siew sawad header

นิทานวรรณคดีที่เด่นๆ ของ สปป. ลาว ที่เป็นที่นิยมมานานกว่าสามร้อยปี เป็นนิทานสุภาษิตที่คนลาวให้ความสำคัญหลาย ก็คือ วรรณคดีเรื่อง “ท้าวเสียวสวาด” หรือ “ศรีเสลียว เสียวสวาด” มีการแยกย่อยออกมาเป็น “ปัญหาเสียวสวาด” “ผญาเสียวสวาด”

"ท้าวเสียวสวาด" ฟังชื่อผิวเผิน อาจจะเข้าใจว่า "เป็นนิทานตลกโปกฮาไปในทางลามก สองแง่สามง่าม" แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องลามกทำนองนั้นเลย ท้าวเสียวสวาด เป็นคนมีปัญญาฉลาดหลักแหลม แล้วก็ใช้ปัญญาอันฉลาดนั้นช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นที่ปรึกษาของพระราชา จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย ถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ "ท้าวเฉลียวฉลาด" นั่นเองแหล่ะ

siew sawad 03

จากวรรณคดีเรื่อง ท้าวเสียวสวาด นั้นมีผญาสุภาษิตคำสอนต่างๆ มากมาย ชาวบ้านชาวเมืองทั้งชาวลาวและชาวไทยภาคอีสาน ได้นำมาเป็นคำสอนและหลักปฏิบัติสืบต่อมาดนนานแล้ว แต่ปัจจุบัน คนที่ฮู้ "ผญาเสียวสวาด" มีน้อยแฮง บางเทื่อผญาที่เอามาเว้ากัน กะมาจากผญาเสียวสวาด แต่กะบ่ฮู้ว่ามาจากผญาเสียวสวาด เลยกะมี ดังเช่น

นกอีเอี้ยงกินหมากโพธิ์ไทร แซวแซว เสียง บ่มีโตฮ้อง แซวแซวฮ้อง โตเดียวเหมิดหมู่.."

 ..คำปากพ่อแม่นี้ หนักเกิ่งธรณี
ใผผู้ยำแยงนบ หากสิเฮืองเมื่อหน้า
ในให้เสมอน้ำ คุงคาสมุทรใหญ่
ให้เจ้าคึดถี่ถ้วน ดีแล้วจึงค่อยจา
อย่าได้เฮ็ดใจเพี้ยง เขาฮอขมขื่ม
ความคึดเจ้าอย่าตื้น เสมอหม้อปากแบน
สิบตำลึงอยู่ฟากน้ำ อย่าได้อ่าวคนิงหา
สองสะลึงแล่นมามือ ให้เจ้ากำเอาไว้
มีเงินล้นเต็มถง อย่าฟ้าวอ่งหลายเน้อ
ลางเทื่อ ทุกข์มอดไฮ้ เมื่อหน้าส่องบ่เห็น
เงินหากหมดเสียแล้ว ขวัญยังดอมไถ่
อันว่าผ้าขาดแล้ว แซงนั้นหากยัง
ฮักผัวให้ มีใจผายเผื่อ
ฮักผัวให้ฮักพี่น้อง แนวน้าแม่ผัว
ฟักเฮือไว้ หลายลำแฮท่า
หม่าข้าวไว้ หลายบ้านทั่วเมือง.. "

 

นิทานเรื่อง "ท้าวเสียวสวาด" ในยุคหลังๆ ที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในไทยจึงเขียนใหม่เป็น "ท้าวเสียวสวาสดิ์" เป็นวรรณกรรมประเภทปรัชญาธรรมคําสอน และคติธรรม ความเชื่อ มีเนื้อเรื่องแทรกนิทานสลับคําสอนที่เป็น ปรัชญาธรรมแนวคิด และคติธรรมความเชื่อสลับกันไปตลอด เรื่องที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตประชาชนชาวลาวและชาวไทยอีสานส่วนใหญ่ เรื่องมีอยู่ว่า...

