งจะปฎิบัติกันแทบทุกบ้าน ตอนเช้าๆ เราจะเห็นผู้เฒ่า ผู้แก่ จะอาบน้ำแต่งตัวตั้งแถวเรียงกันยาวไปตามริมถนน เพื่อมารอพระบิณฑบาตรแต่เช้า ด้วยความศรัทธาวิธีการตักบาตร คือ หยิบข้าวเหนียว จากกระติ๊บมาหยิบกำมือเหมือนกับเราตักข้าวสวย แล้วตักใส่บาตรพระจนครบทุกองค์ ซึ่งหากเรามาพักที่โฮมสเตย์ในแต่ละที่ก็จะมีการเตรียมข้าวเหนียวไว้ให้เราสำหรับตักบาตร ด้วยเช่นกัน

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กับเชียงคานมีที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขงห่างจาก ตัวอำเภอเชียงคาน ประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ๆ เป็นจำนวนมาก ตัวแก่งกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบๆ ใกล้ฝั่งไทยซึ่ง กระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะสมที่จะมาชมแห่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งต่างๆ ได้ชัดเจน

chiang kan 06

ภูทอก จุดชมทัศนีย์ภาพเมืองเชียงคานและทะเลหมอก สวยงามริมฝั่งโขงที่แปลกตาด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนสุดตาไกลถึงฝั่งลาว การเดินทางจากตัวอำเภอเชียงคาน นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถมาลงที่จุดจอดรถขึ้นไปชมทะเลหมอกภูทอก ซึ่งจะมีรถสองแถวให้บริการคิดราคาคนละ 25 บาท ไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นไป

chiang kan 07
ทะเลหมอกที่ภูทอก เชียงคาน

การดินทางไปอำเภอเชียงคานนั้น สามารถเดินทางด้วยรถยนตร์ส่วนตัวไปที่จังหวัดเลย แล้วตรงไปยังอำเภอเชียงคานระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร หรือจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ปลายทางที่อำเภอเชียงคานได้โดยตรง ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ตอนสองทุ่มแล้วไปตื่นรับอากาศบริสุทธิที่เชียงคานในเช้าวันรุ่งขึ้น

ออกพรรษาที่เชียงคาน - สนธิ สมมาตร

redline

backled1