isan food header

ปิ้ง, ย่าง | เผา | ลาบ | ส่า

line

ปิ้ง, ย่าง

ปิ้ง, ย่าง เป็นการทำอาหารให้สุกโดยการวางเหนือเตาไฟ ใช้ไฟอ่อนถึงปานกลาง เช่น ปิ้งปลา ปิ้งกบ ปิ้งไก่ ปิ้งตับ ปิ้งหมู เป็นต้น ส่วนการย่าง เช่น ย่างเนื้อ ย่างเสือร้องไห้ ย่างลิ้น ย่างพวงนม เป็นต้น ก่อนการนำมาปิ้งหรือย่างจะปรุงรสด้วยเกลือและน้ำปลา ส่วนใหญ่อาหารประเภท ปิ้ง ย่าง นิยมรับประทานคู่กับแจ่ว (น้ำจิ้ม) ที่ทำจากพริกแห้งป่น น้ำปลาร้า น้ำปลา แจ่วบางชนิด ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว มะขาม มะกอกสุกให้มีรสเปรี้ยว บางชนิดปรุงด้วยรสขมของบีหรือดี (น้ำดี ได้มาจากถุงน้ำดีของสัตว์เช่น เป็ด ไก่ วัว ควาย เป็นต้น)

อาหารประเภทปิ้ง ย่าง เป็นที่นิยมบริโภคในหมู่ชาวบ้านเพราะวิธีการทำง่าย สะดวก ไม่ ต้องใช้อุปกรณ์มาก กระบวนการทำไม่ซับซ้อน เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกับข้าวเหนียว หรือ นำติดตัวไปรับประทานยังที่อื่นๆ (กินข้าวป่า (ปิกนิกแบบชาวบ้าน) ไปทำงานหรือเดินทางไกล) เพราะอาหารปิ้ง ย่าง ไม่เน่าเสียง่ายนั่นเอง

tiger cry

 

เผา

เผา เป็นการทำให้อาหารสุกโดยใช้ไฟแรงกว่าปิ้ง หรือย่าง เปลวไฟอาจถึงเนื้ออาหาร เพราะฉะนั้นการเผาจึงต้องมีกรรมวิธีที่ทำให้อาหารยังคงคุณค่า และรสชาติ เช่น การเผาปลาจะใช้เกลือทาตัวปลาให้ทั่วและมากพอ เกลือจะช่วยให้โปรตีนในเนื้อปลาอุ้มน้ำไว้ ไม่ให้ไหลออกจากตัวปลา เนื้อปลาที่เผาจะยังคงรสชาติดี แต่หากใช้ปลาเผาทั้งตัวเผา หนัง และเนื้อปลาอาจไหม้ได้ น้ำจากปลาจะหยดลง ทำให้ปลาเผานั้นรสชาติไม่น่ารับประทาน

นอกเหนือจากการใช้เกลือในการเผาปลาแล้ว ยังมีการนำเอาดินเหนียวมาหุ้มตัวปลา ให้หนาประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำไปเผาไฟ ความร้อนจะผ่านดินเหนียวไปยังตัวปลา ทำให้ปลาสุกมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน (ถ้าใช้ไก่แทนปลา เรียกว่า ไก่ขอทาน) นอกจากนี้แล้วยังมีการใช้วัสดุอื่นๆ มาใช้ในการเผาปลาเช่น ใบตอง ใบบัว ใบข่า เป็นต้น วิธีการเผาปลาของภาคอีสาน จึงเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง

plachon pao

 

ลาบ

ลาบ เป็นการปรุงอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์สับเกือบละเอียด ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง ได้แก่ พริกแห้งป่น น้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำมะนาว ข้าวคั่วโขลกละเอียด หอมแดงซอย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ต้นหอมซอย ใบมะกรูดซอย และสะระแหน่โรยหน้าเมื่อจะรับประทาน โดยมีผักชนิดต่างๆ เช่น ถั่ว ฝักยาว แตงกวา มะเขือ ใบเม็ก ยอดกระโดน ใบติ้ว ใบมะตูม ฯลฯ เป็นเครื่องเคียงมาด้วย

เนื้อสัตว์ที่ใช้ทำลาบ ใช้เนื้อสัตว์ได้ทุกชนิดทั้ง หมู ไก่ วัว ปลา ฯลฯ บางหมู่บ้านจะใช้ เนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ส่วนในเมืองจะทำให้เนื้อสัตว์นั้นสุกโดยวิธีคั่ว (นำเนื้อสัตว์นั้นใส่หม้อ หรือกระทะ) ใช้ไฟปานกลาง ไม่ใส่น้ำ น้ำจากเนื้อสัตว์นั้นจะออกมา ผู้ปรุงคนไปมาจนเนื้อสัตว์นั้นสุกจึงยกลง ปล่อยให้เย็นจึงใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ ลงไป

การปรุงรสของลาบจะมีรสเปรี้ยวนำ (แต่น้อยกว่าก้อย) ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ข้าวคั่ว เพราะจะทำให้ลาบมีความข้นและรสกลมกล่อมยิ่งขึ้น เมื่อจิ้มด้วยข้าวเหนียวร้อนๆ

lab dib

 

ส่า

ส่า เป็นการนำหัวปลีซอยละเอียดมาผสมกับหมูสับ วุ้นเส้น และหนังหมูซอย เครื่องปรุง ประกอบด้วย พริกแห้งป่น น้ำปลาร้า ข้าวคั่ว น้ำมะนาว ทั้งหมดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แต่งกลิ่น ด้วยหอมซอย ใบสะระแหน่ ลักษณะและรสชาติคล้ายลาบ

ส่า นับเป็นอาหารพื้นเมืองที่มีกำเนิดจากจังหวัดอุบลราชธานี จากการศึกษาค้นคว้าทางเอกสารไม่พบว่า มีการปรุงส่าในจังหวัดอื่นๆ มีการพิมพ์เผยแพร่วิธีการปรุงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 โดย ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปัจจุบันพบว่า มีการนำไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป

sa isan

 

ปิ้ง, ย่าง | เผา | ลาบ | ส่า

line

 backled1