foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

tung header

ารประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในแถบอุษาคเนย์นั้น มักจะมีการประดับ "ธงชัย" ร่วมด้วย เพราะความเชื่อเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น ล้วนได้รับอิทธิพลจากทั้งจีนและอินเดีย พุทธศาสนาจึงได้รับการผนวกเข้ากับ ศาสนาพรามหณ์ และศาสนาผี อันเป็นความเชื่อของท้องถิ่น สังเกตได้จากประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันต่อๆ มา แม้จะใช้ภาษาเรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกัน แต่ประเพณีก็มีความคล้ายคลึงกัน เกี่ยวโยงกับช่วงเวลาสำคัญในห้วงเดียวกันอยู่มาก เช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีทั้งในไทย กัมพูชา ลาวและพม่า นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้ว เครื่องประกอบพิธีกรรมก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ธรรมมาส ใบลาน และธงชัย ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและพิธีการสำคัญของผู้คนเสมอมา

tung 01

คำว่า ธง-ธุง-ทุง-ตุง มาจากรากศัพท์เดียวกัน ในภาษาบาลีใช้คำว่า "ธช" ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า "ธฺวชฺ" แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไปซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต ธง จึงเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสะบัดไหวในอากาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมาย เครื่องแสดง เครื่องสังเกตให้กับมนุษย์ในเผ่าชนของโลก ทั้งในอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาช้านาน หน้าที่ของธงในปัจจุบันแม้จะไม่ผิดแผกแตกต่างจากเดิม แต่ก็มีพัฒนาการทั้งทางด้านรูปแบบสีสันเป็นจำนวนมากหลากหลาย ตามพื้นที่ตามแต่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หากแต่ผืนธง และ เสาธง ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักอย่างที่เคยเป็นมาแต่ในอดีต

เมื่ออาณาจักรต่างๆ ในอุษาคเนย์รับมาใช้ จึงปรับเปลี่ยนไปตามความถนัดของการออกเสียงในท้องถิ่นของตนเอง ทางภาคกลางเรียก "ธง" ภาคอีสานจะเรียกว่า "ธุง" ภาคเหนือเรียกว่า "ตุง" ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "ตำข่อน" ในพม่าเรียกว่า "ตะขุ่น" ส่วนทาง สปป.ลาว จะเรียกว่า "ทง" หรือ "ทุง" ซึ่งในภาษาอีสานและภาษาลาวมีความคล้ายคลึงกัน ใช้คำว่า ธุง / ทุง ออกเสียงเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาลาวไม่มี “ธ” ทำให้ใช้ “ท” เป็นตัวอักษรแทน “ธ” ซึ่งภาษาอีสานใช้พยัญชนะแบบไทย จึงใช้ “ธ” เป็นพยัญชนะเท่านั้น ในด้านความหมายและการออกเสียงถือได้ว่า ทั้งสองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

tung 03

ภาคอีสานในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ธง หรือ ธุง มีบทบาทในวิถีวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก นอกจากพบในประเพณีพิธีกรรมแล้ว ยังพบธงอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ทั้งประเภทนิทาน วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมคำสอน ที่จารในเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก เช่น ท้าวฮุ่งขุนเจือง คัชชนาม อุรังคธาตุ ปู่สอนหลาน ธรรมดาสอนโลก เป็นต้น มักปรากฏในฉากขบวนแห่ ฉากการสู้รบ และมีบางคำศัพท์เกี่ยวกับธงได้สูญหายไป เช่น "ประคือ" อันหมายถึงธงประเภทหนึ่ง ยังมีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ "สลองอานิสงส์" ได้กล่าวถึงที่มาของธงในพุทธศาสนา ประเภทของธง การใช้ในลักษณะต่างๆ และอานิสงส์ของการถวายธง โดยเขียนตามขนบภาษาถิ่นคือ ใช้อักษร "ท" แทน "ธ" เช่น ทุงกระดาษ, ทุงซาย, ทุงไซ, ทุงทอง, ทุงเผิ่ง, ทุงฝ้าย, ทุงเหล็ก เป็นต้น โดยคนอีสานมักจะจารทั้งตัวอักษรธรรม และไทยน้อย ด้วย ผสมสระ อุ และมี เป็นตัวสะกด ดังตัวอย่าง

tung 02

ทุง น. ธง ธงเรียก ทุง ทุงทำด้วยกระดาษเรียก ทุงกระดาษ ที่ทำด้วยผ้าเรียก ทุงผ้า ที่ทอด้วยผ้าใช้ไม้ไผ่สาน เรียก ทุงช่อ ที่ทำเพื่อใช้ในเวลารบ เรียก ทุงชัย อย่างว่า มีทังทุงทองพร้อมทุงชัยทุงกระดาษ(เวส) ทุงสะอาดเหลื้อมทุงเบิกไกวลม (กา) ทุงหยาดเหลื้อมเหลือท่งเงินยาง แมนก็ยอสมคามเคียดชูชิงม้าง ลุงบ่วางโสมแก้วสองศรีเสียง่าย ฮุ่งค่ำอ้างเถิงท้าวที่เซ็ง(ฮุ่ง). Flag.

ปะคือ น. ร่ม ฉัตร อย่างว่า ถัดนั้นไทปะคือตั้งเลียนถันแสนติ่ว (กา) ม้าแอบคุ้นคอสอดสะเนียนทอง นายนักการเขาแต่งดีดาเมี้ยน ปะคือคำตั้งเหนือหัวหอนนาค นายนั่งป้องยังหุ้มเครื่องคำ (สังข์) เฟื่องเฟื่องกั้งคชฮ่มพานคำ พังเพียรทรงอินทรีย์ย่างผายผันย้อง ธรรม์ยำท้าวเนาในปะคือมาศ บ่ฮู้กี่ส่ำถ้องถนิมแกว่งจำมร (ฮุ่ง). umbrella, parasol.

ที่มา : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

แต่พบในเชิงอรรถอธิบายคำศัพท์โบราณ ในหนังสือที่ปริวรรตวรรณกรรมหลายเล่ม ได้ให้ความหมายของ "ปะคือ" ว่า "ธง" และหากเมื่อสังเกตตามลักษณะในการแกว่งไกว เคลื่อนไหวของปะคือแล้ว น่าจะมีความหมายถึง ธง มากกว่า ร่ม หรือ ฉัตร [ อ่านเพิ่มเติมจาก : เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง ทุง ปะคือ ]

คติความเชื่อ

ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ภูตผีวิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้น ยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญ และมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง

boon katin 02

ธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาวๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่างๆ เส้นใยของพืชนำมาถักทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ วิทยา วุฒิไธสง (2561) ได้แบ่งประเภทของธุงอีสาน 6 ประเภท ดังนี้

