ร้อน และร้อนที่สุดมาแล้วจ้า...

world of changes 01

ในช่วงวันที่ 7-8 มีนาคม 2565 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โปรดติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยา โดยจะมีผลกระทบดังนี้

 วันที่ 7 มีนาคม 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

วันที่ 8 มีนาคม 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา

ด้วยความห่วงใย พ่อแม่ พี่น้อง บ้านเฮาทุกๆ คนครับ
จากทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน

หลังปีใหม่ที่ผ่านมาทีมแอดมินต่างก็หมดไฟไปพอสมควร เริ่มจาก อาวทิดหมู มักหม่วน นั้นสนุกสนานกับการกินฉลองปีใหม่กับลูกหลานจนท้องไส้ปั่นป่วน หมดเรี่ยวแรงไปหลายวัน ส่วนคนอื่นๆ ก็สนุกสนานกันไปจนถลำไปใกล้กลุ่มเสี่ยงบักโควิดต้องกักตัวไปครึ่งเดือน ส่วนผมนั้นอยู่รอดปลอดภัยจากโควิดแต่ดันมีอาการแพ้แสงแดดตอนกลางวัน จนห่างหายไปจากหน้าจอทั้งมือถือ แท็ปเล็ต และคอมพิวเตอร์ เรียกว่า "กลางวันเป็นมนุษย์ค้างคาว หลับอย่างเดียวเลย" ต้องหาแว่นกันแสงแดดมาสวมใส่ทั้งๆ ที่เป็นคนรำคาญการสวมแว่นมากๆ ถึงขั้นอาวทิดหมูแซวเป็นประจำว่า "มันหนักซานดัง เนาะครู บ่อยากใส่" ว่าซั้น (ความจริง บ่อยากถืกแนมว่าเป็น สว ต่างหาก)

และปีนี้ในช่วงปีใหม่นั้นความหนาวก็มาให้สัมผัสได้แต่ไม่นาน ไม่หนำใจมากนัก เสื้อผ้าที่อุตส่าห์เตรียมนำออกมาซักไว้เพื่อจะอวดใครๆ สักหน่อยก็ไม่คุ้มค่าเลย ใส่ยังไม่ครบสีสันที่เตรียมไว้ ก็ต้องรีบเก็บเข้าตู้เสียแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศทั่วโลกที่ทำให้เห็น และเกิดขึ้นแล้วในรุ่นเรานี่เอง ความเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้เห็นชัดเจนมากขึ้น ทั้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อากาศเปลี่ยนแปลงไปจนผิดปกติ จนไม่สามารถระบุได้ว่าตอนนี้มันฤดูไหนกันแน่ มันร้อน ฝน หรือหนาว ที่เห็นชัดเจนมากๆ ในปีนี้คือ

world of changes 01

ผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลก ทำให้ในปีนี้ การแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่งเกมส์ 2022 จะต้องใช้หิมะปลอมเกือบทั้งหมดของการแข่งที่จะเกิดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ฤดูหนาวจะมีระยะเวลาที่สั้นลงและหิมะตกลงมาน้อยลง รวมทั้งน้ำแข็งละลายเป็นผลมาจากปัจจัยทางปรากฏการณ์สภาวะอากาศ ทำให้เจ้าภาพคือ รัฐบาลปักกิ่งต้องสร้างหิมะเทียมเพื่อการแข่งขันในครั้งนี้ และยังกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่มีการใช้หิมะปลอมในการแข่งขัน

ความแปรปรวนของสภาพอากาศในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทำให้ในช่วงนี้มีหิมะไม่มากนักในบริเวณสถานที่จัดการแข่งขันกีฬา ซึ่งหากไม่มีหิมะ ก็คงจะดูย้อนแย้งกับชื่อ “โอลิมปิกฤดูหนาว” ทำให้ทางการจีนตัดสินใจใช้หิมะเทียมในการสร้างบรรยากาศ หากใครเดินทางไปบริเวณพื้นที่จัดงาน จะพบเครื่องทำหิมะตั้งอยู่ทุกหนทุกแห่งและส่งเสียงดัง

world of changes 02

ในการสร้างหิมะเทียมขึ้นมาต้องใช้น้ำราว 49 ล้านแกลลอน และเครื่องผลิตหิมะเทียมที่ใช้พัดลมอีก 130 เครื่อง รวมไปถึงปืนสร้างหิมะอีก 300 ตัว เพื่อสร้างหิมะเทียมที่เหมือนจริงจำนวนมากถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นมา เพื่อให้ทุกสิ่งทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้จัดงานจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลและทำให้เครื่องทำงาน แต่ถึงกระนั้นพวกเขายังต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม เพื่อทำให้หิมะเทียมอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเป็นเพราะหิมะเทียมยังคงสามารถละลายได้

