ngu suang maa suang

งูซวง

ในวรรณกรรมอีสานหลายเรื่องมักกล่าวถึง สัตว์ในอุดมคติ มากมาย ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนในอดีต ทั้งในเรื่องความศักดฺิ์สิทธิ ความน่าเกรงขาม มีอันตราย ปรากฏในวรรณกรรมอีสาน 2 เรื่อง คือ ท้าวคันธนาม และ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมนิทานอีสานได้นำเสนอการอุปลักษณ์ 'งูซวง' ในลักษณะใดบ้าง และการอุปลักษณ์นั้นมีความสำคัญต่อความหมายทางวัฒนธรรมอย่างไร จากการศึกษาการอุปลักษณ์งูซวง พบว่า

  • งูซวง คือ อุปลักษณ์ของความดิบเถื่อนและอันตราย ผู้มีอำนาจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้างของ พญาแถน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง โลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสามัญ เป็นการยกระดับอำนาจมาจากสัตว์ป่า และมิใช่ผลผลิตทางวัฒนธรรม เฉกเช่นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์สามารถควบคุมและกระทำให้เชื่องได้
  • งูซวง คือ อุปลักษณ์ของพลังอำนาจแห่งการทำลายของผู้มีอำนาจ เพราะธรรมชาติย่อมมีพลังอำนาจในการทำลายมนุษย์ ที่ไม่รู้จักการอนุรักษ์ และใช้สอยประโยชน์จากธรรมชาติ กลายเป็นปฏิกิริยาตอบกลับของธรรมชาติต่อมนุษย์

ส่วนประเด็นความหมายทางวัฒนธรรมพบว่า

  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์พลังอำนาจของธรรมชาติ มีความลึกลับยากแก่การหยั่งรู้ และอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์
  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถูกสร้างขึ้นจากพญาแถน เพื่อกำจัดมนุษย์ที่ไร้ศีลธรรม และถูกย้ำด้วยภาพของสัตว์ที่มาจากเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง มีสภาวะตกอยู่ภายใต้การครอบงำ กดขี่ ทั้งยังถูกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีสถานภาพด้อยกว่ามนุษย์ผู้ถือครองอุดมการณ์พระโพธิสัตว์

ngu suang 01

การต่อสู้ระหว่างสินไซกับงูซวงบนฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง
วัดสนวนวารีพัฒนาราม ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ซวง กับความหมายในภาษาอีสาน

คำว่า “ซวง” นั้น สารานุกรมภาษาอีสาน – ไทย – อังกฤษ ฉบับของ ปรีชา พิณทอง (2532 : 291-292) ได้ให้นิยามดังนี้ คือ

ซวง น.๑
กระหูด เครื่องดักปลาชนิดหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ ปากบนก้นสอบสำหรับวางไว้ทางน้ำไหลเพื่อดักเอาปลาในเวลาน้ำลดเรียกว่า “ซวง”. type of large funnel-shaped woven-bamboo fish trap placed in current.
ซวง น.๒
งูใหญ่ มีในวรรณคดีอีสานเรื่องสังข์ศิลป์ชัย อย่างว่า ที่นั้นมีสรพิษฮ้ายตัวขนาดงูซวง มันก็เทียวระวังขงเขตดงดอยกว้าง คอยเห็นซวงหลายล้นฮังฮามหลายหลาก ยาวฮอดฮ้อยประมาณเส้นเชือกงัว ตาแดงเข้มคือแสงสุริเยศ เพินพ่นเอ้าอายฮ้อนเฮ่งไฟ (สังข์). huge serpent in Isan folklore.
ซวง น.๓
รูปงูที่มีลักษณะคล้ายงูซวง มีขนาดยาวแค่นิ้วชี้ เกิดที่ต้นขาหรือที่อวัยวะเพศหญิง เวลาจะให้โทษรูปงูจะสีดำคล้ำ หญิงใดที่มีรูปงูซวงดังกล่าวจะเป็นหญิงเลี้ยงลูกยาก ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขจะเลี้ยงลูกให้โตไม่ได้เลย. skin marking on shaped like snake on some women, believed to be a jinx causing death of children.
ซวง ก.
คว้ามือจับ คว้ามือจับเรียก ซวงมือ อย่างว่า บ้านอ้ายพุ้นบ่อึดบ่อยาก ปวดท้องขี้ไปงอยหลังเต่า หักไม้แก้งไปถืกขากวาง ซวงมือไปถืกหางเหนอ้ม ก้มลอดฮั้วหมากถั่วแทงตา มืนตาขึ้นหมากสีดาหล่นใส่ นั่งย่องย้อเครือกล้วยทั่งหัว (กลอน). to grab.

