foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

นอกจากที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการเครื่องนุ่มห่มใช้สวมใส่เพื่อปกป้องร่างกายจากสภาวะอากาศ สภาพแวดล้อม ให้มีความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความสุภาพ และเพื่อสะท้อนถึง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึง รสนิยมเฉพาะตัวบุคคลด้วย เสื้อผ้าบางชนิดอาจออกแบบให้สวมใส่เฉพาะเพศ (แต่ไม่นับกรณีการแต่งตัวข้ามเพศ) เสื้อผ้าที่ใส่เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ใส่ไว้เพื่อป้องกันร่างกายไม่ให้ได้รับความอันตรายจากสิ่งแวดล้อมอย่างอากาศ แสงแดดที่รุนแรง ความหนาวสุดขั้ว ฝน กันแมลง สารเคมี อาวุธ และอันตรายอย่างอื่น มนุษย์รู้จักการนำวัสดุต่างๆ มาถักทอเป็นผืนผ้า นำมาตัดเย็บ นุ่งห่ม มานานนับพันปี

เครื่องมือในการทอผ้า

ในชุมชนอีสานแบบดั้งเดิม ชาวบ้านทอผ้าใช้เองเป็นการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อให้ได้มาทั้งใยฝ้ายและเส้นไหม สำหรับการถักทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งผลิตควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำไร่ โดยอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสานได้ชัดเจน เครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเรียกว่า “กี่” เป็นเครื่องมือที่พัฒนาจากการทอผ้าด้วยฟืมเล็กๆ ผูกด้ายเส้นยืนกับต้นไม้หรือเสาเรือน พัฒนามาเป็น "กี่ทอผ้า" ในยุคปัจจุบัน

กี่ทอผ้า

กี่ หรือ หูก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า มีหลายขนาดและชนิด แต่มีหลักการพื้นฐานอย่างเดียวกัน คือ การขัดประสานระหว่างด้ายเส้นยืน และด้ายเส้นพุ่ง จนแน่นเป็นเนื้อผ้า คล้ายกับการจักสานลายขัดทั่วไป แต่มีความละเอียดสูงกว่า เนื่องจากเส้นด้ายมีขนาดที่เล็กและละเอียดกว่าตอกไม้ไผ่

กี่ทอผ้า (Loom) ทางภาคเหนือและอีสานบ้านเฮา รวม สปป.ลาว เรียกว่า หูก, โฮงหูก ทางภาคใต้เรียก เก หรือ โหก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า ในแต่ละภาคจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป มีทั้งแบบเรียบง่าย จนถึงแบบที่มีการแกะสลักลวดลายตามหัวเสา หรือคานกี่อย่างวิจิตรตามวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อมา ทำด้วยไม้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสี่เสา มีคานโครงยึดให้แข็งแรง ซึ่งมีลักษณะร่วมคล้ายกับเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าของคนทั่วโลก มีขนาดแตกต่างกันตามขนาดหน้าฟืม (ฟันหวีกระแทกเส้นพุ่ง) ที่กำหนดขนาดกว้างของผ้าที่ทอ โครงสร้างของกี่มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ฟืม ตะกอ รางกระสวย ผัง (ไม้บังคับหน้าผ้า) ไม้กำพั่น (ไม้ม้วนผ้า) คานเหยียบ โดยทั่วไปกี่ทอผ้าแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ กี่พื้นเมือง และกี่กระตุก

kee torpa 03

กี่พื้นเมือง

กี่พื้นเมือง บางทีก็เรียก "กี่กระทบ" เป็นเครื่องทอผ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของไทยมาช้านาน เป็นมรดกที่สำคัญของชาติไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา 

kee torpa 01

กี่ทอผ้า ในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นแบบขาตั้งดังภาพประกอบ นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง (ปัจจุบันมีการใช้วัสดุประเภทเหล็กกล่อง และท่อพลาสติกแทนไม้เนื้อแข็ง เนื่องจากมีความทนทาน แข็งแรง และหาได้ง่ายกว่า) มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

  • แม่กี่ คือโครงสี่เหลี่ยมที่รับน้ำหนักหูกด้านล่าง ประกอบด้วยไม้เนื้อแข็งสี่ชิ้นตีประกบ หรือเข้าประกบเป็นโครงสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 2.50 เมตร ขนาดยาว 3 เมตร
  • เสากี่ เป็นเสาสี่ต้นเชื่อมรับโครงสี่เหลี่ยมด้านล่างที่เรียกว่า แม่กี่ และโครงสี่เหลี่ยมตอนบนคือ ขื่อคาน ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาด 4" x 4" สูง 1.80 - 2.00 เมตร
  • คานและขื่อ เป็นโครงไม้สี่เหลี่ยมด้านบน คานด้านยาวขนาด 2.50-3.00 เมตร ส่วนขื่อด้าน กว้างขนาด 2.50 ม. ทาหน้าที่รับน้าหนักหูกทอผ้าด้วยเชือกโยง เป็นคานไม้พาดเชื่อมต่อระหว่างเสาหลักทั้ง 4 ต้น เครือเส้นด้ายยืนพาดบนไม้คานด้านหน้าและโยงมาผูกไม้คานด้านหลังดึงเส้นยืนให้ตรง
  • ไม้รองนั่ง (กระดานกี่) เป็นแผ่นไม้ที่พาดไว้บนคานไม้ด้านล่างด้านคนทอ เพื่อให้คนทอนั่ง และวางอุปกรณ์การทอ เช่น ตะกร้าใส่ด้าย ใส่หวี ทำจากไม้
    เนื้อแข็งขนาด 11.5" x 8"
  • ไม้ม้วนผ้า หรือไม้กำพั่น หรือไม้กำพัน เป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมที่ปลายทั้งสองข้างเสียบเข้าเดือยที่หลักไม้ด้านใกล้กับผู้ทอ เพื่อม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จเรียบร้อยเอาไว้ ยาวประมาณ 2.50 เมตร
  • ไม้หาบหูก เป็นไม้ไผ่ทรงกระบอกขนาดกลางยาวพาดคานไม้ เพื่อใช้ผูกเชือกโยงฟืมและรอกที่พยุงตะกอหรือเขาเอาไว้
  • ไม้เหยียบหูก เป็นไม้ไผ่ลำขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 เมตร ผูกโยงกับตะกอหรือเขาสำหรับเหยียบ เพื่อบังคับการสลับขึ้นลงของเครือเส้นด้ายยืน จำนวนไม้เหยียบขึ้นกับจำนวนตะกอที่ใช้ทอผ้า
  • ตะกอ หรือเขา เป็นแผงเส้นด้ายที่ถักเกี่ยวเครือเส้นด้ายยืนเอาไว้ โดยใช้ไม้ไผ่ 2 ซี่เป็นคาน ถ้าเป็นผ้าทอแบบสองตะกอก็จะมีตะกอหรือเขา 2 อัน ซึ่งจะคัดเก็บเครือเส้นด้ายยืนสลับกันเส้นต่อเส้น เพื่อยกเส้นด้ายยืนขึ้นลง ให้กระสวยเส้นด้ายพุ่งผ่านไปสานทอขัดเพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า

kee torpa 05

  • ฟืม (ฟันหวี) เป็นอุปกรณ์การทอที่สำคัญที่อยู่หน้าตะกอหรือเขา ใช้กระทบเส้นด้านพุ่งให้สานทอกับเส้นด้ายยืนให้เป็นผืนผ้า หน้าฟืมจะมีทั้งขนาดยาวและขนาดสั้น ขึ้นกับว่าจะทอผ้าหน้าแคบหรือกว้างสามารถถอดเปลี่ยนได้
  • รอก เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงตะกอหรือเขา โดยผูกโยงไว้กับไม้คานหูก

kee torpa 02

กี่ทอผ้าโบราณ จาก บ้านคำปุน

กี่กระตุก

กี่กระตุก ที่พัฒนาต่อมาจากกี่พื้นเมือง โดยเพิ่มสายกระตุกเข้ามา เพื่อดึงกระสวยให้พุ่งผ่านเส้นยืนแทนการสอดกระสวยด้วยมือ เพื่อให้สามารถทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น กี่กระตุกเหมาะสำหรับการทอผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ และผ้าขิดที่มีลวดลายไม่ซับซ้อนมากนัก

kee torpa 04

หลักการทำงานของกี่ทอผ้า

  • ทำให้เกิดช่องว่าง (shedding) โดยสับตะกอหรือเขายกแล้วแยกไหม/ด้ายเส้นยืนออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่หนึ่งยกขึ้นและหมู่หนึ่งดันลงโดยเขาหรือตะกอ ผ่านการเหยียบเชือกดึง เพื่อให้เกิดช่องว่างให้สอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งผ่านไปอีกด้าน
  • การสอดไหม/ด้ายเส้นพุ่ง (picking) จะใช้กระสวยส่งไหม/ด้ายเส้นพุ่ง สอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งให้พุ่งผ่านช่องว่างที่เปิดเตรียมไว้
  • การกระทบไหม/ด้ายเส้นพุ่ง (battering) เมื่อสอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งผ่านแล้ว จะต้องใช้ตัวฟืมกระทบไหม/ด้ายเส้นพุ่งให้เรียงสานขัดกับไหมเส้นยืน จนชิดติดกันแน่นเป็นเนื้อผ้า
  • การเก็บและม้วนผ้าเก็บ (taking up and letting of) เมื่อทอผ้าได้จำนวนหนึ่งแล้วจะต้องมีการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนม้วน โดยจะต้องมีการปรับไหม/ด้ายเส้นยืนให้หย่อนก่อนจึงม้วนผ้าเก็บ แล้วผูกให้ตึงแน่นทอต่อไป

