foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nok hasadee link

นกหัสดีลิงค์ การจัดการปลงศพของเจ้านายชั้นสูงในอีสาน

nok hasadee link 05

ประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์

นกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อที่ปรากฏตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10-13 ในแผ่นดินสุวรรณภูมิ โดยสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นจินตนาการของชุมชน โดยอาศัยคัมภีร์จักภวาฤทีปน์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพุทธศานาที่พยายามอธิบายเรื่องราวของโลกและจักรวาล โดยเฉพาะเรื่องป่าหิมพานต์ โดยในป่าดังกล่าวยังได้มีการแบ่งสัตว์ไว้อย่างหลากหลาย เช่น ราชสีห์ เหมราอัศดร มังกรวิหก คชสีห์ สนนร สนรี และนักหัสดีลิงค์ จากบทบาทที่โดดเด่นของวรรณกรรมทางพุทธศาสนา ที่สามารถหล่อหลอมจินตนาการของช่าง ถูกการปรุงแต่งให้เหนือธรรมชาติทั้งรูปลักษณ์และปาฏิหาริย์ เพื่อจะรับความชอบธรรมในบทบาทที่ถูกกําหนดขึ้น เพื่อรับใช้สังคมสืบต่อไป

คําว่า “หัสดีลิงค์” มีความหมายในสารานุกรมอีสาน ไว้ว่า

  • หัสดิน หัสดี น. ช้าง
  • หัสดีลิงค์ ๑ น. นกที่มีรูปร่างเหมือนช้าง เป็นนกขนาดใหญ่มีกล่าวไว้ในธรรมบทภาค ๒ ว่า พระเจ้าปรันรัตนะ เจ้าเมืองนครโกสัมพี ในประเทศอินเดียพระองค์อยู่บนปราสาทชั้นสูงสุดกับพระมเหสี พระมเหสีมีครรภ์จวนประสูติ ขณะบรรทมห่มผ้าสีแดง นกหัสดีลิงค์บินมาพบเข้าสําคัญว่าเป็นก้อนเนื้อ จึงบินมาโอบเอาพระมเหสีไปวางไว้บนคาคบต้นไม้ใหญ่ในป่าหิมพานต์ ตกเวลาจวนจะรุ่งเกิดลมพายุพัดผ่านฝนกระหน่ําลงมา พระนางประสูติพระโอรสบนต้นไทรใหญ่นั้น จึงขนานนามพระโอรสว่า อุเทน เพราะเมื่อประสูติก็สว่างพอดี คําว่าอุเทนหรืออุทัยคือเวลาจวนสว่าง เมื่อพระอุเทนซึ่งเป็นโอรสได้เสวยราชในเมืองโกสัมพีสืบต่อจากพระบิดาแล้ว ได้นําพระมารดามาอยู่ในนครโกสัมพี ครั้นเมื่อพระมารดาสวรรคตได้จัดการพระบรมศพ โดยเอานกหัสดีลิงค์ตัวนั้นมารองพระบรมศพ เผาทั้งนกและนางพร้อมกัน การที่นํานกหัสดีลิงค์มาเผาก็เพราะเกี่ยวข้องกับพระมารดาดังกล่าว
  • หัสดีลิงค์ ๒ น. ธรรมเนียมเจ้าเมืองในภาคอีสาน เมื่อถึงแก่กรรมมักจัดงานศพเป็นการใหญ่โตมโหฬาร ทําเมรุเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ คล้ายกับพระอุเทนทําแก่พระมารดาในกรุงโกสัมพี การทําอย่างนั้นเพื่อให้แปลกกว่าประชาชนคนธรรมดา หรืออย่างไรไม่ทราบ พระตา พระวอ ตามประวัติก็ทําศพแบบนกหัสดีลิงค์ สําหรับจังหวัดอุบลราชธานีปรากฏว่า พระปทุมราชวงศา (คําผง) พระพรหมราชวงศา (พรหม) พระปทุมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลทั้ง ๓ นี้จัดทําาศพแบบนกหัสดีลิงค์ ส่วนทางศาสนา ญาท่านธรรมบาล วัดป่าน้อย พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง พระศรีธรรมวงศาจารย์วัดสุปัฏน์ และพระครูนวกรรมโกวิท วัดมหาวนาราม ก็จัดทําศพแบบนกหัสดีลิงค์

จากการศึกษาของสมชาติ มณีโชติ ได้ยกศัพท์คําว่า นกหัสดีลิงค์ ออกเป็น 2 คํา คือ

  1. หัสดี (หรือหัสดิน) มีความหมายว่า ผู้ใช้งวงแทนมือ หรือผู้ใช้มือ
  2. ลิงค์ (หรือลึงค์) มีความหมายถึง เครื่องหมายทางเพศชาย

เมื่อรวมความหมายแล้วหมายถึง นกที่มีหมายเป็นช้างเป็นองค์ประกอบสําคัญ ซึ่งในที่นี้คือ นกที่มีหัวเป็นช้าง หรือ นกที่มีงวงที่ปากเป็นงาช้างที่มองเห็นได้ชัดเจน หรือนกผู้มีงวงเป็นช้าง หรือครึ่งนกครึ่งช้าง

จากความหมายดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า คติในเรื่องนกหัสดีลิงค์นั้น กรอบความคิดเดิมได้อิงอยู่ในธรรมบทของพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงป่าหิมพานต์และกล่าวถึงสัตว์นิทาน และเมื่อคตินิยมกล่าวถึงถอดความหมายมีนัยยะของชุมชนเคลื่อนอยู่ นกดังกล่าวจึงมีลักษณะผิดปกติอย่างสัตว์สามัญเป็นรูป เพราะตัวนั้นเป็นนกที่มีปีกมีหาง แต่ส่วนหัวเป็นช้างมีงวงมีงา

nok hasadee link 12

banner 728x90
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ

ตํานานนกหัสดีลิงค์ : ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการเผาศพ

ในเรื่องตํานานนกหัสดีลิงค์คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากจะพูดถึงตํานานดังกล่าวอย่างเป็นเอกภาพ เพราะดูเหมือนว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทย-ลาว สายล้านช้าง ล้านนา เป็นต้น ต่างก็พยายามผูกเรื่องดังกล่าวขึ้นไว้กับชุมชนของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นการสร้างตํานานนกหัสดีลิงค์ของชุมชน โดยปกติแล้วจะต้องตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานของชุมชนนั้นๆ ซึ่งบางครั้งเป็นการยากต่อการหาคําตอบของพฤติกรรมดังกล่าวว่า กระทําขึ้นเพื่ออะไร นอกจากจะหาคําตอบอธิบายกว้างๆ ในลักษณะข้อสังเกตว่า ตํานานนกหัสดีลิงค์นั้นได้ผูกพันกับบรรพบุรุษไทย-ลาว ไม่ว่าจะเป็นเชียงรุ้ง แสนหวี เป็นต้น

ปัจจุบันเป็นตํานานที่ปรากฏพอสรุปได้ 3 กระแส คือ

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 1 กล่าวว่า......

นกหัสดีลิงค์ นั้นจะมีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก จะชอบกินช้างหรือสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร เช่น คน เสือ ควาย เป็นต้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อนกหัสดีลิงค์ได้จับลูกสาวเจ้าเมืองหลายต่อหลายเมืองมากินเป็นอาหารแล้ว มาหยุดพักที่ ปางทุ่งหลวง เมืองสุวรรณภูมิ เพื่อจะรอจับลูกสาวเจ้าเมืองดังกล่าวกินเป็นอาหาร ครั้นเจ้าเมืองทราบข่าวจึงสืบเสาะหาบุคคลที่มีความสามารถ ที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ จนในที่สุดก็มาถึงเมืองตักศิลาและลูกสาวเจ้าเมืองนั้นชื่อ “เจ้านางสีดา” ซึ่งได้รับมอบคันศรจากพระราชบิดา เพื่อจะนําไปฆ่านกหัสดีลิงค์ และในที่สุดเจ้านางสีดาก็สามารถฆ่านกหัสดีลิงค์ได้

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 2 กล่าวว่า......

ในกาลครั้งหนึ่งมีเมืองๆ หนึ่งเกิดอาเพศเพราะมีนกหัสดีลิงค์คอยเฝ้าจับคนเป็นอาหาร ทําให้ผู้คนบาดเจ็บและล้มตายเป็นอันมาก แม้แต่เจ้าเมืองยังทรงสวรรคต พระมเหสีทรงโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก จึงคิดหาหนทางที่จะแก้แค้นโดยการฆ่านกหัสดีลิงค์ จึงได้ป่าวประกาศหาผู้มีความสามารถมาปราบนกหัสดีลิงค์ได้ จะมีรางวัลสมนาคุณให้อย่างงาม ในที่สุดเจ้าหญิงแห่งเมืองตักศิลาได้อาสาปราบนก และสามารถปราบนกดังกล่าวได้ โดยมีศรเป็นอาวุธ ดังนั้นประเพณีเจ้าเมือง จึงได้ทําพิธีเผานกหัสดีลิงค์พร้อมศพเจ้าเมือง โดยมีการจัดวางหีบศพบนหลังนก และสร้างหอแก้วกั้นหีบศพให้สวยงาม และสิ่งดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ตํานานนกหัสดีลิงค์กระแสที่ 3 กล่าวว่า......

