siton manorah header

รรณกรรมอีสานเรื่อง "ท้าวสีทน" ก็คือเรื่อง "พระสุธน-มโนราห์" ที่แพร่กระจายไปทั่วในทุกภาคของประเทศไทย การกระจายไปยังท้องถิ่นต่างๆ จึงทำให้เกิดการประพันธ์ขึ้นด้วยภาษาถิ่นนั้นๆ และฉันทลักษณ์ในแบบของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ในภาคเหนือก็ประพันธ์เป็น "คร่าวซอ" ชื่อว่า "เจ้าสุธน" ภาคกลางประพันธ์เป็น "บทละครนอก" ชื่อว่า "นางมโนราห์" แต่แต่งได้ไม่จบเรื่อง พระยาอิสรานุภาพ จึงได้ประพันธ์เป็นคำฉันท์ชื่อว่า "พระสุธนคำฉันท์" ส่วนภาคใต้ก็ประพันธ์เป็น "กลอนสวด" (กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์) ชื่อว่า "มโนราห์รานิบาต" และมีสำนวนที่ใช้แสดงมโนห์รา หรือโนราอีกหลายสำนวน

ส่วนในภาคอีสานแต่งเป็น "โคลงสาร" ซึ่งบางคนเรียก "กลอนลำ" ชื่อว่า “ท้าวสีทน” หรือ "ท้าวสีทนต์" หรือ "สีทนมโนราห์" และยังพบว่า มีชาวไทยในสิบสองปันนา รัฐคุนหมิง ของประเทศจีน ก็มีวรรณกรรมเรื่อง พระสุธนมโนราห์ ด้วย แต่จะเรียกอีกชื่อว่า “นางมโนราห์” ซึ่งเมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปเที่ยวเมืองสิบสองปันนาก็ได้ชมชุดการแสดงที่ศูนย์การแสดงชื่อ "พาราณสี" ที่มีการแสดงเรื่องราวต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ชุดระบำนกยูง (สิบสองปันนา เมืองแห่งนกยูง มีสวนสัตว์นกยูงให้เราได้ชมด้วย) เมื่อสอบถามรายละเอียดจากไกด์ได้ความว่า เป็นการแสดง "ร่ายรำของเหล่ากินรี" ซึ่งก็คือ "นางมโนราห์" แบบจีนที่อ่อนช้อยสวยงามนั่นเอง

siton manorah 05

ส่วนต้นฉบับเรื่อง "ท้าวสีทน" ฉบับภาคอีสานแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ลักษณะการประพันธ์เป็นโคลงสาร หรือกลอนลำ ซึ่งพระภิกษุนิยมนำมาเทศน์ เพราะชาวอีสานถือว่าเป็น "ชาดก" (คือชาดกนอกนิบาต) เพราะในต้นฉบับกล่าวว่า ท้าวสีทน (หรือ พระสุธน) เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และตอนจบเรื่องก็มีการประมวลชาดกที่กล่าวว่า ตัวละครตัวใดบ้างกลับชาติมาเป็นพระพุทธเจ้าพระชาติในปัจจุบัน ที่ภาคอีสานเรียกกันว่า “ม้วนชาดก” เรื่อง "ท้าวสีทนมโนราห์" ฉบับภาคอีสาน ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปนั้น ต้นฉบับที่ใช้เรียบเรียงก็คือ การถอดมาจากต้นฉบับใบลานมาเป็นอักษรไทย ที่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ก็คือ งานปริวรรตของ พระอริยานุวัตร เขมจารี (2513) เป็นหนังสือที่พิมพ์ต้นฉบับภาคอีสานเรื่อง “สีทน มะโนราห์” เป็นสำนวนวรรณคดีเก่าแก่ที่นักปราชญ์แต่ก่อนได้แต่งเป็นค้ากลอนเอาไว้ เพียงแต่ไม่ทราบว่าแต่งขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้แต่ง แต่มีการสันนิษฐานว่า อาจแต่งในต้นสมัยอาณาจักรล้านช้าง เพราะมีทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางฉบับสำนวนจะแตกต่างกันบ้างแต่ก็เล็กน้อย เพราะอาจเกิดจากจากคัดลอกต่อๆ กันมา รวมทั้งชื่อตัวละครที่อาจจะเขียนไม่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดก็สรุปความอย่างเดียวกัน

