foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

lai rue fire header

ประวัติความเป็นมา

งานประเพณีไหลเรือไฟ หรือ งานประเพณีไหลเฮือไฟ (ในภาษาท้องถิ่น-อีสาน) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทั่วไปในหลาย จังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำ เช่น แม่น้ำมูล - ชี แม่น้ำโขง เป็นต้น การไหลเรือไฟ ในภาคอีสานนั้นเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่มาสู่ประเทศไทย เพราะสมัยก่อนกษัตริย์ไทยยังยึดถือพิธีพราหมณ์อยู่ โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สมัยที่นำอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ในแถบสุวรรณภูมิ ดังพบว่าประเพณีงานบุญโดดเด่นที่จัดขึ้น ในภาคอีสานมักเกี่ยวโยงหรือผูกพันกับเรื่องของ "ไฟ" เกือบทั้งสิ้น เช่น งานแห่เทียนเข้าพรรษา บุญบั้งไฟ พิธีไหลเรือไฟ เพราะมีความเชื่อว่า "ไฟ" เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า เทพอัคคี มีฐานะรองจากพระอินทร์ สามารถเผาผลาญสิ่งชั่วร้ายและขจัดความทุกข์ยากให้ดับสลายไปได้

lai rue fire 01

จังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดประเพณีไหลเรือไฟ เช่น จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดเลย จังหวัด นครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ  โดยงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม จัดว่าเป็นงานไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ประเพณีนี้มักจะจัดขึ้นคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันในด้านคติ ความเชื่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีก็ถูกเรียกว่า “ลอยเฮือไฟ” หรือ “ล่องเฮือไฟ “หรือ “ปล่อยเฮือไฟ” ภาษาอีสานออกเสียง "เรือ" เป็น "เฮือ" เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา) โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิพื้นที่ที่เหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางที่คล้ายกัน และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อต่างๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับการบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ความเชื่อในการเอาไฟเผาความทุกข์ ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและระลึกถึงพระคุณพระแม่คงคา เป็นต้น

lai rue fire 07

เรือไฟในสมัยโบราณนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย โดยทำจากต้นกล้วย และลำไม้ไผ่ ยาวเพียง 5 - 6 วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน 1 เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ พอที่จะทำให้ลอยน้ำได้ การประดับตกแต่งเรือไฟ ภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ 5 โมงเย็นจะเริ่มทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวด และหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบตาเลยทีเดียว 

ปัจจุบันได้จัดทำเรือไฟรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ประกอบในการจัดทำ และประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วง แล้วจะเป็นภาพที่งดงามและติดตาตรึงใจตลอดไป มีการจัดงานไหลเรือไฟในหลายพื้นที่ เช่น

จังหวัดนครพนม และหนองคาย (มีทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำโขงเหมือนกัน) มีความเชื่อว่า เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ที่ริมฝั่งน้ำนัมทานที ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรม ในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล เมื่อพระองค์เสด็จกลับทางฝ่ายพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ ณ หาดทรายริมน้ำตามประสงค์ของพญานาค ซึ่งรอยพระบาทที่ประทับไว้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพญานาคเท่านั้น ยังเป็นที่เคารพของเหล่าเทวดาและมนุษย์ด้วย   จนแสดงออกด้วยการไหลเรือไฟบูชารอยพระพุทธบาทของพระองค์

lai rue fire 08

จังหวัดนครพนม

ได้มีการฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟขึ้น เมื่อปี 2526 โดยเทศบาลเมืองนครพนม ได้ประกาศชักชวน ส่วนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และชาวคุ้มวัดต่างๆ ช่วยกันประดิษฐ์เรือไฟ ด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือ มีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยจะประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม ส่งเข้าประกวดชิงรางวัล ต่อมาการทำเรือไฟมีวิธีตกแต่งให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น รู้จักนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า มาประกอบ ทำให้สามารถดัดแปลงเรือไฟให้มีรูปร่างแปลกตาออกไปอีก ทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน แต่ละคุ้มวัดจะเตรียมจัดทำเรือไฟไว้ล่วงหน้าหลายวัน

lai rue fire 05

โดยนำเอาต้นกล้วยทั้งต้นมาเสียบไม้ต่อกันให้ยาว หลายวา วางขนานกันสองแถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วนำไม้ไผ่เรียวยาวมาผูกไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีระยะห่างกันคืบเศษวางราบพื้น มัดด้วยลวดให้แน่นและแข็งแรง เพื่อรอการออกแบบภาพบนแผง ผู้ออกแบบแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างสวยงามที่สุด เช่น ประดิษฐ์เป็นเรื่องราวตามพระพุทธประวัติ หรือสัตว์ในตำนานบ้าง เป็นพญานาค ครุฑ หงส์ เป็นต้น แล้วนำไปปักติดเป็นเสาบนแพหยวกกล้วย ในอดีตเชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟนั้นใช้น้ำมันยาง กระบอกขี้ผึ้งสี น้ำมันพร้าว, น้ำมันสน, น้ำมันยาง ที่เจาะสกัดจากต้นยางตะแบกชาด แล้วเอาไฟลนให้น้ำมันไหลออกมา

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นน้ำมันก๊าดหรือ น้ำมันดีเซล บรรจุในขวดน้ำดื่มต่างๆ แล้วนำมาแขวนตามโครงเรือ ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ เพราะถ้าติดกันมากเกินไปจะทำให้เรือไหม้ไฟได้ ส่วนโครงเรือเป็นไม้ไผ่มีขนาดใหญ่ และเน้นความวิจิตรตระการตา เมื่อปล่อยเรือไฟลงน้ำโขงแล้ว จะมีความวิจิตรตระการตา สว่างไสวไปทั่วริมฝั่งแม่น้ำโขง อวดโฉมระยิบระยับมีฉากหลังเป็นสีดำจากท้องฟ้าในยามค่ำคืน และแสงที่สะท้อนจากท้องน้ำเพิ่มความงดงามมากยิ่งขึ้น

lai rue fire 06

เรือที่ทำในปัจจุบันมีมาจากคุ้มวัดต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดนครพนม มีการออกแบบที่สวยงาม มีเรื่องราว และดูเหมือนจริง เช่น รูปพระธาตุพนม ก็มีการออกแบบมาให้เหมือนจริงเป็น 3 มิติ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ถ้าคุ้มไหนชนะก็ถือเป็นหน้าเป็นตา และมีเงินรางวัล ประชาชนในจังหวัดจะร่วมมือกันเป็นอย่างดี ในการช่วยเหลือกัน เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟ ในช่วงเช้าจะประกอบการกุศล ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวาย ภัตตาหาร และเลี้ยงดูกัน ตกตอนบ่ายก็ตกแต่งเรือ และมีการเล่นสนุกสนานต่างๆ ตอนเย็นมีการสวดมนต์ รับศีลและฟังเทศน์ พอตอนค่ำระหว่าง 19.00 - 20.00 น. จึงนำเรือออกไปลงน้ำและพิธีไหลเรือไฟก็เริ่มขึ้น

 

จังหวัดหนองคาย

การประดิษฐ์เรือไฟและพิธีการ มีความคล้ายคลึงกับทางจังหวัดนครพนมเป็นอย่างมาก แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไป คือ เมื่อมีการทำบุญและฟังเทศน์จบแล้ว ก็จะมีการร้องรำทำเพลงฉลองเรือไฟ พอเวลาค่ำชาวบ้านจะนำของกินของใช้ เช่น ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย ฝ้าย ผ้าไหม หมากพลู บุหรี่ ใส่กระจาดบรรจุไว้ในเรือไฟ ครั้นได้เวลาก็จุดไต้ หรือคบเพลิงในเฮือไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนบูชา และคารวะแม่คงคา เสร็จแล้วนำเอาธูปเทียนไปวางไว้ในเรือไฟ เมื่อบูชากันหมดทุกคน จึงปล่อยเรือไฟออกจากฝั่งให้ลอยไปตามลำน้ำ พอรุ่งเช้าเรือไฟไปติดที่ฝั่งไหนก็จะมีคนไปเก็บของออก จากเรือไฟ การล่องเรือไฟจะมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

lai rue fire 02

นอกจากการลอยเรือไฟ ขณะเดียวกันที่หนองคายมีการลอยกระทง โดยใช้หยวกกล้วยทั้งต้นมาต่อกัน มีไม้เสียบ ยาวหลายวา วางขนานกัน 2 แถว กว้างห่างกันพอประมาณ แล้วปักเสาบนหยวก กล้วยเป็นระยะบนปลายเสา สร้างเป็นรูปพญานาค แล้วเอาผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้บางๆ เป็น ระยะๆ หรือไม่ก็ใช้จุดด้วยไต้ หัวหยวกกล้วยเท่ากับเป็นทุ่น วัดในตำบลหนึ่งๆ ทำกระทงอย่างนี้กระทงหนึ่ง แล้วลากไปไว้เหนือน้ำ จอดอยู่ริมฝั่งทั้งสองข้าง เวลาเย็นชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำพากันลงเรือไปชุมนุม กันร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน พอได้เวลากลางคืนก็จุดไต้ที่กระทงเอาเชือกลากไปที่กลางน้ำ แล้วปล่อยให้ลอยไป ในกระทงมีอาหาร เสื้อผ้าของใช้ต่างๆ เมื่อเห็นลอยไปพ้นหมู่บ้านแล้วก็พากันกลับ คนที่ยากจนที่อยู่ปลายน้ำก็จะเก็บกระทงไป

แต่ในปัจจุบัน การลอยกระทงมิได้บรรจุอะไร นอกจากดอกไม้ธูปเทียน แล้วเรียกลอยกระทง นี้ว่า "การไหลเรือ" และต่างคนต่างลอย มิได้ลอยร่วมกัน เมื่อลอยไปแล้ว ผู้ที่อยู่ใต้น้ำมักจะเก็บไต้ที่จุดไปในกระทงไปเสีย ทำให้กระทงที่จุดไต้สว่างสวย ลอยอยู่ในน้ำได้ไม่นาน

นอกจากหนองคายมีการไหลเรือและลอยกระทงแล้ว ก็มีการแข่งเรือในแม่น้ำโขงในวันรุ่งขึ้น อีกด้วย

lai rue fire 03

จังหวัดอุบลราชธานี

งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวอุบลฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นจากบุคคล สำคัญ 3 คน คือ

  • นายคูณ ส่งศรี อายุ 73 ปี ถึงแก่กรรม 2490
  • นายโพธิ์ ส่งศรี อายุ 94 ปี ถึงแก่กรรม 2523
  • นายดวง ส่งศรี อายุ 83 ปี ถึงแก่กรรม 2516

ท่านทั้ง 3 เป็นพี่น้องกัน เป็นศรัทธาวัดทุ่งศรีเมือง ได้ประกอบพิธีไหลเรือไฟ โดยเอาถังประทีปที่ชาวบ้านมาจุดบูชาที่วัด ไปลอยที่แม่น้ำมูลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ต่อมาได้พัฒนาจากถังประทีป มาเป็นเรืออย่างเช่นที่อื่นๆ และมาในช่วงที่ทหารอเมริกันมาประจำที่ฐานบินจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา มีการใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ทำทุ่นและใช้ไม้ไผ่เป็นลำมาติดถังที่เคยเป็นรูปเรือ ก็ปรากฏเป็นรูปอื่น

lai rue fire 09

จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อว่า

  • เป็นการบูชารอยพระพุทธบาท
  • เป็นการบูชาพระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อันได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนา-คมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอาริยเมตไตร- เป็นการบูชาคุณแม่โพสพ คือ บูชาพานข้าว
  • เป็นการบูชาประทีปตามประเพณี
  • เป็นการบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษในความเชื่อเรื่อง การบูชาบรรพบุรุษ หรือพกาพรหม ปรากฏตามนิทานชาวบ้านที่เล่าสืบต่อ กันมาว่า

    ครั้งหนึ่งมีกาเผือกสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ ใกล้กับฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัว ผู้บินจากรังไปหากินเผอิญหลงทางกลับรังไม่ได้ จึงบินกระเจิดกระเจิงหายไป กาตัวเมียที่กำลังกกไข่อยู่ 5 ฟอง คอยกาตัวผู้ไม่เห็นกลับจึงกระวนกระวายใจ อยู่มาวันหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดรังกาพังไข่ทั้ง 5 ฟอง ตกลงในแม่น้ำ ส่วนแม่กาถูกพัดพาไปอีกทางหนึ่ง ครั้นลมสงบบินกลับมาที่รังพบว่า รังถูกพายุพัดพังและไข่ ทั้ง 5 ฟองหายไปหมด จึงเสียใจจนตายไป และไปเกิดใหม่ในพรหมโลก ชื่อท้าวพกาพรหม

    ส่วนไข่ทั้ง 5 ฟอง มีผู้นำไปรักษาไว้ดังนี้ ฟองแรกแม่ไก่เอาไป ฟองที่ 2 แม่นาคเอาไป ฟองที่ 3 แม่เต่าเอาไป ฟองที่ 4 แม่โคเอาไปและฟองสุดท้ายแม่ราชสีห์เอาไป ครั้นเมื่อไข่ครบกำหนดฟักแตกออกมากลับเป็นมนุษย์ไม่ใช่ลูกกาตามปกติ ครั้นเมื่อลูกกาทั้ง 5 โตเป็นหนุ่มเห็นโทษของการเป็นฆราวาส และเห็นถึงอานิสงส์แห่งการบรรพชา จึงได้ลามารดาเลี้ยงออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 ได้มาพบกันจึงได้ไต่ถามเรื่องราวของกันและกัน และพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้เป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดาด้วย

    แรงอธิษฐานครั้งนั้นได้ร้อนไปถึงท้าวพกาพรหม และเสด็จจากพรหมโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือกบินมาเกาะบนต้นไม้ ตรงหน้าฤาษีทั้ง 5 และเล่าเรื่องเดิมให้ฟัง และกล่าวว่า "ถ้าคิดถึงแม่ เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 11 และเดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกาปักธูป เทียนบูชา ลอยกระทงในแม่น้ำเถิด ทำอย่างนี้เรียกว่า คิดถึงแม่" เมื่อบอกเสร็จท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป จนกลายมาเป็นที่มาของการลอยกระทงและไหลเรือไฟ

จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อว่า เป็นการเซ่นสรวงพญานาค ซึ่งสิงสถิตตามแม่น้ำลำคลอง ให้คุ้มครองผู้ที่สัญจรไปมาทางน้ำ ไม่ให้มีภัยอันตรายเข้ามากล้ำกราย 

lai rue fire 10

จังหวัดเลย มีความเชื่อว่า  เป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ บูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์พิภพ เพื่อแสดงพระสักธรรมเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์ (บทที่ใช้สวดในงานศพ) เพื่อโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือ บันไดทองอยู่เบื้องขวา เป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดา บันไดเงินเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม ส่วนบันไดแก้วเป็นทางเสด็จพระพุทธเจ้า หัวบันได อยู่ยอดเขาพระสิเนรุราช ทรงแสดง "โลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์" คือ เปิดโลกโดยทอดพระเนตรไปเบื้องบนถึงพรหม โลก เบื้องต่ำสุดถึงอเวจีนรก และทิศต่างๆ ทั้งแปดทิศโลกธาตุแห่งหมื่นจักรวาล และเห็นเป็นลานกว้างอันเดียวกัน ทำให้สวรรค์ มนุษย์ นรกแลเห็นกันและกัน จึงเรียกวันนี้ว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จ มา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั่นเรียกว่า "อจลเจดีย์" ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็ถือเป็นการสักการะบูชาอย่างหนึ่งในวันนั้น 

กำหนดจัดงาน

งานประเพณีไหลเรือไฟจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ระหว่างขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ของทุกปี

lai rue fire 04

 

redline

backled1

 

candle festival header

redline

 กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

candle festival 007

ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

านประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน เอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น

candle festival 010

ส่วนการจัดขบวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายของขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็นเครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอยกันทุกปี คอยดูว่า ชุมชนใดจะนำเอาของดีๆ มาอวดประชันกันในงานนี้

candle festival 012

ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบสัมมาอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ]

candle festival 011

งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่น หนุ่ม-สาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทางวัดในการแกะสลัก ทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตรพิศดาร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล

candle festival 013

เหมิดที่บุญคนเฒ่าสกุลวงศ์ตกต่ำ สมัยใหม่ มาปล้ำสกุลเฒ่าแตกกระเด็น
คือบ่ตามครอง เฒ่าโบราณเฮามันลำบาก มันสิทุกข์ยากย้อน ทอนท้ออยู่บ่ดี "

สุภาษิตอีสานบทนี้ บอกให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ดีงาม ที่ชุมชนถือปฏิบัติร่วมกัน เป็นวัฒนธรรมที่ดีของชุมชนมาแต่อดีต หากไม่รักษาไว้ให้คงอยู่ ปล่อยให้วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ชุมชน ของเราจะอยู่เป็นสุขได้อย่างไรกัน

candle festival 014
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

มายเหตุปิดท้าย : วันนี้ผมย้อนนึกไปถึงสมัยเมื่อยังเป็นเด็กเรียนชั้นประถมศึกษา งานแห่เทียนพรรษายังแยกกันทำในแต่ละท้องที่ (จัดแยกกันในแต่ละอำเภอ) ไม่ใช่งานใหญ่อย่างนี้ ต้นเทียนเกิดจากใจศรัทธาของญาติโยม ที่ซื้อเทียนเหลืองเล่มใหญ่นำมามัดรวมกันรอบแกนไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหรือด้าย หุ้มด้วยการตัดกระดาษเงินกระดาษทองเป็นลวดลาย ตั้งบนเกวียนแห่ไปรอบหมู่บ้าน แล้วนำถวายที่คุ้มวัดใกล้บ้าน ประโยชน์ของเทียนนั้นยังคงสมบูรณ์เต็มร้อย พระเณรได้แกะเทียนเล่มเล็กเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ตลอดพรรษา แต่วันนี้เทียนเล่มใหญ่ที่แกะสลักวิจิตรงดงามนั้น หลังจากผ่านการแห่แหนรอบเมืองแล้ว กลับถูกปล่อยปละละเลยให้ฝุ่นเกาะจนครบขวบปีจึงจะถูกปัดฝุ่นนำมาบูรณะใหม่อีกครั้ง

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน สืบสายลายเทียน

พ.ศ.นี้ เราลองมาเปลี่ยนจาก เทียนเล่มใหญ่ เป็น หลอดฟลูออเรสเซนต์ กันดีไหมนะ? ถวายต้นเทียนแล้ว พระท่านยังจะได้ใช้ประโยชน์จากหลอดไฟเหล่านั้นได้ ทุกวันนี้พอถึงฤดูเข้าพรรษา ผมและครอบครัวก็จะถวายหลอดไฟฟ้า กับปัจจัยสำหรับเป็นค่ากระแสไฟฟ้าเข้าท่ากว่ากันเยอะครับ หลบจากกระพี้เอาแก่นของความจริงกันดีไหมครับ ไม่ทราบจะทิ่มแทงใจใครบ้างก็ไม่ทราบนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเข้าท่ากว่าการทำงานประเพณี กระพี้ของต้นเทียนกันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังอย่างในปัจจุบันนี้

candle festival 009

มองอดีตผ่านปัจจุบันแห่เทียนพรรษา

ารนำเสนอเรื่องเทียนพรรษาผ่านมาหลายปีครับ เมื่อวานนี้ (เขียนเมื่อ : 13 กรกฎาคม 2546) ได้ร่วมเดินชมต้นเทียนที่นำมาตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชม บริเวณรอบทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี สัมผัสกับบรรยากาศของความอลังการ และตื่นตาตื่นใจของต้นเทียน และผู้คนต่างถิ่น ที่ต่างก็กล่าวขวัญถึงความวิจิตรพิสดารของการแกะสลักลวดลายลงบนขี้ผึ้ง การติดลายอันวิจิตรลงบนลำเทียนและส่วนประกอบต่างๆ

candle festival 015

ต่สำหรับคนพื้นถิ่นอย่างผม กลับมองเห็นอีกภาพหนึ่งที่หดหู่ใจยิ่ง จากการจัดงานประเพณีที่ไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างนี้ ที่นับวันจะยิ่งห่างไกลออกไปทุกที เพราะการขายประเพณีเป็นสินค้าหลัก และไม่ยอมถามคนพื้นถิ่นว่า แก่นของประเพณีนี้ที่แท้จริงคืออะไร ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านได้แต่บ่นเสียดายความงดงามของประเพณีที่สูญหาย พูด(เขียน)อย่างนี้บางท่านอาจจะงงๆ อยู่ ลองมาไล่เรียงกันเป็นข้อๆ ดูซิครับ

การจัดทำต้นเทียน

มูลค่ามหาศาลของการจัดทำต้นเทียน ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี (ในปีนี้ต้นเทียนระดับรางวัลชนะเลิศนั้น อยู่ที่หลักสองแสนบาทขึ้นไป) ส่วนที่หนึ่งนั้น มาจากค่าขี้ผึ้งแท้ (ผึ้งบริสุทธิ์) ที่จะต้องนำมาผสมกับเทียนเก่าในปีที่แล้ว (ที่แห้งแข็ง เปราะ ร่อน) เพื่อให้มีความเหนียวเพียงพอจนสามารถแกะสลัก หรืออัดลงแบบพิมพ์ เพื่อให้เกิดลายได้ ในอัตราส่วนตั้งแต่ 40% ขึ้นไป ในขณะที่ต้นเทียนนี้ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมระหว่างเข้าพรรษาได้เลย (ไม่ได้ถูกนำไปจุดเป็นเทียนจำนำพรรษาตลอด 3 เดือน ดังที่เคยมีมาในอดีต ด้วยความใหญ่โตมโหราฬจนยกเข้าไปในพระอุโบสถไม่ได้ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้จุดไฟได้ แกนกลางเป็นท่อนเหล็กหุ้มด้วยปูนพลาสเตอร์ให้มั่นคง)

candle festival 008

ส่วนที่สอง เป็น "ค่าจ้างช่างทำเทียน" เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องทุ่มเทจิตใจแข่งกับเวลาอันจำกัด เพียงระยะเวลาหนึ่งเดือน (ใช้ช่างฝีมือทีมละประมาณ 15 - 25 คน) เท่าที่ทราบค่าจ้างอยู่ระหว่าง 80,000 ถึง 120,000 บาท (ถ้าเทียบกับเนื้องานแล้วไม่มาก) เราจึงได้เห็นส่วนประกอบของต้นเทียน (บรรดารูปปั้นองค์ประกอบรอบๆ ต้นเทียน เป็นเรื่องราวต่างๆ) วิจิตรตระการตากว่าลำต้นเทียน เพื่อแลกกับรางวัลที่หนึ่งประมาณหนึ่งแสนบาท (เงินรางวัลที่ได้รับน้อยกว่าการลงทุนทำต้นเทียนเกินครึ่ง)

candle festival 016

ถ้าต้องการรักษาประเพณีและประหยัดค่าใช้จ่าย ตามความเห็นที่ผมสรุปมาจากการพูดคุยกับผู้เฒ่า ผู้แก่ ตามคุ้มวัดต่างๆ ก็คือ เราจะต้องหันมาส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝีมือของชาวบ้าน พระ-เณร ด้วยการทำต้นเทียนแบบโบราณที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และก็พิสูจน์ได้จากความชื่นชมที่นักท่องเที่ยวมีต่อต้นเทียนวัดหนองปลาปากในปีนี้ (รูปด้านบน ปี 2546)

นี่คือฝีมือของชุมชนพื้นถิ่น ที่ทำต้นเทียนเพื่ออนุรักษ์ประเณีอันดีงาม อย่างแท้จริง ต้นทุนต่ำ และใช้ประโยชน์คุ้มค่าจากต้นเทียน ที่นำเทียนเป็นเล่มๆ มาผูกมัดรวมกัน (หลังการแห่นำกลับไปจุดในพิธีกรรมเข้าพรรษาได้) ตกแต่งด้วยใบตอง และพานบายศรีอันวิจิตรงดงาม น่าทึ่งมากๆ ครับ

candle festival 015

และข้อมูลล่าสุดคือ มีเทศกาลงานแห่เทียนพรรษาที่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะจัดงานขึ้นก่อนในตัวจังหวัดอุบลราชธานี 1 วัน ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ แก่งสะพือ จะเป็นการอนุรักษ์การจัดเทียนพรรษาแบบโบราณ ดังรูปประกอบด้านบนและล่างนี้ งดงามมากครับ

แห่เทียนพรรษาแบบโบราณ อำเภแพิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี

candle festival 017
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com

การจัดแสดงต้นเทียน

ปีนี้ (2546) เป็นปีที่น่าเศร้าใจจริงๆ ครับ บริเวณรอบๆ ต้นเทียนเราน่าจะได้ยืนชมต้นเทียนด้วยความสะดวกสบาย ทางเดินที่กว้างขวางรองรับนักท่องเที่ยว แต่โดนยึดพื้นที่ด้วยบรรดาหาบเร่แบกะดินเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ช่องว่างระหว่างต้นเทียนแต่ละต้น มองไปที่ริมฟุตบาทเจอป้ายประกาศ ห้ามวางหาบเร่แผงลอย ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท ตรงป้ายไม่มีใครวางจริงๆ ครับ แต่ที่อื่นๆ วางกันเพียบไม่เห็นมีใครมาปรามหรือจับปรับเลย (ป้ายมันจับไผบ่เป็นเด้อ แล้วผู้ขายกะบ่อ่านป้าย หรืออ่านบ่ออก หรืออ่านออกแต่หน้ามึน กะบ่ฮู้คือกัน)

candle festival 018

ผมอนาถใจไปกว่านั้นอีกคือ ความไม่เท่าเทียมกันของบริเวณจัดวางต้นเทียน ไฟแสงสว่างทางจังหวัดหรือเทศบาลน่าจะจัดให้กับทุกๆ วัดเท่าเทียมกัน บางวัดด้วยความตั้งใจนำต้นเทียนมาจากต่างอำเภอด้วยอยากสนับสนุนการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเลย (ปล่อยให้อยู่ในมุมมืดมากทางด้านมุมทุ่งศรีเมืองใกล้ศาลจังหวัด) บางท่านนึกว่าหมดต้นเทียนแล้วเลยไม่เดินไปดูด้วยซ้ำ ปีหน้าจะมาหรือไม่หนอ?

ขบวนแห่

เรื่องขบวนแห่นี้ขอมองต่างมุมหน่อยนะครับ การให้สถานศึกษาจัดขบวนแห่ ฟ้อนรำสวยงามก็ดีอยู่หรอกครับ แต่อยากให้มีขบวนแห่พื้นบ้าน ที่แตกต่างด้วยใจศรัทธาต่อคุ้มวัดของเขาเองบ้างจะดีไหม? ทำไมต้องกำหนดด้วยว่า ขบวนนี้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหายไปดื้อๆ อย่างน่าเสียดายนะครับ สถานศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่จำนวนผู้แสดง ความอลังการของชุดที่สวมใส่ การร่ายรำที่ผู้ฝึกสอนถนัด ไม่มีการค้นคว้าประยุกต์เอาศิลปะการฟ้อนพื้นฐิ่นมาใช้เลย นี่ก็น่าเสียดายครับ

candle festival 019

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์จัดงาน รู้สึกจะทุ่มเทกันมากไปด้วยป้ายที่ติดรอบๆ ทุกมุมเมือง จนนึกไปว่า นี่เขาจะจัดงานแสดงสินค้าโรงงานอุตสาหกรรมกันหรือไร? ทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำเมา บะหมี่หลากรส ก็ไม่ว่ากัน ถ้าคุณจะช่วยประดับธงทิวธรรมจักรที่แสดงว่า จะมีงานประเพณีทางพุทธศาสนาให้มากกว่านี้ (เท่าที่ผมตระเวณไม่มีสักผืนครับแม้แต่รอบๆ งาน)

ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นก็คือ วันอาสาฬหบูชา ทางราชการรณรงค์ให้เลิกดื่มเหล้า และน้ำเมาทั้งหลาย (รวมร้านอาหาร คาราโอเกะ) แต่แทบไม่เชื่อสายตาว่า รอบๆ บริเวณงานมีร้านขายเครื่องดื่มรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ สัตว์ป่าขนาดใหญ่ และยี่ห้อที่แชมป์โลกเสียมวยขายกันเกลื่อนงาน (ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง น่าเกลียดที่สุดด้วย ผิดทั้งสามัญสำนึกและกฎหมายแต่ไม่มีใครสนใจ)

หลังจากตระเวณรอบๆ งานก็ขอฝากภาพที่ผมได้เก็บไว้บางส่วนให้ท่านได้ชื่นชมกันครับ ปีหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็ได้

candle festival 020

ก็คงจะเป็นบทเรียนให้กับผู้จัดงานในปีต่อๆ ไปครับ ผมไม่อยากให้ต้นเทียนพรรษาถูกกล่าวถึง เฉพาะในงานเทศกาลนี้เท่านั้น อยากให้มีแหล่งเก็บรวบรวมคุณค่าของเทียนพรรษา ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชื่นชมได้ทุกเมื่อ ที่มาเยือนอุบลราชธานี ...

candle festival 021

หมายเหตุปิดท้าย

ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีหลายจังหวัดเลยทีเดียว ที่ได้ริเริ่มจัดให้มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาขนาดใหญ่ เพื่อเน้นไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก  วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นเรื่องรอง (หรืออาจจะไม่คิดถึงเลยก็มีมั๊ง) อย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี ถึงกับมีการวางเงินมัดจำจ้าง ช่างทำเทียนจากอุบลราชธานี ไว้ล่วงหน้าเป็นรายปีเลยทีเดียว ก็ทำให้กระจายรายได้แก่ ช่างรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ได้ไปสร้างผลงานในต่างถิ่นจนเป็นที่รู้จัก แต่ผู้จัดการงานประเพณีนี้ ลองย้อนหวนกลับคิดถึง รากเหง้า ประเพณี ภูมิปัญญา ของบ้านเกิดตัวเองกันบ้างดีไหมครับ ผมว่า "มันน่าจะมีอะไรซ่อนคุณค่าไว้อยู่ ถ้าเราจะค้นหานำมันออกมาแสดงต่อชุมชน"

 

 กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

redline

backled1

 

candle festival header

candle festival 001

กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษาอุบลราชธานี

กำเนิดเทียนพรรษา

าสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ

แต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็กๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

วิวัฒนาการของเทียนพรรษา

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับใช้จุดในโบสถ์ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มให้ร้อน จนละลาย เอาขี้ผึ้งไปฟั่นอบเส้นฝ้ายเป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็กๆ หลายๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา

candle bw 01
ภาพขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัดในอดีต

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันบนแกนไม้ไผ่ ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่างๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน (ตรงเชือกที่มัดต้นเทียน) ให้ดูสวยงาม ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นานขึ้น โดยการใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐานไม้ และจัดขบวนแห่ต้นเทียนไปถวายพระที่วัด

การตกแต่งต้นเทียนเริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟ หรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผลฟักทอง นำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออกจากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามก่อนนำไปติดที่ต้นเทียน

candle festival 002

เมื่อปี พ.ศ. 2482 มีช่างทองชื่อ นายโพธิ์   ส่งศรี   เริ่มทำลายไทยไปประดับบนต้นเทียน โดยมีการทำแบบพิมพ์ลงในแผ่นปูนซีเมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นแบบพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ แล้วเอาขี้ผึ้งที่อ่อนตัวไปกดลงบนแม่พิมพ์ก็จะได้ขี้ผึ้งเป็นลายไทย นำไปติดกับลำต้นเทียน

ต่อมา นายสวน คูณผล ได้คิดทำลายให้นูนและสลับสี จนมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เมื่อส่งเทียนเข้าประกวดจึงได้รับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2497 นายประดับ ก้อนแก้ว คิดประดิษฐ์ทำหุ่นให้เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และเอาลวดลายขี้ผึ้งติดเข้าไปที่หุ่น ทำให้มีลักษณะแปลกออกไป จึงทำให้เทียนพรรษาได้รับรางวัลชนะเลิศ และชนะเลิศมาทุกปี ในเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

candle festival 003

ปี พ.ศ. 2502 มีช่างแกะสลักลวดลายลงในต้นเทียนพรรษาเป็นคนแรก คือ นายคำหมา แสงงาม และคณะ กรรมการตัดสินให้ต้นเทียนแบบแกะสลักนี้ชนะเลิศในการประกวด ทำให้เกิดการประท้วงคณะกรรมการตัดสินขึ้น ทำให้ในปีต่อๆ มามีการแยกประเภทของต้นเทียนพรรษา ออกเป็น 2 ประเภทให้ชัดเจน คือ

    1. ประเภทติดพิมพ์ (ตามแบบเดิม)
    2. ประเภทแกะสลัก

    candle festival 022

    การทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง ในปี พ.ศ. 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ในส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็นประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่างผู้ริเริ่มในการทำต้นเทียนยุคหลังคือ นายอุตส่าห์ จันทร์วิจิตร และ นายสมัย จันทรวิจิตร สองพี่น้อง นับเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างแท้จริง

    รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน ลายเทียน

    กำเนิดงานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี 

    อุบลราชธานี ดินแดนแห่งปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นถิ่นกำเนิดของพระอาจารย์ทางวิปัสนา คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นต้น กล่าวกันว่า เมืองอุบลราชธานี เป็นต้นรากแห่งการขยายพระพุทธศาสนาและวัดวาอาราม ให้แพร่หลายยิ่งกว่าในทุกหัวเมืองในภาคอีสาน

    เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ นั้นไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าวร่ำลือกันไปว่า เทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวยกว่าวัดอื่นๆ

    candle festival 006

    ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ จึงเห็นควรให้มี "การประกวดเทียนพรรษา" ก่อน แล้วจึงค่อยนำไปแห่รอบเมือง ก่อนจะนำไปถวายพระที่วัดได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

    จากงานประจำปีท้องถิ่นสู่งานประเพณีระดับชาติ

    การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัด ก็จัดตกแต่งต้นเทียนของวัดตนให้สวยงาม นำมารวมกันที่บริเวณทุ่งศรีเมืองเพื่อประกวดแข่งขันกัน จากงานของชาวบ้าน ก็พัฒนามาสู่การสนับสนุนอย่างจริงจังจาก ส่วนราชการ พ่อค้า ห้างร้านเอกชน ร่วมกับประชาชน ทายกทายิกาคุ้มวัดต่างๆ และใน ปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท. ในขณะนั้น) มาสังเกตการณ์ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยเฉพาะในปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541-2542) งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็น 1 ในงานประเพณีที่ถูกโปรโมตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ

    เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (รัชการที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "เทียนหลวง" มาเป็นเทียนนำชัยขบวนแห่ แล้วจึงนำไปถวายยังอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี หมุนเวียนไปเป็นประจำทุกปี

    candle festival 005

    งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนเอามาหลอม หล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน ทำการตกแต่งให้สวยงาม จัดให้มีขบวนแห่ฟ้อนรำประกอบการแห่รอบเมือง ให้ปรากฎแก่สายตาของชาวบ้านทุกคน ทำการตัดสินการประกวดทั้งตัวต้นเทียน นางงามประจำต้นเทียน และขบวนแห่ ก่อนจะแยกย้ายนำไปถวายวัดให้ใช้ประโยชน์ต่อไป

     

    ศาสตรศึกษา : สืบสานงานพุทธศิลป์ แห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

     กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน

    redline

    backled1

     

    chaloke header
    จากหนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง : ๒๕๓๒

    โสก หรือ โฉลก คือคำประพันธ์ที่นักปราชญ์โบราณอีสานแต่งไว้ มีโสกสองถึงโสกแปด เป็นโสกที่แต่งไว้เพื่อให้หมอดูได้ดูโชคชะตาของคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ เป็นตำราหมอดูแบบสำเร็จรูป ก่อนจะดูก็ไม่ต้องมาถามวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก ไม่ต้องกังวลว่าว่าจะตกราศีอะไร เพียงแต่วัดส่วนสัดของสิ่งนั้นๆ แล้วนับไปว่าตกโสกอะไร ก็ทายได้ทันที ถ้าจะเทียบหมอดูแผนโบราณกับหมอดูแผนปัจจุบัน

    หมอดูแผนโบราณมีหลักเกณฑ์พิเศษให้ไว้เป็นประจำ ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนการดูหมอแบบเลขหางหมา หรือแบบเลขเจ็ดตัว และโหราศาสตร์ดั้งเดิมนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง หมอโบราณอีสานชำนาญมาก เกี่ยวกับโสกที่กำลังกล่าวถึงหมอโบราณอีสานก็ชำนาญจนได้ประพันธ์เป็นโสกไว้ดังต่อไปนี้

    โสกผู้ชาย ผู้ชายที่มีอวัยวะครบทุกส่วนไม่หูหนวก ตาบอด ปากกืก เรียก ถืกโสก ถ้าพิรุธไป เช่น ตาเหลือก ตาเหลิน ตาหลิ่ว ตาโป ปากแหว่ง สบเว้อ เป็นต้น เรียก บ่ถืกโสก ถ้าไม่ถูกโสกทายตามโสกนี้ ความแม่นยำก็จะลดลงตามส่วน โสกผู้ชายมีดังนี้

    man ปู่ทื้นขึ้น
    ย่าทื้นลง
    สองแขนปลงไว้ที่ต่ำ
    ชู้พาบสิบพาบซาวแล่นมาสู่
    ตุ้มหมู่ได้พอกอง
    ตุ้มของได้พอล้าน
    มีบ้านบ่มีนา
    กาสับหัวกินเลือด
    หญ้าม้าบ่เหือดคอ
    ปอแดงมัดกระโด้น
    ปากพ้นเพื่อนทังเมือง

    ให้เอาเชือกมาวัดส่วนสูงตั้งแต่เท้าถึงหัว ใช้มือของเจ้าของกำเชือก นับแต่โสกต้นไปถึงโสกปลาย สุดแล้วตั้งต้นใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "ชู้พาบสิบพาบซาวแล่นมาสู่" ทายว่าเป็นคนมากชู้หลายเมีย ตก "ตุ้มหมู่ได้พอกอง" ทายว่า ปกครองคนหมู่มากได้ ตก "ตุ้มของได้พอล้าน" ทายว่า จะมั่งมีข้าวของเงินทอง ตก "มีบ้านบ่มีนา" ทายว่า มีแต่ที่อยู่อาศัยที่ทำกินไม่มี

    โสกผู้หญิง ผู้หญิงที่มีอวัยวะครบทุกส่วน เรียก ถืกโสก ถ้าไม่ครบเรียก บ่ถืกโสก โสกของผู้หญิงมีดังนี้

    woman กระดิกกระดิ้น
    พอกินพออยู่
    อั้นตู้ตัณหา
    กาเฝ้าเจ้าฮัก
    คอหักคอค่าย
    ก่ายขึ้นก่ายลง
    เงินเต็มถงแอ่วค้า
    ขี่ม้าลอบเมือง
    ทองเหลืองเต็มแท่น
    เงินบ่แก่นก้นถง
    ชาตาลงขี้คร้าน
    บ่ค้านก้นตุง

    ใช้เชือกวัดส่วนสูงเหมือนผู้ชาย แล้วกำเชือกนับโสกไปตามลำดับ สุดแล้วตั้งต้นนับใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "อั้นตู้ตัณหา" ทายว่าชอบกามารมณ์ ขาดผู้ชายไม่ได้หรือไม่ก็เป็นหญิงโสเภณี ตก "กาเฝ้าเจ้าฮัก" ทายว่า เจ้านายเมตตาปรานี ตก "ขี่ม้าลอบเมือง" ทายว่า เป็นนักเที่ยวนักบอกบุญ นักจัดรายการ นักทัศนาจร ตก "เงินบ่แก่นก้นถง" ทายว่า เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเกินตัว

    โสกกะฎี เรือนเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เรียก กะฎี กุฎี กุฎิ์ ก็ว่า กุฎีของพระสงฆ์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรือนของชาวบ้าน ถ้าทำให้ถูกโสกโบราณถือว่าดี โสกกะฎีมีดังนี้

    kudee กลอนกะฎี
    บีพระแตก
    แขกมาโฮม
    โยมมาสู่
    พ่อครูตาย
    ลูกศิษญ์หลายฮ่วมเฮ้า
    ลูกเต้ามิจฉาจาร
    กินทานมีบ่ขาด

    ให้เอาเชือกวัดความยาวของกลอนกะฎี พระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสใช้เท้าเหยียบกลอนกะฎี แล้วนับโสกไปตามลำดับ สุดแล้วตั้งต้นใหม่ ตกโสกไหนทายตามโสกนั้น ถ้าตก "แขกมาโฮม" ทายว่า กุฎีนั้นจะเป็นเหมือนโรงแรมมีแขกมาขอพักอาศัยไม่ขาด ตก "ลูกศิษย์หลายฮ่วมเฮ้า" ทายว่า กุฎีนั้นจะมีพระเณรมาอยู่อาศัยไม่ขาด ตก "ลูกเต้ามิจฉาจาร" ทายว่า ลูกศิษย์ที่อยู่อาศัยในกุฎีนั้นจะย่อหย่อนต่อศีลธรรม

    โสกกะได บันไดเรียก กะได กะไดเป็นของสำคัญอย่างหนึ่ง คนโบราณก่อนจะนอนแต่ละคืน จะเอาดอกไม้มาบูชาแม่กะได เพราะถือว่าสถานที่อยู่อาศัยนั้นมีภุมเทวดารักษา การบูชาก็คือมาขอมอบกายถวายตัวต่อภุมเทวดาให้ท่านคุ้มครองลูกหลาน และสิ่งของภายในบ้านเรือน โสกกะได มีดังนี้

    stair เดือนดับตัดไม้
    ขี้ไฮ้จนตาย
    งัวควายเต็มถุน
    เข้าของเต็มดูน
    ทรัพย์สินมูลมา

    ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบแม่กะไดไปโดยลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ขี้ฮ้ายจนตาย" ทายว่า เจ้าของเรือนจะประสบความทุกข์ยากตลอดจนตาย ตก "ทรัพย์สินมูลมา" ทายว่า จะมั่งมีศรีสุขตลอดไป

     

    โสกกะทอดเล้า เรือนสำหรับใส่ข้าวเปลือก เรียก เล้า การทำเล้าเข้าเปลือกถ้าทำให้ถูกโสก โบราณถือว่าดี โสกกะทอดเล้า มีดังนี้

    lao kao สามสิบท่งนาแมน
    แสนปีบ่ได้เข้าเต็มเล้า
    เก้าปีบ่ได้เข้าเต็มเยีย
    กินเหมิดเสียบ่ฮอดเข้าใหม่
    พี่น้องไฮ็แล่นมาหา
    ของเต็มพาบ่อยาก
    ทุกข์ยากย้านบ่มี
    เป็นเศรษฐีย้อนขายเข้า
    ตักใส่เล้าเต็มพูน

    ให้เจ้าของเล้าใช้ตีนเหยียบกะทอดเล้า ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "กินเหมิดเสียบ่ฮอดปีใหม่" ทายว่า จะได้ข้าวกินไม่คุ้มปี ตก "เป็นเศรษฐีย้อนขายเข้า" ทายว่า จะบริบูรณ์ด้วยเงินทองเพราะขายข้าว ตก "ตักใส่เล้าเต็มพูล" ทายว่า จะมีเข้าเต็มเล้าเต็มเยียกินบ่บกจกบ่ลง

    โสกกะทอดเรือน กะทอดเรือนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญชิ้นหนึ่งของเรือน ส่วนชิ้นอื่นของเรือนถูกโสกหมด แต่กะทอดไม่ถูกโสก ก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นกะทอดเรือนก็ต้องให้ถูกโสกด้วย โสกกะทอดเฮือน มีดังนี้

    isan house2 สินนองมาคื่นเค้า
    สองเฒ่านั่งทรงทุกข์
    ครองความสุขเท่าชั่ว
    ก้นถงฮั่วเป็นฮู
    สาวมาชูชมฮัก
    มักป่วยไข้เสียของ
    เงินทองกองเหลือที่ไว้
    ขี้ไฮ้เกิดเป็นดี
    เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้
    นอนตื่นได้ถงคำ
    ตอเพียงดินป่งยอด

    ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบกะทอดเฮือนแล้วนับโสกไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "สินนองมาคื่นเค้า" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ทรัพย์สินไหลมาเทมาไม่ขาด ตก "ก้นถงฮั่วเป็นฮู" ทำนายว่า เจ้าของเรือนรายรับไม่ดี ดีแต่รายจ่าย ตก "ตอเพียงดินป่งยอด" ทายว่า เจ้าของเรือนแม้จะลำบากตรากตรำมาก่อน ก็จะมีความเจริญก้าวหน้ามั่งมีศรีสุขมีเงินทองข้าวของ

    โสกกลอนเฮือน กลอนเฮือนเป็นส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของเรือน อย่างอื่นถูกโสกหมด แต่กลอนเฮือนไม่ถูกโสกโบราณถือว่ายังไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องให้กลอนเรือนถูกโสกด้วย โสกกลอนเฮือน มีดังนี้

    isan house ต่อนคำภู
    ภูคำหอม
    หอมสินไว้
    ไฮ้เท่าตาย
    วายพลัดพี่
    ได้เอื้อยอี่มาเฮือน
    ขันคำเลียนเลี้ยงแขก
    ถ้วยปากแวกตักแกงบอน
    นอนหงายตีนตากแดด

    ให้เจ้าของเรือนใช้ตีนเหยียบกลอนเฮือนแล้วนับโสกไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "หอมสินไว้" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะเป็นคนประหยัดอดออม รู้จักเก็บหอมรอบริบ เงินทองข้าวของที่ได้มาไว้ ตก "ขันคำเลียนเลี้ยงแขก" ทำนายว่า เจ้าของเรือนจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีเครื่องกินของใช้และเครื่องประดับเช่น เพชรนิลจินดา

    โสกกลอง กลองหมายเอากลองของพระสงฆ์ พระสงฆ์ใช้ตีกองเพล ตีกลองแลง ตีประชุมกิจวัดการบ้าน กลองเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าทำให้ถูกโสกจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดและบ้าน ถ้าทำไม่ถูกโสกจะอาภัพอัปโชค ทำความหายนะมาสู่วัดและบ้าน โสกกลอง มีดังนี้

    klong pen

     

    นันทะเภรี
    ศรีชมชื่น
    หื่นเมืองพรหม
    สมณ์อยู่สร้าง
    ม้างสังโฆ
    โพธิสัตว์
    วัดพระเจ้า

    ให้เจ้าอาวาสใช้ตีนเหยียบตามยาวของกลอง ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "นันทะเภรี" ทำนายว่า ชาววัดและชาวบ้านตลอดลูกเล็กเด็กแดงจะชื่นชมยินดี ตก "ม้างสังโฆ" ทำนายว่า พระสงฆ์ในวัดจะแตกแยกกัน ไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรม ตก "วัดพระเจ้า" ทายว่า วัดนั้นจะสงบเงียบ เหมาะแก่การที่พระสงฆ์จะนั่งเจริญธรรมกัมมฐาน

    โสกของลับ ของลับหมายถึงอวัยวะเพศของผู้ชาย อวัยวะเพศของผู้ชายมีความสำคัญต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก เหมือนอวัยวะเพศของสตรีก็มีความสำคัญต่อสตรี ผู้ชายจะเป็นคนสำมะเลเทเมา หรือเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศ อวัยวะเพศนี้ธรรมชาติสร้างมาให้ไม่ดีเราจะแก้ไขให้ดีก็ได้ ไม่เป็นสิ่งที่เกินความสามารถของบุคคล มีอยู่อย่างหนึ่งที่คนเราทำไม่ได้ สิ่งนั้นคือความไม่อยาก คนเราถ้าลงไม่อยากดสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ทำไม่ได้ แต่ถ้ามีความอยากแล้ว สิ่งที่หนักก็กลายเป็นเบา สิ่งที่ยากก็กลายเป็นง่าย โสกของลับ มีดังนี้

    man penis

     

    บักก่ำ
    บักเขียว
    บักชายนอนเดียว
    บักเงี่ยวใส่ผ้า

    ใช้มือนิ้วโป้วัดไปตามความยาว ตกตรงไหนทายตรงนั้น ถ้าตก "บักชายนอนเดียว" ทำนายว่า มักจะเป็นชายโสดไม่ชอบแต่งงาน เพราะถือว่าเป็นความยุ่งยากลำบาก ถ้าเกิดความต้องการเมื่อไรก็ไปจัดการตามเรื่องของมัน

    โสกครก ครกมี ๒ ชนิด คือครกใช้ในครัวเรือนสำหรับตำป่นตำแจ่ว อีกอย่างหนึ่งคือครกตำข้าวเปลือก ที่เราเรียกว่า ครกมอง ครกมองนี้คนโบราณใช้มาเป็นเวลานาน แต่ต้องเลิกไปเพราะโรงสีข้าวมาแทนที่ การที่โรงสีข้าวมาแทนที่ครกมองก็สะดวกไปอย่าง แต่ก็เสียไปอย่าง ครกมองได้ทั้งข้าวสาร แกลบและรำ แกลบเอาไปทำปุ๋ยหมัก รำเอาไปเลี้ยงหมู ถ้าไปจ้างโรงสีข้าวเราได้แต่ข้าวสาร แกลบแลพรำโรงสีเอาไป จะอย่างไรก็ตามครกก็ยังมีความจำเป็นอยู่บ้าง โสกครก มีดังนี้

    krog mong

     

    ครกตำอยู่
    คู่ตำกิน
    มีสินย่อมเข้า
    เป็นเจ้าเพิ่นลือชา

    ครกมือใช้เชือกวัดความยาว แล้วใช้มือจับนับไปตามลำดับ ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "มีสินย่อมเข้า" ทำนายว่า เจ้าของจะมีทรัพย์สินพอกินพอใช้ ตก "เป็นเจ้าเพิ่นลือซา" ทำนายว่า จะเป็นเจ้าบ้านสะพานเมืองมีคนเคารพนับถือ

    โสกฆ้อง ฆ้องเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความชื่นบานของหัวใจ บอกถึงงานที่เป็นบุญกุศล ใช้ตีกับกลองเวลาตีกลองแลง ตีกลองเดิ็ก ตีกลองประชุม ถ้าตีเฉพาะฆ้องอย่างเดียว ใช้ตีในเวลาฟังเทศน์มหาชาติ ตีงันกลองบวช ตีงันกองหด ตีสมโภชพระ แต่ไม่ใช้ตีในงานศพเพราะงานศพนั้นเป็นงานที่เจ้าภาพต้องทุกข์ เพราะความพลัดพรากจากปิยชน การหล่อฆ้องหรือซื้อฆ้อง ต้องเลือกให้ถูกโสก ถ้าถูกโสกโบราณถือว่าเป็นศิริมงคล โสกฆ้อง มีดังนี้

    kong

    สิทธิมังคละโชค
    ตีอวดโลกเปล่าดูดาย
    เสียงดังวายบ่มั้ว
    เสียงดังกลั้วเท่าแผ่นธรณี
    แสนมเหสีมานั่งเฝ้า
    เป็นเจ้าแผ่นทองเหลือง
    แห่ขุนเมืองขึ้นนั่งแท่น
    แสนขุนแล่นมาเต้า
    ตีโอบเอ้าเสบขอนผี
    นางธรณีตกใจกลัวสะท้าน
    ตีออกบ้านผาบเอาชัย

    จะซื้อฆ้องถวายวัด ผู้ซื้อฆ้องต้องใช้เชือกวัดผ่าศูนย์กลางฆ้อง แล้วใช้มือกำเชือก นับโสกไปตามลำดับ ใบไหนตกโสกดีซื้อใบนั้น ถ้าตก "สิทธิมังคละโชค" ทำนายว่า จะมีความสำเร็จมีศิริมงคลและมีโชคลาภ ตก "เสียงดังกลั้วเท่าแผ่นธรณี" ทำนายว่า เสียงฆ้องจะดังไปทั่วดินแดนที่เสียงฆ้องดังไปถึง ตก "ตีออกบ้านผาบเอาชัย" ทายว่า เมื่อใช้ตีในเวลาออกรบทัพจับศึกจะได้ชัยชนะมาสู่บ้านสู่เมือง

    โสกดาบ ดาบคือมีดยาว มีด้ามสั้นฝักยาว มีคมข้างเดียว คนโบราณมักใช้ดาบในการรบทัพจับศึก คนโบราณอีสานมักไปค้าขายต่างถิ่น เช่น ไปขายงัว ขายควาย ขายน้ำย้อม เวลาไปค้าขายจะมีหัวหน้าคนหนึ่ง หัวหน้านี้เรียก นายฮ้อย นายฮ้อยจะพายดาบออกเดินไปก่อน ใครเห็นก็เกรงกลัวไม่กล้าทำอันตรายได้ การซื้อดาบต้องให้ถูกโสก ถ้าไม่ถูกโสกจะเป็นอันตรายแก่เจ้าของ โสกดาบ มีดังนี้

    dab thai ฮ่มโพธิ์
    ฮ่มไฮ
    ไกวแขนไปก่อนเท้า
    น้าวชู้เพิ่นมาชม
    ชมให้ชมทังเครื่อง
    เดื่องเดื่องดาบฟันผี
    ดาบบ่ดีฟันเจ้า
    ดาบบ่เข้าฟันเมีย
    ฟันเมียเสียพี่น้อง

    ใช้มือกำดาบตั้งแต่ด้ามดาบไปจนถึงปลายดาบ เล่มไหนตกดีเลือกเอาเล่มนั้น ถ้าตก "ดาบบ่ดีฟันเจ้า" ทำนายว่า จะแพ้เจ้าของ ถ้าตก "ดาบบ่เข้าฟันเมีย" ทำนายว่า จะแพ้ลูกแพ้เมีย ตก "ฮ่มโพธิ์ ฮ่มไทร" ทายว่า ดี เป็นศิริมงคลดี

    โสกตาชั่ง ตราชั่งของคนโบราณนั้นได้แก่ ชิง ชิงสำหรับชั่งสิ่งของ มีข้าวปลา อาหาร เป็นต้น การใช้ชิงชั่งเป็นความยุติธรรมแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ก็มีคนโกงตาชั่งอยู่ คนที่โกงตาชั่งโบราณว่า ลูกโต้นชิงจะไปอัดตาทำให้มันตาบอด ถ้าตามันไม่บอดก็เป็นบาปกรรม เพราะมันโกง ถ้าจะซื้อชิงให้ซื้อชิงที่ถูกโสก โสกของชิง มีดังนี้

    ching tachang

     

    ชั่งแม่ญิง
    ชั่งพ่อค้า
    อวายหน้ามาแล้วชั่ง
    ชั่งแล้วหนี
    ทีค่าล้าน
    ต้านเอาของ
    ปองเอาหนี้
    สี้ก้นความ

    ให้ใช้มือกำหางชิงไปถึงหัวชิง แล้วนับโสกไปตามลำดับ ชิงอันใดตกโสกดีให้เอาอันนั้น ถ้าตก "ปองเอาหนี้ และสี้ก้นความ่" อย่าเอา เพราะเป็นชิงที่ไม่เที่ยงตรง ทำให้ขาดทุนและวิวาททุ่มเถียงกัน

    โสกถง ย่าม คือ ถง ถงมีประโยชน์สำหรับใส่สิ่งของ มีเสื้อผ้า เป็นต้น และใส่หมากพลู บุหรี่ เวลาไปค้าขายหรือไปธุระต่างถิ่น คนโบราณจะต้องมีถงพายไปด้วย ถงที่ดีต้องเป็นถงที่ถูกโสก โสกถง มีดังนี้

    tong yam

     

     

     

    ผ้าหยิบถง
    ผ้าทรงขึ้นบ่า
    ห้อยบ่าแล้วแซงแซะไปมา

    ใช้มือกำตั้งแต่ก้นถงไปปลายถง ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ผ้าทรงขึ้นบ่า" และ "ห้อยบ่าแล้วแซงแซะไปมา" ทายว่า ไม่ดี เมื่อพายถงแล้วจะหาทางไปให้ได้

    โสกปืน ปืนเป็นอาวุธที่สำคัญใช้ป้องกันตัว ป้องกันครอบครัวและใช้รบทัพจับศึก มีไว้ในบ้านก็ป้องกันโจรผู้ร้าย เวลาไปค้าขายสะพายติดตัวไปป้องกันโจรผู้ร้าย เวลาเข้าป่าใช้ยิงนกยิงเนื้อ ถ้ามีปืนถูกโสกถือไปค้าขายก็ปลอดภัย ยิงนกยิงเนื้อก็ได้นกได้เนื้อมากิน แต่ต้องเลือกซื้อปืนที่ถูกโสก โสกของปืน มีดังนี้

    ปุ๊ดตำง่อน
    ง่าไม้หย่อนปืนพลัด
    ฝูงสัตว์กายบ่มั้ว
    งั้วเงี้ยแบกมาดาย
    อีกตำราหนึ่งว่า...
    เหล็กหยัง
    เหล็กบ่อง
    ย่องแย่งใส่ซำคอ
    สองมือยอใส่กระโพก
    เหล็กอันนี้ถืกโสกอีหลี
    เหล้กยาวฮียิงสัตว์ตายพอฮ้อย
    guns

     

    อีกตำราหนึ่งว่า...
    หน้าเขียงก้อม
    กล่อมตาสัตว์
    ยิงสัตว์ตายตงม้วย
    งั้วเงี้ยแบกมาดาย
    ยิงดอนนี้หนีไปตายดอนอื่น
    แห่ขุนหมื่นมาเมือง
    เก็บผักเหลืองใส่ช้า
    ปลาแดกขี้ร้าของเก่าเลยเหมิด

    ใช้โป้มือวัดแต่ด้ามปืนไปถึงปลายปืน ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น โสกปืนมีหลายอย่างชอบแบบไหนก็เลือกเอาแบบนั้น ถ้าตก "งั้วเงี้ยแบกมาดาย" ทายว่า ได้สะดวกสบายไม่ลำบากกรากตรำ ตก "หน้าเขียงก้อม" ทายว่า เป็นปืนที่มีโชคลาภ วันไหนแบกไปไม่มาเปล่า ได้เนื้อได้นกมาเต็มกำลัง ตก "เหล็กยาวฮียิงสัตว์ตายพอฮ้อย" ทายว่า เป็นปืนที่มีโชคลาภมาก ได้เนื้อนกมาแต่ละวันไม่ต่ำกว่าสิบกว่าร้อย

    โสกแป้น กระดานปูเฮือนเรียก แป้น แป้นปูเรือนโบราณถือเป็นสำคัญนัก การปูเรือนให้นับเอาแป้นเป็นแผ่นๆ ถ้าไปตกแผ่นไม่ดี เจ้าของเรือนก็ไม่ดีไปด้วย เจ้าของตำราเล่าให้ฟังว่า หลานสาวของเขาปลูกเรือนใหม่ หลานคนนี้เป็นคนดี ไม่เคยไปเล่นที่ไหน เมื่อปลูกเรือนแล้วอยู่กับเรือนไม่ได้ ต้องไปเล่นที่อื่นๆ ค่ำๆ จึงกลับมาเรือน เมื่อเจ้าของตำราไปตรวจดูเรือนนับแป้นปูแผ่นสุดท้าย ตกหนอนเจาะก้น จึงจัดการแก้ไขใหม่ นับแต่แก้ไขแล้วไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นแก่หลานสาวเขาอีก โสกแป้น มีดังนี้

    wood flor

     

    ปู่หอม
    ย่าหอม
    หอมสินไว้
    ไฮ้เท่าตาย
    พายถงหมาก
    ปากอมบอน
    หนอนเจาะก้น

    ให้นับแผ่นแป้นเรือนพร้อมทั้งว่าโสกไปตามลำดับ ตกโสกไหนดี เอาโสกนั้น คือให้นับกระดานเป็นแผ่นๆ ไป ถ้าตก "ปู่หอม ย่าหอม" ทายว่า ปู่กับย่าจะรักจะสงสาร มีอะไรก็อยากให้อยู่ให้กิน ตก "หอมสินไว้" ทายว่า ข้าวของเงินทองที่ตกมาถึงเรือนนั้นจะไม่เสียหายเพราะโจรรัก เพราะไฟไหม้ หรือเพราะอันตรายใดๆ ถ้าตก "ปากอมบอน" ทายว่า เจ้าของเรือนชอบนินทาว่าร้ายเพื่อนบ้าน

     

    โสกผ้านุ่ง ผ้านุ่งหมายถึงทั้งเสื้อและผ้า เสื้อผ้าเป็นของจำเป็นไม่เฉพาะพระภิกษุ แม้คฤหัสถ์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะเครื่องนุ่งห่มนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น กันหนาว กันร้อน กันเหลือบยุง และสัตว์กัดทุกชนิด และกันความละอาย นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยเสื้อผ้า นอกจากสวยงามแล้วโบราณยังสอนให้ทำให้ถูกโสกด้วย โสกผ้านุ่ง มีดังนี้

    pa nung

     

    ผ้าห่อแฮ่
    ผ้าแผ่เชิง
    ผ้าสะเอิงกลีบม้า
    ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ
    ผ้าก้องแขนคำเก้ากิ่ง
    ผ้าแต่มิ่งมารดา
    ผ้าปิทาปันให้
    ผ้าได้แล้วห่มผีนอน

    ให้ใช้มือกำแต่กกไปถึงปลาย ดีตรงไหนเอาตรงนั้น ถ้าตก "ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ" ทายว่า ไม่ดีไม่เป็นศิริมงคล ตก "ผ้าก้องแขนคำเก้ากิ่ง" ทายว่า เป็นผ้าดีมีศิริมงคล นุ่งแล้วนำลาภผลเงินทองข้าวของมาให้ ตก "ผ้าแต่มิ่งมารดา ผ้าปิตาปันให้" ทายว่า เป็นผ้าที่ดีควรจะเก็บรักษาไว้ เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดลูกหลานต่อไป ตก "ผ้าได้แล้วห่มผีนอน" ทายว่า ไม่ดีจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือทุกข์ร้อนลำบากใจ

    โสกไม้คาน ไม้คานมี ๒ ชนิด ชนิดที่ทำด้วยไม้ไผ่ใช้หาบน้ำและหาบสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างหนึ่งไม้คานที่ทำด้วยไม้แก่น ไม้คานที่ทำด้วยไม้แก่นโบราณเรียก ไม้คานสะบู ใช้สำหรับหาบของหนักๆ เช่น หาบกระสอบข้าว หาบมะพริกเป็นกระสอบ โสกไม้คาน มีดังนี้

    mai kan

     

     

    ไม้คาน
    ไม้แคลน
    ยากแค้น
    มั่งมี

    ใช้มือคืบไปตามลำดับ ตกดีตรงไหน เอาตรงนั้น ถ้าตก "ไม้แคลน ยากแค้น" ทำนายว่า ไม่ดี จะลำบากตรากตรำ ตก "มั่งมี" ทำนายว่า ดี จะประสบโชคลาภสวัสดีมีชัยตลอดไป หาบของไปค้าขายก็จะได้กำไรดี

    โสกเฮือ เรือเป็นพาหนะที่จำเป็นชนิดหนึ่ง ทางเดินของคนเรามี ๓ ทาง ทางน้ำต้องใช้เรือ ทางบกใช้เดินหรือขี่เกวียน ขี่รถ ทางอากาศต้องใช้เครื่องบิน คนเราเกี่ยวข้องอยู่กับน้ำมาตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจะทำเรือหรือซื้อเรือมาใช้ โบราณสอนให้เลือกเรือที่เป็นศิริมงคล เรือที่เป็นศิริมงคลคือเรือที่ถูกโสก โสกเฮือ มีดังนี้

    boat ซื้อถืกขายแพง
    กินแหนงเพราะความค้า
    ขี้ข้าเกิดเป็นไท
    หีนผาไหลแล่นต้อน
    ก้อนคำแน่นใส่ถง
    ข้าวถงลงทักทั่น
    หมั่นค้าได้มาแถม
    เฮือแซมล่มเมื่อจอด
    ไปฮอดแล้วย่อมมาดี
    เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้
    นอนตื่นได้ถงความ

    ใช้เท้าของตนเหยียบจากหัวเรือไปท้ายเรือ ตกลำไหนดีเอาลำนั้น ถ้าตก "วื้อถืกขายแพง" ทำนายว่า ดี ถ้าบรรทุกของไปค้าขายจะร่ำรวย ตก "ขี้ข้าเกิดเป็นไท" ทำนายว่า ดี ถึงจะทุกข์ยากปากแห้งมาก่อนก็จะเป็นคนมั่งมีในภายหลัง ตก "ก้อนคำแน่นใส่ถง" ทายว่า ดีมาก ซื้อง่ายขายคล่องได้กำไรดี ตก "เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้" ทายว่า ถึงจะเป็นเศรษฐีมั่งมีมาก็จะประสบความจิบหายใหญ่หลวง เช่น เรือล่มข้าวของและคนในเรือจมน้ำตาย

    โสกเสาเฮือน เสาเฮือนมีความสำคัญยิ่งยวดกว่าเครื่องเรือนทุกชิ้นส่วน เพราะเสาอุ้มเครื่องเรือนทุกส่วนไว้ ถ้าไม่มีเสาอย่างเดียวก็ทำเรือนไม่ได้ เสาที่ถือว่าสำคัญที่สุด คือเสาแฮก รองลงมาก็เสาขวัญ ในการจะหาไม้มาทำเรือน โบราณให้เลือกไม้เสาเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น ถ้าเลือกได้ดีก็จะประสบความสุขสวัสดี คือ เลือกเอาเสาที่ถูกโสก โสกเสา มีดังนี้

    sao huan

     

     

    สุโข
    โจโร
    สิทธิลาโภ
    มัจจุ

    ให้เจ้าของใช้ตีนเหยียบต้นเสาไปปลายเสา ตรงไหนเป็นศิริมงคลเอาตรงนั้น ถ้าตก "สุโข" และ "สิทธิลาโภ" ทำนายว่า เจ้าของเรือนและคนในเรือนจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จะทำมาค้าขายร่ำรวย ตก "โจโร" และ "มัจจุ" ทายว่า ไม่ดี จะถูกผู้ร้ายอ้ายขโมยมาลักเอาสิ่งของเงินทอง และวัวควาย คนในเรือนมักเจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาลกันอยู่ตลอด

    โสกสร้างวัด วัดเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ และเป็นสถานที่พุทธศาสนิกชนมารวมกันทำกิจพุทธศาสนา เช่น ทำบุญให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ถ้าเลือกเอาสถานที่เป็นชัยภูมิคือ เหมาะสม ไม่แคบและไม่กว้างเกินไป มีอากาศถ่ายเทได้ดี

    สำหรับสถานที่ที่จะสร้างวัดนี้ ถ้าเลือกเอาทางเหนือบ้านดี เพราะพระสงฆ์จะมีอำนาจเหนือกว่าชาวบ้าน ถ้าตั้งอยู่ทิศใต้บ้าน พระสงฆ์ในวัดจะอยู่ภายใต้อำนาจของชาวบ้าน ถูกชาวบ้านจูง ถ้าตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างบ้าน พระสงฆ์จะไม่มีอำนาจเลย แล้วแต่ชาวบ้านจะจูงไป จึงควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ อย่าเห็นแก่ความมักง่าย ถ้าสร้างลงไปแล้วจะโยกย้ายทีหลังเป็นการลำบาก เพราะวัดเป็นของส่วนกลาง ระหว่างบ้านกับวัด โสกสร้างวัด มีดังนี้

    ubosod

     

    วัดวา
    อาราม
    สามบ่แล้ว
    แก้วดวงดี
    สีบ่เศร้า
    เหง้าเสมร
    เถรบ่อยู่

    ให้เอาเชือกวัดความยาวของสถานที่ที่จะสร้างวัดมาทั้งสี่ด้าน แล้วผู้เป็นหัวหน้าใช้วาของตนวัดกับเชือก ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "วัดวา" และ "อาราม" ทำนายว่า ดี จะเจริญรุ่งเรืองดี ตก "แก้วดวงดี" และ "สีบ่เศร้า" ทายว่า จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง พระสงฆ์ที่มาอยู่อาศัยจะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีศีลธรรมที่ดี ตก "เหง้าเสมร" ทายว่า จะมีเจ้าอาวาสที่ครองวัดมีอายุยืน และมีศีลธรรมเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ตก "เถรบ่อยู่" ทายว่า ไม่ดี เจ้าอาวาสมักถูกชาวบ้านเบียดเบียน

    โสกเสื่อสาดอาสนา ฟูกคือผ้าที่ยัดด้วยนุ่นเรียก เสื่อ เสื่อที่ทอด้วยต้นผือ ต้นกก ปอกล้วย เรียก สาด ผ้าปูนั่งที่ยัดด้วยนุ่นกว้างยาวศอกคืบ เรียก อาสนา อาสนะ ก็ว่า เสื่อสาดอาสนาทั้งสามอย่างมีความจำเป็นแก่คนเรา การทำก็ต้องทำให้ถูกโสก โสกเสื่อสาดอาสนา มีดังนี้

    asana song

     

    ศรีมูลมานั่งเฮ้า
    ผู้เฒ่านั่งทรงทุกข์
    นอนสุขกินเท่าชั่ว
    ถงเป้งฮั่วเป็นฮู
    สาวมาชูชิงฮัก
    มักป่วยไข้เสียดาย
    มีของหลายเหลือที่ไว้
    ขี้ไฮ้เกิดเป็นคนดี

    ถ้าเป็นเสื่อหรืออาสนะที่ลายเป็นตาๆ ให้นับตาของเสื่อหรืออาสนะนั้น ตกตรงไหนดีเอาต้นนั้น ถ้าเป็นสาดให้ใช้คืบวัด ถ้าตก "ศรีมูลมานั่งเฮ้า" ทำนายว่า ดี จะได้รับมรดกจากพ่อแม่ ตก "นอนสุขกินเทาชั่ว" ทำนายว่า ดี จะอุดมสมบูรณ์ตลอดอายุ ตก "ถงเป้งฮั่วเป็นฮู" ทายว่า ไม่ดี จะเสียมากกว่าได้ ตก "ขี้ไฮ้เกิดเป็นดี" ทายว่า ดี ถึงตกทุกข์ได้ยากมาก่อนก็จะประสบความสุขกายสบายใจตลอดอายุขัย

    โสกหน้าผาก หน้าผากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะส่วนอื่น บางคนหน้าผากแคบ บางคนหน้าผากกว้าง บางคนสั้น บางคนยาว เพราะความไม่เท่ากันไม่เหมือนกันนี้ คนเราจึงดีไม่ดีต่างกัน หน้าผากมีโสก มีดังนี้

    na pag

     

     

    เงินหมื่น
    เงินแสน
    แบนที่ลี้
    เป็นหนี้เท่าตาย

    ให้ใช้นิ้วโป้ของตัวเองวัดจากคางไปถึงตีนผม ตกโสกไหน ทายตามโสกนั้น ถ้าตก "เงินหมื่น" และ "เงินแสน" ทำนายว่า ดี คนนั้นจะมั่งมีด้วยข้าวของเงินทอง และยศฐาน์บรรดาศักดิ์ ตก "แบนที่ลี้" และ "เป็นหนี้เท่าตาย" ทายว่า ไม่ดี หากินไม่พอปากพอท้อง ต้องกู้หนี้ยืมสินคนอื่น จะประสบแต่ความทุกข์ยากอัตคัดขาดแคลน ตั้งแต่เกิดจนตาย อวัยวะนอกจากหน้าผากนี้ก็มีความสำคัญเหมือนกัน แต่ไม่นำมาเล่าไว้ในที่นี้ เพราะในที่นี้ต้องการจะพูดถึงเฉพาะโสกเท่านั้น

    โสกแห แหเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง โบราณสานด้วยป่าน ปอ เทือง การสานจะสานให้ตาห่างหรือถี่แล้วแต่ต้องการ มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง บ้านใดที่ใช้แหถี่ บ้านนั้นไม่มีปลาตัวโต และเป็นบ้านที่อัตคัดขัดสนน้ำ ถึงจะมีบวกหนองบ้างก็มีน้ำน้อย มีน้ำห้งพอเอาะเจ๊าะแอะแจ๊ะ มีเขียดหมากแอ่งกับเขียดจ่านาเฝ้าอยู่ การสานแหต้องการให้กว้างจึงต้องสานแขด้วย แหถ้าทำให้ถูกโสกก็ดี ถ้าทำไม่ถูกโสกก็ไม่ดี โสกของแห มีดังนี้

    hae แขแห
    แขปลา
    มาเปล่า
    เน่าชาน
    คานหัก
    ยักเหมือด
    เลือดติด
    จิดปิดจี่ปี่
    บี่หัว
    แม่ครัวนั่งตากแดด

    ให้นับแขแหจากปากแหไปถึงจอมแห ถ้าตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "มาเปล่า ผักเหมือด" และ "บี่หัว" ทำนายว่า ไม่ดี ตกแหตลอดวันไม่ได้ปลา ถึงได้ก็ได้น้อยไม่พอกิน ต้องอาศัยผักเป็นที่พึ่ง ถ้าตก "เน่าชาน คานหัก" และ "แม่ครัวนั่งตากแดด" ทายว่า ดี มีโชคลาภมากเหลือเกิน เหลืออยากแจกญาติพี่น้องและขายไปเท่าไหร่ก็ไม่หมด

    โสกอู่ อู่คือเปล อู่เป็นที่นอนของเด็กเล็ก การทำอู่โบราณต้องให้ถูกโสก โสกอู่ มีดังนี้

    oo maipai

     

    ตาอู่
    ตาแอง
    ตาแมงแคงไห้ฮ่ำ
    ตาแสนส่ำนอนสำบาย

    การสานอู่ของคนโบราณใช้สานด้วยไม้ไผ้ สานเป็นตาหมากกอก อากาศเข้าได้โดยรอบด้าน ถ้าสานทึบจะทำให้เด็กไม่ชอบ ให้นับตาอู่เป็นเกณฑ์ นับจากหัวลงไปตีน ตกตรงไหนดีเอาตรงนั้น ถ้าตก "ตาอู่ ตาแอง" และ "ตาแสนส่ำนอนสำบาย" ทำนายว่า ดี กล่อมไกวชั่วครู่เด็กก็นอนหลับ และหลับสบาย ไม่มีหลับๆ ตื่นๆ ถ้าตก "ตาแมงแคงไห้ฮ่ำ" ทายว่า ไม่ดี พอยกเด็กลงอู่เด็กจะร้องไห้เหมือนมีอะไรมากัดกิน หรือไม่ก็ไม่หลับไม่นอนเลยมีแต่ร้องไห้

     

    line

     backled1

     

    isan word tip

    isangate net 345x250

    ppor blog 345x250

    adv 345x200 1

    นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

    ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)