attalak isan

ฮูปแต้ม (2)

ฮูปแต้ม หรือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่เกิดจากศรัทธาอย่างแรงกล้าของ "ช่างแต้ม" ที่มีต่อพระพุทธศาสนา มีอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังในภูมิภาคอื่นๆ นิยมถ่ายทอดเรื่องราวจากวรรณกรรมทางศาสนา เช่น พุทธประวัติ พระมาลัย ไตรภูมิ อรรถกถาชาดก ปริศนาธรรม และวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น สินไซ การเกด พะลัก-พะลาม แต่ที่นิยมนำมาเขียนเป็นฮูปแต้ม ได้แก่ พระมาลัย พระเวสสันดร และสินไซ

hoob tam wat pokam 01

นอจากนั้น ช่างแต้มอีสาน ยังเขียน "ภาพกาก" ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน เหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมของชาวอีสานได้อย่างดี ภาพจิตรกรรมอีสานเป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีคุณค่า เป็นศิลปะที่แสดงออกอย่างซื่อๆ ไร้มายา และเป็นศิลปะสะท้อนความจริงที่มีจิตวิญญาณความเป็นคนอีสานอยู่อย่างสมบูรณ์

hoob tam wat khonkaen 02

สิ่งที่เด่นชัดในฮูปแต้ม ที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานออกแบบ คือ ภาพที่ประกอบไปด้วย รูปร่าง เส้น และสี โดยจำแนกเป็นกลุ่มได้  ดังนี้

1. กลุ่มภาพมนุษย์และอมนุษย์

ภาพมนุษย์หรือภาพคน ส่วนใหญ่เป็นภาพด้านข้างไม่มีแสงเงา มีเพียงเส้น รูปร่างและสี ประกอบด้วยตัวพระ ตัวนาง รูปตำรวจ ทหาร ชาวต่างชาติและชาวบ้านอีสาน ลักษณะท่าทางเป็นกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางศาสนา ส่วนภาพอมนุษย์เป็นภาพครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ในป่าหิมพานต์ รวมถึงภาพตัวร้ายในเรื่อง เช่น ยักษ์กุมภัณฑ์ ชูชก เป็นต้น

hoob tam wat manoot 03

2. กลุ่มภาพสัตว์

มีมากมายหลายชนิด ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก ซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ และมีสัตว์ที่เกิดจากการจินตนาการ หรือเป็นสัตว์ในวรรณกรรม เช่น คชสีห์ สิงห์ มอม พญานาค การเขียนภาพสัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการขียนด้านข้าง แต่จะพบการเขียนด้านหน้าด้วยเช่นกัน ลักษณะอารมณ์ของสัตว์เหล่านี้มักเป็นแบบน่ารัก น่าชัง บางตัวดูตลก เป็นการสร้างความสนุกสนานในการชมฮูปแต้ม

hoob tam wat animal 04

3. กลุ่มภาพสิ่งของ

สิ่งของต่างๆ ประกอบด้วยหมวดเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หมวดเครื่องดนตรี รวมถึงหมวดเครื่องแต่งกาย

4. กลุ่มภาพสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรม ประกอบด้วยธาตุ ธาตุบุคคลสำคัญ บ้านเรือน ปราสาทบนสวรรค์ ธรรมาสน์ เถียงนา ศาลา เป็นต้น ลักษณะการเขียนภาพสถาปัตยกรรมมีทั้งเขียนเป็นรูปด้านหน้าหรือด้านข้าง และวาดในลักษณะ 3 มิติ ประกอบด้วยด้านบน ด้านหน้า และด้านข้าง (Isometric)

hoob tam wat arkan 05

5. กลุ่มภาพธรรมชาติ

ภาพธรรมชาติที่นิยมเขียนในกลุ่มนี้ ได้แก่ ต้นไม้กับโขดหิน ภาพต้นไม้ในฮูปแต้มมีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการเขียนลำต้นโค้งเป็นธรรมชาติ นิยมตัดเส้นใบ ส่วนโขดหินเขียนด้วยเส้นโค้งซ้อนและต่อนื่องกัน ระบายสีแถบใหญ่ด้านใต้ขนานกับเส้นโค้งนั้นด้วยสีส้มหรือสีน้ำตาล คล้ายงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์

