art local people

เป็นที่รู้กันว่า "ถ้าชอบผ้าไหมต้องไปอีสาน" สุดยอดของไหมงามแห่งหนึ่งที่เลื่องลือเป็นที่รู้จักของนักเลงผ้าก็ต้องที่ “ร้านคำปุน” ในตลาดเมืองอุบลราชธานี เพราะไหมทุกผืนของร้านนี้งามประณีตอย่างหาที่ติได้ยาก เหมาะสมกับสนนราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผ้าไหมจากท้องถิ่นอื่น แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็จะไม่เสียดายเงินเลย

เจ้าของร้าน - ช่างทอนามกระเดื่องจนเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดก็คือ คุณป้าคำปุน ศรีใส ชื่อ “คำปุน” นั้น แปลว่า ทองคำเนื้อดีบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อใครได้พบตัวจริงแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า คุณป้าคำปุนนี้ คือทองคำบริสุทธิ์ตัวจริง สมชื่อทีเดียว

khampun 01คำปุน ศรีใส

นางคำปุน ศรีใส เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พุทธศักราช 2476 ที่คุ้มวัดกลาง ตำบลยโสธร อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรของนายโหล่ง และนางน้อย ศรีใส สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสามัคคีวัฒนา เมื่อปีพุทธศักราช 2485 นางคำปุนได้รับการปลูกฝังอบรมจากครอบครัวให้เป็นคนดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี และได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมการทอผ้าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะจากคุณยายและคุณแม่น้อย ศรีใส ทำให้นางคำปุน รักและชื่นชมศิลปะการทอผ้า

แม้เมื่อมีครอบครัวสมรสกับ นายเตียซ้ง แซ่แต้ ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ทำให้ต้องหยุดการทอผ้าเพื่อไปประกอบอาชีพตามสามีซึ่งมีกิจการร้านค้าส่งสินค้าทั้งข้าวสาร ผลไม้ อาหารทะเลและอาหารอื่นๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ นางคำปุน ศรีใส ได้ซึมซับวิถีการทอผ้าจากบรรพบุรุษเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้หวนกลับมายึดอาชีพการทอผ้าอีกครั้ง

นางคำปุน จึงได้พัฒนาการทอผ้าไหม และขยายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างจริงจัง ที่บ้านพักใกล้สี่แยกถนนผาแดงตัดกับถนนพิชิตรังสรรค์ (ใกล้ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) พร้อมกับเปิด ร้านคำปุน ขายผ้าที่หน้าตลาดใหญ่ เทศบาลเมืองอุบลราชธานี (ขณะนั้น) ส่วนศิลปะการทอผ้าไหม ก็ได้พัฒนาลวดลายให้วิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสานดั้งเดิม คือ หมี่ ขิด ยก และ จก เป็นพื้นฐานในการทอ และได้พัฒนาผ้าไหมให้มีลวดลายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

khampun 02

ต่อมา เมื่อกิจการมีความก้าวหน้ามีผู้สนใจสั่งซื้อผ้าไหมมากขึ้น ทำให้นางคำปุนได้ขยายกิจการ และได้รับอนุญาตให้ขยายเป็นโรงทอผ้าไหม ด้วยกี่จำนวน 24 หลัง โดยใช้ชื่อว่า โรงทอผ้าไหมคำปุน ในที่ดินที่กว้างขวาง เลขที่ 331 ถนนศรีสะเกษ ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผ้าทอที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน คือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสมการจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆ มีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้า จากความคิด ปรัชญา และความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือ ด้วยลวดลายที่เต็มไปด้วยศิลปะ กลับบ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะในทางความคิด และการออกแบบที่งดงามแปลกตา อีกทั้งทรงคุณค่าอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

khampun 04

ผลงานของ นางคําปุน ศรีใส นั้นจะมีความโดดเด่นที่ความประณีตของเนื้อผ้า ที่เกิดจากการคัดเส้นไหมที่มีคุณภาพ และการให้สีสันที่ผสมกลมกลืนกันได้อย่างสวยงาม มีเสน่ห์ที่ลวดลายเด่นชัด ทำให้ผ้าที่ออกมาจึงสวยงามจนเป็นที่กล่าวขวัญกันในเชิง “ผ้ามีระดับต้องบ้านคำปุน” ทั้งนี้ก็ด้วยกรรมวิธีในการทอตลอดจนการให้สีผ้า ผ้าคําปุน ได้รับความสนใจจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงของประเทศ นําไปใช้ในพิธีการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ในการหมั้น การเข้าเฝ้า เป็นต้น รวมทั้งการนำไปเป็นของขวัญและของกำนัลกับแขกผู้มาเยือนชาวต่างประเทศ และยังถูกนำใช้เป็นเครื่องแต่งกายของตัวเอกในภาพยนตร์ เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” และ "สุริโยทัย" เป็นต้น

khampun 03

นางคำปุน ศรีใส ยังได้มีการถ่ายทอดให้บุตรชาย นายมีชัย แต้สุจริยา เป็นผู้สืบสานตำนานผ้าไหมคำปุน ดำเนินกิจการแทน จึงทำให้ผ้าไหมคำปุนก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง ผ้าแต่ละผืนได้ออกแบบผสมผสานรากฐานเดิม กับเทคนิคสมัยใหม่ ทำให้ผืนผ้ามีความวิจิตรพิสดาร เพิ่มมูลค่า มีราคาผืนละเรือนหมื่นเรือนแสน แม้จะมีราคาสูง ก็ยังมีผู้เฝ้ารออยากจะครอบครองผ้าที่ผลิตจาก "บ้านคำปุน" อยู่ตลอด ผลิตไม่ทันด้วยความที่ต้องใช้ความประณีต และเป็นการทำด้วยมือช่าง (hand made) ทุกขั้นตอน ไม่ได้ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตแต่อย่างใด

คำปุน ศรีใส - ศิลปินมรดกอีสาน พ.ศ.2558

นางคำปุน ศรีใส สร้างความดี ความงาม ด้วยพลังกาย พลังใจ ด้วยสติปัญญาและพลังศรัทธา จึงส่งผลให้ นางคำปุน ศรีใส รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากองค์กรต่างๆ และที่น่าชื่นชม เหนือสิ่งอื่นใดคือผลงาน แห่งอัจฉริยภาพในการทอผ้าไหม อันเป็นการสืบสานใยตำนานผ้าพื้นเมืองให้คงอยู่

การได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

  • ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2553 จาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACICT)
  • ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมผ้าทอ) ประจำปีพุทธศักราช 2558 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประณีตศิลป์ (การทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. 2561 จาก กระทรวงวัฒนธรรม

นางคำปุน ศรีใส - ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2561

ในวันนี้ แม่คำปุน ศรีใส ในวัยที่ล่วงเลยมาถึง 89 ปีแล้ว แม้ไม่ได้นั่งบน "กี่ทอผ้า" ดังเช่นในอดีต แต่การเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการทอผ้าไหมจนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และด้วยคุณลักษณะของผู้มีจิตใจเมตตา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และอุทิศตนเพื่องานสาธารณประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ แม่คำปุน ศรีใส จึงนับเป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่า เป็น “ครู” ผู้ให้ ที่ได้มอบสมบัติอันสูงค่าให้กับแผ่นดินไว้อย่างงดงาม ...

redline

backled1