จากคำนิยามคำว่า “ซวง” ข้างต้นนั้น “งูซวง” ในเรื่องท้าวคัทธนามและสังข์ศิลป์ชัย หมายถึง งูใหญ่ เป็นตัวละครสัตว์ฝ่ายร้าย เพราะมีความดุร้าย มีลำตัวยาว 100 เส้นเชือกล่ามวัว ดวงตาแดงเข้มดั่งแสงพระอาทิตย์ และพ่นพิษเป็นไฟ (ชอบ ดีสวนโคก, 2550 : 35) กล่าวว่า บางแห่งเรียกว่า ลวง หรือ หลื่ง ซึ่งอาจหมายถึง พญานาค ก็ได้ งูซวง เป็นตัวละครสัตว์ในวรรณกรรมนิทานอีสาน ซึ่งปรากฏในความเชื่อที่ว่า งูซวง เป็นสัตว์ที่อันตรายและมีอิทธิฤทธิ์ โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะเกรงกลัวงูซวงมาจับไปกิน ซึ่งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ชอบขู่เด็กที่ร้องไห้ไม่หยุดว่า “งูซวงจะมาจับกิน” (ธวัช ปุณโณทก, 2542 : 828)

nang luang

มกรคายนาค บันไดหอพระวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ สปป.ลาว

งูซวง ในวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง ท้าวคัทธนามและสังข์ศิลป์ชัย มีคุณลักษณะทางชีววิทยาร่วมกันคือ เป็นงูใหญ่ ดุร้าย แต่มีลักษณะต่างคือ งูซวงในเรื่องสังข์ศิลป์ชัย มีฐานะเป็นเพียงสัตว์ป่า ส่วนเรื่องท้าวคัทธนาม งูซวงเป็นสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นจากอำนาจของแถนเพื่อทำลายมนุษย์ ความพ้องกันอย่างหนึ่งของวรรณกรรมที่กล่าวพาดพิงถึงงูซวง อยู่ที่ตัวละครมนุษย์คือ ท้าวสินไซและท้าวคัทธนาม ทั้งสองคนคือ ผู้ที่ถือครองอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ต่างฝ่ายต้องออกตามหาเครือญาติของตนเอง และต้องเผชิญกับความขัดแย้งกับตัวละครที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เหตุนี้ งูซวง จึงเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีพลังอำนาจนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนด่านทดสอบสภาวะความเป็นพระโพธิสัตว์ของตัวละครเอกซึ่งเป็นมนุษย์ด้วย

อ้างอิง : งูซวงในวรรณกรรมนิทานอีสาน : การอุปลักษณ์และความหมายทางวัฒนธรรม
โดย คมกฤษณ์ วรเดชนัยนา และ ปฐม หงส์สุวรรณ

หมาสรวง

โดย ติ๊ก แสนบุญ 2563

สรรพสัตว์ที่ถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ระบบความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นยังนับถือผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เฉกเช่น "หมา" เป็นสัตว์ที่หลายชนชาติสมัยโบราณเคารพบูชา ดังปรากฏในภาพเขียนหลายแห่งในสุวรรณภูมิโดยมีประเพณีฝังศพหมาพร้อมคนตาย

 kradook maa

โครงกระดูกหมาที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ฝังร่วมกับศพมนุษย์ อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในช่วงปลายปี 2559