  • ธุงราว ทำจากผ้าหรือกระดาษ อาจเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรืออื่นๆ หลากสีสัน นำมาร้อยเรียงเป็นราวแขวนโยง พบได้ในงานวัด งานบุญทั่วไป
  • ธุงไชย เป็นเครื่องหมายของชัยชนะ หรือสิริมงคล ทอจากเส้นด้ายหรือเส้นไหมสลับสี บางครั้งใช้ไม้ไผ่คั่น นิยมใช้ลายประจำยาม ลายปราสาท ลายเครือเถา ลายสัตว์ ลายดอกไม้
  • ธุงสิบสองราศี นิยมทำด้วยกระดาษ ลักษณะของตุงสิบสองราศี มีรูปนักษัตร หรือสัตว์สิบสองราศีในผืนเดียวกัน เชื่อว่าในครอบครัวหนึ่งอาจมีสมาชิกหลายคน แต่ละคนอาจมีการเกิดในปีต่างกัน หากมีการนำไปถวายเท่ากับว่าทุกคนในครอบครัวได้รับอานิสงค์จากการทานตุงเท่าๆ กัน ถือว่าเป็นการสุ่มทาน ใช้เป็นตุงบูชาเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์

tung 04

  • ธุงเจดีย์ทราย ใช้ปักประดับที่เจดีย์ทราย ทำจากกระดาษสีต่างๆ ให้หลากสี ตัดฉลุลายด้วยรูปทรงสวยงาม เมื่อได้ตุงนำมาร้อยกับเส้นด้าย ผูกติดกับกิ่งไม้หรือกิ่งไผ่ ปักไว้ที่เจดีย์ทรายในวัด ธุงตะขาบ ธุงจระเข้ เป็นผ้าผืนที่มีรูปจระเข้หรือตะขาบไว้ตรงกลาง เป็นสัญลักษณ์ในงานทอดกฐิน ใช้แห่นำขบวนไปทอดยังวัด บนความเชื่อเกี่ยวกับจ้าวแห่งสัตว์ในท้องถิ่นที่จะมาช่วยปกป้องคุ้มครอง ในงานบุญกุศลบางแห่งอาจมีรูปเสือที่เป็นเจ้าแห่งป่าร่วมด้วย
  • ธุงไส้หมู เป็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่เกิดจากการตัดกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ เมื่อใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงปลายสุด แล้วคลี่ออกและจับหงายจะเกิดเป็นพวงกระดาษสวยงาม นำไปผูกติดกับคันไม้ไผ่หรือแขวนในงานพิธีต่างๆ เช่น ตกแต่งปราสาทศพ ปักเจดีย์ทราย ประดับครัวทาน และอื่นๆ

tung 05

  • ธุงใยแมงมุม เป็นตุงที่ทำจากเส้นด้ายจากเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ผูกโยงกันคล้ายใยแมงมุม นิยมใช้แขวนตกแต่งไว้หน้าพระประธาน หรือโดยรอบในงานพิธีกรรม ในการปกป้องคุ้มครองคล้ายกับตุงไชย ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในภาคอีสาน เช่น การประดับธุงใยแมงมุมของวัดไชยศรี งานบุญผะเหวดบ้านสาวะถี และการประดับในงานร่วมสมัย

การถวายธุง ถือได้ว่าเป็นการสร้างบุญกุศล เมื่อถวายธุงแล้วจะได้บุญ จะได้เกาะชายผ้าธุงขึ้นสวรรค์ และอุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวต้ม เงิน มาแขวนหางธุง เพื่ออุทิศให้กับคนตาย หรือแขวนหางธุงเพื่อนำพาตนขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การทานธุงในชาตินี้เพื่อเป็นอานิสงส์ในชาติหน้า เช่น ถ้าชาตินี้รูปร่างไม่สูง ชาติหน้าจะได้สูง และการถวายธุงทุกเดือนเมษายนในช่วงสงกรานต์ ยังเชื่อว่าจะทำให้ได้บุญ ได้ความงาม และความร่มเย็นเป็นสุข

tung 13

ธุงผะเหวดอีสาน ที่เป็นงานหัตถกรรมถักทอลวดลายลงบนผืนผ้าที่ต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูไว้ก่อนจะสูญหาย

คําถวายธุง

มะยัง ภันเต อิมินา ธะชะปะฎาเกนะ
ระตะนัตตะยัง อภิปูเชมะ อะยัง
ธะชะปะฎาเกนะ ระตะนัตตะยะบูชา อัมหากัง
ทีฆะรัตตัง หิตายะ พุขายะ สังวัตตะตุฯ

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบูชาซึ่งพระรัตนตรัย ด้วยแผ่นผ้านี้
การบูชาพระรัตนตรัยด้วยแผ่นผ้านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ

tung 14

การธำรงไว้และฟื้นฟู

ในปัจจุบัน แม้จะยังมีการทำทุง ปักทุง ในงานบุญกันอยู่แต่ก็เหลือไม่มากนัก ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดทำหรือสืบสานต่อ ขาดผู้นำและสั่งสอนสืบทอด จึงมีการริเริ่มในการจัดเป็นงานเทศกาลใหญ่ ด้วยการเอาวัฒนธรรมในอดีตนี้มาฟื้นฟูให้มีความยิ่งใหญ่ มีความสวยงาม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เข้ากับยุคสมัยใช้สื่อโซเชียล บันทึกความสวยงามออกอวดโชว์กัน

tung 06

เช่น ใน งานมาฆปูรมี ณ พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็น “ทะเลธุงใยแมงมุม” สีสันสดใสงดงาม ผูกเป็นธงยาวกับเสาไม้ไผ่ เรียงกันเป็นทางยาวสุดสายตา มีพระธาตุยาคูตั้งเป็นฉากสง่างามอยู่เบื้องหลัง

tung 07

ธุงใยแมงมุม มีทั้งประเภท 4 ด้านหรือ 6 ด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้าย ที่มีหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่ที่เหลาแล้ว แต่จะกำหนดขนาด มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เป็นความเชื่อถึงการเชื่อมโยงวิญญาณ บุญกุศล ไปสู่ภพหลังความตายได้

อีกทั้งธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน ทั้งตำนาน เรื่อง พระยาคันคาก เมื่อครั้งไปปราบพระยาแถนที่ไม่ยอมให้ฝนแก่โลกมนุษย์ ทำให้พระยาคันคากต้องไปรบ คราวนั้น ได้รับความร่วมมือจากบริวารที่เป็นสัตว์มากมาย ที่ช่วยสร้างถนนเชื่อมโยงจากโลกไปสวรรค์ ดินแดนแห่งพระยาแถน สัตว์ที่ว่ามี "แมงมุม" รวมอยู่ด้วย ที่ชักใยและเชื่อมโยงให้ถนนร่วมกับสัตว์อื่นๆ สร้างจนถึงสวรรค์แดนพระยาแถนได้ และคราวนั้น พระยาคันคากก็ต่อสู้ได้ชัยชนะ

tung 08

อันเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน นันเอง

อีกที่หนึ่งที่เริ่มการอนุรักษ์ธุงอีสานคือ จังหวัดนครพนม ที่ วัดพระธาตูพนมวรมหาวิหาร โดยใช้พื้นที่บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ตั้งเป็นทะเลธุงที่ชาวบ้านใจแต่ละชุมชน นำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศานา เมื่อยามถูกลมพัดก็จะสะบัดไหวในอากาศ และอีกวัดคือ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ในงานบูชาพระธาตุพนม ช่วงวันมาฆะบูชาของทุกปี

tung 09

ความเชื่อของคนอีสานเกี่ยวกับธุง

คนอีสานนิยมทอธุงถวายเป็นเครื่องบูชาและอุทิศถวายมาช้านาน ด้วยความเชื่อที่ว่า การถวายธุงนั้น เป็นการสร้างกุศลให้แก่ตนเอง และยังได้อุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คนอีสานมีความเชื่อเกี่ยวกับธุงใน 2 ลักษณะ คือ