และเชื่อไหม? ประเทศไทย เราก็มีนักกีฬาที่เข้าร่วมในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่ กรุงปักกิ่ง เป็นนักกีฬาไทยที่ผ่านการควอลิฟายมาเข้าร่วมทั้งหมด 4 คน จากกีฬาประเภทสกีอัลไพน์และครอสคันทรี คือ

world of changes 04

  • นิโคลา ซาโนน นักกีฬาสกีอัลไพน์ ลูกครึ่งไทย-อิตาลี วัย 25 ปี มีพ่อเป็นชาวอิตาลี และคุณแม่เป็นคนจังหวัดแพร่ เริ่มต้นสกีตั้งแต่อายุ 8 ปี
  • มิดา ใจมั่น หรือ ฟ้า นักกีฬาสกีอัลไพน์ อายุ 19 ปี ลูกครึ่งไทย-สวิตเซอร์แลนด์ เริ่มต้นเล่นสกีตั้งแต่อายุ 3 ปี ถนัดสกีในรูปแบบสลาลม และเป็นความหวังของทัพนักกีฬาทีมชาติไทย เนื่องจากมีคะแนน FIS ดีที่สุดที่เคยมีมาของไทย
  • มรรค จันเหลืองเป็นนักกีฬาสกีครอสคันทรี ลูกครึ่งไทย-อิตาลี วัย 26 ปี มาจากเมืองอาออสตา ประเทศอิตาลี โดยมีพ่อเป็นชาวจังหวัดยโสธร
  • คาเรน จันเหลือง เป็นน้องสาวแท้ๆ ของมรรค อายุ 25 ปี เธอเป็นนักกีฬาสกีครอสคันทรีที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเล่นสกีอัลไพน์ตั้งแต่วัย 3 ปี จากนั้นเริ่มต้นเล่นกีฬาสโนว์บอร์ดเป็นเวลา 1 ปี ตอนอายุ 9 ปี และมาเริ่มต้นสกีครอสคันทรีตอนอายุ 10 ปี

ซึ่งทาง “น้องฟ้า” มิดา ใจมั่น ได้เปิดเผยว่า นี่เป็นสนามที่ยากสมกับเป็นการแข่งขันระดับโลกเลยทีเดียว เนื่องจากพื้นสนามค่อนข้างแข็งกว่าปกติ เพราะเป็นการใช้หิมะเทียม 100% ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างของสนามที่มีหิมะจริงผสม (หิมะจริงจะมีความนิ่มมากกว่า ปลอดภัยเกิดอาการบาดเจ็บน้อยกว่า) และนักกีฬาจากชาติอื่นๆ ก็ให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า ลักษณะพื้นสนามแตกต่างจากที่เคยฝึกซ้อม ฉะนั้นการลงมาแต่ละรันต้องอาศัยเทคนิคขั้นสูง เพื่อประคองตัวเองไม่ให้ลื่นไถลออกนอกสนาม

world of changes 03

โดยประเภทสกีอัลไพน์เป็นการเล่นสกีที่ลงจากเขา และจะมีการซิกแซกตามเกต พื้นสนามที่เป็นหิมะเทียมจะค่อนข้างเป็นน้ำแข็ง มีความลื่นเป็นอย่างมากทำให้นักกีฬาเราต้องปรับตัวและสปีดมากพอสมควร สำหรับการแข่งขันจริงเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องจบรันให้ได้ทั้งคู่ และต้องจบในแบบโปร คือการลงด้วยความเร็วและเข้าเส้นชัย เราจะไม่อยากให้นักกีฬาลงอย่างช้าๆแล้วเข้าเส้นชัยถือว่าไม่เหมาะสมกับการแข่งขันถึงแม้ว่าจะจบรันก็ตาม ส่วนอุปสรรคของสกีอัลไพน์ที่นักกีฬาจะต้องเจอและปรับตัวให้ได้ก็คือ แรงลม กับ แสงแดด เพราะเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม นักกีฬาต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะแดดแรงทำให้แสบตา หรือ ลมแรง อาจจะควบคุมความบาลานซ์ลำบาก แต่ก็ยังเชื่อว่าปีนี้นักกีฬาไทยจะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าแน่นอน (ติดตามทาง AIS Play และช่องทีวีดิจิทัล T-Sports ช่องหมายเลข 7)

