attalak isan

ภูกระดึง

ภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้รับการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2502 "ภูกระดึง" มาจากคำว่า "ภู" แปลว่า "ภูเขา" และคำว่า "กระดึง" เป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย แปลว่า "กระดิ่ง หรือ ระฆัง" ด้วยเหตุนี้จึงอาจแปลได้ว่า ระฆังใหญ่ ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าที่ว่า ในวันพระชาวบ้านมักได้ยินเสียงกระดิ่ง หรือระฆังจากภูเขาลูกนี้ เล่ากันว่าเป็นระฆังของพระอินทร์ ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ในบริเวณบางส่วนของยอดเขาหากเดินหนักๆ หรือใช้ไม้กระทุ้ง จะมีเสียงก้องคล้ายเสียงระฆังซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม จุดเด่นอยู่ที่อากาศที่หนาวเย็นและลักษณะภูมิประเทศที่มีความโดดเด่นสวยงาม ภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขายอดตัด มีรูปร่างคล้ายใบโพธิ์

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นับเป็นสถานที่เที่ยวที่มีเสน่ห์ ลักษณะภูมิประเทศมีความโดดเด่นสวยงาม

phu kra dueng 04

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สอง ถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึง ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร

phu kra dueng 01

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีพรานป่าผู้หนึ่งได้พยายามล่ากระทิง ซึ่งหลบหนีไปยังยอดเขาลูกหนึ่งในตำบลศรีฐาน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอภูกระดึง) ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่เคยมีใครขึ้นมาก่อน เมื่อนายพรานได้ตามกระทิงขึ้นไปบนยอดเขาแห่งนั้น ก็ได้พบว่าพื้นที่บนภูเขาลูกนั้น เต็มไปด้วยพื้นที่ราบกว้างใหญ่สวยงาม เต็มไปด้วยป่าสน พรรณไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มนุษย์จึงรู้จักภูกระดึงแต่นั้นเป็นต้นมา

ภูกระดึง เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีปรากฏเป็นหลักฐานเมื่อสมุหเทศาภิบาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ได้ทำรายงานสภาพภูมิศาสตร์เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2486 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกาป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นที่ ภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแห่งแรก แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่ จึงใด้ดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยและหยุดไป

phu kra dueng 02

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดป่าในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 แห่งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้เป็นการถาวรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรมป่าไม้จึงได้เสนอจัดตั้งป่าภูกระดึงให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูกระดึงในท้องที่ ตำบลศรีฐาน กิ่งอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 217,581 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติในบริเวณที่กองทัพอากาศขอใช้ประโยชน์ ตั้งเป็นสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ในราชการทหารมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ทางกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนพื้นที่ดินดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 217,576.25 ไร่

ภูมิประเทศ

ภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 400 - 1,200 เมตร ส่วนฐานหรือเชิงเขาเริ่มจากจุดต่ำสุดของพื้นที่ที่ระดับความสูง 260 เมตรไปจนถึงระดับความสูง 400 เมตร มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาล้อมรอบตัวภูกระดึง และพื้นที่ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นมีสภาพลาดชันยกตัวขึ้นเป็นขอบเขา และหน้าผาสูงชัน พื้นที่ราบบนยอดตัดของภูเขามีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีลักษณะคล้ายรูปใบบอนหรือรูปหัวใจเมื่อมองจากด้านบน มีส่วนปลายใบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนเว้าด้านในอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ราบบนเขาประกอบด้วยเนินเตี้ยๆ ยอดที่สูงที่สุดอยู่ที่บริเวณ คอกเมย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,316 เมตร สภาพพื้นที่ราบบนยอดภูกระดึงมีส่วนสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ และจะค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำธารสายต่างๆ บนภูเขาไหลไปรวมกันทางด้านนี้ กลายเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง

phu kra dueng 03

ภูกระดึง เกิดขึ้นในมหายุคมีโซโซอิก มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินในชุดโคราช ประกอบด้วยชั้นหิน: หมวดหินภูพานเป็นหินชั้นที่มีอายุน้อยที่สุดอยู่ชั้นบนสุดของโครงสร้างภูกระดึง พบทั่วไปบนหลังแปหรือที่ระดับความสูงตั้งแต่ 990 เมตรขึ้นไป หมวดหินเสาขัวพบตั้งแต่ระดับความสูง 600 เมตรขึ้นไป หมวดหินพระวิหารพบในระดับความสูง 400–600 เมตรและ หมวดหินภูกระดึงเป็นหินชั้นฐานของโครงสร้างภูกระดึง

ภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีภูมิอากาศบริเวณพื้นราบรอบเชิงเขาเหมือนกับบริเวณอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 °C อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน ปริมาณหยาดน้ำฟ้า 1,242 มิลลิเมตรต่อปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 72%

สภาพอากาศบนยอดภูกระดึง มีปริมาณหยาดน้ำฟ้าเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณหยาดน้ำฟ้าบนที่ราบเชิงเขา สาเหตุมาจากอิทธิพลของเมฆและหมอกที่ปกคลุมยอดเขา ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90% อุณหภูมิเฉลี่ย 19.7 °C ในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 0-10 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 21-24 °C ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 12-19 °C อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 23-30 °C อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอกลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี

phu kra dueng 05

นิเวศวิทยา

สัตว์ป่า

ภูกระดึง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบสัตว์บกมีกระดูกสันหลังรวม 266 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 36 ชนิด เช่น เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอก กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน และ อีเห็น เป็นต้น ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คือ เลียงผา ช้างป่า เสือดาว และเสือโคร่ง สัตว์ปีกจำนวน 171 ชนิด เช่น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย และ นกขมิ้นดงเป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน 39 ชนิด เช่น ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเห่า และงูเขียวหางไหม้เป็นต้น มี 1 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ เต่าเดือย นอกจากนี้ยังพบเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาวอาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวนมาก เช่น อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ และ ปาดแคระเป็นต้น

phu kra dueng 10

สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเมื่อขึ้นไปถึงยอดภูคือ กวาง เนื่องจากมีกลุ่มกวางจำนวนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้เลี้ยงเอาไว้ ทำให้กวางกลุ่มนี้ไม่วิ่งหนีเมื่อพบเห็นคน กวางตัวแรกที่เจ้าหน้าที่ได้เลี้ยงเอาไว้ชื่อ คำหล้า เป็นกวางตัวเมีย ตัวที่สองเป็นตัวผู้ชื่อ คัมภีร์ นอกจากนี้ยังมีหมูป่าซึ่งเคยพบตัวในบริเวณป่าปิด แต่ปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วไปแม้ในส่วนลานกางเต็นท์เมื่อยามมีนักท่องเที่ยวไม่มาก และหมาใน เดิมจะอยู่ในส่วนป่าสนด้านบน หากินกันเป็นฝูงใหญ่ แต่ปัจจุบันเข้ามาหากินใกล้บริเวณที่ทำการมากขึ้น สามารถพบเห็นได้บริเวณร้านค้าที่ทำการด้วย

พืชพรรณ

ภูกระดึงเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่งในประเทศไทย มีสังคมพืชหลากหลายสามารถแบ่งได้ตามความแตกต่างของความสูง ภูมิอากาศ สภาพดิน-หิน และชีวปัจจัย จากที่ราบเชิงเขาถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรจะเป็นป่าเต็งรังคิดเป็น 8% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง กราด รกฟ้า เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ขึ้นเป็นกอหนาแน่นแทรกด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก นอกจากนี้จากพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภู จนถึงระดับความสูง 950 เมตรจะเป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสมคิดเป็น 67 % ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญเช่น แดง ประดู่ป่า กระบก ตะแบกเลือด ยมหิน เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้า ไผ่ ไม้พุ่ม ไม้เถา พืชล้มลุก และพืชกาฝากและอิงอาศัย

phu kra dueng 08

ป่าดิบแล้งพบตามฝั่งลำธารของหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตก ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูง 950 เมตรคิดเป็น 5% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้สำคัญ เช่น ก่อ ตะเคียนทอง ยางแดง ยมหอม เป็นต้น พืชพื้นล่างแน่น เป็นพวกไม้พุ่ม ไม้เถา และ พืชล้มลุก เมื่อสูงจากระดับ 1,000 เมตรขึ้นไปจะเป็นป่าดิบเขาพบในทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ก่วมแดง ทะโล้ สนสามพันปี พะอง จำปีป่า เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่มและไม้เถา ตามหน้าผาริมขอบภูพบปาล์มต้นสูง เช่น ค้อดอย

ที่ความสูงเกิน 1,000 เมตรขึ้นไปจะเป็น ป่าดิบเขาพบเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปคิดเป็น 9% ของพื้นที่อุทยาน ป่าละเมาะเขาจัดอยู่ในประเภทป่าไม่ผลัดใบ พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงระหว่าง 1,200–1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1%

phu kra dueng 06

ป่าสนเขาจะพบเฉพาะบนที่ราบยอดภูที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตรคิดเป็น 10% ของพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สนสองใบ ก่อเตี้ย ทะโล้ สารภีดอย เป็นต้น พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก ตามลานหินมีพืชชั้นต่ำพวกไลเคนประเภทแนบกับหินเป็นแผ่น และประเภทเป็นฟองเรียก ฟองหิน ปกคลุมทั่วไป นอกจากนี้จะพบเอื้องคำหิน ม้าวิ่ง และเขากวาง เป็นกอหนาแน่น บนพื้นดินที่ชุ่มแฉะพบมอสส์จำพวกข้าวตอกฤๅษีหลายชนิดขึ้นทับถมแน่น คล้ายผืนพรม บางแห่งมีพืชล้มลุกขนาดเล็กหลายชนิดขึ้นปะปนกันแน่น เช่น กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว ดุสิตา และหญ้าข้าวก่ำ

นอกจากนี้ยังมีพรรณพืชที่สำคัญซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของภูกระดึงจำนวน 11 ชนิด เช่น ข้าวก่ำผา หญ้าระรื่น และ ซ้อ เป็นต้น

phu kra dueng 09

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก เฉพาะบนยอดเขาภูกระดึงมีการปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของทุกปี

วิถีลูกหาบ หัวใจภูกระดึง - รายการซีรีส์วิถีคน ThaiPBS

เส้นทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึง

  • เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง: เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาในเส้นทางนี้ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยาน ในเส้นทางขึ้นจะมีบริเวณที่พักและร้านอาหารหลายช่วง มีระยะทาง 5.5 กม.จากที่ทำการถึงหลังแป และจากหลังแปถึงที่พักประมาณ 3.6 กม.
  • เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว: นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่ บ้านฟองใต้ อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 5.2 กิโลเมตรจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงผาหล่มสัก

phu kra dueng 07

redline

backled1