นเมืองพาราณสี มีกุฎุมพีชราสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีบุตร 2 คน ผู้พี่ชื่อ "ศรีเฉลียว" นิสัยเงียบขรึมหนักแน่น ผู้น้องชื่อ "เสียวสวาสดิ์" นิสัยประเปรียว วํองไว ต่อมาพ่อแม่สร้างบ้าน 2 หลัง สร้างเสร็จแล้วหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งยังไม่เสร็จ พ่อได้เรียกลูกทั้ง 2 มาให้เลือกเอาเรือนคนละหลัง เพื่ออยากทดสอบว่า ลูกชายทั้งสองคน "ผู้ได๋ฉลาดกว่ากัน สิได้อยู่นำกันบ่"

พ่อก็เลยถามปัญหาปริศนาว่า "มีเฮือนอยู่สองหลัง หลังหนึ่งสร้างเป็นเฮือนเสร็จเรียบร้อยเข้าอยู่ได้เลย อีกหลังหนึ่ง ยังบ่ทันได้สร้าง แต่ว่ามีไม้ มีอุปกรณ์ทั้งหลายครบเหมิดแล้ว เจ้าสองคน สิเลือกเอาเฮือนหลังได๋”

ท้าวศรีเฉลียวผู้พี่กะตอบว่า “ข้อยเลือกหลังแรก ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมอยู่”

ส่วนท้าวเสียวสวาสดิ์ผู้น้องกะตอบว่า “ข้อยเลือกเฮือนหลังที่ยังบ่ทันสร้าง”

พอฟังคำตอบที่บ่คือกัน ผู้พ่อกะฮู้ทันทีว่า "ลูกชายทั้งสอง สิบ่ได้อยู่นำกัน... ผู้พี่ สิอยู่กับที่ ตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านหม่องนี้ เพราะชอบบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว.. ส่วนผู้น้อง สิร่อนเร่พเนจรไปตั้งหลักปักฐานอยู่หม่องอื่น เพราะชอบบ้านหลังที่ยังบ่ทันสร้าง สิเอาไปปลูกหม่องได๋กะได้ เพราะมีไม้มีอุปกรณ์ครบเหมิดแล้ว..."

siew sawad 04

ต่อมาพ่อแม่ก็ถึงแก่กรรม แต่ก็ได้สั่งสอนให้ลูกได้มีความโอบอ้อมอารี ต่อผู้อื่น อย่าขี้เกียจ หมั่นศึกษาหาความรู้ อย่าหูเบาใจน้อย ให้เชื่อฟังคําพ่อสั่งไว้ มีหลายประการด้วยกัน เช่น "อย่าคบคนโลเล อนึ่ง เจ้าจะมีคู่ครองให้เว้น สตรีสามผัว เจ้าหัวสามโบสถ์" หมายความว่า อย่าคบคนโลเล อย่านำมาเป็นคู่ครอง อนึ่ง "ให้เจ้าฟันเฮือไว้หลายลำ แฮท่า ให้เจ้าหม่าข้าวไว้หลายบ้านแขกสิโฮม" หมายความว่า ให้เป็นคนมีใจกว้าง เผื่อแผ่แก่ญาติพี่น้อง และเตรียมทําไว้คอยจุนเจือ ชํวยเหลือสงเคราะห์หมู่คนชาวบ้าน และทั้งสองพี่น้องได้ปฏิบัติตามคําสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้เว้นความชั่วสามประการ คือ

  • เพิ่นบ่เอิ้นอย่าขาน หมายถึง เพื่อนไม่เรียกอย่าขาน
  • เพิ่นบ่วานอย่าช่วย หมายถึง เพื่อนไม่ออกปากวานอย่าช่วย
  • เพิ่นบ่ย่องกลับยกยอตนเอง หมายถึง เพื่อนไม่ยกย่องชมเชย แต่กลับยกย่องตัวเอง เป็นคนจัญไร

ยกนิทานนกกระแดดเด้าจะถูกเหยี่ยวรุ้งจับกิน เพราะไม่เชื่อคําสั่งสอนพ่อแม่ แทบเอาตัวไม่รอด เมื่อเอาตัวรอดได้ด้วยอุบายก็ได้ปฏิบัติตามคําสอนของพ่อแม่ เหยี่ยวรุ้งประมาทบินถลาโฉบลงจะจับนกกระแดดเด้ากินเป็นอาหาร เลยตกลงปะทะโขดหินตาย นกกระแดดเด้าเลยเอาตัวรอดมาได้

