attalak isan

ฮูปแต้ม

ฮูปแต้ม คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสาน ซึ่งปรากฏบนผนังทั้งภายนอกและภายในของสิม (โบสถ์) วิหาร หอไตร และหอแจก (ศาลาการเปรียญ) แสดงเรื่องราวพุทธประวัติหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นความงามแบบพื้นบ้านที่ซื่อตรง เรียบง่าย ลักษณะเด่น คือ เนื้อเรื่องแบ่งเป็นตอนๆ เชื่อมต่อกัน ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบ หรือใช้ช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอน เพื่อมิให้เกิดความสับสนในเนื้อหาแต่ละตอนยังมีคำบรรยายภาพกำกับไว้ด้วย ช่างแต้มเป็นทั้งฆราวาสและพระภิกษุในสังคมชนบท ซึ่งเชื่อว่าการได้เขียนฮูปแต้มถือเป็นบุญกุศล

nok koo hook 04
ฮูปแต้ม วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง)จังหวัดมหาสารคาม

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปแบบไม่เคร่งครัดไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่วิจิตรบรรจง สื่อความหมายแบบซื่อตรง ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะอิสระคล้ายภาพการ์ตูนหรือศิลปะเด็ก มีความแปลกตา สร้างความรู้สึกเรียบง่าย สนุกสนาน และมีชีวิตชีวา

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนบุคลิกคนอีสานที่ซื่อๆ ง่ายๆ มีความสนุกสนาน ฮูปแต้มสื่อถึงพุทธศาสนาและวิถีชีวิตชนบทภาคอีสาน

nok koo hook 01

“นกกู้หูก” หรือ “นกเค้าแมว” ในจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิม (โบสถ์)
วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

 

กระจกหกด้าน ตอน ฮูปแต้ม

“นกกู้หูก” กับนิทานปรัมปราของชาววัฒนธรรมลาว เรื่อง “ย่ากินปลิง”

ผู้เขียน : วีระพงศ์ มีสถาน

ค่ำคืนหนึ่ง จำเดือนไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่าเป็นหน้าหนาว เดือนที่เพิ่งตั้งต้นนับข้างแรมสัก 2-3 ค่ำสาดแสงลอดทิวมะม่วงที่สูงใหญ่เบื้องตะวันออก เมื่อกินข้าวมื้อเย็นแล้ว คนบ้านใกล้เรือนเคียงมักเดินไปทักทายกัน เรียกว่า “ไปเล่น” หมายถึงไม่ได้มีธุระปะปังสำคัญอันใด คืนนี้ป้าข้างบ้านก็ขึ้นมาทักทายคุยกับพวกเราบนเรือน

วัยแม่กับป้านั้นประมาณเดียวกัน แต่การมาคุยของป้าไม่ได้หมายจะมาคุยกับแม่เท่านั้น เป็นการเดินมาเพื่อโอภาปราศัยฉันเพื่อนบ้าน เช่น ถามพี่สาวว่า “คืนนี้ได้อะไรกิน” หรือหมายถึง คืนนี้กินข้าวกับอะไรนั่นเอง และถามเรื่องสัพเพเหระ

ที่นอกชานนั้น มีพ่อ น้องสาวตัวเล็ก ผู้เขียน นั่งผิงไฟ โดยการก่อไฝผิงบนอีเลิ้ง ป้านั้นก็มานั่งบนเสื่ออยู่ห่างๆ กองไฟ ส่วนแม่นั่งเหยียดขาเคี้ยวหมากอยู่บนระเบียง ระหว่างที่เคี้ยวหมากและคุยกับป้าอยู่นั้น พลันก็มีเสียงนกชนิดหนึ่งมาร้องให้ได้ยิน เสียงนกนี้ร้อง ชาวบ้านตีความเสียงของมันว่า “กู้หูก”

ทุกคนนิ่งงันชั่วครู่ ผู้เขียนถามพ่อว่า เสียงนกอะไร พ่อบอกว่า “นกขี้ถี่” หรือนกเค้าแมว และดูเหมือนทุกคนจะให้ความสำคัญกับนกนี้มาก พี่ชายคนโตกึ่งบ่นกึ่งถามว่า เสียงมันมาจากทางไหน พี่ชายคนที่ 3 ทำธุระอยู่ลานหน้าบ้านสันนิษฐานแกมบอกว่า นกเกาะอยู่บนยอดมะพร้าว สักพักหนึ่งนกดังว่าก็ร้อง “กู้หูก กู้หูก” อีก ทุกคนจึงมั่นใจว่ามันเกาะอยู่บนทางมะพร้าวโทนที่สูงลิบลิ่ว

nok koo hook 02

“นกเค้าแมว” หรือ “นกขี้ถี่” หรือ “นกกู้หูก” ปรากฏในภาพเขียนการทำศพชูชกในเรื่องพระเวสสันดร
จิตรกรรมฝาผนังด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

ถึงแม้ฟ้าออกสว่างเพราะฤทธิ์เดือนแรม แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้มองเห็นตัวนกได้ พี่ชายคนโตจึงเดินจ้ำไปที่เก็บหน้าเต่ง (หน้าไม้) ฉวยมาพร้อมลูกดอกมา 2-3 ลูก แล้วโก่งสายห้าง (เตรียมลั่น) เอาไว้ เสียบลูกดอกเข้าที่ร่อง แล้วยกส่องไปที่ยอดมะพร้าว

ผู้เขียนทั้งตื่นเต้นและระคนสงสัยว่า ก็นกมันมาร้องไม่กี่แก๊ก ถ้ามันขี้คร้านอยู่ ประเดี๋ยวก็จะบินหนีไปตามเรื่องของมัน ทำไมผู้ใหญ่ดูช่างให้ความสนใจนัก แต่ก็ไม่ได้ซักถามอะไร

ระหว่างที่ทุกคนต่างสนใจนกขี้ถี่นี้ ผู้เขียนได้ยินแม่เรียกพี่สาวให้ปูฟูก (ที่นอนยัดนุ่น ชนิดที่พับได้ 3-4 ท่อน) แล้วเอาผ้านวมมาให้ด้วย เพราะแม่รู้สึกหนาวสะท้านขึ้นมาฉับพลัน หลังจากที่ได้ยินเสียงนกนี้ร้อง พี่สาวรีบกุลีกุจอจัดหาให้ทันที และปลอบใจว่าไม่เป็นไรๆ พี่ชายกำลังไล่มันไปแล้ว

ผู้เขียนผละจากกองไฟ แล้วไปจับมือถามอาการแม่ มือแม่เย็นเฉียบราวกับแช่น้ำเย็นมาหมาดๆ ข้างฝ่ายพี่ชายคนโตที่ยืนส่องหน้าเต่งอยู่บนชานเรือน เสียงลั่นดังเป๊ก ส่งลูกดอกทะยานไปในทิศยอดมะพร้าว เสียงพี่ชายคนรองย้ำว่า อีกสักดอกซิๆ พี่คนโตก็ง้างหน้าเต่งแล้วยิงไปอีกดอก ครั้งนี้มีเสียงพรึบๆ จะเป็นเพราะยิงถูกนก ทำให้กระพือปีกพยายามบิน หรือยิงไม่ถูก แต่นกตกใจจึงกระพือปีกบินหนี จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้คำตอบ ถามพี่ชายว่า นกตัวที่ยิงเมื่อคืนนี้ มันถูกยิงหรือมันบินหนี ทุกคนรวมทั้งพ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน

แม่นั้นดูทีว่าจะกลัวเสียงนกนี้มาก ตัวสั่นเทาๆ พอรุ่งเช้าเห็นแม่ลุกเดินไปมาได้ ช่วยพี่สาวนึ่งข้าวเหนียวและหุงหาอาหาร แต่ดูสีหน้าเหมือนกับเหนื่อยเพลีย ไม่ได้หลับตลอดทั้งคืน

มารู้ความและเดาเอาว่า เหตุที่แม่กลัวเสียงนกเค้าแมวนี้ เพราะมีนิทานปรัมปราของชาววัฒนธรรมลาว คือเรื่อง ย่ากินปลิง เรื่องมีว่า

ย่า (แม่ผัว) กับ ลูกสะใภ้ มีความกินแหนงแคลงใจกัน ย่านั้นตาบอดและมักบ่นกระปอดกระแปดตามประสาผู้เฒ่า ส่วนลูกสะใภ้ถึงจะแหนงใจกับย่า แต่ก็ต้องปรนนิบัติตามหน้าที่ของสะใภ้ลาว วันหนึ่งย่าเปรยว่า "อยากกินต้มปลา" นางสะใภ้จึงไปช้อนหาปลาจากหนองน้ำ แต่ก็ช้อนเอาปลิงมาต้มทำกับข้าวให้ย่ากิน ย่าก็กิน ซ้ำบอกว่าอร่อย แต่ก็เอะใจว่าเหตุใดปลาจึงเหนียวนัก กัดไม่ขาด สะใภ้ก็ตอบว่า เพราะย่าแก่แล้ว กำลังวังชาถดถอยจึงทำให้กัดไม่ขาด ส่วนลูกชายมาพบกับข้าวในสำรับว่าเป็นปลิง จึงทักแม่ของตน ทำให้แม่เกิดความสะอิดสะเอียน โกรธ เสียใจหนัก ก่อนตายนางสาบแช่งลูกสะใภ้ว่า "ขออย่าให้มีใครยกโลงศพของนางไปเผาที่กองฟอนได้ ยกเว้นลูกสะใภ้ และขอให้คานหามศพติดบ่าปลดไม่ออก"

ระหว่างที่ทำพิธีศพจะยกไปป่าช้า ชาวบ้านต่างก็มาช่วยกันยก ช่วยกันหาม แต่โลงก็ไม่ขยับเขยื้อน ชาวบ้านจึงขอร้องเรียกให้สะใภ้ซึ่งตอนนั้นนางกางหูกทอผ้าโดยไม่สนใจมาช่วยงานศพเลย มาช่วยยกโลง ปรากฏว่าพอนางมายกคานหาม ก็สามารถยกได้ แต่พอถึงป่าช้าไม่สามารถปลดคานออกจากบ่า ซึ่งเป็นไปตามคำแช่งของย่า ด้วยเหตุนี้ ลูกชายของแม่ (ย่า) จึงผลักนางซึ่งเป็นเมียของตนให้เข้าสู่กองฟอนตายตกไปตามกัน

สะใภ้คนชั่วเมื่อตายแล้วไปเกิดเป็นนกเค้าแมว ยามค่ำคืนก็มักมาจับตามต้นไม้ใหญ่ ร้องเรียกว่า “กู้หูก กู้หูก” เพราะตอนที่นางผละจากกี่ทอผ้าเพื่อไปยกโลงศพนั้น นางยังกางหูกไว้ หูกยังมิได้เก็บกู้

ชาววัฒนธรรมลาว ทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวา ต่างก็เคยมีความเชื่อถือว่า “นกขี้ถี่” เป็นนกผี มันจะมา “กูก” หรือกู่ร้องเอาวิญญาณของคน

อาจเป็นเพราะซาบซึ้งหรือฝังใจกับเรื่องปรัมปรานี้ แม่จึงกลัวเสียงนกนี้เป็นอย่างมาก และแม่มักถือปฏิบัติตลอดมาว่า เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ผู้เขียนเห็นแม่เก็บกู้หูกไว้อย่างเรียบร้อย แม่เคยบอกแต่เพียงว่า ถ้าไม่เก็บกู้จะขะลำ (หมายถึง จะละเมิดคำสอนของคนโบราณ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นเสนียด ความชั่วร้ายขึ้นในครอบครัว) [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : คะลำ ขะลำ จารีตชาวอีสาน ]

nok koo hook 03

“หูก” เครื่องทอผ้า ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

บรรดานิทานท้องถิ่น หรือตำนานอะไรบางอย่างที่กึ่งสนุก กึ่งน่าเชื่อถือ ซ้ำยังมีหลักฐานยืนยันเป็นทำนองว่า เสียงร้องของคน ของสัตว์ สีขน สีผิว ภาษาพูด อักษรเขียน พฤติกรรม ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏให้เห็นจนปัจจุบัน ผู้เขียนเรียกว่านิทานรับสมอ้าง คือเป็นการสร้างเรื่องให้พอเหมาะกับสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งนิทานเรื่อง ย่ากินปลิง ก็เข้าหลักการนี้ เป็นความชาญฉลาดของคนที่ผูกเรื่องขึ้นมา และเหมาะกับสังคมคนใช้ภาษาลาวเท่านั้น หากนกนี้จะบินไปร้องที่พม่า คนพม่าก็เห็นจะไม่รู้ความแน่ว่า นกบอกให้กู้หูก

พ.ศ. 2548 ซึ่งผู้เขียนได้ไปออกเก็บข้อมูลภาคสนามที่ หมู่บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งหมู่บ้านนี้คนส่วนใหญ่พูดภาษาเญอ แต่ก็รับอิทธิพลวัฒนธรรมลาวไว้มาก ช่วงนั้นมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ชาวบ้านที่มีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า ได้เก็บหูกไว้ ไม่ยอมทอ โดยบอกกับผู้เขียนว่า “ขะลำ” เช่นกัน

การกู้หูกในยามที่หมู่บ้านมีคนตาย คงมิใช่เป็นเพราะนิทาน แต่เป็นเพราะคำสอนที่ถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อรั้งให้สังคมหมู่บ้านรู้สึกเป็นพวก หรือเป็นหมู่เดียวกัน ดูแล ห่วงใย ใส่ใจ ช่วยงานกัน แต่ปรากฏการณ์นี้ นักท่องเที่ยวหรือคนที่ไม่สนใจงานวิถีชุมชน จะไม่ค่อยได้รู้เห็น ถ้าไม่เอ่ยปากทักถาม

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2560
ผู้เขียน : วีระพงศ์ มีสถาน

ยายกินปลิง ลำโดย ทองแปน พันพุปผา

[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ฮูปแต้มอีสาน 2 ]

redline

backled1