รายละเอียดของการทอผ้าด้วยกี่

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมในการทอผ้า

  • กง หรือ ระวิง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับใส่ไจเส้นด้าย ทั้งไหมและฝ้าย เพื่อเตรียมกรอเข้าพักกับอัก หรือเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของเส้นด้าย เช่น เก็บส่วนที่เป็นขุย ปุ่มปมต่างๆ ก่อนนำไปใช้งาน กง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กง และหลักตีนกง
    - กง จะมีแกนที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลากลม ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร ตรงปลายแกนทั้งสองข้างจะมีไม้ไผ่เหลาแบนปลายแหลมเสียบไว้ ในลักษณะไขว้กันเป็นรูปกากบาทหรือ 4 แฉก หรือ 6 แฉก ยึดติดกับแกนกลาง มีเชือกผูกโยงระหว่างแฉก ส่วนนี้จะเป็นส่วนรองรับไจด้าย ปลายแกนจะยื่นยาวต่อจากจุดมัดแฉกเล็กน้อยเพื่อสอดเข้ากับหลักตีนกง
    - หลักตีนกง จะทำด้วยไม้ มีจำนวน 2 ชิ้น มีฐานยึดเพื่อให้ไม้ตั้งสูงได้ในแนวดิ่ง สูงประมาณ 0.8-1 เมตร ที่ปลายหลักจะเจาะรูสำหรับสอดแกนกง ทำให้กงหมุนได้ การวางหลักตีนกงจะวางให้มีระยะห่างพอดีกับกง เพื่อให้หมุนได้สะดวก

kee torpa 06

  • อัก บางแห่งจะเรียก กวัก เป็นเครื่องมือสำหรับคัดด้ายหรือไหม รูปร่างคล้ายระวิง เมื่อต้องการคัดด้ายหรือคัดไหมจะใช้อักสาวไหมออกจาก “กงกวัก” ในขณะสาวไหมหรือด้ายออกจากกงกวัก หากพบเส้นไหมหรือด้ายมี “ขี้ไหม” หรือไหมมีปม เส้นไหมไม่เรียบ ตะปุ่มต่ำ ก็จะใช้ “มีดแกะขี้ไหม” ออก ซึ่งเป็นมีดเล็กๆ เป็นการคัดเส้นไหมให้เรียบงาม อัก ต้องใช้คู่กับ กงกวัก

kee torpa 07

  • หลา และ ไน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ใช้สำหรับการกรอฝ้ายหรือไหมเข้าหลอดด้ายก่อนนำไปใส่ในกระสวยเพื่อการทอผ้าในขั้นต่อไป ลักษณะโครงสร้างของหลาประกอบด้วย กงล้อขนาดใหญ่ มีขา มีฐานยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ที่จับสำหรับหมุนด้วยมือ เรียกว่า แขนหลา เพื่อให้กงล้อหมุนรอบตัวเอง กงล้อนี้มีสายพานโยงไปอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า สายหลา ส่วนหัวหลาจะอยู่ด้านซ้ายของวงล้อ ที่หัวหลาจะมีแกนเหล็กเล็กๆ เรียก เหล็กไน ที่วางอยู่บนหูหลา เมื่อหมุนกงล้อ เหล็กไนก็จะหมุนตามอย่างเร็ว โครงสร้างของหลาจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ส่วนวงล้อนั้นประกอบจากซี่ไม้ไผ่

kee torpa 08

  • หลอดด้ายและกระสวย หลอดทำจากไม้ไผ่ หรือไม้เนื้ออ่อนที่มีแกนกลวง หรือพลาสติก ใช้สำหรับกรอฝ้าย/ไหมเส้นพุ่งให้เป็นม้วนเล็กๆ บรรจุลงในกระสวยเพื่อใช้ในขั้นตอนการทอ สอดเส้นพุ่งเข้าไปในช่องว่างระหว่างเส้นยืน กระสวยมีทั้งแบบบรรจุหลอดด้ายเดี่ยว และหลอดด้ายคู่ในกรณีที่ใช้เส้นพุ่ง 2 เส้น 2 สีสลับกันให้เกิดลวดลายพิเศษ

kee torpa 09

  • หลักเปีย (หลักเผีย) โครงไม้สำหรับค้นฝ้าย/ไหมเตรียมด้ายยืน สามารถเตรียมด้ายยืนยาวประมาณ 20 - 30 เมตร (ปัจจุบัน มีการใช้กี่กระตุกซึ่งทอผ้าได้เร็วและจำนวนมาก จึงมีการทำหลักเปียขนาดใหญ่ เตรียมด้ายยืนได้ยาวกว่า 100 เมตรกันแล้ว)

kee torpa 10

เรียนรู้การทอผ้าแบบเต็มรูปแบบ: เรียนรู้วิถีไทย

สืบสานอนุรักษ์ราชินีผ้าไหมแพรวา บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ : ทั่วถิ่นแดนไทย

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : คุณค่าผ้าทออีสาน | ผ้าทออีสาน2 | ผ้ากาบบัวอุบลฯ | ผ้าไหมสุรินทร์

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)