peenoi header

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ท้าวกำพร้าผีน้อย เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่จุติลงมาเกิดที่เมืองอินทปัตถ์ เป็นเด็กที่กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็ก เป็นเด็กขอทานเพื่อเลี้ยงชีพ ชาวบ้านบางคนก็เมตตาให้ทาน บางคนก็รังเกียจหาทางกลั่นแกล้งเสมอ และนิทานเรื่อง "ท้าวกำพร้าผีน้อย" ยังเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของทางฝั่ง สปป.ลาว และในภาคอีสานของไทย ที่มีต้นตำรับจากใบลาน มีการเรียบเรียงเป็นคำกลอน และสำนวนต่างๆ เรื่อง "ท้าวกำพร้าผีน้อย" เป็นเรื่องเก่าที่เล่าปากต่อปากเรื่อยมา ต้นฉบับนี้มาจากใบลาน อักษรธรรม ๑ ผูก วัดโนนกุง ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีเรื่องโดยย่อดังนี้

นิทานพื้นบาน - กำพร้าผีน้อย

ที่เมืองอินทปัตถ์ มีเด็กน้อยคนหนึ่งกำพร้าพ่อและแม่ ได้เที่ยวขอทานเขากินจนโตเป็นหนุ่ม จนเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน และยังถูกไล่ออกไปทำไร่ทำนาบริเวณที่มีผีดุ แต่ยังดีที่เด็กกำพร้ายังมีวาสนา มีผีเป็นเพื่อน จีงได้ชื่อว่า "กำพร้าผีน้อย"

แล้วจึงออกจากเมืองมาทำนาทำไร่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อข้าวพืชงอกงามขึ้น ได้มีสัตว์ต่างๆ มากิน แม้จะไล่อย่างไรก็ไม่ไหว เอาอะไรมาทำเครื่องดักก็ยังขาดหมด จึงไปขอเอาสายไหม จากย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) มาทำจึงจับได้ช้าง ช้างเมื่อถูกจับได้กลัวตายจึงร้องขอชีวิต และบอกว่าจะให้ของวิเศษถอดงาข้างหนึ่งให้ ท้าวกำพร้าผีน้อย จึงปล่อยไปแล้วเอางาช้างมาไว้ที่บ้าน

ต่อมาท้าวกำพร้าดักได้เสือ เสือก็ยอมเป็นลูกน้อง โดยบอกว่าถ้ามีเรื่องเดือดร้อนจะมาช่วย ต่อมาจับได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง เช่นเดียวกันกับเสือ ต่อมาจับพญาฮุ้ง (นกอินทรีย์) พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้อง และตัวสุดท้ายจับได้คือ "ผีน้อย" ที่มาขโมยกินปลาที่ไซ ผีน้อยก็ยอมเป็นลูกน้อง

peenoi 02

เมื่อตอนที่ได้งาช้างมานั้น ท้าวกำพร้าได้เอางาช้างมาไว้ที่บ้าน ในงาช้างนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ "นางสีดา" อาศัยอยู่ โดยที่ท้าวกำพร้าไม่รับรู้เรื่องนี้ คราใดที่ท้าวกำพร้าออกไปไร่นา นางสีดาได้ออกมาทำอาหารไว้รอท้าวกำพร้าทุกครั้งไป จนท้าวกำพร้าสงสัยว่า เป็นผู้ใดหนอมาทำอาหารมารอเราทุกวัน

ต่อมาท้าวกำพร้าได้แอบดูจนรู้ความจริง จึงจับนางไว้แล้วจึงทุบงาช้างนั้นเสีย เพื่อจะไม่ให้นางหลบเข้าไปอยู่อีก นางจึงได้อยู่กินเป็นภรรยากับ้าวกำพร้ามาตั้งแต่บัดนั้น ความสวยงามของสีดา เป็นที่เลื่องลือ ข่าวนี้ได้ยินไปถึงหูพระราชา จนพระราชาเห็นแล้วก็มีความรักใคร่ จึงคิดจะยึดเอาตัวนางสีดามาเสีย แต่ก็กลัวผู้คนจะติเตียน จึงได้ท้าทายท้าวกำพร้าให้พนันขันแข่งต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าท้าวกำพร้าแพ้ ก็จะยึดนางสีดามาเป็นของพระองค์ แต่ถ้าพระองค์แพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง

การแข่งขันในคราวนั้นคือ การชนวัว การชนไก่ การแข่งเรือ แต่ปรากฏว่า ท้าวกำพร้าชนะในการแข่งขันทุกครั้ง เพราะในการชนวัวนั้น เจ้าเสือแปลงเป็นวัวมาช่วยท้าวกำพร้า พอถึงการชนไก่ อีเห็นก็แปลงเป็นไก่มาช่วยกัดไก่ของพระราชาตาย ในการแข่งขันเรือนั้นพญาฮุ้งมาเป็นเรือและได้ทำให้เรือพระราชาล่มแล้วกินคนจนหมดทั้งลำรวมทั้งพระราชา

เมื่อพระราชาตายแล้วได้รวมหัวกับ "บ่างลั่ว" ตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วร้องเรียกวิญญาณของนางสีดามา โดยร้องครั้งแรกนางก็ไม่สบาย ร้องครั้งที่สองสลบไป ร้องครั้งที่สามนางจึงตาย วิญญาณของนางสีดาจึงได้มาอยู่กับพวกผีพระราชา

peenoi 01

ส่วนท้าวกำพร้าปรึกษากับผีน้อย ผีน้อยบอกว่า "อย่าเพิ่งเผาจะตามไปดูวิญญาณของนางอยู่ที่ใด?" เมื่อผีน้อยตามจึงรู้เรื่องทั้งหมด ได้วางแผนจับบ่างลั่วตัวนั้น เข้าไปตีสนิทกับบ่างลั่วแล้ว สานข้อง (ที่ใส่ปลา) ครั้งแรกสานด้วยไม้ไผ่แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน แล้วให้ออกแรงยันดู ปรากฏว่า ข้องแตก

จึงสานใหม่ด้วยลวด แล้วบอกให้บ่างลั่วเข้าไปดูแล้วบอกให้ยันดูใหม่ ปรากฏว่า ข้องไม่แตกจึงรีบหาฝามาปิดขังบ่างลั่วไว้ แล้วรีบเอาข้องมาให้ท้าวกำพร้า เพื่อบังคับให้บ่างลั่วร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับคืนมา ไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสีย บ่างลั่วกลัวจึงร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับมา โดยร้องครั้งแรกร่างของนางสีดาก็เคลื่อนไหว ร้องครั้งที่สองฟื้นขึ้น เมื่อร้องครั้งที่สามก็หายเป็นปกติทุกอย่าง

พอทุกอย่างปกติแล้ว ท้าวกำพร้าจึงหลอกว่า "ขอดูไอ้ที่ร้องเอาวิญญาณคนได้ไหม" บ่างลั่วจึงแลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าจึงตัดลิ้นบ่างลั่วนั้นเสีย เพราะกลัวมันจะร้องเอาวิญญาณไปอีก บ่างลั่วจึงร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเจ้าเมืองอินทปัตถ์สิ้นชีพไปแล้ว ชาวเมืองจึงเชิญ "ท้าวกำพร้า" และ "นางสีดา" ปกครองบ้านเมืองสืบต่อมา ทั้งนี้เพราะความดีของท้าวกำพร้าจึงปกครองบ้านเมืองอยู๋เย็นเป็นสุขตลอดมา

นิทานลาว เรื่อง กำพร้าผีน้อย ນິທານລາວ​ ກຳພ້າກັບຜີນ້ອຍ

และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสแห่งนิทานเรื่อง ท้าวกำพร้าผีน้อย นี้ให้มีความงดงามทางวรรณศิลป์จึงขอเอาลำเรื่องต่อกลอน ของ คณะเพชรอุบล ของศิลปินแห่งชาติ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และชาวคณะมาปิดท้ายนิทานเรื่องนี้ เชิญฟังลำกันม่วนๆ ได้เลยครับ

ลำเรื่อง กำพร้าผีน้อย โดย คณะเพชรอุบล (นำโดยหมอลำ ป.ฉลาดน้อย)

 

redline

backled1