nok krajog header

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง นกกระจอกน้อย หรือ นกจอกน้อย หรือ ท้าววรจิต-นางจันทะจร เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะแต่งขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง ไม่มีหลักฐานปรากฎ เป็นมรดกทางวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานอีกเรื่องหนึ่งที่มีการบันทึก (จาร) บนใบลาน แล้วเอามาเล่า (เทศน์) โดยพระสงฆ์ ตลอดถึงนำมาแสดงขับลำแบบพื้นบ้าน ทั้งโดยหมอลำกลอน และลำเรื่องต่อกลอนมาหลายยุคหลายสมัย เป็นหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานคลาสสิคอีกเรื่องหนึ่ง ที่พบหลักฐานมีมาหลายฉับบที่ถูกปริวรรตจากคำกลอนในใบลานมาเป็นร้อยแก้ว ที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงใหม่ในครั้งนี้ 4 สำนวน คือ

  • นกกระจอก อักษรธรรม ๑ ผูก วัดนาเจริญ ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  • นกกระจอก (ท้าววรกิต-นางจันทะจร) ปริวรรตโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์) เขมจารี วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ต้นฉบับมาจากวัดเกษรเจริญผล บ้านมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
  • นกจอกน้อย จากเอกสารใบลานฉบับวัดโพธิ์ศรี บ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ปริวรรตและเรียบเรียงโดย สมัย วรรณอุดร
  • นกจอกน้อย โครงการปริวรรตหนังสือใบลานสืบสานวัฒนธรรม จากอักษรธรรมมรดกอีสานเป็นอักษรไทย โดย โสรัจ นามอ่อน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี เอกสารวิชาการ ลำดับที่ ๕/๒๕๕๔ หน้า ๔๒ และหน้า ๔๘, หนังสือผูกใบลาน ผูก ๓.

nok krajog 01

นอดีตกาล ยังมีนกกระจอกน้อยผัวเมียคู่หนึ่ง ทำรังอาศัยอยู่ในหนวดเคราของพระฤาษีอย่างมีความสุข ทุกวันนกตัวผู้จะออกไปหาเหยื่อ ส่วนตัวเมียจะกกไข่อยู่ในรัง วันหนึ่งแม่นกฟักไข่ ส่วนพ่อนกก็ออกไปหาเหยื่อตามปกติ และได้บินไปที่สระบัวแห่งหนึ่ง พ่อนกมัวแต่หาเหยื่อในดอกบัวเพลินลืมเวลาจนพลบค่ำ ดอกบัวก็หุบกลีบลง ทำให้พ่อนกออกมาจากดอกบัวไม่ได้ ต้องรอดอกบัวบานในเช้าวันรุ่งขึ้นจึงออกมาได้ และรีบบินกลับรังในทันที ฝ่ายแม่นกนั้นคิดว่า ผัวนอกใจไปมีเมียใหม่ จึงได้ทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นเพราะความหิวและหึงหวง ตัวผู้ได้สาบานแสดงความซื่อสัตย์ของตนต่อนกตัวเมียว่า "หากตนคิดมีชู้นอกใจเมีย ขอให้เป็นบาปเป็นกรรมอันร้ายแรงตัวเท่ากับพระฤาษี ขอให้ตกนรกอยู่ในอเวจี"

ฤาษีได้ยินนกสองตัวทุ่มเถียงกันเช่นนั้นจึงโกรธ ได้ถามนกออกไปว่า "ทำไมตนจึงมีบาป ทั้งๆ ที่บำเพ็ญเพียรมีตบะแก่กล้าดังนี้" นกตัวผู้บอกว่า "เป็นเพราะฤาษีไม่มีลูกสืบสกุล ตายไปก็ตกนรก" * ท่านฤๅษีได้ฟังก็โกรธมากในตอนแรก แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ตามคติโบราณของชาวอินเดียและจีนแล้วจึงเห็นด้วย และตัดหนวดเคราออกพร้อมรังนก บอกให้ทั้งคู่ไปทำรังอาศัยอยู่ที่ป่าเลา (ป่าแขมป่าเลา) ส่วนพ่อฤๅษีจึงลาศีล สึกออกไปเป็นฆราวาส มีครอบครัวมีลูกหญิงชายจะได้ขึ้นสวรรค์พ้นนรกขุมปุตตะเสียที

* เป็นคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ตามคติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณว่า หญิงชายที่ไม่แต่งงานพระเจ้าไม่รับขึ้นสวรรค์ และหนักยิ่งไปอีกว่า ถ้าชายที่แต่งงานแล้วถ้าไม่มีบุตร "ลูกชาย" สืบสกุลก็ยังตกนรกขุม "ปุตตะ" อยู่ดี ส่วนชาวจีนโบราณถือว่า "หญิง" เท่านั้นที่ไม่แต่งงานแล้วพระเจ้าไม่รับขึ้นสวรรค์ ผลกระทบด้านสังคมในป๎จจุบันทำให้ประเทศจีนและอินเดียมีประชากรมากกว่าพันล้านคน ประเทศอินเดียนั้นประเพณีแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะต้องเสียค่าสินสอดทองหมั้นและค่าใช้จ่ายทุกอย่างแก่ฝ่ายชาย ส่วนประเพณีจีนฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายแสวงหาคู่ (ชาย) มาแต่งงานกับลูกสาวของตน ทั้งอินเดียและจีนจะมีประเพณีที่ตรงข้ามกับของไทยโดยสิ้นเชิง

nok krajog 02

นกสองผัวเมียได้อพยพพาลูกไปอาศัยอยู่ในป่าเลา จนอยู่มาวันหนึ่งเกิดไฟไหม้ป่า และลุกลามมาจนใกล้รังนกกระจอกคู่นี้ แม่นกได้ขอคำสัญญาจากพ่อนกว่า "ถ้าไฟไหม้มาถึงรัง ทั้งคู่จะไม่ยอมไปไหน จะยอมตายด้วยกันที่รังแห่งนี้พร้อมลูกน้อย ถ้าใครผิดคำมั่นสัญญาไม่ว่าชาติไหนจะไม่ยอมพูดกับเพศตรงข้ามอีกต่อไป" พ่อนกรับคำตามสัญญานั้น ในที่สุดไฟป่าก็ลุกลามมาถึงรังนก แต่เมื่อไฟมาถึงรัง พ่อนกทำผิดสัญญาบินออกจากรัง ส่วนแม่นกตั้งจิตอธิษฐานใจแน่วแน่ว่า "เกิดชาติหน้าขอให้เป็นคนพ้นจากกำเนิดเดียรัจฉาน (สัตว์) จะไม่ขอพูดกับผู้ชายอีก" แม่นกถูกไฟครอกตายคารังพร้อมลูกๆ ฝ่ายพ่อนกแม้จะบินออกจากรัง แต่ก็ไม่สามารถบินผ่านเปลวไฟอันโหมกระหน่ำอย่างแรงไปได้ ถูกไฟป่าไหม้ตายเช่นกัน และก่อนจะขาดใจตั้งสัจจะอธิฐานว่า "เกิดชาติหน้าขอให้เป็นคนพ้นจากกำเนิดสัตว์ จะขอพูดกับผู้หญิงตลอดไป"

คำสัตย์อธิษฐานเป็นจริงในภพชาตินี้แล้ว จากนั้นพ่อนกได้เกิดเป็นเจ้าชายชื่อ "ท้าววรจิต" ส่วนแม่นกก็ได้เกิดเป็นเจ้าหญิงชื่อ "จันทะจอน" หรือ จันทะจร พระนางจันทะจอนสาวแสนสวยก็ไม่เคยออกปากพูดกับชายใดๆ แม้แต่กับพระราชบิดา ทำให้พระราชบิดาเป็นทุกข์เป็นหนักหนา จึงได้ป่าวประกาศออกไปว่า "ถ้าผู้ใดสามารถทำให้ธิดาของตนพูดกับผู้ชายได้ หรือว่านางพูดกับชายใดก็จะยกนางให้ และยกเมืองให้ปกครอง" แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำได้

nok krajog 03

ท้าววรจิตได้ยินกิตติศัพทฺ์ความงามของนาง และทราบข่าวที่บิดาของนางจะยกนางให้กับผู้มีความสามารถทำให้นางพูดได้ จึงได้ไปร่ำเรียนวิชาถอดจิตกับพระฤาษีจนสำเร็จ แล้วจึงกลับไปอาศัยอยู่กับย่าจำสวน แล้วจึงให้ย่าจำสวนพาไปพบกับเจ้าเมือง เพื่ออาสาพูดกับนางจันทะจร ท้าววรจิตได้ถอดจิตไว้กับหมอนและเครื่องใช้ต่างๆ ในห้องนอนของนางจันทะจร ทำให้เครื่องใช้นั้นๆ พูดได้ และเล่านิทานให้หมอนฟัง ตอนสุดท้ายได้พูดถึงผู้หญิงต้องเสียเปรียบและพ่ายแพ้ผู้ชายตลอด แต่นางจันทะจรก็ยังไม่ยอมเอ่ยวาจาใดๆ ออกมา

ตัวท้าววรจิตนั้นจำเรื่องราวในอดีตชาติเมื่อครั้งเป็นนกกระจอกได้ จึงได้นำเรื่องนกกระจอกในอดีตชาติของตนมาเล่าให้หมอนฟัง แต่ตอนจบเรื่องแกล้งเล่าให้ผิดไปว่า "นกตัวเมียบินหนีไฟป่าไปเสียก่อน ปล่อยให้ตัวเองกับลูกน้อยถูกไฟคลอกตาย" คำพูดดังกล่าวแทงใจดำของนางจันทะจรซึ่งระลึกชาติได้เช่นกัน ทำให้นางโกรธมาก จึงพูดโต้แย้งออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่า "เรื่องที่ท้าววรจิตพูดนั้นไม่เป็นความจริง" เมื่อพูดเพียงเท่านั้นเหล่าเสนาอำมาตย์ที่แอบดูเหตุการณ์อยู่ ก็เอาฆ้องกลองมาตีเสียงดังสนั่นก้องเป็นสัญญาณว่า นางจันทะจรได้พูดกับผู้ชายแล้ว

nok krajog 04

เจ้าเมืองทรงพอพระทัยที่เห็นลูกสาว นางจันทะจร พูดกับ ท้าววรจิต แล้ว ซึ่งท้าววรจิตก็เป็นเจ้าชายหนุ่มรูปงามจากต่างเมือง จึงมีรับสั่งให้อภิเษกสมรสท้าววรจิตกับเจ้าหญิงจันทะจรให้ครองเมืองแทนพระองค์ตามสัญญา ทั้งสองปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม อย่างสุขเกษมสำราญ ในบั้นปลายชีวิตพระเจ้าวรจิตได้สละราชสมบัติออกผนวช แบบสันยาสีคตินิยม ของคนอินเดีย บำเพ็ญบารมีตามแบบฉบับของพระโพธิสัตว์จนสิ้นอายุขัย แม้พ่อฤๅษีก็สละเพศฆราวาส ออกบวชบำเพ็ญสมณะธรรม จนได้บรรลุโมกขธรรมเบื้องต้น เมื่อสิ้นอายุขัยได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์

ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง นกกระจอกน้อย - คณะเพชรอุบล (โดย ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และคณะ)

redline

backled1