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเก่าเล่าเป็นตำนานของมลฑลกวางสี ว่า "หมาเก้าหาง" เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้มนุษย์ นับตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษ ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้คุ้มครองชุมชน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้คำอธิบายอย่างละเอียดไว้ว่า หมาได้รับการยกย่องเป็นสัตว์บูชายัญ และนับถือกันตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว เรื่องดังกล่าว เป็นเพราะมีภาพเขียนสียุคโบราณบนผนัง หรือเพิงผาแถบอีสานของประเทศไทย ไปจนถึงมณฑลกวางสีในจีน

maa9hang 1

โดยยังพบอีกหลายชนชาติในสมัยโบราณที่บูชา 'หมา' ทั้งการฝังศพหมาพร้อมกับคน ที่พบในสมัยราชวงศ์ซางทางภาคกลางของจีน การเซ่นสังเวยหมา และการเคารพยกย่องหมาของชาวเย่วโบราณ รวมทั้งการกินเนื้อหมาเพราะยกย่องและเพิ่มพลังชาว “จ้วง” ทางตอนใต้ของจีน แถบยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี ที่ในเอกสารจีนเรียกว่า “ไป่เย่ว” หมายถึง เย่วร้อยจำพวก พี่น้องเครือญาติคนไทในสุวรรณภูมิ ที่สืบเสาะเอาได้จากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง “หมา” ที่ว่านี้ด้วย เรื่องความเชื่อถือเกี่ยวกับหมาของกลุ่มชนชาวจ้วง เป็นต้นว่าในการเผาหินปูนเพื่อเอามาเป็นปุ๋ยของชาวจ้วง

maa9hang 2

ก่อนจะเริ่มงานต้องฆ่าหมาไหว้เจ้าภูเขา เพื่อขอให้งานสำเร็จ อย่าให้มีอุปสรรค พอเสร็จพิธีไหว้ก็จะจัดงานกินอาหารร่วมกันที่ข้างเตาเผา เป็นประเพณีชาวปู้ไย่ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของจ้วง ในมณฑลยูนนานก็พลีกรรมแก่ผี ด้วยเครื่องเซ่นตามที่ผีต้องการ อาจเป็นไก่ หมู รวมทั้ง “หมา” ด้วยเช่นกัน ชาวจ้วงแถบหลงโจว ในมณฑลกวางสี จ้วงไทใต้คง ปู้ยี (ในจีน) ชาวเขาเผ่ามูเซอ (ที่จังหวัดตาก) ชาวเขาเผ่าลีซอ มีนิทานที่เล่าถึงหมาเป็นผู้นำข้าวมาให้มนุษย์ ซึ่งมีโครงเรื่องหลักคล้ายคลึงกันว่า บนโลกมนุษย์เดิมไม่มีข้าว มีหมา 9 หางตัวหนึ่งไปขโมยพันธุ์ข้าวบนฟ้า โดยเอาหางไปจุ่มเมล็ดข้าว มนุษย์ได้พันธุ์ข้าวที่ติดมากับหางหรือขนหมามาปลูกกิน หมาจึงมีบุญคุณแก่มนุษย์

maa jeen

รูปปั้นหมาหน้าหมู่บ้าน Chung-chia ของชาวม้ง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในฐานะ ‘ผู้ปกป้องคุ้มครอง’