มีนครแห่งหนึ่งชื่อ นครเชียงรุ้งตักศิลา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระมเหสีจึงนําพระบรมศพแห่แหนไปถวายพระเพลิงที่นอกเมือง นกหัสดีลิงค์ หรือ นกสักกะไดลิงค์ ซึ่งบินมาจากป่าหิมพานต์มาเห็น จึงได้โฉบลงมาแย่งพระศพ พระมเหสีจึงหาคนมาปราบนกที่แย่งพระศพ ในที่สุดก็มีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ “เจ้านางสีดา” มีฝีมือในการยิงธนูเป็นเยี่ยม ได้ใช้ลูกศรยิงนกตกลงมาตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมนกใหญ่ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา

nok hasadee link 02

นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้ได้สดับมาว่า สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง

ขณะนั้นมี นกสักกะไดลิงค์ (ทางอีสานเรียกเช่นนี้) หรือ นกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์ เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือ หอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน ตำนานมีกล่าวไว้ดังนี้

ประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างนกหัสดีลิงค์

เจ้าเมืองเชื้อสายลาวจําปาสัก จนถึงเจ้าเมืองอุบลฯ นิยมสร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ประกอบหอแก้ว เชิญศพขึ้นประดิษฐาน แล้วชักลากไปเผาที่ทุ่ง จึงเป็นธรรมเนียมสําหรับเจ้านายที่สืบเชื้อสายสืบมาแต่โบราณ ที่เรียกว่า อัญญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง เจ้าอุปราชย์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และบุตรหลาน ที่ได้รับราชการงานเมือง เมื่อท่านผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่อาสัญกรรม เจ้านายและประชาชนของเมืองอุบล จึงได้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ประกอบหอแก้ว แล้วได้ชักเมรุออกไปเผา ณ ทุ่งศรีเมือง กลางเมืองอุบลฯ

ต่อมา เมื่อมีการส่ง ผู้สําเร็จราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ มาปกครองเมืองอุบลฯ จึงได้ห้ามมิให้มีประเพณีเผาศพเจ้านายแบบนกหัสดีลิงค์ ที่นำไปเผาที่ทุ่งศรีเมือง ถือว่าเป็นการกระทำที่คล้ายกับการถวายพระเพลิงเจ้านายที่ทุ่งสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) กรุงเทพฯ เชื้อสายเจ้าเมืองอุบลฯ หากจะทําศพแบบนกหัสดีลิงค์ จะต้องไปทําที่วัดใดวัดหนึ่งที่เห็นสมควร เนื่องด้วยความเชื่อดังกล่าว ปรากฏในตํานานเมืองเชียงรุ้งแสนหวี ในดินแดนล้านนา จึงได้รับอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์เช่นเดียวกับดินแดนล้านช้างจําปาสัก และเนื่องจากเป็นสายวัฒนธรรมเดียวกันซึ่งได้แก่ เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ผู้ครองนครเคยปกครองดินแดนสองแคว้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่าง พ.ศ. 2093-2115) เคยเสด็จเป็นกษัตริย์แคว้นล้านนาเมืองเชียงใหม่ หลังจากพระราชบิดาคือ พระยาโพธิสาร สวรรคต ก็เสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์แคว้นล้านช้าง ที่เมืองหลวงพระบาง ทรงอาราธนาพระพุทธรูปสําคัญจากเมืองเชียงใหม่ คือ พระแก้วมรกต และหลังจากนั้นทรงย้ายราชธานีจาก หลวงพระบาง มาอยู่ เวียงจันทน์

จากความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมา นกหัสดีลิงค์ ถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคล 2 กลุ่มได้เสียชีวิตไปคือ

  • กลุ่มอาญาสี่/อัญญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย

1. เจ้าเมือง
2. อุปฮาด/อุปราช
3. ราชวงศ์
4. ราชบุตร

  • เถระชั้นผู้ใหญ่ของชุมชน

ในการสร้าง นกหัสดีลิงค์ พิธีกรรมต่างๆ จะเริ่มเมื่ออัญญาสี่ หรือเถระชั้นผู้ใหญ่ได้เสียชีวิต หรือมรณภาพไป และดูเหมือนกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการยึดถืออย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นญาติพี่น้องต้องตั้งศพบําเพ็ญกุศล 7 วัน และต้องเก็บศพไว้อีก 3 เดือน เพื่อรอการทํานกหัสดีลิงค์และการทําหอแก้ว ในการเตรียมการในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นการเกณฑ์วัสดุสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่จักตอก กระดาษสา หวาย จากญาติโยมเป็นหลัก

ในส่วนของช่างที่มีชื่อเสียงนั้น ล้วนแต่เป็นช่างที่มีพื้นเพเป็นคนเมืองอุบลราชธานีทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ ญาท่านดีโลด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) วัดทุ่งศรีเมือง ญาท่านพระมหาเสนา วัดทุ่งศรีเมือง ช่างโพธิ ส่งศรี ช่างสาย สุททราวงศ์ ช่างสีห์ ช่างครูคําหมา แสงงาม ช่างศิลป์ ฟุ้งสุข ซึ่งท่านดังกล่าวก็เสียชีวิตไปหมดแล้วปัจจุบันนี้ยังมีช่างทํานกหัสดีลิงค์อยู่คือ พระอาจารย์สมสิทธิ์ รักขิตสีโล (พระครูสีลสาราภรณ์) เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม จังหวัดร้อยเอ็ด และท่านเป็นนายช่างใหญ่สร้างนกหัสดีลิงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม และอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย

ก่อนสร้างนกหัสดีลิงค์ 1 วัน จะต้องมีการบวงสรวง เพื่อเป็นศิริมงคลและการเตรียมการบวงสรวง ยังเป็นการเตรียมขั้นต้นของการเตรียมร่างทรงนางสีดา ที่จะมาฆ่านกหัสดีลิงค์อีกด้วย โดยมีเครื่องบวงสรวง ดังนี้

  1. คาย (ค่าครู) เป็นเงิน 11 ฮาง
  2. ขันหมากเบ็งซ้ายขวา 2 คู่
  3. ขัน 5 ขัน 8 อย่างละ 1 ขัน
  4. ขันผ้านุ่งซิ่นและเมรุ 1 ขัน
  5. เหล้า 1 ไห (ขวด)
  6. หัวหมู 1 ชุด
  7. ผ้าขาวยาว 5 ศอก 1 ผืน
  8. ไก่ต้ม 1 ตัว
  9. ข้าวต้ม ขนมหวาน ขันน้ํา หมาก พลู บุหรี่

ลักษณะของนกหัสดีลิงค์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าฝีมือเชิงช่างมีความพิถีพิถันสูงมาก เพราะนกหัสดีลิงค์ที่สร้างขึ้นจะไม่ใช้ตะปูเป็นส่วนประกอบ แต่จะใช้วิธีการเข้าลิ่ม และจะใช้หวายมัดแทน และลักษณะอีกประการหนึ่งคือจะต้องสร้างให้นกเหมือนมีชีวิตจริง คือสามารถลืมตา อ้าปาก ส่งเสียงร้อง และสะบัดงวงได้ด้วย

หลังจากบวงสรวงนกแล้ว ญาติพี่น้องจะต้องแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว เมื่อพร้อมกันแล้วญาติผู้ใหญ่จะนําขัน 5 ประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ มาขอขมาศพ แล้วนําศพสู่เมรุนก ตั้งศพเรียบร้อยแล้วนิมนต์พระเถระทั้ง 4 นั่งบนหลังนก เพื่ออ่านคัมภีร์บนนกนั้นด้วย กระบวนแห่ศพจะต้องนําเชือกหนังอย่างดีผูกมัดกับฐานนก ซึ่งทําเป็นตะเข้ใหญ่ 3 เส้น แล้วจัดคนเข้าตามแถวตามเส้นนั้น 3 แถว กระบวนแรกสุด คือต้นแถวจะมีคนหามฆ้องใหญ่ตีให้สัญญาณนําหน้า แถวถัดมา จะเป็นขบวนพิณพาทย์ราชตะโพน เครื่องประโคมแห่ มีคนถือโคมแห่ มีคนถือธงสามหางและธงช่อ ธงชัย กระบวนหอก กระบวนดาบ กระบวนเครื่องยศของผู้ตาย แล้วจึงเป็นกระบวนชักลากด้วยเชือกสามสายดังกล่าว เมื่อได้สัญญาณแล้วก็ดึงนกให้เคลื่อนที่แห่ไปตามถนนจนถึงวัด กระบวนสุดท้าย คือผู้ที่ใช้ท่อนไม้งัดตะเข้ นกใหญ่หากติดขัด โดยรูปการจัดขบวนแห่ มีแผนผังดังนี้

nok hasadee link 11

เมื่อมีการเคลื่อนนกหัสดีลิงค์เรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมอีกส่วนหนึ่งที่จะดูมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพิธีกรรมอื่นๆ คือ พิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ และเชื้อสายของเมืองตักสิลาจึงรับสืบทอดมรดกพิธีนี้มาเป็นประจําเอง ผู้ที่ฆ่านกหัสดีลิงค์ประจําเมืองอุบลราชธานีของเราผู้สืบทอดกันมา ดังนี้