  • การทําบุญ เมื่อได้ทําบุญด้วยการถวายธุงแล้ว จะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
  • การให้ทาน เมื่อได้ให้ทานด้วยการถวาย ธุงแล้ว จะช่วยให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นจากนรกหรือวิบากกรรม

tung 11

ความเชื่อเกี่ยวกับธุง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล อาจไม่เหมือนกัน เช่น

  • เชื่อว่า ธุง เป็นสัญลักษณ์ว่า มีการทําบุญ เป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดา
  • เชื่อว่า ธุง เป็นเครื่องหมายชัยชนะ เมื่อเวลามีการจัดงานบุญ พญามารจะไม่มารบกวน เชื่อว่า ธุง ใช้ป้องกันมารผจญ หรือสิ่งไม่ดี สิ่งที่มองไม่เห็น วิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป
  • เชื่อว่า ถ้ายกธุงขึ้นแล้วจะชนะมาร พญามารจะไม่มาเข้าใกล้ มารมาผจญเมื่อเวลาจัดงาน (เมาเหล้า มีเรื่องมีราว) ใส่เงินเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เป็นการทําบุญ เกิดชาติใด หากเกิดเป็นผู้หญิง ขอให้มีรูปงาม ขายาวสะบัดเหมือนธุง หากเกิดเป็นชาย ขอให้มีรูปร่างหุ่นดี สูงโปร่ง
  • เชื่อว่า การถวายธุง เป็นการสร้างบุญกุศล เมื่อถวายธุงแล้วจะได้บุญ จะได้เกาะชายผ้าธุงขึ้นสวรรค์ และอุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  • เชื่อว่า ถวายธุงแล้วจะได้บุญ โดยการนําข้าวต้ม เงิน แขวนหางธุงคนตายแขวนหางธุงขึ้นสวรรค์
  • เชื่อว่า ทานธุงในชาตินี้ เพื่ออานิสงส์ในชาติหน้า เช่น ถ้าชาตินี้รูปร่างไม่สูง ชาติหน้าจะได้สูง
  • เชื่อว่า ถวายธุงทุกเดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์ จะได้บุญ ได้ความงาม ความร่มเย็นเป็นสุข

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ธุงอีสาน ]

tung 12

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

redline

backled1

 

sat te kui

ารเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความรักของหนุ่ม-สาว ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด ก็มักจะมีการจัดพิธีกรรมขึ้น เพื่อเป็นการประกาศให้ญาติทั้งสองฝ่ายรับรู้ เป็นสักขีพยานในการครองรักครองเรือน ซึ่งพิธีการแต่งงานก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ในชาติพันธุ์ ชาวกูย หรือ กวย หรือ ส่วย หรือ เยอ ก็มีพิธีกรรมนี้เช่นกัน เรียกว่า "ซัตเต"

sat te kui 01

"พิธีซัตเต" เป็นพิธีการแต่งงานแบบพื้นบ้านของชาวกวย, กูย, ส่วย หรือ เยอ คำว่า "ซัตเต" เป็นภาษาส่วย แปลว่า "ผูกแขน" หรืออาจจะเรียกตามภาษาเขมรถิ่นไทยในแถบสุรินทร์ว่า "ฮาวปลึงจองได" ก็ได้ ซึ่งคำว่า "ฮาวปลึง" หมายถึง "การเรียกขวัญ" ส่วนคำว่า "จองได" มีความหมายว่า "ผูกข้อผูกแขน หรือ ผูกข้อมือ" ซึ่งตามประเพณีอีสานทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีให้กับเจ้าของขวัญ ให้มีความสุข อายุยืนยาว มีพิธีการสู่ขวัญ หรือสูตรขวัญ โดยพ่อหมอหรือพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการสวดนี้ก็จะใช้ภาษาท้องถิ่นแตกต่างไป ในจังหวัดทางอีสานใต้ก็จะใช้ภาษาเขมร เมื่อเสร็จสิ้นการสวดแล้วก็จะมีการผูกข้อมือโดยพราหมณ์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญและเป็นสิริมงคลสืบไป

บุญซัตเต ผูกแขนแต่งงานแบบชาวกูย วิถีชีวิตชาวกูยสุรินทร์

ชาวกูย, กวย, โกย, เยอ อพยพเข้าประเทศไทย ครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ. 2245 - 2326) ชาวกูยมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูยที่อพยพมามีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ "ชาวกูย" จะเรียกตัวองว่า กุย หรือ โกย ซึ่งแปลว่า "คน" ส่วนคำว่า "ส่วย" นั้น ชาวกูยเองไม่ค่อยยอมรับชื่อนี้

sat te kui 02

ชาวกวย, กูย, เยอ เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน อย่างเช่น พิธีแต่งงาน "ซัตเต" ของชาวกูย ในแต่ละท้องที่จะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีความเหมือนในด้านความเชื่อและวิธีปฏิบัติ นับเป็นวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าอนุรักษ์ไว้

ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบชาวกูย (พิธีซัตเต)

ขั้นที่ 1 จีเจาะกะมอล คือ การไปทาบทาม หรือไปพูดจาบอกเล่าว่า "ลูกชายมารักชอบพอลูกสาวบ้านนี้" ทางญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้ทั้งคู่ได้อยู่ใช้ชีวิตร่วมกันหรือไม่ ถ้าเห็นพ้อง ยินดี ก็จะไปสู่ขั้นตอนที่ 2

sat te kui 03

ขั้นที่ 2 จีเมาะกะมอล คือ การที่ฝ่ายเจ้าสาวตอบตกลงและเรียกร้องค่าสินสอด ทองหมั้นตามจำนวนที่เห็นว่าสมควร เหมาะสม ถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวได้ตกลงยอมรับค่าสินสอดทองหมั้นตามที่ฝ่ายเจ้าสาวเรียกร้อง ก็จะผ่านไปสู่ขั้นตอนที่ 3

ขั้นที่ 3 จีโต๊ะ คือ การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ประกอบการหมั้นหมาย คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น (สร้อย แหวน) หรืออาจเป็นเงินก็ได้ ถ้าตกลงค่าสินสอด ทองหมั้นจำนวนเท่าไหร่ ก็ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดเหลือให้นำมาในวันซัตเต หรือในวันแต่งงาน

