foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

กกไหล

กกไหล หรือ ต้นไหล บ้างเรียกว่า กกราชินี เป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ขนาด 1 - 2 เมตร ชอบขึ้นในดินเหนียวที่ชุ่มชื้นและมีอินทรีย์วัตถุสูงจนถึงน้ำลึก 60 เซนติเมตร ใบแผ่ออกเป็นแฉกตรงไม่ห้อยลู่ลง ชาวบ้านบุ ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นำกกไหลมาทำผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เสื่อพับ เสื่อปูนั่ง ที่รองจาน ที่รองแก้ว รองเท้า หมอนอิง กระเป๋า ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ผลิตภัณฑ์โดดเด่นของหมู่บ้านนี้ คือ เสื่อยาวสำหรับปูในศาลาวัด และเสื่อยกลาย ซึ่งมีเทคนิคการทอคล้ายการทอผ้าขิด และการทอเสื่อยกลายทอเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายปราสาทพนมรุ้ง ลายปราสาทนครวัด ลายผีเสื้อ เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เสื่อมีสีสันสดใส ลวดลายสวยงามและหลากหลาย ปรับทอตามลวดลายและการใช้งาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การทอเสื่อยาวสำหรับปูในศาลาวัด สะท้อนความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา

kok lai 01

กก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperaceae; อังกฤษ: Sedge) เป็นไม้ล้มลุก มีประมาณ 4,000 ชนิด แพร่พันธุ์กระจายทั่วโลก ชอบที่ชื้นแฉะ ขึ้นในที่ระดับต่ำตามหนอง บึง ทางระบายคันคูน้ำและโคลนเลน ใน 46 ประเทศ จัดพืชวงศ์กกเป็นวัชพืช มีหลายชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น Eleocharis toberosa และ Scirpus toberosus และหลายชนิดนำมาทำเครื่องจักสานได้อย่าง เสื่อ กระจาด กระเช้า หมวก เช่น กกชนิด Scirpus mucronatus, Lepironia mucronata, Carex brizoides เป็นต้น

กกมีรูปร่างลักษณะและนิเวศวิทยาเหมือนหญ้ามาก มีลักษณะที่แตกต่างจากหญ้าคือ กกมักมีลำต้นตัน และเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุม บางชนิดมีผนังกั้นแบ่งเป็นห้องๆ มีกาบใบอยู่ชิดกันมาก และที่สำคัญคือเกือบไม่มีลิ้นใบ บางชนิดไม่มีเลย ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของกกคือ ดอกแต่ละดอกจะมีกาบช่อย่อยห่อหุ้มหรือรองรับเพียงอันเดียว กกมีไหลเลื้อยไปใต้ดินและจากไหลก็จะแตกเป็นลำต้นที่ตัน โผล่พ้นขึ้นมาเหนือดิน และเมื่อผ่าลำต้นดูตามขวาง จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุมดังได้กล่าวมาแล้ว ลำต้นกกจะไม่แตกกิ่งเหมือนพืชชนิดอื่น ใบของกกเหมือนกับใบของหญ้า แต่จะเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นสามมุมหรือสามตำแหน่งรอบโคนต้นและมีกาบห่อหุ้มลำต้นและไม่มีลิ้นใบ

kok lai 04

“ต้นกก” เป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การทอเสื่อกกนั้นนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีการสืบสานมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี ชาวบ้านก็มักจะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำไร่นา มาทอเสื่อกกเพื่อใช้ในครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริม

แต่ปัจจุบัน ภูมิปัญญาในการทอเสื่อกกเริ่มจางหายไป มีสินค้าจากวัสดุสังเคราะห์เข้ามาแทนการใช้เสื่อกกมากมาย ทำให้กระแสความนิยมในการใช้เสื่อลดลง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ไม่ให้ความสนใจ จะเหลือก็เฉพาะคนเก่าคนแก่ที่ยังคงสืบสานการทอเสื่อกกอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน

kok lai 02

ในการทอเสื่อกกนั้น เมื่อก่อนชาวบ้านจะใช้พืชที่ขึ้นในน้ำที่เรียกว่า “ผือ” มาทอและใช้เชือกฟางผูกเชื่อมเป็นเสื่อมาหลายปี แต่เมื่อมี “กก” มาทดแทน และยังพบว่า "กก" สามารถย้อมสีทนและสวยงามกว่าผือ จึงหันมาใช้กกในการทอ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเสื่อกกพับดังเช่นในปัจจุบัน

ขั้นตอนการทอเสื่อกก

  • นำกกหรือไหลมาตัดให้เท่ากัน ไหลที่นำมาตัดนั้นจะต้องเป็นลำที่สวยงาม ไม่แก่มาก และไม่อ่อนมากจนเกินไป หลังจากนั้นนำกกหรือไหลมาสอย (ฉีก) เอาไส้ทิ้งเอาแต่เส้น
  • นำกกหรือไหลมาตากให้แห้ง จะย้อมได้สวยตากแดดประมาณ 1 อาทิตย์ และนำไหลมาย้อมสีตามที่ต้องการโดยสีที่ย้อมเป็นสีเคมีอย่างดี

kok lai 05

วิธีการย้อม

  • เลือกสีสำหรับย้อมที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีบานเย็น สีม่วง
  • ก่อไฟแล้วนำปี๊ป หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นกกนำมาตั้งบนเตารอให้น้ำเดือด ก็นำสีที่เลือกมาเทลง จากนั้นกำกกหรือไหลลงย้อม
  • นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าเพื่อให้กกอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น เหนียว และไม่ขาด ซึ่งจะง่ายต่อการทอ ทอแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง

kok lai 06

วิธีการทอ

  • นำเชือกไนลอนหรือเชือกเอ็นขึงที่โฮมทอเสื่อให้เป็นเส้นตามโฮม
  • นำกกหรือไหลสอดเข้ากับไม้สอดเพื่อที่จะสอดเข้ากับโฮมทอเสื่อ เมื่อสอดกกหรือไหลเข้าไปแล้วผลักฟืมเข้าหาตัวเองให้กกหรือไหลแน่นติดกัน เป็นลายต่างๆ

ปัจจุบันชาวบ้านได้ทอเสื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ของคนในชุมชน ชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกก โดยการตกแต่งและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เป็นเสื่อกกเก็บพับได้ กระเป๋าจากเสื่อกก แฟ้มเก็บเอกสาร หมวก ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน ที่รองจาน แก้ว เป็นต้น

kok lai 03

แจ้งเมื่อทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

redline

backled1

attalak isan

เกวียนอีสาน

เกวียน เป็นพาหนะที่ทำจากไม้ ขับเลื่อนด้วยแรงลากจูงของวัวหรือควาย เกวียนอีสานมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้งาน 3 ลักษณะ คือ 1) เกวียนบรรทุกข้าว 2) เกวียนเดินทาง 3) เกวียนประจำตำแหน่งซึ่งเป็นเกวียนที่สั่งทำขึ้นพิเศษ ให้มีความงดงามสมกับตำแหน่งของเจ้าของ สามารถบ่งบอกสถานะทางสังคมของตนได้ด้วย โดยทั่วไปเกวียนจะมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ล้อ หรือ กงเกวียน เรือนเกวียน หรือ ตัวเกวียน และไม้รูปซึ่งยื่นออกไปเป็นที่เทียมเกวียนด้วยวัวหรือควาย เกวียนจะเคลื่อนที่ไปตามแรงลากของวัวหรือควาย มีทั้งที่ใช้เพียงตัวเดียวลากมักเรียกว่า เกวียนเดียว แต่ถ้าใช้สองตัวลากเรียก เกวียนคู่

kwian 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม โครงสร้างสะท้อนการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอย่างง่ายๆ สมเหตุสมผลการกลึงดุมล้อเกวียนนับเป็นวิธีการที่ใช้ทักษะอย่างยอดเยี่ยม การตกแต่งนิยมแกะสลักลวดลายที่วิจิตรบรรจงลงบนส่วนประกอบของเกวียน ทั้งลายดอกไม้ ลายตัวกนก เช่น เกวียนยโสธร

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เพื่อความปลอดภัยและความเป็นสิริมงคลของเจ้าของเกวียน และผู้ใช้เกวียนชาวอีสานจึงมีพิธีกรรมข่มนางไม้ และการสู่ขวัญเกวียน เพราะเชื่อว่าไม้ที่นำมาทำเกวียนมีนางไม้สถิตอยู่

kwian 05

เกวียนอีสาน

ชาวอีสานนิยมเดินทางกันในช่วงฤดูแล้งด้วยพาหนะ "เกวียน" เป็นพาหนะทำด้วยไม้ ใช้ลากจูงด้วยแรงสัตว์ เช่น เทียมด้วย โค หรือ กระบือ ด้วยภาคอีสานนั้นแม้จะมีแม่น้ำใหญ่ แต่ก็ไม่เหมาะกับการใช้เรือเพราะเมื่อพ้นฤดูฝนไปน้ำในแม่น้ำมีน้อย และมีเกาะแก่งขวางกั้นไม่เหมาะแก่การสัญจรโดยเรือ การเดินทางทางบกด้วยพาหนะช้าง ม้า วัว ควาย จึงสะดวกกว่า และเมื่อมีการบรรทุกสิ่งของด้วย จึงนิยมใช้ "เกวียน" ประโยชน์ของเกวียนมีหลายประการคือ เป็นพาหนะโดยสารสำหรับเดินทางไกลเมื่อไปเป็นกลุ่ม เป็นพาหนะบรรทุกผลิตผลจากสวนไร่นาใปยังเหย้าเรือน หรือตระเวนไปขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างหมู่บ้าน เป็นพาหนะที่บรรทุกของที่หนัก เช่น เสา ไม้ ดิน ทราย น้ำ เป็นพาหนะขนเสบียงอาหารและอาวุธในยามสงคราม และเป็นพาหนะลากหีบศพ

ขบวนเกวียนอีสาน บ้านดอนเมย อำนาจเจริญ

เกวียน ในภาษาอีสานอาจได้ยินเรียกว่า เกียน  บางแห่งอาจเรียก ล้อ ถ้าเป็นเกวียนขนาดเล็กบางแห่งเรียก ระแทะ (เมื่อเอาประทุนหรือหลังคาครอบออกจากเกวียนสำหรับลากขนสิ่งของ) บางทีก็เรียก รันแทะ, กระแท หรือ กระแทะ เป็นคำเรียกที่รับมาจากภาษาเขมร คือ ระแตะ หรือระเต็ฮ เกวียนมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฎเด่นชัด กล่าวกันว่า ภาพสลักหินเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา มีรูปพระมหากษัตริย์ประทับนั่งพาหนะคล้ายเกวียน ที่ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบลุ่มแม่น้ำมูล นอกจากนี้ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง หรือจารึกวัดศรีชุมกล่าวถึง พระมหาเถร ศรีศรัทธาราชจุฬามุนี โปรดให้หาบรรดาพระพุทธรูปที่แตกหักในท้องถิ่นต่างๆ ชักมาด้วยล้อ ด้วยเกวียน มาเก็บไว้ในวิหารเมืองสุโขทัย ในประเทศจีนมีรูปจำลองของเกวียนในหลุมฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่า เดิมทีมนุษย์ใช้แรงงานคนในการแบกหามสิ่งของ ต่อมามีความจำเป็นที่ตอ้งขนของที่ไกลๆ จึงคิดทำล้อเลื่อน โดยใช้แรงคนลาก จากล้อเลื่อนจึงพัฒนาเป็นเกวียนที่ใช้สัตว์ลากแทนแรงงานคน

kwian 06

เกวียนใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกข้าว สิ่งของ ไปจำหน่ายที่ตลาด หรือขนย้าย หรือใช้เป็นยานพาหนะโดยสารในสมัยโบราณที่ยังไม่มีรถยนต์ รถไฟ เหมือนในปัจจุบัน ในหัวเมืองภาคอีสานก่อนรัชกาลที่ 5 นั้นจะมีเส้นทางเกวียนติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างเมืองสู่เมือง ดังที่สมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ได้เขียนไว้ใน กรมศิลปากร, ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ (โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, พ.ศ. 2515 หน้า 392 ) ว่า

…ส่วนทาง (ทางเกวียน) ที่ใช้กันอยู่เวลานี้ (สมัยรัชกาลที่ 6) เดินได้ถึงกัน เช่น มณฑลร้อยเอ็ดไปนครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี เกวียนนี้เป็นยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าสำคัญกว่ายานพาหนะชนิดอื่น ติดต่อกันในมณฑลภาคอีสาน การบรรทุกถ้าเดินทางไกลตั้งแต่ 10 วันขึ้นไปบรรทุกน้ำหนักราว 3 - 4 หาบ (หาบหนึ่งมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม) ถ้าเดินทางวันเดียวหรือ 2 วัน บรรทุก 5 หาบ ขนาดเกวียนสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ศอกเศษ ตัวเกวียนกว้าง 1 ศอกเศษ ยาวประมาณ 3 ศอกเศษ ราคาซื้อขายกันตามราคา ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปถึง 50 บาท ประทุนที่ใช้ประกอบราคาหลังละ 7 - 8 บาท ถ้าซื้อทั้งประทุนด้วยราคาก็เพิ่มขึ้นตามส่วน …”

kwian 03

เกวียนที่ใช้กันอยู่ในภาคอีสานนั้นมี 2 ชนิด คือ

  • เกวียนโกง คือ เกวียนที่มีแต่พื้นเกวียนวางแน่นอยู่บนวงล้อ เทียมวัวควายลากเลื่อนไปได้ ครั้นเมื่อจะบรรทุกสิ่งของ ต้องมีกระบะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ วางบนพื้นเกวียนสำหรับบรรจุสิ่งของ
  • เกวียนประทุน คือเกวียนที่มีส่วนประกอบต่างๆ เหมือนเกวียนภาคกลางและเพิ่มประทุนวางครอบ เพื่อกันแดดกับฝน สำหรับให้ผู้นั่งโดยสารเดินทางไกลๆ ประทุนเกวียนภาษาถิ่นอีสานเรียนกว่า "พวง"

kwian 09

ลักษณะเด่นของเกวียนอีสาน

ประเทศไทยมีเกวียนใช้ทุกภาค ลักษณะแตกต่างกันบ้างในเรื่องรูปร่างและการตกแต่ง เกวียนอีสานมีรูปร่างงดงาม บอบบาง โดยเฉพาะเกวียนยโสธร การตกแต่งนิยมแกาะสลักลวดลายลงไปตามส่วนประกอบของเกวียน แกะเป็นลายดอกไม้บ้าง ตัวกนกบ้าง ประทุนเกวียนอีสานเป็นงานจักสานไม้ใผ่ สามารถกันแดดฝนได้ดี เวลาไม่ใช้เกวียนก็ถอดประทุนไว้

kwian 02

เกวียนในเขตอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขมร เกวียนมีลักษณะบอบบาง สวยงามกว่าแบบที่พบในเขตอีสานเหนือ เกวียนแบบนี้เรียกว่า ระแทะ ในยามพักแรมมีประทุนเกวียนสวมครอบเรือนเกวียน และมีประตูปิดตรงหน้าเกวียน ประทุมเกวียนแบบนี้เรียกว่า พรวงเกวียน หากใช้บรรทุกสิ่งของต้องนำประทุนออก แล้วนำกระชุหรือกระโหลงซึ่งสานด้วยไม้ไผ่วางบนเกวียนเพื่อใส่ข้าวของ

เกวียนเทียมวัวที่พบในกลุ่มแม่น้ำมูล มีลักษณะคล้ายกับระแทะ ที่พบในงานจิตรกรรมโบราณ และภาพสลักหินศิลปขอม เกวียนทางภาคเหนือ มีลักษณะเตี้ย สั้นและกว้าง ส่วนการตกแต่งนิยมเขียนลายรูปช้างบ้าง ดอกไม้บ้าง ประดับที่ไม้กั้น ด้านหน้าและหลัง การแกะลวดลายนิยมแกะให้ลึกเป็นลายเส้น พิธีกรรมเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลเมื่อใช้เกวียน พิธีกรรมเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลเมื่อใช้เกวียน เท่าที่ปรากฎในภาคอีสานมีสองพิธีคือการข่มนางไม้และการสู่ขวัญเกวียน

kwian 07
การประกอบพิธีข่มนางไม้

พิธีข่มนางไม้

พิธีข่มนางไม้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยให้เจ้าของเกวียน และผู้ใช้เกวียน โดยเชื่อว่าไม้ที่นำมาทำเกวียนมีนางไม้สถิตอยู่ ฉะนั้นเมื่อทำเกวียนเสร็จแล้ว ก่อนใช้ต้องมีการเหยียบนางไม้ก่อน อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีข่มนางไม้ ได้แก่ขันห้า ประกอบด้วยดอกไม้ห้าคู่ เทียนห้าคู่ และฝ้ายผูกแขน ผู้ประกอบพิธีคือภรรยาเจ้าของเกวียน แต่งกายด้วยเสื้อสีขาว ห่มผ้าสะไปสีขาว คล้ายกับผู้สูงอายุในชนบทแต่งตัวไปวัด เริ่มพิธีด้วยการนำคายขันห้ามาตั้งไว้ที่หัวเกวียน แล้วให้แม่บ้านนั่งที่หัวเกวียนใช้เท้าเหยียบหัวเกวียนพร้อมกับท่องมนต์สองบท บทแรกกล่าวขับไสนางไม้ จากนั้นจะทำพิธีสู่ขวัญเกวียน

kwian 08

รู้จักวัวเทียมเกวียนและส่วนประกอบเกวียน

redline

backled1

attalak isan

เครื่องเงิน

เครื่องเงิน ของอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มี 2 รูปแบบ โดยจำแนกจากวิธีการทำ คือ ตะเกา และปะเกือม ตะเกา คือ การใช้เส้นเงินดัดเป็นรูปทรงและลวดลายแต่ละชิ้น แล้วนำมาเชื่อมด้วยน้ำประสานทอง ส่วนประเกือมคือการใช้แผ่นเงินบางๆ ตีเป็นรูปต่างๆ โดยอัดชันไว้ภายใน ทำให้แกะลวดลายได้สะดวก ช่างทำเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงซึ่งยังคงสืบสานการทำเครื่องเงินโบราณนี้ไว้คือ ลุงป่วน เจียวทอง ผู้ทำลวดลายได้สวยงามกว่า 13 ลาย คือ ตั้งโอ๋ ดอกทานตะวัน ลำหอกทึบ ลำหอกโปร่งไข่แมงดา ดอกมะลิ รังผึ้ง รังแตน ดอกบัว ดอกพริก ขจร ระเวียง และตั้งโอ๋สามชั้น นอกจากนั้น ลุงป่วนยังทำเครื่องเงินผสมหินสีเป็นสร้อย แหวน และต่างหูอีกด้วย โดยยึดรูปแบบโบราณและใช้วิธีการทำแบบดั้งเดิมมาตลอด

silver surin 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม การจัดวางลวดลายสวยงามด้วยการทำซ้ำ มีมิติ นูน เป็นร่อง มีทั้งสีสันเงินมันวาวและสีเงินด้านรมดำ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สมัยโบราณนิยมใส่เครื่องเงินร้อยลูกประคำสลับตะกรุดลงยันต์ ลงเวทมนต์คาถา เป็นเครื่องรางของขลัง ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หากมีไว้กับตัวจะทำให้เกิดความสบายใจ มีสิริมงคล และนำความสุขความเจริญ

silver surin 02

หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณ เลือกซื้อเครื่องประดับเงิน สินค้าทำมือจากหมู่บ้านที่มีชื่อเสียง และโดดเด่นในด้านการผลิตประคำเงินที่มีเอกลักษณ์ ชาวบ้านเรียกกันว่า "ปะเกือม" นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม จนเป็นงานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ หรือกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 5 ตำบล โดยชื่อตำบลและกิ่งอำเภอ มาจากภาษาท้องถิ่น คำว่า เขวา เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งพบได้มากในพื้นที่ ส่วนคำว่า สิรินทร์ มาจากชื่อเจ้าเมืองเก่า

silver surin 03

หมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นชุมชนเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 270 ปี ประชาชนส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมร ได้อพยพหนีความวุ่นวายของสงครามจากกรุงพนมเปญ เดินทางข้ามภูเขาที่บริเวณโคกเมือง โดยมีความสามารถด้านการตีทอง เป็นเครื่องประดับต่างๆ ด้วยภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ตกทอดสู่รุ่นต่อรุ่น จนในช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2521 ได้หันมาตีเครื่องเงินแทนมาจนถึงทุกวันนี้ หากนักท่องเที่ยวสนใจเข้าชมการสาธิตทำเครื่องเงิน สามารถเดินทางไปชมได้ที่หมู่บ้านบ้านโชค และหมู่บ้านสดอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านโชว์การสาธิตทำเครื่องเงินด้วยมือ

จุดเด่นของหมู่บ้านทำเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ คือ เครื่องประดับทำจากเครื่องเงินที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้วัตถุดิบเงินประมาณ 60% ผสานกับการนำ ประเกือม (ภาษาเขมร) หรือประคำเงิน (ภาษาไทย) เม็ดเงิน เม็ดทองชนิดกลมมาร้อยเป็นเครื่องประดับ อาทิ ประเกือมสุรินทร์ เป็นลูกกลมทำด้วยเงิน แตกต่างจากที่อื่นตรงรูปแบบและลวดลายมากถึง 13 ลาย เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ที่ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดครั่งไว้ภายใน ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก

silver surin 04

ประเกือม มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 2.5 – 3 เซนติเมตร มีหลายลวดลาย ได้แก่ ถุงเงิน หมอน แปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม กรวย แมงดา กระดุม โอ่ง มะเฟือง ตะโพน ฟักทอง จารย์ (ตะกรุด)

หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ นำประเกือม มาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม อาทิ กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน และเพิ่มความหลากหลายด้วยการผสมกับวัสดุชนิดอื่น อาทิ มุก นิล ลูกปัดหิน จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำหน่ายเป็นของที่ระลึก

silver surin 05

เครื่องประดับเงินของหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ เป็นงานทำมือ (Handmade) ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีพัฒนาการจนมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. สนใจสั่งซื้อติดต่อที่ กลุ่มเครื่องเงินผ้าไหมเขวาสินรินทร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท. สุรินทร์ โทร. 055-252742-3, 055-25 9907

รายการทั่วถิ่นแดนไทย : จังหวะชีวิตที่งดงาม บ้านเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง ด้วยรถยนต์ จากตัวเมืองสุรินทร์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อเจอแยกขวามือ ให้ใช้เส้นทางหลวงสายสุรินทร์-จอมพระ ขับไปจนถึง กม.ที่ 14-15 จากนั้นเมื่อ เจอแยกขวา ขับไปอีก 4 กม.ก็จะเจอหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์

silver surin 06

redline

backled1

attalak isan

เครื่องทองเหลือง

เครื่องทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสีเป็นหลัก มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดสนิมได้ดี จึงนำมาผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ขันทองเหลือง พานทองเหลือง แจกันทองเหลือง กระทะทองเหลือง ตลอดจนเครื่องตกแต่งทองเหลืองอีกมากมาย แต่เครื่องทองเหลืองที่มีชื่่อเสียงของภาคอีสานคือ เครื่องทองเหลืองของบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องทองเหลืองของที่นี่ไม่จำกัดชนิด และอัตราส่วนของทองแดงและสังกะสี เพราะผลที่ได้ลักษณะผิวของวัสดุไม่แตกต่างกัน ยกเว้นแต่เครื่องทองเหลืองที่มีหน้าที่ใช้สอยด้านเสียง เช่น กระดิ่ง ขิก กระพรวน เป็นต้น ต้องมีส่วนผสมของทองแดงในปริมาณมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังผสมดีบุกเข้าไปอีกด้วย ทองเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่ได้จากการซื้อของเก่าจำพวก ขัน ก็อกน้ำ มือจับ กลอนประตู ฯลฯ หรือซื้อเศษทองเหลืองจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวจึงเป็นการผลิตที่มีกระบวนการรีไซเคิล ช่วยให้มีการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

baan pa ao 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงโบราณ ลวดลายธรรมชาติ มีเส้นเหลี่ยม เส้นโค้ง

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผลิตภัณฑ์มีความดั้งเดิมโบราณทั้งรูปร่าง รูปทรง และลวดลาย เน้นในทางอนุรักษ์นิยม

เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว

บ้านปะอาว ชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี และวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าเป็นวิธีการเดียวกับการทำกระพรวนสัมฤทธิ์ สมัยบ้านเชียงเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน บ้านปะอาว เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเมืองอุบลราชธานี

ตำนานของชุมชนบ้านปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้นมีว่า พระวอ และ พระตา ซึ่งเป็นชาวนครเวียงจันทน์ เป็นคนนำไพร่พลอพยพหนีราชภัยมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต หรืออาณาจักรล้านช้าง มาตั้งบ้านแปงเมืองที่หนองบัวลุ่มภู ที่ปัจจุบันเป็น จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน  ต่อมาเกิดศึกสงคราม พระวอกับพระตาตาย ไพร่พลส่วนหนึ่งจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะอาว พร้อมกับนำเอาภูมิปัญญาการทำทองเหลืองติดัวมาด้วย

baan pa ao 04

การทำทองเหลืองที่บ้านปะอาวนี้มีกรรมวิธีทำแบบวิธีโบราณ เรียกว่า การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือ แทนที่ขี้ผึ้ง ที่สำคัญคือ ไม่มีการเขียนเทคนิคการทำทองเหลืองแบบนี้ไว้ในตำรามากนัก แต่เป็นการจดจำทำกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่แปลกที่เดินเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วจะเห็นลูกเด็กเล็กแดงที่บ้านปะอาวนั่งพันขี้ผึ้งเพื่อเตรียมที่จะนำไปหล่อเป็นสิ่งของเครื่องใช้อย่างขะมักเขม้น...

สถานที่ซึ่งรวบรวมการทำทองเหลืองของหมู่บ้านอยู่ที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ซึ่งตั้งขึ้นโดยชาวบ้าน ที่นี่นอกจากจะมีการหล่อทองเหลืองแล้วยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้กับลูกๆ หลานๆ ด้วย

วิธีการหล่อทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหาย จะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก เริ่มจากการ ตำดินโพน หรือ ดินจอมปลวก ที่ผสมมูลวัวและแกลบ คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำดินที่คลุกเคล้าแล้วมาปั้นเป็นหุ่น หรือปั้นพิมพ์ที่แห้งแล้วใส่เครื่องกลึง ที่เรียกว่า โฮงเสี่ยน เพื่อกลึงพิมพ์ หรือ เสี่ยนพิมพ์ ให้ผิวเรียบและได้ขนาดตามต้องการ

เครื่องทองเหลือง : ไทยศิลป์

พอได้พิมพ์ที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็จะ เคียนขี้ผึ้ง คือ ใช้ขี้ผึ้งที่ทำเป็นเส้นพันรอบหุ่น แล้วกลึงขี้ผึ้งด้วยการลนไฟ บีบให้ขี้ผึ้งเรียบเสมอกัน พร้อมกับพิมพ์ลายหรือใส่ลายรอบหุ่นขี้ผึ้งตามต้องการ แล้วจึงใช้ดินผสมมูลวัวโอบรอบหุ่นที่พิมพ์ลายแล้วให้โผล่สายฉนวนไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะหลอมไหลไปที่อื่น จากนั้นจึงใช้ดินเหนียวผสมแกลบเพื่อวางบนดินได้แล้วสุมเบ้าโดยวางเบ้าคว่ำ และนำไฟสุมเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกจากเบ้า แล้วเทโลหะที่หลอมละลายลงในเบ้า ทิ้งไว้ให้อุณหภูมิเย็นลงแล้วก็จะแกะลูก คือ ทุบเบ้าดินเพื่อเอาทองเหลืองที่หลอมแล้วออกมากลึงตกแต่งด้วยเครื่องกลึงไม้และโลหะ

ขั้นตอนนี้เรียกว่า มอนใหญ่ คือ กลึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปร่างแล้ว และตกแต่งเติมรายละเอียดของลวดลายให้มีความคมชัดและสวยงาม

baan pa ao 02

เสน่ห์การทำทองเหลืองของบ้านปะอาวนี้ ถึงขนาดที่กวีซีไรต์อย่างท่าน อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังได้นำไปเขียนเป็นบทกวีใน หนังสือเขียนแผ่นดิน ไว้ด้วยว่า....

....ตำดินปั้นเบ้าใส่เตาสุม ฟืนรุมไฟโรมเข้าโหมเบ้า
ไม้ซาก สุมก่อเป็นตอเตา ลมเป่าเริมเปลวขึ้นปลิวปลาม
แม่เตาหลอมตั้ง กลางไฟเรือง ทองเหลืองละลายทองก็นองหลาม
สูบไฟโหมไฟไล้ทองทาม น้ำทองเหลืองอร่ามเป็นน้ำริน
รินทองรองรอลงบ่อเบ้า ลูกแล้วลูกเล่าไม่สุดสิ้น
ต่อยเบ้าทองพร่างอยู่กลางดิน สืบสานงานศิลป์สง่าทรง
ลงลายสลักลายจนพรายพริ้ง ลายอิ้งหมากหวายไพรระหง
ดินน้ำลมไฟ ละลายลง หลอมธาตุทระนง ตำนานคน.... "

เรียกว่า เป็นอัจฉริยะทางภาษา ที่บอกเล่ากรรมวิธีทำทองเหลืองได้อย่างละเอียดและงดงามจริงๆ ชาวบ้านที่บ้านปะอาวคุยให้ฟังว่า เครื่องทองเหลืองของพวกเขาเคยเข้าฉากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มาแล้ว ทั้งตำนานพระศรีสุริโยทัย และตำนานพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าจะเป็น เชี่ยนหมากลายอิงหมากหวาย หรือ กาน้ำทองเหลือง เรียกว่า ไม่ธรรมดาเลยล่ะ

ผู้เขียนอุดหนุนกระดิ่งทองเหลืองของชาวบ้านปะอาวมาหลายลูก ไม่น่าเชื่อครับ เสียงดังกังวานทีเดียว และไม่ใช่มีแค่กระดิ่งครับ เครื่องทองเหลืองที่ผลิตจากบ้านปะอาว ยังมีให้เลือกทั้ง ผอบ เต้าปูน ตะบันหมาก ขันน้ำหัวไม้เท้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง สมกับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแห่งอาณาจักรล้านช้างโดยแท้

baan pa ao 03

สนใจเครื่องทองเหลืองที่เป็นมรดกตกทอดของชุมชนแบบนี้ ติดต่อไปได้ที่ ศูนย์หัตถกรรม เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ที่ 170 หมู่ 5 บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 08-1548-4292, 08-3155-8265

สารคดีเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว : วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี

แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเรื่องราวมานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดสินค้านะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก ติดต่อตามชื่อ/ที่อยู่ท้ายบทความนั้น หรือเปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ

[ อ่านเพิ่มเติม : หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว | เคริ่องทองเหลืองบ้านปะอาว ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)