ที่เอาเรื่องการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาเล่าให้ฟังก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกนี้มีผลกระทบต่อทุกคนในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก ต้องประสบปัญหานี้เช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่ทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ และวงโคจรของโลก ปัจจัยภายในได้แก่ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของก๊าซในบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลก ซึ่งพอสรุปรวมได้ดังนี้

  • พลังงานจากดวงอาทิตย์
  • วงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
  • องค์ประกอบของบรรยากาศ
  • อัลบีโด หรือความสามารถในการสะท้อนแสงของบรรยากาศ และพื้นผิวโลก
  • น้ำในมหาสมุทร
  • แผ่นน้ำแข็งขั้วโลก
  • การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก

ทุกปัจจัยที่กล่าวมามีผลกระทบต่อบรรยากาศโลกโดยตรง และมีผลกระทบต่อกันและกัน ซึ่งยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม ดังที่แสดงในภาพ

world of changes 05

ที่มา : การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศโลก

เราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยลำพัง ต้องร่วมมือกันทั้งโลกเลยทีเดียว ตั้งแต่ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน) มาใช้พลังงานสะอาดอย่างเช่น พลังงานจากลม และแสงอาทิตย์ ให้มากขึ้น จะเห็นว่า ช่วงหลังๆ จะไม่สนับสนุนเรื่อง พลังงานจากน้ำ กันอีกแล้ว เพราะพลังงานน้ำแม้จะมีต้นทุนต่ำในการก่อสร้างแต่กลับทำลายล้างสิ่งแวดล้อมมากพอๆ กัน เช่น ต้องเสียพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมาก เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งพืช-สัตว์ที่สำคัญหายไป เกิดการรุกรานพื้นที่ชุ่มน้ำ (ป่าบุ่ง ป่าทาม) พื้นที่ทำการเกษตร เกิดการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ที่ไปรุกรานธรรมชาติในที่อื่นๆ ต่อไปอีก หรือแม้แต่เกิดความแห้งแล้งของลำน้ำสายหลัก เช่น กรณีใกล้บ้านเราอย่าง แม่น้ำโขง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่ท้ายน้ำนั่นเอง

ที่ผ่านมา "การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนบน" ตั้งแต่เขื่อนม่านวานในเขตจีน เรื่อยลงมาอีกนับสิบเขื่อน ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ท้ายเขื่อนหลายๆ แห่ง ที่ได้เกิดปรากฎการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ อาทิ น้ำขึ้น – ลงผิดฤดูกาล แม่น้ำโขงมีสีใสไร้ตะกอน รวมถึงการหายไปของชนิดพันธุ์อันหลากหลายของระบบนิเวศในลุ่นน้ำ ‘เมื่อเข้าสู่ภาวะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำแห่งนี้’

‘แม่น้ำโขงแห้งขอด’ กลายเป็นภาพติดตาของผู้คนที่ติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านที่อาศัยริมชายโขง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบโดยตรง จากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน ลองนึกถึงภาพลำน้ำโขงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนสองฝากฝั่ง ‘เหือดแห้ง’ จนเห็นเนินทราย หลายพื้นที่แห้งขอดขนาดสามารถเดินเท้า ข้ามจากฝั่งไทยไปฝั่ง สปป.ลาว โดยไม่ต้องพึ่งเรือติดเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังมีข้อฉงนเพิ่มขึ้นมาใหม่ เมื่อแม่น้ำโขงมีสีที่แปรเปลี่ยนไปจากธรรมชาติ ตามที่ผู้อ่านคงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า สีของแม่น้ำโขงค่อนไปทางขุ่น ดังคำกล่าวที่ว่า "โขงสีปูน มูลสีคราม" เนื่องจากแม่น้ำโขงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและตะกอนมากมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติไหลลงมาทางตอนล่าง

world of changes 06

แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฎ มีรายละเอียดพอสังเขปว่า การที่ ‘น้ำโขงเปลี่ยนสี’ จนดูสวยงามดุจน้ำทะเลสีครามนั้น แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤต เนื่องจากแม่น้ำโขงเหือดแห้งจนเกิดสันดอน ตะกอนตกค้างอยู่ในอ่างของแต่ละเขื่อน จึงไม่มีการไหลเวียนตามวิถีธรรมชาติ ทำให้เกิดการตกตะกอนจนน้ำใส แม่น้ำโขงมีสีฟ้าจะพบเห็นได้แค่ในส่วนของพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนเท่านั้น

พอน้ำโขงใสจนสามารถเห็นปลาได้ชัดเจน ก็มีประชาชนนักท่องเที่ยวทั่วไปมาดำน้ำและใช้ฉมวกยิงปลา ซึ่งปลาที่ถูกยิงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หากปลาเหล่านี้ถูกล่าด้วยความสนุกของมนุษย์ทุกวัน มันจะหายไปจากระบบนิเวศ ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขงแน่นอน ”

จนเกิดมีกิจกรรมต่อเนื่องที่น่าสนใจคือ ‘เดินเท้าเว้าแทนปลา’ ที่ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงภาคอีสานเขาร่วมชุมนุมกัน และเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง โดยมุ่งทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้มีการคุ้มครองพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่กำลังถูกล่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤตสูญพันธุ์ในอนาคต

“หลายคนเวลาพูดถึงเรื่องแม่น้ำโขงก็จะพุ่งไปหาแต่ทาง 'ประเทศจีน' ซึ่งมันก็ได้รับผลกระทบจากเขาจริงๆ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ถูกพูดถึงกันในรายละเอียด ที่ว่าเขื่อนที่ใกล้ที่สุดก็เป็น 'เขื่อนลาวสัญชาติไทย' (กฟผ. ให้ทุนสนับสนุนการสร้างกับ สปป.ลาว แลกกับกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้) อย่าง 'เขื่อนไซยะบุรี' มันเหมือนกับการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ลูบไปตรงไหนก็เจอแต่จมูกตัวเอง มันเป็นการเบี่ยงเบนให้สาธารณชนด่าจีนอย่างเดียว ทั้งที่ตัวเองก็เป็นศูนย์กลางรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน”

world of changes 07

เขื่อนไซยะบุลี #เขื่อนไทยสัญชาติลาว เจ้าของ คือ CKPower บริษัทลูกของ ช.การช่าง

ทางแก้ของชาวบ้านตัวน้อยอย่างเราๆ ที่ทำได้ในตอนนี้คือ การสร้างป่าชุมชน การปลูกป่าตามหัวไร่ปลายนาให้มากขึ้น ขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้งานในเรือกสวนไร่นาของตนเอง เมื่อมีปลา มีบ่อกักเก็บน้ำ ก็ย่อมจะมีความชุ่มชื้นจนทำให้เกิดเมฆฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล เลิกการทำเกษตรแบบล้างผลาญแปลงใหญ่ๆ เพราะมันทำให้เห็นแล้วว่า "เกษตรกรไม่มีทางรวยได้ถ้ายังขยายพื้นที่การทำกินเกินกำลังของตน มีแต่ภาระหนี้สินเพราะปัจจัยการผลิตล้วนมาจากนายทุน พ่อค้าคนกลาง ที่เราต้องคอยใช้หนี้เขามาตลอดระยะ 60 ปีที่ผ่านมานี้" ทำการเกษตรผสมผสานเท่าที่มีกำลัง ใช้เมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตอื่นๆ จากธรรมชาติ จากการคัดเลือกพันธุ์ของเราเอง ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศีตรูพืช (กำจัด-ทำร้ายเกษตรกรเองด้วย) เราจึงจะรอดและเป็นไทในที่สุด

ไม่ต้องเชื่อผู้เขียน แต่จงเชื่อ : พ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งบ้านสวนออนซอน