ขั้นตอนที่ 4 ซัตเต คือ พิธีแต่งงาน ซึ่งจะมีอุปกรณ์ประกอบพิธีประกอบด้วย

sat te kui 05

เครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวกูย

  • อะหลิเครื่องมาด คือ หมูที่ฆ่าแล้ว แต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งให้ทางฝ่ายเจ้าสาวแล้วจะต้องแบ่งปันกันในหมู่ญาติ (ทำเป็นอาหารจัดงานเลี้ยง)
  • อะหลิกะมูย คือ หมูเครื่องเซ่น ที่ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยส่วนนี้ไม่ต้องแบ่งแก่ฝ่ายเจ้าสาว
  • น้ำตาลอ้อย ที่ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล เพื่อใช้สำหรับไหว้ญาติผู้ใหญ่
  • กระบุง 1 คู่ ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
  • เต่าน้ำจืด 1 ตัว
  • ปลาแห้ง (จำนวนพอสมควร)
  • พานบายศรี (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือบ่าว-สาว ปริมาณเพียงพอต่อญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย และแขกผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน)
  • ไก่ต้มทั้งตัว (เพื่อใช้ในการเซ่นผีบรรพบุรุษ)
  • ผ้าไหมใหม่ (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด)

sat te kui 04

การแต่งกายบ่าว-สาวด้วยผ้าไหมสวยงามตามแบบชาวกูย

ช่วงพิธีการซัตเต

  • เมื่อฤกษ์งามยามดีมาถึง เริ่มต้นด้วยพิธีตักบาตรพระสงฆ์ร่วมกัน จากนั้น
  • ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขันหมาก จะแต่งกายแบบชาวกูย จะมีการกางร่มให้เจ้าบ่าว บนร่มผูกจะด้วยผ้าสามสี (แดง ขาว น้ำเงิน) เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวก่อนจะเข้าไปภายในบ้านก็มีการกั้นประตูเงินประตูทอง ตามประเพณีแต่งงานทั่วไป
  • น้องหรือญาติเจ้าสาว จะทำการล้างเท้าเจ้าบ่าว โดยให้ยืนบนใบตองกล้วยรองรับด้วยหินลับมีด (เพราะในสมัยโบราณ ยังไม่มีรองเท้าสวมใส่เหมือนดังเช่นในปัจจุบัน ฉะนั้น ตามบ้านเรือนบริเวณบันไดทางขึ้นบ้าน จึงจะมีตุ่มน้ำ หรืออ่างน้ำ ให้เจ้าของบ้านหรือแขกที่มาเยือนได้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน และเห็นว่าการล้างเท้าบนใบตองและก้อนหินนั้นสะอาดกว่าการล้างเท้าบนพื้นดิน)
  • พรามหมณ์ผู้ประกอบพิธี จูงมือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวลงมายังกระท่อม (ปะรำ) พิธี เจ้าบ่าวสวมด้ายมงคล เจ้าสาวสวมกะลอม จะมะ (แหวน ต่างหู สร้อย หรือเครื่องประดับต่างๆ ที่เจ้าบ่าวเตรียมมา)
  • พรามหมณ์ตรวจนับสินสอด เครื่องประกอบต่างๆ ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ

sat te kui 06

พานบายศรี พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ เสี่ยงทาย และฝ้ายผูกแขน

  • สิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีคือ การเสี่ยงทาย ของชาวกูย เมื่อครั้งตั้งแต่สมัยออกไปจับช้างป่า หรือในงานพิธีการใดๆ ที่สำคัญ และงานมงคลแต่งงานนี้ จะต้องมีการเสี่ยงทาย โดยใช้วิธีดึงกระดูกคางไก่เสี่ยงทายคู่ชีวิตของเจ้าบ่าว-เจ้าสาว  หากออกมาไม่คดงอ สวยงามชีวิตก็อยู่มีสุขราบเรียบ
  • พราหมณ์ผูกข้อมือ (ขเยียระเวียร์ - เรียกขวัญคู่บ่าว-สาว)

sat te kui 07
จา พนม ยีรัมย์ ก็เข้าพิธีแต่งงานซัตเต แบบชาวกูย

  • ญาติผู้ใหญ่ แขกผู้มีเกียรติ เพื่อน ซัตเต (ผูกข้อมือ) อวยพรแก่คู่บ่าว-สาว
  • ไหว้บิดามารดา ญาติๆ ฝ่ายเจ้าบ่าว ด้วยไก่ และน้ำ และเจ้าบ่าวรับไหว้ด้วยเงิน เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ต่อไป
  • เจ้าสาวอาบน้ำให้พ่อแม่เจ้าบ่าว และให้สวมใส่ผ้าไหมชุดใหม่ที่เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานแบบชาวกูย
  • ยุคสมัยปัจจุบันก็จะมี การจดทะเบียนสมรส เนื่องจากชาวกูยมีความสามารถในการจับช้างป่าในอดีต มีการเลี้ยงช้างเป็นอาชีพในปัจจุบัน เราจึงเห็นว่ามีการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างด้วย ซึ่งมีการจัดงานที่อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ท่านใดสนใจก็ไปร่วมงานได้ใน วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

sat te kui 09

การจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายไทยหลังพิธีซัตเต

หนึ่งเดียวในโลก! เมืองช้างจัดวิวาห์หวานวันวาเลนไทน์ 60 คู่รักจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 15/02/2020

สาวโสดท่านใด ถ้ามีหนุ่มๆ มาบอกว่า “ซมแซน” (ขอแต่งงาน) แล้วอย่ามัวแต่เขินอายนะ เจาะจงให้หนุ่มๆ บอกญาติผู้ใหญ่ไป จีเจาะกะมอล กับพ่อแม่เรา ถ้าท่านตกลง จีเมาะกะมอล ก็จะได้ จีโต๊ะ แล้วไปร่วมจัดงานแต่งงาน "สมรสหมู่บนหลังช้าง : ซัตเต" กันที่จังหวัดสุรินทร์เลยจ้า

sat te kui 10

ท่านที่สนใจใน ประเพณีแต่งงานของชาวกูยอะจีง (อะจีง=ช้าง) ที่เรียกว่า ซัตเต นี้ สามารถติดต่อที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. สุรินทร์) ซึ่งจะรับสมัครในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ทุกปี โดยระบุว่า คู่รักที่มาร่วมในงานจะได้จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง และเข้าพิธีแต่งงานแบบชาวกวย หรือ พิธีซัตเต ของชาวพื้นเมืองสุรินทร์ อันมีการประกอบพิธีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ตั้งแต่ การแต่งกายของเจ้าบ่าวจะต้องนุ่งโสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าไหมพาดบ่า พร้อมด้ายมงคลสามสีสวมศีรษะ (ด้ายสีแดง ขาว น้ำเงินและทาด้วยข้าวเหนียว)

sat te kui 11

ส่วนการแต่งกายเจ้าสาว ต้องนุ่งผ้าไหมซิ่นลายกวย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน (ขาว ครีม หรือชมพู) พาดด้วยสไบสีแดง และศีรษะสวม “จะลอม” (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) จนมีเรียกกันว่า "เจ้าสาว... ในมงกุฏใบตาล" ต่อมาเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมากช้างไปรับเจ้าสาว ก่อนจูงมือกันเข้าประกอบพิธีตามลำดับสำคัญ คือ พิธีสวมด้ายมงคลบ่าวสาว บายศรีสู่ขวัญและพิธีถอดคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่บ่าวสาวโดยหมอพราหมณ์