hoob tam hin tonmai 06

กรรมวิธีและวัสดุในการเขียนฮูปแต้ม

การจัดเตรียมวัสดุในการเขียนฮูปแต้มและเทคนิคการทำผนังสิม มีความสำคัญและส่งผลต่อฮูปแต้มเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ต้องทำผนังให้เหมาะสมต่อการเขียนฮูปแต้ม โดยการทำปูนฉาบผนังด้วยสูตรที่ผสมเป็นพิเศษ หรือ "ชะทาย" เป็นส่วนผสมของเปลือกหอยนำมาเผา แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับกาวเปลือกยางบงและเครือเขาคำ และผสมกับทรายละเอียด บางสูตรอาจนำหนังวัวหรือควายมาเผาจนไหม้หมดแล้วแช่เอาน้ำเหนียวๆ หรือนำน้ำอ้อยมาผสมปูนด้วย พื่อป้องกันสีฮูปแต้มที่ผิดเพี้ยน เมื่อฉาบผนังด้วยชะทายเป็นที่เรียบร้อยก็ต้องทำการไล่ความเค็มออกจากพื้น ด้วยการนำน้ำต้มใบขี้เหล็กไปฉีดที่ผนังทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นมาถึงขั้นตอนการตรียมการรองพื้นผนังที่จะแต้มฮูป ใช้ดินสอพองผสมกับกาวน้ำมะขามทาบางๆ รองพื้นผนังสิม เมื่อแห้งแล้วจึงจะแต้มฮูปได้

hoob tam animal 07

การแต้มฮูปใช้วิธีร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังก่อน จากนั้นจึงลงสีฉากหลังก่อนแล้วจึงวาดรายละเอียดพิ่มเติม แล้วใช้พู่กันที่ทำจากรากดอกเกด (ดอกลำเจียก) นำมาทุบปลายแล้วลงสี ส่วนสีแต้มนั้นได้มาจากวัสดุธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น สีครามได้มาจากต้นคราม สีเหลืองได้จากยางต้นรง สีแดงหรือสีน้ำตาลแดงได้จากดินแดงประสานกับยางบง สีดำได้จากเขม่าไฟป่นละเอียดหรือหมึกแท่งจากจีน สีขาวได้จากการฝนเปลือกหอยกี้ สีเคมีนำมาจากสีบรรจุของตราสตางค์แดง มีตัวเชื่อมหรือตัวประสานระหว่างสีกับผนัง คือ ยางบงหรือยางมะตูมผสมน้ำ บ้างก็ใช้ไขสัตว์แล้วนำมาผสมกับสีฝุ่นที่บดละเอียด วัสดุธรรมชาติเหล่านี้ทำให้โทนสีของฮูปแต้มอีสานมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

องค์ประกอบของฮูปแต้ม

เนื่องจากช่างแต้มมีอิสระเเสรีในการแสดงออกอย่างเต็มที่ รูปแบบและกรรมวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์ในฮูปแต้มอีสานจึงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ในภาพรวมแล้วองค์ประกอบในฮูปแต้มอีสานคล้ายกับการแสดงหนังตะลุง ผืนผนังภายในและภาพภายนอกของสิมเปรียบได้กับจอหนัง มีตัวละครที่กำลังแสดงอริยาบถต่างๆ ตามท้องเรื่องจากตอนหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกตอนหนึ่งใกล้ๆ กับเนื้อเรื่องแต่ละตอนจะมีคำบรรยายภาพด้วยตัวอักษรกำกับไว้ด้วย มีทั้งตัวอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรไทยปัจจุบัน อักษรเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในภาพมากยิ่งขึ้น ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบเป็นสิ่งแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอน หรือไม่ก็ปล่อยช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพเพื่อมิให้เกิดความสับสนระหว่างเนื้อหาแต่ละตอน ช่องว่างจะเกิดคุณค่าคล้ายกับที่พักสายตา คล้ายกับการเว้นวรรคของประโยคหรือการขึ้นบรรทัดใหม่ของคอลัมน์ในการเขียนหนังสือ

hoob tam sinchai 08

พื้นผนังหรือฉากหลังไม่มีการรองพื้นด้วยสีหนัก จะรองพื้นด้วยสีขาวล้วนหรือขาวนวล ทำให้บรรยากาศของภาพดูสว่างสดใส ช่างแต้มจะร่างรูปทรงของตัวละครต่างๆ ลงบนผนังสีขาวนั้น มีการลงสีตกแต่งเครื่องประดับตัดเส้นลงรายละเอียดในบางส่วนที่เป็นรูปทรงของตัวละคร จุดเด่นขององค์ประกอบภาพจึงอยู่ที่ตัวละคร สำหรับสิมบางหลังช่างแต้มจะระบายสีบางๆ มีน้ำหนักอ่อนๆ บริเวณใกล้เคียงกับตัวภาพหรือตัวละคร ทำให้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ เกิดความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่าที่เป็นสีขาวโดดๆ