เรื่องดังกล่าวนี้ คงเป็นที่เชื่อถือกันในชาวจ้วงหลายกลุ่ม เพราะในพิธีกินข้าวใหม่ทุกปีของชาวลีซอ หลังจากไหว้ผีแล้ว จะเอาข้าวใหม่และเนื้อที่ปรุงในพิธี ส่งให้หมากินก่อน เช่นเดียวกับชาวไทใต้คงในยูนนานก็ให้หมากินข้าวใหม่ ใน วันสุนัข เดือนอ้าย ส่วนชาวปู้ไต่ ในจังหวัดเหวินซาน มณฑลยูนนาน พอถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ จะมีประเพณีหุงข้าวให้หมากิน เพราะเชื่อกันว่าหมาเป็นผู้นำพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ ชาวจ้วงแถบอำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี ยังมีผู้คนกราบไหว้สุนัขมาจนทุกวันนี้ ตามถนนเข้าหมู่บ้านหรือปากทางเข้าหมู่บ้านมักตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ ในช่วงเทศกาลผู้คนก็จะไปปักธูปวางกระดาษเงินทองที่หมาหินนี้ เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งเลวร้าย และดูแลความร่มเย็นของหมู่บ้าน (สุจิตต์ วงษ์เทศ) และที่สำคัญคือ ชาวจ้วงจะกินหมาเพื่อสังเวยและเพื่อเพิ่มพลังชีวิต โดยวัฒนธรรมนี้ได้ตกทอดมาจนถึงชาวเวียดนามที่นิยมบริโภคหมามาจนถึงปัจจุบัน

maa suang 03

ในบริบทวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้านช้าง ตำนานพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขงชื่อของ "ขุนบรม" ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมลุ่มของผู้คนในแถบถิ่นนี้ เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มากบารมีเป็นผู้สถาปนาสร้างบ้านแปงเมืองที่สำคัญ โดยตำนานเมืองต่างๆ ที่ขุนบรมวีรบุรุษสองฝั่งโขงที่ยิ่งใหญ่ และหลังสมัยขุนบรมนั้น บ้านเมืองเกิดวิกฤตศรัทธาพญาแถนได้ส่ง สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ คือ หมาสรวงและงูซวง ลงมาเพื่อกำหราบปราบจัดการผู้คนที่ไม่ดี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หมาสรวง รวมถึง งูซวง หรือก็คือ นาคาคติ ซึ่งหมายความถึง พญานาค ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่สำคัญ อันสืบเนื่องกับลัทธิบูชางูที่วัฒนธรรมลาวเรียกว่า งูซวง เช่นที่ในนิทาน สังข์สินไซ และในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ฉบับของ ปรีชา พิณทอง ได้อธิบายว่า ลวง คือ นางนาค เรียก นางลวง ซึ่งสอดคล้องกับ มหาสิลา วีระวงศ์ (นักปราชญ์ สปป.ลาว) อธิบายว่า “ลวง” นี้หมายความว่า นาค

maa suang 02

ดังนั้น จึงเป็นการผสมผสานทางความเชื่อระหว่าง ศาสนาผี และศาสนาพุทธ ที่มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับความรู้ท้องถิ่น ดังหลักฐานที่รูปปูนปั้นรูปสิงโต วัดลัฏฐิกวัน ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งสร้างปี 2479 เรื่องราวของ "หมาสรวง" มักมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของ งูซวาง/งูซวง บางถิ่นเขียนเป็น "งูทรวง" พบในจิตรกรรมฝาผนังอีสานโบราณ ตามแต่จินตนาการช่าง โดยมีวรรณกรรมทางศาสนาของล้านช้างและล้านนาเรื่อง คัชชนาม

สรุปได้ว่า "หมาสรวง" เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพญาแถนส่งมาจากสวรรค์ เพื่อปราบปรามมนุษย์ที่ประพฤติไม่ดี เมื่อมาอยู่ในบริบทของเมืองมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อรับคติพุทธสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็ยังได้รับเกียรติในฐานะ 'เทพผู้รักษพระพุทธศาสนา' โดยมีรูปเป็นสัตว์ทวารบาลคุ้มครองปกป้องศาสนาคารต่างๆ ดังปรากฏอยู่ที่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมทางศาสนา และประติมากรรมปูนปั้นเชิงสัญญะทางความเชื่อในศาสนา เป็นรูปหมาสรวงและงูซวง ตามเชิงบันไดศาสนาคารต่างๆ ในหลากหลายสกุลช่าง

maa suang 01

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เหรา หรือ น้อนน (สื่อโซเชียลเรียก) หรือ หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

redline

backled1