  • ยุคแรกคือ ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย ผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองตักกะสิลา เมื่อญาแม่สุกัณถึงแก่กรรมไปแล้วบุตรสาวของท่านคือ
  • คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศรี เป็นผู้รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ เมื่อคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศรี ถึงแก่กรรมแล้ว บุตรสาวของท่านคือ
  • คุณสมวาสนา รัศมี (ฆ่าในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระอริยานุวัตร 2536) รับช่วงเป็นคนทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อมา ต่อมาเมื่อคุณสมวาสนา รัศมีถึงแก่กรรมไปแล้ว
  • คุณยุพิน ผ่องศรี เป็นผู้รับช่วงในการเข้าทรง เจ้านางสีดา ลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อไป (พระราชทานเพลิงศพพระราชรัตโนบล 17-19 มิถุนายน 2538 ณ วัดทุ่งศรีเมือง)
  • คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์, พี่สาวคุณยายสมวาสนา) และคนปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายนางสีดาคือ
  • คุณเมทินี หวานอารมย์ (หลานคุณยายประทิน) ผู้ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้ว 2 งาน คือ ในงานพระราชทานเพลิงศพพระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ บุญเอื้อ) อดีตเจ้าอาวาสวัคทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 26 พ.ค. 2557 และงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น

nok hasadee link 06
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

ในการที่จะเชิญเจ้านางสีดามาฆ่านกหัสดีลิงค์นั้นโบราณมีว่า ตัวแทนของอัญญาสี่ จํานวนผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 4 คน ที่เป็นบุตรหลานของอัญญาสี่ (แต่เดิมตัวแทนอาญาสี่ต้องเป็นคนมาจากตระกูลผู้สืบเชื้อสาย อาญาสี่เมืองอุบล คือ สกุล ณ อุบล, สิงหัษฐิต, บุตโรบล, พรหมวงศานนท์ เป็นต้น ในภายหลังได้ปรับเปลี่ยนโดยคัดเลือก ข้าราชการบำนาญ, ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับหน้าถือตาของบ้านเมือง ทำหน้าที่แทน) จะต้องนําขันห้า คือ ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียนแท้ 5 คู่ ยาวคืบหนึ่ง ใส่พานไปที่ตําหนักทรงของเจ้าแม่สีดา เพื่อบอกกล่าวเชิญเจ้าแม่ไปฆ่านกหัสดีลิงค์

อาญาสี่จะกล่าวคำเชิญเจ้านางสีดาว่า "นกโตนี้กาลีบ้านกาลีเมือง กินคนมาร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองแล้ว อาญาสี่เพิ่นกะมาขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนก" ฝั่งเจ้านางสีดาจะถามกลับว่"นกโตนี้อยู่ไส" อาญาสี่ตอบว่า "อยู่ท่งหลวงท่งปาง ขอเชิญญาแม่สีดาไปปราบนกเทอญ"

เมื่อผู้ทรงได้รับขันเชิญ ก็จะเข้าทรงเชิญเจ้าแม่สีดาลงมาพบตัวแทนอัญญาสี่ แล้วว่าจะรับหรือไม่ เมื่อท่านเจ้าแม่ในร่างทรงรับจะไปฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว ก็จะถวายเครื่องบูชา เรียกว่า คายหน้า คือ เครื่องบูชาบวงสรวงก่อนที่จะไปฆ่านกหัสดีลิงค์ จะต้องมีการบวงสรวงเข้าทรงเสียก่อนตามประเพณีโบราณ เครื่องบูชาครูหรือเครื่องบวงสรวงมีทั้งหมด 20 รายการ (บางตําราบอกว่า 17 รายการ) ได้แก่

  1. เทียนขี้ผึ้งอย่างดียาว 1 คืบ จํานวน 1 กิโลกรัม
  2. มะพร้าวอ่อน 4 ทะลายกับอีก 4 ลูก
  3. กล้วย 4 เครือกับอีก 4 ชุด
  4. หัวหมู 2 ชุด
  5. ไก่ต้ม 4 ตัว
  6. อ้อยลํางาม 4 ต้น
  7. หน่อกล้วยกําลังงาม 4 หน่อ
  8. พานบายศรีเจ็ดชั้น 1 สํารับ
  9. ขันหมากเบ็งซ้ายขวา 1 คู่
  10. ขัน 5 เทียนเงิน 1 ขัน
  11. ขัน 8 เทียนทอง 1 ขัน
  12. คายหลัง 15 ตําาลึง
  13. คายหน้า 12 ตําาลึง
  14. สัปทน สําหรับกางให้ร่างนางสีดา
  15. วอเงิน สําหรับใส่เครื่องบวงสรวง
  16. วอทอง สําหรับเชิญร่างทรงนางสีดา
  17. ข้าทาสบริวาร ชาย-หญิง ช้าง ม้า วัว ควาย
  18. เหล้า 1 ไห กับ 2 ขวด
  19. อาหารคาวหวาน อย่างละ 2 สําารับ
  20. เงินคําพันฮ้อย (เงินหนึ่งพันบาท และเครื่องประดับเป็นทองแท้หนัก 10 บาท สําหรับให้ร่างทรงนางสีดา)

ครั้นบวงสรวงและประทับร่างทรงเสร็จ ค่อยแต่งตัวนางสีดาด้วยเครื่องทรงเฉพาะ ได้แก่ ผ้าซิ่นยกดิ้นทองแบบลาว หมวกทรงแหลมคล้ายหมวกเจ้านายยามออกศึก และอาวุธประจํากาย คือ ศร ตลอดระยะเวลาการประทับทรงจะดื่มหรือล้างอาบน้ํามะพร้าว เพราะถือว่าเป็นน้ําบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อขบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกสักกะไดลิงค์หรือนกหัสดีลิงค์แล้ว ขบวนก็จะเดินไปรอบๆ พอนกหัสดีลิงค์เห็นเช่นนั้น ก็จะหันซ้าย หันขวา งวงก็จะไขว่คว้า ตาก็จะเหลือกขึ้นลง หูก็กระพือ ปากก็จะอ้าร้องเสียงดัง พร้อมที่จะต่อสู้ เจ้าแม่สีดาก็ไม่รั้งรอ โดยร่างทรงจะแทงหอกสามครั้งที่ตัวนก แล้วเอาผ้าคลุมศีรษะนก ไปอีกก็จะกลับมายิงนกหัสดีลิงค์อีก จนนกหัสดีลิงค์หมดแรงไม่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว แผลที่ถูกยิงก็จะมีเลือดไหลออกมา

เมื่อเห็นว่า นกหัสดีลิงค์หมดกําลังแล้ว บริวาร (ขุนตูม ขุนตาม ขุนซ้ํา ขุนพลอย) ของเจ้าแม่สีดาก็จะช่วยเอาหอก หลาว แหลน เอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว แล้วจึงเผานกและฌาปนกิจไปทั้งหมด ร่างทรงและคณะต้องรีบกลับบ้านโดยทันที เพื่อทําพิธีบวงสรวงให้กับวิญญาณของนกและผู้ตาย

เมื่อพิธีฆ่านกเสร็จสิ้นก็จะเป็นพิธีทางพุทธศาสนา และเมื่อได้ประชุมเพลิงตามปกติจะทําเวลากลางคืนระหว่าง 4-5 ทุ่ม พร้อมกัน จากนั้นผ่านไปสามวัน จึงทําพิธีเก็บอัฐิและเลี้ยงลูกน้องเจ้าแม่สีดา ที่เรียกว่า งาน “กินลาบนก” โดยการบวงสรวงจะประกอบไปด้วย

