foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

kalaked header

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "กาฬเกษ" หรือ "กาละเกด" ออกเสียงตามสำเนียงอีสาน ที่ปรากฏมีหลายสำนวน สั้นบ้าง ยาวบ้าง เพื่อสะดวกเหมาะสมต่อการเล่าเรื่อง เช่น การเล่าโดยพระสงฆ์ (การเทศน์) อาจจะมีความยาวและเป็นคำกลอน ที่ปรากฏในใบลานเป็นอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อย การเล่าโดยผู้เฒ่าผู้แก่ให้เด็กๆ ฟังในวาระโอกาสต่างๆ ก็จะสั้นกระชับ เป็นต้น ที่นำมาเสนอนี้มี  สำนวน คือ

'ท้าวกาฬเกษ' สำนวนที่ 1

เดิมเป็นต้นฉบับ "กาฬเกษ" เป็นใบลานจารด้วยอักษรไทยน้อย มีหลายสำนวน ท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร (เขมจารี นธ. เอก ปธ.๕ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม) กล่าวไว้ในคำนำ หนังสือ "กาฬเกษ (กาละเกด)" ฉบับปริวรรตและพิมพ์เป็นรูปเล่มได้ถอดออกเป็นอักษรไทยเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริธรรม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หนังสือหนาขนาด ๔๘๐ หน้า ว่า ได้ต้นฉบับมาจาก วัดสว่างอารมณ์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด หนังสือ "กาละเกด" นั้น ชาวอีสานนิยมทุกยุคทุกสมัย มักมีไว้ประจำบ้านเรือนและวัดวาอาราม สำนวนนี้ถือว่าเป็นสำนวนเอกสำนวนหนึ่ง มีเนื้อหากล่าวไว้ดังนี้ (โปรดอ่านออกเสียงตามสำเนียงอีสาน ไม่ได้พิมพ์ผิดเพียงแต่อยากให้เป็นการบอกเล่าสำเนียงอีสานเท่านั้น)

บันแต่ท้าวบรมหลวงกาละเกด    เสวยอยู่สร้างเมืองกว้างชอบธรรม
อยู่สนุกล้นโยธาพลไพร่    ก็บ่ทุกข์ยากไร้สังแท้สำราญ "

จักกล่าวเถิงเบื้อง "พาราณสี" เมืองใหญ่ มีกษัตริย์ไท้ออกซื่อ "ท้าวสุริวงษ์" มีมเหสีซื่อว่า "นางเกษ" เทิงสองพระองค์มีโอรสซื่อว่า "ท้าวกาฬเกษ" เป็นองค์โพธิสัตว์มาซดซาติไซ้กรรม แล้วกะมีม้า "มณีกาบ" เป็นม้าวิเศษคู่บารมี

​อยู่มาฮอดมื้อหนึ่ง "ท้าวกาฬเกษ" ขี่ม้า "มณีกาบ" เหาะออกจากเมืองไปทางป่าหิมพานต์ ซ่วงที่ออกจากเมืองนั้น ท้าวกาฬเกษเลยได้พบพ้อกับ "นกสาฮิกา" (สาลิกา) คู่หนึ่ง เลยฝากความไปว่าให้ไปทูลเสด็จพ่อสุริยวงษ์ว่า "เฮาสิออกไปเที่ยวป่าหิมพานต์จัก 3 ปี จั่งสิหลบบ้านเมือเมือง" พอแต่สั่งความแล้วกะเลยเดินทางไปต่อจนว่าฮอด "เมืองผีมนต์" ของ "ท้าวผีมนต์" กับ "นางมาลีทอง"

ท้าวกาฬเกษเลยพักอยู่นอกเมืองสาก่อน เลยพ้อ(พบ)คนฟันฟืนซาวบ้านซาวเมืองผีมนต์ ถามไถ่ได้ฮู้แจ้งเถิงลูกสาวท้าวผีมนต์ ซื่อว่า "นางมาลีจันทร์" เป็นญิงผู้งามคักเหลือหลาย กะเลยพยามไปหานางอยู่สวนดอกไม้ พอแต่นางมาลีจันทร์มาซมสวนกะเลยได้พ้อกันกับท้าวกาฬเกษ พอแต่ท่อนั้นต่างคนกะต่างมักกัน ตกฮอดยามกลางคืนกะจอบหลอยไปหากัน

หลายมื้อลายคืนเข้า ท้าวผีมนต์ผู้เป็นพ่อนางมาลีจันทร์ ฮู้ความแล้วเลยเฮ็ด "หอกยนต์" ดักยิง ซ่วงที่ท้าวกาฬเกษลักไปหานั่นเอง ท้าวกาฬเกษได้ถืกหอกยนต์ยิง เลยตายใจขาด ก่อนสิตายได้สั่งความนางมาลีจันทร์ว่า "อย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยลงในนทีแม่น้ำใหญ่" นางมาลีจันทร์กะเลยเฮ็ดตามที่เว้าสั่งความ

kalaked 01

แพเลยลอยทวนน้ำไปฮอด(ถึง)อาศรมพระฤาษี พระฤาษีมาพ้อกะเลยเป่ามนต์คาถาซุบซีวิตให้ท้าวกาฬเกษฟื้นคืนมา จึงได้เรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษีจนสำเร็จ พร้อมกันกะเลยได้ให้ "ดาบแก้ว" แล "ธนูวิเศษ" ให้เป็นอาวุธคู่มือ ท้าวกาฬเกษพอได้สิ่งวิเศษแล้วเลยได้กราบลาพระฤาษีหลบไปหานางมาลีจันทร์

ท้าวผีมนต์ฮู้เฮื่องแล้ว กะเลยเกิดการฮบฮาฆ่าฟันกันขึ้น ปรากฏว่าทหารยักษ์ทั้งหลายถืกฆ่าตายเบิดเกลี้ยง ยังเหลือแต่ท้าวผีมนต์ผู้เดียวได้ขอยอมแพ้ ท้าวกาฬเกษกะเลยใซ้ดาบแก้วกับธนูซุบซีวิตให้ซุมทหารทั้งหลาย ท้าวผีมนต์กะเลยยกบ้านเมืองให้ครอบครอง แล้วกะยกลูกสาวคือ นางมาลีจันทร์ ให้เป็นพระมเหสี

​ท้าวกาฬเกษครองเมืองอยู่บ่นานดน กะพานางมาลีจันทร์ออกเดินทางกลับบ้านเมือเมืองพาราณสี ระหว่างทางท้าวกาฬเกษได้พบกับนางยักษ์อันธพาล 3 ตน คือ ยักษ์สาระกัน ยักษ์คันธะยักษ์ และยักษ์ขีนีสาระกาย เข้ามาขัดขวางการเดินทาง แต่กะถืกท้าวกาฬเกษฆ่าตาย แล้วกะซุบซีวิตขึ้นมาใหม่ สอนสั่งให้เป็นคนฮู้ผู้ดี อยู่ในศีลกินในธรรม

บัดทีนี้ท้าวกาฬเกษกับนางมาลีจันทร์กะเลยพากันเดินทางต่อ จนมาฮอดป่าใหญ่ยามเดิกดื่น ท้าวกาฬเกษกะเลยพามิ่งเมียแก้วหาบ่อนนอนเซามีแฮง เลยไปนอนอยู่เคียงกกไม้ใหญ่กกหนึ่ง ทั้งคู่นอนหลับอยู่นั้น กะเลยมีนางกินรี 3 ตนเป็นลูกเลี้ยงของพระฤาษีมาพ้อ เห็นท้าวกาฬเกษเป็นผู้บ่าวฮูปงาม กะเลยเกิดความหลงใหลมักท้าวกาฬเกษ นางทั้งสามกะเลยพากันเอาโตท้าวกาฬเกษหลบไปเมืองกินรี ย้อนว่าอยากอยู่กินเป็นผัวเมียกัน

ตื่นเซ้ามามื้อใหม่ นางมาลีจันทร์บ่เห็นท้าวกาฬเกษเห็นแต่ม้ามณีกาบ กะเลยพากันออกนำหาท้าวกาฬเกษ หาท่อได๋กะบ่เห็น ม้ามณีกาบเลยบอกให้นางมาลีจันทร์อยู่ถ่า(รอ)อยู่บ่อนกกไม้ใหญ่หั่น ส่วนจะของกะออกนำหาต่อไป

แต่ย้อนว่ากรรมคือการกระทำ กรรมเก่าที่ได้กระทำมาเฮ็ดให้ทั้งสามต้องมาพลัดหลงกัน คือว่า ท้าวกาฬเกษหลงใหลในความงามของนางกินรีเลยอยู่เมืองกินนร นางมาลีจันทร์กะออกนำหาตามยถากรรมของตน ส่วนม้ามณีกาบกะออกนำหานายของตนไปอีกทางหนึ่ง นางมาลีจันทร์ซัดเซพเนจรอยู่ในป่าอย่างเป็นตาซิโตน ส่วนทางพระอิศวรเห็นว่านางลำบากอยู่ทุกยาก อยู่ลำพัง กะเลยเสด็จลงมาฮับไปอยู่เมืองนำถ่า(รอ)ท้าวกาฬเกษอยู่หั่น

ทางฝ่ายท้าวกาฬเกษพอแต่เบื่อนางกินรีเทิงสามพี่น้อง กะคึดฮอดนางมาลีจันทร์ เลยได้หลอยหนีจากเมือง กินรีเทิงสามเลยไปเว้าเฮื่องสู่พ่อฟัง แต่กะบังเอิญว่า ม้ามณีกาบกะอยู่อาศรมฤาษีเลยฮู้เฮื่องนำ ฮู้ว่าท้าวกาฬเกษออกจากเมืองกินนรแล้ว กะเลยนำก้นไปหานายของจะของจนพ้อกัน แล้วจั่งได้พากันไปนำหานางมาลีจันทร์ต่อไป

เทิงสองออกเดินทางมาฮอดเมืองของพระอิศวร กะเลยถามทหารผู้เฝ้าประตูอยู่หั่นจั่งฮู้ว่านางมาลีจันทร์มาถ่าอยู่นี่ดนแล้ว ฮู้จั่งซั่นท้าวกาฬเกษกะเลยควบม้าไปหาพระอิศวร เลยเว้าจาต้านเฮื่องฮาวเทิงเบิดสู่ฟัง แล้วกะฟ้าวไปหานางมาลีจันทร์อยู่อุทยานทันที ท้ายที่สุดท้าวกาฬเกษกะเลยได้ฮับนางมาลีจันทร์ไปอยู่นำ ครองเมืองอย่างสงบสุข

ท้าวกาละเกด : นิทานพื้นบ้านอีสาน

'ท้าวกาฬเกษ' สำนวนฉบับที่ 2

ได้มาจาก อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

เมืองพาราณสี มีกษัตริย์นามว่า สุริวงษ์ และมเหสีนามว่า กาฬ และท้าวสุริวงษ์มี ม้ามณีกาบ ซึ่งเป็นม้าวิเศษเป็นพาหนะคู่บารมี ครั้งหนึ่งท้าวสุริวงษ์ได้ลามเหสีและชาวเมืองไปเรียนวิชาอาคม โดยมีม้ามณีกาบเป็นพาหนะไปพบกับพญาครุฑ และยักษ์กุมภัณฑ์ ต่อมาได้เป็นสหายกัน และพระองค์ก็เรียนศาสตรศิลป์กับพระฤาษีจนสำเร็จ แล้วกลับมาปกครองเมืองต่อไป

เมื่อท้าวสุริวงษ์กลับมาครองเมืองแล้ว ก็ต้องการจะมีบุตรชายเพื่อเอาไว้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ ดังนั้นจึงทำพิธีขอลูกกับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ส่งเทพบุตรกับเทพธิดาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยเทพบุตรองค์หนึ่งมาเกิดในท้อง นางกาฬ มเหสีของท้าวสุริวงษ์ เมื่อนางกาฬประสูติออกมาเป็นชาย ชื่อว่า "กาฬเกษ" กาฬเกษกุมารนี้ได้เจริญเติบโต มาเป็นลำดับ ครั้งหนึ่งเข้าไปเล่นในโรงม้า อันเป็นที่อยู่ของม้ามณีกาบ ได้แอบขึ้นขี่ม้า แล้วม้ามณีกาบก็พากาฬเกษกุมารเหาะไปในอากาศออกจากเมืองมุ่งเข้าป่าหิมพานต์

ขณะที่ท้าวกาฬเกษหนีออกจากเมืองนั้น ได้พบกับนกสาริกาคู่หนึ่ง จึงได้สั่งความให้กลับไปบอกท้าวสุริวงษ์ด้วยว่า จะออกไปเที่ยวในป่าถึง 3 ปี แล้วจะกลับมา เมื่อสั่งความแล้วก็เดินทางต่อไปจนเข้าเขตเมืองผีมนต์ของท้าวผีมนต์ และนางมาลีทอง ซึ่งมีเทพธิดามาจุติในครรภ์ของนาง มีชื่อว่า "นางมาลีจันทน์" ได้พักอยู่นอกเมือง พบกับชาวเมืองที่ออกมาหาฟืนแล้วได้ทราบว่า ท้าวผีมนต์มีลูกสาวสวยชื่อ มาลีจันทน์ จึงพยายามจะไปพบนางในสวนดอกไม้

เมื่อนางมาลีจันทน์มาชมสวน ท้าวกาฬเกษจึงเข้าไปหา แล้วชอบพอรักใคร่กัน ดังนั้นเมื่อตอนกลางคืนจึงแอบเข้าไปหานางเป็นเวลานาน ต่อมาท้าวผีมนต์สืบได้จึงทำหอกยนต์ดักยิง ขณะที่ท้าวกาฬเกษแอบเข้าไปนั้น พระองค์ได้ถูกหอกยนต์ตายลง แต่ก่อนจะตายท้าวเธอได้สั่งว่า "อย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยน้ำไป" นางมาลีจันทน์ ได้ปฏิบัติตามที่ท้าวกาฬเกษสั่งทุกประการ

ศพของท้าวกาฬเกษลอยทวนกระแสน้ำจนไปถึงอาศรมพระฤาษี แล้วพระฤาษีมาพบเข้าจึงร่ายมนต์ชุบชีวิตให้ฟื้นคืนขึ้นมา ท้าวกาฬเกษจึงเรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษี จนสำเร็จแล้วลาพระฤาษีกลับไปหานางมาลีจันทน์ใหม่ ท้าวผีมนต์ทราบข่าวอีกจึงเกิดรบกัน ในที่สุด ท้าวผีมนต์พ่ายแพ้ ยกเมืองและลูกสาวคือนางมาลีจันทน์ให้แก่ท้าวกาฬเกษ

ท้าวกาฬเกษอยู่ที่นั่นไม่นานก็พานางมาลีจันทน์เดินทางต่อไปอีก ในการเดินทางต่อนี้ ยักษ์หลายเมืองเช่น ยักษ์ชื่อสาระกัน ชื่อคันธะยักษ์ และยักษ์ขีนีสาระกาย ต่างต้องการจะให้ท้าวกาฬเกษอยู่ครองเมือง แต่ท้าวกาฬเกษยังต้องการเดินทางต่อไป หลังจากเดินทางตามที่ต้องการแล้ว ในที่สุดท้าวกาฬเกษก็รับนางมาลีจันทน์ ไปครองเมืองพาราสี สืบต่อไป

ที่มา : อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง ท้าวการะเกตุ ตอน 1-3 โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)

แม้เนื้อหาทั้งสองสำนวนดังกล่าวจะแตกต่างกัน แต่ก็มีตัวละครหลักเหมือนกัน ซึ่งต่างก็มีคุณธรรมที่ปรากฏในเนื้อเรื่องดังนี้

  • ท้าวกาฬเกษ เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความเมตตา ในตอนที่ทำสงครามกับพวกยักษ์ ท้าวกาละเกิดไดฆ่าพวกยักษ์จนหมด แต่กลับ ช่วยชีวิตและอบรมสั่งสอนพวกยักษ์ให้อยู่ข้างธรรมมะ
  • นางมาลีจันทร์ เป็นหญิงที่มีความซื่อสัตย์ต่อสามี รอคอยการกลับมาของสามีด้วยความภักดี
  • ม้ามณีกาบ เป็นม้าวิเศษมีความสามารถมาก มีความซื่อสัตว์ต่อท้าวกาฬเกษ และนางมาลีจันทร์

ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง ท้าวการะเกตุ ตอน 4-6 โดย คณะรังสิมันต์ (ทองคำ เพ็งดี - ฉวีวรรณ ดำเนิน)

 

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)