Dai Lue Movie : เจ้าสุธุน - นางมโนรา
เป็นภาพยนตร์เรื่องราวของ "ท้าวสุทน-นางมโนรา" สำนวนไตลื้อ

ในบทความที่จะเล่าต่อไปนี้ จะนำเสนอเพียง 2 สำนวน คือ สีทน-มโนราห์ ฉบับปริวรรตจากอักษรธรรม 4 ผูก วัดบ้านแดงหม้อ กับอีกสำนวนหนึ่งจากการศึกษาวิจัยเรื่อง ท้าวสีทน-มโนราห์ : ชาดกพื้นบ้านอีสานกับการสร้างพื้นที่ทางสังคมในชุมชนลุ่มน้าโขง ดังนี้

สำนวนที่ 1 สีทน-มโนราห์

ปริวรรตจาก อักษรธรรม 4 ผูก วัดบ้านแดงหม้อ ตำบลแดงหม้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
จาก การศึกษา รวบรวม และจัดสร้างฐานข้อมูลใบลานจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยังมีนครเป็งจาล (เปงจาน) มีกษัตริย์ชื่อ ท้าวอาทิตราช พระโพธิสัตว์ได้จุติในครรภ์พระเทวีของพระองค์ เมื่อประสูติแล้วทรงพระนามว่า "สีทนต์" ในตอนประสูติมามี "ธนู" อาวุธประจำพระองค์ติดตัวมาด้วย แสดงถึงความเป็นผู้มีบุญบารมี

มีนายพรานคนหนึ่งไปล่าสัตว์ที่ป่าหิมพานต์ ไปช่วยกิตตินาคราชให้พ้นจากการคุกคามของยักษ์ นายพรานไปพบนางกินรี ชื่อ มโนราห์ และพี่ของนางรวม 7 คน มาเล่นน้ำในสระริมเขาไกรลาส นายพรานจึงยืมเอา "บ่วงบาศ" จากพระยานาคที่ตนช่วยชีวิตไว้ แล้วนำนางไปถวายท้าวสีทนต์ ท้าวสีทนต์ยกนางไว้ในตำแหน่งมเหสี

ต่อมามีโจรมารุกรานนอกเมือง ท้าวสีทนต์จึงลานางมโนราห์ไปปราบโจร ท้าวอาทิตราชได้พระสุบินว่า ไส้ได้ไหลออกจากท้อง จึงให้หมอโหรมาทายดู หมอโหรทายว่า จะต้องเอาเนื้อนางมโนราห์เซ่นผีบ้านผีเมือง นางจึงทำอุบายขอปีกหางจะรำให้ดู แล้วนางก็บินหนีไปยังเขาไกรลาส เมืองภูเงิน

siton manorah 06

ท้าวสีทนต์ไปปราบโจร 3 เดือน จึงสำเร็จ กลับมาไม่พบนางมโนราห์จึงออกตามหา ท้าวสีทนต์ไปตามหานางด้วยความยากลำบาก ไปพบพระฤาษีที่นางมโนราห์ฝากแหวนไว้ พระฤาษีชี้ทางไป และแนะนำเช่น การกินผลไม้ให้กินตามนก จะพบเส้นทางยากลำบาก ให้ปราบด้วยมะนาวเสก ต่อมาพบยักษ์สูงเจ็ดชั่วลำตาลให้ใช้ปืนยิง และข้ามแม่น้ำที่มีงูจงอาง งูเหลือม งูทำทาน เป็นแม่น้ำที่มีพิษ พ้นจากตรงนั้นจะต้องเกาะหลังนกอินทรีย์ ไปจนกว่านกอินทรีย์จะพนบินไปถึงป่าหิมพานต์ของนาง ในที่สุดท้าวสีทนต์ก็ได้พบกับนางมโนราห์ดังปรารถนา

siton manorah 11

สำนวนที่ 2 จากนิทานชาดกลุ่มน้ำโขง

จากงานวิจัย : ท้าวสีทน-มโนราห์ : ชาดกพื้นบ้านอีสานกับการสร้างพื้นที่ทางสังคมในชุมชนลุ่มน้าโขง
วิทยานิพนธ์ ของ ประณิตา จันทรประพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มืองอุดรจัญจาล มี ท้าวอาทิจจวงศ์ เป็นผู้ครองเมือง มีมเหสีนามว่า จันทาเทวี มีพระโอรส 1 องค์ นามว่า สุธนกุมาร เมื่อสุธนกุมารเจริญวัยได้ศึกษาศิลปศาสตร์จนเชี่ยวชาญ ทิศตะวันตกของเมืองอุดรปัญจาลมีพญานาคชื่อ ชมพูจิตร อาศัยอยู่ในสระใหญ่ และเป็นที่สักการะของชาวเมือง เพราะเชื่อว่าด้วยอำนาจของพญานาคจึงทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ปราศจากอันตราย

siton manorah 09

เมืองมหาปัญจาล อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอุดรปัญจาลได้เกิดเภทภัยแห้งแล้ง ชาวเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ที่เมืองอุดรปัญจาล ทำให้กษัตริย์ของเมืองมหาปัญจาลเกิดความสงสัย จากนั้นจึงทราบว่าต้นเหตุนั้นมาจาก พญานาคชมพูจิตร ที่ชาวเมืองเชื่อกันว่า เหตุที่ปัญจาลนครอุดมสมบูรณ์เป็นเพราะอำนาจของพญานาค จึงได้ประกาศหาพราหมณ์ผู้มีเวทมนตร์ไปฆ่าพญานาคชมพูจิตร

เมื่อเมืองมหาปัญจาลส่งพราหมณ์ผู้มีเวทมนตร์มาที่อุดรปัญจาล ก็ทำพิธีเพื่อฆ่าพญานาคชมพูจิตร ฝ่ายพญานาคชมพูจิตรก็ทนอยู่เมืองบาดาลไม่ได้จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์ แล้วไปซ่อนตัวอยู่ที่ขอบสระ จากนั้นได้เจอกับ พรานบุณฑริก และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง และขอให้พรานบุณฑริกช่วยเหลือตนให้พ้นจากเวทมนตร์ของพราหมณ์แห่งเมืองมหาปัญจาล

siton manorah 04

ขณะที่พราหมณ์แห่งเมืองมหาปัญจาลทำพิธี เพื่อจะจับพญานาคชมพูจิตร พรานบุณฑริกจึงยิงพราหมณ์ด้วยธนู จากนั้นจึงบังคับให้คลายมนตร์ และฆ่าพราหมณ์ ณ ที่นั่น หลังจากที่พรานบุณฑริกได้ฆ่าพราหมณ์แล้ว พญานาคชมพูจิตรก็พานายพรานไปยังเมืองบาดาล และบำรุงบำเรอให้มีความสุข พรานบุณฑริกอยู่ที่เมืองบาดาลได้เพียง 7 วันก็ลากลับ พญานาคชมพูจิตรจึงตอบแทนด้วยแก้วแหวนเงินทองจำนวนมาก พร้อมกับสั่งว่า หากพรานบุณฑริกต้องการความช่วยเหลือก็ให้มาบอก

วันหนึ่ง นายพรานบุณฑริกไปล่าสัตว์ในป่า ได้พบกับ พระกัสสปฤษี ซึ่งมีอาศรมอยู่ใกล้สระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง และทราบจากฤาษีว่า ในวันขึ้น 15 ค่่ำ จะมีบรรดานางกินรีมาอาบน้ำในสระ เมื่อนายพรานทราบเช่นนั้นจึงไปแอบซุ่มดูอยู่ที่ริมสระ ฝ่ายนางกินรีทั้ง 7 ธิดาท้าวทุมราช พร้อมบริวารก็พากันมาอาบน้ำในสระ จนบ่ายคล้อยจึงบินกลับ นายพรานเมื่อเห็นรูปร่างของนางกินรีก็คิดพาอยากจะได้ไปถวายพระสุธน จึงกลับมาปรึกษาพระฤาษี พระฤาษีจึงแนะนำว่า มีแต่นาคบาศของพญานาคเท่านั้นที่จะจับกินรีได้

siton manorah 03

นายพรานไปอ้อนวอนขอยืมบ่วงนาคบาศจากพญานาคชมพูจิตร ด้วยเหตุที่นายพรานเคยช่วยชีวิตตนเอาไว้ จึงให้บ่วงนาคบาศแก่นายพราน เมื่อได้บ่วงนาคบาศจากพญานาคมาแล้ว ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เหล่านางกินรีพาอาบน้ำที่สระแห่งนั้นอีก พรานบุณฑริกจึงแอบซุ่มอยู่ริมสระ จากนั้นเมื่อได้โอกาสจึงปล่อยบ่วงนาคบาศไปคล้องนางมโนราห์ ทำให้บรรดากินรีนางอื่นๆ แตกตื่นบินหนีกลับเมืองไกรลาศ และทูลเท้าทุมราชและนางเทพกินรีให้ทราบเหตุ เมื่อนางเทพกินรีทราบเช่นนั้นก็พาบริวารออกตามหานางมโนราห์

กล่าวถึงพรานบุณฑริกเมื่อเก็บปีกและหางนางมโนราห์แล้ว ก็เปลื้องนาคบาศจากตัวนาง และพานางเดินจากป่าหิมพานมาจนถึงเมืองอุดรปัญจาล ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระสุธนเสร็จประพาสอุทยาน พระสุธนทอดพระเนตรเห็นนางมโนราห์ก็เกิดความรักใคร่ จากนั้นจึงเรียกนายพรานมาถาม พรานเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระสุธนฟัง และถวายนางแก่พระสุธน หลังจากที่พระสุธนรับนางมโนราห์ไว้ ได้ให้คนสนิทไปทูลบิดามารดาให้ทรงทราบ เมื่อบิดามารดาทราบเช่นนั้นจึงเสร็จออกไปจัดพิธีอภิเษกให้ ณ ตำหนักอุทยาน แล้วรับพระสุธนกับนางมโนราห์กลับเข้าพระนคร

siton manorah 07

มเหสีท้าวทุมราชและบริวารบินตามหานางมโนราห์มาจนถึงสระโบกขรณี พบแต่แหวนที่นางถอดวางไว้ จึงเก็บกลับไปเมืองไกรลาศ

ในราชสำนักของพระสุธนมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระสุธน พระสุธนได้ให้คำมั่นสัญญากับพราหมณ์ว่า เมื่อพระองค์ได้ครองราชย์จะให้พราหมณ์ผู้นั้นดำรงตำแหน่งปุโรหิต เป็นเหตุให้ปุโรหิตที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงอาฆาตพระสุธน ถึงขั้นใส่ความว่า พระสุธนคิดกบฏ แต่ท้าวอาทิจจวงศ์ไม่เชื่อ

มีข้าศึกยกมาตีเมืองอุดรปัญจาล ปุโรหิตยุยงท้าวอาทิจจวงศ์ให้พระสุธนไปรบ พระสุธนสารารถปราบฆ่าศึกและได้ชัยชนะ ในวันที่พระสุธนได้รับชัยชนะนั้น ท้าวอาทิจจวงศ์ทรงพระสุบินว่า พระอันตะไหลออกมากองรอบจักรวาลได้ 3 รอบ แล้วหดหายเข้าไปในพระอุระดังเดิม

ท้าวอาทิจจวงศ์ให้ปุโรหิตมาทำนายความฝัน ปุโรหิตเห็นโอกาสที่จะแก้แค้นพระสุธนจึงทำนายว่า เป็นฝันร้ายจะเกิดภัยอันตรายใหญ่หลวง และทูลให้ทำพิธีบูชายัญด้วยสัตว์ 2 เท้าและสัตว์ 4 เท้า รวมทั้งนางกินรี และทูลว่า ต้องนำตัวนางมโนราห์มาบูชายัญด้วย แต่เท้าอาทิจจวงศ์ไม่ยอม ปุโรหิตจึงกราบทูลถึงความจำเป็นโดยอ้างเหตุผลต่างๆ จนท้าวอาทิจจวงศ์ต้องยอม เมื่อนางมโนราห์ทราบข่าวร้ายจากสาวใช้ก็ตกใจ รีบไปทูลนางจันทาเทวีให้ช่วย นางจันทาเทวีจึงทูลทัดทานท้าวอาทิจจวงศ์แต่ก็ไม่เป็นผล

siton manorah 02

เมื่อใกล้ถึงเวลาทำพิธีนางมโนราห์คิดอุบายขอปีกหางและเครื่องประดับ อ้างว่าจะทำการร่ายรำถวาย เมื่อนางจันทาเทวีดูจนเพลิน ขณะนั้นราชบุรุษจะเข้ามาจับตัวนาง นางก็บินหนีออกไปทางช่องพระแกล นางมโนราห์บินไปถึงป่าหิมพานต์ก็แวะไปหากัสสปฤษี แล้วสั่งความไว้ว่า ถ้าพระสุธนตามถึงที่นี่ให้ทัดทานไว้ เพราะหนทางข้างหน้าทุระกันดารเต็มไปด้วยภัยอันตราย นางจึงฝากภูษาและธำรงค์ไว้ให้พระสุธน

จากนั้นเมื่อนางนึกได้ว่า พระสุธนคงไม่ฟังคำทัดทานและจะออกติดตามหานางให้จงได้ นางจึงบอกทางแก่ฤาษีให้บอกพระสุธนว่า ทางไปเมืองไกรลาศนั้นเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ พร้อมวิธีแก้ไขโดยละเอียดว่า เมื่อพ้นทางที่มนุษย์จะไปได้แล้วจะถึงป่าไม้ที่มีผลเป็นพิษให้พระสุธนจับลูกวานรไปด้วย เพื่อจะได้เลือกกินผลไม้ที่ไม่เป็นพิษ จากนั้นจะถึงป่าหวายทึบให้พระสุธนใช้ภูษาคลุมกาย และนอนให้ "นกหัสดีลิงค์" มาโฉบข้ามป่าไป เมื่อข้ามไปได้แล้วให้ทำเสียงดังให้นกตกใจบินหนี และเดินทางต่อไปจะพบช้างสารต่อสู้กันขวางทางอยู่ ให้พระสุธนใช้ผงยาทาให้ทั่วกายแล้วร่ายมนตร์เดินลอดระหว่างขาช้างไป จากนั้นจะถึงภูเขา 2 ลูก โน้มยอดกระทบกัน ให้พระสุธนใช้มนตร์เพื่อภูเขาจะได้แยกเป็นช่อง แล้วให้รีบเดินผ่าน จากนั้นจะผ่านไปถึงที่อยู่ของหมู่ผีเสื้อน้ำ ให้ร่ายมนตร์ก็จะผ่านไปได้ เมื่อเดินทางต่อไปจะผ่านป่าหญ้าคา ภูเขาทอง ภูเขาเงิน ป่าหญ้า ป่าไม่ไผ่ ป่าดงอ้อ และจะถึงป่าทึบที่มีสระน้ำลึกเต็มไปด้วยงูพิษ ริมสระนั้นก็เป็นภูเขายากที่จะผ่านไปได้ แต่ถ้าพระสุธนผ่านไปได้ก็จะถึงดงดอนใหญ่ที่นั่นจะมียักษ์สูงใหญ่ ให้พระสุธนใช้ยาผงโรยที่ลูกศรยิงให้ถูกอกยักษ์ เมื่อยักษ์ล้มให้เดินไปทางหัวยักษ์ก็จะพบแม่น้ำ ที่มีงูเหลือมทอดกายเหมือนสะพานทอดข้ามแม่น้ำ จากนั้นก็ถึงป่าหวายจะมีพญานกทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในป่าหวาย ให้พระสุธนไปซ่อนอยู่ในรังนก เพื่อจะได้อาศัยเกาะขนนกพามาจนถึงเมืองไกรลาศ เมื่อสั่งความทุกสิ่งอย่างแล้ว นางมโนราห์ก็จดมนตร์ลงบนใบไม้ฝากไว้พร้อมกับห่อยา และนางก็ลาพระกัสสปฤษีบินกลับเมืองไกรลาศ

ฝ่ายพระสุธนเมื่อมีชัยแก่ฆ่าศึกก็ยกทัพกลับอุดรปัญจาล เมื่อถึงพระนครก็ทรงทราบเรื่องราวจากนางจันทาเทวีว่า นางมโนราห์จะถูกจับบูชายัญนางจึงบินหนีไป พระสุธนให้นายพรานบุณฑริกนำทางไปที่อาศรมฤาษี เมื่อถึงอาศรมแล้วให้นายพรานกลับ ส่วนพระองค์เองเข้าไปถามถึงนางมโนราห์ กัสสปฤษีมอบธำรงและภูษาที่นางมโนราห์ฝากไว้แก่พระสุธน พร้อมบอกความตามที่นางสั่งห้ามไม่ให้ตามไป แต่พระสุธนยังยืนยันที่จะติดตาม ฤาษีจึงบอกอุบายแก้ภัยอันตรายต่างๆ และมนตร์ที่นางมโนราห์ฝากและจดไว้ให้พระสุธน ดังที่นางบอกไว้ทุกประการ จากนั้นฤาษีมอบยาแล้วชี้เส้นทางที่นางไป เมื่อทราบความสิ้นแล้วพระสุธนจึงจับลูกวานรมาตัวหนึ่ง แล้วลากัสสปฤษีเดินทางตามเส้นทางและสถานที่ต่างๆ ที่นางบอกไว้

siton manorah 01

พระสุธนได้เดินทางตามทางทุรกันดารพบภัยอันตรายต่างๆ และสามารถรอดพ้นด้วยอุบายที่นางมโนราห์บอกไว้ทุกประการ พระสุธนใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน และ 7 วัน พระสุธนเดินทางถึงป่าหวายที่มีหนามแหลมคม จึงห้อยโหนขึ้นไปบนต้นไม้ที่อยู่ระหว่างป่าหวาย ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ ไม่รู้ว่าจะเดินทางต่อไปแห่งหนใด ก็เกิดความรันทดท้อพระทัยนึกถึงตนเองที่ได้ละทิ้งบิดามารดา จึงต้องมาทนทุกข์ยากลำบาก เพราะหลงรักผู้หญิงจึงรำพันออกมาว่า “เราอาศัยอีผู้หญิงจึงมาละทิ้งบิดามารดาผู้มีบุญคุณได้มาเสวยทุกข์ลำบากอย่างใหญ่คราวนี้ เราจะไปทางไหนได้"

ขณะพระสุธนกันแสงอยู่ ก็ได้ยินเสียงพญานกซึ่งอาศัยอยู่บนต้นไม้พูดคุยกันว่า "พรุ่งนี้ ที่เมืองไกรลาศจะมีพิธีชำระมลทินล้างกลิ่นสาบมนุษย์ให้แก่นางมโนราห์ เนื่องจากถึงกำหนดวันคำรบ 7 ที่นางหนีกลับมาจากเมืองมนุษย์ จะมีงานสมโภชทำขวัญนาง เราจะพากันไปกินเครื่องพลีกรรมในเมืองนั้น" เมื่อพระสุธนได้ยินเช่นนั้น ก็คลานเข้าไประหว่างซอกขนพญานก ผูกตนไว้กับขนปีกอย่างมั่นคง และคอยอยู่จนรุ่งเช้าพญานกก็พากันบินไปเมืองไกรลาศ เมื่อใกล้จะถึงเมืองไกรลาศก็ร่อนลงยังขอบสระใหญ่ พระสุธนได้โอกาสรีบแก้มัดออกแล้วแอบเข้าไปซ่อนตนอยู่ริมสระแห่งนั้น

สาวใช้ของนางมโนราห์พากันมาตักน้ำที่สระและสนทนากัน พระสุธนซึ่งแอบอยู่ริมสระได้ยินเข้าก็ปรารถนาจะทราบเรื่อง จึงอธิษฐานว่า ขออย่าให้นางกินรีคนสุดท้ายยกหม้อน้ำขึ้นได้ ด้วยอำนาจแรงอธิษฐานทำให้กินรีนางสุดท้ายไมสามารถยกหม้อน้ำขึ้นได้ เมื่อเหลียวมาพบพระสุธนจึงขอความช่วยเหลือ พระสุธนจึงไต่ถามจึงทราบว่า นางมาตักน้ำเพื่อจะไปสรงนางมโนราห์ชำระกลิ่นสาบมนุษย์ พระสุธนจึงถอดธำรงค์หย่อนลงในหม้อน้ำ แล้วยกให้นางกินรีผู้นั้นรับไป

ฝ่ายนางมโนราห์ถึงเวลาเข้าที่สรง ก็รับหม้อน้ำมารด ครั้นถึงหม้อที่มีธำรงค์สาวใช้ได้รดลงที่ศีรษะนางมโนราห์ พระธำรงค์ก็เลื่อนมาสวมอยู่ที่นิ้วก้อยของนาง นางจึงรู้ว่า พระสุธนติดตามมาถึงแล้ว

siton manorah 06

เมื่อเสร็จพิธีสรง ก็เรียกนางสาวใช้มาถาม สาวใช้ก็ทูลให้ทราบ นางมโนราห์จึงจัดผ้าทรงกับเครื่องกระยาหารให้นำไปถวายพระสุธน แล้วนางมโนราห์ก็ไปทูลนางมารดาและบิดาให้ทราบ ท้าวทุมราชผู้เป็นบิดาทราบเรื่องราวจึงรับสั่งถามถึงพระสุธน นางมโนราห์ทูลถึงความเก่งกล้าสามารถของพระสุธน ท้าวทุมราชจึงถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมนางจึงหนีมา นางมโนราห์ก็เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ ท้าวทุมราชจึงถามต่อว่า หากพระสุธนเป็นผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถจริง เหตุใดจึงไม่ติดตามนางมา นางมโนราห์จึงได้โอกาสทูลว่า ขณะนี้พระสุธนได้ติดตามมาถึงเมืองไกรลาศแล้ว ท้าวทุมราชจึงให้ไปรับพระสุธนเข้ามาในเมือง และถามถึงการเดินทาง พระสุธนก็เล่าถวายให้ทรงทราบทุกประการ

ท้าวทุมราชให้ประชุมเทวดาและคนธรรพ์แล้วให้พระสุธนทดลองธนูฤทธิ์ โดยยิงธนูทะลุผ่านเครื่องกีดขวาง คือ ต้นตาล กระดานไม้มะเดื่อ เสาหิน แผ่นเหล็ก แผ่นทองแดง และเกวียนบรรทุกทราย ที่วางซ้อนกัน 7 ระยะ และให้ยกศิลาแท่งใหญ่ ซึ่งบุรุษพันหนึ่งจะยกไหว พระสุธนก็สารารถกระทำได้ พวกเทวดา คนธรรพ์ กินนร ที่มาประชุมก็แซ้ซ้องสาธุการชมฤทธิ์พระสุธน ท้าวทุมราชก็ประสงค์จะลองใจพระสุธน จึงให้แต่งธิดาทั้ง 7 องค์ มานั่งเรียงกัน และให้พระสุธนเข้าไปชี้ว่า มเหสีของพระองค์คนไหน หากเลือกถูกจะให้อภิเษก พระสุธนเมื่อเห็นรูปร่างนางทั้ง 7 เหมือนกันหมดจึงไม่อาจเลือกได้

ด้วยอ้านาจความสัตย์ของพระสุธนร้อนถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงจ้าแลงเป็นแมลงวันทองมาจับที่ผมของนางมโนราห์ พระสุธนจึงชี้ตัวถูก ท้าวทุมราชจึงจัดงานอภิเษกให้ อยู่มาวันหนึ่งพระสุธนปรารถนาจะกลับไปยังเมืองอุดรปัญจาล นางมโนราห์จึงขอติดตามไปด้วย จึงได้ไปกราบทูลท้าวทุมราชให้ทราบ ท้าวทุมราชก็ใคร่จะไปยังโลกมนุษย์ด้วย

siton manorah 10

ท้าวทุมราชจัดเตรียมไพร่พลเหาะไปยังอุดรปัญจาล เมื่อไปถึงก็ตั้งพลับพลาใกล้อุดรปัญจาล ฝ่ายท้าวอาทิจจวงศ์ครั้งเห็นพลับพลาและไพร่พลมากมายเช่นนั้นก็คิดว่า มีข้าศึกมาล้อมเมือง จึงตกพระทัยไม่รู้จะคิดอ่านอย่างไร พระสุธนเกรงว่า พระบิดาจะเข้าพระทัยผิด จึงพาบริวารเข้าไปกราบทูลให้ผู้เป็นพ่อทรงทราบทั้งหมด ตลอดจนพานางมโนราห์กลับมา

หลังจากที่ท้าวทุมราชลากลับไปยังนครไกรลาศแล้ว ท้าวอาทิจจวงศ์ก็มอบราชสมบัติแก่พระสุธน ส่วนพระองค์เองเสด็จออกบรรพชาเป็นดาบส พระสุธนก็ครอบครองราชย์สมบัติเป็นสุขสืบต่อมา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก

thongkam pengdee 05

นอกจาก 2 สำนวนนี้ก็มีสำนวนอื่นๆ อีกหลายสำนวนซึ่งมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกัน แต่ชื่อเมือง ตัวละคร อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง อาจจะคล้ายคลึงแต่ก็เขียนแตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนเองนั้นชินกับสำนวนที่เป็นหมอลำของคณะดังแห่งภาคอีสาน คือ หมอลำคณะรังสิมันต์ ของพระเอกทองคำ เพ็งดี และนางเอกฉวีวรรณ ดำเนิน และนางเอกบานเย็น รากแก่น มากกว่าครับ

หมอลำคณะรังสิมันต์ - ศรีธนมโนห์รา

new1234สนใจกลอนลำยาวศรีธนมโนห์รา คลิกไปอ่านที่นี่ครับnew1234

redline

backled1