september festival header

ล่วงเข้าเดือนที่สองของการเข้าพรรษาแล้ว ก็มาถึงฮีตสำคัญอีกฮีตหนึ่งในสิบสองเดือนคือ "ฮีตบุญเดือนสิบ" คือ บุญข้าวสาก ในภาคอีสาน ส่วนทางภาคกลางเรียกว่า บุญสลากภัตร เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานงานบุญประเพณีบ้านเฮาเอาไว้ ก็อย่าลืมประพฤติปฎิบัติ "สืบฮอยตา วาฮอยปู่" ไว้เด้อลูกหลานเอย บางคนก็บอกว่า "ช่วงหยุดเข้าพรรษาเดินทางเมือบ้านลำบาก รถราแน่นขน้ดบ่สะดวกในการเดินทาง บุญข้าวสากปีนี้กะเมือบ้านได้เด้อ ไปทำบุญให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือที่ล่วงลับไปแล้วกัน ได้พานพบพี่น้องป้องปายในรอบปี" เมือยามบ้านกัน...

  • มหัศจรรย์ธรรมชาติ "กุ้งเดินขบวน" ณ แก่งลำดวน อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ระหว่าง 1-30 กันยายน 2565
  • มหัศจรรย์พนมรุ้ง 2565 ปราสาทเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 8-10 กันยายน 2565
  • ฮีตเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" ทุกจังหวัดภาคอีสาน วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ.2565

Unseen Thailand กุ้งเดินขบวน

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ (Unseen Thailand) นี้หนึ่งปีมีครั้งเดียว ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยไป จนกระทั่งเดือนกันยายนของทุกปี ที่ ลานพันรู ในน้ำตกแก่งลำดวน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี (ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า อุบลราชธานี) มี ขบวนพาเหรดกุ้ง เดินฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากมุ่งสู่ต้นน้ำของลำโดมใหญ่ ในเทือกเขาพนมดงรัก มหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าชม ปีนี้ฝนมาล่ากว่าปกติน้ำน้อยการเดินขบวนของกุ้งจะมีให้เห็นจำนวนมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปถึงต้นเดือนกันยายนนะครับ

parade kung 01

กุ้งไม่ได้ประท้วงเรียกร้องอะไรนะ แค่จะกลับบ้านเกิดไปวางไข่แพร่พันธุ์เท่านั้น

มีคำถามว่า "กุ้งชนิดใดมาเดิขบวนที่นี่ หลายคนอยากรู้ ตัวใหญ่ไหม มีเยอะไหม" คำตอบคือ กุ้งชนิดที่มาเดินขบวนที่น้ำตกแห่งนี้คือ กุ้งฝอย ชื่อสามัญว่า Lanchester’s freshwater Prawn  ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ MacrobachiamLanchesteri จัดว่าเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามผิวน้ำริมตลิ่ง แหล่งน้ำต่างๆ ชอบกินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 - 7 ซม. มีเปลือกห่อหุ้มตัว โดยเปลือกหุ้มแยกออกเป็นสองตอน ตอนหน้าจะห่อหุ้มหัวและอก ส่วนตอนหลังจะเป็นลำตัวกุ้ง ส่วนหนวดกุ้งจะทำหน้าที่รับความรู้สึก กุ้งจะมีขาสำหรับเดินและจับอาหาร 5 คู่ และรยางค์สำหรับว่ายน้ำอีก 5 คู่ ซึ่งรยางค์เหล่านี้ นอกจากจะใช้ว่ายน้ำแล้วตัวเมีย ยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บไข่ผสมน้ำเชื้อและฟักไข่อีกด้วย สำหรับการหายใจนั้นกุ้งจะหายใจด้วยเหงือกและเลือดกุ้งจะไม่มีสี สรุปกันง่ายๆ ก็คือ กุ้ง ที่นิยมเอามาทำ "กุ้งเต้น"รสแซบนั่นแหละ

kung parade 2

เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่รับยีนส์ (Genes) และแรงผลักดันจากพ่อ/แม่ ให้เดินทางกลับสู่ต้นน้ำอันเป็นบ้านเกิด เพื่อมาสืบพันธุ์และวางไข่ การที่กุ้งเหล่านี้มาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู มีสาเหตุมาจากการที่จะเดินทางมายังแหล่งต้นน้ำ ที่เป็นบ้านเกิด บนยอดเขาพนมดงรัก มันต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย

กุ้งจะเดินขบวนช่วงไหน? ช่วงฤดูน้ำหลาก คือ กลางเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและความเชี่ยวของกระแสน้ำบริเวณน้ำตกแก่งลำดวน โดยจะขึ้นมาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู อย่างน่ามหัศจรรย์ ในเวลากลางคืน เวลาประมาณ 19.00 - 05.00 น. ของอีกวันหนึ่ง แต่คืนไหนจะเดินขึ้นมามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วัน ป่าไม้ต้นน้ำก็จะปล่อยน้ำลงมามากส่งผลให้ระดับน้ำสูงกระแสน้ำเชี่ยว กุ้งก็จะพากันมาเดินขบวนเป็นแถวยาว

kung parade 3
ก่อนไปชมกุ้งเดินขบวนตอนค่ำก็แวะเที่ยวน้ำตกห้วยหลวงกันก่อนในตอนกลางวัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ก่อน

บุญข้าวสาก (ฮีตบุญเดือน ๑๐)

บุญเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทยกลาง ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่น ในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ จะกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565

boon kao sag 02

ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระ หรือ เณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่า ในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่า เป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่า เป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น

san donta5

สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ จะมีการจัด วันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

วันที่จัดงาน : 10 กันยายน 2565

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก

มหัศจรรย์พนมรุ้ง 2565

แสงอรุณแรกยามตะวันรุ่ง พุ่งผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์​ ​มีปรากฏการณ์นี้ครั้งแรกของปีผ่านไปแล้ว เมื่อช่วงวันที่ 5 - 6 - 7 มีนาคม และ 3 - 4​ - 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นความอัศจรรย์แห่ง​มหาเทวาลัย ซึ่งตั้งตระหง่านบนภูเขาไฟเก่าพนมรุ้ง​ ที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชม ถ้าคุณพลาดโอกาสในครั้งแรกไป เดือนกันยายนและตุลาคมนี้ จะทำให้คุณได้สมหวังกับมหัศจรรย์ธรรมชาตินี้อีกครั้ง

phanom roong 2565 01

ซึ่งปรากฏการณ์ที่ พระอาทิตย์จะส่องแสงลอดทะลุช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทพนมรุ้ง ในรอบ 1 ปี จะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์นี้เพียง 4 ครั้ง/ปี คือ เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และกันยายน และเห็นพระอาทิตย์ตกอีก 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และตุลาคม ซึ่งในปี 2565 ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดังกล่าว มีดังนี้

  • พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3-4-5 เมษายน และ วันที่ 8-9-10 กันยายน
  • พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-6-7 มีนาคม และ วันที่ 5-6-7 ตุลาคม

ความมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้ง รังสรรค์มาจากภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่ถ่ายทอดความศรัทธาในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย ผ่านก้อนหินนับร้อย นับพันก้อน ก่อร่างสร้างเป็นความยิ่งใหญ่แห่งเทวสถาน บนยอดภูเขาไฟหนึ่งในหกลูกของเมืองบุรีรัมย์

phanom roong 2565 02

นอกจากจะได้ชมปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์แล้ว ท่านยังสามารถแวะชิมอาหารพื้นเมืองโบราณตามแบบท่องเที่ยววิถีไทย ณ “ตลาดย้อนยุคเมืองแปะ” ชมและเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ณ บริเวณลานโพธิ์ก่อนขึ้นปราสาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

  • อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ โทร 044 666 251 หรือทาง Facebook Fanpage
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 044 634 722-3 หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือทาง Facebook Fanpage

วันที่จัดงาน : 🌞พระอาทิตย์ขึ้น🌞 8-9-10 กันยายน 2565 และ 🌄พระอาทิตย์ตก🌄 5-6-7 ตุลาคม 2565 (ครั้งที่2)

สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

 

บริการเผยแพร่ข่าวสารงานประเพณี ฟรีๆ

หากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์อีสานบ้านเฮา มีข่าวสารการจัดงานบุญประเพณีในท้องถิ่นของท่าน อยากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็แจ้งมายังทีมงานได้ครับ ผ่านทางอีเมล์ webmaster @ isangate.com หรือผ่านทาง Inbox ใน Fanpage Facebook : IsanGate ก็ได้เช่นเดียวกันครับ ขอรายละเอียด วันเวลา สถานที่จัดงาน กิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีภาพประกอบด้วยก็จะดีเยี่ยมครับ (ภาพของงานปีก่อนๆ หรือการคประชุมเตรียมงาน) บริการท่านฟรีๆ ครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด