foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

ฮูปแต้ม (2)

ฮูปแต้ม หรือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่เกิดจากศรัทธาอย่างแรงกล้าของ "ช่างแต้ม" ที่มีต่อพระพุทธศาสนา มีอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังในภูมิภาคอื่นๆ นิยมถ่ายทอดเรื่องราวจากวรรณกรรมทางศาสนา เช่น พุทธประวัติ พระมาลัย ไตรภูมิ อรรถกถาชาดก ปริศนาธรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น สินไซ การเกด พะลัก-พะลาม แต่ที่นิยมนำมาเขียนเป็นฮูปแต้ม ได้แก่ พระมาลัย พระเวสสันดร และสินไซ

hoob tam wat pokam 01

นอจากนั้น ช่างแต้มอีสาน ยังเขียน "ภาพกาก" ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน เหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมของชาวอีสานได้อย่างดี ภาพจิตรกรรมอีสานเป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีคุณค่า เป็นศิลปะที่แสดงออกอย่างซื่อๆ ไร้มายา และเป็นศิลปะสะท้อนความจริงที่มีจิตวิญญาณความเป็นคนอีสานอยู่อย่างสมบูรณ์

hoob tam wat khonkaen 02

สิ่งที่เด่นชัดในฮูปแต้ม ที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานออกแบบ คือ ภาพที่ประกอบไปด้วย รูปร่าง เส้น และสี โดยจำแนกเป็นกลุ่มได้  ดังนี้

1. กลุ่มภาพมนุษย์และอมนุษย์

ภาพมนุษย์หรือภาพคน ส่วนใหญ่เป็นภาพด้านข้างไม่มีแสงเงา มีเพียงเส้น รูปร่างและสี ประกอบด้วยตัวพระ ตัวนาง รูปตำรวจ ทหาร ชาวต่างชาติและชาวบ้านอีสาน ลักษณะท่าทางเป็นกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางศาสนา ส่วนภาพอมนุษย์เป็นภาพครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ในป่าหิมพานต์ รวมถึงภาพตัวร้ายในเรื่อง เช่น ยักษ์กุมภัณฑ์ ชูชก เป็นต้น

hoob tam wat manoot 03

2. กลุ่มภาพสัตว์

มีมากมายหลายชนิด ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก ซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ และมีสัตว์ที่เกิดจากการจินตนาการ หรือเป็นสัตว์ในวรรณกรรม เช่น คชสีห์ สิงห์ มอม พญานาค การเขียนภาพสัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการขียนด้านข้าง แต่จะพบการเขียนด้านหน้าด้วยเช่นกัน ลักษณะอารมณ์ของสัตว์เหล่านี้มักเป็นแบบน่ารัก น่าชัง บางตัวดูตลก เป็นการสร้างความสนุกสนานในการชมฮูปแต้ม

hoob tam wat animal 04

3. กลุ่มภาพสิ่งของ

สิ่งของต่างๆ ประกอบด้วยหมวดเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หมวดเครื่องดนตรี รวมถึงหมวดเครื่องแต่งกาย

4. กลุ่มภาพสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรม ประกอบด้วยธาตุ ธาตุบุคคลสำคัญ บ้านเรือน ปราสาทบนสวรรค์ ธรรมาสน์ เถียงนา ศาลา เป็นต้น ลักษณะการเขียนภาพสถาปัตยกรรมมีทั้งเขียนเป็นรูปด้านหน้าหรือด้านข้าง และวาดในลักษณะ 3 มิติ ประกอบด้วยด้านบน ด้านหน้า และด้านข้าง (Isometric)

hoob tam wat arkan 05

5. กลุ่มภาพธรรมชาติ

ภาพธรรมชาติที่นิยมเขียนในกลุ่มนี้ ได้แก่ ต้นไม้กับโขดหิน ภาพต้นไม้ในฮูปแต้มมีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการเขียนลำต้นโค้งเป็นธรรมชาติ นิยมตัดเส้นใบ ส่วนโขดหินเขียนด้วยเส้นโค้งซ้อนและต่อนื่องกัน ระบายสีแถบใหญ่ด้านใต้ขนานกับเส้นโค้งนั้นด้วยสีส้มหรือสีน้ำตาล คล้ายงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์

hoob tam hin tonmai 06

กรรมวิธีและวัสดุในการเขียนฮูปแต้ม

การจัดเตรียมวัสดุในการเขียนฮูปแต้มและเทคนิคการทำผนังสิม มีความสำคัญและส่งผลต่อฮูปแต้มเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ต้องทำผนังให้เหมาะสมต่อการเขียนฮูปแต้ม โดยการทำปูนฉาบผนังด้วยสูตรที่ผสมเป็นพิเศษ หรือ "ชะทาย" เป็นส่วนผสมของเปลือกหอยนำมาเผา แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับกาวเปลือกยางบงและเครือเขาคำ และผสมกับทรายละเอียด บางสูตรอาจนำหนังวัวหรือควายมาเผาจนไหม้หมดแล้วแช่เอาน้ำเหนียวๆ หรือนำน้ำอ้อยมาผสมปูนด้วย พื่อป้องกันสีฮูปแต้มที่ผิดเพี้ยน เมื่อฉาบผนังด้วยชะทายเป็นที่เรียบร้อยก็ต้องทำการไล่ความเค็มออกจากพื้น ด้วยการนำน้ำต้มใบขี้เหล็กไปฉีดที่ผนังทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นมาถึงขั้นตอนการตรียมการรองพื้นผนังที่จะแต้มฮูป ใช้ดินสอพองผสมกับกาวน้ำมะขามทาบางๆ รองพื้นผนังสิม เมื่อแห้งแล้วจึงจะแต้มฮูปได้

hoob tam animal 07

การแต้มฮูปใช้วิธีร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังก่อน จากนั้นจึงลงสีฉากหลังก่อนแล้วจึงวาดรายละเอียดพิ่มเติม แล้วใช้พู่กันที่ทำจากรากดอกเกด (ดอกลำเจียก) นำมาทุบปลายแล้วลงสี ส่วนสีแต้มนั้นได้มาจากวัสดุธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น สีครามได้มาจากต้นคราม สีเหลืองได้จากยางต้นรง สีแดงหรือสีน้ำตาลแดงได้จากดินแดงประสานกับยางบง สีดำได้จากเขม่าไฟป่นละเอียดหรือหมึกแท่งจากจีน สีขาวได้จากการฝนเปลือกหอยกี้ สีเคมีนำมาจากสีบรรจุของตราสตางค์แดง มีตัวเชื่อมหรือตัวประสานระหว่างสีกับผนัง คือ ยางบงหรือยางมะตูมผสมน้ำ บ้างก็ใช้ไขสัตว์แล้วนำมาผสมกับสีฝุ่นที่บดละเอียด วัสดุธรรมชาติเหล่านี้ทำให้โทนสีของฮูปแต้มอีสานมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

องค์ประกอบของฮูปแต้ม

เนื่องจากช่างแต้มมีอิสระเเสรีในการแสดงออกอย่างเต็มที่ รูปแบบและกรรมวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์ในฮูปแต้มอีสานจึงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ในภาพรวมแล้วองค์ประกอบในฮูปแต้มอีสานคล้ายกับการแสดงหนังตะลุง ผืนผนังภายในและภาพภายนอกของสิมเปรียบได้กับจอหนัง มีตัวละครที่กำลังแสดงอริยาบถต่างๆ ตามท้องเรื่องจากตอนหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกตอนหนึ่งใกล้ๆ กับเนื้อเรื่องแต่ละตอนจะมีคำบรรยายภาพด้วยตัวอักษรกำกับไว้ด้วย มีทั้งตัวอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรไทยปัจจุบัน อักษรเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในภาพมากยิ่งขึ้น ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบเป็นสิ่งแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอน หรือไม่ก็ปล่อยช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพเพื่อมิให้เกิดความสับสนระหว่างเนื้อหาแต่ละตอน ช่องว่างจะเกิดคุณค่าคล้ายกับที่พักสายตา คล้ายกับการเว้นวรรคของประโยคหรือการขึ้นบรรทัดใหม่ของคอลัมน์ในการเขียนหนังสือ

hoob tam sinchai 08

พื้นผนังหรือฉากหลังไม่มีการรองพื้นด้วยสีหนัก จะรองพื้นด้วยสีขาวล้วนหรือขาวนวล ทำให้บรรยากาศของภาพดูสว่างสดใส ช่างแต้มจะร่างรูปทรงของตัวละครต่างๆ ลงบนผนังสีขาวนั้น มีการลงสีตกแต่งเครื่องประดับตัดเส้นลงรายละเอียดในบางส่วนที่เป็นรูปทรงของตัวละคร จุดเด่นขององค์ประกอบภาพจึงอยู่ที่ตัวละคร สำหรับสิมบางหลังช่างแต้มจะระบายสีบางๆ มีน้ำหนักอ่อนๆ บริเวณใกล้เคียงกับตัวภาพหรือตัวละคร ทำให้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ เกิดความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่าที่เป็นสีขาวโดดๆ

hoob tam naisim 09

ช่างแต้มในงานฮูปแต้ม

หากพิจารณาฮูปแต้มอีสานทั้งหมดจะพบว่า ลักษณะรูปร่าง ลายเส้น ตลอดจนสีมีความแตกต่างกัน โดยอาจจำแนกลักษณะงานที่สร้างสรรค์โดยช่างแต้มได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ คือช่างแต้มที่ถ่ายทอดและฝึกฝนกันอยู่ในท้องถิ่น ลักษณะงานจึงเป็นศิลปะพื้นบ้านอีสานแท้ กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด
    hoob tam group1 2 10
  • กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ คือช่างแต้มที่เคยไปกรุงเทพฯ อาจเป็นช่างหลวงหรือที่ได้รับการฝึกฝนจากช่างหลวง นำมาผสมผสานกับเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการพื้นบ้าน กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มผู้เขียนภาพวัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภาพจึงคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม
  • กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างแถบลุ่มน้ำโขง ที่แสดงลักษณะวัฒนธรรมล้านช้างผสมผสานกับอิทธิพลวัฒนธรรมหลวง พบฮูปแต้มกลุ่มนี้ได้ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
    hoob tam group3 11

ลักษณะเด่นและคุณค่าเชิงรูปธรรม

ลักษณะเด่นของฮูปแต้มอยู่ที่ภาพที่ปรากฏประกอบด้วยรูปร่าง เส้นและสี รูปร่างของฮูปแต้มอีสานเริ่มเขียนจากรอบนอก (Outline) แล้วลงสีพื้น จากนั้นตัดเส้นรายละเอียดภาพในรูปร่าง ไม่มีการระบายแสงเงา ไม่เน้นกล้ามเนื้อและสัดส่วนที่เหมือนจริง เป็นรูปร่างที่เน้นการสื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร การเขียนรูปร่างมักมาจากของจริง แต่ช่างแต้มนำมาเขวียนในรูปแบบและความรู้สึกของช่างแต้มเอง โดยเขียนอย่างอิสระไม่มีกรอบตายตัวที่บังคับให้เขียนให้เหมือนจริงด้วยสัดส่วน แสงเงา หรือกล้ามเนื้อ แม้จะไม่เหมือนจริง แต่ก็เป็นเสน่ห์ของฮูปแต้มอีสาน เส้นเป็นเส้นอิสระไม่แข็งหรือเกร็ง ดูแล้วสบายๆ คล้ายเส้นของภาพการ์ตูน สีและโครงสีเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของฮูปแต้ม เป็นโครงสีที่มีบรรยากาศสว่างสดใส พื้นหลังสีขาวนวล ช่วยขับให้ตัวละครลอยเด่นออกมา เป็นศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เน้นประโยชน์ใช้สอยมาเป็นอันดับแรก เหมือนการเขียนแบบง่ายๆ แต่เมื่อพิจารณาถ้วนถี่จะเห็นการเก็บรายละเอียดที่สมบูรณ์และประณีตอย่างมาก

hoob tam wat chaisri 12

ลักษณะเด่นและคุณค่าเชิงนามธรรม

ฮูปแต้ม เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านเรื่องราวพุทธประวัติ พุทธชาดก และวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน มีเรื่องราวนรก สวรรค์ เป็นสิ่งเตือนใจให้คนไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และมีปริศนาธรรมให้ขบคิดประเทืองปัญญา นอกจากนั้น ฮูปแต้มยังเล่าเรื่องราวชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของคนอีสานในสมัยนั้น ส่วนวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น เรื่องสินไซ จะแฝงด้วยแก่นธรรมของพุทธศาสนา โดยนำมาเล่าผูกเรื่องให้สนุกสนาน เพิ่มความสนใจแก่ชาวบ้านผู้ชม นอกจากเนื้อหาเชิงนามธรรมแล้ว ฮูปแต้มยังสะท้อนบุคลิกแบบอีสาน คือ ความตรงไปตรงมา ซื่อๆ ง่ายๆ แม้รูปร่างหน้าตาสีสันจะไม่สวย ไม่วิจิตร แต่มีความสนุกสนานในตัวเอง

redline

backled1

attalak isan

ไดโนเสาร์

ไดโนเสาร์ การขุดพบโครงกระดูกไดโนเสาร์บนทือกเขาภูเวียง ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดพบโครงกระดูกของ ไดโนเสาร์ซอโรพอด และโครงกระดูกไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ชื่อว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ซึ่งนำชื่อภูเวียงมาเป็นชื่อสกุล และอัญชิญพระนามาภิไธยใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นชื่อชนิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการจัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์

dino sao 04

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม โครงกระดูกไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรธรณีสู่สาธารณชน เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป

การค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทย

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2513 หน่วยสำรวจธรณีวิทยา จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้พบ แร่ยูเรเนียม ชนิดคอฟฟินไนต์ เกิดร่วมกับ แร่ทองแดงชนิดอะซูไรต์และมาลาไคต์ ทำให้ต่อมา องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมาณู เข้าไปสำรวจเพิ่มเติมด้วย ระหว่างปี พ.ศ. 2518 ตลอดจนปี พ.ศ. 2523 กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปทำการเจาะสำรวจในรายละเอียด

ในปี พ.ศ. 2519 นายสุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยา ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์เศษกระดูกไดโนเสาร์ บริเวณพื้นลำห้วยประตูตีหมา และต่อมาวินิจฉัยได้ว่าเป็นเศษส่วนปลายของกระดูกขาหลัง ท่อนบนด้านซ้ายของ ไดโนเสาร์ซอริสเชีย ในกลุ่มซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มี 4 ขา คอยาว หางยาว) โดยถือได้ว่าเป็นการค้นพบหลักฐานไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทย ที่นำไปสู่การสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน

dino sao 02

นับจากการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณี โดย โครงการความร่วมมือด้านบรรพชีวินวิทยา ไทย-ฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจไดโนเสาร์บนเทือกเขาภูเวียงอย่างต่อเนื่อง มีการค้นพบกระดูก ฟัน และรอยตีนไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบอยู่ในหินทราย หมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น (ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว) มีทั้ง ไดโนเสาร์ซอโรพอด และเทอร์โรพอด หลากหลายสายพันธุ์ และมีขนาดตั้งแต่ตัวเท่าแม่ไก่ ไปจนถึงมีลำตัวยาวจากหัวจรดหางมากกว่า 15 เมตร

นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ ทำให้คนไทยมีความตื่นตัว เดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งไดโนเสาร์ที่เทือกเขาภูเวียงอย่างต่อเนื่อง และรวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่ 2 ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 และได้เสด็จพระราชดำเนินพาคณะกรรมการรางวัลนานาชาติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทอดพระเนตร พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551

การค้นพบแหล่งไดโนเสาร์บนเทือกเขาภูเวียง ถือเป็นการค้นพบที่สร้างชื่อเสียงให้กับ เทือกเขาภูเวียง เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไดโนเสาร์ซอโรพอด สกุลและชนิดใหม่จากภูเวียงที่ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phuwiangosaurus sirindhornae) ที่ใช่ชื่อภูเวียงเป็นชื่อสกุล และใช้นามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อชนิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง

dino sao 03

ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานมีความเห็นว่า สมควรก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงขึ้น และได้เลือกพื้นที่สาธารณประโยชน์ โคกสนามบินเนื้อที่ 100 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ ด้วยพื้นที่ใช้สอย 5,500 ตารางเมตร กรมทรัพยากรธรณี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแล โดยได้ทำการจัดนิทรรศการถาวร และเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2544

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า เป็นส่วนหนึ่งของ ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ กรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรธรณีสู่สาธารณชน เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป

ไดโนเสาร์แดนอีสาน : อีสาน – ดินแดนแห่งไดโนเสาร์

อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริการ ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก ห้องอาหาร ห้องบรรยาย ส่วนวิชาการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ห้องสมุด และส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ห้องจัดแสดงชั้นล่างและชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการการกำเนิดโลก หิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง กรมทรัพยากรธรณี โทรศัพท์ 043-438204-6

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง จากขอนแก่นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่านอำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ ถึงทางแยกไปอำเภอภูเวียง ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร จึงแยกตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2038 อีก 22 กิโลเมตรถึงอำเภอภูเวียงและเดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตรถึงพิพิธภัณฑ์

dino sao 05

การค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว

ไดโนเสาร์แดนอีสาน : ฟอสซิล

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ ที่ ภูกุ้มข้าว ในปี พ.ศ. 2537 โดย ท่านพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ต่อมาในปลายปีเดียวกัน ทางคณะสำรวจไดโนเสาร์ จาก กรมทรัพยากรธรณี ได้เริ่มเข้าไปทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่า ที่ภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทย โดยนักวิชาการได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์บริเวณภูกุ้มข้าวเป็นธารน้ำแข็งโบราณ ที่มีเหล่าไดโนเสาร์มาดื่มกินน้ำ แต่ว่าเกิดภัยพิบัติเฉียบพลันขึ้น ทำให้ไดโนเสาร์ล้มตายบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก

dino sao 06

พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัว ยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปี แหล่งขุดค้นแห่งนี้พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า 700 ชิ้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ประมาณ 7 ตัว นอกจากนี้ ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า “เลปิโดเทส” ยาวประมาณ 30–60 เซนติเมตร อยู่ใน ยุคมีโซโซอิค หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว คาดว่า บริเวณที่พบคงเป็นบึงขนาดใหญ่แล้วเกิดภัยแล้งทำให้ปลาตาย และถูกซากโคลนทับไว้ กลายเป็นฟอสซิลจนถึงปัจจุบัน นับว่าภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งที่พบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แหล่งใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

จากนั้นทีมสำรวจก็ได้ลงมือขุดค้น พบกระดูกและซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากที่นี่ ทางกรมทรัพยากรธรณี จึงได้ตั้งเป็นศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวขึ้นในปี 2538 โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทอดพระเนตรซากกระดูกไดโนเสาร์และจัดตั้งโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวขึ้น มีการจัดสร้างอาคารหลุมขุดค้นขึ้นชั่วคราว เพื่อใช้ป้องกันซากกระดูกและบังแดดฝน ให้ร่มเงาแก่ทีมสำรวจ

dino sao 08

ปี 2542 กรมทรัพยากรธรณี สร้าง “อาคารพระญาณวิสาลเถร” ที่ตั้งชื่อตามสมณศักดิ์ของท่านเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ให้เป็นอาคารหลุมขุดค้นถาวร พร้อมกับเปิดตัวแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ให้คนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ปี 2544 อาคารพิพิธภัณฑ์สิรินธรส่วนแรกสร้างแล้วเสร็จ ก่อนจะทำการทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2550 จากนั้นได้ทำการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีถัดมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดในวันที่ 9 ธันวาคม 2551

dino sao 07

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีการออกแบบเลียนแบบชั้นหินให้กลมกลืนกับภูมิประเทศภูกุ้มข้าว ภายนอกอาคารมีการจัดทำหุ่นจำลองไดโนเสาร์หลายพันธุ์จัดแสดงไว้ได้อย่างน่าดูชม ขณะที่ภายในอาคารนั้นจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร นำเสนอเรื่องราวของไดโนเสาร์อย่างครบเครื่อง น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเมื่อก้าวเข้าสู่ภายในโถงต้อนรับของพิพิธภัณฑ์ เราก็จะได้พบกับหุ่นจำลอง “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” ที่ยืนเด่นกลางโถงอ้าปากแยกเขี้ยวทำหน้าถมึงทึง ซึ่งเจ้าตัวนี้ถือเป็นไฮไลท์ของภูกุ้มข้าว เพราะมันเป็นบรรพบุรุษของ “ไทรันโนซอรัส เร็กซ์” หรือ เจ้า “ที-เร็กซ์” จอมโหดแห่งเรื่อง “จูราสสิกพาร์ก” ที่ใครเคยดูหนังเรื่องนี้คงจะคุ้นเคยกันดี

dino sao 09

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือ พิพิธภัณฑ์สิรินธร (อังกฤษ: Sirindhorn Museum) เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา ที่มีการจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ และแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ การอนุรักษ์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่างๆ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์สิรินธร ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "พิพิธภัณฑ์สิรินธร" มีการจัดแสดงแบ่งเป็น 8 โซน [ คลิกไปอ่านเพิ่มเติม ]

ไดโนเสาร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์

redline

backled1

attalak isan

บ้านเชียง

บ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งค้นพบว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะ เมื่อราว 5,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสูงมาแต่โบราณ ชาวบ้านเชียงโบราณเป็นชุมชนยุคโลหะ ที่รู้จักทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ นิยมทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก และรู้จักใช้เหล็กในระยะต่อมา แต่ก็ยังคงใช้สำริดควบคู่กันไป ชาวบ้านเชียงรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะสีเทา ทำเป็นลายขูดขีด ลายเชือกทาบและขัดมัน รู้จักทำภาชนะดินเผาลายเขียนสี รูปทรงและลวดลายต่างๆ มากมาย

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลายก้นหอยบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านเชียง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม แหล่งโบราณคดีที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนบ้านเชียงในอดีต

baan chiang 04

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถ หรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้น สามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคม - วัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมา เป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้องค์การยูเนสโกจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก

baan chiang 01

ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา

ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของบ้านเชียงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่

  • ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ 5,600-3,000 ปี มีลายเชือกทาบ ซึ่งคาดกันว่าเป็นปอกัญชา ทั้งยังมีลายขูดขีด และมีการเขียนสีบ่า โดยพบวางคู่กับโครงกระดูก บางใบใช้บรรจุศพเด็ก
  • ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 3,000 ปี-2,300 ปี สมัยนี้เป็นสมัยที่เริ่มมีการขีดทาสีแดง
  • ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 2,300 ปี-1,800 ปี เป็นยุคที่มีลวดลายที่สวยงามที่สุด ลวดลายพิสดาร สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุข ก่อนที่จะกลายมาเป็นการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน

baan chiang 02

สำริด

ชาวบ้านเชียงโบราณนิยมทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก ก่อนที่จะได้รู้จักใช้การใช้เหล็ก ชาวพอลินีเซียมีหลักฐานว่านิยมใช้สำริดเช่นกัน เช่น ใช้ทำเป็นกลองมโหระทึก

เครื่องสำริด บ้านเชียง

มรดกโลก

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 อันดับที่ 359 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

baan chiang 06

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า ในเขตวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย จัดทำเป็นนิทรรศการถาวร จัดแสดงจำลองขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาที่ฝังรวมกับศพที่เป็นโครงกระดูก

ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้า เป็นอาคารจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในยุคนั้น รวมถึงวัตถุโบราณและนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยไปจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในส่วนนี้ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยายและการให้บริการด้านการศึกษาแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สำคัญที่ได้เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ และยังเป็นสถานที่ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตรการทำงานของนักโบราณคดี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2515 โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน และเก็บรักษาหลักฐานทางโบราณคดีไว้ในสภาพดั้งเดิม จัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย

baan chiang 03

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี วัดโพธิ์ศรีใน เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2,300 - 1,800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวล เขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนทางด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย

ทั่วถิ่นแดนไทย ตอน ย้อนรอยความงดงามทางประวัติศาสตร์บ้านเชียง

การเดินทาง

การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง สามารถขับรถตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ถึงปากทางเข้าบ้านปูลูจะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

สัมพันธ์ไทย – สหรัฐ ผ่านการวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานี

redline

backled1

attalak isan

หมู่บ้านช้าง

หมู่บ้านช้าง อยู่ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านของชาวกุยหรือกวย ผู้มีความรู้เรื่องการคล้องช้างมาฝึกเพื่อใช้งานต่างๆ เป็นอย่างมาก จนมีผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์พระยาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น คนสุรินทร์จึงมีความผูกพันกับช้างมาก ในปัจจุบันชาวกุยยังคงมีความชำนาญในการเลี้ยงช้าง และสืบทอดวัฒนธรรม พิธีกรรมเกี่ยวกับช้างอย่างเหนียวแน่น มีการเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมากอยู่ที่บ้านตากลาง จนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นหมู่บ้านช้าง มีการตั้งศูนย์คชศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับช้าง จึงเป็นหมู่บ้านที่จะเข้าไปเที่ยวชมวิถีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง พิธีกรรมเกี่ยวกับช้างกับหมอปะกำ (ผู้นำในการคล้องช้าง) กิจกรรมการแสดงช้าง และวิถีชีวิตของชาวกุย

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม วิถีชีวิตของคนกับช้างที่อยู่ร่วมกัน ชาวกุยทุกบ้านต้องมีช้างเพื่อเป็นสิ่งมงคลให้กับบ้านเรือนของตนเอง และเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว เป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ช้างถือเป็นสิ่งมงคลกับบ้านเมือง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับช้างมากมาย

baan chang 01

สุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่

จังหวัดสุรินทร์ มีความเป็นมาว่าได้ก่อร่างสร้างเมืองเกี่ยวเนื่องกับช้าง เป็นจังหวัดที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย คนสุรินทร์เลี้ยงช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงมีวิถีชีวิต มีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงช้างในจังหวัดอื่นๆ ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล เฉลียวฉลาด ชื่อสัตย์ อดทน กล้าหาญ ในอดีตช้างเคยเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ในการทำศึกสงคราม ในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. 2544 ให้ช้างเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และกำหนดให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ 'ช้างเผือก' เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย

จังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” มีงานแสดงช้างสุรินทร์เป็นงานประจำปีของชาติ มีหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง และเป็นที่อาศัยของกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ที่เรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้างมาแต่ดั้งเดิม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน จนเป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านช้าง” ในอาณาบริเวณเขตตำบลกระโพมีช้างรวมกันอยู่ประมาณ 300 เชือก

baan chang 02

บ้านตากลาง ถิ่นช้างเมืองสุรินทร์เป็นหมู่บ้านช้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ 58 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 เส้นทางสายสุรินทร์ – ร้อยเอ็ด เลี้ยวซ้ายเมื่อถึง กม. 36 เข้าปากทางบ้านกระโพ ลึกเข้าไปตามถนนลาดยางบนที่ราบใกล้แม่น้ำมูล และลำห้วยน้ำชี ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ก็จะถึงเขตหมู่บ้านช้าง พื้นที่รอบๆ หมู่บ้านช้างส่วนใหญ่จะเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกลับป่าโป่ง อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าดงดิบสายทอ ทิศตะวันตกเป็นป่าดงดิบภูดิน ทิศเหนือของหมู่บ้านมีแม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง บริเวณนี้จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงช้างอย่างที่สุด

ชาวกวย หรือ กูย เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมายาวนาน รักสงบ รักอิสระ มีความสามัคคี เป็นคนมีระเบียบวินัย มีเอกภาพในสังคม มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือความอลังการอันน่าอัศจรรย์ ผสมผสานระหว่างคนกับช้าง

กูย วิถีคนเลี้ยงช้างแห่งอีสานใต้ I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

ก่อนปีพุทธศักราช 2500 ชาวกวยที่นี่จะมีอาชีพหลักคือ จับช้างป่ามาฝึกหัดไว้ใช้งาน ส่วนการทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง คือ ทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ในอดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ 2 – 3 ครั้งๆ ละ 2 – 3 เดือน ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา

หลังจากปีพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข ช้างและคนได้อยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น การเลี้ยงช้างของชาวบ้านบ้านตากลางเป็นการเลี้ยงในลักษณะที่ช้างเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน คนกับช้างมีความรักใคร่ผูกพันรู้จิตใจกันดังญาติสนิท แตกต่างจากการเลี้ยงช้างที่อื่นซึ่งเป็นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน

baan chang 03

ปัจจุบันแม้ชาวบ้านตากลางจะไม่ไปจับช้างแล้ว แต่ยังมีหมอช้างที่สืบทอดภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์อยู่ ผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยว สามารถพบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ ในการจับช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา ชีวิตของหมอช้างเป็นชีวิตที่ต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง ชาวบ้านตากลางเป็นผู้มีความสงบเสงี่ยมสำรวม พูดน้อย ถ้าได้สนทนาด้วยแล้วจะทราบว่าเขาคือนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้ บ้านตากลาง ยังเป็นสถานที่ฝึกช้างสำหรับแสดงในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำทุกปี และบ้านตากลางยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์คชศึกษา” พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้าง ภายใต้ศูนย์มีนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง เช่น เชือกประกำ เชือกคล้องช้างที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ และช่วงที่น่าไปเยี่ยมหมู่บ้านช้างมากที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เพราะควาญช้างจะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าว และนำช้างมาร่วมงานแสดงของจังหวัด ซึ่งจะมีช้างกลับมาอยู่บ้านเป็นจำนวนมาก

baan chang 04

ความเป็นมาของงานช้างสุรินทร์

ปี 2498 ถือว่าเป็นปีแห่งการชุมนุมช้างของชาวกวยอย่างไม่ได้ตั้งใจก็ว่าได้ ซึ่งการชุมนุมช้างในครั้งนั้น เกิดจากข่าวที่ว่า จะมีเฮลิคอปเตอร์มาลงที่บ้านตากลาง (เป็นหมู่บ้านของชาวกวย เลี้ยงช้าง ตั้งอยู่ที่ตําบลกระโพ อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์) ชาวบ้านจึงชักชวนกันไปดู ในสมัยนั้นพาหนะที่ใช้กันโดยทั่วไปของชาวกวยก็คือ ช้าง ซึ่งถูกฝึกมาเป็นอย่างดี แต่ละคนแต่ละครอบครัวก็พากันนั่งช้างมาดูเฮลิคอปเตอร์ พอไปถึงจุดที่เฮลิคอปเตอร์จอดปรากฏว่า ช้างที่ได้รวมกันนั้นนับได้กว่า 300 เชือก ทําเอาคนที่มากับเฮลิคอปเตอร์ตกใจ และแปลกใจมากกว่าชาวบ้านเสียอีก

เหตุการณ์ 'ชุมนุมช้าง' อย่างไม่ได้ตั้งใจใน ปี 2498 ทําให้ผู้คนที่ทราบข่าวต่างพากันให้ความสนใจกันเป็นจํานวนมาก และในปี 2503 อําเภอท่าตูม ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านช้าง ได้มีการเฉลิมฉลองที่ว่าการอําเภอใหม่ นายวินัย สุวรรณประกาศ ซึ่งเป็นนายอําเภอในขณะนั้น ได้เชิญชวนชาวกวยเลี้ยงช้างทั้งหลาย ให้นําช้างของตนมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ดูได้ชมกัน เนื่องจากไม่สามารถจะไปคล้องช้างตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาได้อย่างเคย อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

การแสดงในครั้งนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจํานวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีการแสดงคล้องช้างให้ดูแล้ว ยังมีการเดินขบวนแห่ช้าง การแข่งวิ่งช้าง และในกลางคืนก็ได้มีงานรื่นเริงมีมหรสพต่างๆ ตลอดคืน ซึ่งใครจะคาดคิดว่า จากงานเฉลิมฉลองที่ว่าการอําเภอเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นทุรกันดารของภาคอีสานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 จะกลายมาเป็นงานประเพณีของชาติที่โด่งดังไปทั่วโลก นับต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ประเพณีการแสดงของช้างได้ดําเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 60 ปี แล้ว

จังหวัดสุรินทร์ ที่เคยเงียบเหงาในอดีต ได้ถูกชาวกวยและช้าง สร้างให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ "

ประเพณีบวชนาคช้าง

นอกจากการแสดงของช้างที่ลือลั่นไปทั่วโลกแล้ว สุรินทร์ยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่รวมกันถึง 3 กลุ่มด้วยกันคือ กวยหรือส่วย เขมร และลาว ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีขนบประเพณีที่แตกต่างกันออกไป และก็เป็นที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์ไว้สําหรับอนุชนรุ่นหลัง

baan chang 05

ประเพณีงานบวชประจําปี ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตําบลกระโพ อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สําหรับจังหวัด สุรินทร์หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเลยก็ว่าได้

หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นหมู่บ้านของชาวกวยที่เลี้ยงช้าง ซึ่งช้างจากหมู่บ้านช้างแห่งนี้นี่แหละที่ไปแสดงงานช้างของจังหวัดเป็นประจําทุกปี

ชาวกวย แห่งบ้านตากลางดําเนินวิถีชีวิตด้วยการเลี้ยงช้างตามรอยบรรพบุรุษมานานนับศตวรรษ และที่แห่งนี้ก็เป็นทําเลที่เหมาะสําหรับการเลี้ยงช้างที่สุด กล่าวคือ อยู่บริเวณที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ํามูลและแม่น้ำชีที่ไหลมาบรรจบกัน กอปรกับยังมีสภาพป่าหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งนับวันก็ถูกทําลายลงทุกที่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องนําช้างออกไปเร่ร่อนตามเมืองใหญ่ๆ

ช่วงวันขึ้น 13-15ค่ํา เดือน 6 ของทุกปี ชาวหมู่บ้านตากลางและหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีบุตรชายอายุครบบวช ต่างพร้อมใจกันกันจัดงานบวชขึ้น โดยแต่ละบ้านที่จัดงานบวชก็จะมีการบายศรีสู่ขวัญนาค และจัดงานเลี้ยงคล้ายๆ กับงานบวชโดยทั่วๆ ไป

ซึ่งการบายศรีสู่ขวัญนาคของชาวกวยนั้น นิยมทําเป็นคู่เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยจะจัดขึ้นในขึ้น 13 ค่ํา ครั้นพอถึงวัน ขึ้น 14 ค่ํา ซึ่งถือเป็นวันแห่นาค ทุกบ้านก็จะให้นาคขึ้นช้างและแห่มารวมกันที่วัดบ้านตากลาง ก่อนที่ทั้งหมดจะเคลื่อนขบวนแห่ไปที่ลําน้ํามูล บริเวณที่เรียกว่า "ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ" หรือเรียกในภาษากวยว่า "หญ่าจู๊" เพื่อไปทําพิธีขอขมา และบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกวยเคารพนับถือ นอกจากศาลเจ้าพ่อที่บริเวณวังทะลุแล้ว ยังมีอีก 2 แห่ง คือ ที่ท้ายหมู่บ้านและท้ายวัด

baan chang 06

ในการแห่ขบวนทั้งหมดไปยังบริเวณลําน้ำมูล ก็คงจะคล้ายๆ กับประเพณีบวชนาคที่หาดเสี้ยว ของจังหวัดสุโขทัย และประเพณีบวชนาคของหมู่บ้านช้างบ้านตากลางนี้ ก็มีช้างเข้าร่วมขบวนนับร้อยเชือก ซึ่งนับได้ว่าเป็นขบวนแห่นาคที่ยิ่งใหญ่และหาดูได้ยากยิ่งในทุกวันนี้

ช้างแต่ละเชือกที่เข้าร่วมขบวนแห่นั้น เจ้าของหรือควาญก็ได้แต่งองค์ทรงเครื่องไม่แพ้กับนาคที่นั่งอยู่บนเจ้าตัวเท่าใดนัก บางเชือกก็มีการเขียนคําเท่ๆ ไว้ตามตัว ให้ผู้คนได้อ่านกัน คลายเครียดด้วย งานนี้ทั้งนาคทั้งช้างต่างก็ไม่ยอมแพ้กันในเรื่องความงาม

เมื่อขบวนแห่มาถึงบริเวณวังทะลุแล้ว ก็จะมีการเช่นผีปู่ตาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมของชาวกวยโดยทั่วไป การเช่นปู่ตานั้น จะเป็นในลักษณะของการเสี่ยงทายด้วย โดยการดึงคางไก่ที่ใช้ในพิธีออกมาดู ซึ่งเป็นความเชื่อเช่นเดียวกับการเสี่ยงทายคางไก่ก่อนออกไปคล้องช้าง

การเสี่ยงทายคางไก่ก่อนการบวชนี้ เพื่อทํานายดูว่า จะมีเหตุการณ์อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการบวชหรือไม่ สําหรับกระดูกคางไก่ที่ใช้เสี่ยงทายนั้น จะมีลักษณะเป็น 3 ง่าม และดูจากส่วนตรงกลางของกระดูก ถ้ามีลักษณะปลายตรงก็จะบวชได้นาน แต่ถ้าเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งก็จะบวชได้ไม่นาน และถ้าปลายนั้นงองุ้มเข้าหาคอ แสดงว่าจะมีอุปสรรคทําให้ไม่สามารถบวชได้ เมื่อพิธีทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะมีพิธีอุปสมบทในวัน ขึ้น 15 ค่ํา เดือน 6

พิธีบวชนาคช้าง บ้านตากลาง ตําบลกระโพ อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

จากคําบอกเล่าของชาวกวยที่นี่บอกว่า จัดมาไม่ต่ํากว่า 2 ชั่วอายุคนแล้ว แต่ว่าไม่มีการประชาสัมพันธ์ไปสู่ภายนอกมากนัก อาจเป็นเพราะชาวกวยเป็นกลุ่มที่รักความสงบ และก็เห็นเป็นประเพณีธรรมดาๆ แต่ว่าถ้าใครได้มาเห็นแล้ว รับรองเลยว่า ไม่ธรรมดาแน่ๆ งานช้างที่ว่ายิ่งใหญ่แล้ว มาเจองานนี้เช้าก็ต้องอึ้งไปเหมือนกัน เพราะงานช้างถือว่าเป็นการแสดง แต่งานบวชนี้เป็นประเพณีที่เกิดก่อนงานช้างหลายสิบปี

หลังจากมีผู้คนไปพบเห็นและมีการบอกเล่าต่อๆ กันมา ทําให้ประเพณีดังกล่าวถูก ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ และในแต่ละปีก็จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แวะเข้ามาร่วมขบวนแห่กันอย่างคึกคัก ทําให้ประเพณีบวชของชาวกวยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

แม้ว่าในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไป ป่ารอบๆ หมู่บ้านที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีต ได้เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา พื้นที่เลี้ยงช้างในอดีต ถูกบุกรุกจากราษฎรในพื้นที่เข้าปลูกยูคาลิปตัส ทำให้พืชอาหารช้างลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้คนเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ ต้องนำช้างออกไปรับจ้างอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และเร่ร่อนเลี้ยงชีพอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาหมู่บ้านช้างสุรินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนแม่บทพัฒนาหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก โครงการช้างคืนถิ่นพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ฯลฯ เพื่อให้ช้างและควาญช้างได้กลับมาอยู่ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ตลอดไป

รายการ "ทั่วถิ่นแดนไทย" ตอน สัมผัสวิถีชาวกูย บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)