september festival header

ปีนี้ 2564 สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดกันอยู่ทั่วโลกจากการกลายพันธุ์ที่มีความร้ายแรง ติดต่อแพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่ไม่แสดงอาการให้เห็นจนกระทั่งร่างกายผู้ติดโรคเกิดความอ่อนแอมาก ค่อยรู้ตัวและก็รักษาแทบไม่ทัน ที่ร่างกายมีโรคภัยอื่นๆ อยู่แล้วก็ยิ่งทรุดหนักจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ก็เลยทำให้การจัดงานประเพณีต่างๆ มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หลายๆ แห่งก็งดจัดงานบ้าง หรือลดขนาดของงานลงเอาแค่พอเป็นการรักษาประเพณีไว้ไม่ให้สูญหายเท่านั้น เดือนกันยายนปีนี้ก็มีงานประเพณีสำคัญของชาวอีสานดังนี้

  • ฮีตเดือนเก้า "บุญข้าวประดับดิน" ทุกจังหวัดภาคอีสาน วันที่ 6 กันยายน 2564
  • มหัศจรรย์พนมรุ้ง 2564 ปราสาทเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ 9-11 กันยายน 2564
  • ฮีตเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" ทุกจังหวัดภาคอีสาน วันที่ 21 กันยายน 2564

ฮีตเดือนเก้า "บุญข้าวประดับดิน"

kao pradabdin 01หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน ก็จะมีอีกหนึ่ง ฮีตคองประเพณีอีสานบ้านเรา ในช่วงนี้คือ “บุญข้าวประดับดิน” ซึ่งทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2564 ประเพณีนี้ทั้งคนลาวและคนไทยอีสาน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า กลางคืนของเดือน 9 หรือ ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เป็นวันที่ 'ประตูนรกเปิด' ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ได้ ในคืนนี้เพียงคืนเดียวเท่านั้นในรอบปี

ดังนั้น ชาวอีสานจึงพากันเตรียมจัด 'ห่อข้าว' ไว้ให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวปลา อาหารคาว-หวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามพื้นดิน บริเวณรอบๆ เจดีย์ โบสถ์ หรือกำแพงวัด เป็นการทำบุญที่ชาวบ้านจัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นประจำทุกปี

พิธีกรรม "บุญข้าวประดับดิน"

  • วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ ไว้ 4 ส่วน ส่วนหนึ่ง เลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สอง แจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สาม อุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่ นำไปถวายพระสงฆ์

    ในส่วนที่สามนี้ ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง
  • วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่ เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่างๆ เช่น ริมทางในหมู่บ้าน ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (ยาย ในภาษาอีสานหมายถึงการวางเป็นระยะๆ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองอึกทึกแต่อย่างใด

kao pradabdin 02

  • หลังจากวางเสร็จแล้วชาวบ้านจะกลับบ้าน เพื่อเตรียมอาหารไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จ ก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน

วันที่จัดงาน : 6 กันยายน 2564

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

 

มหัศจรรย์พนมรุ้ง 2564

แสงอรุณแรกยามตะวันรุ่ง พุ่งผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์​ ​มีปรากฏการณ์นี้ครั้งแรกของปีผ่านไปแล้ว เมื่อช่วงวันที่ 5 - 6 - 7 มีนาคม และ 2 - 3 - 4​ เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นความอัศจรรย์แห่ง​มหาเทวาลัย ซึ่งตั้งตระหง่านบนภูเขาไฟเก่าพนมรุ้ง​ ที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชม ถ้าคุณพลาดโอกาสในครั้งแรกไป เดือนกันยายนและตุลาคมนี้ จะทำให้คุณได้สมหวังกับมหัศจรรย์ธรรมชาตินี้อีกครั้ง

phanom roong 01

ซึ่งปรากฏการณ์ที่ พระอาทิตย์จะส่องแสงลอดทะลุช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทพนมรุ้ง ในรอบ 1 ปี จะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์นี้เพียง 4 ครั้ง/ปี คือ เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และกันยายน และเห็นพระอาทิตย์ตกอีก 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และตุลาคม ซึ่งในปี 2562-2564 ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดังกล่าว มีดังนี้

  • พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3-4-5 เมษายน และ วันที่ 8-9-10 กันยายน
  • พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-6-7 มีนาคม และ วันที่ 5-6-7 ตุลาคม

phanom roong 04

ความมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้ง รังสรรค์มาจากภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่ถ่ายทอดความศรัทธาในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย ผ่านก้อนหินนับร้อย นับพันก้อน ก่อร่างสร้างเป็นความยิ่งใหญ่แห่งเทวสถาน บนยอดภูเขาไฟหนึ่งในหกลูกของเมืองบุรีรัมย์

นอกจากจะได้ชมปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์แล้ว ท่านยังสามารถแวะชิมอาหารพื้นเมืองโบราณตามแบบท่องเที่ยววิถีไทย ณ “ตลาดย้อนยุคเมืองแปะ” ชมและเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ณ บริเวณลานโพธิ์ก่อนขึ้นปราสาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0 4463 4722-3 หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

phanom roong 02

วันที่จัดงาน : 🌞พระอาทิตย์ขึ้น🌞 9-10-11 กันยายน 2564 และ 🌄พระอาทิตย์ตก🌄 6-7 ตุลาคม 2564 (ครั้งที่2)

สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

บุญข้าวสาก (ฮีตบุญเดือน ๑๐)

บุญเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทยกลาง ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่น ในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ จะกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 21 กันยายน 2564

boon kao sag 02

ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระ หรือ เณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่า ในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่า เป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่า เป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น

san donta5

สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ จะมีการจัด วันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

วันที่จัดงาน : 21 กันยายน 2564

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก

Free! ลงข่าวที่นี่ ฟรี นะครับ

หน่วยราชการ องค์กรเอกชน หรือชุมชน หมู่บ้าน ตำบลใด ที่ได้จัดงานบุญประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเหล่านี้สามารถติดต่อกับทีมงาน เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ของเราได้ ทาง Facebook Fanpage หรืออีเมล์ webmaster at isangate.com เรายินดีสนับสนุนประชาสัมพันธ์งานให้ท่านฟรีๆ นะครับ