  1. หัวหมู 1 ชุด
  2. ไก่ต้ม 2 ตัว
  3. มะพร้าวอ่อน 4 ลูก
  4. กล้วย 4 หวี
  5. บายศรีเจ็ดชั้น 1 สํารับ

nok hasadee link 01

แต่เดิมในเมืองอุบลราชธานีนี้ มีตำนานการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์อยู่เป็นของประจำเมือง พร้อมทั้งพงศาวดารเมือง ต่อมาทางราชการมาขอยืมไปเพื่อตรวจสอบ ทั้งตำนานเมือง ตำนานนกหัสดีลิงค์ โดยอ้างว่าจะไปเรียบเรียงใหม่ ภายหลังผู้มาขอยืมที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองชั้นสูงได้เดินทางไปปักปันดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในคราวไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายให้แก่ฝรั่งเศส แล้วป่วยไข้มาลาเรียเสียชีวิต ตำนานนี้กล่าวมาก็หายสาบสูญไป ต่อมาจึงมีแต่เพียงคำบอกเล่าของผู้ได้ปฏิบัติมา และผู้สืบทอดเชื้อสายเล่าให้ลูกหลานฟังเท่านั้น ราชประเพณีของเมืองจึงเลือนรางไปดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ ก็จะต้องมีผู้รักษา หากขาดผู้รักษาแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็หมดไปด้วย นกหัสดีลิงค์ ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ไฟพระราชทานนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ ก็เท่ากับว่าเป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานของพระมหากษัตริย์ นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น

ที่กล่าวมานี้ ก็ได้จากการที่ได้เคยพบเห็นมาแต่สมัยยังเป็นเด็ก และจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเล่าให้ฟังสืบทอดกันมาขอเอ่ยนามคือ อัญญาใหญ่นางแพง อัญญาใหญ่นาง อบ อัญญาใหญ่ท้าวจอม อัญญาเจ้าเรือนสมบูรณ์ ในฐานะที่ข้าพเจ้าผู้เล่าต่อเป็นลูก-หลานเหลน จึงขอเล่าสู่ท่านผู้อ่านได้รู้เพื่อประดับสติปัญญาสืบไป หากผิดพลาดประการใดขออภัยท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วย

nok hasadee link 03

หมายเหตุผู้เขียน (นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา)

เมื่อพิจารณาจากบทความของพี่ บำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการชั้นฎีกา เขต 4 และจากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้โดยถ่องแท้จะเห็นได้ว่า "การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์นั้น สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดิน เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติของนกที่อาศัยอยู่ในป่า ไม่มีการยกร้าน หรือยกพื้นสูงขึ้นเหมือนปัจจุบัน" เพื่อสะดวกในการเผาศพ เพื่อให้ตัวนกโดดเด่น และเพื่อความสะดวกในการทำงานต่างๆ แต่การยกร้านหรือยกพื้นให้ท้องนกสูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 1.00 - 1.20 เมตร ทำให้มองคล้ายกับว่า “นกหมอบอยู่บนพื้นไม้ หรือนกอยู่ในกรง” ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่ง “เมรุหอแก้วบนหลังนก” สมัยโบราณสร้างบนตัวนก แต่ปัจจุบันสร้างคร่อมตัวนกโดยเสาเมรุ 4 เสาตั้งอยู่นอกตัวนก เช่นเดียวกับเมรุทั่วไป ทำให้ไม่ตรงกับความหมายที่ว่า “ศพตั้ง ณ หอแก้วบนหลังนก”

ในฐานะที่พี่ บำเพ็ญ ณ อุบล และนายสุวิชช คูณผล ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการจัดสถานที่ สร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ประดับตกแต่งใน งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล เมื่อวันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ณ วัดทุ่งศรีเมือง จึงได้หารือคณะกรรมการให้มีการสร้างเมรุตามแบบโบราณ เพื่อคงความหมายดั้งเดิมไว้ โดยไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ “นกหัสดีลิงค์ ท้องนกติดกับพื้นดินตามธรรมชาตินกในป่า และเมรุหอแก้ว สร้างบนตัวนก”

คุณบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสริมความรู้เรื่องนี้ว่า "... แล้วอีกอันหนึ่ง ผมไปค้นตําราและได้เห็นภาพถ่ายตอนจะไปบรรยายประวัติเมืองต่างๆ ในภาคอิสานร่วมกับอาจารย์คนหนึ่ง (จะเป็นคนไหนผมจําไม่ได้แล้ว) เขาพูดถึงขี่นกหัสดีลิงค์ เขาว่าเมืองที่ขี่นกหัสดีลิงค์ได้มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองแสนหวีหรือเมืองเชียงรุ้ง เมืองหลวงพระบาง และเมืองอุบลฯ โดยเขาถ่ายภาพขี่นกหัสดีลิงค์มาจากเมืองหลวงพระบาง ตอนงานศพเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วเมืองอุบลฯ ก็มาขี่นก ตายแล้วจั่งขี่นก... ขี่นกหัสดีลิงค์

ภาพถ่ายขี่นกหัสดีลิงค์ที่บ้านผมมีของญาพ่อใหญ่ พระอุบลการฯ (พระอุบลการประชากิจ) ตัวสุดท้ายกว่าหมู่ สร้างที่หน้าโฮงเพิ่น สร้างแล้วก็แก่(ลาก)ไปไว้ที่วัด ไม่ได้สร้างกับวัด เกณฑ์เอาคนเบิดบ้านเบิดเมืองมาแก่ไป(ลากไป)

เขาเรียกว่า หอแก้ว แต่อุบลฯ จะมีพิสดารอย่างหนึ่งคือ เมื่อสร้างนกหัสดีลิงค์ จะต้องมีการฆ่านก ต้องมีการประทับทรง แล้วมีการประทับทรง แล้วมีธนูประจําเมือง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีธนูประจําเมืองอยู่ เขาก็เลี้ยงกันทุกปี บวงสรวงกันทุกปี เมืองสารคามเฮ็ดนกก็ต้องไปเอาแม่... เมืองเสลภูมิก็ไปเอาคนนั้น (แม่สีดา?) มายิง เขาบอกว่าลาวเป็นผู้สืบเชื้อสายฆ่านกมาแต่บรรพกาลต่อๆ กันมา นางต้นวงศ์นั้นเขาบอกว่าจะต้องเป็นนางที่มาจากตักสิลา เมืองลา... หรือจะเป็นเมืองราศีไศลก็บ่จัก ยังมีธรรมเนียมอยู่... เป็นตระกูลฆ่าอย่างเดียวขี่ไม่ได้...

ตระกูลขี่ก็มีแสนหวี หลวงพระบาง และอุบลฯ ตระกูลฆ่านกจะมีเมืองอุบลฯ ตระกูลเดียว พิธีฆ่านก จะมีการปรับปรุงตรงเครื่องบวงสรวง และมีทหารหอก ทหารง้าวแห่ คนฆ่าเขาก็ต้องแต่งเครื่องสีแดงใส่หมวกยอด ถือธนู ได้เวลาจะแห่รอบนกก่อน มีสัปทนสีแดงกั้นให้ เพราะเป็นเจ้าเหมือนกัน แต่เป็นเจ้าผู้หญิง ต้องเป็นผู้หญิง (ยิง, ญีง?) คนฆ่าต้องเป็นผู้หญิง ผู้หญิงทั้งนั้น

เวลาจะฆ่านั้นคนข้างใน (คนที่อยู่ในตัวนก) จะชักสายชัก นกมันก็ดิ้น หู ตา งวง คอ ทางนี้ก็ยิง ยิงฉับเข้าไปคนข้างในก็จะเทเลือดออกมา ยิงสามดอก นกก็จะอ่อนลง งวงก็จะม้วน คอก็จะหมุนไปข้างหลัง พอนกตายแล้ว ก็จะเอาผ้าขาวไปคลุมหัวมัน และก็เผามันไปนําศพนั่นแหละ

มีนกที่ฆ่าไม่ได้คือ นกพระเถระ มีขี่ได้คือเจ้าเมืองกับพระเถระ แต่พระเถระเขาไม่ได้ฆ่าเด๊ ที่เขาเอามาฆ่ายาคูเมืองเสล์ (เสลภูมิ) นั่นเพิ่นอยากให้ลาวมาฆ่าซื่อๆ เมื่อฆ่าแล้ว งานศพก็เรียบร้อยแล้ว

ไปถึงบ้านแม่คนทรงต้องมีการเลี้ยงอีก เขาเรียกว่า “กินลาบนก” จะไปฆ่าที่เมืองไหนก็ตาม หลังจากมื้อกลับมาฮอดบ้านแล้ว ๓ มื้อ ต้องทําพิธีฆ่านกเพื่อกินลาบนก เป็นการเลี้ยงบวงสรวงธรรมดา"

nok hasadee link 08

อนึ่ง ตามบทความ “เรื่องราวนกหัสดีลิงค์” ที่ คุณวรา ไวยหงษ์ เขียนไว้ว่า “ไม่มีคำนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525" (เนื่องจากเขียนบทความเรื่องนี้ประมาณ พ.ศ. 2538) เมื่อเปิดดูพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 1,287 มีคำว่า “หัสดีลิงค์” น.นกในวรรณคดีมีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง สรุปได้มีการอธิบายความหมายไว้ชัดเจนแล้ว (เครดิต ขอบคุณ คุณ สุวิชช คูณผล)

nok hasadee link 09

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. หลวงพ่อขี้หอม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.
สุวิชช คูณผล. ตําานานนกหัสดีลิงค์และวิธีเผาศพ. ม.ป.ท. : ม.ป.ป.
อรรถ นันทจักร์. รวมบทความว่าด้วยนกหัสดีลิงค์. มหาสารคาม : ประสานการพิมพ์, 2536.

นางสีดาฆ่า “นกหัสดีลิงค์” เมืองเกษมสีมา
รื้อฟื้นตำนาน สืบสารมรดกทางวัฒนธรรม ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

เอกสารเกี่ยวข้องให้ดาวน์โหลด

lilred

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)

เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

redline

backled1

lai rue fire header

ประวัติความเป็นมา

งานประเพณีไหลเรือไฟ หรือ งานประเพณีไหลเฮือไฟ (ในภาษาท้องถิ่น-อีสาน) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทั่วไปในหลาย จังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำ เช่น แม่น้ำมูล - ชี แม่น้ำโขง เป็นต้น การไหลเรือไฟ ในภาคอีสานนั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่มาสู่ประเทศไทย เพราะสมัยก่อนกษัตริย์ไทยยังยึดถือพิธีพราหมณ์อยู่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สมัยที่นำอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ในแถบสุวรรณภูมิ ดังพบว่าประเพณีงานบุญโดดเด่นที่จัดขึ้น ในภาคอีสานมักเกี่ยวโยงหรือผูกพันกับเรื่องของ "ไฟ" เกือบทั้งสิ้น เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา บุญบั้งไฟ พิธีไหลเรือไฟ เพราะมีความเชื่อว่า "ไฟ" เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า เทพอัคคี มีฐานะรองจากพระอินทร์ สามารถเผาผลาญสิ่งชั่วร้ายและขจัดความทุกข์ยากให้ดับสลายไปได้

lai rue fire 01

จังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดประเพณีไหลเรือไฟ เช่น จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดเลย จังหวัด นครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ  โดยงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม จัดว่าเป็นงานไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ประเพณีนี้มักจะจัดขึ้นคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันในด้านคติ ความเชื่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีก็ถูกเรียกว่า “ลอยเฮือไฟ” หรือ “ล่องเฮือไฟ “หรือ “ปล่อยเฮือไฟ” ภาษาอีสานออกเสียง "เรือ" เป็น "เฮือ" เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา) โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิพื้นที่ที่เหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางที่คล้ายกัน และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่างๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณพระแม่คงคา เป็นต้น

lai rue fire 07

เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วย และลำไม้ไผ่ ยาวเพียง 5 - 6 วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน 1 เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การประดับตกแต่งเรือไฟ ภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ 5 โมงเย็นจะเริ่มทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวด และหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบตาเลยทีเดียว 

ปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง แล้วจะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจตลอดไป มีการจัดงานไหลเรือไฟในหลายพื้นที่ เช่น

จังหวัดนครพนม และหนองคาย (มีทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำโขงเหมือนกัน) มีความเชื่อว่า เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ที่ริมฝั่งน้ำนัมทานที ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรม ในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล เมื่อพระองค์เสด็จกลับทางฝ่ายพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ ณ หาดทรายริมน้ำตามประสงค์ของพญานาค ซึ่งรอยพระบาทที่ประทับไว้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพญานาคเท่านั้น ยังเป็นที่เคารพของเหล่าเทวดาและมนุษย์ด้วย   จนแสดงออกด้วยการไหลเรือไฟบูชารอยพระพุทธบาทของพระองค์

lai rue fire 08

จังหวัดนครพนม

ได้มีการฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้น เมื่อปี 2526 โดยเทศบาลเมืองนครพนม ได้ประกาศชักชวน ส่วนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่างๆ ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ ด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือ มีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยจะประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม ส่งเข้าประกวดชิงรางวัล ต่อมาการทำเรือไฟมีวิธีตกแต่งให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น รู้จักนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า มาประกอบ ทำให้สามารถดัดแปลงเรือไฟให้มีรูปร่างแปลกตาออกไปอีก ทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน แต่ละคุ้มวัดจะเตรียมจัดทำเรือไฟไว้ล่วงหน้าหลายวัน

lai rue fire 05

โดยนำเอาต้นกล้วยทั้งต้นมาเสียบไม้ต่อกันให้ยาว หลายวา วางขนานกันสองแถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วนำไม้ไผ่เรียวยาวมาผูกไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีระยะห่างกันคืบเศษวางราบพื้น มัดด้วยลวดให้แน่นและแข็งแรง เพื่อรอการออกแบบภาพบนแผง ผู้ออกแบบแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างสวยงามที่สุด เช่น ประดิษฐ์เป็นเรื่องราวตามพระพุทธประวัติ หรือสัตว์ในตำนานบ้าง เป็นพญานาค ครุฑ หงส์ เป็นต้น แล้วนำไปปักติดเป็นเสาบนแพหยวกกล้วย ในอดีตเชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟนั้นใช้น้ำมันยาง กระบอกขี้ผึ้งสี น้ำมันพร้าว, น้ำมันสน, น้ำมันยาง ที่เจาะสกัดจากต้นยางตะแบกชาด แล้วเอาไฟลนให้น้ำมันไหลออกมา

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นน้ำมันก๊าดหรือ น้ำมันดีเซล บรรจุในขวดน้ำดื่มต่างๆ แล้วนำมาแขวนตามโครงเรือ ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ เพราะถ้าติดกันมากเกินไปจะทำให้เรือไหม้ไฟได้ ส่วนโครงเรือเป็นไม้ไผ่มีขนาดใหญ่ และเน้นความวิจิตรตระการตา เมื่อปล่อยเรือไฟลงน้ำโขงแล้ว จะมีความวิจิตรตระการตา สว่างไสวไปทั่วริมฝั่งแม่น้ำโขง อวดโฉมระยิบระยับมีฉากหลังเป็นสีดำจากท้องฟ้าในยามค่ำคืน และแสงที่สะท้อนจากท้องน้ำเพิ่มความงดงามมากยิ่งขึ้น

lai rue fire 06

เรือที่ทำในปัจจุบันมีมาจากคุ้มวัดต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครพนม มีการออกแบบที่สวยงาม มีเรื่องราว และดูเหมือนจริง เช่น รูปพระธาตุพนม ก็มีการออกแบบมาให้เหมือนจริงเป็น 3 มิติ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ถ้าคุ้มไหนชนะก็ถือเป็นหน้าเป็นตา และมีเงินรางวัล ประชาชนในจังหวัดจะร่วมมือกันเป็นอย่างดี ในการช่วยเหลือกัน เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟ ในช่วงเช้าจะประกอบการกุศล ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวาย ภัตตาหาร และเลี้ยงดูกัน ตกตอนบ่ายก็ตกแต่งเรือ และมีการเล่นสนุกสนานต่างๆ ตอนเย็นมีการสวดมนต์ รับศีลและฟังเทศน์ พอตอนค่ำระหว่าง 19.00 - 20.00 น. จึงนำเรือออกไปลงน้ำและพิธีไหลเรือไฟก็เริ่มขึ้น

 

จังหวัดหนองคาย

การประดิษฐ์เรือไฟและพิธีการ มีความคล้ายคลึงกับทางจังหวัดนครพนมเป็นอย่างมาก แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไป คือ เมื่อมีการทำบุญและฟังเทศน์จบแล้ว ก็จะมีการร้องรำทำเพลงฉลองเรือไฟ พอเวลาค่ำชาวบ้านจะนำของกินของใช้ เช่น ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย ฝ้าย ผ้าไหม หมากพลู บุหรี่ ใส่กระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้นได้เวลาก็จุดไต้ หรือคบเพลิงในเฮือไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนบูชา และคารวะแม่คงคา เสร็จแล้วนำเอาธูปเทียนไปวางไว้ในเรือไฟ เมื่อบูชากันหมดทุกคน จึงปล่อยเรือไฟออกจากฝั่งให้ลอยไปตามลำน้ำ พอรุ่งเช้าเรือไฟไปติดที่ฝั่งไหนก็จะมีคนไปเก็บของออก จากเรือไฟ การล่องเรือไฟจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

lai rue fire 02

นอกจากการลอยเรือไฟ ขณะเดียวกันที่หนองคายมีการลอยกระทง โดยใช้หยวกกล้วยทั้งต้นมาต่อกัน มีไม้เสียบ ยาวหลายวา วางขนานกัน 2 แถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วปักเสาบนหยวก กล้วยเป็นระยะบนปลายเสา สร้างเป็นรูปพญานาค แล้วเอาผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้บางๆ เป็น ระยะๆ หรือไม่ก็ใช้จุดด้วยไต้ หัวหยวกกล้วยเท่ากับเป็นทุ่น วัดในตำบลหนึ่งๆ ทำกระทงอย่างนี้กระทงหนึ่ง แล้วลากไปไว้เหนือน้ำ จอดอยู่ริมฝั่งทั้งสองข้าง เวลาเย็นชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำพากันลงเรือไปชุมนุม กันร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน พอได้เวลากลางคืนก็จุดไต้ที่กระทงเอาเชือกลากไปที่กลางน้ำ แล้วปล่อยให้ลอยไป ในกระทงมีอาหาร เสื้อผ้าของใช้ต่างๆ เมื่อเห็นลอยไปพ้นหมู่บ้านแล้วก็พากันกลับ คนที่ยากจนที่อยู่ปลายน้ำก็จะเก็บกระทงไป

แต่ในปัจจุบัน การลอยกระทงมิได้บรรจุอะไร นอกจากดอกไม้ธูปเทียน แล้วเรียกลอยกระทง นี้ว่า "การไหลเรือ" และต่างคนต่างลอย มิได้ลอยร่วมกัน เมื่อลอยไปแล้ว ผู้ที่อยู่ใต้น้ำมักจะเก็บไต้ที่จุดไปในกระทงไปเสีย ทำให้กระทงที่จุดไต้สว่างสวย ลอยอยู่ในน้ำได้ไม่นาน

นอกจากหนองคายมีการไหลเรือและลอยกระทงแล้ว ก็มีการแข่งเรือในแม่น้ำโขงในวันรุ่งขึ้น อีกด้วย

lai rue fire 03

จังหวัดอุบลราชธานี

งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวอุบลฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากบุคคล สำคัญ 3 คน คือ

  • นายคูณ ส่งศรี อายุ 73 ปี ถึงแก่กรรม 2490
  • นายโพธิ์ ส่งศรี อายุ 94 ปี ถึงแก่กรรม 2523
  • นายดวง ส่งศรี อายุ 83 ปี ถึงแก่กรรม 2516

ท่านทั้ง 3 เป็นพี่น้องกัน เป็นศรัทธาวัดทุ่งศรีเมือง ได้ประกอบพิธีไหลเรือไฟ โดยเอาถังประทีปที่ชาวบ้านมาจุดบูชาที่วัด ไปลอยที่แม่น้ำมูลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ต่อมาได้พัฒนาจากถังประทีป มาเป็นเรืออย่างเช่นที่อื่นๆ และมาในช่วงที่ทหารอเมริกันมาประจำที่ฐานบินจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา มีการใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ทำทุ่นและใช้ไม้ไผ่เป็นลำมาติดถังที่เคยเป็นรูปเรือ ก็ปรากฏเป็นรูปอื่น

lai rue fire 09

จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อว่า

  • เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท
  • เป็นการบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อันได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนา-คมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอาริยเมตไตร- เป็นการบูชาคุณแม่โพสพ คือ บูชาพานข้าว
  • เป็นการบูชาประทีปตามประเพณี
  • เป็นการบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในความเชื่อเรื่อง การบูชาบรรพบุรุษ หรือพกาพรหม ปรากฏตามนิทานชาวบ้านที่เล่าสืบต่อ กันมาว่า

    ครั้งหนึ่งมีกาเผือกสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ ใกล้กับฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัว ผู้บินจากรังไปหากินเผอิญหลงทางกลับรังไม่ได้ จึงบินกระเจิดกระเจิงหายไป กาตัวเมียที่กำลังกกไข่อยู่ 5 ฟอง คอยกาตัวผู้ไม่เห็นกลับจึงกระวนกระวายใจ อยู่มาวันหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดรังกาพังไข่ทั้ง 5 ฟอง ตกลงในแม่น้ำ ส่วนแม่กาถูกพัดพาไปอีกทางหนึ่ง ครั้นลมสงบบินกลับมาที่รังพบว่า รังถูกพายุพัดพังและไข่ ทั้ง 5 ฟองหายไปหมด จึงเสียใจจนตายไป และไปเกิดใหม่ในพรหมโลก ชื่อท้าวพกาพรหม

    ส่วนไข่ทั้ง 5 ฟอง มีผู้นำไปรักษาไว้ดังนี้ ฟองแรกแม่ไก่เอาไป ฟองที่ 2 แม่นาคเอาไป ฟองที่ 3 แม่เต่าเอาไป ฟองที่ 4 แม่โคเอาไปและฟองสุดท้ายแม่ราชสีห์เอาไป ครั้นเมื่อไข่ครบกำหนดฟักแตกออกมากลับเป็นมนุษย์ไม่ใช่ลูกกาตามปกติ ครั้นเมื่อลูกกาทั้ง 5 โตเป็นหนุ่มเห็นโทษของการเป็นฆราวาส และเห็นถึงอานิสงส์แห่งการบรรพชา จึงได้ลามารดาเลี้ยงออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 ได้มาพบกันจึงได้ไต่ถามเรื่องราวของกันและกัน และพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้เป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดาด้วย

    แรงอธิษฐานครั้งนั้นได้ร้อนไปถึงท้าวพกาพรหม และเสด็จจากพรหมโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือกบินมาเกาะบนต้นไม้ ตรงหน้าฤาษีทั้ง 5 และเล่าเรื่องเดิมให้ฟัง และกล่าวว่า "ถ้าคิดถึงแม่ เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 11 และเดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกาปักธูป เทียนบูชา ลอยกระทงในแม่น้ำเถิด ทำอย่างนี้เรียกว่า คิดถึงแม่" เมื่อบอกเสร็จท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป จนกลายมาเป็นที่มาของการลอยกระทงและไหลเรือไฟ

จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อว่า เป็นการเซ่นสรวงพญานาค ซึ่งสิงสถิตตามแม่น้ำลำคลอง ให้คุ้มครองผู้ที่สัญจรไปมาทางน้ำ ไม่ให้มีภัยอันตรายเข้ามากล้ำกราย 

lai rue fire 10

จังหวัดเลย มีความเชื่อว่า  เป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ บูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์พิภพ เพื่อแสดงพระสักธรรมเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์ (บทที่ใช้สวดในงานศพ) เพื่อโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือ บันไดทองอยู่เบื้องขวา เป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดา บันไดเงินเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม ส่วนบันไดแก้วเป็นทางเสด็จพระพุทธเจ้า หัวบันได อยู่ยอดเขาพระสิเนรุราช ทรงแสดง "โลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์" คือ เปิดโลกโดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหม โลก เบื้องต่ำสุดถึงอเวจีนรก และทิศต่างๆ ทั้งแปดทิศโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาล และเห็นเป็นลานกว้างอันเดียวกัน ทำให้สวรรค์ มนุษย์ นรกแลเห็นกันและกัน จึงเรียกวันนี้ว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จ มา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั่นเรียกว่า "อจลเจดีย์" ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็ถือเป็นการสักการะบูชาอย่างหนึ่งในวันนั้น 

กำหนดจัดงาน

งานประเพณีไหลเรือไฟจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ระหว่างขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ของทุกปี

lai rue fire 04

 

redline

backled1

 

candle festival header

redline

 กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

candle festival 007

ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

านประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน เอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น

candle festival 010

ส่วนการจัดขบวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายของขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็นเครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอยกันทุกปี คอยดูว่า ชุมชนใดจะนำเอาของดีๆ มาอวดประชันกันในงานนี้

candle festival 012

ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบสัมมาอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ]

candle festival 011

งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่น หนุ่ม-สาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทางวัดในการแกะสลัก ทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตรพิศดาร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล

candle festival 013

เหมิดที่บุญคนเฒ่าสกุลวงศ์ตกต่ำ สมัยใหม่ มาปล้ำสกุลเฒ่าแตกกระเด็น
คือบ่ตามครอง เฒ่าโบราณเฮามันลำบาก มันสิทุกข์ยากย้อน ทอนท้ออยู่บ่ดี "

สุภาษิตอีสานบทนี้ บอกให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ดีงาม ที่ชุมชนถือปฏิบัติร่วมกัน เป็นวัฒนธรรมที่ดีของชุมชนมาแต่อดีต หากไม่รักษาไว้ให้คงอยู่ ปล่อยให้วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ชุมชน ของเราจะอยู่เป็นสุขได้อย่างไรกัน

candle festival 014
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

มายเหตุปิดท้าย : วันนี้ผมย้อนนึกไปถึงสมัยเมื่อยังเป็นเด็กเรียนชั้นประถมศึกษา งานแห่เทียนพรรษายังแยกกันทำในแต่ละท้องที่ (จัดแยกกันในแต่ละอำเภอ) ไม่ใช่งานใหญ่อย่างนี้ ต้นเทียนเกิดจากใจศรัทธาของญาติโยม ที่ซื้อเทียนเหลืองเล่มใหญ่นำมามัดรวมกันรอบแกนไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหรือด้าย หุ้มด้วยการตัดกระดาษเงินกระดาษทองเป็นลวดลาย ตั้งบนเกวียนแห่ไปรอบหมู่บ้าน แล้วนำถวายที่คุ้มวัดใกล้บ้าน ประโยชน์ของเทียนนั้นยังคงสมบูรณ์เต็มร้อย พระเณรได้แกะเทียนเล่มเล็กเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ตลอดพรรษา แต่วันนี้เทียนเล่มใหญ่ที่แกะสลักวิจิตรงดงามนั้น หลังจากผ่านการแห่แหนรอบเมืองแล้ว กลับถูกปล่อยปละละเลยให้ฝุ่นเกาะจนครบขวบปีจึงจะถูกปัดฝุ่นนำมาบูรณะใหม่อีกครั้ง

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน สืบสายลายเทียน

พ.ศ.นี้ เราลองมาเปลี่ยนจาก เทียนเล่มใหญ่ เป็น หลอดฟลูออเรสเซนต์ กันดีไหมนะ? ถวายต้นเทียนแล้ว พระท่านยังจะได้ใช้ประโยชน์จากหลอดไฟเหล่านั้นได้ ทุกวันนี้พอถึงฤดูเข้าพรรษา ผมและครอบครัวก็จะถวายหลอดไฟฟ้า กับปัจจัยสำหรับเป็นค่ากระแสไฟฟ้าเข้าท่ากว่ากันเยอะครับ หลบจากกระพี้เอาแก่นของความจริงกันดีไหมครับ ไม่ทราบจะทิ่มแทงใจใครบ้างก็ไม่ทราบนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเข้าท่ากว่าการทำงานประเพณี กระพี้ของต้นเทียนกันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังอย่างในปัจจุบันนี้

candle festival 009

มองอดีตผ่านปัจจุบันแห่เทียนพรรษา

ารนำเสนอเรื่องเทียนพรรษาผ่านมาหลายปีครับ เมื่อวานนี้ (เขียนเมื่อ : 13 กรกฎาคม 2546) ได้ร่วมเดินชมต้นเทียนที่นำมาตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชม บริเวณรอบทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี สัมผัสกับบรรยากาศของความอลังการ และตื่นตาตื่นใจของต้นเทียน และผู้คนต่างถิ่น ที่ต่างก็กล่าวขวัญถึงความวิจิตรพิสดารของการแกะสลักลวดลายลงบนขี้ผึ้ง การติดลายอันวิจิตรลงบนลำเทียนและส่วนประกอบต่างๆ

candle festival 015

ต่สำหรับคนพื้นถิ่นอย่างผม กลับมองเห็นอีกภาพหนึ่งที่หดหู่ใจยิ่ง จากการจัดงานประเพณีที่ไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างนี้ ที่นับวันจะยิ่งห่างไกลออกไปทุกที เพราะการขายประเพณีเป็นสินค้าหลัก และไม่ยอมถามคนพื้นถิ่นว่า แก่นของประเพณีนี้ที่แท้จริงคืออะไร ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านได้แต่บ่นเสียดายความงดงามของประเพณีที่สูญหาย พูด(เขียน)อย่างนี้บางท่านอาจจะงงๆ อยู่ ลองมาไล่เรียงกันเป็นข้อๆ ดูซิครับ

การจัดทำต้นเทียน

มูลค่ามหาศาลของการจัดทำต้นเทียน ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี (ในปีนี้ต้นเทียนระดับรางวัลชนะเลิศนั้น อยู่ที่หลักสองแสนบาทขึ้นไป) ส่วนที่หนึ่งนั้น มาจากค่าขี้ผึ้งแท้ (ผึ้งบริสุทธิ์) ที่จะต้องนำมาผสมกับเทียนเก่าในปีที่แล้ว (ที่แห้งแข็ง เปราะ ร่อน) เพื่อให้มีความเหนียวเพียงพอจนสามารถแกะสลัก หรืออัดลงแบบพิมพ์ เพื่อให้เกิดลายได้ ในอัตราส่วนตั้งแต่ 40% ขึ้นไป ในขณะที่ต้นเทียนนี้ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมระหว่างเข้าพรรษาได้เลย (ไม่ได้ถูกนำไปจุดเป็นเทียนจำนำพรรษาตลอด 3 เดือน ดังที่เคยมีมาในอดีต ด้วยความใหญ่โตมโหราฬจนยกเข้าไปในพระอุโบสถไม่ได้ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้จุดไฟได้ แกนกลางเป็นท่อนเหล็กหุ้มด้วยปูนพลาสเตอร์ให้มั่นคง)

candle festival 008

ส่วนที่สอง เป็น "ค่าจ้างช่างทำเทียน" เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องทุ่มเทจิตใจแข่งกับเวลาอันจำกัด เพียงระยะเวลาหนึ่งเดือน (ใช้ช่างฝีมือทีมละประมาณ 15 - 25 คน) เท่าที่ทราบค่าจ้างอยู่ระหว่าง 80,000 ถึง 120,000 บาท (ถ้าเทียบกับเนื้องานแล้วไม่มาก) เราจึงได้เห็นส่วนประกอบของต้นเทียน (บรรดารูปปั้นองค์ประกอบรอบๆ ต้นเทียน เป็นเรื่องราวต่างๆ) วิจิตรตระการตากว่าลำต้นเทียน เพื่อแลกกับรางวัลที่หนึ่งประมาณหนึ่งแสนบาท (เงินรางวัลที่ได้รับน้อยกว่าการลงทุนทำต้นเทียนเกินครึ่ง)

candle festival 016

ถ้าต้องการรักษาประเพณีและประหยัดค่าใช้จ่าย ตามความเห็นที่ผมสรุปมาจากการพูดคุยกับผู้เฒ่า ผู้แก่ ตามคุ้มวัดต่างๆ ก็คือ เราจะต้องหันมาส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝีมือของชาวบ้าน พระ-เณร ด้วยการทำต้นเทียนแบบโบราณที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และก็พิสูจน์ได้จากความชื่นชมที่นักท่องเที่ยวมีต่อต้นเทียนวัดหนองปลาปากในปีนี้ (รูปด้านบน ปี 2546)

นี่คือฝีมือของชุมชนพื้นถิ่น ที่ทำต้นเทียนเพื่ออนุรักษ์ประเณีอันดีงาม อย่างแท้จริง ต้นทุนต่ำ และใช้ประโยชน์คุ้มค่าจากต้นเทียน ที่นำเทียนเป็นเล่มๆ มาผูกมัดรวมกัน (หลังการแห่นำกลับไปจุดในพิธีกรรมเข้าพรรษาได้) ตกแต่งด้วยใบตอง และพานบายศรีอันวิจิตรงดงาม น่าทึ่งมากๆ ครับ

candle festival 015

และข้อมูลล่าสุดคือ มีเทศกาลงานแห่เทียนพรรษาที่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะจัดงานขึ้นก่อนในตัวจังหวัดอุบลราชธานี 1 วัน ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ แก่งสะพือ จะเป็นการอนุรักษ์การจัดเทียนพรรษาแบบโบราณ ดังรูปประกอบด้านบนและล่างนี้ งดงามมากครับ

แห่เทียนพรรษาแบบโบราณ อำเภแพิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี

candle festival 017
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

การจัดแสดงต้นเทียน

ปีนี้ (2546) เป็นปีที่น่าเศร้าใจจริงๆ ครับ บริเวณรอบๆ ต้นเทียนเราน่าจะได้ยืนชมต้นเทียนด้วยความสะดวกสบาย ทางเดินที่กว้างขวางรองรับนักท่องเที่ยว แต่โดนยึดพื้นที่ด้วยบรรดาหาบเร่แบกะดินเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ช่องว่างระหว่างต้นเทียนแต่ละต้น มองไปที่ริมฟุตบาทเจอป้ายประกาศ ห้ามวางหาบเร่แผงลอย ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท ตรงป้ายไม่มีใครวางจริงๆ ครับ แต่ที่อื่นๆ วางกันเพียบไม่เห็นมีใครมาปรามหรือจับปรับเลย (ป้ายมันจับไผบ่เป็นเด้อ แล้วผู้ขายกะบ่อ่านป้าย หรืออ่านบ่ออก หรืออ่านออกแต่หน้ามึน กะบ่ฮู้คือกัน)

candle festival 018

ผมอนาถใจไปกว่านั้นอีกคือ ความไม่เท่าเทียมกันของบริเวณจัดวางต้นเทียน ไฟแสงสว่างทางจังหวัดหรือเทศบาลน่าจะจัดให้กับทุกๆ วัดเท่าเทียมกัน บางวัดด้วยความตั้งใจนำต้นเทียนมาจากต่างอำเภอด้วยอยากสนับสนุนการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเลย (ปล่อยให้อยู่ในมุมมืดมากทางด้านมุมทุ่งศรีเมืองใกล้ศาลจังหวัด) บางท่านนึกว่าหมดต้นเทียนแล้วเลยไม่เดินไปดูด้วยซ้ำ ปีหน้าจะมาหรือไม่หนอ?