พระพุทธองค์ทรงสอนวํา "ปราชญ์ยํอมไมํหวั่นไหวฟูขึ้น จมลง ตามอิฐารมย์ และอนิฐารมณ์ ของโลกธรรม 8" คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

นักปราชญ์ ไม่ส้องเสพสิ่งแวดล้อมที่เลว เพราะสิ่งแวดล้อมกําหนดวิถีชีวิตไดั คนจึงควรอยูํในที่ที่เป็นมงคล เช่น นิทานช้างพลายที่ได้ฟังเรื่องโจรพูดเรื่องปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ มีความประพฤติเลวเหมือนโจร ม้าสงครามของพระยาที่คนขาเป๋เลี้ยงจูง ม้าก็เดินเหมือนคนเลี้ยง นกแขกเต้าที่โจรเลี้ยงก็เหมือนโจร แต่ที่ฤๅษีเลี้ยงก็เหมือนฤๅษี นิทานการตัดสินคดีไม่เป็นธรรม เพราะ อคติ 4 เป็นต้น

ท้าวเสียวสวาสดิ์ คิดถึงคําปรัชญาชาวบ้านข้อว่า บ่ออกจากบ้าน บ่ฮู้ฮ่อมทางไป บ่เฮียนวิชา บ่มีความฮู้ หมายความว่า คนเราถ้าไม่สามารถไปไหนมาไหนเลย ก็จะไม่รู้อะไร เห็นอะไร ไม่รู้เหนือใต้ก็มืดมน คนเราถ้าไม่สนใจศึกษาหาประสบการณ์ ก็ไม่มีความรู้เป็นคนโง่เง่า เต่า ตุ่น ไทยอีสานว่า หมากินความคึด

วันหนึ่ง มีพํอค้าสําเภาจากเมืองจําปา (เมืองจาม) มาจอดพักที่ท่าน้ำ ท้าวเสียวสวาสดิ์ได้ขอโดยสารไปกับนายสําเภา ระหวํางเดินทางผํานสถานที่ต่างๆ ตลอดเวลา ท้าวเสียวสวาสดิ์ ก็ถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นปริศนาว่า

  • แก่งที่เราผ่านมานั้น มีหิน หรือบ่ ? (หินแร่เงิน, ทองคํา)
  • บ้านที่เราผ่านมานั้น มีคนเฒ่าสามขา หรือบ่ ? (ผู้เฒ่าจําศีล)
  • ดงที่เราผ่านมานั้น มีไม้  บ่ ? (ไม้จันทน์หอม, ไม้กฤษณา)
  • เมืองที่เราผ่านนั้น มีเจ้าครองนคร บ่ ? (พระราชทรงทศพิธราชธรรม)
  • ในวัดนี้มีพระเจ้าอยู่เฝ้ารักษา บ่ ? (พระสงฆ์ผู๎ทรงศีล)

นายสําเภาไม่เข้าใจปริศนาธรรม คิดว่า ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นอะไรไป เป็นคนบ้องหรือเปล่า? ทำให้บรรดาลูกเรือทีได้ยินคำถามที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ถามนายสำเภา ก็เกิดหัวเราะเยาะกันอย่างสนุกสนาน เห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน บ้างก็คิดว่าเป็นคำถามที่โง่ที่สุด นายสำเภาจึงเตือนท้าวเสียวสวาสดิ์ว่า "เราล่องเรือมาเพื่อค้าขาย ควรพูดแต่เรื่องกำไร ขาดทุน หรือสิ่งที่เป็นมงคลเท่านั้น อย่าพูดในเรื่องที่ไร้สาระ และอย่าพูดนอกเรื่องนอกราว" แตํใจหนึ่งก็คิดจะได้เป็นลูกเขยเพราะขยันขันแข็งกว่าคนอื่นๆ การเดินทางผ่านไปหลายวัน

siew sawad 01

จนกระทั่งเดินทางมาถึง "เมืองจำปา" อันเป็นบ้านเมืองของนายสำเภา บรรดาลูกเรือทั้งหลายต่างก็แยกย้ายกันกลับไปบ้านเรือนของตน ส่วนท้าวเสียวสวาสดิ์ได้ไปพักอาศัยอยู่กับบ้านนายสำเภา ซึ่งนายสำเภาได้เล่าเรื่องราวการไปค้าขายให้ลูก-เมียของเขาฟัง และเล่าว่า "ครั้งนี้โชคดีกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาคือ ได้ลูกชายจากเมืองพาราณสีมาด้วยคนหนึ่ง นับเป็นชายหนุ่มที่ขยันขันแข็ง เอาการเอางาน หนักเอาเบาสู้ ที่สำคัญคือเป็นคนซื่อสัตย์และมีบุคลิกดี แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือ ชอบพูดชอบถามในเรื่องไร้สาระ"

ในขณะที่นายสำเภาเล่าเรื่องท้าวเสียวสวาสดิ์อยู่นั้น นางสีไว ธิดาสาวสวยของนายสำเภาก็นั่งฟังอยู่ด้วย จึงสนใจอยากทราบว่า ชายหนุ่มคนนี้ถามว่าอย่างไร บิดาของนางจึงเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ นางจึงขอให้บิดาเล่าให้ฟัง เมื่อนางได้ฟังโดยตลอดแล้ว จึงพูดกับบิดาของนางว่า

  • ที่เสียวสวาสดิ์ถามว่า ในเมืองมีเจ้ามืองไหม เขาหมายถึง มีผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีคุณธรรมในการปกครองบ้านเมืองหรือไม่
  • ที่ถามว่า ในป่ามีต้นไม้ไหม หมายความว่า มีต้นไม้ที่มีค่ามีราคาหรือไม่ เช่น ไม้หอม ไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น
  • ที่ถามว่า มีบ้านคนอยู่ไหม หมายความว่า มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ฉลาดรอบรู้หรือไม่
  • ที่ถามว่า ในวัดมีพระไหม หมายถึง พระสงฆ์ผู้ทรงศีล รอบรู้พระธรรมวินัย
  • ที่ถามว่า หาดทรายมีหินไหม หมายความถึง หินที่มีคุณค่ามีราคา อันได้แก่ เพชรนิลจินดา แก้วมณีไพฑูรย์ต่าง ๆ
  • ที่ถามว่า เมืองนี้มีคนแก่ไหม หมายถึง คนแก่ที่มีศีลธรรมที่น่าเคารพนับถือ

เมื่อนางสีไวได้อธิบายคำถามของท้าวเสียวสวาสดิ์ให้บิดาฟัง ทำให้บิดา-มารดาของนาวสีไวมีความพอใจที่ธิดาของตนมีความเฉลียวฉลาด สามารถล่วงรู้ถึงปัญหาที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ซักถามเป็นอย่างดี ส่วนตัวท้าวเสียวสวาสดิ์เองก็เป็นคนที่มีปัญญาหลักแหลมสมชื่อ และมิได้โง่เง่าดังที่คนอื่นเข้าใจ ดังนั้นบิดามารดาของนางสีไวจึงรักและพอใจท้าวเสียวสวาสดิ์ จนได้ตัดสินใจจัดการแต่งงานให้ท้าวเสียวสวาสดิ์กับนางสีไวอย่างสมเกียรติ

siew sawad 02

ต่อมา "เจ้าเมืองจำปา" ปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม ทำให้ประชาชนเกิดความระส่ำระสาย ไม่มีความสุขไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนต่างก็หวาดระแวงว่า จะไม่ได้รับความปลอดภัยทั้งแก่ตนเองและครอบครัว ตัวเจ้าเมืองจำปาเองนั้น ก็ระแวงว่าภัยจะเกิดแก่ตน จึงเกณฑ์ชาวเมืองให้มานอนเฝ้าระวังภัยให้แก่พระองค์คืนละห้าร้อยคน ครั้นตกดึกบรรดาพวกเวรยามต่างก็พากันนอนหลับสนิท เจ้าเมืองจำปาจะเดินออกมาและใช้ดาบตัดคอพวกเวรยามเหล่านั้นให้ตายไปทุกคืน

เหตุการณ์ เช่นนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วสามคืน มีคนถูกฆ่าตายจำนวนหนึ่งพันห้าร้อยคน ในคืนที่สี่จะถึงเวรของ "นายสำเภา" พ่อตาของเสียวสวาสดิ์นั่นเอง นายสำเภารู้ตัวดีว่าจะมีชีวิตอยู่อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากที่ไปเฝ้าเวรยามแล้ว เขาคงต้องถูกฆ่าตายและไม่ได้กลับมาพบลูกเมียอีกต่อไป นายสำเภาจึงเรียกลูกสาว เมียและลูกเขยมาพร้อมกัน พร้อมกับสั่งลา และมอบทรัพย์สมบัติให้

แต่ท้าวเสียวสวาสดิ์ไม่ยอมให้พ่อตาไปเฝ้าเวรยาม และรับอาสาจะไปเฝ้าเวรแทนให้ได้ แม้พอตาจะห้ามก็ไม่ยอม เพราะจะไปเข้าเวรยามแก้ปัญหาเจ้าเมืองฆ่าคนเข้าเวรมามากแล้ว โดยกล่าวเป็น ปรัชญาปริศนาว่า "ซิ้นบ่ขาด อย่าให้คุงเขียง เรื่องการเมือง ลูกขอแทนให้" หมายความว่า เนื้อไมํขาด อยําให้มีดถึงเขียง เรื่องการเมือง ลูกขอแทนพ่อ ลูกเขยขอตายแทนพ่อตา นายสำเภาเห็นความกตัญญูของท้าวเสียวสวาสดิ์ และไม่อาจจะทัดทานได้จึงยินยอม ดังนั้นท้าวเสียวสวาสดิ์จึงไปเฝ้าเวรแทนพ่อตาในคืนที่สี่นั้นเอง

ครั้นถึงเวลาท้าวเสียวสวาสดิ์ได้เลือกนั่งยามตรงทางผ่านขึ้นลง พร้อมทั้งนั่งบริกรรม ภาวนา พระคาถาอยู่นานจนกระทั่งเที่ยงคืน เวรยามคนอื่นหลับหมดแล้ว ซึ่งก็เป็นขณะเดียวกับที่เจ้าเมืองจำปาถือดาบออกมา และกำลังจะยกดาบขึ้นฟันคอคนที่นอนหลับเหล่านั้น ท้าวเสียวสวาสดิ์ก็ท่องคาถาให้เกิดเสียงดังขึ้น "ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงกะระณาอะหังปิ ตัง ชานามิ ฯ..." ภาวนาไม่หยุดยั้ง หมายความว่า ท่านทำอะไรอยู่ๆ แม้เราก็รู้ๆ...

เจ้าเมืองจำปาได้ยินเสียงที่ท้าวเสียวสวาสดิ์ท่องบ่นก็เดินกลับเข้าไป สักครู่หนึ่งก็เดินถือดาบออกมาอีก ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกล่าวเป็นปริศนาอีก เจ้าเมืองจำปาได้ยินเสียงเดินกลับไปอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งจวนสว่างจึงถือดาบออกมาอีก ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกล่าวเป็นปริศนาอีก เจ้าเมืองจึงเดินกลับเข้าไปอีก เป็นอันว่า ตลอดคืนที่สี่นั้นไม่มีใครถูกฆ่า

พอรุ่งเช้า พวกเวรยามต่างก็พากันกลับบ้านเรือนของตน พอตกเย็นวันนั้นเอง เจ้าเมืองจึงเรียกเวรยามทั้งหมดมาประชุม แล้วถามว่า "เมื่อคืนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น" พร้อมกับถามว่า "เป็นเสียงพูดของใคร"

ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงรับว่าตนเป็นคนพูด เจ้าเมืองจึงถามเสียวสวาดว่า "คเตสิ คเตสี กิงการณา คเตสิ" หมายความว่าอย่างไร

ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกราบทูลเล่าเรื่องให้ฟังว่า "หมายถึงชายสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชอบทอดแห อีกคนหนึ่งชอบฟังธรรม วันหนึ่งคนที่ชอบทอดแห ไปทอดแหทั้่งวันไม่ได้ปลาสักตัวจึงคิดอยากไปฟังธรรม ส่วนคนที่ชอบฟังธรรม ฟังธรรมตลอดมาทั้งวันแต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย จึงคิดอยากไปทอดแหดูบ้าง ในลักษณะเช่นนี้ผลบุญที่ได้นี้ได้แก่ คนทอดแห"

เจ้าเมืองถามต่ออีก คำว่า "อหังปิตัง ชานามิ ชานามิ" หมายความว่าอย่างไร

ท้าวเสียวสวาสดิ์กราบทูลว่า "มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ กุททาละมีจอบกับเสียมเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ถึงแม้ว่าไปบวชก็ยังคิดถึงจอบกับเสียม ครั้นสึกออกมาแเล้วก็บวชอีกเป็นเช่นนี้จนครบเจ็ดครั้ง ครั้งสุดท้ายเขาตัดสินใจโยนจอบกับเสียมลงในน้ำ แล้วหันมาตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาจนกระทั้งบรรลุผล"

แล้วคำว่า "อัศจรรย์ใจโอ้ โอนอสังเวช สังมาเป็นดังนี้ เป็นน่าอยากหัว" หมายความว่าอย่างไร

ท้าวเสียวสวาสดิ์ก็กราบทูลว่า "มีหญิงสาวคนหนึ่งไปเที่ยวหาหน่อไม้ในป่าได้แล้ว จึงเอามาปอกกาบที่แข็งๆ ออก แล้วนำไปแยงยังโยนีของตน เผอิญหน่อไม้นั้นหักคา ขณะนั้นมีพระภิกษุชราภาพมากรูปหนึ่งเดินไปหาเปลือกไม้มาย้อมจีวรเดินมาพบเข้า หญิงสาวจึงขอร้องให้ท่านช่วย โดยตกลงกันว่า ถ้าท่านช่วยจนสำเร็จจะให้ท่านร่วมประเวณี ท่านก็ช่วยจนสามารถดึงหน่อไม้นั้นออกมาได้ แล้วหญิงสาวคนนั้นก็เดินทางกลับบ้านไปเพื่อแต่งตัว พระสงฆ์รูปนี้รอนางอยู่นานเกิดความกำหนัด จึงจับองคชาตสอดเข้าในโพรงไม้ ตุ๊กแกที่อยู่ในโพรงจึงคาบองคชาตของท่าน หญิงสาวกลับออกมาพบเข้า จึงได้ช่วยเหลือจนท่านปลอดภัย เป็นอันว่าทั้งหญิงสาวและพระสงฆ์ชรานั้นต่างก็ไม่เป็นหนี้บุญคุณซึ่งกันและกัน"

แล้วคำว่า "เพิงจา บ่เพิงจา" หมายความว่าอย่างไร

ท้าวเสียวสวาสดิ์กราบทูลว่า "มีพระราชาองค์หนึ่งออกไปเที่ยวชมสวน เผอิญพบฤาษีแสดงธรรมเทศนาอยู่ที่ศาลาริมฝั่งน้ำ พระราชาถือว่าพระฤาษีล่วงล้ำอธิปไตยของตน จึงสั่งให้จับพระฤาษีมาตัดตีนตัดมือ และพระราชาได้ถีบเตะพระฤาษีจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระราชาเดินต่อไปได้เพียงสามสี่ก้าวก็ถูกธรณีสูบ"

ฯลฯ

เมื่อเจ้าเมืองจำปาได้ขอให้ท้าวเสียวสวาสดิ์อธิบายคาถา และปริศนาเหล่านั้น เขาก็สามารถอธิบายได้โดยตลอด เจ้าเมืองจำปาเห็นว่า ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นคนฉลาดคู่ควรแก่ตำแหน่งสำคัญ ที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้ในคราวคับขันเช่นนี้ จึงได้แต่งตั้งให้เสียวสวาสดิ์เป็น "อัครมหาเสนาบดี" มีหน้าที่สอนและอบรมศีลธรรม จารีตประเพณีแก่ประชาชน พร้อมทั้งได้ประทานเงินทองและข้าทาสชายหญิงให้แก่ท้าวเสียวสวาสดิ์อีกจำนวน 500 คน

siew sawad 05

อยู่มาวันหนึ่งเจ้าเมืองจำปา อยากจะทดลองจิตใจของเสนาอำมาตย์ว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์เพียงใด จึงมีรับสั่งให้หา ผลขี้กา (หมากขี้กา เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีรสขมมาก) มาแจกให้หมู่เสนาอำมาตย์รับประทาน ต่างคนต่างก็รับประทานผลขี้กานั้นแล้ว เจ้าเมืองจำปาจึงกล่าวว่า "ผลขี้กานี้กานี้มีรสชาติหวานดี?" แล้วจึงหันไปถามเหล่าเสนาอำมาตย์ ทุกคนในที่นั้นตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "หวาน" ยกเว้นอยู่เพียงคนเดียวที่ตอบว่า "ขมและไม่หวาน" ก็คือท้าวเสียวสวาสด์นั้นเอง พระองค์จึงตรัสถามเสียวสวาสดิ์ว่า "ทำไมบรรดาเสนาอำมาตย์เหล่านั้นจึงตอบว่า 'หวาน' เป็นเสียงเดียวกันว่าเช่นนั้น กรณีอย่างนี้จะถือว่ากล่าวคำเท็จได้หรือไม่"

ท้าวเสียวสวาสดิ์จึงกราบทูลเจ้าเมืองจำปาว่า "คนเหล่านี้กราบทูลไปเนื่องจากความกลัว เมื่อพระองค์บอกว่าหวาน เขาก็เลยตอบว่าหวานไปด้วย จะว่าโกหกโดยเจตนาก็ไม่ใช่"

เจ้าเมืองจึงยกโทษให้ ต่อมาจึงได้มีคำเรียกเสนาอำมาตย์เหล่านี้ว่า "พวกเสนาหมากขี้กา" ภาษิตสมัยปัจจุบันก็คงเปรียบได้กับ "นายว่า ขี้ข้าพลอย" นั่นเอง

วันเวลาผ่านไปอีกจนกระทั่งเจ้าเมืองจำปาเห็นว่า โอรสของพระองค์ ลุ่มหลงมัวเมาติดการพนันและสุรา ไม่ค่อยสนใจการศึกษาและราชการงานเมืองมากนัก จึงได้มอบให้ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นผู้อบรมสั่งสอน จนกระทั่งสามารถทำให้โอรสของเจ้าเมืองจำปาสำนึกในคุณธรรม และกลับกลายเป็นคนดี เจ้าเมืองจำปายอมรับนับถือท้าวเสียวสวาสดิ์ โดยการยกย่องให้เป็นครูอีกคนหนึ่งของพระองค์อีกด้วย

นอกจากนี้ท้าวเสียวสวาสดิ์ยังได้อบรมสั่งสอนเหล่าเสนาอำมาตย์ ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินเมืองจำปาตลอดมา ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่ท้าวเสียวสวาสดิ์เป็นคนดี มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่ลืมตัว เคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนทั่วไป และปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความขยันหมั่นเพียร จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของเจ้าเมืองจำปายิ่งนัก หลังจากที่เมืองจำปาผ่านพ้นภัยพิบัติถึงขั้นยุคเข็ญมาได้ ก็ด้วยความฉลาดหลักแหลมของท้าวเสียวสวาสดิ์ จนกระทั่งเมืองจำปาเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าเมืองกลับมีศีลธรรมปกครอง บ้านเมืองโดยสุจริตยุติธรรม ประชาชนขยันหมั่นเพียรถือศีลฟังธรรม เคารพในจารีตประเพณีและกฎหมายอันดีงามของบ้านเมือง

ที่มา : หนังสือเรื่องเสียวสวาด พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี น.ธ.เอก , ป.ธ. ๕)
อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ส่งท้ายบทความ : คำว่า "เสียวสวาด" หากมีการนำไปเขียนว่า "เสียวสวาท" ก็มักจะมีเรื่องให้ถกเถียง ตีความกันมากมายวุ่นวายไปหมด และยิ่งนำเอาคำว่า "เสียวสวาท" ไปตั้งเป็น "ชื่อวัดวาอาราม" ก็ยิ่งมีปัญหาหนัก บรรดาคนเมือง (ที่มักอ้างตนว่าศิวิไลซ์เสมอ) รวมทั้งนักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายต่างอ้างว่า "เป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม ชาวบ้านจะไม่กล้ามาทำบุญ ควรเปลี่ยนชื่อใหม่เลย!!!" ขุ่นพระ!!! อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : เสียวสวาทหรืออีโรติกในวัฒนธรรมอีสาน

redline

backled1