attalak isan

กะโนบติงต็อง

กะโนบติงต็อง ภาษาเขมร แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เลียนแบบลีลา ท่าทาง การเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว มีจังหวะลีลาที่สนุกสนานเร้าใจ กะโนบติงต็องเกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อราวห้าสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันนิยมเล่นทั่วไปในแถบอีสานใต้ และจังหวัดใกล้เคียง เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ต่อมาได้เพิ่มเนื้อร้องภาษาไทยขึ้นเพื่อความเข้าใจของผู้ชมที่หลากหลาย ใช้แสดงในงานรื่นเริงและงานเทศกาลต่างๆ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผู้เล่นแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าวด้วยสีเขียวอ่อน ท่าเต้นเลียนแบบการกระโดดหรือการไหวตัวของตั๊กแตน มีขั้นตอน คือ ท่าบทไหว้ครู ท่าเชิดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อหันหน้าเข้าหาคู่ ท่าสะกิด ท่าตี ท่าจิก และทำหยอกล้อ แล้วเดินเข้าหากันเป็นจบกระบวนท่ารำ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความสนุกสนานเร้าใจโดยการเลียนแบบท่าทางจากตั๊กแตนตำข้าว

kanop tingtong 4

กะโน้บติงต๊อง

กะโน้บติงต๊อง เป็นการแสดงของชาวจังหวัดสุรินทร์ คำว่า กะโน้บติงต๊อง เป็นภาษาถิ่นของชาวอีสานใต้ แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว กะโน้บติงต๊องเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนาน ด้วยลีลาที่เลียนแบบมาจากการกระโดด หรือการโยกตัวของตั๊กแตน ท่าเต้นแต่ละท่าจะใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา เอว ท่าเต้นจะแสดงลีลาการเกี้ยวพาราสีระหว่างตั๊กแตนตัวเมียและตัวผู้ ลักษณะการละเล่นจะเป็นการเล่นเป็นหมู่ เป็นกลุ่มยิ่งผู้แสดงมากยิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น

kanop tingtong

ยุคเริ่มแรก (พ.ศ. 2480-2506) กะโน้ปติงต็องเป็นการเล่น เต้นเลียนแบบลีลาท่าทางการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว จากการคิดริเริ่มโดย นายเต็น ตระการดี ชาวบ้านโพธิ์กอง ตำบลไพล (ปัจจุบัน คือ ตำบลเชื้อเพลิง) อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อครั้งเดินทางเข้าไปในประเทศกัมพูชา โดยขบวนเกวียนสินค้า (เกลือ) ไปค้าขาย นำไปแลกเปลี่ยนปราเฮ๊าะ (ปลาร้า) จากประเทศกัมพูชา (เขมร) ในขณะที่หยุดพักเหนื่อยนายเต็น ได้มองเห็นตั๊กแตนตำข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน และผสมพันธุ์กันอยู่ นายเต็นเฝ้าดูลีลาของตั๊กแตนคู่นั้นด้วยความประทับใจ เมื่อนายเต็นเดินทางมาถึงบ้าน จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาลีลาการเต้นของตั๊กแตนตำข้าวมาดัดแปลงและเต้นให้คนดูก็คงจะดี จึงนำแนวคิดนี้มาเล่าให้ นายเหือน ตรงศูนย์ดี หัวหน้าคณะกันตรึม ที่เล่นอยู่ในหมู่บ้านรำเบอะ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันแสดงต่อเนื่องกันมา การเล่นกะโน้ปติงต็องจะเต้นเป็นคู่ๆ เดิมมีผู้แสดงเพียง 2 คน เล่นสอดแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน

kanop tingtong 5

ต่อมานายยันต์ ยี่สุ่นศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพธิ์กอง (ในขณะนั้น) ได้เห็นความสำคัญ และมีความชื่นชอบการแสดงกระโน้ปติงต็อง จึงได้เข้ามาร่วมแสดงเป็น 3 คน โดยมีนายเต็น และนายยันต์ เป็นผู้แสดงเข้าคู่กัน และนายเหือนจะเป็นผู้เป่าปี่สไล มีการด้นกลอนสดเป็นเนื้อร้อง แต่งกายโดยการนุ่งโสร่งและสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง

ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการเต้นกะโน้ปติงต็องใช้วงกะโน้ป ซึ่งประกอบด้วย

  1. กลองโทน (สก็วล) 2 ใบ
  2. ปี่ไน (ปี่ชลัย) 1 เลา
  3. ซอด้วง 1 ตัว
  4. ซออู้ 1 ตัว
  5. ฉิ่ง 1 คู่

ทำนองเพลงใช้ทำนอง กะโน้ปติงต็อง โดยบทร้องเพลงกะโน้ปติงตองในระยะแรกๆ ร้องเป็นภาษาเขมร ในระยะหลัง มีการแต่งเนื้อร้องตามงานหรือโอกาสที่ไปแสดง เพื่อให้เข้ากับงานนั้นๆ ใช้เนื้อร้องทั้งภาษาเขมรและภาษาไทยเพื่อให้ฟังง่ายขึ้น

การแต่งกาย

การแต่งกายในการเล่นกะโน้ปติงต็อง ในระยะแรกจะนุ่งโสร่งใส่เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าขาวม้าคาดเอว (เป็นชุดที่ใช้เล่นดนตรีในวงมโหรี) ต่อมาพัฒนาขึ้น โดยแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าว ใช้ผ้าสีเขียวตัดเป็นชุดแต่งกาย สวมหัวตั๊กแตน สวมปีกตั๊กแตน ถ้าเป็นตั๊กแตนตัวเมีย จะสวมกระโปรงสั้นๆ ทับอีกชั้นหนึ่ง

kanop tingtong 6

โอกาสที่เล่น

การเล่นกะโน้ปติงต็อง แต่เดิมใช้เล่นแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน ต่อมาในช่วงหลังใช้เล่นได้ทุกโอกาสในงานสนุกสนานรื่นเริง หรืองานเทศกาลต่างๆ ทั่วไป

ต่อมาในยุคที่สอง (พ.ศ. 2506-2540) นายเสนอ มูลศาสตร์ ซึ่งเป็นนายอำเภอปราสาทในขณะนั้น ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน นำการแสดงกระโน้ปติงต็อง จากตำบลไพล อำเภอปราสาท ไปสู่การแสดงในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทำให้กระโน้ปติงต็องเกิดการแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับการแสดงให้เป็นรูปแบบมากขึ้น โดยมีการกำหนดท่าเดินออก ท่าเคารพผู้ชม การแปรแถวต่างๆ และมีการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับการแสดงกระโน้ปติงต็อง เพื่อให้การแสดงมีความน่าสนใจมากขึ้น ได้มีการส่งเสริมและเล่นกันอย่างแพร่หลาย

ในการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย เมื่อเริ่มแสดง จะเต้นตามจังหวะเพลงกะโน้ปติงต็อง ส่ายตัว มือ แขน ขา ไปมา เลียนแบบลีลาของตั๊กแตนตำข้าวตามจังหวะดนตรีและคำร้อง ผู้เล่นจะเปลี่ยนลีลาการตั๊กแตนไปตามจังหวะดนตรี และคำร้องส่วนมากจะใช้บทร้องในแต่ละตอนเป็นช่วงเปลี่ยนท่า เนื้อเพลงหรือบทร้องจะสอดคล้องกับงานนั้นๆ ท่ารำจะมีขั้นตอนจากบทไหว้ครู ท่าตั๊กแตนเช็ดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องตาดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อกัน ท่าสะกิดกัน เป็นต้น และครูสมพงษ์ สาคเรศ ได้แต่งเนื้อเพลงประกอบการเต้น และก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น

กะโน๊บติงตอง โดย โรงเรียนสินรินทร์วิทยา

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน) เป็นยุคปฏิรูปการศึกษา สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร มีการจัดการศึกษาในเรื่องของ หลักสูตรท้องถิ่น ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีการวิจัยในชั้นเรียน ที่เป็นบทบาทและภารกิจที่ครูผู้สอนต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งการทำผลงานเพื่อเพิ่มวิทยฐานะ ก่อให้เกิดกระแสการศึกษาค้นคว้า วิจัย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง “กระโน้ปติงต็อง” เป็นการละเล่นและการแสดงหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการฟื้นฟูอย่างจริงจังในยุคนี้

วิธีการแสดง

  • ลักษณะการจีบ การแสดงกระโน้ปติงต็องจะจีบมือแบบพื้นบ้าน คือ การจีบขัดนิ้ว (ตะเปือนได) มีลักษณะจีบแบบหักข้อนิ้วชี้เข้าหาข้อศอก นิ้วที่เหลือกรีดเหยียดตรง
  • ลักษณะการใช้เท้า การแสดงกระโน้ปติงต็อง จะมีลักษณะการก้าวเท้า 2 แบบ
  1. การเดินแบบตั๊กแตน เลียนแบบท่าทางของตั๊กแตนตำข้าวให้เหมือนที่สุด คือ การย่อเข่าลงและเตะเท้าออกไปด้านข้าง สลับ ซ้าย – ขวา
  2. การโหย่งขา หมายถึง การทรงตัวด้วยการเขย่งเท้า โดยใช้จมูกเท้าในการรับน้ำหนักตัว ย่อเข่าทั้ง 2 ต่างระดับกัน เข่าข้างหนึ่งจะรับน้ำหนักตัวอีกข้างหนึ่งจะค้ำยันให้การทรงตัวอยู่ได้ ยุบ-ยืดตัวเร็วและขณะเดียวกันมือจะต้องยกสูงขึ้นเพื่อเป็นการช่วยยกน้ำหนักให้ลอยขึ้นจากพื้นด้วย
  • ลักษณะท่าเต้น เป็นการออกแบบท่าเต้นกระโน้ปติงต็อง เป็นการจำลองจาก “วงจรชีวิตของตั๊กแตนตำข้าว” ประกอบด้วย 10 ท่าคือ
  1. การออกสู่เวที
  2. การแสดงความเคารพ
  3. การกำเนิดตั๊กแตนจากไข่ สื่อความหมายของการเกิด
  4. การเคลื่อนไหวร่าเริงในวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว
  5. การจับเหยื่อและกินอาหารของตั๊กแตน
  6. การต่อสู้เพื่อแย่งชิงคู่ (เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่แข็งแรง)
  7. การเกี้ยวพาราสี
  8. การผสมพันธุ์
  9. การกัดกินหัวตั๊กแตนตัวผู้ หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
  10. การกลับเข้าสู่เวที

กะโน๊บติงต็อง การละเล่นพื้นบ้านเลียนแบบของตั๊กแตนตำข้าว

  • ลักษณะการแต่งกาย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะตามเพศของตั๊กแตนคือ

ตัวเมีย ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยระบายสีเขียว
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่งบางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสี อ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น
ส่วนที่ 5. หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม และ
ส่วนที่ 6. ทัดดอกไม้ที่บริเวณบนหูด้านซ้าย

ตัวผู้ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยผ้าสีเขียวไม่มีระบาย
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่ง บางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสีอ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น และ
ส่วนที่ 5.
หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม

การพัฒนารูปแบบการแสดงกระโน้ปติงต็อง ในจังหวัดสุรินทร์
โดย นางอัชราพร สุขทอง, นางพิศเพลิน พรหมเกษ และนางเกษราภรณ์ สุพรรณฝ่าย, 2550.

kanop tingtong 3

การแสดงระบำกะโน้บติงตอง หรือ เรือมกะโน๊บติงตอง จะใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงและขับร้อง โดยใช้เครื่องดนตรี กลองโทน  ปี่ใน ซอด้วง ซออู้ และฉิ่ง เพื่อให้เกิดท่วงทำนองที่สนุกสนาน ต้นฉบับเริ่มแรกการขับร้องจะใช้ภาษาเขมร จนกระทั่งได้มีโอกาสไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร  จึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องให้มีภาษาไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมรับทราบความหมาย โดยมี นายวิลาส อินแปลง เป็นผู้ช่วยแต่งเนื้อร้องทำนอง ทำให้เพลงกะโน้ปติงต๊อง มี 2 ภาษาไทยและภาษาเขมร จนกระทั่งปัจจุบัน จากเดิมที่มีนักแสดงเพียง 2 คน ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนแล้ว ขึ้นอยู่กับสถานที่ของการจัดแสดงว่ากว้างขวางเพียงใด

กโน้บ ติงต็อง - น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์

[ อ่านเพิ่มเติม : การฟ้อนเลียนแบบกริยาสัตว์ ]

redline

backled1