 sat te kui 08

เฉลิมพล มาลาคำ มีคู่มานานแต่ก็อยากทำพิธี "ซัตเต" ตามแบบชาวกูยบ้าง

รวมไปถึง การเลี้ยงบุฟเฟ่ต์อาหารช้าง เพื่อความเป็นสิริมงคล และการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนเดินทางไปยังบริเวณวังทะลุ (ที่ลำน้ำชีและลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน) เพื่อบอกกล่าวศาลปู่-ตา ให้รับทราบถึงการครองคู่เป็นสามีภรรยากัน คู่รักที่สนใจร่วมจดทะเบียนบนหลังช้างและพิธีซัตเต สามารถสมัครได้ที่ สำนักงาน ททท. สุรินทร์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โดยจะได้รับของที่ระลึกและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ยกเว้นค่าใช้จ่ายเฉพาะการแต่งกายของคู่บ่าวสาวเท่านั้น)

sat te kui 12

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย

redline

backled1

santar kmer wedding

การแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนในโลกใบนี้ ทั้งในประเทศไทยภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก-ตะวันออก และภาคอีสาน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่ สืบสายสกุลรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการจัดการตามประเพณีแต่ละถิ่นที่ก็จะมีพิธีกรรม ขั้นตอน แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จะกล่าวถึง การจัดงานแต่งงานตามแบบพี่น้องอีสานใต้ (ที่มีเชื้อสายเขมรในประเทศไทย) เรียกว่า พิธีแซนการ์

พิธีแซนการ์

การจัดงานแต่งงานตามแบบประเพณีเขมร จะนิยมจัดขึ้นในช่วงตั้งแต่ เดือนแคปะกุล - เดือนแคเจต (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน) การเตรียมงานในสมัยเมื่อ 20 - 30 กว่าปีก่อน ถือเป็นงานพิธีที่ยุ่งยากและพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องเตรียมงานกันข้ามปีเลยทีเดียว ในสมัยปัจจุบันช่วงเวลาในการจัดงานแต่งงานอาจทำได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นเฉพาะช่วงเข้าพรรษา และเดือนห้าเท่านั้น

santar kmer 06

ในธรรมเนียมโบราณนั้น "ช่วงเข้าพรรษาคือช่วงห้ามจัดงานแต่งงาน" เพราะแต่เดิมช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ท่านจะไม่รับกิจนิมนต์ จะจำพรรษาแต่ในวัด เนื่องด้วยการเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุจาริกไปยังที่ต่างๆ ในระหว่างพรรษาเพราะการเดินทางจะเหยียบย่ำพืชพันธ์ในไร่นาชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย ตามธรรมเนียมโบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน ผู้รดน้ำสังข์คือพระสงฆ์ และต้องมีจำนวนเลขคู่จึงจะเป็นมงคล ทำให้พระสงฆ์ท่านเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งอาจกินเวลาหลายวันหรือข้ามวันนั่นเอง จึงไม่มีการจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อาจจะเห็นการจัดงานกันอยู่ ด้วยเหตุผลว่า "ถ้ายืดออกไปเด็กที่เกิดมาจะมีอายุครรภ์ไม่ครบ 9 เดือนกระมัง" (ความเห็นนี้เป็นของอาวทิดหมูเด้อครับ 🙂) ส่วนการห้ามทำพิธีแต่งงานในเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ข้อห้ามนี้น่าจะเกี่ยวกับความร้อนแห่งฤดูกาล และแห้งแล้งไม่เหมาะสมนัก การแต่งงานทำให้ร้อนรนไม่เป็นมงคล ครอบครัวอาจแตกแยกได้ (แต่สมัยนี้แต่งงานในห้องแอร์โรงแรมใหญ่อาจจะไม่ร้อนเหมือนในอดีต)

แต่ละคู่รัก บ่าว-สาว ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงานให้มีจำนวน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็น "วันรวมญาติพี่น้อง" หรือ "วันสุขดิบ", "วันแต่ง" และ "วันส่งตัว" (ตามความเหมาะสม ช่วงหลังๆ รวบรัดเหลือแค่ 2 วัน โดยรวมวันแต่งกับวันส่งตัวเข้าด้วยกัน)

ในสมัยโบราณ การเลือกคู่ครองมักจะเกิดจากการหมั้นหมาย การเลือกให้โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องต้องกันมาก่อน ที่เรียกกันว่า "การคลุมถุงชน" อาจจะเป็นเพราะการต้องดำรงเผ่าพันธุ์ในกลุ่มที่เหมาะสมทางด้านชนชั้น หรือฐานะที่เสมอกันก็เป็นได้ แต่หนุ่ม-สาวไทยในปัจจุบัน (ทุกภาค รวมทั้งในกลุ่มเขมรอีสานใต้ด้วย) มีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง เมื่อรักใคร่ชอบพอกันแน่นอนแล้ว ก็จะบอกให้ญาติผู้ใหญ่รับรู้ โดยพ่อ-แม่ฝ่ายชายก็จะไปเยี่ยมเยียน เพื่อทำความคุ้นเคยกับทางฝ่ายหญิง จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ทางฝ่ายหญิงเมื่อพอใจยินดีก็จะเรียกค่าสินสอด (ตามความพอใจ) เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ก็จะนัดวันดีเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป

 

กันตรึมร่มเย็น ประยูรญาติน้อย มงคลจองได

การเตรียมตัวเจ้าสาว

ฝ่ายเจ้าสาว จะเตรียมทำฟูก (ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา (ผ้าไหว้ขอขมา) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ (สมัยโบราณนั้น ต้องมีการทอผ้า ต่ำหูก ตัดเย็บ ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทันใจกว่า) เตรียมเจียนหมาก ตากแห้งไว้เป็นของชำร่วย เพื่อแจกญาติพี่น้อง ตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน (ทอผ้า เย็บผ้า ในสมัยก่อน) ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือ "วันแต่ง"

การเตรียมตัวเจ้าบ่าว

ทางฝ่ายเจ้าบ่าว ก็ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน ทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด (ประกอบด้วยเนื้อ หมู ไก่ ปลา) ผักต่างๆ ฯลฯ ตามแต่ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้อง เพื่อนำไปใช้ในวันงานสำหรับการจัดเลี้ยงแขก รวมทั้งเงินทองค่าสินสอดด้วยให้พร้อม

จูนจำแน็ย (วันสุกดิบ)

ก่อนวันแต่ง 1 วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระ "จำแน็ย" (อาหารสด เนื้อ หมู เป็ด ไก่ ผักต่างๆ สำหรับการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ตามคำขอฝ่ายเจ้าสาว) เหล่านี้ไปยังบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้าย (เตรียมไม่พร้อม ไม่พอ หรือเกิดอุบัติเหตุ) ก็อาจจะเลิก หรือเลื่อนวันแต่งงานออกไปก่อนก็ได้

ไงแซน (วันพิธีแต่งงาน)

ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "พราหมณ์" หรือ "อาจารย์" เจ้าพิธีผู้ดำเนินการด้านพิธีกรรม มาเตรียมการดังนี้

  • บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ (เมาะจองได)

bai sri

  • ปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา (ปะต็วล เป็นภาชนะที่ทำจากหวายหรือไม้ไผ่ จักสานให้เป็นรูปทรงกรวย ขอบบนเป็นหยักโค้ง 6 หยัก มีด้ามยาวประมาณ 1 ศอก เป็นอุปกรณ์สำหรับการเซ่นสรวงเทพยดา) ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกอาจใช้ตัวบ้านแทนปะรำพิธี แต่ต้องมีเสากลางบ้าน (ถ้าไม่มีจะแก้ไขด้วยการนำไม้ไผ่มาตั้งตรงกลางบ้านแทน เพื่อแขวนปะต็วล)

santar kmer 07

  • บอนเจาะกราบ (ฟูกนั่งสำหรับบ่าว-สาว) บนฟูกจะวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน ผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้) ขันน้ำมนต์ เป็นต้น
  • การแห่ขันหมาก ขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าว นำหน้าด้วยพราหมณ์ มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ พร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก และเต่า เข้ามายังปะรำพิธีที่บ้านเจ้าสาว ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว โดยต้องเดินรอบปะรำ 3 รอบ พราหมณ์ฝ่ายเจ้าบ่าวจะตกลงต่อรองกันกับพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อขอเข้าไปนั่งในปะรำพิธี

santar kmer 01

เพลงกันตรึมแห่ขันหมากจะดังขึ้น พร้อมกับขบวนฟ้อนรำของฝ่ายเจ้าสาวอย่างสนุกสนาน พอได้เวลาพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว จะขอนับค่าสินสอดที่เรียกว่า ขันสลา (ขันหมาก) และข้าวของเครื่องใช้ ขนม นม เนย ว่าครบตามที่กำหนดหรือไม่ (ของเหล่านี้พ่อแม่จะต้องแบกรับขึ้นไปบนบ้าน) และขณะทำพิธีห้ามพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้าใกล้ภายในปะรำพิธีโดยเด็ดขาด ในเวลาขณะนี้จะเป็นพิธีสำคัญของพราหมณ์ โดยเริ่มให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้รับทราบเครือญาติสายตระกูล

santar kmer 02

  • การเข้าสู่ปะรำพิธี ทางญาติฝ่ายหญิงจะมารับ และนำเข้าสู่ปะรำพิธี เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อเข้านั่งเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นการมอบของกำนัน ที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวจะมอบให้แก่ญาติฝ่ายตรงกันข้ามคือ หมากพลูบุหรี่ เหล้ารินให้จิบ แล้วญาติจะตอบแทนด้วยเงินเล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวในพิธี ไหว้เรียกว่า "พิธีสัมเปี๊ยะ" คือ พิธีไหว้นั่นเอง จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะรับและแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เพื่อเป็นการยอมรับ
  • เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ (หรือพ่อพราหมณ์) แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางมือทับบนหลังมือเจ้าสาว
  • การเซ่นผี อาจารย์หรือพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่น แล้วยกออกไป
  • การสู่ขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่เรียกว่า "เฮาปลึงมงกวลจองได" หมายถึง การสู่ขวัญผูกข้อมือ โดยพราหมณ์สู่ขวัญเป็นภาษาเขมร และมีการโปรยข้าวสารเรียกขวัญ ตามด้วย "พิธีประจีร์" และ ผูกข้อมือจากญาติๆ การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง
    หลังจากนั้น อาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว 19 ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม…เยอ…" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ…ยอง…เจ เป็ง…ยอง…เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน

santar kmer 03

  • ส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ พาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
  • การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว

santar kmer 04

จากนั้นจะเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ท่ามกลางเพื่อนเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และญาติพี่น้องที่อยู่ในเรือนหอ ส่วนกิจกรรมที่ปะรำพิธีจะปัดกวาดจัดเตรียมที่จะยกสำรับ เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษมาเซ่นให้ทราบว่า ลูกหลานแต่งงาน ของสิ่งนี้เรี่ยกว่า "สแนแซน" (เครื่องเซ่น) โดยมีญาติฝ่ายชายและหญิงมาร่วมพิธี

  • หลังจากนั้น เจ้าบ่าวจะต้องกลับไปบ้านของตนเพื่อเตรียมการในช่วงบ่าย ที่เจ้าสาวจะแห่ไปทำพิธีไหว้ของสมมามอบแก่ญาติฝ่ายชาย โดยขบวนของเจ้าสาวจะพร้อมด้วยเครื่องไหว้ เป็นฟูกหมอนผ้าไหมจัดเป็นชุดตามจำนวนของญาติฝ่ายชายที่จะมอบ เรียกว่า "สำรับสมา" หมายถึงของไว้หรือของสมมา และเจ้าสาวต้องหาบน้ำขมิ้นน้ำหอมไปอาบให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวใน "พิธีงูดตึก" (อาบน้ำ) เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าวเพลงกันตรึมดังขึ้น และขบวนฟ้อนรำของฝ่ายหญิงฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานบริเวณลานบ้าน การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
  • ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
  • ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) เจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้ เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
  • การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ทางญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก

santar kmer 05

  • จากนั้นพรามหมณ์ก็จัดทำพิธีให้เจ้าสาวจุ่มคว้านมือลงในหม้อดิน ปิดปากหม้อด้วยใบตอง โดยภายในมีแหวนทองเป็นของกำนัลแก่ฝ่ายเจ้าสาว และตามด้วยพิธีโยนไม้คานข้ามศรีษะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปด้านหลัง ซึ่งข้างหลังจะมีคนคอยรับ เชื่อว่าใครรับได้จะเป็นคนต่อไปที่จะได้แต่งงาน คล้ายกับการรับช่อดอกไม้ในพิธีของคริสต์

จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวอีสานใต้นั้น เน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ และยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่า "ปะต็วล" เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้น "เต่า" เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือ "ตัญญูปะกำ" เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะพิธีการจะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย

redline

backled1

isan son name

อาวทิดหมู มักหม่วน เคยเขียนเรื่อง "การตั้งชื่อให้ดีเหมาะสมกับดวงชะตา" ซึ่งอิงตามตำราการตั้งชื่อมงคลนามหลายๆ ตำรามาไว้ แต่ก็ยังมีผู้ถามมาว่า "คนอีสานบ้านเฮาในอดีตนั้นเพิ่นตั้งชื่อให้ลูกหลานแปลกๆ พยางค์เดียวบ้าง สองพยางค์บ้าง และบางชื่อก็อาจเป็นชื่อสิงสาราสัตว์ หรือชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง หรือไม่ตรงปก เป็นตรงกันข้ามเสมอ คนโบราณมีหลักการตั้งชื่ออย่างไร?" ซึ่งอาวทิดหมูก็ได้โยนคำถามนั้นมาทางผมพร้อมกับสำทับว่า "ครู เฉลยให้แฟนนานุแฟนฮู้แหน่ ผมเกิดบ่ทันได้ถามอีพ่อว่าเป็นหยังจั่งตั้งชื่อผมว่า 'หมู' เลาตายไปสาก่อนแล้ว" ผมเลยต้องมาค้นหาตำรามาเรียบเรียงบอกกันในวันนี้

การตั้งชื่อลูกหลานของคนอีสานโบราณ

"ชื่อ" เป็นคำเรียกแทนตัวของบุคคล ซึ่งมีทั้งชื่อเล่น และชื่อจริง ที่อาจจะไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลยระหว่างทั้งสองชื่อก็มี (ที่คนต่างชาติไม่เข้าใจและสับสนมาก) การตั้งชื่อลูกหลานของชาวอีสานนั้นมีลักษณะที่ปรากฏชัดเจน อยู่ 2 แบบ คือ การตั้งชื่อเป็นมงคล และการตั้งชื่อแก้เคล็ด ดังนี้

  • การตั้งชื่อเป็นมงคล เมื่อเด็กเกิดมา ปู่ย่า-ตายาย หรือ พ่อแม่ มักจะเป็นคนตั้ง ชื่อเล่น ให้ก่อน และไปให้ พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ดูฤกษ์ผานาทีวันเวลาเกิด (คกฟาก) เพื่อตั้ง ชื่อจริง ให้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดสิริมงคลแก่ชีวิตของเด็กตลอดไป ชื่อที่เป็นมงคลมีที่มาจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
    • ตั้งชื่อตามธรรมชาติที่เห็นทั่วไป เช่น ภู ผา เมฆ ฟ้า ฝน จันทร์ เดือน เกิ้ง (พระจันทร์)
    • ตั้งชื่อตามชื่อพันธุ์ต้นไม้ เช่น ดู่ (ประดู่) ขาม (มะขาม) ไผ่ หวาย
    • ตั้งชื่อตามสิ่งของมีค่า เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง คำ นาก
    • ตั้งชื่อเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว แดง ขาว ดำ
    • ตั้งชื่อตามชื่อสัตว์ เช่น ไก่ อึ่ง หมู หมี เสือ ช้าง

สำหรับผู้เขียนเองนั้นตั้งชื่อลูกสาว-ลูกชายเอง ตามตำรานามมงคล พรหมชาติ โหราศาสตร์ไทย ในตอนแรกคลอดต้องไปแจ้งเกิดที่ สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่นั่นมีหนังสือ "ตำราการตั้งชื่ออันเป็นมงคลตามวัน/เดือน/ปีเกิด" ให้บริการอยู่ ก็เปิดเลือกหานามที่เป็นมงคลได้ก่อนการแจ้งเกิดครับ เอาที่มีความหมาย ไพเราะ เขียนและจดจำง่ายกันนะครับ

  • การตั้งชื่อแก้เคล็ด เมื่อเด็กเกิดมาแล้วมีลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือพ่อแม่เกรงว่าจะเจ็บป่วยบ่อย ผู้ใหญ่มักจะตั้งชื่อที่ไม่ไพเราะ เพราะเชื่อว่าถ้าชื่อไม่ดีผีจะไม่พาตัวไป ชื่อที่ตั้งหลอกผีจะแสดงลักษณะที่ไม่สวยงาม ดังนี้
    • ตั้งชื่อเป็นของเสีย เช่น บูด เน่า
    • ตั้งชื่อไม่สมประกอบ เช่น แหมบ (จมูกบี้) หล่อย (เป๋) ส่อย (แหว่ง) เหงี่ยง (เอียง)
    • ตั้งชื่อเป็นรูปร่างที่ไม่ดี เช่น จ่อย (ผอม) แห้ง (ผอมแห้ง) เหี้ยน (สั้น,เตี้ย)
    • ตั้งชื่อตามสีที่ไม่สวย เช่น แหล่ (คล้ำ)

ชาวอีสานเชื่อว่า "ชื่อดีมีชัยไปตลอดชีวิต" หากมีเหตุต้องเปลี่ยนชื่ออาจเนื่องมาจากการถือโชคลาภ เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วจะโชคดี อีกกรณีคือเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้เคล็ดเรื่องความเจ็บป่วย ดังนั้นการตั้งชื่อจึงมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความคิด ความเชื่อเรื่องสิริมงคลสืบเนื่องกันไป

[ การตั้งชื่อให้เหมาะสมกับดวงชะตาราศี ]

khon isan

การนับลำดับเครือญาติของชาวอีสาน

นอกจากการตั้งชื่อแล้ว ก็ยังมีเรื่อง การนับเครือญาติ ด้วย ที่มีความสำคัญ บ่งบอกความเกี่ยวดองกันในครอบครัว เพราะสภาพครอบครัวของชาวอีสานมีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวขยาย ซึ่งมีทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ-แม่ ลูก หลาน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีการสร้างบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ความสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้น โดยผู้ใหญ่จะให้ความรู้แก่เด็กๆ หรือลูกหลาน ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ขัดเกลาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สอนให้พึ่งพาตนเองได้ ยึดมั่นในจารีตประเพณี ถ่ายทอดประสบการณ์และฝึกฝนอาชีพจากรุ่นสู่รุ่นเป็นลำดับ คำเรียกเครือญาติของชาวอีสานจึงมีความละเอียด ดังนี้

ทวด (ผู้ชาย) พ่อซ่น ทวด (ผู้หญิง) แม่ซ่น
ปู่ ปู่, ตู้ปู่ ย่า ย่า, ตู้ย่า
ตา พ่อตู้, พ่อใหญ่ ยาย แม่ตู้, แม่ใหญ่
พ่อ พ่อ, อีพ่อ แม่ แม่, อีแม่
ลุง ลุง, พ่อลุง ป้า ป้า, แม่ป้า
น้า (ผู้ชาย) น้าบ่าว น้า (ผู้หญิง) น้าสาว
น้าเขย น้าเขย น้าสะใภ้ น้านาง
อา (ผู้ชาย) อาว อา (ผู้หญิง) อา
อาเขย อา อาสะใภ้ อา
พี่ชาย อ้าย พี่สาว เอื้อย
ลูกคนโต ลูกกก ลูกคนสุดท้อง ลูกหล้า
ลูกเขย ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลูกใภ้
พี่เขย พี่อ้าย พี่สะใภ้ พี่เอือย, พี่นาง
น้องชาย น้อง น้องสาว น้อง
น้องเขย น้องเขย น้องสะใภ้ น้องใภ้
พ่อเลี้ยง พ่อน้า แม่เลี้ยง แม่น้า

ตอนนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า ผู้เขียน กับ อาวทิดหมู มีความเกี่ยวดองกันอย่างไร? ท่านก็ลองสำรวจเครือญาติดูครับจะได้นับลำดับญาติกันถูกต้อง คนนั้นเกี่ยวข้องกับเรา กับพ่อ-แม่เราอย่างไร

มีคำถามต่อมาอีกว่า "ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เรียกลูกหลานที่สืบสกุลว่า 'ลูก หลาน เหลน โหลน หล่อน แหล่น' มีความหมายลำดับกันอย่างไร" ก็ขอเรียงลำดับดังนี้

  • ลูก หมายถึง ลูกของพ่อแม่ (ลำดับที่ 1)
  • หลาน หมายถึง ลูกของลูก
  • เหลน หมายถึง ลูกของหลาน
  • โหลน หมายถึง ลูกของเหลน
  • หล่อน หมายถึง ลูกของโหลน
  • แหล่น หมายถึง ลูกของ หล่อน