ขบวนแห่

เรื่องขบวนแห่นี้ขอมองต่างมุมหน่อยนะครับ การให้สถานศึกษาจัดขบวนแห่ ฟ้อนรำสวยงามก็ดีอยู่หรอกครับ แต่อยากให้มีขบวนแห่พื้นบ้าน ที่แตกต่างด้วยใจศรัทธาต่อคุ้มวัดของเขาเองบ้างจะดีไหม? ทำไมต้องกำหนดด้วยว่า ขบวนนี้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหายไปดื้อๆ อย่างน่าเสียดายนะครับ สถานศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่จำนวนผู้แสดง ความอลังการของชุดที่สวมใส่ การร่ายรำที่ผู้ฝึกสอนถนัด ไม่มีการค้นคว้าประยุกต์เอาศิลปะการฟ้อนพื้นฐิ่นมาใช้เลย นี่ก็น่าเสียดายครับ

candle festival 019

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์จัดงาน รู้สึกจะทุ่มเทกันมากไปด้วยป้ายที่ติดรอบๆ ทุกมุมเมือง จนนึกไปว่า นี่เขาจะจัดงานแสดงสินค้าโรงงานอุตสาหกรรมกันหรือไร? ทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำเมา บะหมี่หลากรส ก็ไม่ว่ากัน ถ้าคุณจะช่วยประดับธงทิวธรรมจักรที่แสดงว่า จะมีงานประเพณีทางพุทธศาสนาให้มากกว่านี้ (เท่าที่ผมตระเวณไม่มีสักผืนครับแม้แต่รอบๆ งาน)

ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นก็คือ วันอาสาฬหบูชา ทางราชการรณรงค์ให้เลิกดื่มเหล้า และน้ำเมาทั้งหลาย (รวมร้านอาหาร คาราโอเกะ) แต่แทบไม่เชื่อสายตาว่า รอบๆ บริเวณงานมีร้านขายเครื่องดื่มรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ สัตว์ป่าขนาดใหญ่ และยี่ห้อที่แชมป์โลกเสียมวยขายกันเกลื่อนงาน (ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง น่าเกลียดที่สุดด้วย ผิดทั้งสามัญสำนึกและกฎหมายแต่ไม่มีใครสนใจ)

หลังจากตระเวณรอบๆ งานก็ขอฝากภาพที่ผมได้เก็บไว้บางส่วนให้ท่านได้ชื่นชมกันครับ ปีหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็ได้

candle festival 020

ก็คงจะเป็นบทเรียนให้กับผู้จัดงานในปีต่อๆ ไปครับ ผมไม่อยากให้ต้นเทียนพรรษาถูกกล่าวถึง เฉพาะในงานเทศกาลนี้เท่านั้น อยากให้มีแหล่งเก็บรวบรวมคุณค่าของเทียนพรรษา ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชื่นชมได้ทุกเมื่อ ที่มาเยือนอุบลราชธานี ...

candle festival 021

หมายเหตุปิดท้าย

ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีหลายจังหวัดเลยทีเดียว ที่ได้ริเริ่มจัดให้มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาขนาดใหญ่ เพื่อเน้นไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก  วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นเรื่องรอง (หรืออาจจะไม่คิดถึงเลยก็มีมั๊ง) อย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี ถึงกับมีการวางเงินมัดจำจ้าง ช่างทำเทียนจากอุบลราชธานี ไว้ล่วงหน้าเป็นรายปีเลยทีเดียว ก็ทำให้กระจายรายได้แก่ ช่างรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ได้ไปสร้างผลงานในต่างถิ่นจนเป็นที่รู้จัก แต่ผู้จัดการงานประเพณีนี้ ลองย้อนหวนกลับคิดถึง รากเหง้า ประเพณี ภูมิปัญญา ของบ้านเกิดตัวเองกันบ้างดีไหมครับ ผมว่า "มันน่าจะมีอะไรซ่อนคุณค่าไว้อยู่ ถ้าเราจะค้นหานำมันออกมาแสดงต่อชุมชน"

 

 กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

redline

backled1

 

candle festival header

candle festival 001

กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษาอุบลราชธานี

กำเนิดเทียนพรรษา

าสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ

แต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็กๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

วิวัฒนาการของเทียนพรรษา

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับใช้จุดในโบสถ์ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มให้ร้อน จนละลาย เอาขี้ผึ้งไปฟั่นอบเส้นฝ้ายเป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็กๆ หลายๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา

candle bw 01
ภาพขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดในอดีต

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันบนแกนไม้ไผ่ ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่างๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน (ตรงเชือกที่มัดต้นเทียน) ให้ดูสวยงาม ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นานขึ้น โดยการใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐานไม้ และจัดขบวนแห่ต้นเทียนไปถวายพระที่วัด

การตกแต่งต้นเทียนเริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟ หรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผลฟักทอง นำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออกจากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามก่อนนำไปติดที่ต้นเทียน

candle festival 002

เมื่อปี พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์   ส่งศรี   เริ่มทำลายไทยไปประดับบนต้นเทียน โดยมีการทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัวไปกดลงบนแม่พิมพ์ก็จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน

ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เมื่อส่งเทียนเข้าประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นให้เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

candle festival 003

ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลวดลายลงในต้นเทียนพรรษาเป็นคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และคณะ กรรมการตัดสินให้ต้นเทียนแบบแกะสลักนี้ชนะเลิศในการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสินขึ้น ทำให้ในปีต่อๆ มามีการแยกประเภทของต้นเทียนพรรษา ออกเป็น 2 ประเภทให้ชัดเจน คือ

    1. ประเภทติดพิมพ์ (ตามแบบเดิม)
    2. ประเภทแกะสลัก

    candle festival 022

    การทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ในส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็นประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ จันทร์วิจิตร และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้อง นับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างแท้จริง

    รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ลายเทียน

    กำเนิดงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี 

    อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอาจารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมืองอุบลราชธานี เป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุกหัวเมืองในภาคอีสาน

    เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าวร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวยกว่าวัดอื่นๆ

    candle festival 006

    ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มี "การประกวดเทียนพรรษา" ก่อน แล้วจึงค่อยนำไปแห่รอบเมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัดได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

    จากงานประจำปีท้องถิ่นสู่งานประเพณีระดับชาติ

    การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัด ก็จัดตกแต่งต้นเทียนของวัดตนให้สวยงาม นำมารวมกันที่บริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อประกวดแข่งขันกัน จากงานของชาวบ้าน ก็พัฒนามาสู่การสนับสนุนอย่างจริงจังจาก ส่วนราชการ พ่อค้า ห้างร้านเอกชน ร่วมกับประชาชน ทายกทายิกาคุ้มวัดต่างๆ และใน ปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ในขณะนั้น) มาสังเกตการณ์ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยเฉพาะในปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541-2542) งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็น 1 ในงานประเพณีที่ถูกโปรโมตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ

    เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (รัชการที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "เทียนหลวง" มาเป็นเทียนนำชัยขบวนแห่ แล้วจึงนำไปถวายยังอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี หมุนเวียนไปเป็นประจำทุกปี

    candle festival 005

    งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน ทำการตกแต่งให้สวยงาม จัดให้มีขบวนแห่ฟ้อนรำประกอบการแห่รอบเมือง ให้ปรากฎแก่สายตาของชาวบ้านทุกคน ทำการตัดสินการประกวดทั้งตัวต้นเทียน นางงามประจำต้นเทียน และขบวนแห่ ก่อนจะแยกย้ายนำไปถวายวัดให้ใช้ประโยชน์ต่อไป

     

    ศาสตรศึกษา : สืบสานงานพุทธศิลป์ แห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

     กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

    redline

    backled1

     

    isan word tip

    isangate net 345x250

    ppor blog 345x250

    adv 345x200 1

    นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

    ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)