![]()
|
นับวันร่มเงาวัดหนองป่าพงยิ่งแผ่กว้างออกไป สาธุชนทั้งใกล้และไกลต่างหลั่งไหลมา ตามกิติศัพท์แห่งศีลสัตย์ของพระป่า เมื่อมาพบเห็นการประพฤติปฏิบัติยิ่งเกิดศรัทธา ชาวบ้านบางกลุ่ม จึงขอนิมนต์หลวงพ่อไปพิจารณาตั้งวัดป่าในถิ่นตนบ้าง
ต่อมา วัดสาขา จึงกำเนิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง หลวงพ่อได้จัดส่ง หลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม หลวงพ่อจันทร์ อินฺทวีโร และศิษย์อาวุโสออกไปเป็นประธานสงฆ์ ในสาขาต่างๆ ตามลำดับ
สำหรับที่วัดหนองป่าพง พระเณรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อจึงกำหนดกติกาสงฆ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นรากฐานของข้อวัตรปฏิบัติในวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งถือว่ากติกานี้ คือตัวแทนส่วนหนึ่งของหลวงพ่อในปัจจุบัน...
กติกาสงฆ์ จะช่วยควบคุมความประพฤติของพระเณรให้อยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัย เพื่อง่ายต่อการเข้าสู่ความบริสุทธิในสมณเพศ เช่น การห้ามรับเงินทองและห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ขอของจากคนมิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา หากได้รับวัตถุทานให้เก็บไว้เป็นของกลาง และห้ามบอกและเรียนดิรัจฉานวิชา บอกเลข(หวย) ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู ทำวัตถุมงคล... ฯลฯ เป็นต้น
ในยุคนั้น หลวงพ่อยังคงนำศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างแข็งขันสม่ำเสมอ... พอห้าโมงเย็น ประตูวัดจะถูกปิดทันที ไม่ให้ใครเข้าออก ป่าทั้งป่าเงียบสงัด แม้จะมีพระเณรร่วมร้อยรูป แต่ไม่มี เสียงพูดคุย
หกโมงเย็น ทุกคนต้องนั่งสมาธิพร้อมกันที่ศาลา จะลุกขึ้นไปไหนไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาเลิก บางครั้งหลวงพ่อจะพาสวนทางกิเลส เช่น ฤดูร้อน ให้ปิดประตูหน้าต่างศาลาแล้วนั่งสมาธิ อากาศจะร้อนอบอ้าว จนเหงื่อไหลโทรมกายก็ไม่อนุญาตให้ลุกจากที่ แต่หากเป็นฤดูหนาวให้เปิดประตูหน้าต่างให้โล่ง นั่งสมาธิอยู่ในความหนาวเย็นอย่างนั้น
ท่านพาทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้ศิษย์มีความอดทน ไม่อ้างหนาว ร้อน หรืออ้างเวลา แล้วหลีกเลี่ยงการภาวนา รวมทั้งเป็นการขัดขืนกิเลส ไม่ให้ทำตามความอยากของตนเอง
ถึงฤดูแล้ง ใบไม้และพื้นดินแห้งเหมาะแก่การอยู่โคนไม้ บางปีหลวงพ่อจะพาพระเณรออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ แต่บางครั้งก็ธุดงค์กันในวัด ให้กางกลด นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ตามร่มไม้ไม่ต้องขึ้นกุฏิ...
หลวงพ่อเข้มงวดกวดขันต่อตนเองและศิษย์ตลอดมา จนกระทั่งในช่วงหลังๆ ท่านมีอายุมากขึ้น และต้องต้อนรับญาติโยมเกือบตลอดทั้งวัน พระเณรจึงร่วมประชุมตกลงกัน ยกข้อวัตรให้ หลวงพ่อ คือขอร้องให้ท่านไม่ต้องทำกิจวัตรบางอย่าง เช่น ตักน้ำ กวาดลานวัดกับลูกศิษย์ลูกหา แต่หลวงพ่อก็ไม่วางธุระเสียทั้งหมด ท่านยังคงดูแลศิษย์อย่างใกล้ชิดเสมอมา
ต่อมา หลวงพ่อได้ฝึกหัดให้ศิษย์รู้จักการปกครองกันเองในระบบสงฆ์ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของท่านแก่ศิษย์อาวุโส เป็นผู้นำหมู่คณะ ประพฤติข้อวัตรต่างๆ โดยท่านคอยควบคุม ดูแลอีกชั้นหนึ่ง
การประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐานในป่าพงในยุคนั้น ดำเนินไปอย่างสงบและมั่นคง แม้หลวงพ่อจะไม่ได้ร่วมปฏิบัติในกิจวัตรทุกอย่างเช่นเดิม แต่สานุศิษย์อาวุโสซึ่งถอดแบบมาจากหลวงพ่อ ก็สามารถนำหมู่คณะปฏิบัติได้อย่างเรียบร้อย
| |
สนับสนุนให้ IsanGate อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ |