attalak isan

เชี่ยนหมาก

เชี่ยนหมาก ในภาษาอีสานเรียกได้หลายอย่าง เช่น เชี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และ ขันหมาก แต่ก็หมายความถึงภาชนะกล่องไม้ที่มีไว้ใส่ชุดหมากพลูเช่นเดียวกัน นิยมทำจากไม้เนื้อแข็งและไม้มงคล จากการศึกษาพบว่า เชี่ยนหมากไม้นี้มีอายุราว 50 - 150 ปี ทำขึ้นเพื่อใส่ชุดหมากพลูต้อนรับแขกผู้มาเยือน ใช้ประดับบ้านเป็นเครื่องแสดงฐานะ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบพิธีกรรมการแต่งงาน ซึ่งจะต้องจัดเชี่ยนหมากไปสู่ขอฝ่ายเจ้าสาวอีกด้วย เชี่ยนหมากอีสานที่มีลักษณะเป็นกล่องไม้นี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่พบในภูมิภาคอื่นในประเทศ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบของเชี่ยนหมากอีสานมีสองแบบ คือ ทรงกล่อง และทรงคางหมู (แอวขันปากพาน) ส่วนประกอบมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) ปากหรือส่วนบนสุด แบ่งออกเป็น 3 ช่อง ใช้ใส่ชุดหมากพลู 2) ลำตัว เป็นจุดเด่นในการแสดงลวดลาย ส่วนมากเป็นลายเรขาคณิตในแบบต่างๆ เช่น ฟันปลา สามเหลี่ยม เส้นกากบาท ข้าวหลามตัด เส้นทแยง รองลงมาคือ ลายประแจจีน ลายดอกไม้ ลายเส้นอิสระ และลายคล้ายฮูปแต้ม เช่น พญานาค เทวดา คน สัตว์ พรรณไม้ 3) ส่วนเอว 4) ส่วนขา

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม บ่งบอกฐานะของเจ้าของเป็นการแสดงฝีมือเชิงช่างของฝ่ายชาย เพราะต้องนำเชี่ยนหมากที่สวยงามมอบให้แก่ฝ่ายเจ้าสาวเมื่อจัดขันหมากไปสู่ขอ

chian mak 01

การกินหมากและทำเชี่ยนหมากเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ก็มีแพร่หลายในแถบประเทศเอเชีย เช่น จีน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย เป็นต้น การกินหมากในสมัยโบราณนั้นถือว่าเป็นสิ่งดีงาม เพราะคนฟันดำเป็นลักษณะของคนสวย (นึกภาพให้ออกหน่อยนะครับว่าสวยยังไง) นอกจากนี้ยังให้ความเพลิดเพลินในเวลาเคี้ยวหมาก ช่วยฆ่าเวลาและทำให้ฟันแข็งแรงทนทานอีกด้วย

chian mak 04เชี่ยนหมากอีสานในยุคเฟื่องฟู

เชี่ยนหมาก ในอีสาน เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับ "เชี่ยนหมากอีสาน" ในพุทธศตวรรษที่ 25 โดยนักวิจัยชาวตะวันตกคือ Dr.Howard Kaufman นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า เชี่ยนหมาก หรือ กระบะหมาก นี้เริ่มทำในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยช่างไม้คนหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ในแถบจังหวัดมหาสารคาม แล้วค่อยๆ แพร่หลายออกไปในเขตต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยช่างไม้จะทำให้แก่ผู้ที่จ้างทำ เพื่อจะนำไปมอบแก่คู่หมั้นของตน (ปวีณา ป้อมสุข ๒๕๔๗ : ๓๖) อัชราพร ทอนศรี ได้ทำการวิจัยเรื่อง องค์ประกอบของลายขันหมาก ที่พบใน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า เชี่ยนหมากมีอายุ อยู่ระหว่าง 2-3 ชั่วคน ราว 50-150 ปี ซึ่งมักเป็นมรดกตกทอดจากย่า ยายทวด สู่ยายย่า สู่แม่เฒ่า พ่อเฒ่า ในปัจจุบัน โดยมีตำนานเล่าว่า ช่างไม้ในมหาสารคามทำเชี่ยนหมากเพื่อไปสู่ขอสาวที่ตนรัก ด้วยความประณีตสวยงามจึงทำให้ชายผู้นั้นสมหวังในความรักได้

chian mak 11ครั้นต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 งานช่างแขนงนี้ก็ได้เข้ามาสู่มือของ พระภิกษุ สามเณร ผู้บวชเรียน โดยทำเชี่ยนหมากตอบแทนโยมอุปัฏฐาก พ่อออก แม่ออก ที่ดูแลยามตนบวช พระบวชเรียนสมัยนั้นจะได้รับการฝึกให้ทำงานช่างฝีมือต่างๆ เช่น การทำ พวงแก้ว (ที่เก็บแก้วน้ำ หรือโจกน้ำ ที่ล้างสะอาดแล้ว ไว้รับแขกผู้มาเยือน) ไม้คาน แอบยา เชี่ยนหมาก จนไปถึงการสร้างกุฏิ สิม (โบสถ์) าตุ พระธาตุ เจดีย์ต่างๆ

จากการสัมภาษณ์ คุณยายทองใส แสงสุวอ และคุณยายทองสุข วิเศษปัดสา อายุ 78 ปีทั้งสองท่าน เพิ่งเลิกกินหมากได้ไม่นาน เนื่องจากสุขภาพทางช่องปาก (ปูนกัด) ได้เล่าให้ฟังถึงสภาพสังคมในอดีตว่า "เมื่อก่อนหญิงทุกบ้านจะกินหมาก พวกยายเริ่มกินหมากมาตั้งแต่อายุ 24-25 ปี ส่วนมากผู้หญิงจะกินหมากกัน ส่วนผู้ชายจะสังสรรค์กันด้วยเหล้าและยาสูบ จึงไม่นิยมเคี้ยวหมากนัก"

เชี่ยนหมาก สมัยก่อนมีอยู่ทุกบ้าน บ้านละอัน คุณค่าเปรียบเหมือนผ้าทอ บ้านไหนเชี่ยนหมากสวย ประณีตกว่า ก็แสดงว่ามีฐานะดี บางทีก็มีการประชันเชี่ยนหมากแข่งบารมีกันบ้าง แต่เลิกใช้ไป 30-40 ปีแล้ว

วัฒนธรรมศิวิไลซ์กับคำสั่งห้าม 'กินหมาก'

แต่การกินหมากมาถูกสั่งให้เลิกอย่างจริงจัง ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ท่านต้องการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าการกินหมาก เป็นสิ่งสกปรก เลอะเทอะ ไม่ทันสมัย เชี่ยนหมากจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมา ตั้งแต่ในครั้งกระนั้นแล้ว ยิ่งต่อมามี หมากฝรั่ง เข้ามาขาย สามารถเคี้ยวเล่นได้ คนสมัยใหม่ก็ไม่ลองกินหมาก ส่วนคนสูงอายุก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ การกินหมากจึงคงจะค่อยๆ สูญหายไปในที่สุด ตัวเชี่ยนหมากจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเช่นกัน ก็กลายเป็นของสะสมเล่นไปอีกอย่างหนึ่ง พวกที่ทำด้วยโลหะมีค่า ประดิษฐ์อย่างสวยงาม ก็จะมีราคาแพง และหายากมาก แต่ต่างกันคนละแบบ

"เชี่ยนหมาก" เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูของ คุณย่า คุณยาย ที่ปัจจุบันหาดูได้ยากมากแล้ว เด็กในปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จัก "เชี่ยนหมาก" นอกจากในชนบทห่างไกล ที่ยังมีคุณย่า คุณยาย กินหมากกันอยู่

เชี่ยนหมาก เป็นเสมือนสิ่งที่ใช้ในการต้อนรับแขกประจำบ้านในสมัยก่อน ไม่ว่าแขกไปใครมาเยี่ยมเยียน เจ้าของบ้านก็จะยกเชี่ยนหมากมาต้อนรับ กินหมากกินพลูกันไปคุยกันไป ช่วยสร้างให้บรรยากาศเป็นกันเอง ถือเป็นธรรมเนียมพื้นบ้านของไทยอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเรียกเชี่ยนหมากต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระทายหมาก ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานเรียก ขันหมาก ถ้าเป็นของใช้ในรั้วในวัง ราชาศัพท์ระดับพระมหากษัตริย์เรียก พานพระศรี ระดับราชวงศ์เรียก พานหมากเสวย

ลักษณะของเชี่ยนหมาก คือ ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้นของเชี่ยนหมากเป็นพื้นเรียบใช้ไม้แผ่น เชี่ยนหมากทรงสูง 1 เชี่ยนหมากมีอยู่ 4 ช่อง แต่ละช่องมีสิ่งของอยู่ข้างใน เช่น ตลับหมาก, ตลับยาเส้น, เต้าปูน, ซองพลู, เต้าปูนที่ใส่ปูนแดงไว้, หมากสดและหมากแห้ง, กรรไกรหนีบหมาก (มีดสะนาก) และตะบันหมาก นอกจากนั้นยังมีสิ่งของกระจุกกระจิกที่อยู่ในเชี่ยนหมากอีกหลายอย่าง เช่น ขี้ผึ้ง, เข็มเย็บผ้า, ด้ายเย็บผ้า, ปุยฝ้าย, ยาดม, พิมเสน, การะบูน, ยาหม่อง และเศษเงินเหรียญที่อยู่ในเชี่ยนหมาก

เชี่ยนหมากไม้อีสานโบราณ กะต่าหมากยุคต่อมา และกล่องสังกะสีที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบัน

เชี่ยนหมากไม้อีสานโบราณ กะต่าหมากยุคต่อมา และกล่องสังกะสีที่พอพบเห็นได้ในปัจจุบัน

เชี่ยนหมาก สามารถบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของได้ เพราะทำจากวัสดุที่แตกต่างกันไปตามฐานะ ชาวบ้านทั่วไป มักจะทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ธรรมดาๆ หรืออาจหากล่องใบใหญ่ๆ (กล่องขนมคุกกี้) มาทำเชี่ยนหมาก หากมีฐานะดีหรือมีหน้าที่การงานดี เชี่ยนหมากอาจจะทำด้วยเครื่องเขิน ทองเหลือง เงิน หรือไม้แกะสลัก

แต่ตามชนบทอีสานส่วนใหญ่จะพบเชี่ยนหมากที่ทำด้วยไม้ทั่วไป เช่น ไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง หรือไม้เนื้ออ่อน จำพวกไม้ขนุน ไม้มะม่วงป่า นิยมทาสีผิวนอกเป็นสีดำทำจากเขม่าคลุกกับน้ำมันยาง แล้วจึงแกะสลักลวดลาย โดยใช้มีดคมกรีดเป็นลายเส้นอย่างง่ายๆ เช่น ลายรูปขนมเปียกปูน ลายเส้นลวด ลายดอกผักแว่น บ้างก็แต่งลายด้วยสีแดง สีเหลือง สีปูนขาว สีเขียว ตามแต่จะหาวัสดุได้ในท้องถิ่น

chian mak 02

รูปทรงของเชี่ยนหมากอีสาน มีส่วนฐาน 2 แบบ คือ แบบขันหมากตัวผู้ มีเดือยอยู่ระหว่างขาเชี่ยนทั้งสอง แบบขันหมากตัวเมีย ทำขาแหวกขึ้นไปจรดเอวทั้ง 4 ด้าน ภายในเชี่ยนแบ่งเป็นช่องสำหรับใส่เครื่องเชี่ยน เช่น หมากพลู ตลับขนาดต่างๆ ใส่เครื่องสำหรับกินกับหมาก ยกเว้นเต้าปูนนิยมวางไว้นอกเชี่ยน แต่บางคนก็รวมไว้ด้วยกัน

chian mak 05
อุปกรณ์การกินหมากมี เต้าปูน มีดสะนาก ตะบันหมาก และเชี่ยนหมาก

ท่านที่สนใจเชี่ยนหมาก ติดต่อที่ กลุ่มทำเซี่ยนหมากและสลักไม่ติดลายลงรักษ์ บ้านเลขที่ 31 บ้านดอนขวาง หมู่ 4 ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 34140 โดยคุณเสถียร บุตรน้อย โทรศัพท์ 084-538-5026, 045-385-026

ผลิตภัณฑ์เชี่ยนหมาก จังหวัดอุบลราชธานี

หมายเหตุ : เว็บไซต์แห่งนี้รวบรวมเรื่องราวของหัตถกรรมพื้นถิ่นอีสานที่น่ารู้ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย จ่ายแจกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หัตถกรรมบางชิ้นได้อ้างอิงแหล่งผลิต จัดทำไว้ หากท่านสนใจโปรดติดต่อกันได้โดยตรงตามชื่อ/ที่อยู่ที่ปรากฏในท้ายบทความครับ

[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : งานวิจัยเชี่ยนหมากอีสาน | เชี่ยนหมาก 2 ]

redline

backled1