hoob tam naisim 09

ช่างแต้มในงานฮูปแต้ม

หากพิจารณาฮูปแต้มอีสานทั้งหมดจะพบว่า ลักษณะรูปร่าง ลายเส้น ตลอดจนสีมีความแตกต่างกัน โดยอาจจำแนกลักษณะงานที่สร้างสรรค์โดยช่างแต้มได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ คือช่างแต้มที่ถ่ายทอดและฝึกฝนกันอยู่ในท้องถิ่น ลักษณะงานจึงเป็นศิลปะพื้นบ้านอีสานแท้ กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด
    hoob tam group1 2 10
  • กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ คือช่างแต้มที่เคยไปกรุงเทพฯ อาจเป็นช่างหลวงหรือที่ได้รับการฝึกฝนจากช่างหลวง นำมาผสมผสานกับเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการพื้นบ้าน กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มผู้เขียนภาพวัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภาพจึงคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม
  • กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างแถบลุ่มน้ำโขง ที่แสดงลักษณะวัฒนธรรมล้านช้างผสมผสานกับอิทธิพลวัฒนธรรมหลวง พบฮูปแต้มกลุ่มนี้ได้ในเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
    hoob tam group3 11

ลักษณะเด่นและคุณค่าเชิงรูปธรรม

ลักษณะเด่นของฮูปแต้มอยู่ที่ภาพที่ปรากฏประกอบด้วยรูปร่าง เส้นและสี รูปร่างของฮูปแต้มอีสานเริ่มเขียนจากรอบนอก (Outline) แล้วลงสีพื้น จากนั้นตัดเส้นรายละเอียดภาพในรูปร่าง ไม่มีการระบายแสงเงา ไม่เน้นกล้ามเนื้อและสัดส่วนที่เหมือนจริง เป็นรูปร่างที่เน้นการสื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร การเขียนรูปร่างมักมาจากของจริง แต่ช่างแต้มนำมาเขวียนในรูปแบบและความรู้สึกของช่างแต้มเอง โดยเขียนอย่างอิสระไม่มีกรอบตายตัวที่บังคับให้เขียนให้เหมือนจริงด้วยสัดส่วน แสงเงา หรือกล้ามเนื้อ แม้จะไม่เหมือนจริง แต่ก็เป็นเสน่ห์ของฮูปแต้มอีสาน เส้นเป็นเส้นอิสระไม่แข็งหรือเกร็ง ดูแล้วสบายๆ คล้ายเส้นของภาพการ์ตูน สีและโครงสีเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของฮูปแต้ม เป็นโครงสีที่มีบรรยากาศสว่างสดใส พื้นหลังสีขาวนวล ช่วยขับให้ตัวละครลอยเด่นออกมา เป็นศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เน้นประโยชน์ใช้สอยมาเป็นอันดับแรก เหมือนการเขียนแบบง่ายๆ แต่เมื่อพิจารณาถ้วนถี่จะเห็นการเก็บรายละเอียดที่สมบูรณ์และประณีตอย่างมาก

hoob tam wat chaisri 12

ลักษณะเด่นและคุณค่าเชิงนามธรรม

ฮูปแต้ม เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านเรื่องราวพุทธประวัติ พุทธชาดก และวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน มีเรื่องราวนรก สวรรค์ เป็นสิ่งเตือนใจให้คนไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และมีปริศนาธรรมให้ขบคิดประเทืองปัญญา นอกจากนั้น ฮูปแต้มยังเล่าเรื่องราวชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของคนอีสานในสมัยนั้น ส่วนวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น เรื่องสินไซ จะแฝงด้วยแก่นธรรมของพุทธศาสนา โดยนำมาเล่าผูกเรื่องให้สนุกสนาน เพิ่มความสนใจแก่ชาวบ้านผู้ชม นอกจากเนื้อหาเชิงนามธรรมแล้ว ฮูปแต้มยังสะท้อนบุคลิกแบบอีสาน คือ ความตรงไปตรงมา ซื่อๆ ง่ายๆ แม้รูปร่างหน้าตาสีสันจะไม่สวย ไม่วิจิตร แต่มีความสนุกสนานในตัวเอง

redline

backled1