ส่วน คำเรียกขาน แบ่งตามสรรพนาม ดังนี้

สรรพนามที่ 1 ข้อย สัน (ฉัน) นาง (ผู้หญิง) กู แม่ซ่น พ่อซ่น ซ่น ปู่ ย่า พ่อตู้ แม่ตู้ พ่อ แม่ อ้าย เอื้อย ลุง ป้า น้า อา อาว ฯลฯ
สรรพนามที่ 2 เจ้า มึง นาง อีนาง (ลูกสาว/หลานสาว) ท้าว อีท้าว (ลูกชาย/หลานชาย)
สรรพนามที่ 3 เพิ่น เลา มัน

ส่วนสรรพนามที่ใช้เรียกบุคคลทั่วไป ในกรณี หนุ่ม-สาว ทั่วไปนั้นจะเรียกโดยมีคำนำหน้าดังนี้

  • ฝ่ายชาย จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นชาย เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "บ่าว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียกนั้น เช่น บ่าวแดง บ่าวลอย แต่ถ้าเคยบวชเรียนมาก็จะเรียกตามศักดิ์ที่เคยบวชเรียนนั้นด้วยคำว่า "เซียง" (เคยบวชเณรมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น เซียงเพ้ว เซียงสา และเรียกว่า "ทิด" (หากเคยบวชพระมาก่อน) นำหน้าชื่อ เช่น ทิดสา ทิดมี ทิดมา ทิดหมู เป็นต้น [ อ่านเพิ่มเติม : กองฮด ]
  • ฝ่ายหญิง จะมีการเรียกชื่อวัยรุ่นหญิง เรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า "สาว" และต่อด้วยชื่อของคนที่ถูกเรียก เช่น สาวพร สาวจุ้ย สาวนิด

somma wedding isan

งานกินดอง (แต่งงาน) แบบอีสานต้องมีการสมมา (กราบฝากเนื้อฝากตัว) ญาติผู้ใหญ่

ไหนๆ ก็เขียนเรื่อง ชื่อ เรื่อง การนับลำดับญาติ แล้ว ก็ขอเสนอคำและความหมายที่คนอีสานมักจะใช้สื่อสารกัน เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำหรือความหมายให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งท่านอาจจะได้ยินได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่ คนเฒ่า คนแก่ ในชนบท หรือจากในกลอนลำ หรือในเพลงลูกทุ่งอีสาน โดยเฉพาะสมัยนี้ ลูกทุ่งอีสานอินดี้ มาแรงก็อาจจะมีคำเหล่านี้แทรกอยู่

คำวิเศษณ์หรือคำขยาย

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น ในภาษาอีสานมีคำวิเศษณ์เป็นสร้อยคำที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน มีลักษณะเป็นคำคล้องจองไม่มีความหมายตายตัว แต่รับรู้ความหมายได้จากการออกเสียงและตีความภาษา ดังนี้

  • คำวิเศษณ์บอกสีสัน เช่น
แหล่กวดตวด สีคล้ำมาก เช่น อีนางน้อยคนนั้นผิวแหล่กวดตวด
แดงจึ่งขึ่ง แดงจัด เช่น ไฟลุกแดงจึ่งขึ่ง (ไฟลุกโชน)
แดงจายวาย สีแดงกำลังสวย เช่น ผู้สาวคนนี้คืองามแท้ ปากแดงจายวายเลย
เหลืองเอ้อเฮ่อ สีเหลืองอ๋อย เช่น แข่ว (ฟัน) เหลืองเอ้อเฮ่อ
ขาวจุนพุน ขาวสวย เช่น ผู้สาวงามหลาย ผิวขาวจุนพุนเลย
ขาวโอกโลก มอมแมม เช่น ไปล้างเนื้อล้างตัวซะ แขนขาขาวโอกโลกยุ
ดำปิ๊ด ดำสนิท เช่น ขี้หมิ่นหม้อ (คราบเขม่า) ติดมือดำปิ๊ดเลย
ดำปี้ๆ ดำมาก เช่น เสื้อผ้าดำปี้ๆ แท้ เอาไปซักแหน่อีนาง
  • คำวิเศษณ์บอกขนาด เช่น
    • คำบอกขนาดรู หรือ ช่อง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก ได้แก่ ฮูจ่างป่าง ฮูโจ่งโป่ง ฮูจ่องป่อง ฮูแจ่งแป่ง และฮูจิ่งปิ่ง
    • คำบอกขนาดของก้อนหิน หรือสิ่งของในลักษณะคล้ายกัน เช่น โข่โหล่ (ก้อนใหญ่) ข่อหล่อ (ก้อนเล็ก) ข่อหล่อแข่แหล่ (เล็กๆ น้อยๆ)
  • คำวิเศษณ์บอกอาการ เช่น
ยิ่งแข้วกีกซีก ยิ้มแฉ่ง, ยิงฟันกว้างๆ, ยิ้มจนเห็นฟัน
ปากบานเพ่อเว่อ ทำปากบานๆ
อ้าปากซอวอ อ้าปากค้าง
ตาสวดโป้โล่ ทำตาโต ตาถลน ตาเหลือก
ส่องป้อล่อ แอบส่องดู
ย่างมาโพ่โว่ เดินโผล่มาพอดี
ย่างเที่ยงที่ลี่ เดินตัวตรง
ขดกอซอ นั่งหรือนอนขดตัว (หมดหวัง)
มิดซีลี เงียบสนิท ไม่มีสัญญาณตอบรับ
ยิ้มปุ้ยๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
กรนสอดๆ กรนสนั่น นอนกรนเสียงดัง (หลับสนิท นอนมีความสุขหลาย)
กัดแข่วก้วดๆ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน (อาจด้วยความโกรธที่รุนแรงมาก)
หมุ่นอุ้ยปุ้ย เละตุ้มเป๊ะ ไม่มีชิ้นดี
แปนเอิดเติด โล่งมาก ไม่มีอะไรขวางกั้น
เปิดอาดหลาด โกยอ้าว, เผ่นแนบ, หนีไปอย่างรวดเร็ว

perd ard lard

  • คำวิเศษณ์บอกสัณฐาน เช่น
แหลมปี๊ด แหลมมาก สูงโจ่นโท่น (เจิ่นเทิ้น ก็ว่า) สูงมาก
กองโจ้โก้ กองใหญ่ๆ มหึมา ซือคิ่งนิ่ง (เอียดเหลียด ก็ว่า) ตรงมาก
  • คำวิเศษณ์บอกกลิ่น เช่น
หอมฮวยๆ หอมมาก หอมฮินๆ กลิ่นตุๆ
เหม็นแหญด เหม็นอับ แหญดแต่งๆ เหม็นอับมาก
  • คำวิเศษณ์บอกรสชาติ เช่น
ส้มปี๊ด เปรี้ยวมาก ขมปี๊ด ขมจัด
ขมอ่ำหล่ำ ขมแบบกลมกล่อม หวานจ้อยๆ คำพูดหวานมาก
หวานจ้วยๆ น้ำตาลหวานมากๆ จ่อยล่อย จืดจาง ไม่มีรส

ข้อมูลจาก : ภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โดย อรัญญา แสนสระ

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)