festival february

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มีงานเทศกาลประเพณีในภาคอีสานหลายงานเลยทีเดียว ใกล้ที่ใดก็ไปร่วมกิจกรรมกันได้ครับ ส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือชุมชนใดๆ ที่จะจัดให้มีการจัดงานเทศกาล บุญประเพณีอีสาน ต้องการเผยแพร่ข่าวสาร ฟรีๆ ก็ส่งข่าวสารรายละเอียด ภาพประกอบ(ถ้ามี) มายังทีมงานของเราได้ครับผ่านทางอีเมล์ mail webmasterได้เลยครับ ยินดีให้บริการ

  • งานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 12-14 กุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนการจัดงาน
  • งานแต่งบนหลังช้างสุรินทร์ ปี 2564 หมู่บ้านช้าง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ 13-14 กุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนการจัดงาน
  • งานแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด มหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 25 กุมภาพันธ์ 2564 (มีรายละเอียดในข่าว)

งานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง ประจำปี 2564

banchiang2564

งานมรดกโลกบ้านเชียง ประจำปี 2564 เป็นการฉลิมฉลองในการที่ องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้บ้านเชียงขึ้นเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจและมีจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์ ดูแลป้องกันแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงให้คงอยู่ตลอดไป โดยมีกิจกรรมทั้งการจำหน่ายสินค้า OTOP สินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นบ้าน การละเล่นต่างๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น การแสดงมหรสพต่างๆ พร้อมเข้าชมฟรีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ตลอด 3 วัน 3 คืน

moradok banchiang

ทั้งนี้ แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง เป็นแหล่งมรดกโลกทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นานกว่า 5000 ปี มาแล้ว จากหลักฐานที่ขุดค้นพบทั้งโบราณวัตถุ ภาชนะดินเผาเขียนสีลวดลายต่างๆ โลหะ เหล็ก สำริด รวมถึงร่องรอยวิถีชีวิตอดีตกาล วัฒนธรรมบ้านเชียงได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ องค์การยูเนสโก จึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก ส่งผลให้ผืนแผ่นดินแห่งนี้ในปัจจุบัน เป็นแหล่งการศึกษาและค้นคว้าทางโบราณคดี รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี

ช่วงเวลาจัดการ : 12-14 กุมภาพันธ์ 2564

สถานที่จัดงาน : ณ ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

งานแต่งบนหลังช้างสุรินทร์ ปี 2564

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดกิจกรรมโครงการ "จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2564" (ฮาวปลึงจองได) ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการโลกของช้างให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอีกทางหนึ่ง โดยในงานนี้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจและเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี

how plueng jong dai 01

“ช้าง” คือ สัตว์ประจำชาติไทย ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ และ “จังหวัดสุรินทร์” ก็คือดินแดนของช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนดินสยามในปัจจุบัน “บ้านตากลาง” ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีที่มีชาวกูย (หรือชาวกวย) อาศัยอยู่ อีกทั้งยังลือชื่อในฐานะ “หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยมีช้างอยู่กว่า 300 เชือก

ทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้จัด “งานแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ขึ้นอย่างตื่นตาตื่นใจ จึงมีเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเข้าร่วมแต่งงานมากมายหลายคู่ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

แต่เนื่องจากในขณะนี้ มีการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จึงขอแจ้งงดการจัดกิจกรรม "โครงการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างประจำปี 2564" ออกไปจัดในปีต่อไป

how plueng jong dai 02

แต่ถ้าท่านคิดถึงพี่ช้าง? สามารถไปเที่ยวหมู่บ้านช้าง "บ้านตากลาง Elephant World" ชุมชนบ้านหนองบัว วัดป่าอาเจียงกันได้นะครับ

[ ท่านที่สนใจพิธีการนี้ อ่านเพิ่มเติม : ซัตเต การแต่งงานของชาวกุย ]

ช่วงเวลาจัดการ : 13-14 กุมภาพันธ์ 2564

สถานที่จัดงาน : ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

งานแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด

ในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี จังหวัดยโสธรได้จัดงาน ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ที่ บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ชาวพุทธมีความเชื่อว่าในวันนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ หลังจากได้แสดงพระธรรมเทศนาให้แก่พระมารดาแล้ว โดยเหล่าเทพดานางฟ้าได้ทำการต้อนรับพระองค์ด้วยดอกไม้ และข้าว ความเชื่อนี้ได้รับการสืบทอดติดต่อกันมา และกลายมาเป็นประเพณีที่ยึดถือกันในปัจจุบัน ชาวบ้านจะทำพวงมาลัยจากข้าวอบ ซึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อการตกแต่งศาลาวัด และแสดงโชว์ในขบวนพาเหรด ณ วันงานด้วย

malai kaotok 4

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่า "ข้าว" เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้และต่อมามีการนำมา ประดิษฐ์ตกแต่งเป็นมาลัยที่สวยงาม เป็นที่มาของ “มาลัยข้าวตอก” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]

รายการ "คุณพระช่วย" ตอน "คั่วข้าวตอก"

แจ่งข่าวด่วน!

การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยโสธร ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ได้พิจารณาความเหมาะสมของการจัดงาน "ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก อำเภอมหาชนะชัย ประจำปี 2564" ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงเห็นชอบให้มี "การจัดงานเฉพาะในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564" เพียงวันเดียว โดยจะมีการแห่มาลัยข้าวตอกไปถวายวัด ตามประเพณีเท่านั้น ไม่มีการจัดแสดงมหรสพเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมาตรการควบคุมของ ศบค. (อ้างอิงจากข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

ช่วงเวลาจัดงาน : 25 กุมภาพันธ์ 2564
สถานที่จัดงาน : บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร